การตัดกรรม คือ การหยุดทำความชั่วหยุดทำบาป ส่วนการตัดเวร คือ การหยุดการพยาบาทอาฆาตจองเวรซึ่งกันและกัน คือไม่แก้แค้นซึ่งกัน และกันรู้จักคำว่าให้อภัยซึ่งกันและกัน และผู้ที่ทำผิดก็ให้รู้จักคำว่าขอโทษ ผู้ที่ถูกขอโทษก็รู้จักคำว่าให้อภัย อันนี้เป็นอุบายตัดกรรมตัดเวร
พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่าใครทำกรรมใดไว้ย่อมได้รับผลของกรรมนั้นแน่นอนหลีกเลี่ยงไม่ได้
กัมมัสสะโกมหิ (เรามีกรรมเป็นของๆตน)
กัมมะทายาโท (เราจะต้องรับผลของกรรมนั้น)
กัมมะโยนิ (เรามีกรรมนำเกิด)
กัมมะพันธุ (เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์พวกพ้อง)
กัมมะปะฏิสะระโน (เรามีกรรมเป็นที่พึ่งที่อาศัย)
ยัง กัมมัง กะริสสามิ (เราทำกรรมอันใดไว้)
กัลยาณัง วา ปาปะกัง วา (เป็นบุญหรือเป็นบาป)
ตัสสะ ทายาโท ภะวิสสามิ (เราจะต้องรับผลของกรรมนั้น)
อภิณหัง ปัจจะเวกขิตัพพัง (พึงพิจารณาเห็นเนืองๆดังนี้)
ไปทำพิธีตัดกรรมก็เป็นการลบล้างคำสอนของพระพุทธเจ้า
กรรมใดใครก่อไว้แล้วในเมื่อใจเป็นผู้จงใจทำลงไปแล้วเป็นกรรมอันเป็นบาป ภายหลังจึงมานึกได้และไม่ต้องการผลของบาป มันก็หลีกเลี่ยงปฏิเสธไม่ได้เพราะใจเป็นผู้สั่งให้กาย วาจา ทำลงไป พูดลงไป ใจตัวนี้ต้องรับผิดชอบโดยความเป็นธรรมโดยหลักของธรรมชาติ เพราะฉะนั้นการที่ไปทำพิธีตัดกรรมนี่หมายถึงตัดผลของบาปนั้นมันตัดไม่ได้ อย่าไปเข้าใจผิด
ถ้าเข้าใจว่าทำบาปทำกรรมแล้วแล้วไปทำพิธีล้างบาปได้ ทำพิธีตัดกรรมแล้วมันหมดบาปประเดี๋ยวก็ทำกรรมชั่วแล้วมาหาหลวงพ่อหลวงพี่ตัดบาปตัดกรรมให้ มันก็ไม่กลัวต่อบาปเพราะฉะนั้นอย่าไปเข้าใจผิดว่าทำกรรมอันเป็นบาปแล้วตัดกรรมให้หมดไปได้ มันเป็นไปไม่ได้
แต่ตัดเวรนี้มีทางเป็นไปได้ เวรหมายถึงการผูกพยาบาทคอยแก้แค้นกันอยู่ตลอดเวลา อย่างเช่นฆ่าเขาตายเมื่อนึกถึงกรรมแล้วกลัวเขาจะอาฆาตจองเวร จึงทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้เขา ถ้าหากว่าเขาได้รับส่วนกุศลเขาได้รับความสุข เขาเลื่อนฐานะจากภาวะที่ทุกข์ทรมานไปสู่ฐานะที่มีความสุข เมื่อเขานึกถึงคุณความดีนึกถึงบุญคุณ เขาก็อโหสิกรรมให้ไม่ตามล้างตามผลาญกันอีกต่อไป อันนี้คือตัดเวรซึ่งตัดได้
บางท่านอาจจะคิดว่าพระพุทธเจ้าช่างโหดร้ายจริงๆ ทำอะไรก็บาป แต่แท้ที่จริงพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้โหดร้ายอย่าเข้าใจท่านผิด พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้กฎความเป็นจริงของธรรมชาติคือรู้ว่าฆ่าสัตว์เป็นบาป ลักทรัพย์เป็นบาป ผิดกาเมเป็นบาป มุสาเป็นบาป ดื่มสุราและสิ่งมอมเมาเป็นบาป
แต่บาปที่กล่าวมานั้นมันมีมาก่อนที่พระพุทธเจ้าจะประสูติแล้ว ไม่ใช่พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์มาประสูติแล้วมาบัญญัติขึ้นเอง หรือมาบัญญัติบาปกรรมและโทษทัณฑ์อะไรไว้ลงโทษสัตว์ทั้งหลาย
การทำบาปทำกรรมนั้นสิ่งที่เรียกว่าเป็นบาปเป็นการกระทำด้วยกาย วาจา โดยมีใจเป็นผู้เจตนาคือมีความตั้งใจ ทำลงไปแล้วเป็นบาปทันทีคือการละเมิดศีลห้าข้อเท่านั้น เพราะฉะนั้นใครรักษาศีลห้าข้อได้บริสุทธิ์บริบูรณ์จึงเป็นการตัดทอนผลของบาป
บาปกรรมที่ทำไว้ในอดีต เมื่อวานนี้หรือเมื่อเช้านี้ ย่อมตัดกรรมไม่ได้แล้วและจะต้องให้ผลต่อไป แต่เราจะตัดการทำกรรมชั่วในปัจจุบันได้และไม่ต้องรับผลของกรรมชั่วในอนาคต เมื่อเราตั้งใจรักษาศีลห้าข้อให้บริสุทธิ์ตั้งแต่วันนี้ ตั้งแต่ขณะปัจจุบันนี้ได้ชื่อว่าตั้งใจตัดเวรตัดกรรมตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ถ้าหากเราสามารถปฏิบัติต่อๆ ไปได้จนกระทั่งตลอดชีวิตของเรา เราก็จะได้ตัดกรรมตัดเวรตลอดชีวิตเรา นี่คือการตัดกรรมตัดเวรที่ถูกต้อง
ศีลห้านี้เป็นเรื่องสำคัญเป็นแม่บทแห่งศีลทั้งหลายทั้งปวง เป็นหลักธรรมที่เป็นข้อมูลเป็นจุดเริ่มแห่งการทำความดี ผู้ใดปฏิบัติตามคำสอนของพระศาสดาเป็นประโยชน์ให้เกิดทางมรรคผลนิพพานอย่างแท้จริง
ขอให้ยึดมั่นในศีลห้าประการ เมื่อท่านมีศีลห้าข้อนี้ครบโดยบริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว ความเป็นมนุษย์ของท่านสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม เมื่อเป็นเช่นนั้นท่านจะปลูกฝังความดีอันใดลงไป คุณความดีนั้นก็จะฝังแน่นในกาย วาจา และในใจของท่าน
คำสอน พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)