31.1.13

การสละ



โลกนี้ไม่มีอะไรได้มาโดยไม่ต้องลงทุน
ต้องสละอย่างหนึ่ง เพื่อจะได้อีกอย่างหนึ่ง
สละสิ่งของ เพื่อให้ได้น้ำใจ
สละผลประโยชน์ เพื่อแลกความน่าเชื่อถือ
สละหยาดเหงื่อ เพื่อให้ได้ผลงาน
คิดเอาทุกอย่าง จะเจอทางตัน
ยอมสละบางอย่าง จะเจอทางรอด
ถอยออกมาก่อน อาจเจอทางเดินหน้า
ยอมแพ้เสียก่อน อาจเจอทางชนะ
สละความเห็นแก่ตัว เพื่อให้ได้ใจบริสุทธิ์
สละขันธ์ ๕ เพื่อให้ได้นิพพาน
หอบพะรุงพะรัง ขึ้นไม่ถึงยอดเขา
บรรทุกมาก เรือจะจม
คนฉลาด รู้จักสละในกาละเทศะอันสมควร
จะประสบผลสำเร็จในทุกวิถี

ธรรมะคืออะไร?





ธรรมะคืออะไร? 

คือรูปธรรมและนามธรรม

รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส คือวัตถุแห่งกาม ที่ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้ไหลหลง ยั่วยวนชวนให้เกิดกิเลสกาม(ในรูปธรรม) ถ้าการรับรู้ของเราทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ถ้าหลงไปรู้สึกยินดียินร้ายเข้า ก็จะเกิดกิเลสกามเป็นความอยาก ถ้ามีมากๆเข้าก็เป็นตัณหาความทะยาน อยากทางใจ(เป็นนามธรรม) จัดเป็นบาปอกุศล ที่ถูกเก็บเอาไว้ในจิตใต้สำนึก ที่ก่อความฟุ้งซ่านได้

จึงต้องประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ในใจ ในการรับรู้ด้วยการตั้งความรู้ระวัง(มีอินทรีย์สังวร)ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังการรับรู้อยู่ในใจ ด้วยการมีธัมมะภาวนาท่องเอาไว้อยู่ในใจในคำท่องภาวนาว่า(อย่ายินดียินร้าย.อย่าว่าร้ายใคร.อย่าคิดร้ายใคร.) เพื่อเป็นสร้างความรู้ตัว(คือสัมปชัญญะ)เตรียมพร้อมเอาไว้ในใจ อันเป็นเหตุให้สติเกิดรู้สกัดกั้นบาปอกุศลไม่ให้เกิดขึ้นในใจโดยอัตโนมัติ หรือเป็นการรู้ปล่อยวางในบาปอกุศล เมื่อใจมีสติมากเข้าๆ ความสงบสุขก็เกิดขึ้นในใจ เป็นอธิจิต และเกิดอธิศีล รู้ตัวมีสติในการพูดจากับใครๆ ไม่คิดฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่คิดค้าขายสิ่งต้องห้ามเช่นยาพิษหรือสิ่งเสพติดใดๆ(เป็นมิจฉาวณิชชา) อย่างไม่ผิดในศีล๕ และเกิดอธิปัญญา เล็งเห็นสิ่งเป็นไปในสภาวธรรม ที่เป็นอริยสัจธรรม ๔ อย่าง จนรู้เห็นความเป็นไปในไตรลักษณ์ ที่เป็นแนวทางแห่งการหลุดพ้นจากวัฏฏะสงสาร ตามอริยมรรค ดังนี้......

ที่มา -- หลวงพ่ออุดม มหาปุญโญ วัดป่าหนองเลง/fb.com

ว่าด้วยข้อที่พึงหวังได้ ๑๗ อย่าง





อากังเขยยสูตร


ว่าด้วยข้อที่พึงหวังได้ ๑๗ อย่าง


[๗๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน
อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี.

ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า.

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพุทธพจน์นี้ว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีศีลอันสมบูรณ์
มีปาติโมกข์อันสมบูรณ์อยู่เถิด จงเป็นผู้สำรวมด้วยความสำรวมในปาติโมกข์
ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรอยู่เถิด
จงเป็นผู้มีปกติเห็นภัยในโทษทั้งหลายมีประมาณน้อย
สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิด.


-------------------------------------

[๗๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า
ขอเราพึงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ เป็นที่เคารพ
และเป็นผู้ควรยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายเถิด

ดังนี้ ภิกษุนั้น พึงกระทำให้บริบูรณ์ในศีล
หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน ไม่ทำฌานให้เหินห่าง
ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร.

-------------------------------------


[๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า
ขอเราพึงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารเถิด ดังนี้
ภิกษุนั้น พึงกระทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน
ไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร.

-------------------------------------


[๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า
เราบริโภคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของเทวดาหรือมนุษย์เหล่าใด
สักการะเหล่านั้นของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้นพึงมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่เถิด ดังนี้
ภิกษุนั้นพึงกระทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน
ไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร.

-------------------------------------

[๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า
ญาติและสาโลหิตของเราเหล่าใด ล่วงลับทำกาละไปแล้ว มีจิตเลื่อมใส ระลึกถึงอยู่
ความระลึกถึงด้วยจิตอันเลื่อมใส ของญาติและสาโลหิตเหล่านั้น
พึงมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่เถิด ดังนี้
ภิกษุนั้นพึงกระทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน
ไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร.

-------------------------------------

[๗๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า
เราพึงเป็นผู้ข่มความไม่ยินดีและความยินดีได้
อนึ่ง ความไม่ยินดีอย่าพึงครอบงำเราได้เลย
เราพึงครอบงำย่ำยี ความไม่ยินดีอันเกิดขึ้นแล้วได้อยู่เถิด ดังนี้
ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับ
จิตของตน ไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร.

-------------------------------------

[๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุพึงหวังว่า
เราพึงเป็นผู้ข่มความกลัวและความขลาดได้
อนึ่ง ความกลัวและความขลาด อย่าพึงครอบงำเราได้เลย
เราพึงครอบงำ ย่ำยี ความกลัวและความขลาดที่เกิดขึ้นแล้วได้อยู่เถิด ดังนี้
ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน
ไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูน
สุญญาคาร.

-------------------------------------



[๘๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า
เราพึงเป็นผู้ได้ฌานทั้ง ๔ อันเกิดขึ้นเพราะจิตยิ่ง เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม
ตามความปรารถนาพึงได้ไม่ยาก ไม่ลำบากเถิด ดังนี้
ภิกษุนั้น พึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน
ไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร.

-------------------------------------


[๘๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า
เราพึงถูกต้องด้วยกายซึ่งวิโมกข์อันก้าวล่วงรูปาวจรฌานแล้ว
เป็นธรรมไม่มีรูปสงบระงับอยู่เถิด ดังนี้ ภิกษุนั้น
พึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน
ไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร.


-------------------------------------



[๘๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า
เราพึงเป็นโสดาบันเพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ ๓ พึงเป็นผู้มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา
เป็นผู้เที่ยงมีอันตรัสรู้เป็นเบื้องหน้าเถิด ดังนี้
ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน
ไม่ทำฌาน ให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร.

-------------------------------------

[๘๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า
เราพึงเป็นพระสกทาคามี เพราะความ สิ้นไปแห่งสังโยชน์ ๓ [และ]
เพราะราคะ โทสะ โมหะ เป็นสภาพเบาบาง พึงมาสู่โลกนี้ เพียงครั้งเดียว
แล้วพึงทำที่สุดทุกข์ได้เถิด ดังนี้
ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน
ไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร.

-------------------------------------

[๘๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า
เราพึงเป็นอุปปาติกสัตว์ เพราะความสิ้นไปแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕
พึงปรินิพพานในพรหมโลกนั้น มีอันไม่กลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดาเถิด ดังนี้
ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน
ไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร

-------------------------------------

[๘๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า
เราพึงบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือ คนเดียวพึงเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนพึงเป็นคนเดียวก็ได้
ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพง ภูเขาไปได้ไม่ติดขัด
เหมือนไปในที่ว่างก็ได้ พึงผุดขึ้น ดำลง แม้ในแผ่นดิน เหมือนในน้ำก็ได้
พึงเดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้
ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์ มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้
ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้เถิด ดังนี้
ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน
ไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร ๑


-------------------------------------

[๘๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า
เราพึงได้ยินเสียงทั้ง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์
ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพยโสตอันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์เถิด ดังนี้
ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน
ไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร.

-------------------------------------
[๘๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า
เราพึงกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ
คือ จิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ
จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ
จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ
จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน
จิตเป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต หรือจิตไม่เป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต
จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า
จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ
จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้นเถิด ดังนี้
ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน
ไม่ทำฌานให้เหินห่างประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร

-------------------------------------

[๘๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า
เราพึงระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ พึงระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง
สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง
สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง
ตลอดสังวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง
ตลอดสังวัฏวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น
มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ
มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น
แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น
มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น
ครั้นจุติจากภพ นั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เราพึงระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก
พร้อมทั้งอาการพร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้เถิด ดังนี้
ภิกษุนั้น พึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน
ไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร.


-------------------------------------


[๘๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า
เราพึงเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติเลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม
ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์
พึงรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต
วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ
ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เมื่อตายไป เขาถึงเข้าอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต
ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ
เมื่อตายไป เขาเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้
เราพึงเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม
ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ พึงรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็น
ไปตามกรรมด้วยประการฉะนี้เถิด ดังนี้
ภิกษุนั้น พึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน
ไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนาพอกพูนสุญญาคาร.


-------------------------------------


[๙๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า
เราพึงทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้
เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่เถิด ดังนี้
ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตนไม่ทำ
ฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร.

คำใดที่เรากล่าวแล้วว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีศีลอันถึงพร้อม มีปาติโมกข์อันถึงพร้อมแล้วอยู่เถิด
เธอทั้งหลายจงเป็นผู้สำรวมด้วยความสำรวมในปาติโมกข์
ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจรอยู่เถิด

เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีปกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย
สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิด ดังนี้

คำนั้น อันเราอาศัยอำนาจประโยชน์นี้ จึงได้กล่าวแล้ว ฉะนี้แล.

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว
ภิกษุเหล่านั้นมีใจชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาค ฉะนี้แล.



จาก-- พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์


ที่มา-- 84000.org

30.1.13

เมื่อเราต้องการของดี



          เมื่อเราต้องการของดี และอยากเป็นคนดี เราก็ต้องหมั่นขยันหมั่นงฝึกฝนทำสิ่งนั้นให้ออกมาดีที่สุด ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม ก็ต้องหมั่นฝึกทั้งนั้น ไม่ฝึกฝนไม่ได้เพราะไม่ฝึกสิ่งนั้นก็ออกมาไม่ดี หากเป็นงานก็ต้องหมั่นขยันทำจนเกิดความคล่องมือ และออกมาดี และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน หากเป็นคนก็ต้องหมั่นฝึกเรียน หมั่นรู้จักจำให้เกิดปัญญาแตกฉาน หากเป็นสัตว์ก็ต้องหมั่นฝึกให้มันรู้จักทำให้ได้มากที่สุด หากเป็นตัวตนหรือตัวเราก็ต้องหมั่นฝึกบังคับให้มีสติในการใช้ชีวิต อย่าให้อารมณ์เป็นใหญ่ ส่วนใจก็ต้องหมั่นฝึกใ้ห้มีศิลธรรม ควรฝึกเป็นประจำ เพราะของดีจะได้แก่ต้ัวผู้ที่ฝึกเองอย่างแน่นอน ฝึกจนกว่าจะตาย หากตายแล้วก็คงไม่ต้องฝึก......

คำสอนของหลวงปู่มั่น

29.1.13

ความล้มเหลวที่ยิ่งใหญ่ทีสุดในชีวิตคือ....


