ประวัติพระพุทธศาสนา


ประวัติพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนา (Buddhism) คือ ศาสนาที่ถือว่าธรรมะเป็นความจริงสากล ที่ใครก็ตามหากสิ้นกิเลสก็จะพลได้ด้วยตนเอง แต่ผู้ที่ได้บำเพ็ญบารมีจนตรัสรู้ และสามารถตั้งพุทธบริษัทปัจจุบันขึ้นได้ คือ พระพุทธโคตม
ความหมาย
พระพุทธศาสนา (Buddhism) คือ ศาสนาที่ถือว่าธรรมะเป็นความจริงสากล ที่ใครก็ตามหากสิ้นกิเลสก็จะพลได้ด้วยตนเอง แต่ผู้ที่ได้บำเพ็ญบารมีจนตรัสรู้ และสามารถตั้งพุทธบริษัทปัจจุบันขึ้นได้ คือ พระพุทธโคตม ซึ่งเป็นองค์หนึ่งในบรรดาสัมมาสัมพุทธเจ้ามากมายที่ได้เคยตั้งพุทธบริษัทมาแล้ว และที่จะตั้งต่อไปในอนาคต ยังมีพระพุทธเจ้าอีกมากที่ตรัสรู้แต่ไม่มีบารมีพอให้ตั้งพุทธบริษัทได้ จึงให้ผลเฉพาะตัวเรียกว่า ปัจเจกพุทธเจ้า
จึงเห็นได้ว่า จากความสำนึกดังกล่าวข้างต้น ทำให้ชาวพุทธมีใจกว้าง เพราะถือเสียว่าธรรมะมิได้มีในพระพุทธศาสนาของพระโคตมเท่านั้น แต่คนดีทั้งหลายก็อาจจะพบธรรมะบางข้อได้ และแม้แต่ชาวพุทธเอง พระพุทธเจ้าก็ทรงปรารถนาให้แสวงหาและเข้าใจธรรมะด้วยตนเอง พระรัตนตรัยคือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่ง คือ ผู้ช่วยเกื้อกูลให้แต่ละคนสามารถพึ่งตนเองในที่สุด "ตนของตนเป็นที่พึ่งแก่ตนเอง" อาจกล่าวได้ว่าพุทธศาสนิกที่แท้จริง คือ ผู้ที่แสวงหาธรรมะด้วยตนเองและพบธรรมะด้วยตนเอง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า พยายามพัฒนาธาตุพุทธะในตัวเอง
ลักษณะคำสอนของพระพุทธศาสนา
ลักษณะเด่นของพระพุทธศาสนา คือ เป็นศาสนาแห่งการวิเคราะห์ กล่าวคือ เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ทั้งความเป็นจริงและข้อธรรมได้ดีเยี่ยมเป็นพิเศษ เช่น วิเคราะห์จิตได้ละเอียดลอออย่างน่าอัศจรรย์ใจ วิเคราะห์ธรรมะออกเป็นข้อ ๆ อย่างละเอียดสุขุมและประสานสัมพันธ์กันเป็นระบบที่แน่นแฟ้น หากจะพยายามอธิบายธรรมะข้อใดสักข้อหนึ่ง ก็จะต้องอ้างถึงธรรมะข้ออื่นๆ เกี่ยวโยงไปทั้งระบบ วิธีการวิเคราะห์ธรรมะอย่างนี้ บางสำนักของศาสนาฮินดูได้เคยทำมาบ้าง แต่ก็ไม่สามารถทำได้เด่นชัดอย่างธรรมะที่สอนกันในพระพุทธศาสนา จึงควรยกย่องได้ว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการวิเคราะห์ และเมื่อกล่าวเช่นนี้ก็มิได้หมายความว่าพระพุทธศาสนาไม่สนใจด้านอื่นๆ ทั้งมิได้หมายความเลยไปถึงว่าศาสนาอื่นๆ ไม่รู้จักวิเคราะห์ หามิได้ ต้องการหมายเพียงแต่ว่าพระพุทธศาสนาเด่นกว่าศาสนาอื่นๆ ในด้านวิเคราะห์เท่านั้น และถ้าหากศาสนาต่างๆ  จะพึ่งพาอาศัยกันและกันก็พระพุทธศาสนานี่แหละสามารถให้ตัวอย่างในการวิเคราะห์ข้อธรรมะได้อย่างดีเยี่ยม ในขณะที่ศาสนาอื่นๆ อาจจะบริการด้านอื่นๆ ที่ได้ปฏิบัติมาอย่างเด่นชัด เช่น ศาสนาพราหมณ์ในเรื่องจารีตพิธีกรรม ศาสนาอิสลามในเรื่องกฎหมาย เป็นต้น แต่ทั้งนี้แล้วแต่ว่าสมาชิกแต่ละคนของแต่ละศาสนาจะสนใจร่วมมือกันในทางศาสนามากน้อยเพียงใด
บ่อเกิดของพระพุทธศาสนา
แม้ชาวพุทธจะมีความสำนึกว่า สัมมาสัมพุทธเจ้าได้มีมาแล้วมากมายในอดีต และจะมีอีกมากมายต่อไปในอนาคต แต่อย่างไรก็ตาม คำสอนของอดีตพระพุทธเจ้าไม่เหลือหลักฐานไว้ให้ศึกษาได้อีกแล้ว ส่วนคำสอนของพระพุทธเจ้าที่จะมาในอนาคตก็ยังไม่มีใครรู้ ดังนั้น บ่อเกิดของพระพุทธศาสนาในปัจจุบันจึงมาจากคำสอนของพระพุทธโคตมแต่องค์เดียว คำสอนของนักปราชญ์อื่นๆ ทั้งในและนอกพระพุทธศาสนา อาจจะเสริมความเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ แต่ไม่อาจจะถือว่าเป็นบ่อเกิดของพระพุทธศาสนา
อย่างไรก็ตาม พระพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนไว้ว่า ความรู้ที่พระองค์ทรงรู้จากการตรัสรู้นั้นมีมากราวกับใบไม้ทั้งป่า แต่ที่พระองค์นำมาสอนสาวกนั้นมีปริมาณเทียบได้กับใบไม้เพียงกำมือเดียว พระองค์ไม่อาจจะสอนได้มากกว่าที่ได้ทรงสอนไว้ ดังนั้น หากมีปัญหาขัดแย้งเกิดขึ้น ให้ตกลงกันด้วยสังคายนา (ร้องร่วมกัน) คือ ประชุมและลงมติร่วมกัน ส่วนในเรื่องธรรมวินัยปลีกย่อย หากจำเป็นก็ให้ประชุมตกลงปรับปรุงได้ ดังนั้น บ่อเกิดของพระพุทธศาสนาอีกทางหนึ่งก็คือสังคายนา สังคายนาจึงกลายเป็นเครื่องมือให้เกิดการยอมรับร่วมกันในหมู่ผู้ยอมรับสังคายนาเดียวกัน แต่ก็เป็นทางให้เกิดการแตกนิกายโดยไม่ยอมรับสังคายนาร่วมกัน นิกายต่างๆ ของพระพุทธศาสนาจึงเกิดขึ้น เพราะการยอมรับสังคายนาต่างกัน และนิกายต่างกันนั้นก็ยอมรับคัมภีร์และอรรถกถาที่ใช้ตีความคัมภีร์ต่างกัน
อย่างไรก็ตาม ชาวพุทธแม้จะต่างนิกายกันก็ถือว่าเป็นชาวพุทธด้วยกัน ทำบุญร่วมกันได้ และร่วมมือในกิจการต่างๆ ได้ ผู้ใดนับถือพระพุทธเจ้าและแม้จะนับถือสิ่งอื่นด้วย เช่น พระพรหม พระอินทร์ ไหว้เจ้า หรือภูตผีต่างๆ ก็ยังถือว่าเป็นชาวพุทธด้วยกัน มิได้มีความรังเกียจเดียดฉันกันแต่ประการใด ดังนั้น การที่จะมีบ่อเกิดเพิ่มเติมแตกต่างกันไปบ้าง ตราบใดที่ยังยอมรับพระไตรปิฎกร่วมกันเป็นส่วนมาก ก็ไม่ถือว่าต้องแตกแยกกัน
คัมภีร์ของพระพุทธศาสนา
