วิธีฝึกกรรมฐานด้วยตนเองแบบง่าย ๆ




วิธีฝึกกรรมฐานด้วยตนเองแบบง่ายๆ ของ หลวงพ่อพระราชพรหมยานมหาเถระ(ฤาษีลิงดำ)...วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี
สมาธิ
      อันดับแรก ขอให้ท่านผู้สนใจจงเข้าใจคำว่าสมาธิก่อนสมาธิ แปลว่า ตั้งใจมั่น หมายถึง  การตั้งใจแบบเอาจริงเอาจังนั่นเอง ตามภาษาพูดเรียกว่า เอาจริงเอาจัง คือ ตั้งใจว่าจะทำอย่างไร ก็ทำอย่างนั้นอย่างเคร่งครัด ไม่เลิกล้มความตั้งใจ
ความประสงค์ที่เจริญสมาธิ
      ความประสงค์ที่เจริญสมาธิก็คือ ต้องการให้อารมณ์สงัดและเยือกเย็น ไม่มีความวุ่นวายต่ออารมณ์ที่ไม่ต้องการ และความประสงค์ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ อยากให้พ้นอบายภูมิ คือ ไม่เกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกายสัตว์เดียรัจฉาน อย่างต่ำถ้าเกิดใหม่ขอเกิดเป็นมนุษย์และต้องการเป็นมนุษย์ชั้นดี คือ
๑. เป็นมนุษย์ ที่มีรูปสวย ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ไม่มีอายุสั้นพลันตาย
๒. เป็นมนุษย์ ที่มีความสมบูรณ์ด้วยทรัพย์ ทรัพย์สินไม่เสียหายด้วยไฟไหม้, โจรเบียด-เบียน, น้ำท่วม หรือลมพัดทำลายให้เสียหาย
๓. เป็นมนุษย์ ที่มีคนในปกครองอยู่ในโอวาทไม่ดื้อด้านดันทุรัง ให้มีทุกข์เสียทรัพย์สินและเสียชื่อเสียง
๔. เป็นมนุษย์ ที่มีวาจาไพเราะ เมื่อพูดออกไปเป็นที่พอใจของผู้รับฟัง
๕. เป็นมนุษย์ ที่ไม่มีอาการปวดประสาท คือปวดศีรษะมากเกินไป ไม่เป็นโรคประสาท  ไม่เป็นบ้าคลั่งเสียสติ  รวมความว่าโดยย่อก็คือ ต้องการเป็นมนุษย์ที่มีความสงบสุขทุกประการ เป็นมนุษย์ที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สินทุกประการ ทรัพย์ไม่มีอะไรเสียหายจากภัย ๔ ประการคือ ไฟไหม้
ลมพัด โจรรบกวน น้ำท่วม และเป็นมนุษย์ที่มีความสงบสุข ไม่เดือดร้อนด้วยเหตุทุกประการ ฯลฯ
ประสงค์ให้เกิดเป็นเทวดาหรือนางฟ้าบนสวรรค์
         บางท่านก็ต้องการไปเกิดบนสวรรค์เป็นนางฟ้าหรือเทวดาที่มีร่างกายเป็นทิพย์ มีที่อยู่และสมบัติเป็นทิพย์ไม่มีคำว่าแก่, ป่วยและยากจน (ความปรารถนาไม่สมหวัง) เพราะเทวดาหรือนางฟ้าไม่มีความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย มีความปรารถนาสมหวังเสมอ บางท่านก็อยากไปเกิดเป็นพรหม  ซึ่งมีความสุขและอานุภาพมากกว่าเทวดาและนางฟ้า บางท่านก็อยากไปนิพพาน  เป็นอันว่าความหวังทุกประการตามที่กล่าวมาแล้วนั้นจะมีผลแก่ทุกท่านแน่นอน ถ้าท่านตั้งใจทำจริง และปฏิบัติตามขั้นตอน  แบบที่บอกว่าง่ายๆ นี้ถ้าปฏิบัติได้ครบถ้วน ท่านจะได้ทุกอย่างตามที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด โดยใช้เวลาไม่นานนัก จะช้าหรือเร็วอยู่ที่ท่านทำจริงตามคำแนะนำหรือไม่เท่านั้นเอง
อารมณ์ที่ต้องการในขณะปฏิบัติ
         สำหรับอารมณ์ที่ต้องการในขณะปฏิบัติ ท่านต้องเข้าใจเสียก่อนว่า เวลานั้นต้องการอารมณ์สบาย ไม่ใช่อารมณ์เครียด เมื่อมีอารมณ์เป็นสุขถือว่าใช้ได้ อารมณ์เป็นสุขไม่ใช่อารมณ์ดับสนิทจนไม่รู้อะไร เป็นอารมณ์ธรรมดาแต่มีความสบายเท่านั้นเอง ยังมีความรู้สึกตามปกติทุกอย่าง
การเริ่มทำสมาธิ
       เริ่มทำสมาธิใช้วิธีง่าย ๆ ไม่ต้องมีพิธีรีตองมาก ใช้ธูปเทียนเท่าที่มีบูชาพระ ใช้เครื่องแต่งกายตามที่ท่านแต่งอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องแต่งตัวสีขาว ฯลฯ เป็นต้น เพราะไม่สำคัญที่เครื่องแต่งตัว ความสำคัญจริง ๆ อยู่ที่ใจ ให้คุมอารมณ์ใจให้อยู่ตามที่เราต้องการก็ใช้ได้
อาการนั่ง
     อาการนั่ง ถ้าอยู่ที่บ้านของท่านตามลำพัง ท่านจะนั่งอย่างไรก็ได้ตามสบาย จะนั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ นั่งห้อยเท้าบนเก้าอี้ หรือ นอน ยืน เดิน ตามแต่ท่านจะสบาย ทั้งนี้หมายถึงหลังจากที่ท่านบูชาพระแล้ว เสร็จแล้วก็เริ่มกำหนดรู้ลมหายใจเข้า และหายใจออก คำว่า กำหนดรู้ คือหายใจเข้าก็รู้
หายใจออกก็รู้ ถ้าต้องการให้ดีมาก ก็ให้สังเกตด้วยว่าหายใจเข้ายาวหรือสั้น หายใจออกยาวหรือสั้น ขณะที่รู้ลมหายใจนี้ และเวลานั้นจิตใจไม่คิดถึงเรื่องอื่นๆ เข้าแทรกแซง ก็ถือว่าท่านมีสมาธิแล้ว การทรงอารมณ์รู้เฉพาะลมหายใจเข้าออก โดยที่อารมณ์อื่นไม่แทรกแซง คือไม่คิดเรื่องอื่นในเวลานั้น จะมีเวลามากหรือน้อยก็ตาม ชื่อว่าท่านมีสมาธิแล้ว คือตั้งใจรู้ลมหายใจโดยเฉพาะ
ภาวนา
       การเจริญกรรมฐานโดยทั่วไปนิยมใช้คำภาวนาด้วย เรื่องคำภาวนานี้ไม่จำกัดว่าต้องภาวนาอย่างไร เพราะแต่ละคนมีอารมณ์ไม่เหมือนกัน บางท่านนิยมภาวนาด้วยถ้อยคำสั้นๆ บางท่านนิยมใช้คำภาวนายาวๆ ทั้งนี้ก็สุดแล้วแต่ท่านจะพอใจ คำภาวนาอย่างง่ายคือ "พุทโธ" คำภาวนาบทนี้ ง่าย สั้น เหมาะแก่ผู้ฝึกใหม่ มีอานุภาพและมีอานิสงส์มาก เพราะเป็นพระนามของพระพุทธเจ้า การนึกถึงชื่อของพระพุทธเจ้าเฉย ๆ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในเรื่อง มัฏฐกุณฑลีเทพบุตร ว่าคนที่นึกถึงชื่อท่านอย่างเดียว ตายไปเกิดเป็นเทวดา หรือนางฟ้าบนสวรรค์ไม่ใช่นับร้อยนับพัน พระองค์ตรัสว่านับเป็นโกฏิ ๆ เรื่องนี้จะนำมาเล่าข้างหน้าเมื่อถึงวาระนั้น เมื่อภาวนาควบคู่กับรู้ลมหายใจจงทำดังนี้ เวลาหายใจเข้านึกว่า "พุท" เวลาหายใจออกนึกว่า "โธ" ภาวนาควบคู่กับรู้ลมหายใจตามนี้เรื่อย ๆ ไปตามสบาย ถ้าอารมณ์ใจสบายก็ภาวนาเรื่อย ๆ ไป แต่ถ้าเกิดอารมณ์ใจหงุดหงิดหรือฟุ้งจนตั้งอารมณ์ไม่อยู่ก็จงเลิกเสีย จะเลิกเฉย ๆหรือดูโทรทัศน์ หรือฟังวิทยุหรือหาเพื่อนคุยให้อารมณ์สบายก็ได้ (เพื่อเป็นการผ่อนคลายอารมณ์) อย่ากำหนดเวลาตายตัวว่าต้องนั่งให้ครบเวลาเท่านั้นเท่านี้แล้วจึงจะเลิก ถ้ากำหนดอย่างนั้นเกิดอารมณ์ฟุ้งซ่านขึ้นมาจะเลิกก็เกรงว่าจะเสียสัจจะที่กำหนดไว้ ใจก็เพิ่มการฟุ้งซ่านมากขึ้น ถ้าเป็นเช่นนี้บ่อย ๆ ก็จะเกิดเป็นโรคประสาทหรือเป็นโรคบ้า ขอทุกท่านจงอย่าทนทำอย่างนั้น
ขณิกสมาธิ
       อารมณ์ที่ทรงสมาธิระยะแรกนี้จะทรงไม่ได้นาน เพราะเพิ่งเริ่มใหม่ ท่านเรียกสมาธิระยะนี้ว่า ขณิกสมาธิ คือสมาธิเล็กน้อย ความจริงสมาธิถึงแม้ว่าจะทรงอารมณ์ไม่ได้นานก็มีอานิสงส์มาก
ฝึกทรงอารมณ์
     อารมณ์ทรงสมาธิ ถึงแม้ว่าจะทรงไม่ได้นานแต่ท่านทำด้วยความเคารพก็มีผลมหาศาล แต่ถ้ารักษาอารมณ์ได้นานกว่า มีสมาธิดีกว่าจะมีผลมากกว่านั้นมาก การฝึกทรงอารมณ์ให้อยู่นาน หรือที่เรียกว่ามีสมาธินานนั้น ในขั้นแรกให้ทำดังนี้ให้ท่านภาวนาควบกับรู้ลมหายใจเข้าออก-หายใจเข้านึกว่า"พุท" หายใจออกนึกว่า"โธ" ดังนี้ นับเป็นหนึ่ง นับอย่างนี้สิบครั้งโดยตั้งใจว่าในขณะที่ภาวนาและรู้ลมเข้าลมออกอย่างนี้ ในระยะสิบครั้งนี้เราไม่ยอมให้อารมณ์อื่นเข้ามาแทรก คือไม่ยอมคิดอย่างอื่นจะประคองใจให้อยู่ในคำภาวนา และรู้ลมเข้าลมออกทำครั้งละสิบเพียงเท่านี้ ไม่ช้าสมาธิของท่านจะทรงตัวอยู่อย่างน้อยสิบนาทีหรือถึงครึ่งชั่วโมง จะเป็นอารมณ์ที่เงียบสงัดมากอารมณ์จะสบายจงพยายามทำอย่างนี้เสมอๆ ทางที่ดีทำแบบนี้เมื่อเวลานอนก่อนหลับและตื่นใหม่ๆจะดีมากบังคับอารมณ์เพียงสิบเท่านั้นพอใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนจะสามารถทรงอารมณ์เป็นฌานได้เป็นอย่างดี
อย่าฝืนอารมณ์มากนัก