ความตระหนี่





คนตระหนี่ถี่เหนียวท่านก็มายกเป็นตัวอย่างไว้เหมือนกัน เพราะเป็นความจริงด้วยกัน คนตระหนี่ถี่เหนียวไปที่ไหนคับแคบตีบตัน ไม่มีใครอยากคบค้าสมาคม เช่นอย่างเกิดมาเป็นคนขอทาน ไปเกิดในแมใด ลูกของแม่ใด เด็กคนนี้ไปเกิดในสถานที่ใดแม่นั้นอดอยากขาดแคลนลำบากลำบน อุ้มลูกไปขอทาน ไม่มีใครให้ทาน
ถ้าวันไหนไม่เอาลูกไปแล้ววันนั้นเป็นธรรมดาๆ ขอทานได้ทั่วไป อัธยาศัยของมนุษย์มีการสงเคราะห์กันเป็นพื้นฐานมาดั้งเดิม ไม่ใช่พึ่งมามีวันนี้คืนนี้ มีมาดั้งเดิม ถ้าวันไหนลูกไปด้วย วันนั้นอดอยากทั้งแม่ทั้งลูก ถ้าวันไหนลูกไม่ได้ไปด้วย ไปขอทานลำพังตนได้มา นี่อำนาจแห่งความคับแคบตีบตันมันปิดกั้นไว้หมด นี่ท่านก็แสดงเอาไว้
แล้วก็มาถึงพระเราอีก นี้เอาในตำรามาพูดนะ ท่านเอาความจริงมาพูด คนที่ว่านี่แหละมาบวชเป็นพระ บิณฑบาตมาฉันไม่เคยอิ่ม จนร่ำลือไปหมด พระองค์นี้ไปไหนไปด้วยความอดอยาก ไปที่ไหนไม่เคยสมบูรณ์
ถ้าพระองค์นี้ไปไหนพระองค์อื่นพลอยอดอยากด้วย นั่นฟังซิ ร่ำลือไปหมดนะไม่ใช่ธรรมดา ไปที่ไหนๆ ลำบาก การทำบุญเขาทำอยู่ทั่วๆ ไป พระบิณฑบาตก็ไปเหมือนกัน ท่านก็ไปเหมือนกันกับเขา แต่กรรมของท่านกับพระทั้งหลายต่างกัน แน่ะ ถ้าให้ไปข้างหน้าบันดลบันดาลไม่ให้เขาเห็นเสีย ยิ่งให้อยู่สุดท้ายข้าวหมดแล้ว มันยังไงกัน เสียงดังไปหมดในวงพุทธศาสนาเรา
กระเทือนไปถึงพระสารีบุตร พระโมคคัลลาน์ ท่านก็มาเองเพราะร่ำลือเหลือประมาณความอดอยากขาดแคลนของพระองค์นี้ตั้งแต่วันบวชมา ว่างั้นนะ
บิณฑบาตฉันจังหันไม่เคยอิ่มเลย มันหากเป็นอยู่ในกรรมนั่นแหละ ทีนี้พระสารีบุตรมา บรรจุข้าวเต็มบาตรท่านมาเลย ทั้งพระสารีบุตร พระโมคคัลลาน์มาเยี่ยมพระองค์นี้ให้เห็นด้วยความสัตย์ความจริง มาก็เข้าถึงเลย ได้ทราบว่าท่านอดอยากขาดแคลนตั้งแต่บวชมา บิณฑบาตฉันวันหนึ่งๆ ไม่เคยอิ่ม เป็นความจริงไหม ว่าเป็นความจริง เพราะอะไรจึงไม่อิ่ม พระท่านไม่ให้เหรอ หรือเขาไม่ใส่บาตรให้ ท่านก็บรรยายไป พระท่านทำทุกอย่าง แต่กรรมอันนี้มันก็เหนือทุกอย่างเหมือนกัน
จึงว่าที่ท่านพูดว่า นตฺถิ กมฺมสมํ พลํ นี่ก็พุทธภาษิต
ไม่มีอะไรมีอำนาจเหนือกรรมไปได้
ไม่ว่ากรรมดีกรรมชั่ว
ใครอย่าอวดเก่ง กรรมเหนือตลอดนะ
ตัวนั้นละเป็นผู้มีอำนาจทำกรรม
และกรรมนั้นแหละมีอำนาจบังคับตัวเองในทางชั่ว
เสริมตัวในทางที่ดี คือกรรมดีกรรมชั่วของตัวเองนั้นแล
ไม่ใช่กรรมนี้เหาะลอยมาจากไหน มาจากเจ้าของเองผู้ทำ
นั่นท่านว่า นี่ท่านบอกไว้ในตำรา
น่าสลดสังเวชนะ
เอาวันนี้ ท่านว่างั้นนะ พระสารีบุตรเองใส่บาตรให้เลย ถามทุกสิ่งทุกอย่างละเอียดลออเราไม่พูดมากแหละ ย่นเวลาเข้ามาให้พอดี เอ้า จะใส่บาตรให้ ใส่แต่ของดิบของดี ก็พระสารีบุตร พระโมคคัลลาน์เป็นอัครสาวกเป็นพระอรหันต์ ใส่บาตรให้เต็ม
เอ้า วันนี้ท่านฉันให้อิ่มนะ ใส่บาตรให้เต็ม เต็มแล้วฉัน เวลาท่านฉันพระสารีบุตรต้องจับขอบปากบาตรเอาไว้ ฟังซิ ถ้าปล่อยนี้ปั๊บจะหมดไปๆ เลย ใครมองเห็นเมื่อไรว่าหมดเมื่อไร นี่ละอำนาจของกรรมเห็นต่อหน้าต่อตาอย่างนั้น
พระสารีบุตรจับขอบปากบาตรเอาไว้ เอา วันนี้ฉันให้อิ่มนะให้พอ ท่านก็ฉันอิ่มวันนั้น เลยตายในวันนั้นนะ อาจจะอิ่มวันเดียวก็ตาย นี่อำนาจผลกรรมแสดงให้เห็น...


ธรรมะหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

ที่มา... dhammajak.net

28.1.13

สำคัญที่....


ธรรมะที่แ้ท้จริงเป็นของไร้ภาษา




ธรรมะที่แท้จริงเป็นของไร้ภาษา
เพราะว่าภาษาทั้งหลายทั้งปวง ล้วนแล้วแต่เป็นมายา
การเทศนาธรรมคือการอาศัยใช้มายาเพื่อชักจูงให้คนเข้าถึงสัจธรรม
การแจ่มแจ้งในสัจจะ ต้องเกิดพุทธิภาวะขึ้นในใจของผู้ฟังเอง
ฉะนั้น การจะรู้แจ้งสัจธรรม ผู้ฟังต้องเอาใจมาฟัง มิใช่หู
ผู้ฟังต้องรู้เอง แจ้งเอง เห็นเอง ละเอง ที่ใจของตน
ภาษาเป็นแค่เพียงสื่อให้ผู้ฟังปลงปัญญาที่ใจตนเอง
ฉะนั้น การสร้างบารมีทั้งปวงจึงจำเป็นอย่างยิ่ง
นั่นคือ บารมีเป็นสิ่งเกื้อหนุนเตรียมใจรอการบรรลุธรรม
จิตใจที่ไร้บารมี เมื่อฟังธรรม ย่อมไม่บังเกิดผล
ฉะนั้น จงขวนขวายสร้างบารมีทุกอย่างทุกเมื่อ อย่าทอดธุระ
เพื่อเป็นการเตรียมใจเพื่อควรแก่การรู้แจ้งสัจธรรม
ผู้มีบารมีจึงบรรลุธรรม ไร้บารมีไม่บรรลุ