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานได้ 3 เดือน สาวกผู้ได้เคยสดับฟังคำสั่งสอนของพระองค์จำนวน 500 รูป ก็ประชุมทำสังคายนากัน ณ ถ้ำสัตบรรณคูหา ใกล้เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ สอบปากคำกันอยู่ 7 เดือน จึงตกลงประมวลคำสอนของพระพุทธเจ้าได้สำเร็จเป็นครั้งแรก นี่คือบ่อเกิดของคัมภีร์พระไตรปิฎก ต่อมาเมื่อมีปัญหาขัดแย้ง พระเถระผู้ใหญ่ก็ประชุมขจัดข้อขัดแย้งกัน เป็นสังคายนาต่อมาอีกหลายครั้ง จนได้พระไตรปิฎกของฝ่ายเถรวาทดังที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ ซึ่งถือกันทั่วไปว่าเป็นคำสอนโดยตรงของพระพุทธเจ้าที่นับว่าใกล้เคียงที่สุดเนื่องจากภาษามคธที่ใช้บันทึกคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น ครั้นกาลเวลาล่วงไปก็ค่อยๆ กลายเป็นภาษาโบราณ ยากที่จะเข้าใจได้ทันทีสำหรับนักศึกษารุ่นหลังๆ จึงได้มีผู้เชี่ยวชาญนิพนธ์ชี้แจงความหมายเรียกว่า อรรถกถา เมื่อนักศึกษารู้สึกว่าอรรถกถายังไม่ชัดเจนก็มีผู้เชี่ยวชาญนิพนธ์ฎีกาขึ้นชี้แจงความหมาย และมีอนุฎีกาสำหรับชี้แจงความหมายของฎีกาอีกต่อหนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะปัญหาก็นิพนธ์ชี้แจงเฉพาะปัญหาขึ้นเรียกว่า ปกรณ์ เหล่านี้ถือว่าเป็นคัมภีร์พระพุทธศาสนาทั้งสิ้น แต่ทว่ามีน้ำหนักน้อยกว่าพระไตรปิฎก เพราะถือว่าเป็นความเห็นส่วนตัวของผู้ตีความ นักศึกษาจะเห็นกับบางคัมภีร์ และไม่เห็นด้วยกับบางคัมภีร์ก็ได้ ไม่ถือว่ามีความเป็นพุทธศาสนิกมากน้อยกว่ากันเพราะเรื่องนี้
นิกายมหายาน
พระพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า "ดูกรอานนท์ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา ถ้าสงฆ์ต้องการก็จงถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้างก็ได้" (มหาปรินิพพานสูตร 10/141) ทำให้เกิดมีปัญหาว่า แค่ไหนเรียกว่าเล็กน้อย เป็นเหตุให้พระภิกษุบางรูปไม่เห็นด้วย และไม่ยอมรับสังคายนามาตั้งแต่ครั้งแรก และเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับหลายสังคายนา มีกลุ่มที่แยกตัวทำสังคายนาต่างหาก เป็นการแตกแยกทางลัทธิและนิกาย และไม่ควรถือว่าเป็นการแบ่งแยกศาสนาแต่ประการใด ไม่อาจกำหนดได้แน่ชัดลงไปว่า พระพุทธศาสนานิกายมหายานเริ่มถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด ที่แน่ชัดก็คือ พระเจ้ากนิษกะมหาราช กษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์กุษาณะ (ศต.1 แห่งคริสต์ศักราช) ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกองค์แรกของนิกายมหายาน ได้ทรงปลูกฝังพระพุทธศาสนามหายานลงมั่นคงในราชอาณาจักรของพระองค์ และทรงส่งธรรมทูตออกเผยแพร่ยังนานาประเทศ เปรียบได้กับพระเจ้าอโศกของฝ่ายเถรวาท
ฝ่ายมหายานมิได้ปฎิเสธพระไตรปิฎก หากแต่ถือว่ายังไม่พอ เนื่องจากเกิดมีความสำนึกร่วมขึ้นมาว่า นามและรูปของพระพุทธเจ้าเป็นโลกุตระ ไม่อาจดับสูญ สิ่งที่ดับสูญไปโดยการเผาเป็นเพียงภาพมายา พระธรรมกายของพระองค์อันเป็นธาตุพุทธะบริสุทธิ์ยังคงอยู่ต่อไป มนุษย์ทุกคนมีธาตุพุทธะร่วมกับพระพุทธเจ้า หากมีกิเลสบดบังธาตุพุทธะก็ไม่ปรากฏ กิเลสเบาบางลงเท่าใดธาตุพุทธะก็จะปรากฏมากขึ้นเท่านั้น มนุษย์ทุกคนมีสิทธิและมีความสามารถเป็นพระโพธิสัตว์ได้เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า หากได้ฝึกฝนชำระจิตใจจนบริสุทธิ์ผุดผ่องด้วยเมตตาบารมี พระโพธิสัตว์จึงมีมากมาย พระโพธิสัตว์ทุกองค์ย่อมเสริมงานของพระพุทธเจ้า คำสอนของพระโพธิสัตว์จึงมีน้ำหนักเท่ากับพระไตรปิฎก เมื่อสำนึกเช่นนี้ ฝ่ายมหายานจึงมีคัมภีร์ในระดับเดียวกับพระไตรปิฎกเพิ่มขึ้นอีกมากและอาจจะเพิ่มต่อไปได้อีก หากยอมรับหรือมีศรัทธาต่อพระโพธิสัตว์ไม่เท่ากัน ความสำนึกและการแสดงออกก็ย่อมจะผิดเพี้ยนกันออกไปได้ ทำให้มีลัทธิต่างๆ มากมายในนิกายมหายาน และอาจจะเกิดใหม่ต่อไปได้อีก แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่าเกิดการแตกแยกในศาสนาหรือนิกาย เพราะทุกลัทธิย่อมถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของพระพุทธศาสนามหายาน ด้วยเหตุผลเช่นนี้แหละฝ่ายมหายานจึงภูมิใจว่านิกายของตนใจกว้าง เป็นยานใหญ่ สามารถบรรทุกคนได้มาก และบันดาลใจให้ผู้มีจิตศรัทธาบำเพ็ญเมตตาบารมีได้อย่างกว้างขวาง อย่างที่มูลนิธิหัวเฉียวแห่งประเทศไทยพิสูจน์ตัวเองให้เห็นอยู่
การวิเคราะห์ข้อธรรมในพระพุทธศาสนา
ศาสนา ผู้ใดสนใจคงได้ศึกษาตัวอย่างการวิเคราะห์ข้อธรรมในพระพุทธศาสนามาแล้วไม่มากก็น้อย จนพอจะสังเกตได้ว่า เมื่อกล่าวถึงธรรมะข้อใดในพระพุทธศาสนา ก็มักจะไม่กล่าวลอยๆ แต่จะต้องมีจำนวนเลขกำกับแสดงการวิเคราะห์หรือการจำแนกธรรมด้วยเสมอ เช่น อริยสัจ 4 มรรค 8 ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ศีล 227 มงคล 38 กรรมฐาน 40 เจตสิก 52 จิต 89 จิต121 เป็นต้น ให้สังเกตด้วยว่า การวิเคราะห์ข้อธรรมในพระพุทธศาสนานั้นมิได้วิเคราะห์ชั้นเดียวแล้วจบ แต่มีการวิเคราะห์ต่อๆ ไปอีกหลายชั้นหลายเชิงเกี่ยวโยงกันทั้งหมด ไม่ใช่เหมือนสายโซ่ แต่เหมือนอวนผืนใหญ่ที่ตาทุกตาของอวนมีสายโยงถึงกันได้ทั้งหมด จะขอยกให้ดูเป็นตัวอย่างการศึกษาเท่านั้น เช่น การวิเคราะห์จิต และเจตสิก เป็นต้น ซึ่งมีประโยชน์มากสำหรับการมองตน รู้ตน และพัฒนาตน ผู้ศึกษาจะวิเคราะห์ธรรมะเรื่องใดเพิ่มเติมอีกเท่าใดก็ได้ตามความต้องการ