เรื่องของอารมณ์เป็นของไม่แน่นอนนัก ในกาลบางคราวเราสามารถควบคุมได้ตามที่เราต้องการ แต่ในกาลบางคราวเราก็ไม่สามารถควบคุมได้ เพราะกระสับกระส่ายเสียจนคุมไม่อยู่ ในตอนนั้นควรจะยอมแพ้มัน เพราะถ้าขืนต่อสู้จะเกิดอารมณ์หงุดหงิดหรือเครียดเกินไป ในที่สุดถ้าฝืนเสมอๆ แบบนั้นอารมณ์จะกลุ้ม สมาธิจะไม่เกิด สิ่งที่จะเกิดแทนก็คือ อารมณ์กลุ้ม เมื่อปล่อยให้กลุ้มบ่อย ๆ ก็อาจจะเป็นโรคประสาทได้ ข้อที่ควรระวัง ก็คือทำแบบการนับดังกล่าวแล้วนั้น สามารถทำได้ถึงสิบครั้ง หรือบางครั้งทำได้เกินสิบก็ทำเรื่อยๆไป ถ้าภาวนาไปไม่ถึงสิบอารมณ์เกิดรวนเรกระสับกระส่าย ให้หยุดพักประเดี๋ยวหนึ่งแล้วทำใหม่ สังเกตดูอารมณ์ว่าจะสามารถควบคุมภาวนาไปได้ไหม ถ้าสามารถควบคุมให้อยู่ภายในขอบเขตของภาวนาได้ และรู้ลมหายใจเข้าออกควบคู่กันไปได้ดีก็ทำเรื่อยๆไป แต่ถ้าควบคุมไม่ไหวจริง ๆ ให้พักเสียก่อน จนกว่าใจจะสบายแล้วจึงทำใหม่หรือเลิกไปเลยวันนั้นพัก ไม่ต้องทำเลยปล่อยอารมณ์ให้รื่นเริงไปกับการคุย หรือชมโทรทัศน์ หรือฟังวิทยุ หรือหลับไปเลยเพื่อให้ใจสบายให้ถือว่าทำได้เท่าไรพอใจเท่านั้น ถ้าทำอย่างนี้ไม่ช้าจะเข้าถึงจุดดี คือ อารมณ์ฌาน คำว่า ฌาน คือ อารมณ์ชิน ได้แก่ เมื่อต้องการจะรู้ลมหายใจเข้าออกเมื่อไร อารมณ์ทรงตัวทันที ไม่ต้องเสียเวลาตั้งท่าตั้งทางเลย ภาวนาเมื่อไรใจสบายเมื่อนั้น แต่ทว่าอารมณ์ฌาน-โลกีย์ที่ทำได้นั้น เอาแน่นอนไม่ได้ เมื่อร่างกายปกติ ไม่เหนื่อย ไม่เพลีย ไม่ป่วยมันก็สามารถคุมอาการภาวนา หรือรู้ลมหายใจเข้าออกได้สบาย ไม่มีอารมณ์ขวาง แต่ถ้าร่างกายบกพร่องนิดเดียวเราก็ไม่สามารถคุมให้อยู่ตามที่เราต้องการได้ ฉะนั้นถ้าหลงระเริงเล่นแต่อารมณ์สมาธิอย่างเดียว จะคิดว่าเราตายคราวนี้หวังได้สวรรค์ ,พรหมโลก นิพพานนั้น (เอาแน่นอนไม่ได้) เพราะถ้าก่อนตายมีทุกขเวทนามาก จิตอาจจะทรงอารมณ์ไม่อยู่ ถ้าจิตเศร้าหมองขุ่นมัวเมื่อก่อนตาย อาจจะไปอบายภูมิ คือ นรก,เปรต,อสุรกาย,สัตว์เดียรัจฉานได้ ถ้าหลงทำเฉพาะสมาธิ ไม่หาทางเอาธรรมะอย่างอื่นเข้าประคับประคอง ถ้าเมื่อเวลาตายเกิดมีอารมณ์เศร้าหมองเข้าครองใจ สมาธิก็ไม่สามารถช่วยได้ จึงต้องใช้ธรรมะอย่างอื่นเข้าประคองใจด้วยธรรมะที่ช่วยประคองใจให้เกิดความมั่นคงไม่ต้องลงอบายภูมิมีนรก เป็นต้นก็ได้แก่
กรรมบถ ๑๐ ประการ คือ
๑. ไม่ฆ่าสัตว์ หรือไม่ทรมานสัตว์ให้ได้รับความลำบาก
๒. ไม่ลักทรัพย์ คือไม่ถือเอาทรัพย์ของผู้อื่นที่เขาไม่ให้ด้วยความเต็มใจ
๓. ไม่ทำชู้ในบุตรภรรยาและสามีของผู้อื่น(ขอแถมนิดหนึ่ง ไม่ดื่มสุราและเมรัยที่ทำให้มึนเมาไร้สติ)
๔. ไม่พูดจาที่ไม่ตรงความเป็นจริง
๕. ไม่พูดวาจาหยาบคายให้สะเทือนใจผู้รับฟัง
๖. ไม่พูดส่อเสียดยุให้รำตำให้รั่ว ทำให้ผู้อื่นแตกร้าวกัน
๗. ไม่พูดจาเพ้อเจ้อเหลวไหล
๘. ไม่คิดอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่นที่เจ้าของเขาไม่ยกให้
๙. ไม่คิดประทุษร้ายใคร คือไม่จองล้างจองผลาญเพื่อทำร้ายใคร
๑๐. เชื่อพระพุทธเจ้าและปฏิบัติตามคำสั่งสอนของท่านด้วยดี
อานิสงส์กรรมบถ ๑๐
      ท่านที่ปฏิบัติในกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ ท่านเรียกชื่อเป็นกรรมฐานกองหนึ่งเหมือนกันคือ ท่านเรียกว่า สีลานุสสติกรรมฐาน หมายความว่าเป็นผู้ทรงสมาธิในศีล
ท่านที่ปฏิบัติในกรรมบถ ๑๐ ประการได้นั้น มีอานิสงส์ดังนี้
๑. อานิสงส์ข้อที่หนึ่ง จะเกิดเป็นคนรูปสวย ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ มีอายุยืนยาว ไม่อายุสั้นพลันตาย
๒. อานิสงส์ข้อที่สอง เกิดเป็นคนมีทรัพย์มาก ทรัพย์ไม่ถูกทำลายเพราะโจร , ไฟไหม้ , น้ำท่วม , ลมพัด จะมีทรัพย์สมบัติสมบูรณ์บริบูรณ์ขั้นมหาเศรษฐี
๓. อานิสงส์ข้อที่สาม เมื่อเกิดเป็นคนจะมีคนที่อยู่ในบังคับบัญชาเป็นคนดี , ไม่ดื้อด้านอยู่ภายในคำสั่งอย่างเคร่งครัด  มีความสุขเพราะบริวาร และการไม่ดื่มสุราเมรัยเมื่อเกิด  เป็นคนจะไม่มีโรคปวดศีรษะที่ร้ายแรง, ไม่เป็นโรคเส้นประสาท, ไม่เป็นคนบ้าคลั่ง จะเป็นคนที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์, มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เรื่องของวาจา
๔. อานิสงส์ข้อที่สี่, ข้อห้า, ข้อหก และข้อเจ็ด เมื่อเกิดเป็นคน จะเป็นคนปากหอมหรือมีเสียงทิพย์ คนที่ได้ยินเสียงท่านพูด เขาจะไม่อิ่มไม่เบื่อในเสียงของท่าน ถ้าเรียกตามสมัยปัจจุบัน จะเรียกว่าคนมีเสียงเป็นเสน่ห์ก็คงไม่ผิด จะมีความเป็นอยู่ที่เป็นสุข และทรัพย์สินมหา-ศาลเพราะเสียง เรื่องของใจ
๕. อานิสงส์ข้อที่แปด ,ข้อเก้า และข้อสิบ เป็นเรื่องของใจ คืออารมณ์คิด ถ้าเว้นจากการคิดลักขโมย เป็นต้น ไม่คิดจองล้างจองผลาญใคร, เชื่อพระพุทธเจ้า และปฏิบัติตามคำสอนของท่านด้วยความเคารพ, ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ จะเป็นคนมีอารมณ์สงบ, มีความสุขสบายทางใจความเดือดเนื้อร้อนใจในกรณีใดๆ ทุกประการจะไม่มีเลย มีแต่ความสุขใจอย่างเดียว
อานิสงส์รวม
        เมื่อกล่าวถึงอานิสงส์รวมแล้ว ผู้ที่ปฏิบัติกรรมฐานในขั้นนี้ ถึงแม้ว่าจะทรงสมาธิไม่ได้นาน ตามที่เรียกว่า ขณิกสมาธิ นั้น ถ้าสามารถทรงกรรมบถ ๑๐ ประการได้ครบถ้วน ท่านกล่าวว่าเมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้ว ไม่ต้องไปเกิดในอบายภูมิอีกต่อไป บาปที่ทำไว้ตั้งแต่สมัยใดก็ตาม ไม่มีโอกาส นำไปลงโทษในอบายภูมิ มีนรกเป็นต้น อีกต่อไป
        ถ้าบุญบารมีไม่มากกว่านี้ ตายจากคนไปเป็นเทวดาหรือพรหม เมื่อหมดบุญแล้วลงมาเกิดเป็นมนุษย์ จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ในชาตินั้น แต่ถ้าเร่งรัดการบำเพ็ญเพียรดี,รู้จักใช้ปัญญาอย่างมีเหตุผลก็สามารถบรรลุมรรคผลเข้าถึงพระนิพพานได้ในชาตินี้
แนะวิธีรักษากรรมบถ ๑๐ ประการ
       การที่จะทรงความดีเต็มระดับตามที่กล่าวมาให้ครบถ้วน ให้ปฏิบัติดังนี้
๑. คิดถึงความตาย ไว้ในขณะที่สมควร คือไม่ใช่ทุกลมหายใจเข้าออก เมื่อตื่นขึ้นใหม่ ๆ อารมณ์ใจยังเป็นสุข ก่อนที่จะเจริญภาวนาอย่างอื่น ให้คิดถึงความตายก่อน คิดว่าความตายอาจจะเข้ามาถึงเราในวันนี้ก็ได้ จะตายเมื่อไรก็ตามเราไม่ขอลงอบายภูมิ ที่เราจะไปคือ อย่างต่ำไปสวรรค์ ,อย่างกลางไปพรหม ถ้าไม่เกินวิสัยแล้วขอไปนิพพานแห่งเดียว คิดว่าไปนิพพานเป็นที่พอใจที่สุดของเรา
๒. คิดต่อไปว่า เมื่อความตายจะเข้ามาถึงเราจะเป็นเวลาใดก็ตาม เราขอยึดพระพุทธเจ้าพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต คือไม่สงสัยในความดีของพระพุทธเจ้า ยอมเคารพด้วยความศรัทธา คือความเชื่อถือในพระองค์ ขอปฏิบัติตามคำสอน คือกรรมบถ ๑๐ ประการโดยเคร่งครัด ถ้าความตายเข้ามาถึงเมื่อไรขอไปนิพพานแห่งเดียว
         เมื่อนึกถึงความตายแล้ว ตั้งใจเคารพ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์สาวกแล้วตั้งใจนึกถึงกรรมบถ ๑๐ ประการว่ามีอะไรบ้าง ตั้งใจจำ และพยายามปฏิบัติตามอย่าให้พลั้งพลาดคิดติดตามข้อปฏิบัติเสมอว่า มีอะไรบ้าง ตั้งใจไว้เลยว่า วันนี้เราจะไม่ยอมละเมิดสิกขาบทใดสิกขาบทหนึ่งเป็นอันขาด เป็นธรรมดาอยู่เองการที่ระมัดระวังใหม่ๆ อาจจะมีการพลั้งพลาด
พลั้งเผลอในระยะต้นๆ บ้างเป็นของธรรมดา แต่ถ้าตั้งใจระมัดระวังทุกๆ วันไม่นานนักอย่างช้าไม่เกิน ๓ เดือน ก็สามารถรักษาได้ครบ มีอาการชินต่อการรักษาทุกสิกขาบทจะไม่มีการผิดพลาดโดยที่เจตนาเลย เมื่อท่านใดทรงอารมณ์กรรมบถ ๑๐ ประการได้โดยไม่ต้องระวังก็ชื่อว่าท่านทรงสมาธิขั้นขณิกสมาธิได้ครบถ้วนเมื่อตาย ท่านไปสวรรค์หรือพรหมโลกได้แน่นอนถ้าบารมียังอ่อนเกิดเป็นมนุษย์อีกชาติเดียว ไปนิพพานแน่ ถ้าขยันหมั่นเพียรใช้ปัญญาแบบเบา ๆ ไม่เร่งรัดเกินไป รักษาอารมณ์ใจให้เป็นสุขไม่ติดในความโลภ ไม่วุ่นวายในความโกรธ มีการให้อภัยเป็นปกติ ไม่เมาในร่างกายเรา และร่างกายเขาไม่ช้าก็บรรลุพระนิพพานได้แน่นอน เป็นอันว่าการปฏิบัติขั้นขณิกสมาธิจบเพียงเท่านี้