คนพ้นโลก





คำว่าพ้นโลกนี้ คือหมายถึงว่า พ้นไปจากโลกอันนี้ โลกนี้มีอยู่ ๓ โลก
ที่ธรรมะเรียกว่าโลก คือ กามโลก ๑ รูปโลก ๑ อรูปโลก ๑ มีเท่านี้เรียกว่าโลก
ทีนี้คณะคนพ้นโลก คือพ้นจากโลกทั้ง ๓ นี้ คือ พ้นจากกามโลก รูปโลก อรูปโลก
และทางที่จะพ้นจากกามโลก รูปโลก อรูปโลก นั้นเป็นอย่างไร
ท่านก็แสดงในมัชฌิมาปฏิปทาทางสายกลาง
ย่อลงมาก็คือ ทาน ศีล ภาวนา นี้เอง ทาน ศีล ภาวนานี้
เป็นทางพ้นโลกทั้ง ๓ เหตุไฉนจึงเป็นทางพ้นโลกทั้งสาม
เราจะบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนาประเภทใดนี้
พระพุทธเจ้าได้ตรัสแก่พระอานนท์ ในศิริมานันทสูตรโดยย่อ ๆ ว่า
ดูก่อนอานนท์ ท่านที่จะพ้นโลกทั้ง ๓ คือ กามโลก รูปโลก อรูปโลก นี้
เมื่อบุคคลผู้มีศรัทธา ความเชื่อก็เลื่อมใส บำเพ็ญในทาน ศีล ภาวนา
ไม่ต้องพูดถึง ศีล สมาธิ ปัญญา
อันบุคคลผู้ที่บำเพ็ญ ทาน ศีล ภาวนาเป็นผู้แสวงบุญนั้น
เพื่อลาภสักการะ หรือเพื่อยศ เพื่อความสรรเสริญ
เพื่อความสุขในกามโลก รูปโลก อรูปโลกนี้ ยังไม่ได้จัดเข้าเป็นข้อปฏิบัติ
ที่ให้ถึงธรรมปฏิบัติโดยแท้ ยังไม่อาจพ้นไปจากโลกได้
เพราะธรรมเหล่านี้มีอยู่ในโลก ความมีลาภก็มีอยู่ในโลก ความมียศก็มีอยู่ในโลก
ความเสื่อมลาภก็มีอยู่ในโลก ความเสื่อมยศก็มีอยู่ในโลก
ความเสื่อมสรรเสริญก็มีอยู่ในโลก ความนินทาก็มีอยู่ในโลก
ความสุขก็มีอยู่ในโลก ความทุกข์ก็มีอยู่ในโลก
ทีนี้ผู้บำเพ็ญทาน ศีล ภาวนานี้ หวังลาภสักการะหรือหวังลาภหวังยศ
หวังความสรรเสริญ หวังความสุขนั้น ยังไม่จัดเป็นข้อปฏิบัติ
ให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ ยังไม่พ้นโลก
ผู้บำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา เมื่อเป็นผู้ทีมุ่งหวังที่จะทำลายกิเลสตัณหา
อันเป็นตัวเหตุตัวปัจจัยให้เกิดทุกข์อยู่ร่ำไป
ให้เกิดอยู่ในกามโลก รูปโลก อรูปโลก
นี้จึงเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์
ถ้าผู้บำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา คือผู้แสวงบุญ
มุ่งหวังที่จะต้องทำลายแต่กิเลส ตัณหา อันเป็นตัวเหตุตัวปัจจัย
เป็นตัวกรรมวัตร กิเลสวัตร คือเป็นตัวสมุทัย เป็นตัวให้เกิดทุกข์
นี้จึงจะพ้นไปเสียจากโลกทั้ง ๓ ได้
การที่จะพ้นไปเสียจากโลก ทั้ง ๓ คือ ทาน ศีล ภาวนานี้เท่านั้น
ฉะนั้น การบำเพ็ญท่าน ศีล ภาวนา ถ้าไม่มุ่งหวังที่จะทำลายกิเลสตัณหาแล้ว
มันก็ไม่พ้นไปเสียจากโลกได้ เมื่อไม่พ้นไปเสียจากโลกได้
ส่วนบุญที่เกิดจากการบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา นั้นมีอยู่หรือไม่
มีอยู่ ได้รับผลอยู่ ไม่ปฏิเสธว่าไม่ได้รับ ได้รับผลอยู่
แต่ได้ผลเพียงมนุษย์สุข สวรรค์สุขเท่านั้น ไม่พ้นไปจากทุกข์
เพราะเหตุไม่ได้เจตนาที่จะทำลายกิเลสตัณหานั้นให้สิ้นไปหมดไป จึงไม่พ้นทุกข์
สุขที่ได้รับจากการบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนามีอยู่
มีมนุษย์สุข สวรรค์สุขเท่านั้น แต่ไม่พ้นไปจากทุกข์
ส่วนการบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา
เพื่อมุ่งหวังที่จะทำลายกิเลสตัณหาอย่างเดียวให้หมดไป ให้สิ้นไป
ให้ดับไป ไม่มุ่งหวังอะไร สุขก็ได้ ทุกข์ก็พ้น
นี่แหละ พวกเราคณะพ้นโลก ให้สมชื่อ อย่าประกาศแต่ชื่อ ว่าคณะคนพ้นโลก
มันเสียชื่อเสียงของพวกเรา เมื่อเสียชื่อเสียเสียงของพวกเรา
เราไม่ปฏิบัติให้ตรงกับว่า ทำอะไรจึงจะเป็นเครื่องพ้นโลก
มันก็เสียชื่อพระพุทธศาสนาไปอีก ทั้งตลอดวงในการพระศาสนาของเรา
ฉะนั้นที่คณะพวกเราเที่ยวแสวงหาบุญกุศลเพื่อบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา
ในที่ต่าง ๆ นั้น ให้พากันมุ่งหน้ามุ่งตาที่จะทำลายกิเลสตัณหา
ให้ออกไปจากจิตใจของเราเท่านั้น ให้หมดไปสิ้นไป
จึงจะพ้นไปเสียจากโลก เพราะธรรมที่จะพ้นไปเสียจากโลก
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเบื้องต้นประวัติของท่าน พวกเราก็เข้าใจกันดี
ท่านแสดงในอริยมรรคปฏิปทา ประกอบไปด้วยองค์ ๘ ประการนี่เอง
ดังจะนำมาแสดงโดยย่อ ๆ เพียงข้อต้น คือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
สัมมาสังกับโป ความดำริชอบ เพียงแค่นี้
ความเห็นชอบ เห็นสิ่งที่เป็นเหตุให้พ้นไปเสียจากโลกนี้
ท่านเห็นอย่างไร ดำริชอบ ดำริจิต เป็นเหตุให้พ้นไปเสียจากโลก ดำริอย่างไร
ความเห็นชอบนั้น คือเห็นว่า นี้ทุกข์ นี้เป็นเหตุเกิดทุกข์
นี่ธรรมเป็นที่ดับทุกข์ นี่เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมเป็นที่ดับทุกข์
นี้ทุกข์ คือเห็นว่า ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นทุกข์
เห็นเหตุให้เกิดทุกข์ คือเห็นตัณหา ความอยาก อันทุกข์ทั้งหลาย
ทุกข์ในกามโลก รูปโลก อรูปโลก ที่จะปรากฏขึ้น
ก็เพราะเหตุแห่งตัณหา คือความอยาก ฉะนั้นธรรมเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
ท่านจึงเจาะจงบ่งชื่อตัณหาว่า ยายงฺตณฺหา
ตัณหาคือความอยากนี้ เป็นเหตุให้เกิดกามภพ รูปภพ อรูปภพ ไม่มี มีแต่ตัณหาเท่านี้
ความยินดี ความกำหนัด ความเพลิดเพลินลุ่มหลง
ฮึกเหิมตามความกำหนัด ความยินดี คือความใคร่ ความรัก
ความปรารถนาในกามารมณ์ ความทะเยอทะยานอยากเป็นโน่นเป็นนี่ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ความไม่อยากมี ไม่อยากเป็นในสิ่งที่ตนไม่ชอบ ไม่พอใจ
ตัณหาคือความอยากเหล่านี้ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่พ้นไปจากโลกได้
หรือไม่พ้นไปจากกามโลก รูปโลก อรูปโลกได้
เพราะเหตุแห่งตัณหา มีปัญญา สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ รู้ชอบ ในธรรมเป็นที่ดับทุกข์
ความทุกข์ทั้งหลายมี่จะดับไป ความเห็นว่าต้องทำตัณหานี่แหละให้สิ้นไป
ดังที่ท่านตรัสว่า ธรรมอันทีดับทุกข์นั้น คือทำตัณหาความอยากนี่แหละให้สิ้นไป
ดับตัณหาความอยากนี่แหละ โดยไม่เหลือนั้น ๆ เสียให้สิ้นไปจากใจของตน
พึงละ พึงสาง พึงสร้าง พึงปลดปล่อย ตัดขาดจากตัณหา
คือความอยากนี้นี่แหละให้สิ้นไป ทุกข์จึงจะดับ เพราะเหตุแห่งตัณหา เป็นเหตุให้เกิดทุกข์
ถ้าผู้ต้องการจะพ้นไปจากทุกข์ พ้นไปจากโลก กามทุกข์ รูปทุกข์ อรูปทุกข์
ก็ต้องดับเสียซึ่งตัณหาให้หมดให้สิ้นไป เราจึงจะพ้นไปจากโลกได้
นี้ปัญญาสัมมาทิฏฐิ ปัญญาสังกับโป ท่านรู้ธรรมอันที่ดับทุกข์ ด้วยประการอย่างนี้
ปัญญาสัมมาทิฏฐิ ความรู้ชอบ เห็นชอบในข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์
ย่นลงก็คือ ทาน ศีล ภาวนา หรือ ศีล สมาธิ ปัญญานี้
การบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ถ้าไม่มุ่งหวังที่จะทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไป
ให้สิ้นไปแล้ว ก็ไม่มีทางพ้นไปจากทุกข์ พ้นไปจากโลกนี้ได้
ถ้าเราบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา มุ่งหวังที่จะทำลายกิเลสตัณหาอย่างเดียวให้หมดให้สิ้นไป
คือที่ว่าพ้นไปจากโลก เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันที่ดับทุกข์โดยแท้
ไม่ต้องมีความสงสัยเลยดังนี้


ธรรมะหลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ


ที่มา...ประตูสู่ธรรม


ความไม่มี.....





ร่างกายมนุษย์มองด้วยตาเเล้วแตกต่าง
แต่เมื่อมองด้วยปัญญาญาณแล้วเป็นเช่นเดียวกัน
นั่นคือดิน น้ำ ไฟ ลม
ไม่มีคน ไม่มีสัดว์ ไม่มีหญิง ไม่มีชาย
เมื่อตัวละครไม่มีแ้ล้ว เรื่องราวละครจะมีไ้ด้อย่างไร
เมื่อเห็นแจ้งในความเป็นธาตุของกายมนุษย์
เรื่องราวในโลกที่ปรากฎแก่ปัญญาก็เป็นโมฆะ
ไม่ควรเป็นที่ตั้งแห่งความรัก ชัง เกลียด โกรธ หวง ห่วง
ที่ยึดมั่น ถือมั่น เพราะหลงผิด
ที่เฝ้าคอยยินดี ยินร้าย เพราะไม่รู้ความจริง
ความตายจะบอกความจริง ความพลัดพรากคือของแน่นอน
ยึดมั่นเพียงใดก็แตกดับ
หวงห่างเพียงใดก็สิ้นสูญ
เกิดมากับความไม่มี ตายไปกับความไร้

16.1.13

ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษจับสัตว์หกชนิด





ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษจับสัตว์หกชนิด
อันมีที่อยู่อาศัยต่างกัน มีที่เที่ยวหากินต่างกัน มาผูกรวมกันด้วยเชือกอันมั่นคง คือ
เขาจับงูมาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่ง, จับจระเข้, จับนก, จับสุนัขบ้าน,
จับสุนัขจิ้งจอกและจับลิง, มาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่งๆ
ครั้นแล้ว นำไปผูกไว้กับเสาเขื่อนหรือเสาหลักอีกต่อหนึ่ง

ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น สัตว์ทั้งหกชนิดเหล่านั้น มีที่อาศัยและที่เที่ยวต่างๆ กัน
ก็ยื้อแย่งฉุดดึงกัน เพื่อจะไปสู่ที่อาศัยที่เที่ยวของตนๆ
งูจะเข้าจอมปลวก, จระเข้จะลงน้ำ, นกจะบินขึ้นไปในอากาศ,
สุนัขจะเข้าบ้าน, สุนัขจิ้งจอกจะไปป่าช้า, ลิงก็จะไปป่า

ภิกษุทั้งหลาย ในกาลใดแล ความเป็นไปภายในของสัตว์ทั้งหกชนิดเหล่านั้น
มีแต่ความเมื่อยล้าแล้ว ; ในกาลนั้น
มันทั้งหลายก็จะพึงเข้าไปยืนเจ่า นั่งเจ่า นอนเจ่า อยู่ข้างเสาเขื่อนหรือเสาหลักนั้นเอง ข้อนี้ฉันใด ;

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดได้อบรมทำให้มากในกายคตาสติแล้ว
ตา ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารูปที่น่าพอใจ, รูปที่ไม่น่าพอใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ;
หู ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาเสียงที่น่าฟัง, เสียงที่ไม่น่าฟัง ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ;
จมูก ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหากลิ่นที่น่าสูดดม, กลิ่นที่ไม่น่าสูดดม ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ;
ลิ้น ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารสที่ชอบใจ, รสที่ไม่ชอบใจ ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ;
กาย ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาสัมผัสที่ยั่วยวนใจ, สัมผัสที่ไม่ยั่วยวนใจ ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ;
และใจ ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาธรรมารมณ์ที่ถูกใจ, ธรรมารมณ์ที่ไม่ถูกใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ;
ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

ภิกษุทั้งหลาย คำว่า “เสาเขื่อน หรือ เสาหลัก” นี้เป็นคำเรียกแทนชื่อ แห่ง กายคตาสติ

ที่มา--หลวงพ่ออุดม มหาปุญโญ/fb.com

15.1.13

วิธีการแก้กรรมเรื่องครอบครัวมีแต่ปัญหา




วิธีการแก้กรรมเรื่องครอบครัวมีแต่ปัญหา 

เกิดจากกรรม (สิ่งใดสิ่งหนึ่งดังนี้) 

1. เคยทำแท้งไหม
2. ไม่ทำบุญให้บรรพบุรุษไหม
3. ไม่เข้าใจครอบครัว สามี ลูกหรือเปล่า
4. เคยผิดศีลกาเม ในชาติก่อนและชาตินี้ไหม
5. ทำผิดต่อเจ้าที่เจ้าทางไหม

วิธีแก้กรรม 

1. นิมนต์พระเลี้ยงทำบุญบ้าน วันเกิด สวดชะยันโต ขอพร ประพรมน้ำมนต์ให้ครอบครัว อยู่เย็นเป็นสุข และถวายสังฆทานสวดอุทิศให้ เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายให้อโหสิกรรมและช่วยครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข

2. ไปถวายผ้าบังสุกุลอุทิศให้บรรพบุรุษให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขหรือทำบุญให้บรรพบุรุษให้ได้รับกุศล

3. เคยบอกรักสามีและลูกบ้างไหม ทำซะ จะทำให้เขาเข้าใจมากขึ้นว่าเรารัก

4. สวดมนต์ทุกวันเกิดตนเอง ขอพรเทพประจำตัวให้คุ้มครองครอบครัวให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข

5. กราบไหว้เจ้าที่เจ้าทางด้วย อาหารคาวหวานชุดใหญ่ แก่พระภูมิเจ้าที่ให้ได้รับและขอพรให้อำนวยโชคลาภความร่มเย็นเป็นสุขให้ครอบครัวท่าน