เราเคยเชื่อกันมาว่าพระพุทธเจ้าประสูติก่อนพุทธศักราช 80 ปี เพราะถือเอาปีที่พระองค์เสด็จปรินิพพานเป็นปี พ.ศ. 1 แต่นักประวัติศาสตร์ค้นคว้าตามหลักฐานเท่าที่ปรากฏพบว่า คลาดเคลื่อนเร็วกว่าพระประวัติจริงของพระองค์อยู่ 60 ปี กล่าวคือ พระองค์ประสูติจริง ก่อน พ.ศ. 20 ปี หรือ ก่อน ค.ศ. 563 ปี (แทนที่จะเป็น ก่อน พ.ศ. 80 ปี หรือ ก่อน ค.ศ. 623 ปี) ก่อน พ.ศ. 15 ปี (ก่อน ค.ศ. 528 ปี) ตรัสรู้เมื่อพระชนมายุได้ 35 พรรษา พ.ศ. 60 (ก่อน ค.ศ. 463 ปี) ดับขันธปรินิพพาน
ตั้งแต่ตรัสรู้ถึงปรินิพพานเป็นระยะเวลา 45 พรรษา พระองค์จาริกไปยังแว่นแคว้นต่างๆ ในชมพูทวีปตอนเหนือ เพื่อเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระองค์ พร้อมทั้งอบรมสาวกตั้งพุทธบริษัทขึ้นอย่างมั่งคั่ง ยากที่จะเรียงลำดับได้ว่าปีใดพระองค์เสด็จไป ณ ที่ใดและทรงสั่งสอนอะไรบ้าง เท่าที่นักวิจารณ์ได้พยายามวิจัยไว้พอจะเรียบเรียงได้ตามช่วงการเข้าพรรษาของพระองค์ในที่ต่างๆ ดังต่อไปนี้
พรรษาที่ 1 ตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์ ณ คืนวันเพ็ญเดือนวิสาขะ (กลางเดือน 6) 2 เดือนต่อมา คือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ (กลางเดือน 8) ทรงเทศนาโปรดเบญจวัคคีย์ (คณะ 5 คน) ที่ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน ด้วยธรรมจักกัปปวัตนสูนร ต่อมาอีก 5 วันทรงเทศนาโปรดเบญจวัคคีย์ด้วยอนัตตลักขณสูตร วันต่อมาได้พระยสเป็นสาวก ทรงจำพรรษาที่เมืองพาราณสี แคว้นกาสี (ปัจจุบันอยู่ในรัฐอุตรประเทศ)
พรรษาที่ 2 เสด็จเสนานิคม ในตำบลอุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะ คยากัสสปะ กับศิษย์ 1000 คน ตรัสอาทิตตปริยายสูตรที่คยาสีสะ เสด็จราชคฤห์แห่งแคว้นมคธ กษัตริย์เสนิยะพิมพสารทรงถวายสวนเวฬุวันแต่พระสงฆ์ ได้สารีบุตรและโมคคัลลานะเป็นสาวก อีก 2 เดือนต่อมา เสด็จกบิลพัสดุ์ ทรงพำนักที่นิโครธารามได้สาวกมากมาย เช่น นันทะ ราหุล อานนท์ อุบาลี เทวทัต และพระญาติอื่นๆ อนาถปิณฑิกะอาราธนาสู่กรุงสาวัตถีแห่งแคว้นโกศล ถวายสวนเชตะวันแด่คณะสงฆ์ ทรงจำพรรษาที่นี่
พรรษาที่ นางวิสาขาถวายบุพพาราม ณ กรุงสาวัตถี ทรงจำพรรษาที่นี่
พรรษาที่ 4 ทรงจำพรรษาที่เวฬุวัน ณ กรุงราชคฤห์แห่งแคว้นมคธ
พรรษาที่ 5 โปรดพระราชบิดาจนบรรลุอรหัตผล ทรงไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างพระญาติฝ่ายสักกะกับพระญาติฝ่ายโกลิยะเกี่ยวกับการใช้น้ำในแม่น้ำโรหินี ทรงบวชพระนางปชาบดีโคตมีและคณะเป็นภิกษุณี
พรรษาที่ 6 ทรงแสดงยมกปาฎิหาริย์ในกรุงาสวัตถี ทรงจำพรรษาบนภูเขามังกลุบรรพต
พรรษาที่ 7 ทรงเทศนาและจำพรรษาที่กรุงสาวัตถี ระหว่างจำพรรษาเสด็จขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์โปรดพระมารดาด้วยพระอภิธรรม
พรรษาที่ 8 ทรงเทศนาในแคว้นภัคคะ ทรงจำพรรษาในสวนเภสกลาวัน
พรรษาที่ 9 ทรงเทศนาในแคว้นโกสัมพี
พรรษาที่ 10 คณะสงฆ์แห่งโกสัมพีแตกแยกอย่างรุนแรง ทรงตักเตือนไม่เชื่อฟัง จึงเสด็จไปประทับและจำพรรษาในป่าปาลิเลยยกะ ช้างเชือกหนึ่งมาเฝ้าพิทักษ์และรับใช้ตลอดเวลา
พรรษาที่ 11 เสด็จกรุงสาวัตถี คณะสงฆ์แห่งโกสัมพีปรองดองกันได้ ทรงจำพรรษาในหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อเอกนาลา
พรรษาที่ 12 ทรงเทศนาและจำพรรษาที่เวรัญชา เกิดความอดอยากรุนแรง
พรรษาที่ 13 ทรงเทศนาและจำพรรษาบนภูเขาจาลิกบรรพต
พรรษาที่ 14 ทรงเทศนาและจำพรรษาที่กรุงสาวัตถึ ราหุลอุปสมบท
พรรษาที่ 15 เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ สุปปพุทธะถูกแผ่นดินสูบเพราะขัดขวางทางผ่าน
พรรษาที่ 16 ทรงเทศนาและจำพรรษาที่อาลวี
พรรษาที่ 17 เสด็จกรุงสาวัตถี กลับมาอาลวีและทรงจำพรรษาที่กรุงราชคฤห์
พรรษาที่ 18 เสด็จอาลวี ทรงจำพรรษาบนภูเขาจาลิกบรรพต
พรรษาที่ 19 ทรงเทศนาและจำพรรษาบนภูเขาจาลิกบรรพต
พรรษาที่ 20 โจรองคุลีมาลกลับใจเป็นสาวก ทรงแต่งตั้งให้พระอานนท์รับใช้ใกล้ชิดตลอดกาล ทรงจำพรรษาที่กรุงราชคฤห์ ทรงเริ่มบัญญัติพระวินัย
พรรษาที่ 21-44 ทรงยึดเอาเชตะวันและบุพพารามในกรุงราชคฤห์เป็นศูนย์เผยแผ่และที่ประทับจำพรรษา เสด็จพร้อมสาวกออกเทศนาโปรดเวไนยสัตว์ตามแว่นแคว้นต่างๆ โดยรอบ
พรรษาที่ 45 และสุดท้าย ปรากฎในมหาปรินิพพานสูตร มหาสุทัสนสูตร และชนวสภสูตร ความว่า พระเทวทัตปองร้ายพระพุทธเจ้าบริเวณเขาคิชฌกูฎใกล้กรุงราชคฤห์ ถึงกับพระบาทห้อโลหิต ทรงได้รับการบำบัดจากหมดชีวก วัสสการเข้าเผ้า เสด็จอัมพลัฎฐิกา นาลันทา และปาฎลิคามตามลำดับ ทรงข้ามแม่น้ำคงคาที่โตมดิตถ์ เสด็จต่อไปยังโกฎิคาม นาทิคาม และเวสาลี ทรงพำนักในสวนของนางคณิกาอัมพปาลี เสด็จจำพรรษาที่เวฬุวัน ทรงเริ่มประชวร และ 3 เดือนต่อมาเสด็จสู่ปรินิพพานในเมืองกุสินาราแห่งแคว้นมัลละในปี พ.ศ. 60 (ก.ค.ศ. 463 ปี)
พุุทธประวัติ
ประสูติ