อุปจารสมาธิ
         อุปจารสมาธิ หมายถึง สมาธิเฉียดฌาน คือ ใกล้จะถึงปฐมฌาน มีกำลังใจเป็นสมาธิสูงกว่าขณิกสมาธิเล็กน้อยต่ำกว่าปฐมฌานนิดหน่อยเป็นสมาธิที่มีอารมณ์ชุ่มชื่นเอิบอิ่มผู้ปฏิบัติพระกรรมฐานถ้าอารมณ์เข้าถึงอุปจารสมาธิแล้ว จะมีความเอิบอิ่มชุมชื่นไม่อยากเลิก ท่านที่มีอารมณ์เข้าถึงสมาธิขั้นนี้ จึงต้องระมัดระวังตัวให้มาก เคยพักผ่อนเวลาเท่าไร เมื่อถึงเวลานั้น
ต้องเลิกและพักผ่อน ถ้าปล่อยอารมณ์ความชุ่มชื่นที่เกิดแก่จิตไม่คิดจะพักผ่อน ไม่ช้าอาการเพลียจากประสาทร่างกายจะเกิดขึ้น ในที่สุดอาจเป็นโรคประสาทได้ ที่ต้องรักษาประสาทก็เพราะปล่อยใจให้เพลิดเพลินเกินไปจนไม่ได้พักผ่อน ต้องเชื่อคำเตือนของพระพุทธเจ้าที่ท่านแนะนำ ปัญจวัคคีย์ฤาษีทั้ง๕ มี ท่านอัญญาโกณฑัญญะ เป็นประธานโดยที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เธอทั้งหลายจงละส่วนสุดสองอย่างคือ
        ๑. ปฏิบัติเครียดเกินไป จนถึงขั้นทรมานตน คือเกิดความลำบาก
       ๒. ความอยากได้เกินไป จิตใจวุ่นวายเพราะความอยากได้ จนอารมณ์ไม่สงบ
         ถ้าเธอทั้งหลายติดอยู่ในส่วนสุดสองอย่างนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง ผลในการปฏิบัติคือมรรคผลจะไม่มีแก่เธอเลย ขอให้ทุกคนตั้งอยู่ใน มัชฌิมาปฏิปทา คืออารมณ์ปานกลางได้แก่อารมณ์พอสบาย
         เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแนะไว้อย่างนี้ ก็ยังมีบางท่านฝ่าฝืนปฏิบัติเพลิดเพลินเกินไปไม่พักผ่อนตามเวลาที่เคยพักผ่อน จึงเกิดอารมณ์ฟุ้งซ่านวุ่นวายจนเป็นโรคประสาท ทำให้ พระพุทธศาสนาต้องถูกกล่าวหาว่าการปฏิบัติพระกรรมฐานทำให้คนเป็นบ้า ฉะนั้นขอท่านนักปฏิบัติทุกท่าน จงอย่าฝืนคำแนะนำของพระพุทธเจ้า จงรู้จักประมาณเวลาที่เคยพักผ่อน ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ และปฏิบัติแค่อารมณ์สบาย ถ้าเกินเวลาพักที่เคยพักก็ดีอารมณ์ฟุ้งซ่านวุ่นวายคุมไม่อยู่ก็ดีขอให้พักการปฏิบัติเพียงแค่นั้น พักให้สบาย พอใจผลที่ได้แล้วเพียงนั้น ปล่อยอารมณ์ใจให้รื่นเริงไปตามปกติ
นิมิตทำให้บ้ามีเรื่องที่จะทำให้บ้าอีกเรื่องหนึ่งคือนิมิต นิมิตคือภาพที่ปรากฏให้เห็นเพราะเมื่อกำลังสมาธิเข้าถึงระยะอุปจารสมาธินี้ จิตใจเริ่มสะอาดจากกิเลสเล็กน้อย เมื่อจิตเริ่มสะอาดจากกิเลสพอสมควรตามกำลังของ สมาธิที่กดกิเลสไว้ ยังไม่ใช่การตัดกิเลส อารมณ์ใจเริ่มเป็นทิพย์นิด ๆ หน่อยๆ ยังไม่มีความเป็นทิพย์ทรงตัวพอที่จะเป็นทิพจักขุญาณได้ จิตที่สะอาดเล็กน้อยนั้นจะเริ่มเห็นภาพนิดๆ หน่อยๆ ชั่วแว้บเดียวคล้ายแสงฟ้าแลบคือ ผ่านไปแว้บหนึ่งก็หายไป ถ้าต้องการให้เกิดใหม่ก็ไม่เกิดเรียกร้องอ้อนวอนเท่าไรก็ไม่มาอีก ท่านนักปฏิบัติต้องเข้าใจตามนี้ว่าภาพอย่างนี้เป็นภาพที่ผ่านมาชั่วขณะจิตไม่สามารถบังคับภาพนั้นให้กลับมาอีกได้ หรือบังคับให้อยู่นานมาก ๆ ก็ไม่ได้เหมือนกัน
         ภาพที่ปรากฏนี้จะทรงตัวอยู่นานหรือไม่นานอยู่ที่สมาธิของท่าน เมื่อภาพปรากฏ ถ้ากำลังใจของท่านไม่ตกใจพลัดจากสมาธิ ภาพนั้นก็ทรงตัวอยู่นานเท่าที่สมาธิทรงตัวอยู่ ถ้าเมื่อภาพปรากฏท่านตกใจ สมาธิก็พลัดตกจากอารมณ์ ภาพนั้นก็จะหายไป ส่วนใหญ่จะลืมความจริงไปว่า เมื่อภาพจะปรากฏนั้นเป็นอารมณ์สงัดไม่มีความต้องการอะไรจิตสงัดจากกิเลสนิดหน่อยจึงเห็นภาพได้ ครั้นเมื่อภาพปรากฎแล้ว เกิดมีอารมณ์อยากเห็นต่อไปอีก อาการอยากเห็นนี้แหละเป็นอาการฟุ้งซ่านของจิต จิตตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลส จิตมีความสกปรกเพราะกิเลส อย่างนี้ต้องการเห็นเท่าไรก็ไม่เห็น เมื่อไม่เห็นตามความต้องการก็เกิดความกลุ้ม ยิ่งกลุ้มความฟุ้งซ่านยิ่งเกิด เมื่อความปรารถนาไม่สมหวังในที่สุดก็เป็นโรคประสาท (บางราย
บ้าไปเลย) ที่เป็นเช่นนี้เพราะไม่เชื่อตามคำแนะนำของพระพุทธเจ้า ที่ทรงแนะนำไว้ว่าจงอย่ามีอารมณ์อยากหรืออย่าให้ความอยากได้เข้าครอบงำบังคับบัญชาจิต
เมื่อนิมิตเกิดขึ้นควรทำอย่างไร
         คำว่านิมิต มี ๒ ประเภทคือ นิมิตที่เราสร้างขึ้น กับ นิมิตที่ลอยมาเอง
         ๑. นิมิตที่เราสร้างขึ้น จะแนะนำในระยะต่อไป นิมิตประเภทนี้ต้องรักษาหรือควบคุมให้ทรงอยู่ เพราะเป็นนิมิตที่สร้างกำลังใจให้ทรงสมาธิได้นาน หรืออาจสร้างกำลังสมาธิให้ทรงอยู่นานตามที่เราต้องการ
         ๒. นิมิตลอยมาเอง สำหรับนิมิตประเภทนี้ในที่บางแห่งท่านแนะนำว่า ควรปล่อยไปเลยอย่าติดใจจำภาพนั้น หรือไม่สนใจเสียเลย เพราะเป็นนิมิตที่ไม่มีความแน่นอนถ้าขืนจำหรือจ้องต้องการภาพ ภาพนั้นจะหายไป กำลังใจจะเสีย แต่บางท่านแนะนำว่าเมื่อนิมิตเกิดขึ้นจะปล่อยใจให้เพลิดเพลินไปในนิมิตนั้นก็ได้ เพราะใจจะได้เป็นสุข จะมีความชุ่มชื่นในนิมิตนั้น เป็นเหตุให้ทรงสมาธิได้ดี แต่จงอย่าหลงในนิมิตถ้านิมิตหายไปก็ปล่อยใจไปตามสบาย ไม่ติดใจในนิมิตนั้นคงภาวนาไปตามปกติ
         ทั้งสองประการนี้ ขอให้ท่านนักปฏิบัติเลือกเอาตามแต่อารมณ์ใจจะเป็นสุข แต่ขอเตือนไว้นิดหนึ่งว่าเมื่อนิมิตปรากฏขึ้น ถ้าปล่อยใจให้เพลิดเพลินไปกับนิมิต ท่านอย่าลืมว่าเมื่อนิมิตหายไปนั้นเพราะใจเราพลัดจากสมาธิ  ให้เริ่มตั้งอารมณ์โดยจับลมหายใจและภาวนาไปใหม่ไม่สนใจกับภาพนิมิตที่หายไปจงอย่าลืมว่านิมิตเกิดขึ้นมาเพราะจิตมีสมาธิ และเราไม่อยากเห็นจึงเป็นได้ และ นิมิตนั้นไม่ใช่ทิพจักขุญาณ เมื่อหายไปก็เชิญหายไปเราไม่สนใจกับนิมิตอีกเราจะรักษาอารมณ์ใจให้เป็นสุขจากคำภาวนาและรู้ลมหายใจต่อไป ถ้าความกระวนกระวายเกิดขึ้นให้เลิกเสียทันที
สร้างนิมิตให้เกิดขึ้น
         เรื่องสร้างนิมิตนี้ ในที่นี้ไม่มีการบังคับ ท่านต้องการสร้างก็สร้าง ท่านไม่ต้องการสร้างก็ไม่ต้องสร้าง สุดแล้วแต่ความต้องการ ขอแนะนำผู้ที่ต้องการสร้างไว้ดังนี้
        การสร้างนิมิตมีหลายแบบ แต่ทว่าในหนังสือนี้แนะนำกรรมฐานหลัก คือ พุทธานุสสติ-กรรมฐาน จึงขอแนะนำเฉพาะกรรมฐานกองนี้ อันดับแรกขอให้ท่านหาพระพุทธรูปที่ท่านชอบใจสักองค์หนึ่ง ถ้าบังเอิญหาไม่ได้ก็ไม่ต้องหา ให้นึกถึงพระพุทธรูปที่วัดไหนก็ได้ที่ท่านชอบใจที่สุด ถ้านึกถึงพระพุทธรูปแล้วใจไม่จับในพระพุทธรูป จิตจดจ่อในรูปพระสงฆ์องค์ใดองค์หนึ่งที่ท่านชอบก็ได้ เมื่อนึกถึงภาพพระพุทธรูปก็ดี ภาพพระสงฆ์ก็ดี ให้จำภาพนั้นให้สนิทใจแล้วภาวนาว่า "พุทโธ" พร้อมกับจำภาพพระนั้น ๆ ไว้
     ถ้าท่านมีพระพุทธรูปให้ท่านนั่งข้างหน้าพระพุทธรูป ลืมตามองดูพระพุทธรูปแล้วจดจำภาพพระพุทธรูปให้ดี รูปพระพุทธรูปนั้นเป็นกรรมฐานได้สองอย่างคือ เป็นพุทธานุสสติ นึกถึงพระพุทธเจ้าก็ได้ และเป็นกสิณก็ได้ เมื่อท่านมีความรู้สึกว่า รูปที่ตั้งอยู่ข้างหน้าเรานี้เป็นพระพุทธรูป ความรู้สึกอย่างนั้นของท่านเป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน ถ้ามีความรู้สึกตามสีของ
พระพุทธรูป เช่น พระพุทธรูปสีเหลือง เป็น ปิตกสิณ ถ้าพระพุทธรูปเป็นสีขาว เป็น โอทา-ตกสิณ ถ้าพระพุทธรูปสีเขียว เป็น นีลกสิณ ทั้งสามสีนี้ สีใดสีหนึ่งก็ตามเป็นกสิณระงับโทสะเหมือนกัน