12.1.13

คนที่ไม่รู้ระวังใจย่อมอยู่เป็นทุกข์





       ใจของเราได้เก็บเรื่องราวต่างๆ มากมายในเรื่องของบุคคล หรือสัตว์หรือสถานที่หรือสิ่งของอื่นๆอีกมาก ที่เราทั้งรักและเกลียดไว้ในจิตใต้สำนึก(คือสัญญาขันธ์) ที่เป็นเรื่องราวที่ประกอบไปด้วยอารมณ์หรือความรู้สึกยินดียินร้าย จึงเป็นเหตุให้เกิดอัตตาอคติ ต่อสิ่งรับรู้ใหม่ที่เข้ามากระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ได้แก่รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่างๆ(เป็นรูปขันธ์ในขันธ์๕) ของบุคคล หรือสัตว์หรือสถานที่หรือสิ่งของอื่นๆอีกมาก จึงเกิดความยึดถือในสิ่งรับรู้ใหม่ และเกิดอารมณ์หรือความรู้สึกยินดียินร้าย อันเป็นเหตุให้ไปกระตุ้นความจำในจิตใต้สำนึกของเรื่องราวที่อยู่ในใจ ให้เกิดการนึกและคิดปรุงแต่ง(คือสังขารขันธ์)ขึ้นมาในใจของตน จนเป็นเหตุให้จิตฟุ้งซ่านว้าวุ่นใจ, หรืออิจฉา, หรือโลภอยากได้, หรือโกรธอยากทำร้าย, หรือพยาบาทคิดปองร้ายอาฆาต, และอื่นๆอีกมากมายที่เป็นบาปอกุศลจิต ทำให้เกิดความทุกข์ใจตามมาให้ผล(คือตัวสมุทัย ที่มีใจเป็นเหตุ)

เราจึงต้องรู้ระวังใจของเราอย่าให้หลงเหตุที่จะทำให้เกิดความทุกข์ ด้วยการเจริญสติท่องธัมมะภาวนาว่า(อย่ายินดียินร้าย.อย่าว่าร้ายใคร.อย่าคิดร้ายใคร.) สอนใจตนเตือนใจของตนให้มีธรรมะ จนมีสติรู้ปล่อยวางเสีย ดังที่พระพุทธเจ้าได้เคยตรัสสอนบุคคลทั่วไปให้รู้ปล่อยวางไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นในรูปขันธ์ของขันธ์๕ เพราะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ การมีความเพียรในการท่องธัมมะภาวนาไว้ในใจอยู่เสมอๆตลอดวันและคืนได้ยิ่งดี จะไปสร้างความรู้ตัวให้กับใจ(คือมีสัมปชัญญะ) อันเป็นเหตุให้ใจเราเกิดสติ(การระลึกได้)ได้เร็วรู้สกัดกั้นไม่ให้เกิดบาปอกุศล คือการรู้ปล่อยวาง จนเกิดมีใจที่สงบนิ่ง ก็จะไม่ทำให้ใจของเราเกิดการนึกและคิดปรุงแต่งใจให้เกิดทุกข์ ดังนี้......

ที่มา--หลวงพ่ออุดม มหาปุญโญ วัดป่าหนองเลง/fb.com

9.1.13

กรรมอะไรที่ทำให้ไปเป็นสัตว์ประเภทต่างๆ





          สัตว์เดรัจฉานเป็นสิ่งจับต้องได้ เราสามารถเห็นพวกมันด้วยตา ฟังเสียงพวกมันด้วยแก้วหู โดยไม่จำเป็นต้องมีตาทิพย์หูทิพย์เสียก่อน ฉะนั้นก็แปลว่าเราสามารถรู้เห็นการรับ ‘ผลกรรม’ มากมายผ่านรูปชีวิตสัตว์อันหลาก

           หลายมหาศาลบนโลกใบนี้เอง บางเผ่าพันธุ์เหินไปในเวิ้งอากาศว่าง บางเผ่าพันธุ์แหวกว่ายไปในห้วงน้ำใหญ่ บางเผ่าพันธุ์เอาแต่มุดหัวอยู่ในดินทึบ และหลายเผ่าพันธุ์ก็เคลื่อนไหวอยู่บนผิวโลก รับผัสสะร้อนเย็นต่างกัน มีอัตภาพเล็กใหญ่ล้ำเหลื่อมกัน และสามารถกระทำการผิดแผกกว่ากันวิจิตรพิสดารนัก
แต่สัตว์จะวิจิตรพิสดารปานใด ชนวนเหตุอันนำไปสู่อบายภูมิระดับเดรัจฉานก็ไม่ต่างกันนัก หลักๆได้แก่

๑) มีจิตเศร้าหมองก่อนตาย
หมายความว่าไม่ต้องชั่วร้ายมาก ขอแค่จิตเศร้าหมอง หรือพะวงติดข้องอยู่ในความคิดที่เป็นอกุศล ก็เพียงพอแล้วกับการไปถือกำเนิดเป็นสัตว์ เนื่องจากจิตที่เศร้าหมองย่อมขาดกำลังระลึกถึงกุศลผลบุญ ฉะนั้นที่จะให้ไปสู่ภพภูมิที่เจริญคงยาก

๒) ประกอบกรรมชั่วโดยปราศจากความละอาย หมายความว่าชั่วพอประมาณ แต่ยังไม่ทะลุพื้นเดรัจฉานร่วงหล่นลงสู่นรกภูมิ เช่น เบียดเบียนชีวิตผู้อื่นได้แบบไม่กะพริบตา คดโกงได้หน้าด้านๆ ประกอบกามแบบสำส่อน โป้ปดมดเท็จเอาตัวรอดไว้ก่อน ร่ำสุราจนเมามายโดยขาดความเห็นโทษ อย่างใดอย่างหนึ่งใน ๕ ประการนี้ก็เพียงพอกับการลงไปเป็นสัตว์ เนื่องจากจิตที่สกปรกย่อมไม่อาจส่องสว่างคู่ควรกับสุคติได้ จิตที่เศร้าหมองก่อนตายด้วยความเป็นผู้ทุศีลนั้น หนักหนากว่าจิตที่เศร้าหมองเพราะความติดข้องห่วงหน้าพะวงหลังมากนัก

ส่วนที่ว่าจะไปเป็นสหายของหมู่สัตว์ชนิดใด ก็ขึ้นอยู่กับกรรมแยกกรรมย่อยที่แต่ละคนกระทำต่างๆกัน จำแนกโดยคร่าวคือ

๑) จำพวกร่างเล็ก ใช้ชีวิตตามสัญชาตญาณมากกว่ามีสำนึกคิดอ่านตริตรอง รูปชีวิตแบบนี้ถือกำเนิดด้วยอำนาจกรรมชั่วที่กระทำโดยไม่ยับยั้งชั่งใจ สักแต่คิดว่าใครๆเขาก็ทำกัน หรือแม้เมื่อทำดีก็ด้วยกำลังใจที่อ่อน ไม่เป็นตัวของตัวเองในการประกอบบุญกุศล ต้องรอคนชักจูงหรือคะยั้นคะยอจริงจังถึงจะยอมทำแบบเสียไม่ได้

๒) จำพวกร่างใหญ่ มีความคิดอ่านหรือสติปัญญาพอตัว มีลักษณะอุปนิสัยแบบมนุษย์ติดอยู่บ้าง รูปชีวิตแบบนี้ถือกำเนิดด้วยอำนาจกรรมชั่วที่กระทำแบบยั้งใจได้บ้าง อยากปรับปรุงนิสัยใจคออยู่บ้าง เสียแต่ว่าแพ้กิเลส ยอมประกอบกรรมชั่วอยู่เนืองๆมากกว่า แต่พวกนี้อาจเคยทำบุญมาดี มีกำลังใจเข้มแข็ง ไม่ต้องผลักดันมากก็คิดทำดีด้วยตนเองบ้าง

ที่มา--ที่นี่ดอทคอม

8.1.13

รู้ตามเป็นจริง




บุคคลเมื่อเจริญกระทำให้มากซึ่งกายคตาสติ
เมื่อเห็นรูปด้วยตาแล้ว ย่อมไม่กำหนัดยินดีในรูป อันเป็นลักษณะที่ตั้งแห่งความรัก (ราคานุสัย)
ย่อมไม่ขัดเคืองในรูป อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความเกลียดชัง (ปฏิฆานุสัย) เป็นต้น
มีสติตั้งไว้ในกาย เป็นผู้อยู่อุเบกขา คือไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่สุข
และรู้ตามเป็นจริงซึ่งเหตุให้เกิด,ความดับไม่เหลือ คุณและโทษ และ อุบายเครื่องออกพ้นไปของเวทนานั้น
อวิชชานุสัย ย่อมไม่ตามนอนเนืองเขาอยู่
สติเป็นที่แล่นไปสู่วิมุตติ ด้วยอาการนี้.....


ที่มา -- ห้องธรรมะ/fb.com

7.1.13

วิธีแก้กรรมในความรัก




1. แก้กรรมร้างคู่ 

คนบางคนขาดคู่แท้ คู่ถาวรเพราะวิบากกรรมชาติก่อนอาจเคยทำให้คู่รักต้องเลิกกันไปโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม  หรืออาจเคยพรากคู่รักให้แยกจากกัน  หรือเคยยุยงให้เขาแตกกัน  หรือขัดขวางมิให้เขาได้ครองคู่กัน

การแก้กรรมดวงที่ร้างคู่ให้ปฏิบัติ ดังนี้ 

1.1 ถวายเทียนคู่หรือแจกันคู่ 
ถวายให้ครบ 9 วัดอย่างต่อเนื่อง จะทำบุญเดือนละ 1 วัดหรือ 2 วัดก็ได้ตามแต่สะดวกให้ถวายในวันเกิดของตน เช่น คนเกิดวันพุธ ก็ไปทำบุญวันพุธ อธิษฐานจิตขอทำบุญเพื่อแก้วิบากกรรม  ตั้งจิตภาวนาขอพรเรื่องคู่ตามที่หวัง
(สามารถถวายสิ่งของอื่นแก่วัดได้ แต่ควรถวายสิ่งของที่ใช่เป็นคู่ เช่น เชิงเทียน แจกัน )

2. แก้กรรมชีวิตคู่ไม่ราบรื่น 

อาจเป็นเพราะชาติปางก่อน ทำบุญร่วมกันโดยไม่เต็มใจ
จึงเกิดมาเป็นคู่กัน แต่ความสัมพันธ์ไม่ราบรื่น หรือเมื่อครั้งที่เคยเป็นคู่กันนั้น ขาดความปรองดองต่อกันหรือร่วมมือกัน จึงต้องมาทะเลาะเบาะแว้ง ให้แก้กรรมโดยปฏิบัติ ดังนี้

2.1 ร่วมใจกันทำบุญตักบาตรพระสงฆ์อย่างสม่ำเสมอ 
ต้องเป็นประจำ สม่ำเสมอ ทุกกเช้า วันเว้นวัน หรือทุกอาทิตย์

2.2 ร่วมกันทำบุญถวายสังฆทานสม่ำเสมอ ทุกเดือน หรือ ทุก 3 เดือน 

2.3 ร่วมกันสวดพระคาถาบท ทุกวันพระเป็นเวลา 3 เดือน จากนั้นสวดทุกวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ 

2.4 เป็นเจ้าภาพหรือร่วมเป็นเจ้าภาพ เกี่ยวกับงานเลื้ยงวิวาห์ ออกแรง 
หรือออกเงินช่วยงานแต่งงานของคู่บ่าวสาวที่ไม่รวยนัก ไม่จำเป็นต้องเป็นคู่
ที่เรารู้จักคุ้นเคยดี

2.5 ตั้งตนชอบอยู่ในจริยธรรมอันดี คิดดี พูดดี และทำดีต่อคู่รักทุกคู่ 
มิว่าจะรู้จักกันดีหรือไม่ ช่วยให้คู่รักเขาได้สมรักหรือได้เข้าใจกัน ไม่ทำให้เขาแตกร้าวกัน จะได้อานิสงค์แรงมาก