พระพุทธเจ้ามีพระนามเดิมว่า "สิทธัตถะ" เป็พระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ กษัตริย์ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศเนปาล พระราชมารดาทรงพระนามว่า "พระนางสิริมหามายา" ซึ่งเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์ราชสกุลโกลิยวงศ์แห่งกรุงเทวทหะ แคว้นโกลิยะเจ้าชายสิทธัตถะประสูติเมื่อ 80 ปีก่อนพุทธศักราช ที่สวนลุมพินีวัน ณ ใต้ต้นสาละนั้น ซึ่งอยู่ระหว่างพรมแดนกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวทหะ(ปัจจุบันคือ ต.รุมมินเด ประเทศเนปาล) ได้มีพราหมณ์ทั้ง 8 ได้ทำนายว่า เจ้าชายสิทธัตถะมีลักษณะเป็นมหาบุรุษ คือ ถ้าดำรงตนในฆราวาสจะได้เป็นจักรพรรดิ ถ้าออกบวชจะได้เป็นศาสดาเอกของโลก แต่โกณฑัญญะพราหมณ์ผู้อายุน้อยที่สุดในจำนวนนั้น ยืนยันหนักแน่นว่า พระราชกุมารสิทธัตถะจะเสด็จออกบวชและจะได้ตรัสรู้เเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน ทันทีที่ประสูติ ทรงดำเนินด้วยพระบาท 7 ก้าว มีดอกบัวผุดรองรับ ทรงเปล่งพระวาจาว่า
 "เราเป็นเลิศที่สุดในโลก ประเสริฐที่สุดในโลก การเกิดครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายของเรา"