         เมื่อท่านจะสร้างนิมิตให้ทำดังนี้ อันดับแรกให้ลืมตามองดูพระพุทธรูป จำภาพพระพุทธรูปพร้อมทั้งสีให้ครบถ้วน ในขณะนั้นเมื่อเราเห็นสีพระพุทธรูปไม่ต้องนึกว่าเป็นกสิณอะไรตั้งใจจำเฉพาะพระพุทธรูปเท่านั้น เมื่อจำได้แล้วหลับตานึกถึงภาพพระพุทธรูปนั้นภาวนาควบกับลมหายใจเข้าออกไปตามปกติ เมื่อภาวนาไปไม่นานนัก ภาพพระอาจจะเลือนจากใจ เรื่องภาพเลือนจากใจนี้เป็นของธรรมดาของผู้ฝึกใหม่ เมื่อภาพเลือนไปก็ลืมตาดูภาพพระใหม่ทำอย่างนี้สลับกันไป เมื่อเวลาจะนอนให้จำภาพพระไว้ตั้งใจนึกถึงภาพพระ นอนภาวนาจนหลับไป ทั้ง ๆที่จำภาพพระไว้อย่างนั้น แต่ถ้าภาวนาไปเกิดมีอารมณ์วุ่นวายนอนไม่ยอมหลับ ต้องเลิกจับภาพพระและเลิกภาวนาปล่อยใจคิดไปตามสบายของใจมันจนกว่าจะหลับไป
อานิสงส์สร้างนิมิต
         การสร้างนิมิตมีอานิสงส์อย่างนี้คือ ทำให้ใจเกาะนิมิตเป็นสมาธิได้ง่าย และทรงสมาธิได้นานตามสมควร สามารถสร้างจิตให้เข้าถึงระดับฌานได้รวดเร็ว
ขั้นตอนของนิมิต
         นิมิตขั้นแรกเรียกว่า อุคหนินิมิต อุคหนิมิตนี้มีหลายขั้นตอน ในตอนแรกเมื่อจำภาพพระได้จนติดใจแล้ว (ไม่ใช่ติดตา) ต้องเรียกว่า ติดใจ เพราะใจนึกถึงภาพพระจะนั่ง นอน ยืน เดิน ไปทางไหน หรืออยู่ที่ใดก็ตาม ต้องการนึกถึงภาพพระ ใจนึกภาพได้ทันทีทันใดมีความรู้ในภาพพระนั้นครบถ้วนไม่เลือนลางอย่างนี้เรียกว่า "อุคหนิมิตขั้นต้น" เป็นเครื่องพิสูจน์อารมณ์สมาธิได้ดีกว่าการนับ ถ้าสมาธิยังทรงอยู่ ภาพนั้นจะยังทรงอยู่กับใจ ถ้าสมาธิสลายตัวไป ภาพนั้นจะหายไปจากใจถ้าท่านทำได้เพียงเท่านี้ อานิสงส์ คือบุญบารมีที่ท่านจะได้
         อุคหนิมิตขั้นที่สอง เมื่อสมาธิทรงตัวมากขึ้น ภาพพระจะชัดเจนมากขึ้นจะใสสะอาดผุดผ่องกว่าภาพจริงถ้าท่านนึกขอให้ภาพพระนั้นสูงขึ้นภาพนั้นจะสูงขึ้นตามที่ท่านต้องการต้องการให้อยู่ข้างหน้าหรือข้างหลัง เล็กลงหรือใหญ่ขึ้นจะเป็นไปตามนั้นทุกประการ อย่างนี้จัดเป็นอุคหนิมิตขั้นที่สองสมาธิจะทรงตัวได้ดีมาก จะสามารถทรงเวลาได้นานตามที่ต้องการ
         อุคหนิมิตขั้นที่สาม เป็นขั้นสุดท้ายของอุคหนิมิต เมื่อภาพนิมิตคือภาพพระปรากฏให้ถือเอาสีเหลืองเป็นสำคัญ ความจริงสีอื่นก็มีสภาพเหมือนกันแต่จะอธิบายเฉพาะสีเหลืองเมื่อสมาธิทรงตัวเต็มอัตรา ภาพสีเหลืองหรือสีอื่นก็ตาม จะค่อย ๆ คลายตัวเป็นสีขาวออกมาทีละน้อย ๆ ในที่สุดจะเป็นสีขาวสะอาดและหนาทึบอย่างนี้ถือว่า เป็นอุคหนิมิตขั้นสุดท้าย
ถ้าประสงค์จะใช้เป็น ทิพจักขุญาณก็ใช้ในตอนนี้ได้ทันที แต่ต้องมีความฉลาดและอาจหาญพอ ถ้าไม่ฉลาดและอาจหาญไม่พอก็จะสร้างความเละเทะให้เกิดมากขึ้น วิชาทิพจักขุญาณเป็นหลักสูตรของวิชชาสาม ในที่นี้แนะนำในหลักสูตรสุกขวิปัสสโก จึงของดไม่อธิบายเพราะจะทำให้เฝือและวุ่นวายว่าไปตามทางของ สุกขวิปัสสโก ดีกว่า อุคหนิมิตนี้เป็นนิมิตของ อุปจารสมาธิ จึงยังไม่อธิบายถึง อัปปนาสมาธิ
อาการและอารมณ์ของอุปจารสมาธิ
         อาการของอุปจารสมาธิคือ ปีติได้แก่อารมณ์ความอิ่มใจเมื่อทำมาถึงตอนนี้อารมณ์จะชุ่มชื่นมาก อารมณ์สะอาดเยือกเย็น มีความเป็นสุขอย่างยอดเยี่ยม ไม่เคยพบความสุขอย่างนี้มาก่อนเลยในชีวิต ตอนนี้เวลาภาวนาลมหายใจจะเบากว่าปกติมาก อารมณ์เป็นสุขร่างกายของนักปฏิบัติที่เข้าถึงระดับนี้ ผิวหนังจะนวลขึ้นเพราะอารมณ์ที่มีความสุขแต่อาการทางร่างกายนี่สิที่ทำให้นักปฏิบัติตกใจกันมากนั่นก็คือ
        ๑. อาการขนลุกซู่ซ่า เมื่อเกิดอาการอย่างนี้หรืออย่างอื่นที่กล่าวถึงต่อไปจะมีอารมณ์ใจเป็นสุข ขอให้ทุกท่านปล่อยอาการอย่างนั้นไปตามสภาพของร่างกาย จงอย่าสนใจ เมื่อสมาธิสูงขึ้น หรือลดตัวลงต่ำกว่านั้น อาการอย่างนั้นก็จะหมดไปเอง อาการขนลุกพองถ้ามีขึ้นพึงควรภูมิใจว่า เราเข้าถึงอาการของปีติระดับหนึ่งแล้ว  อย่ากังวลอาการของร่างกาย
         ๒. อาการของปีติขั้นที่ ๒ ได้แก่อาการน้ำตาไหล
         ๓. อาการของปีติขั้นที่ ๓ คือร่างกายโยกโคลง โยกไปข้างหน้าบ้างข้างหลังบ้างบางคราวโยกแรง จนศีรษะใกล้ถึงพื้น
         ๔. อาการของปีติขั้นที่ ๔ ตามตำราท่านว่าตัวลอยขึ้นบนอากาศ แต่ผลของการปฏิบัติไม่แน่นัก บางรายก็เต้นเหมือนปลุกตัว บางรายก็ตัวลอยขึ้นบนอากาศ เมื่อลอยไปแล้ว ถ้าสมาธิคลายตัวก็กลับมาที่เดิมเอง (อย่าตกใจ)
         ๕. อาการของปีติขั้นที่ ๕ คือ มีอาการแผ่ซ่านในร่างกายซู่ซ่าเหมือนมีลมไหลออกในที่สุดเหมือนตัวใหญ่และสูงขึ้น หน้าใหญ่แล้วมีอาการเหมือนลมไหลออกจากกาย ในที่สุดก็มีความรู้สึกว่าตัวหายไปเหลือแต่ท่อนหัว
         อาการทั้งหมดนี้ เมื่อเกิดขึ้นอารมณ์ใจจะมีความสุข ฉะนั้น นักปฏิบัติให้ถืออารมณ์ใจเป็นสำคัญ อย่าตกใจในอาการตามที่กล่าวมาแล้วนั้น พอสมาธิสูงถึงระดับฌานก็จะสลายตัวไปเอง ปีตินี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วอารมณ์จะเป็นสุข คือถึงระดับที่สี่ ที่จะเข้าถึงปฐมฌาน ต่อไปก็เป็นปฐมฌานเพราะอยู่ชิดกัน
อัปปนาสมาธิหรือฌาน
         ต่อไปนี้จะพูดหรือแนะนำใน อัปปนาสมาธิ คำว่า อัปปนาสมาธิ เป็นสมาธิใหญ่ มีอารมณ์มั่นคง เข้าถึงระดับฌาน ตั้งแต่ฌานที่หนึ่งถึงฌานที่สี่ แต่ก่อนที่จะพูดถึง อัปปนาสมาธิ ขอย้อนมาอธิบายถึงอุปจารสมาธิเล็กน้อยก่อน การที่พูดมาแล้วเป็นการพูดในเรื่องของนิมิตโดยตรงท่านที่ไม่นิยมนิมิตจะไม่เข้าใจ
อุปจารสมาธิระดับสุดท้าย
         เมื่อจิตเข้าถึงอุปจารสมาธิขั้นสุดท้าย ถ้าผู้ปฏิบัติไม่สนใจในนิมิต หรือสร้างนิมิตให้เกิดขึ้นไม่ได้ ให้สังเกตอารมณ์ใจดังนี้ อารมณ์นี้มีเหมือนกันทั้งท่านที่ถือนิมิตหรือไม่ถือนิมิต คือจะมีความรู้สึกว่ามีอารมณ์ตั้งมั่นทรงตัวดี มีความชุ่มชื่นไม่อิ่มไม่เบื่อในการปฏิบัติ มีอารมณ์เป็นสุขเยือกเย็นมาก ซึ่งไม่เคยพบมาเลยในชีวิต และมีอารมณ์เป็นหนึ่ง กำหนดอารมณ์ไว้อย่างไรอารมณ์ไม่เคลื่อนจากที่ตั้งอยู่ได้นาน ตอนนี้เป็นฌาน อารมณ์ที่สังเกตได้คือ
         ๑. รู้ลมหายใจเข้า รู้ลมหายใจออก คำภาวนาทรงตัว ไม่ลืมไม่เผลอไม่ฟุ้งไปสู่เรื่องอื่นนอกเหนือจากที่คิดจะภาวนา มีอารมณ์เต็มเปี่ยมด้วยกำลังใจไม่อิ่มไม่เบื่อไม่อยากลุกออกจากที่ มีความสุขหรรษาเป็นพิเศษ ซึ่งไม่เคยมีความสุขใดในชีวิตที่เคยพบมาก่อนเลยมีอารมณ์ตั้งมั่นดิ่งอยู่ในที่เดียวเป็นพิเศษ (ข้อห้านี้เป็นฌาน)  หูได้ยินเสียงทุกอย่างชัดเจนมากที่เข้ามากระทบประสาทหู เสียงคนหรือเสียงสัตว์ธรรมดาไม่ใช่เสียงทิพย์ แม้แต่เสียงเครื่องขยายเสียงที่มีเสียงดังมาก ตอนนี้ได้ยินทุกอย่างชัดเจนตามปกติแต่ไม่รำคาญในเสียงนั้นเลย คงภาวนาหรือกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกได้เป็นปกติเหมือนไม่มีเสียงรบกวนลมหายใจจะเบากว่าเวลาปกติจนสังเกตได้ชัดอาการอย่างนี้ท่านเรียกว่า ปฐมฌาน คือ ฌานที่หนึ่ง
       ๒. เมื่อจิตเป็นสมาธิในฌานที่สองมีความรู้สึกดังนี้คือจะรู้สึกว่าคำภาวนาหายไปบางท่านหรือหลายท่านควรจะพูดว่ามากท่านก็คงไม่ผิดเมื่ออารมณ์เข้าถึงฌานที่สองใหม่ๆ อารมณ์ยังไม่ชิน เมื่อขณะที่จิตทรงอยู่ในฌานนี้ จะมีความอิ่มเอิบสุขสบาย จะเผลอตัว เมื่อจิตมีสมาธิลดลง เพราะกำลังจิตถอยสมาธิ จะลดลงอยู่ที่อุปจารสมาธิ ตอนนี้อารมณ์คิด คือความ