3.แก้กรรมคู่ไม่สมพงศ์ดวงกัน 
คู่ที่มีดวงไม่ถูกโฉลกกัน หรือไม่สมพงศ์กันในทางพื้นเรือนชะตา เมื่อมาครองคู่ด้วยกันแล้ว ชีวิตมักจะขรุขระไม่ราบรื่น มีอุปสรรคให้ฟันฝ่าจนเหนื่อยเสมอ หรืออาจมีความลุ่ม ๆ ดอน ๆ ก้าวหน้าช้า มีความขัดสน หรือมีปัญหาอื่น ๆ ที่ทำให้หาความสุขสบายแท้จริงไม่ได้ ให้แก้กรรม ดังนี้

3.1 ร่วมกันทำบุญ ทำทานสม่ำเสมอ
ทำบุญด้วยการออกแรงแทนเงินก็ได้ นำข้าวของไปบริจาคคนยากไร้ ไปอาสาช่วยงานบุญที่วัด

3.2 ร่วมกันตักบาตรพระสงฆ์ 

3.3 ไปไหว้พระ ทำบุญเติมน้ำมันตะเกียงร่วมกัน 

3.4 ไปไหว้ศาลหลักเมืองด้วยกัน 

3.5 ร่วมกันปล่อยนก ปล่อยปลาย ปล่อยหอยขม โดยไปซื้อปลาที่ตลาดสดมาปล่อย หรือไถ่ชีวิตสัตว์

3.6 ร่วมกันล้างบ้าน จัดบ้านใหม่ ไหว้พระที่บ้าน ไหว้เจ้าที่เจ้าทาง 

4. อธิษฐานขอฟ้าให้พบหน้าคู่แท้ 
ต้องฟังผู้หลักผู้ใหญ่หรือคนในครอบครัวที่สูงวัย ที่ให้คำแนะนำ ตรงนี้เป็นบุญประการหนึ่ง บุญนี้จะหนุนนำให้ได้คู่ที่ดี ให้ได้ลูกที่ดีในลำดับต่อไป

ต่อมาเป็นเรื่องของการทำบุญ คือไม่ทำให้คุณพ่อ คุณแม่เดือดร้อน ปู่ย่าตายายเดือดร้อน ร้อนกายร้อนใจว่าเราเอกเขรกเกเร ทั้งนี้จะเป็นบุญกุศลหนุนนำให้เราได้พบคู่รักอันเป็นคู่แท้ประการหนึ่ง อีกหลาย ๆ ประการที่กล่าวถึงดังต่อไปนี้ ถือว่าเป็นบุญกุศลในเรื่องที่จะให้สมหวังในความรักทั้งนั้น การกตัญญูกตเวทิตาต่อบิดามารดาและญาติผู้ใหญ่ในวงศ์ตระกูล ทำบ้านให้ร่มเย็นเป็นสุข การทำบุญกับบ้านเด็กกำพร้า การบริจาค หรือการทำบุญกับบ้านคนชรา การบริจาค หรือการทำบุญให้กับโรงพยาบาลสงฆ์ การบริจาคหรือการทำบุญกับมูลนิธิเพื่อนหญิง หญิงที่ถูกทำร้าย การบริจาคหรือการทำบุญกับโรงพยาบาล เป็นส่วนสำคุญที่จะเป็นบุญแรง เป็นบุญใหญ่ หนุนนำให้เกิดความสุขและความสำเร็จในเรื่องความรัก เพราะสถานที่ที่ได้กล่าวถึง มีสื่อทางจิตวิญญาณอันสัมพันธ์เกี่ยวกับบุญวาสนาบารมี ที่จะเกื้อหนุนให้เกิดพลังของผลบุญที่เกื้อหนุนในเรื่องของความรักและชีวิตครอบครัว เมื่อทำบุญแล้วต้องมีการอธิษฐานบุญ ขอให้ตั้งจิตอธิษฐาน เมื่อท่านสงบนิ่งแล้วให้ระลึกถึงสิ่งที่เป็นผลบุญที่ได้กระทำอันเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ท่านได้ทำบุญมา และให้อธิษฐานว่า

“ขอให้ข้าพเจ้า ชื่อ-นามสกุลของท่าน ขอให้ประสบความสุข ความสำเร็จโดยเฉพาะในเรื่องของชีวิตคู่ เรื่องของครอบครัวขอให้มีความสุข ขอให้ได้พบคู่แท้ดังที่ปรารถนา หากใครก็ตามที่เป็นคู่แท้ ก็ขอให้พบโดยเร็วพลัน ขอให้ได้เรียนรู้ ขอให้อย่าได้พบกับคนที่หลอกลวง แต่ถ้าหากใครคิดจะหลอกลวง ทำร้าย ทำลายน้ำใจให้มีความรู้สึกเจ็บช้ำ จงอย่าได้กล้ำกลายเข้ามา ขอให้ห่างไกลหลีกลี้หนีไปจากบารมี หลีกลี้ไปจากเรา ขอให้มีบารมี บุญบารมีธรรมคุ้มครองเราด้วยเถิด หากใครเป็นคู่แท้แล้วไซร้ก็ขอให้จงมีโอกาสเข้ามาใกล้ ประดุจเทพอุ้มสม คือเทพหนุนนำ เทวดาชักพา ให้เกิดการพบหน้า มีจิตประภัสสรให้เกื้อหนุนกันต่อไป จากปัจจุบันถึงอนาคตด้วยเถิด สาธุ”

อะไรประมาณนี้ ท่านก็จะสมหวังตามที่ปรารถนา ส่วนอธิษฐานมีส่วนเหมือนกัน กล่าวคือ

ท่านที่เกิดวันอาทิตย์นั้น การอธิษฐานควรจะอธิษฐานหรือทำบุญในวันอาทิตย์หรือวันพฤหัสบดี

ท่านที่เกิดวันจันทร์ควรจะทำบุญอธิษฐานขอพรจากเทวดาฟ้าดิน ในวันจันทร์หรือวันพุธ

ท่านที่เกิดวันอังคารควรขอพรจากเทวดาฟ้าดินในวันอังคารและวันศุกร์

ท่านที่เกิดวันพุธกลางคืนควรอธิษฐานขอพรในวันพุธกลางคืนและวันเสาร์ เป็นต้น

6.1.13

ควรพิจารณาเนืองๆ





พระองค์จึงทรงให้เราพิจารณถึงความตายอยู่เนืองๆ ดังพระสูตรที่ว่า...
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต
จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ความมัวเมาในชีวิตมีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลาย
ประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ
ย่อมละความมัวเมาในชีวิตนั้นได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล สตรี บุรุษ คฤหัสถ์หรือบรรพชิต
จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา
ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้


credit -- คุณคมสันจากวัดนาป่าพง

5.1.13

กรรม ๑๒ คืออะไร

 


กรรม ๑๒ คือ หมวดหมู่ของกรรมที่มาจากพระสูตร ได้แก่ 
หน้าที่ของกรรม 
๑. ชนกกรรม - มีหน้าที่ทำให้วิบากนามขันธ์ และ 
กรรมชรูปเกิดขึ้น 
๒. อุปถัมภกกรรม- มีหน้าที่ช่วยอุดหนุนกรรมอื่นๆ 
๓.อุปปีฬิกกรรม -มีหน้าที่เบียดเบียนกรรมอื่นๆ 
๔. อุปฆาตกรรม- มีหน้าที่ตัดรอนกรรมอื่นๆ 

ว่าด้วยลำดับของการให้ผล 
๕. ครุกรรม-คือ กรรมหนัก 
๖. อาสันนกรรม คือ กรรมที่กระทำเมื่อใกล้ตาย 
๗.อาจิณณกรรม คือ กรรมที่กระทำเสมอเป็นนิจ 
๘. กฏัตตากรรม คือ กรรมเล็กน้อย 

 ว่าด้วยเวลาแห่งการให้ผล 
๙. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลในชาติปัจจุบัน 
๑๐. อุปปัชเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลในชาติที่๒ 
๑๑.อปราปริยเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลในชาติที่ ๓ เป็นต้นไป 
๑๒. อโหสิกรรม คือ กรรมที่ไม่ให้ผล 
กรรมดังกล่าวทั้ง ๑๒ เป็นการอธิบายการเกิดขึ้นจากกรรมฝ่ายกุศล อกุศลกรรม และสัมปยุตตธรรมจึงมีความเป็นไปต่างกัน



credit -- เด็กหน้าวัด

4.1.13

อำนาจกรรม




กรรมดี กรรมชั่ว จะคอยติดตามบุคคลผู้กระทำนั้นอยู่ เสมือนเงาตามตัว

การที่มองไม่เห็นกรรมนั้น ก็เพราะมัวดำเนินชีวิตอยู่ในทางที่ชั่วหรือจะเรียกว่า ในที่มืด บุคคลทั้งหลายจึงไม่เห็นเงาของตัวเอง

แต่ถ้าเมื่อใดถูกแสงสว่าง เขาก็จะมองเห็นเงาของตนทุกครั้งไป

ตามความเป็นจริงแล้ว กรรมจะให้ผลติดเมื่อสุกงอมเต็มที่ มีระยะฟักตัวตามสมควร จึงเห็นได้ยาก ชีวิตมนุษย์มีเวลาน้อยนิดไม่พอแก่การพิสูจน์กรรมให้ตลอดได้
หากบุคคลทำกรรมได้ผลทันทีทันใด ใครเล่าจะกล้าทำชั่ว

อย่างไรก็ตามกรรมนั้นจะคอยเวลาและโอกาสอยู่ เหมือนบุรุษและสตรีผู้ร่วมอยู่กินฉันสามีภรรยาแล้ว ต่อมา 3 – 4 เดือน มารดาบิดาของหมู่ญาติแม้กระทั่งสามี จึงจะเห็นว่าสตรีนั้นมีครรภ์ ไม่ใช่ว่าสตรีนั้นมีครรภ์ ( ปฏิสนธิ ) ในเวลากลางคืน พอรุ่งเช้าครรภ์จะปรากฏแก่คนทั้งหลายได้ หรือเมื่อตั้งครรภ์ในคืนนั้น รุ่งขึ้นจะคลอดก็หาไม่ ต้องถึงเวลาอันสมควร

การให้ผลของกรรมนั้นบางอย่างต้องใช้เวลาเป็นพัน ๆ ปี ถึงแม้จะนานมากแค่ไหน กรรมก็สามารถหาตัวบุคคลผู้ทำได้ถูกต้องเสมอเหมือนฝูงโคที่อยู่รวมกันมาก แม่โคก็สามารถหาลูกโคของมันได้พบ


การกระทำดี เป็นหน้าที่ของผู้รักดี
แต่การให้ผลดี เป็นหน้าที่ของกรรม

บุคคลไม่สามารถเร่งเร้าได้เลย เสมือนการไถคราดและหว่าน เป็นหน้าที่ของชาวนา
ส่วนการออกรวงเป็นหน้าที่ของต้นข้าว

ถ้าจะถามว่ากรรมดีลบล้างกันได้ไหม? คำถามนั้นยากไปที่จะอธิบาย แต่ขอใช้คำว่า “ละลาย” ง่ายกว่า เช่น เกลือ เป็นต้น การละลายนั้นเราเรียกว่า อัพโพหาริก

ถ้าจะถามว่าบาปบุญที่ทำแล้ว เมื่อยังไม่ให้ผล บาปบุญนั้นไปอยู่เสียที่ไหน บาปบุญนั้นคอยติดตามผู้ทำอยู่ เช่น มะม่วงนอกฤดูกาลลูกมะม่วงมีผลไหม? คือไม่มี พอถึงปีหน้ามันก็จะมีผลมาอีก ถามว่าเวลานี้ซึ่งผลมันจะมีในปีหน้านั้นตอนนี้มันเก็บอยู่ที่ไหน?
มะม่วงกับผลมะม่วงเป็นอย่างฉันใด เรื่องผู้ทำกรรมกับกรรมก็เป็นฉันนั้น

กรรมดีกับกรรมชั่วไม่ได้ให้ผลเพียงครั้งเดียวจะส่งผลอยู่เสมอๆจนกว่าหมดฤทธิ์หมดแรงไป เสมือนต้นมะม่วงที่แก่ในที่สุดก็ล้มตายไป แล้วเมื่อไหร่ กรรมจะหยุดการให้ผล?