*******************************
วัยเด็ก

หลังพระองค์ประสูติได้ 7 วัน พระนางสิริมหามายาสิ้นพระชนม์ จึงทรงอยู่ในความดูแลของพระนางปชาบดีโคตมี ซึ่งเป็นพระกนิษฐา (น้องสาว) ของพระนางสิริมหามายา พระองค์ทรงศึกษาเล่าเรียนจนจบระดับสูงของการศึกษาทางโลกในสมัยนั้น คือ ศิลปศาสตร์ถึง 18 ศาสตร์ในสำนักครูวิศวามิตร พระบิดาไม่ประสงค์จะให้เจ้าชายสิทธัตถะเป็นศาสดาเอก จึงพยายามให้สิทธัตถะพบแต่ความสุขทางโลก เช่น สร้างปราสาท 3 ฤดู และเมื่ออายุ 16 ปี ได้ให้เจ้าชายสิทธัตถะอภิเษกกับนางพิมพาหรือยโสธรา ผู้เป็นพระธิดาของพระเจ้ากรุงเทวทหะซึ่งเป็นพระญาติฝ่ายพระมารดา เมื่อมีพระชนมายุ 29 ปี พระนางพิมพาก็ให้ประสูติ ราหุล (บ่วง)
******************************************
เสด็จออกผนวช