รู้สึกก็เกิดขึ้น เมื่อจิตตั้งอยู่ในฌานจะไม่สามารถคิดอะไรได้ เพราะเอกัคคตารมณ์คืออารมณ์เป็นหนึ่งไม่มีอารมณ์คิดจะทรงตัวเฉยอยู่และไม่มีคำภาวนา คำภาวนานี้ตั้งแต่ฌานที่สองถึงฌานที่สี่จะไม่มีคำภาวนาเมื่อรู้สึกตัวว่าไม่ได้ภาวนาก็จะคิดว่าตนเองหลับไปหรือเผลอไป ความจริงไม่ใช่ ซึ่งเป็นอาการของฌานที่สอง
         ๓. เมื่อจิตมีสมาธิเข้าถึงฌานที่สาม ตอนนี้จะรู้สึกว่า ลมหายใจเบาลงมาเกือบไม่รู้สึกว่าหายใจ แต่ความจริงยังรู้สึกถนัดอยู่แต่เบามากนั่นเอง อาการทางร่างกายจะรู้สึกเหมือนเกร็งไปทั้งร่าง แต่ความจริงร่างกายเป็นปกติ แต่ที่มีความรู้สึกอย่างนั้นเป็นอาการของสมาธิ เสียงภายนอกที่เข้ามากระทบหูเกือบไม่ได้ยินเสียงนั้นเลยได้ยินแต่เบามาก จิตทรงอารมณ์เป็นหนึ่งสงัดดีมากเป็นพิเศษ อย่างนี้เป็นอาการของฌานที่สาม
         ๔. อาการของฌานที่สี่ เมื่อจิตเข้าถึงฌานที่สี่ ฌานสี่นี้มีสองขั้นคือ หยาบ กับ ละเอียด สำหรับฌานหนึ่ง สอง สาม นั้น แต่ละฌานมีสามชั้นคือ หยาบ กลาง ละเอียด ที่ไม่อธิบายไว้ ก็เพราะกลัวจะเฝือ เพราะเมื่อฝึกได้ใหม่ยังไม่มีกำลังใจที่แน่นอน ประเดี๋ยวได้ประเดี๋ยวสลายตัวอธิบายละเอียดเข้าแทนที่จะเป็นผลดี จะกลายเป็นอาหารผสมยาพิษไปจุกจิกใจเข้าเลยเลิกดีกว่า
         เป็นอันว่ารู้กันว่าเป็นฌานชั้นที่สี่ก็พอ ฌานอื่นๆ พอรู้ว่าถึงฌานก็พอ จงอย่าลืมว่าเมื่อถึงฌานแล้วเวลาไม่นานก็พลัดจากฌาน คืออารมณ์ลดลงมาที่อารมณ์ปกติ ให้คิดว่าเราถึงฌานได้แล้วจะอยู่นานหรือไม่นานก็ช่าง เป็นอันว่าเราเข้าถึงธงชัยแล้วก็ดีถมไป วันนี้ฌานสลายตัววันหน้าเวลาหน้ายังมีอีก เมื่อเรายังไม่ตายเพียงใด เราก็เล่นเพลิดเพลินในฌานให้อารมณ์เป็นสุข เพื่อเพราะกำลังสมาธิไว้เป็นกำลังช่วยตัดกิเลสในโอกาสหน้าต่อไป
         เมื่อจิตเข้าถึงฌานสี่หยาบตอนนั้นจะมีความรู้สึกว่า ลมหายใจหายไป ไม่รู้สึกว่าหายใจ แต่ที่จริงแล้วลมหายใจยังมีตามปกติแต่ทว่าจิตไม่รับทราบว่าร่างกายทำอะไร หายใจหรือไม่ จิตใจย่อมไม่รับรู้ตามท่านพูดว่าจิตกับประสาทแยกกันเด็ดขาด แต่ตอนฌานสี่หยาบนี้จิตแยกออกจากประสาทจริงแต่ยังไปไม่ไกลนัก ฉะนั้นเมื่อมีเสียงดังขนาดเครื่องขยายเสียงที่ดังมากๆ ตั้งอยู่ใกล้หูยังพอได้ยินแว่วๆ เหมือนอยู่ไกลกันมาก
         เมื่อจิตเข้าถึงฌานสี่ละเอียด ตอนนี้สบายมาก เพราะไม่รู้อะไรเลย (ไม่ใช่หลับ) ภายในกำลังของจิตเข็มแข็งมาก มีความสว่างโพลง แต่จิตไม่ยอมรับรู้เรื่องของประสาทเลย ไม่ว่าเสียงหรือการกระทบกาย จิตไม่ยอมรับทราบด้วยประการทั้งปวง อาการของฌานสี่ที่ละเอียดเป็นอย่างนี้
         ที่นำอาการของฌานมากล่าวไว้ที่นี้ก็เพราะว่าการปฏิบัติในหมวดสุกขวิปัสสโก ก็ทรงฌานเหมือนหมวดอื่นเหมือนกัน เพื่อนักปฏิบัติจะได้ทราบอาการเอาไว้ เพราะมีผู้มาถามเรื่องอาการของฌานนี้นับรายไม่ถ้วน บางรายถามแล้วถามอีกถามบ่อยๆ ชักสงสัยว่าทำจริงหรือเปล่า เพราะผู้ทำจริงเขาไม่ถามบ่อย เมื่อถามแล้วเอาไปปฏิบัติได้แล้วรู้เรื่องก็ไม่มีเรื่องถามต่อไป
พลัดตกจากฌาน
         เรื่องอาการพลัดตกจากฌานนี้มีผู้ประสบกันมามาก แม้ผู้เขียนเองอาการอย่างนี้ก็พบมาตั้งแต่อายุ ๗ ปี ตอนนั้นถ้ามีอารมณ์ชอบใจอะไรจิตจะเป็นสุข สักครู่ก็มีอาการเสียววาบคล้ายพลัดตกจากที่สูง ตอนนั้นเป็นเด็กไม่ได้ถามใครเพราะไม่รู้เรื่องของฌาน เป็นอยู่อย่างนี้มานานเกือบหนึ่งปี เมื่อท่านแม่พาไปหา หลวงพ่อปาน หลวงพ่อท่านเห็นหน้า ท่านก็ถามท่านแม่ว่าเจ้าหนูคนนี้ชอบทำสมาธิหรือ ท่านถามทั้งๆ ที่เพิ่งเห็นหน้า ท่านแม่ยังไม่ได้บอกท่านเลยหลวงพ่อปานท่านก็พูดของท่านต่อไปว่า เอ..เจ้าหนูนี่มันมี ทิพจักขุญาณ ใช้ได้แล้วนี่หว่า ท่านหันมาถามผู้เขียนว่า เจ้าหนูเคยเห็นผีไหม" ก็กราบเรียนท่านว่า "ผีเคยมาคุยด้วยขอรับ แต่ทว่าเขาไม่ได้มาเป็นผี เขามาเป็นคนธรรมดาต่อเมื่อเขาจะลากลับเขาจึงบอกว่า เขาตายไปแล้วกี่ปี แล้วก็สั่งให้ช่วยบอกลูกบอกหลานเขาด้วย"
         หลวงพ่อปานท่านก็พูดต่อไปว่า "อาการที่เสียวใจคล้ายหวิวเหมือนคนตกจากที่สูงนั้นเป็นอาการที่จิตพลัดตกจากฌาน คือ เมื่อจิตเข้าถึงฌานมีอารมณ์สบายแล้วประเดี๋ยวหนึ่งอาศัยที่ความเข็มแข็งยังน้อย ไม่สามารถทรงตัวได้ ก็พลัดตกลงมา"
         ท่านบอกว่า "ก่อนภาวนาให้หายใจยาวๆ แรงๆ สักสองสามครั้งหรือหลายครั้งก็ดี หายใจแรงยาวๆ ก่อน แล้วจึงภาวนา ระบายลมหยาบทิ้งไป เหลือแต่ลมละเอียดต่อไปอาการหวิวหรือเสียวจะไม่มีอีก"  ถ้าทำครั้งเดียวไม่หายก็ทำเรื่อยๆ ไป เมื่อทำตามท่านก็หายจากอาการเสียว ใครมีอาการอย่างนี้ลองทำดูแล้วกัน หายหรือไม่หายก็สุดแล้วแต่เปอร์เซ็นต์ของคน คนเปอร์เซ็นต์มากบอกครั้งเดียวก็เข้าใจและทำได้แต่ท่านที่มีเปอร์เซ็นต์พิเศษไม่ทราบผลเหมือนกัน (ตามใจเถอะ)
         เป็นอันว่าเรื่องสมาธิหมดเรื่องกันเสียที เรื่องปฏิภาคนิมิตก็ของดไม่อธิบายไม่รู้จะอธิบายไปทำไม เพราะพูดถึงฌานแล้วก็หมดเรื่องกัน อัปปนาสมาธิเป็นสมาธิขั้นฌานก็คืออารมณ์ฌานนั่นเอง ปฏิภาคนิมิตเป็นนิมิตของฌานมีรูปสวยเหมือนดาวประกายพรึกรู้เท่านี้ก็แล้วกัน
ความมุ่งหมายในการเจริญสมาธิ
         การที่เจริญสมาธิมีความมุ่งหมายดังนี้คือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระพุทธประสงค์เพื่อให้พ้นจากความทุกข์ มีการเกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดียรัจฉานเป็นต้น ถ้าจะเกิด ก็ต้องการเกิดเป็นมนุษย์ชั้นดี มีรูปสวย เสียงไพเราะ มีโรคน้อย มีอายุยืนยาวนานถึงอายุขัยมีทรัพย์สมบัติมาก มีความสุขเพราะทรัพย์สิน และทรัพย์สินไม่ถูกทำลายเพราะโจร ไฟ น้ำ ลม มีคนในปกครองดีไม่ฝ่าฝืนคำสั่ง มีเสียงไพเราะผู้ที่ฟังเสียงไม่อิ่มไม่เบื่อในการฟัง พูดเป็นเงินเป็นทอง (รวยเพราะเสียง) ไม่มีโรคประสาท หรือโรคบ้ารบกวน มีหวังพระนิพพานเป็นที่ไปแน่นอน
         หรือมิฉะนั้นเมื่อยังไปนิพพานไม่ได้ ไปเกิดเป็นพรหมหรือเทวดาก่อนแล้วต่อไปนิพพาน แต่ความประสงค์ของพระพุทธองค์มีพระพุทธประสงค์ให้ไปพระนิพพานโดยตรง
เกิดดีไม่มีอบายภูมิ
         เมื่อยังต้องเกิดก็เกิดดีไม่มีการไปอบายภูมิ ท่านให้ปฏิบัติดังนี้ เราเป็นนักสมาธิ คือมีอารมณ์มั่นคง ถ้ามุ่งแต่สมาธิธรรมดาที่นั่งหลับตาปฏิบัติ ความดีไม่ทรงตัวได้นาน ต่อไปอาจจะสลายตัวได้ มีมากแล้วที่ทำได้แล้วก็เสื่อม และก็เสื่อมประเภทเอาตัวไม่รอด คือสมาธิหายไปเลย ในปัจจุบันนี้ที่ได้แล้วเสื่อมก็มีมาก เพื่อเป็นการป้องกันการเสื่อมและเป็นผู้มีหวังในการเกิดที่ดีแน่นอน ท่านให้ทำดังนี้
ท่านให้ทำจิตให้ทรงตัวในอารมณ์ต่อไปนี้คือ
        ๑. คิดว่าชีวิตนี้ต้องตายแน่แต่เราไม่ทราบวันตาย ให้คิดตามที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า เธอทั้งหลายจงอย่าคิดว่าวันตายจะเข้ามาถึงเราในวันพรุ่งนี้ ให้คิดว่าอาจจะตายวันนี้ก็ได้  เมื่อคิดถึงความตายแล้วไม่ใช่ทำใจห่อเหี่ยว คิดเตรียมตัวว่าเราตายเราจะไปไหนจงตัดสินใจว่าเราต้องการนิพพาน ถ้าไปนิพพานไม่ได้ขอไปพักที่พรหมหรือสวรรค์ ถ้าต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์จะต้องไม่ลงอบายภูมิ แล้วพยายามรักษากำลังใจให้ทรงตัวในความดีที่เป็นที่พึ่งเพื่อให้เราเข้าถึงได้แน่นอนตามที่เราต้องการ คือ
         ๒. ยอมรับนับถือพระพุทธเจ้าด้วยความเคารพ โดยปฏิบัติใน พุทธานุสสติ ตามที่แนะนำมาแล้วอย่าให้ขาด
         ๓. เคารพในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า โดยใจนึกถึงความตายอย่างไม่ประมาท ทรงอารมณ์ไว้ใน อานาปานุสสติกรรมฐาน และกรรมฐานข้ออื่นๆ ที่ทำได้แล้วเป็นปกติ อย่าให้กรรมฐานนั้นๆ เลือนหายจากใจในยามที่ว่างจากการงานเวลาทำงานใจอยู่ที่งาน เวลาว่างใจอยู่ที่กรรมฐาน"
      ๔. ยอมรับนับถือพระอริยสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าด้วยการปฏิบัติตามพระธรรมของพระพุทธเจ้า ที่พระสงฆ์นำมาแนะนำเลือกปฏิบัติตามที่พอจะทำได้
        ๕. ปฏิบัติและทรงกำลังใจใน ศีลและกรรมบถ ๑๐ อย่างเคร่งครัด ไม่ยอมละเมิดศีลและกรรมบถ ๑๐ อย่างเด็ดขาดเว้นไว้แต่ทำไปเพราะเผลอไม่ตั้งใจสำหรับศีลควบกรรมบถ ๑๐ ท่านให้ปฏิบัติดังนี้
         อันดับแรก จงมีความเข้าใจว่าการปฏิบัติคือการใช้อารมณ์ให้เป็นสมาธิหมายถึงว่าจำได้เสมอไม่ลืมว่า ศีล และ กรรมบถ ๑๐ มีอะไรบ้าง เมื่อจำได้แล้วก็พยายามเว้นไม่ละเมิดอย่างเด็ดขาด ใหม่ๆ อาจจะมีการพลั้งเผลอละเมิดไปบ้างเป็นของธรรมดา เมื่อชินคือชำนาญที่เรียกว่า จิตเป็นฌาน คือปฏิบัติระวังจนชิน จนกระทั่งไม่ต้องระวังก็ไม่ละเมิด อย่างนี้ท่านเรียกว่าเป็นฌานในศีล และ กรรมบถทั้ง ๑๐ ประการ ผลที่ทำได้ก็มีผลในขั้นต้นก็คือไปเกิดเป็นเทวดาหรือพรหม หรือมาเกิดมาเป็นมนุษย์ชั้นดีตามที่กล่าวมาแล้ว
ผลของศีลและกรรมบถ๑๐ มีดังนี้
         ๑. เว้นจากการฆ่าสัตว์และทรมานสัตว์ ให้ได้รับความลำบากตลอดชีวิตเว้นอย่างนี้ได้ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ใหม่จะเป็นคนมีรูปสวยมาก ไม่มีโรคเบียดเบียนอายุยืนยาวครบอายุขัยตายใหม่ไม่ต้องลงอบายภูมิต่อไป จนกว่าจะเข้านิพพาน
        ๒. เว้นการถือเอาทรัพย์สินที่คนอื่นไม่เต็มใจให้ หรือขโมยของเขาตลอดชีวิตและมีการให้ทานตามปกติ เว้นตามนี้ได้และให้ทานเสมอตามแต่จะให้ได้ ถ้ายังไม่มีพอจะให้ได้ก็คิดว่า ถ้าเรามีทรัพย์เราจะให้เพื่อเป็นการสงเคราะห์ อย่างนี้ถ้าตายไปจากชาตินี้ก็ไปเกิดเป็นเทวดาหรือพรหม หมดบุญจากเทวดาหรือพรหมมาเกิดเป็นคน จะเป็นคน ร่ำรวยมาก มีความ
ปรารถนาในทรัพย์สมหวังทุกอย่าง ทรัพย์ไม่ถูกทำลาย เพราะโจร ไฟ น้ำ ลม และจะรวยตลอดชาติ
         ๓. เว้นจาการทำชู้ ลูกเขา ผัวเขา เมียเขา ตลอดชีวิต เว้นอย่างนี้ได้ตายจากความเป็นคน ไปเกิดเป็นเทวดาหรือพรหมแล้วลงมาเกิดเป็นคนจะมีคนในปกครองดีทุกคนจะไม่หนักใจเพราะคนในปกครองเลย
         ๔. เว้นจาการพูดปด
         ๕. เว้นจาการพูดหยาบ
         ๖. เว้นจากการพูดยุให้ชาวบ้านแตกร้าวกัน เว้นจาการพูดวาจาที่ไม่เป็นประโยชน์ตลอดชีวิต เว้นอย่างนี้ได้ หลังจากเป็นเทวดาหรือพรหมแล้ว มาเกิดเป็นคน จะเป็นคนที่มีวาจาเป็นที่รักของผู้รับฟัง ไม่มีใครอิ่มหรือเบื่อในการฟัง ถ้าพูดตามภาษาชาวบ้านท่านเรียกว่ามีวาจาเป็นมหาเสน่ห์ หรือมีเสียงเป็นทิพย์ คนชอบฟังเสียงที่พูด การงานทุกอย่างจะสำเร็จเพราะเสียง
ทรัพย์สินต่างๆ จะเกิดขึ้นเพราะเสียง ถ้าพูดโดยย่อก็ต้องพูดว่ารวยเพราะเสียง หรือเสียงมหา-เศรษฐีนั่นเอง
         ๗. เว้นจากการดื่มน้ำเมาที่ทำให้เสียสติทุกประการตลอดชีวิต เว้นได้ตามนี้ เมื่อเกิดเป็นคนใหม่จะไม่มีโรคปวดศีรษะ ไม่เป็นโรคประสาท ไม่มีโรคบ้ามารบกวน เป็นคนมีมันสมองดีปลอดโปร่งในอารมณ์ (เป็นคนฉลาดมาก)
         ๘. เว้นจากการคิดอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่นเอามาเป็นของตน ข้อนี้ไม่ได้ขโมยและไม่คิดว่าจะขโมยด้วย เป็นการคุมอารมณ์ใจ
         ๙. ไม่คิดประทุษร้ายจองเวรจองกรรมจองล้างจองผลาญใคร มีจิตเมตตาคือความรักในคนและสัตว์เหมือนรักตัวเอง
        ๑๐.ยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า และปฏิบัติตามที่พระองค์ทรงสั่งสอนทุกประการไม่สงสัยในคำสอนและผลของการที่ปฏิบัติตามคำสอนแล้วมีผลความสุขปรากฏขึ้น ผลของการเว้นในข้อ ๘, ๙, ๑๐ นี้ เมื่อเกิดใหม่จะเป็นคนมีอารมณ์สงบสุข ไม่มีความทุกข์ทางใจอย่างใดอย่างหนึ่งเลยและเป็นผลที่ทำให้เข้าถึงพระนิพพานง่ายที่สุข เมื่อท่านเว้นตามนี้ได้ การเว้นควรเว้นแบบนักเจริญสมาธิ คือมีอารมณ์รู้เพื่อเว้นตลอดเวลา เมื่อเว้นจนชิน จนไม่ต้องระวังก็ไม่ละเมิด อย่างนี้ถือว่าท่านมีฌานในศีลและกรรมบถ ๑๐ ประการ ท่านเรียกว่า เป็นผู้ทรงฌานในสีลานุสสติกรรมฐาน
อานิสงส์ที่ได้แน่นอน 
         อานิสงส์ คือผลของการปฏิบัติได้ครบถ้วนและทรงอารมณ์ คือไม่ละเมิดต่อไป ท่านบอกว่าเมื่อตายจากความเป็นคนชาตินี้ ไม่มีคำว่าตกนรก เป็นต้น ต่อไปอีกในระยะแรกก่อนปฏิบัติท่านจะมีบาปหนักหรือมากขนาดใดก็ตาม บาปนั้นหมดโอกาสลงโทษท่านตลอดไปทุกชาติจนกว่าท่านจะเข้า พระนิพพาน
เมื่อไรจะไปนิพพาน
         ในเมื่อท่านปฏิบัติได้ตามนี้ครบถ้วนแล้ว จะไปนิพพานเมื่อไรท่านตรัสไว้ดังนี้คือ
         ๑. ถ้ามีอารมณ์เข้มข้น คือบารมีเข้มแข็ง บารมี คือ กำลังใจ มีกำลังมั่นคงปฏิบัติแบบเอาจริงไม่เลิกถอนหรือย่อหย่อนแต่ไม่ทำจนเครียดเอาแค่นึกได้เต็มใจทำจริงอยู่ในเกณฑ์อารมณ์เป็นสุข อย่างนี้ท่านบอกว่าตายจากความเป็นคน ไปเกิดเป็นเทวดาหรือพรหมลงมาเกิดเป็นมนุษย์ชาติเดียว ในชาตินั้นเองเป็นพระอรหันต์ไปนิพพานในชาตินั้น
        ๒. ถ้ามีบารมีคือกำลังใจปานกลาง ทำไปไม่ละแต่การทำนั้นอ่อนบ้างเข้มแข็งบ้าง อย่างนี้เกิดเป็นมนุษย์อีกสามชาติไปนิพพาน
       ๓. ประเภทกำลังใจอ่อนแอ ทำได้ครบจริงแต่ระยะการกระตือรือล้นมีน้อยปล่อยประเภทช่างเถอะตามเดิม ฉันรักษาได้ไม่ขาดก็แล้วกัน อย่างนี้ท่านว่า มาเกิดเป็นมนุษย์อีกเจ็ดชาติไปนิพพาน
         รวมความแล้ว ประเภทแข็งเปรี๊ยะไปนิพพานเร็วประเภทแข็งบ้างอ่อนบ้างไปนิพพานช้านิดหนึ่ง ประเภทอ่อนไม่ค่อยจะแข็ง แต่ไม่ยอมทิ้งความดีที่ปฏิบัติได้ เรียกตามภาษาชาวบ้านว่า ถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง อย่างนี้ถึงช้านิดหนึ่ง แต่ก็ต้องถือว่าเป็นผู้มีโชคดีเหมือนกันหมดคืองดโทษบาปที่ทำมาแล้วทั้งหมดมีกำลังเข้าพระนิพพานแน่นอนถ้ายังไปนิพพานไม่ได้แต่เมื่อมาเกิดเป็นคนก็เป็นคนพิเศษ มีรูปสวยรวยทรัพย์เป็นต้นตายจากคนก็เป็น เทวดา นางฟ้า หรือพรหม ต้องถือว่าโชคดีมากเป็นอันว่า กรรมฐาน-ปฏิบัติด้วยตนเองแบบง่าย ๆ แต่ไปถึงนิพพานได้ก็ยุติกันเพียงเท่านี้
เริ่มวิธีฝึกเจริญสมาธิ
         อันดับแรก ขอให้ท่านที่จะเจริญสมาธิแต่งกายให้เรียบร้อยตามที่พึงจะมี ใช้เครื่องแต่งกายธรรมดาที่มีอยู่แล้ว แต่จัดให้เรียบร้อยเท่านั้นเอง
ขั้นตอนการฝึก มโนมยิทธิ แบบครึ่งกำลัง
อานิสงค์ในการฝึก  "มโนมยิทธิ"
1.ดอกไม้ 3 สี / ธูป 3 ดอก / เทียนหนัก 1 บาท   2 เล่ม / ได้อานิสงค์ เบื้องต้น คือ “ อามิสบูชา “ แก่พระพุทธเจ้า
2.บริจากเงิน 1 สลึง หรือ 1 บาท เป็นค่าบูชาครู ( คือ พระรัตนตรัย ) ได้อานิสงค์ ใน "จาคานุสสติกรรมฐาน"
3.สมาทานพระกรรมฐาน ก่อนทุกครั้ง ได้อานิสงค์ ใน “ พุทธานุสติ ธรรมมานุสสติ สังฆานุสติ"และ "อิธิษฐานบารมี"
4.เมื่อเริ่มนั่งสมาธิ จิตทรงตัวในดี เบื้องต้น ว่างจากกิเลสชั่วขณะ วันหนึ่งชั่วขณะจิตหนึ่ง ได้ชื่อว่า  "เป็นผู้ไม่ว่างจากฌาน"  ได้อานิสงค์ หากตายตอนนั้นได้อยู่ที่ สวรรค์ก่อน
5.เมื่อกำหนดรู้ลมหายใจ เข้า / ออก ได้อานิสงค์ "อานาปานุสติกรรมฐาน"
6.เมื่อบริกรรมภาวนา "นะ มะ / พะ ทะ"รวมกำลังของกสิณ หากฝึกได้เชี่ยวชาญแล้ว จะทรงอภิญญา 5
       นะ ในที่นี้ท่านหมายถึง ธาตุดิน ได้อานิสงค์ ของ "กสิณดิน"
       มะ ในที่นี้ท่านหมายถึง ธาตุน้ำ ได้อานิสงค์ ของ "กสิณน้ำ"