กรรมจะหยุดการให้ผล ด้วยเหตุ ๓ ประการ

๑. เมื่อหมดแรง คือ ให้ผลจนสมควรแล้วแก่เหตุ จึงหยุดให้ผลเหมือนนักโทษที่ถูกจำคุกตามความหนักเบาเช่น จำคุก ๒ ปี เมื่อพ้น ๒ ปี ก็พ้นโทษ บางคนโทษหนักจำคุกตลอดชีวิต แต่ระหว่างอยู่ในคุกก็พยายามทำความดี ได้ลดหย่อนผ่อนโทษ อาจลดเหลือ ๒๐ ปี แล้วแต่กรณี เรื่องของกรรมก็ทำนองนี้

๒. เมื่อสิ้นอาสวะ กล่าวคือบุคคลได้ทำกรรมมาแล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์สิ้นอาสวะทั้งปวง ไม่เกิดอีกมีชีวิตอยู่เป็นชาติสุดท้าย กรรมย่อมหมดโอกาสให้ผลต่อไปในชาติหน้า

จิตของพระอรหันต์ย่อมหมดเชื้อ เสมือนเมล็ดสิ้นยางเหนียวหรือเมล็ดลีบปลูกไม่ขึ้นอีกต่อไป

กรรมจะให้ผลได้เฉพาะเวลามีชีพอยู่เท่านั้น ในชาติสุดท้ายพระอรหันต์ขีณาสพทั้งหลายเป็นผู้ได้กระทำดีถึงที่สุด เหมือนเมล็ดพืชที่ดีที่สุดนั่นเอง

ทำไมเมล็ดพืชที่ดีที่สุดจึงหยุดการให้ผลหรือหยุดการสืบพันธุ์
ผลมะม่วงที่ดีนั้นมีเนื้อมากเมล็ดเล็ก คือถึงขีดแห่งความเจริญเต็มที่ เนื้อมากที่สุดแต่เมล็ดลีบใช่ไหม เมล็ดลีบจะเอาไปปลูกอีกก็ไม่ขึ้น

คนก็ทำนองเดียวกันเมื่อเจริญคุณธรรมอย่างเต็มที่ถึงขีดสุดก็พรั่งพร้อมไปด้วยความดีอย่างเต็มที่ ปราศจากกิเลสและสิ่งชั่วต่าง ๆ เหมือนมะม่วงที่อุดมไปด้วยเนื้อ เมล็ดจะลีบเพราะปลูกไม่ได้ เช่นเดียวกัน กรรมก็ไม่อาจให้ผลได้เช่นกัน

๓. เมื่อมีกรรมอื่นมาแทรก กรรมจะหยุดให้ผล เมื่อมีกรรมอื่นแทรกซ้อนเข้ามาเป็นครั้งคราว

เช่น เมื่อบุคคลนั้นกำลังทำกรรมชั่วแรง ๆ เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้กรรมชั่วให้ผลก่อน กรรมดีที่กำลังจะส่งก็หยุดส่งผลในช่วงนั้น

ในทางตรงข้าม เมื่อบุคคลนั้นกำลังทำกรรมดีแรง ๆ ก็เปิดโอกาสให้กรรมดีส่งผลก่อน กรรมชั่วที่กำลังจะส่งผลในขณะนั้นก็หยุดส่งผลเช่นกัน

credit -- เด็กหน้าวัด

เครื่องบวงสรวง บูชาพระภูมิเจ้าที่




      เครื่องบวงสรวง บูชาพระภูมิเจ้าที่

    เครื่องบวงสรวง บายศรี
๑.บายศรี ต้น ๓, ๕, ๙ ชั้น ตามความเหมาะสม..... ๑ ต้น
๒.บายศรีพรหม......... ๑ พาน
๓.บายศรีเทพ............. ๑ พาน
๔.บายศรีปากชาม....... ๔ ชุด
"""""""""""""""""""""""""""""""""""""

                เครื่องคาวหวาน
๑.ไก่ต้มสุก...................... ๑ ตัว
๒. หัวหมูต้มสุก .............. ๓ หัว
หรือ เนื้อหมูแดงต้มสุก......ชิ้นละ ๑ ก.ก. .........๓ ชิ้น
๓.ปลาช่อน นึ่งทั้งตัว โรยเกลือ หรือ แป๊ะซ๊ะ.......... ๑ ตัว
๔.ขนมต้มแดง............ ๔ ถ้วย
๕.ขนมต้มขาว.........๔ ถ้วย
๖.ถั่วเขียวไม่เลาะเปลือก คั่วสุก... ๔ ถ้วย
๗.งาขาว คั่วสุก... ๔ ถ้วย
๘.มะพร้าวออ่น... ๔ ผล
๙.กล้วยน้ำว้าสุก.... ๔ หวี
๑๐.ไข่ ไก่ หรือไข่เป็ด..ต้มสุก...... ๔ ฟอง
๑๑.น้ำปล่าว....... ๔ แก้ว
"""""""""""""""""""""""""""""""""""

.........อุปกรณ์ภาชนะที่ต้องเตรียมในการบวงสรวง
๑.ธูป..... ๑ กำ
๒. เทียน หนัก ๑ บาท ...... ๒ เลม่
๓. ทองคำเปลว...... ๒๐ แผ่น
๔.ถาดใหญ่..... .๔ ถาด
๕.จาน........... ๘ ใบ
๖. ถ้วยใส่ขนม...... ๑๖ ใบ
๗.ชามแกง..... ๔ ใบ
๘.โต๊ะใหญ่...... ๒ โต๊ะ
๙.ผ้าขาว ยาว ๒ เมตร.......ผืน
๑๐.องค์พระชัยมงคล  ๑ องค์

ที่มา -- คนเมืองบัว

3.1.13

ทุกอย่างสำเร็จด้วยจิต



       ท้องฟ้าสีคราม ประดับด้วยปุยเมฆสีขาวลอยฟ่องอยู่เป็นกลุ่มเล็กกลุ่มใหญ่ ภายใต้แผ่นนภาอันกว้างไกล แสดงถึงความแจ่มใสของโลกที่พ้นฤดูฝนมาแล้ว

       ท้องฟ้าสีคราม ปุยเมฆสีขาว เป็นสิ่งที่มีมานานแล้วตั้งแต่โลกเกิดและจะมีอยู่ต่อไปเป็นนิรันดร เช่นเดียวกับดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ที่ใครและผู้ใดไม่อาจจะลบเลือนได้ มันเป็นสภาวธรรม หรือธรรมชาติแห่งความเป็นจริง

        แต่แม้กระนั้น ก็ใช่ว่าจะหนีกฎแห่งอนิจจังไปได้ มนุษย์พากันวิตกว่า โลกอาจถูกทำลายให้พินาศเป็นจุณไปสักวันหนึ่ง และผู้ที่จะทำลายโลกก็คือ มนุษย์ เองแต่ความวิตกนั้นมันเป็นอนาคตที่เราคาดคิดกันไปอย่างลมๆแล้งๆชีวิตแต่ละชีวิตอาจไม่คงอยู่จนถึงเวลานั้น ทำไม?เราจะต้องไปวิตกถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ปัจจุบันต่างหากที่เราควรมองดูว่าเรากำลังทำอะไรกันอยู่

        เรามองเห็นว่า ปัจจุบันมนุษย์กำลังใช้นามธรรม ประดิษฐ์คิดค้นสิ่งที่เป็นรูปธรรมขึ้นมา รูปธรรมที่ค้นคิดขึ้นมานั้น มีทั้งสิ่งที่เป็นประโยชน์และสิ่งที่จะทำลายโลกให้พินาศระหว่าง ๒ สิ่งนี้ สิ่งที่เป็นประโยชน์ย่อมมีพลังอำนาจน้อยกว่าสิ่งทำลายมากมายนัก ซึ่งเรามองเห็นได้ชัดว่า ประโยชน์จะมีสักเท่าใดเมื่อถูกทำลายเสียแล้วประโยชน์ก็จะหมดไปด้วย มนุษย์ก็จะไม่ได้อะไรเลย แม้แต่ชีวิตของตนเองก็จะต้องหมดไป โลกจะเหลือแต่น้ำกับฟ้าอย่างเดิม

        แสดงว่าในปัจจุบันนี้ มนุษย์กำลังใช้นามธรรมอย่างผิดทางเราสร้างสิ่งที่สมมติขึ้น จนเกินความต้องการของชีวิต และบัดนี้เราไม่รู้ว่าชีวิตมนุษย์เราต้องการอะไรกันแน่… มันไม่มีสิ้นสุด… มันไม่มีจุดหมายปลายทาง…

       สิ่งที่เป็นนามธรรม แม้จะไม่มีรูปร่างตัวตนให้มองเห็นได้ แต่มันก็มีความสำคัญยิ่งใหญ่เหนือกว่ารูปธรรมเป็นอันมากรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นวัตถุสิ่งของ เครื่องประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่สังขารร่างกายของคนและสัตว์ ล้วนเกิดขึ้นมีขึ้นโดยนามธรรมเป็นผู้บันดาลอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น ถ้านามธรรมไม่บันดาลสมบัติปรุงแต่งขึ้นมา มันก็จะไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นเป็นรูปร่างที่เรียกว่า รูปธรรม เลย

        พระพุทธเจ้าบรมศาสดาเอกในโลก จึงทรงตรัสว่า ทุกอย่างสำเร็จด้วยจิต จิตก็คือนามธรรมอันซ่อนเร้นแอบแฝงอย่างลับๆอยู่กับร่างกายของคนและสัตว์ทั้งหลายผู้มีปัญญารู้ความจริงว่า จิตหรือนามธรรมมีความสำคัญยิ่งใหญ่ย่อมจะปรับปรุงจิตของตน บำรุงรักษาจิตของตน ทำความสะอาดบริสุทธิ์ให้แก่จิตของตน ยิ่งกว่าสังขารทั้งหลาย และถือว่าการงานของจิตเป็นสิ่งควรทำอย่างยิ่ง

        แต่ผู้โง่งมงาย ไม่รู้ความสำคัญของจิต จะพากันปรนเปรอบำรุงรักษาสังขารร่างกายตามใจกิเลส อันมีความโลภ โกรธ หลง อย่างไม่ว่างเว้น และเต็มกำลังความสามารถและดูเหมือนว่า มันเป็นธรรมชาติที่จะต้องดำเนินไปเช่นนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า หมุนเวียนอยู่ไม่มีวันจบสิ้น จนกลายเป็นความยึดมั่นถือมั่นตัวเราเป็นของเรา ยากที่จะแก้ไขปรับปรุงได้ มนุษย์เกิดมาเป็นวัวตามฝูง สุดแต่หัวหน้าฝูง คือ ความโลภ โกรธ หลง จะนำไป ช่างน่าสงสารเหลือเกิน

       เส้นทางของชีวิต ไม่ว่ามนุษย์หรือสรรพสัตว์ เป็นระยะทางอันไกล เลยขอบฟ้าที่เห็นอยู่ลิบๆโน้น มันข้ามภพข้ามชาติ หมุนเวียนเกิดดับอย่างไม่มีวันสิ้นสุด

       อะไรเล่าคือความหมายของคำว่า "ยุติ" อะไรเล่าคือความหมายของคำว่า "หลุดพ้น" ไปจากการเกิดการดับ ถ้าเราสามารถจะหยั่งรู้ไปถึงกาลในอดีตได้ ก็คงจะเหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่าย อ่อนระโหยโรยแรงไปกับการเกิดดับที่ซ้ำซากอยู่เช่นนั้น