มื่อทอดพระเนตรเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณตามลำดับ จึงทรงคิดว่าชีวิตของทุกคนต้องตกอยู่ในสภาพเช่นนั้น ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้จึงเกิดแนวความคิดว่า
ธรรมดาในโลกนี้มีของคู่กันอยู่ เช่น มีร้อนก็ต้องมีเย็น , มีทุกข์คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็ต้องมีที่สุดทุกข์ คือ ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายทรงเห็นความสุขทางโลกเป็นเพียงมายา ความสุขในกามคุณเป็นความสุขจอมปลอม เป็นเพียงภาพมายาที่ ชวนให้หลงว่าเป็นความสุขเท่านั้น ในความจริงแล้วไม่มีความสุข ไม่มีความเพลิดเพลินใดที่ไม่มีความทุกข์เจือปน วิถีทางที่จะพ้นจากความทุกข์ของชีวิตเช่นนี้ได้ หนทางหลุดพ้นจากวัฏสงสาร จะต้องสละเพศผู้ครองเรือนเป็นสมณะ
สิ่งที่ทรงพบเห็นเรียกว่า "เทวทูต(ทูตสวรรค์)" จึงตัดสินพระทัยทรงออกผนวช ในวันที่พระราหุลประสูติเล็กน้อย พระองค์ทรงม้ากัณฐกะออกผนวช มีนายฉันทะตามเสด็จ โดยมุ่งตรงไปที่แม่น้ำอโนมานที ทรงตัดพระเกศา และเปลี่ยนเครื่องทรงเป็นผ้ากาสาวพักตร์ (ผ้าย้อมด้วยรสฝาดแห่งต้นไม้) ทรงเปลื้องเครื่องทรงมอบให้นายฉันนะนำกลับพระนคร การออกบวชครั้งนี้เรียกว่า การเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (การเสด็จออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่)
หลังจากทรงผนวชแล้ว จึงทรงมุ่งไปที่แม่น้ำคยา แคว้นมคธ เพื่อค้นคว้าทดลองในสำนักอาฬารดาบส กาลามโครตร และอุทกดาบส รามบุตร เมื่อเรียนจบทั้งสองสำนัก (บรรลุฌาณชั้นที่แปด) ก็ทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ตามที่มุ่งหวังไว้
จากนั้นจึงเสด็จไปที่แม่น้ำเนรัญชรา ในตำบลอุรุเวลาเสนานิคม (ปัจจุบันนี้สถานที่นี้เรียกว่า ดงคศิริ) เมื่อบำเพ็ญทุกรกิริยา โดยขบฟันด้วยฟัน กลั้นหายใจและอดอาหาร หลังจากทดลองมา 6 ปี ก็ยังไม่พบทางพ้นทุกข์ จึงทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา หันมาบำรุงพระวรกายโดยปกติตามพระราชดำริว่า "เหมือนสายพิณควรจะขึงพอดีจึงจะได้เสียงที่ไพเราะ" ซึ่งพระอินทร์ได้เสด็จลงมาดีดพิณถวาย พิณสายหนึ่งขึงไว้ตึงเกินไป พอถูกดีดก็ขาดผึงออกจากกัน จึงพิจารณาเห็นทางสายกลางว่า เป็นหนทางที่จะนำไปสู่พระโพธิญาณได้
ระหว่างที่ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ปัญจวัคคีย์ (โกญฑัญญะ วัปปะ ภัททิยา มหานามะ อัสสชิ) มาคอยปรนนิบัติพระองค์โดยหวังว่าจะทรงบรรลุธรรมวิเศษ เมื่อพระองค์เลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา ปัญจวัคคีย์จึงหมดศรัทธา พากันไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี (ต.สารนาถ)

******************************************************
ตรัสรู้
ขณะมีพระชนมายุได้ 35 พรรษา ในวันที่พระองค์ตรัสรู้ นางสุชาดาได้ถวายข้าวมธุปายาส(หุงด้วยนม) ใต้ต้นไทร เมื่อเสวยเสร็จแล้วทรงลอยถาดทองในแม่น้ำเนรัญชรา ทรงอธิษฐานเสี่ยงพระบารมีว่า ...
“ถ้าอาตมาจะได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณแล้ว ขอให้ถาดนี้จงลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไป ” ถาดทองนั้นลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไป ๑ เส้น แล้วก็จมลงตรงนาคภพพิมานแห่งพญากาฬนาคราช พระองค์ทรงโสมนัสและแน่พระทัยว่าจะได้ตรัสรู้ เป็นพระสัพพัญญูสัมพุทธเจ้า โดยหาความสงสัยมิได้
ในเวลาเย็นโสตถิยะให้ถวายหญ้าคา 8 กำมือ ปูลาดเป็นอาสนะ ณ โคนใต้ต้นโพธิ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา (ปัจจุบันคือ ต.พุทธคยา ประเทศอินเดีย)
- ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ว่าจะบรรลุโพธิญาณ ประทับหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก
- ทรงบรรลุรูปฌาณทั้ง 4 ชั้น แล้วใช้สติปัญญาพิจารณาจนเกิดความรู้แจ้ง คือ
 1.) เวลาปฐมยาม ทรงได้ปุพเพนิวาสานุสติญาณ คือ ความรู้เป็นเหตุให้ระลึกชาติได้
 2.) เวลามัชฌิมยาม ทรงได้จุตูปปาตญาณ(ทิพยจักษุญาณ)คือรู้เรื่องเกิด-ตายของสัตว์ทั้งหลายว่า เป็นไปตามกรรมที่ตนกระทำไว้
 3.) เวลาปัจฉิมยาม ทรงได้ อาสวักขยญาณ คือ ความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะหรือกิเลส หมายถึง ตรัสรู้อริยสัจ4
- อาสวักขยญาณ ที่ทรงได้ทำให้ทรงพิจารณาถึงขันธ์ 5 และใช่แห่งความเป็นเหตุที่ เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท อันเป็นต้นทางให้เขาถึงอริยสัจ 4 
- เมื่อพระองค์ทรงรู้เห็นแล้ว จึงละอุปาทานและตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
*********************************************
ปฐมเทศนา