       พะ ในที่นี้ท่านหมายถึง ธาตุลม ได้อานิสงค์ ของ "กสิณลม"
       ทะ   ในที่นี้ท่านหมายถึง ธาตุไฟ ได้อานิสงค์ ของ "กสิณไฟ''
7.เมื่อในขณะ บริกรรม ภาวนา ตามลมหายใจ เข้า /ออก ให้กำหนดพุทธนิมิต ให้จิตป็นผู้รู้ จิตเป็นผู้เห็น ได้อานิสงค์"พุทธานุสสติ"ในบางกรณีระลำถึงพระอริยสงฆ์ ได้อานิสงค์"สังฆานุสสติ"
8.เมื่อขณะจิตทรงอารมณ์ฌาน ที่ 1 2 3 4 ได้อานิสงค์ ขององค์ฌานต่างตามลำดับ เบื้องต้นจะเกิดความคล่องตัว ในวิปัสสนาญาณ และได้อานิสงค์ ในการเกิดในพรหมโลก ตั้งแต่ชั้นที่ 1 ถึง 12 ตามแต่กำลังใจในการเข้าฌานได้
9.เมื่อมาตั้งกำลังใจในการพิจารณา ใน "อริยะสัจจะ" ข้อที่ 1 คือ"ทุกข์"ในเบื้องต้นอันได้แก่
  ( ๑ ). ความเกิดเป็นทุกข์
  ( ๒ ). ความป่วยไข้ไม่สบายเป็นทุกข์
  ( ๓ ). ความพลัดพรากของรักของชอบเป็นทุกข์
  ( ๔).ความแก่ที่ย่างก้าวเข้ามาเป็นทุกข์
  ( ๕ ). ความตายที่ก้าวเข้ามาเป็นทุกข์ /……ได้อานิสงค์ ใน"ธรรมมานุสสติกรรมฐาน"เนื่องด้วย" วิปัสสนาญาณ 9"
10.เมื่อตั้งใจอธิษฐานว่า ขึ้นชื่อว่าการเกิดใน พรหมโลก เทวะโลก มนุษยโลก อบายภูมิ4 เราไม่ต้องการที่จะไปเกิดอีก ภายหลังจากตายไปในชาตินี้ เราขอมุ่งตรงอย่างเดียว คือพระนิพพานได้อานิสงค์"ขณิกะนิพพาน"
ในขณะนั้นจิตจะว่างจากกิเลสชั่วขณะ เข้าสู่กระแสแห่ง อริยะเจ้าเบื้องต้น ( พระโสดาบัน ต้นๆ ) ชั่วขณะ
11.จึงเกิดเป็นทิพย์จักขุญาณ หรือเป็นผลของอภิญญานั้นเอง ได้อานิสงค์ ให้ถอด"อทิสมานกาย" ได้เพราะจิตว่างจากกิเลส คือเครื่องเศร้าหมองร้อยใจ
12.เมื่อได้พบพระพุทธเจ้า ที่นำอทิสมานกายไปสู่โลกแห่งความเป็นทิพย์ ได้อานิสงค์ พุทธานุสติ เมื่อได้พบพระอริยะสงฆ์ ที่นำอทิสมานกายไปสู่โลกแห่งความเป็นทิพย์ ได้อานิสงค์ สังฆานุสติ เมื่อได้พบ เทวดา หรือ พรหม ที่นำอทิสมานกายไปสู่โลกแห่งความเป็นทิพย์ ได้อานิสงค์ เทวตานุสติ
13.เมื่อได้บารมีมาถึงลำดับที่12 นี้แล้วความดีเดิม ที่เคยฝึกได้"อภิญญา 5" จะรวมตัวกันจนเป็นผลในชาติปัจจุบัน เป็นอภิญญา เล็กๆน้อยๆ คือ ทิพยจักขุญาณ และ "ฤทธิ์ทางใจ"นั้นเอง  ได้อานิสงค์ สามารถที่จะท่องเที่ยว ใน อบายภูมิ 4 , มนุษยโลก , เทวะโลก , พรหมโลก , และ เมืองพระนิพพาน ในที่สุด
14.เมื่อได้ "ฤทธิ์ทางใจ" แล้ว จะได้อานิสงค์ เป็นความรู้ตามมาอีก 8 อย่าง หรือ ญาณ 8 นั้นเอง วึ่งท่านจะได้ศึกษาในเนื้อหาต่อไป
15.เมื่อรู้ความไม่เที่ยงใน ภพทั้ง 4 แล้ว และรู้ความเที่ยงในพระนิพพาน จิตก็จะเบื่อหน่ายในการเกิด ในภบทั้ง 4 และตั้งกำลังใจไว้ที่พระนิพพาน เพียง สถานที่เดียวด้วยเหตุทั้งหลายเหล่านี้เองขอให้ข้าพระพุทธเจ้า และหมู่คณะจงได้เข้าถึงซึ่งพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้เถิด
การตั้งกำลังใจในขณะฝึก  ฤทธิ์ทางใจ                                     
      การตั้งกำลังใจในขณะฝึก สำหรับ ท่านที่ฝึกใหม่ หรือ ท่านที่เคยฝึกแล้วแต่ยังไม่ได้ ฤทธิ์ทางใจ ควรที่จะเตรียมกำลังใจ ไว้ก่อนพอสมควร ดังนี้
      ๑.เป็นผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา เป็นเบื้องต้น
      ๒.เป็นผู้ให้ทานตามสมควร หรือ ค่าครู
      ๓. เป็นผู้ที่รักษาศีลดี เป็นปรกติ
      ๔.มีจิตต์ตั้งมั่นในสมาธิ ตามแต่กำลังใจของตน ท่านหมายเอาถึงจิตต์เป็นสุข เป็นเกณฑ์ หรือทรงฌาน ในระดับต่าง ( ได้แก่ คณิกสมาธิ อุปจาระสมาธิ ฌานที่ ๑ / ฌานที่ ๒ / ฌานที่ ๓ / ฌานที่ ๔ ) หรือ ( อรูปฌาน ๑ / อรูปฌาน ๒ / อรูปฌาน๓ / อรูปฌาน ๔ ) ควรที่จะปฏิบัติสมาธิให้มีความต่อเนื่อง
       ในกรณีที่ต้องการฝึก ฤทธิ์ทางใจ  แบบครึ่งกำลังควรที่จะตั้งกำลังใจดังนี้
     ๔.๑. กำหนดรู้ลมหายใจเข้า หายใจออก ตามความเป็นจริง เช่น จังหวะในการหายใจเข้าสั้นหรือยาว ก็มีสติรู้และรักษาระดับจังหวะในการหายใจนั้น
     ๔.๒. กำหนดรู้ในคำภาวนา ให้ควบคู่กับลมหายใจ คือ เมื่อหายใจเข้า นึกรู้อยู่ในใจว่า  นะ มะ กำหนดรู้ในคำภาวนา ให้ควบคู่กับลมหายใจ คือ เมื่อหายใจออก นึกรู้อยู่ในใจว่า พะ ทะ
      ๔.๓. กำหนดรู้ในภาพนิมิต ของ พระพุทธเจ้า  หรือ พระอริยะสงฆ์ ในอิริยาบทต่างๆ หรือ ตามความพอใจ หรือ จินตนาการความจำ ( สัญญา คือ การจำได้หมายรู้ ในนิมิต )ในกรณี ที่จำภาพนิมิต ไม่ได้จริงๆ ก็ไม่ต้องฝืนอารมณ์จิต หรือบังคับจิตต์ให้มีความรู้สึกว่าเห็น เพราะจะทำให้เกิดความหนักใจ
      ๔.๔. อิริยาบท ๔ ให้เลือกใช้อิริยาบทอย่างใดอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามความพอใจ ในอิริยาบทนั้นๆ
      ๔.๕.ระยะเวลาในการปฏิบัติสมาธิ หมายเอาอารมณ์จิตต์ที่เป็นสุข เป็นเกณฑ์ เช่น ๕ นาที หรือ ๑๐ นาที หรือ ๓๐ นาที เป็นต้น
 
ลำดับขั้นตอนการฝึก "ฤทธิ์ทางใจ"
แบบครึ่งกำลังมีขั้นตอนดังนี้
1. สมาทานพระกรรมฐาน ก่อน
2. นั่งในท่าที่สบาย ๆ มือวางแบบสบาย ๆ (ไม่จำเป็นต้องนั่งขัดสมาธิ)
3. ก่อนภาวนาหายใจเข้า และ ออกให้ลึกสุด ๆ 3 ครั้ง
4.ผ่อนคลายลมหายใจให้อยู่ในระดับปกติ แล้วนำ   สติ-สัมปชัญญะ ไปรับรู้ ลมหายใจเข้าและออก
5.นำสติ-สัมปชัญญะไปรับรู้"คำภาวนา"เมื่อหายใจเข้าให้ท่องในใจว่า '' นะ มะ'' เวลาหายใจออกว่า"พะ ทะ"จะท่องเป็นคำออกเสียงก็ได้ นะครับ แต่ว่าอาจทำให้เกิดการสับสน จนในที่สุดกว่าจะเข้าถึงฌานได้ จะเสียเวลามากไปได้
6.ระหว่างที่ภาวนา ให้แยก สติ-สัมปชัญญะ ความรู้สึกออกไปส่วนหนึ่ง ไปทำการระลึกถึง พุทธานุสสติ โดยให้ระลึกถึงพระพุทธรูปองค์ใดก็ได้ที่ท่านชอบที่สุด ( ตรงนี้อาจจะลำบากสักนิด เพราะบางท่านที่ ฌาน ยังไม่ทรงตัวอาจทำให้ รูปพระพุทธรูปไม่ชัดเจน ไม่เป็นไร ได้แค่ไหนก็แค่นั้นก่อน ไม่ต้องเพ่งจน ทำให้ปวดหัวหรือปวดตานะครับ หรือบางท่านอาจจะไม่ได้ชอบองค์ไหนเป็นพิเศษก็ จะทำให้ระลึกถึง ยากหน่อย ตรงนี้ขอแนะนำให้ท่านลองใช้ จินตนาการก่อนสักนิด ให้พยายามนึกถึงว่าให้เป็น รูปร่างของ พระพุทธรูปก่อน แต่ยังไม่ต้องคิดถึงรายละเอียดขององค์พระท่านนั้นครับ รับรู้แค่นี้ก่อนก็พอ แล้วหลัง ๆ ไปความชัดเจนจะมีมากขึ้นไปเองครับ ถ้ารีบเพ่งแล้วจะปวดหัวปวดตาได้ครับ เทียบการระลึกถึง พระพุทธรูปได้กับ ปฏิภาคนิมิต ( ในกสิณ ) จนเมื่อจิตทรงตัวระดับหนึ่งแล้ว ภาพพระพุทธรูปจะชัดมากขึ้นจัดเป็น อุคนิมิต ( ในกสิณ ) และจะเริ่มทรงตัวใน ฌาน ระดับต่าง ๆ เริ่มจาก 1 ถึง 4 ตามลำดับ และให้ตัดอารมณ์ฟุ้งซ่านใน ระดับต้น ๆ ออกก่อน
7.ภาวนาใช้เวลาพอสมควร ท่านผู้เป็นต้นตำรับท่านบอกว่า กะแค่พอ จิต เป็นสุขทรงอยู่ใน เอกคตารมณ์ เท่านั้น อาจแค่ 1-10 วินาที สำหรับผู้คล่อง ตัวในการทรงฌานในระดับต่าง ๆ ( 1,2,3,4) อย่างสูงหรือใช้เวลา 10- 30 นาที สำหรับผู้ที่ไม่คล่องใน การทรงฌานในระดับต่างๆ(1,2,3,4) แบบปกติ
8.เมื่อสมาธิทรงตัวให้มีความสุขอยู่ในฌานนั้น ๆ ได้แล้วในระยะเวลาที่บอกไปในข้อ 7 แล้วให้ลดอารมณ์จิตลงมา ที่อุปจารสมาธิ เพื่อมาวิเคราะห์วิปัสนาญาณที่ว่า '' ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความพรัดพรากจากของที่รักที่ชอบก็เป็นทุกข์ '' โดยให้พิจารณาด้วยความนอบน้อมในธรรมนั้นจริง ๆ จะมีผลกับความเป็นทิพย์  โดยจะมีอยู่ 3 ระดับคือ 
8.1. นอบน้อมในระดับต้น ๆ     = ภาพนิมิตในมโนฯขั้นตอนจริงจะเหมือนจิตเราตอบจิตของเราเอง
8.2. นอบน้อมในระดับกลาง ๆ  = ภาพนิมิตในมโนฯขั้นตอนจริงจะเหมือนดูภาพสลัว ๆ จากหนังตะลุง