        ชีวิตในอดีตชาติ หลายภพหลายชาติ กระทั่งถึงชีวิตปัจจุบันเราผ่านความทุกข์มากมายเหลือเกิน ถ้าจะนำความทุกข์ที่เราได้รับมากองไว้ตรงหน้า ก็จะเห็นว่าทุกข์นั้นใหญ่เท่าภูเขาหลวง ทุกข์เกิดจากความโลภ ทุกข์เกิดจากความโกรธ ทุกข์เกิดจากความหลง เป็นกิเลสที่มีประจำ สิงสู่อยู่ในชีวิตของเรามันเหมือนดวงอาทิตย์ที่กระจายแสงไปทั่วจักรวาล ครอบคลุมเราและสรรพสัตว์ให้มืดหน้าตาฟางอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไม่รู้จักคิดพิจารณา เราก็ไม่อาจรู้ว่าทุกข์นั้นเป็นฉันใด หนักหนาสาหัสสักเพียงไหน

        เรามักปล่อยให้มันผ่านไป…ผ่านไปเหมือนความทุกข์นั้นเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต มันเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป มีทุกข์ใหม่เข้ามาแทนที่ไม่มีวันสิ้นไปหมดไป

        บางทีเราก็ไปไขว่คว้าแสวงหาทุกข์มาใส่ตน เหยียบย่ำกองทุกข์นั้นให้จมไปกับการเวลา บางทีเราก็เดินเข้าไปเผชิญหน้า แม้จะรู้ว่าจะพบกับความตาย แต่บางครั้งก็ทนไม่ไหว เพราะอารมณ์กิเลสมันเร่งรัดผลักดันให้คะมำไปข้างหน้า ไปเจอกับความเศร้าโศกที่เกิดจากความพลัดพราก ไปเจอกับความเสียใจที่เกิดจากความผิดหวัง

        ด้วยเหตุนี้กระมัง จึงมีผู้คนมากมายทำลายชีวิตตนเองด้วยวิธีการต่างๆ โดยไม่ยอมหยุดคิดสักนิดว่า ทุกข์นั้นเกิดจากสิ่งใด

        นี่แหละอำนาจของอารมณ์กิเลส มันรุนแรง พัดกระหน่ำยิ่งกว่าลมมรสุมใดๆทั้งสิ้น

       ทำอย่างไรเราจะมีโอกาสหยุดคิดสักนิดหนึ่ง ว่าเหตุแห่งทุกข์นั้นเกิดจากอะไร จึงเป็นผลให้เราทุกข์ถึงเพียงนี้…

       มันเป็นกรรมของสัตว์โลกเราอย่างนั้นหรือ ที่ไม่สามารถจะหยุดคิดถึงเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์นั้นได้ และเป็นเช่นนี้มานับแต่โลกและสรรพสัตว์ได้เกิดขึ้น

       เมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีมานี้ นามธรรมได้ถูกพัฒนาขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งโดยพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เกิดขึ้นในโลก พระองค์ได้ทรงค้นพบถึงวิธีที่จะหยุดคิด เพื่อให้ชาวโลกได้รู้เหตุให้เกิดทุกข์ และประทานวิธีหยุดคิดให้แก่มนุษย์ทั้งหลาย ตามที่พระองค์ประสบผลมาแล้วด้วยพระองค์เอง นับเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์ชาติทีเดียว

        วิธีการของพระองค์ฟังดูง่ายๆ ใครได้รับฟังก็คิดว่าน่าจะทำได้ทำกายให้บริสุทธิ์ด้วยการรักษาศีล เพราะการรักษาศีล ทำให้ละเว้นความชั่วได้หลายอย่าง เช่น
ละเว้นจากการฆ่าสัตว์
ละเว้นจากการลักทรัพย์
ละเว้นจากการพูดเท็จ
ละเว้นจากการผิดลูกเมียผู้อื่น
ละเว้นจากการดื่มสุรายาเสพติด
   
     ซึ่งเรียกว่า ศีล ๕ เมื่อเราละเว้นจากการทำชั่ว ๕ ประการนี้ได้นอกจากเป็นเบื้องต้นของการละเว้นแล้ว ในขั้นต่อไปที่เรียกว่า ศีล ๘ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ก็ทำให้กายของเราบริสุทธิ์ ครั้นกายบริสุทธิ์แล้วก็ทำให้จิตบริสุทธิ์ต่อไป

       การทำให้จิตบริสุทธิ์นั้น คือ ทำจิตให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิเมื่อเราทำสมาธิมากๆ แล้ว ก็จะเกิดสติสัมปชัญญะตามมา
สติ ก็คือ การระลึกได้
สัมปชัญญะ ก็คือ การรู้ตัว

        คนเราเมื่อระลึกได้ รู้ตัวได้เท่าทันกิเลสอารมณ์ที่มันเกิดขึ้น เข้ามาออกไปในจิตของเราอยู่ทุกเวลาและโอกาสจนแทบตั้งตัวไม่ติด มันก็จะถอยห่างออกไป เพราะอารมณ์กิเลสทั้งหลายนั้น มันมีความกลัวอยู่อย่างหนึ่งคือ กลัวการรู้ทัน เหมือนขโมยที่คิดจะเข้าไปขโมยของในบ้าน ถ้ามันรู้ว่าเจ้าของบ้านยังตื่นอยู่ ถือปืนคอยจ้องจะยิงมัน แน่นอน! มันย่อมไม่เข้าไป

       เมื่อไม่มีขโมยเข้ามา จิตก็ว่าง มีเวลาหยุดคิดว่า เจ้าความทุกข์มันเกิดจากอะไร พอรู้สาเหตุที่มันเกิดทุกข์ เราก็จะมองเห็นว่า ทางแก้ทุกข์นั้นยังมีอยู่ ถ้าเรารู้เหตุก็ย่อมจะรู้ทางแก้ เช่น ตัดเหตุนั้นเสียผลที่ทำให้เกิดทุกข์ก็จะไม่เกิดขึ้น หรือถ้าทุกข์นั้นเกิดขึ้นแล้ว เราก็จะมองเห็นว่าควรจะแก้อย่างไร แล้วก็แก้ตามเหตุนั้น มันก็จะระงับดับทุกข์เสียได้ถึงความพ้นทุกข์ที่เกิดขึ้น

        เมื่อพระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ คนในสมัยพุทธกาลที่พระพุทธองค์ยังทรงดำรงพระชนม์อยู่ ก็พากันทำตาม เพราะคนเหล่านั้นเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย มีใจอ่อนละเอียด รู้จักเหตุรู้จักผล มีคุณธรรมอันสร้างไว้ดี เป็นบารมีอันติดตามมาแต่อดีตชาติ ต่างพากันปฏิบัติตามอาศัยศีลบริสุทธิ์ จิตบริสุทธิ์ ทำให้เกิดปัญญา รู้แจ้งเห็นจริงถึงความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง เป็นจำนวนมากมายตามขั้นตอนแห่งบารมีของตน

       ในรอบพันปี หลังจากพระพุทธองค์ทรงดับขันธปรินิพพานแล้วมหาชนชาวโลกที่พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์แพร่ขยายไปถึงก็ยังประพฤติดี ปฏิบัติชอบตามคำสอนของพระองค์ โดยถือมั่นว่าคำสั่งสอนนั้นเป็นตัวแทนของพระตถาคตเจ้าอยู่

        ผู้ประพฤติปฏิบัติตามด้วยความอดทน พากเพียรพยายามไม่ท้อถอยก็ยังได้ประสบความสำเร็จ ได้บรรลุถึงโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามีและอรหัตมรรคอรหัตผลอยู่เป็นจำนวนมาก ท่านเหล่านี้ได้ถึงความเป็นอริยบุคคล เป็นผู้ไม่ย้อนกลับมาสู่การเกิดดับ อันเป็นสมมติของชาวโลกอีกแล้ว

       ส่วนท่านที่บุญบารมียังไม่เต็มเปี่ยม ต่างก็ได้ฌานตามกำลังของตน เช่น ฌาน ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ จนถึง ฌาน ๔ หรือมิฉะนั้นก็ได้เป็นผู้ถือศีล ปฏิบัติสมาธิโดยเคร่งครัด เมื่อล่วงลับจากโลกมนุษย์นี้ไปแล้ว กุศลผลบุญก็ได้ส่งเสริมให้ไปบังเกิดเป็นเทวดา เป็นพรหมอยู่ในวิมานแดนสวรรค์ ส่วนจะยั่งยืนช้าเร็วเท่าใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการกระทำของตนเอง เพราะกุศลอันน้อยนิดยังเป็นโลกียชนอยู่ ย่อมเสื่อมได้ไม่พ้นจากอำนาจของกิเลสมาร ซึ่งเป็นเสมือนบ่วงที่ร้อยรัดสรรพสัตว์ไว้

        คำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ไม่ถือว่าใครเป็นพระเจ้าถึงจะมีพระเจ้าที่ชาวโลกยกย่องในภายหลัง พระเจ้านั้นๆก็ไม่สามารถจะให้บุญให้บาปแก่ใครได้ แม้พระองค์เองก็มิได้ยกย่องพระองค์ว่าเป็นพระเจ้าของใคร เพราะพระเจ้าที่แท้จริงก็คือ มนุษย์ เอง และขึ้นอยู่กับการกระทำ ที่เรียกว่า กรรม ของตนเองทั้งสิ้น

        มนุษย์นับว่ามีวาสนายิ่งกว่าสัตว์ใดในโลก มีสิทธิอันสมบูรณ์ที่จะเลือกทำกรรมดี หรือกรรมชั่วของตนเอง ถือว่าเป็นสัตว์อันประเสริฐซึ่งพระพุทธเจ้าทรงรับสั่งว่า เกิดเป็นมนุษย์นั้น ประเสริฐกว่าเกิดเป็นเทพ เป็นพรหมเสียอีก เพราะเทพพรหมถึงอย่างไรก็เป็นนามธรรม ไม่มีสังขารร่างกายที่จะทำกรรมสิ่งใดให้เป็นไปตามความประสงค์ได้ แม้จะรวมกำลังแรงให้เห็นเป็นรูปร่างได้ในบางครั้งบางโอกาส ก็เป็นเพียงภาพเนรมิตเท่านั้น

        พระองค์ยังทรงชี้ให้เห็นว่า กรรมเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญของมนุษย์และสรรพสัตว์ มนุษย์จะเกิดมาได้ก็เพราะกรรม เรียกว่ากรรมเป็นแดนเกิด มนุษย์จะสืบเชื้อสายเผ่าพันธุ์กันมาได้ ก็เพราะกรรมนั่นเอง

        กรรมยังเป็นเครื่องจำแนกให้มนุษย์และสรรพสัตว์แตกต่างกันออกไป เกิดมารูปชั่วก็มี เกิดมารูปงามก็มี เกิดมารูปร่างสมบูรณ์ด้วยอาการ ๓๒ ก็มี เกิดมาพิกลพิการก็มี เกิดมาลำบากยากจนอดอยากก็มีเกิดมาร่ำรวยก็มี เกิดมาใจบาปหยาบช้าก็มี เกิดมาใจบุญกุศลก็มีและนี่แหละที่ถือว่าเป็นกฎเกณฑ์ประจำโลกมนุษย์เรา ท่านเรียกว่าเป็น กฎแห่งกรรม ที่ไม่มีใครจะเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากมนุษย์เอง

        กรรมนั้นเป็นเหตุ ถ้ามนุษย์เลือกทำกรรมดีเป็นกุศล ก็จะได้รับผลดีเป็นการตอบสนอง ถ้าทำกรรมชั่วเป็นอกุศล ก็จะได้รับผลชั่วไปด้วย เราสามารถจะมองเห็นผลของกรรมดีกรรมชั่วในโลกมนุษย์แห่งนี้ได้ง่ายๆ ถ้าเรารู้จักพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นมีขึ้นตามความเป็นจริง

        อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มนุษย์จะต้องต่อสู้อย่างหนักหน่วงยิ่งกว่าสงคราม ก็คือ ความดีและความชั่ว หรือ กุศล อกุศล ซึ่งขึ้นอยู่ในจิตใจของตนเอง และส่วนมากก็มักจะพ่ายแพ้แก่อกุศลกรรม ซึ่งเป็นฝ่ายกิเลสมารร้ายไปครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะความอ่อนแอในจิตใจของตนอีกเช่นกัน

        ด้วยเหตุนี้ สรรพสัตว์ทั้งหลายจึงคงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า "วัฏสงสาร" ชาติแล้วชาติเล่า ภพแล้วภพเล่า โดยไม่มีใครคิดสงสารตัวเองแต่อย่างใด ผู้พ่ายแพ้ต่ออกุศลกรรมดังกล่าวนี้ได้กลายเป็นหมู่สัตว์ชนิดหนึ่งไป เขาจะต้องชดใช้กรรมชั่วของเขาตามที่เขากระทำขึ้น

        อันนี้เป็นสัจธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ เป็นสัจธรรมที่มีประจำโลกจักรวาล อันไม่มีใครจะเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่ามนุษย์จะพัฒนาโลกให้เจริญก้าวหน้าไปสักเท่าใด ผลกรรม บุญบาปก็เป็นอยู่เช่นนั้น เช่นเดียวกับที่ทรงตรัสถึงความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทรงตรัสถึงไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาซึ่งไม่ว่ามนุษย์ สรรพสัตว์ วัตถุที่คิดปรุงแต่ง ประดิดประดอยกันขึ้นมา จะต้องตั้งอยู่ในสภาพเดียวกันทั้งสิ้น

        แม้กระทั่งพระธรรมคำสอนที่ตรัสไว้มากมายถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระองค์ก็ยังตรัสว่า เป็นเพียงใบไม้แห้งกำมือเดียวเท่านั้น พระธรรมคำสอนที่ยังมิได้ตรัสถึง ยังมีอีกมากเท่ากับใบไม้ในป่า

         เพราะเหตุนี้กระมัง พระอริยเจ้าก็ดี ท่านผู้ใครถึงความเป็นพระอริยะก็ดี จึงยินดีชื่นชมที่จะเข้าไปค้นหาพระธรรมคำสอนในป่า อันเป็นที่สงัดวิเวก พระพุทธเจ้าเองก็ได้พบธรรมในป่า ทรงเกิดในป่าตรัสรู้ในป่า นิพพานในป่า พุทธสาวกในครั้งกระโน้น เมื่อบวชเรียนแล้ว พระองค์ก็ทรงชี้แนะให้ไปบำเพ็ญเพียรค้นหาธรรมในป่า

         ธรรมในป่าที่พระองค์นำมาสอนชาวโลก ก็คือทางที่จะนำสัตว์ในพ้นจากวัฏสงสาร ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิด ไม่ต้องตกอยู่ในอำนาจของไตรลักษณ์ และทำให้สามารถจะต่อสู้กับกิเลส ตัณหาจนถึงความพ้นทุกข์ได้ในที่สุด

        ซึ่งโดยสรุปโดยย่อแล้ว อาวุธที่ทรงประทานให้ต่อสู้นั้น ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งมีอานุภาพปราบได้ทั้งไตรจักร และหักหาญเอากิเลส ตัณหา ที่สิงอยู่ในจิตวิญญาณของมนุษย์และสรรพสัตว์มารวมไว้ในกำมือเดียว

         แต่ช่างน่าสงสารนัก ที่ชาวโลกเป็นส่วนน้อยจะสนใจไยดีในเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อชำระความประมาทมัวเมากับกิเลสตัณหา ความโลภ ความโกรธ ความหลง เพื่อลดความยึดมั่นถือมั่นในรูปนามขันธ์ ๕ ให้หมดไป จะได้ถึงความพ้นทุกข์กันเสียที เพราะความทุกข์นี้ ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ไม่มีพระเจ้าองค์ใดจะช่วยได้ นอกจากตัวของเราเอง

        เอาล่ะ…จะอารัมภบทไปมากนัก ท่านผู้อ่านก็จะเบื่อหน่าย เพราะขึ้นชื่อว่าธรรมแล้ว นับเป็นสิ่งที่ชาวโลกเบื่อหน่ายมากที่สุด โดยเฉพาะธรรมะในพุทธศาสนานี้ มันสวนทางกับความนิยมพอใจของชาวโลกมาโดยตลอด

          ชาวโลกเขานิยมชื่นชมกิเลส ตัณหา เขาพอใจความโลภ โกรธหลง เขาติดในรูป เวทนา สัญญา สังขาร ว่าเป็นของรักของชอบใจจนยึดมั่นว่าเป็นตัวเราของเรา ยึดมั่นได้เท่าไร สะสมมากเท่าไรก็จะพอใจยินดีผูกพันเหนียวแน่นไม่ยอมปล่อย แม้จะรู้ว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก็รู้ไปตามสัญญาที่สืบต่อกันมา แต่ไม่ยอมรับ ไม่ยอมสนใจ นี่แหละที่ว่า โลกกับธรรมมันเดินสวนทางกันจึงอยากจะขอเล่าเรื่องสนุกๆให้ฟังกันบ้าง

            ก่อนจะเล่า ก็ใคร่ขอเรียนให้ทราบโดยย่อ ถึงผลของการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา เสียหน่อยว่า ผู้ปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญานั้น จะได้รับผลเป็นขั้นตอนแตกต่างกันไป บางท่านได้เคยสร้างบุญบารมีมาเต็มเปี่ยมแล้ว อย่างเคยเป็นผู้บริจาคทานมาเป็นอันมากในอดีตชาติ เคยรักษาศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์มาในอดีตชาติ เคยปฏิบัติธรรมสมาธิมาเต็มขั้น หรือมีพื้นฐานมาก่อน ผู้นั้นก็สามารถจะบรรลุธรรมขั้นเสขบุคคลได้โดยง่าย

          อย่างในพุทธกาลท่านกล่าวว่า เพียงได้ฟังพระธรรมของพระพุทธเจ้าจบลง ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม สำเร็จเป็นพระโสดาบัน เป็นอนาคามี สกิทาคามี หรือเป็นพระอรหันต์ไปเลย

         บางท่านบุญบารมียังไม่เต็มเปี่ยม ก็ยังต้องปฏิบัติต่อไปอีก เร็วบ้าง ช้าบ้าง บางทีก็ต้องปฏิบัติข้ามชาติข้างภพ อย่างได้โสดาบันแล้ว ยังไม่สำเร็จพระอรหันต์ในชาตินั้น ก็จะต้องไปเกิดอีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติ

         นอกจากนี้ก็ยังมีขั้นตอนของความสำเร็จอีก เช่น ขั้นต้น จะได้ขั้นขณิกสมาธิ ขึ้นไปอุปจารสมาธิ จนถึงขึ้นอัปปนาสมาธิ หรือได้ฌานที่ ๑ คือ ปฐมฌาน ฌานที่ ๒ คือ ทุติยฌาน ฌานที่ ๓คือ ตติยฌาน ฌานที่ ๔ คือ จตุตถฌาน ผู้ที่ได้ฌาน ๔ นี้ยังถือเป็นโลกิยฌานอยู่ ยังไม่ถึงขั้นโสดาบัน ได้แล้วไม่ปฏิบัติสืบเนื่องให้เกิดวสี คือความคล่องแคล่วชำนาญ ก็อาจเสื่อมได้ เพราะกิเลสตัณหา ความโลภ โกรธ หลง เพียงสงบลง แต่มันยังไม่ตายเด็ดขาดเมื่อกระทบสิ่งยั่วยุเข้า ก็เกิดขึ้นมาอีก

        ผู้ปรารถนาความหลุดพ้น ต้องบำเพ็ญเพียรข้ามโลกิยฌานไปให้ถึงโลกุตรฌานอันดับแรก คือโสดาบันให้ได้ แม้กระนั้นกิเลสตัณหา ความโลภ โกรธ หลง ก็ยังมีอยู่ แต่ถือว่าเป็นขั้นไม่ย้อนกลับไปสู่อำนาจของกิเลสตัณหาแล้ว คือจะต้องขึ้นไปถึงธรรมที่สูงขึ้นไปจนบรรลุถึงอรหัตผล จึงจะพ้นวัฏสงสาร ไม่เกิด ไม่ตายได้เด็ดขาด

         เพียงขั้นโลกิยฌานนี้ ก็ทำให้มีฤทธิ์ได้ เช่น ได้ตาทิพย์ หูทิพย์ระลึกชาติได้ เป็นต้น แต่เป็นการได้ในวงแคบ เช่น เห็นได้ไม่ไกลได้ยินไม่ได้ไกล หรือระลึกชาติถอยหลังไปได้เพียง ๔-๕ ชาติ ไกลกว่านั้นไม่ได้ ถ้าไปถึงขั้นโลกุตระแล้ว ก็จะเห็นได้ไกล รู้ได้ไกลยิ่งขึ้น และเห็นชัดเจนถูกต้องมากกว่า เอาแค่นี้ก่อน


credit -- dhammaonline 

2.1.13

กรรมมีเท่าไรกันแน่




     เรื่องของกรรม พระพุทธเจ้าท่านได้จำแนกไว้อย่างลึกซึ้ง แบ่งเป็นหลายประเภทคือ

กรรม ๒ ได้แก่ 

๑.กรรมชั่ว หรือกรรมที่เป็นอกุศล (อกุศลกรรม)

๒.กรรมดี หรือกรรมที่เป็นกุศล (กุศลกรรม)

กรรม ๓ ได้แก่ 

๑.การกระทำทางกาย (กายกรรม)

๒.การกระทำทางวาจา (วจีกรรม)

๓.การกระทำทางใจ (มโนกรรม)

กรรม ๑๒ ได้แก่ 

๑.กรรมที่ให้ผลในปัจจุบันในภพนี้
(ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม)

๒.กรรมที่ให้ผลในภพที่จะไปเกิดในภพหน้า
(อุปปัชชเวทนียกรรม)

๓.กรรมให้ผลในภพต่อๆไป
(อปราปริยเวทนียกรรม)

๔.กรรมเลิกให้ผล ไม่มีผลอีก
(อโหสิกรรม)

๕.กรรมแต่งให้เกิด หรือเป็นตัวนำไปเกิด
(ชนกกรรม)

๖.กรรมสนับสนุนซ้ำเติมจากชนกกรรม
(อุปัตถัมภกรรม)

๗.กรรมบีบคั้นที่ให้ผลทุเลาลง หรือบั่นทอนวิบากลง (อุปปีฬกกรรม)

๘.กรรมตัดรอนที่มีแรงส่งเข้าตัดรอนชนกกรรมให้ขาดไป (อุปฆาตกกรรม)

๙.กรรมหนักที่ให้ผลทันทีเช่น สมาบัติ ๘ หรือ อนันตริยกรรม (ครุกกรรม)

๑๐.กรรมทำมากรองจากครุกกรรม(พหุลกรรม)

๑๑.กรรมจวนเจียนตอนใกล้ ถ้าไม่มี ๒ ข้อบนก็ให้ผลก่อน...... (อาสันนกรรม)

๑๒.กรรมเจตนาอ่อนหรือไม่เจตนาตรงๆ จะให้ผลเมื่อไม่มีอันอื่น (กตัตตากรรม)

อนันตริยกรรม ๕ คือ 

กรรมหนัก ๕ ประการที่บาปที่สุด ซึ่งให้ผลทันทีได้แก่

๑.ฆ่ามารดา (มาตุฆาต)

๒.ฆ่าบิดา (ปิตุฆาต)

๓.ฆ่าพระอรหันต์ (อรหันตฆาต)

๔.ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิต (โลหิตุปบาท)

๕.ทำให้สงฆ์แตกกัน (สังฆเภท)


credit--เด็กหน้าวัด

อย่าเสียเวลา