หลังจากที่ตรัสรู้แล้ว ได้พิจารณาธรรมที่พระองค์ตรัสรู้เป็นเวลา 7 สัปดาห์ ทรงเห็นว่าพระธรรมที่พระองค์ทรงบรรลุนั้นมีความละเอียดอ่อน สุขุมคัมภีรภาพ ยากต่อบุคคลจะรู้ เข้าใจและปฏิบัติได้ ทรงเกิดความท้อพระทัยว่าจะไม่แสดงธรรมโปรดมหาชน ต่อมาท่านได้ทรงพิจารณาอย่างลึกซึ้ง แล้วทรงเห็นว่าบุคคลในโลกนี้มีหลายจำพวก บางพวกสอนได้บางพวกสอนไม่ได้ เปรียบเสมือนบัว ๔ เหล่า ดังนั้นแล้วจึงดำริที่จะแสดงธรรมเพื่อมวลมนุษยชาติต่อไป
บัว ๔ เหล่า ได้แก่
๑.พวกที่มีสติปัญญาฉลาดเฉลียว เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถรู้ และเข้าใจในเวลาอันรวดเร็ว เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที (อุคฆฏิตัญญู)
๒.พวกที่มีสติปัญญาปานกลาง เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มเติม จะสามารถรู้และเข้าใจได้ในเวลาอันไม่ช้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำซึ่งจะบานในวันถัดไป (วิปัจจิตัญญู)
๓.พวกที่มีสติปัญญาน้อย แต่เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มอยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อ มีสติมั่นประกอยด้วยศรัทธา ปสาทะ ในที่สุดก็สามารถรู้และเข้าใจได้ในวันหนึ่งข้างหน้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะค่อยๆ โผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง (เนยยะ)
๔.พวกที่ไร้สติปัญญา และยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ แม้ได้ฟังธรรมก็ไม่อาจเข้าใจความหมายหรือรู้ตามได้ ทั้งยังขาดศรัทธาปสาทะ ไร้ซึ่งความเพียร เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม ยังแต่จะตกเป็นอาหารของเต่าปลา ไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นพ้นน้ำเพื่อเบ่งบาน (ปทปรมะ)
-   จึงทรงมีพระกรุณาธิคุณ ระลึกอาฬารดาบสและอุททกดาบสว่า มีกิเลสเบาบางสามารถตรัสรู้ได้ทันที แต่ท่านทั้ง 2 ได้ตายแล้ว จึงทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ (ประกอบด้วย พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานาม และพระอัสสชิ) จึงเสด็จไปที่ป่าอิสปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นกาสี ปัจจุบันคือสารนาถ เมืองพาราณสี ในวันขึ้น 15 เดือน 8 จึงทรงปฐมเทศนา 
" ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร " 
 (แปลว่าสูตรของการหมุนวงล้อแห่งพระธรรมให้เป็นไป)
ซึ่งใจความ 3 ตอนคือ
1.) ทรงชี้ทางผิดอันได้แก่กามสุขัลลิกานุโยค(การประกอบตนให้ชุ่มอยู่ด้วยกาม) และอัตตกิลมถานุโยค(การทรมานตนให้ลำบาก) ว่าเป็นส่วนสุดที่บรรพชิตไม่ควรดำเนิน แต่เดินทางสายกลางที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือ มรรคมีองค์แปด เป็นไปเพื่อพระนิพพาน
2.) ทรงแสดงอริยสัจ 4 โดยละเอียด
3.) ทรงปฏิญญาว่าทรงตรัสรู้พระองค์เอง และได้บรรลุธรรมวิเศษแล้ว 
- โกญฑัญญะเป็นผู้ได้ธรรมจักษุก่อน เกิดความเข้าใจแจ่มแจ้งตามสภาพเป็นจริงว่า 
"ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมนฺติ " 
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีเกิดขึ้นเป็นธรรม สิ่งนั้นทั้งหมดมีดับจึงได้อุปสมบทเป็น เอหิภิกขุอุปสัมปทาองค์แรก
- หลังจากปัญจวัคคีย์อุปสมบทแล้ว พุทธองค์จึงทรงเทศน์ อนัตตลักขณสูตร ปัญจวัคคีย์จึงสำเร็จเป็นอรหันต์
ลักษณะการแสดงธรรม
- สำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานทางธรรมมาก่อนจะทรงเทศน์ "อนุปุพพิกถา" ซึ่งว่าด้วยเรื่อง
- คุณของการให้ทาน การรักษาศีล
- สวรรค์ (การแสวงสุขเนื่องจากการให้ทาน การให้ศีล)
- โทษของกามและการปลีกตัวออกจากกาม
ส่วนการแสดงธรรม
- ตรัสเรียกสาวกออกประกาศศาสนา เมื่อมีสาวกครบ 60 รูป (ปัญจวัคคีย์และพวกพระยสะ)
- ตรัสให้พระสาวก 60 รูปแยกย้ายกันประกาศศาสนา 60 แห่งไม่ซ้ำทางกัน
- พระองค์จะเสด็จไปแสดงธรรม ณ ตำบลอุรุเวลา เสนานิคม
- เมื่อสาวกออกประกาศเทศนา มีผู้ต้องการบวชมาก และหนทางไกลกัน จึงทรงอนุญาตให้สาวกดำเนินการบวชได้ โดยใช้วิธีการ "ติสรณคมนูปสัมปทา" (ปฏิญาณตนเป็นผู้ถึงพระรัตนตรัย)

โอวาทปาติโมกข์
วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 (มาฆบูชา) เกิดมีจตุรงคสันนิบาต ซึ่งประกอบด้วย
1.)วันนั้น เป็นวันมาฆปูรณมี คือวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำกลางเดือนมาฆะ จึงเรียกว่า มาฆบูชา
2.)พระภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
3.)พระภิกษุทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ ประเภทฉฬภิญญา คือ ได้อภิญญา ๖ ซึ่งหมายถึงความสามารถ พิเศษ ๖ ประการ ได้แก่ แสดงฤทธิ์ได้ ระลึกชาติได้ ตาทิพย์ หูทิพย์ กำหนดรู้ใจคนอื่นได้ และบรรลุอาสวักขยญาณ(คือญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย)
4.)พระภิกษุ เหล่านั้น ทั้งหมด ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง (เอหิภิกฺขุอุปสมฺปทา)
ทรงเทศน์ "โอวาทปาติโมกข์" ซึ่งถือเป็นหัวใจของศาสนาพุทธ ใจความว่า


" จงทำดี ละเว้นความชั่ว และทำใจให้บริสุทธิ์ "

- พระสงฆ์ปรารถว่าไม่เคยเห็นฝนเช่นนี้มาก่อน พระพุทธจึงทรงเล่าว่า ฝนนี้เคยตกมาแล้วเมื่อเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร แล้วจึงทรงเล่าเรื่องมหาเวสสันดร
โปรดพระพุทธบิดาและพระประยูรญาติ ณ กรุงกบิลพัสดุ์
- ทรงแสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดา (พระเจ้าสุทโธทนะ) ได้บรรลุโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล จนบรรลุอรหันตผลเมื่อใกล้สวรรคต
- พระนันทะ (เป็นโอรสของพระสุทโธทนะกับพระนางปชาบดีโคตมี) ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านำ ออกผนวชอุปสมบท
- ต่อมาพระนางยโสธราก็ให้พระกุมารราหุลซึ่งมีอายุ 7 ปีไปทูลขอราชสมบัติ พระพุทธเจ้าเห็นว่าราชสมบัติเป็นสิ่งไม่จีรังยั่งยืน อริยทรัพย์(ทรัพย์อันประเสริฐ)ต่างหากเป็นสิ่งยั่งยืน จึงทรงให้พระสารีบุตรทำการบรรพชาให้ราหุลเป็นสามเณร จึงเป็นสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา ณ นิโครธาราม พระเจ้าสุทโธทนะจึงขอร้องว่า "ขออย่าให้ทรงบวชใคร โดยที่พ่อแม่เขายังไม่ได้อนุญาต"
เมื่ออายุครบ 20 ปี ได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ จากนั้นก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์และได้ยกย่องว่าเป็นผู้เลิศในทางใคร่ต่อการศึกษา
- ทรงให้อุปสมบทแก่เจ้าศากยะ 5 พระองค์ คือ พระอานนท์ พระอนุรุทธ์(เป็นผู้มีเลิศในทางมีทิพยจักษุ) พระภัททิยะสักยราชา พระภัคคุ พระกิมพิละ และเจ้าโกลิยะ 1 พระองค์ คือพระเทวทัต จนได้บรรลุอรหัตผล 5 ท่าน ยกเว้นพระเทวทัต
- พระอุบาลีเป็นบุตรของช่างกัลบก(ช่างตัดผม)อยู่ในวรรณะต่ำ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพนักงานภูษามาลาของเจ้าศากยะ ทำหน้าที่จัดการดูแลเครื่องแต่งกาย เมื่อเจ้าศากยะ 5 พระองค์ และเจ้าโกลิยะ 1 พระองค์ทรงออกผนวช อุบาลีได้ติดตามไปขออุปสมบทด้วย พระอุบาลีเมื่อได้อุปสมบทแล้วไม่ช้าก็บรรลุอรหัตผล และได้ยกย่องว่าเป็นผู้เลิศทาง ด้านผู้ทรงไว้ซึ่งพระวินัย
- พระนางปชาบดีโคตมี(พระน้าของพระพุทธเจ้า) ได้ผนวชเป็นภิกษุณีรูปแรกในพระพุทธศาสนา โดยพระอานนท์ช่วยกราบทูลขออนุญาตพระพุทธเจ้าสุดท้ายได้บรรลุพระอรหันต์ และได้ยกย่องว่าเป็นผู้เลิศในทางรู้ราตรี
- โปรดให้พระนางยโสธราได้อุปสมบทเป็นภิกษุณีชื่อพระนางภัททา กัจจานา จนบรรลุอรหัตผล และได้ยกย่องว่าเป็นผู้เลิศในทางบรรลุอภิญญาใหญ่ (สามารถระลึกเหตุการณ์ในกัปป์ต่างๆย้อนหลังไปได้มากนับไม่ถ้วน)
ปัจฉิมกาล
- ก่อนปรินิพพาน 3 เดือน ทรงปลงอายุสังขาร
- ก่อนปรินิพพาน 1 วัน นายจุนทะถวายสุกรมัททวะ (หมูอ่อน) เมื่อพระองค์เสวยแล้วประชวรพระอานนท์โกรธ พุทธองค์จึงตรัสว่า

"บิณฑบาตที่มีอานิสงส์ที่สุด มี 2ประการ คือ เมื่อตถาคต (พุทธองค์)เสวยบิณฑบาตแล้วตรัสรู้ ,ปรินิพพาน"

ก่อนปรินิพพานทรงกล่าวพุทธโอวาทว่า
1.)การบูชาพุทธองค์อย่างแท้จริง คือ การปฎิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม
2.)พุทธศาสนิกชนที่ต้องการเฝ้าพระองค์ควรไปที่ "สังเวชนียสถาน"
3.)การวางตัวของภิกษุต่อสตรี ต้องคุมสติอย่าแปรปรวนตามราคะตัณหา
4.)พระบรมสารีริกธาตุเป็นเรื่องของกษัตริย์(มัลลกษัตริย์) มิใช่กิจของสงฆ์
5.)ความพลัดพรากเป็นธรรมดาของโลก
6.)ธรรมและวินัย จะเป็นศาสดาแทนพุทธองค์ ทั้งนี้เพราะบุคคลไม่เที่ยงแท้เท่ากับพระธรรมซึ่งเป็นสัจธรรม

- ปัจฉิมสาวก คือ สุภัททะบริพาชก
- ปัจฉิมโอวาท
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราขอบอกเธอทั้งหลาย สังขารทั้งปวงมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา
พวกเธอจึงทำประโยชน์ตนเอง และประโยชน์ของผู้อื่นให้สมบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด"(อปปมาเทน สมปาเทต)
- ปรินิพพาน ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ใต้ต้นสาละ ณ สาลวโนทยาน ของเหล่ามัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ พระชนมายุ 80 ปี ทรงเทศนาสั่งสอนมาเป็นเวลา 45 ปี


****************************************************

อย่าเสียเวลา