8.3.นอบน้อมในระดับเต็มที่      = ภาพนิมิตในมโนฯขั้นตอนจริงจะเหมือนดูภาพปกติตอนกลางวัน"เหมือนกลางวันของเรานั้นเปรียบเทียบได้กับแสงหิ่งห้อย"
9.จากนั้นนอบน้อมจิต อธิษฐานตัดอวิชชาในขอบเขตที่ว่า '' ขึ้นชื่อว่า พรหมโลก เทวะโลก มนุษย์โลก และอบายภูมิ 4 เราไม่ต้องการอีก เราต้องการอย่างเดียวว่าเมื่อสังขารสลายจากโลกนี้ไปแล้ว ขอตามรอย พระบาทของพระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย เพื่อไป อยู่ที่เมืองนิพพาน ตรงนี้ขอให้ตัดสินใจ อย่าได้ลังเล ถ้าลังเลแล้วจะส่งผลให้เกิดเป็นผลให้ ภาพนิมิตในขั้นตอนการฝึกต่อไปจะมีความ มัวมากขึ้น ( ถือว่ายังมี สักกายทิฏฐิ อยู่ )
10.ข้อนี้ขอแนะนำเสริมเทคนิคจากประสพการณ์ของว่า ( จากข้อ 9) ให้นอบน้อมใจเหมือนว่าเราได้ พนมมือไหว้พระเสมือนเราท่านได้อธิษฐานจิต ต่อหน้าพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า ในระหว่างนี้อารมณ์จิตจะฟู ( ละจากกิเลสชั่วขณะ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เกิด ปิติธรรม ) เนื่องจากปีติแห่งธรรมสูงมาก จิตจะมีอาการเบาสบาย จิตจะชุ่มชื่นในธรรมมาก แล้วขอให้ระลึกด้วยกำลัง ใจของเราท่านว่าได้นอบน้อม อทิสมานกายของเรานั้น ว่าได้กราบเฉพาะเบื้องพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า เป็นจำนวน 3 ครั้งด้วยกัน วาระแรกกราบพระพุทธเจ้า วาระที่สองกราบพระธรรม และวาระที่สามกราบพระสงฆ์
11.เมื่อนอบน้อมกราบแล้ว จิตก็จะมีความชุ่มชื่นเพราะปีติแห่งธรรมก็ยังคงมีอยู่ (อาจจะมากกว่าข้อ 10 ก็ได้สำหรับบางท่าน) ให้ค่อย ๆ กำหนดเสมือนว่า อทิสมานกายของเราท่านเงยหน้าขึ้น หากจิตที่ได้ทรงฌาน มาดีแล้วได้พอสมควรก็จะมีความรู้สึกคล้ายอย่างกับตาเห็นว่ามี พระพุทธเจ้า ( กายเนื้อ , กายพระพุทธรูป หรือ จะเป็นกายพระพุทธรูปแบบปูนปั้น เป็นต้น) หรือ พระอริยะเจ้าที่นับถือ หรือ พรหม หรือ เทวดา ที่ท่านนับถือ ปรากฏอยู่ตรงหน้าท่าน ตรงนี้เรียกได้ว่าเริ่มจะเห็นกระแสแห่ง โคตระภูญาณ ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่าง โลกียะธรรม กับ โลกุตระธรรม เพราะ มีกำลังจิตและวิปัสนาญาณ พอสมควร ท่านจึงจะสามารถเห็นองค์พระพุทธเจ้าได้ ( เป็นผลจากข้อ 9 ที่บอกนั่นแหละ ว่าถ้าจิตไม่นอบน้อมตัดอวิชชา ด้วยความจริงใจแล้ว ผลที่ได้ในขั้นนี้จะมีความมัวมากครับ )ซึ่งขั้นตอนนี้ เรียกที่ว่า ''ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ''หากเป็นในสมัยพุทธกาล ก็จะมีปรากฏบ่อยๆ ดังกรณีพระวักลิของ พระอริยเจ้านามว่า พระวักลิ (อ่านว่า วัก-กะ-ลิ) เพราะเหตุแห่งท่านติดในพระรูปพระโฉมของพระพุทธเจ้าเลยทำให้ท่านไม่สามารถ ตัดกิเลสให้เป็นพระอรหันต์ได้ พระพุทธองค์ทรงทราบดี จึงทรงแกล้งทำเป็นตรัสไล่พระวักลิออกไปเสีย ท่านพระวักลิน้อยใจ เลยจะไปโดดหน้าผาตาย ระหว่างที่จะโดดนั้นจิตของท่านมีความน้อยใจที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไล่เลยเบื่อหน่ายในสภาพของคน ตอนนั้นพระพุทธองค์ ทรงเปล่งฉัพพรรณรังสีแล้วเป็นพระพุทธนิมิตไปเฉพาะหน้าพระวักลิ เสร็จแล้วทรงแสดงธรรมให้พระวักลิเห็นถึงความไม่เที่ยง ของโลกนี้ ซึ่งรวมไปถึงพระรูปพระโฉมของพระพุทธเจ้าท่านด้วย หลังจากได้ฟังธรรมแล้วพระวักลิก็สำเร็จอรหัตผลในที่หน้าผา แห่งนั้นหละ.......... นี่ก็คือตัวอย่างของการที่บอกว่า ''ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ''ในสมัยพุทธกาล
12.เมื่อเห็นพระตถาคตแล้วในขั้นตอนนี้ควรตัดความฟุ้งซ่าน (อย่างกลาง ๆ เช่นว่า เอ...นี่นิมิตหลอกเราหรือเปล่า เป็นต้น) ออกเสียให้หมด  เพราะในขณะที่กำลังใจของท่านในขณะนั้น จะมีคุณธรรมของ ทาน,ศีล,ภาวนา ซึ่งส่งผลให้เกิด ปัญญา ได้ครบถ้วน อยู่แล้วบริบูรณ์ ท่านย่อมเห็นพระพุทธเจ้าไม่ผิดเพี้ยน เพียงแต่ให้ตัดสัญญาความจำของลักษณะทางกายของพระองค์ท่านออกเสีย"" ให้คิดแบบคนฉลาดน้อย ๆ ว่า "" กายของพระองค์ท่านจะเป็นแบบใดก็ไม่สนใจ เราถือว่าเป็นพระพุทธเจ้าก็แล้วกัน
13.เมื่อหมดความสงสัยแล้ว ก็กราบพระพุทธองค์ขอให้ได้ทรงโปรด นำอทิสมานกายของเราท่านไปยังพระจุฬามณีย์เจดีย์สถาน ในเขตของสวรรค์ชั้น ดาวดึงส์ โดยอาจแบ่งได้เป็น 3 เทคนิค   ในการแก้ปัญหาที่บางท่านพบเจอคือ มักจะบอกกันว่าจิตไม่เคลื่อนออกจากกายเนื้อให้แก้ไขดังนี้
13.1.. ยึดมั่นในกายเนื้อนี้มากไป  เลยทำให้สงสัยว่ากายทิพย์จะออกไปได้อย่างไร ( ให้แก้ไขโดยการพิจารณาทบทวนข้อ และข้อ 9 ) อีกครั้งหรือจนกว่าจะหายยึดมั่น
13.2.. ยึดมั่นถือมั่นในโลกธาตุ   เกี่ยวกับพระรูปพระโฉมของพระพุทธองค์ว่า ทำไมเป็นแบบนี้ ทำไมไม่เป็นแบบนั้น เป็นต้น วิธีแก้ไขคือให้ใช้"กฎพระไตรลักษณ์ "เข้ามาพิจารณาร่วมว่า ในขอบเขตที่ว่า ทุกสิ่งเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ไม่มีสิ่งใดที่เที่ยงแท้แน่นอนตลอดไป แม้แต่พระรูปพระโฉมของพระพุทธองค์ก็ตาม
13.3..ให้อธิฐานเพิ่มเติมว่า กุศลใดที่เคยบำเพ็ญมา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนี้ ถ้าหากอธิฐานไม่ตรงพระนิพพาน   ข้าพระพุทธเจ้าขอเปลี่ยนอธิฐาน"เพื่อขอพระนิพพาน ในชาตินี้"
13.4..ให้อธิฐาน ขอขมาลาโทษต่อพระพุทธเจ้าอีกครั้งหนึ่ง ขั้นตอนนี้จะสังเกตุว่าบางท่าน อาจจะมีพระพุทธนิมิตไม่ครบสมบูรณ์ทั้งองค์ เช่น อาจจะ เศียรขาดบ้าง ขาขาดบ้าง แขนขาดบ้าง ทองถูกลอกไปบ้าง เป็นต้น ถ้าเกิดมีการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น ต้องอธิฐานขอชำระหนี้สงฆ์ด้วยนะครับ ( ให้ดูบทขอขมา )
13.5 ให้ใช้พระพุทธนิมิตนั้นแหละมาเป็น กสิณ โดยที่เราควรจะขอบารมี ท่านให้ทำภาพนิมิตขึ้นมา
(โดยปกติของการฝึก กสิณ นั้นเราท่านต้อง กำหนดรู้ภาพนิมิตเองโดยที่ต้องใช้อำนาจจิตของตนเองบังคับองค์กสิณให้ได้ตามใจปรารถนา) เช่น ขอพระบารมีของพระองค์ท่านได้โปรดสงเคราะห์ โปรดขยายพระวรกายของพระองค์ท่านให้ใหญ่ขึ้น....หรือเล็กลงก็ได้ เสร็จแล้วเมื่อท่านสงเคราะห์ตามที่เราขอท่านแล้ว เราก็กราบท่าน หรือจะขอให้พระองค์ท่านสงเคราะห์ให้พระองค์ ขยับพระวรกาย ให้ไกลออกไปหรือร่นใกล้เข้ามา.......เมื่อพระองค์ทรงสงเคราะห์เราแล้วเราก็กราบท่านด้วยนะ จนเมื่อจิตได้ที่แล้วพอใจแล้ว จิตจะมีความคล่องตัวสูงมาก (ต้องอย่าห่วงร่างกายนะครับ) และขอ พระบารมีของพระองค์ท่านให้โปรดนำเราไปยัง พระจุฬามณีเจดีย์สถาน เราก็รวบรวมจิตที่คล่องแล้ว พุ่งอทิสมานกายตามพระองค์ท่านไปเลย แต่เราท่านไม่ควรไปตามลำพังควรจะเกาะชายจีวรของพระองค์ท่าน หรือ เกาะแท่นที่ประทับของท่านไปก็ได้ ระหว่างนี้ถ้ามีความฟุ้งซ่านต้องรีบตัดออกไปทันที                                
14..ในกรณีที่อทิสมานกายเหาะไปได้ช้ามากเกินไป ให้อธิฐานด้วยความนอบน้อมแด่พระพุทธนิมิตว่า พระพุทธเจ้าขอเพิ่มความเร็วเป็น 1 เท่า 2 เท่า ไปจนถึง 10 เท่าตามแต่ใจของแต่ละท่านต้องการ พออธิฐานเสร็จให้ภาวนา นะมะ พะทะ จนกว่าจะถึง
15..เมื่อถึงพระจุฬามณีแล้ว อารมณ์จิตจะรู้สึกว่าหยุด
15.1 บางท่านจะเห็น พระจุฬามณีแจม่ชัด หรือ อาจเห็น พรหม หรือ เทวดา หรือ วิมานของเทวดา ได้ทันที
15.2 หากขึ้นถึงพระจุฬามณีแล้วเกิดความมืดเข้ามาแทนที่ ก็ต้องพิจารณาตาม ข้อ และ( 9) ใหม่อีกครั้งทันที สภาวะธรรมของท่านที่จะเห็นก็ จะสว่างขึ้นและสามารถรู้เรื่องต่าง ๆ ของสวรรค์ได้ และควร ขอพระบารมีเพื่อลองรับสัมผัสว่า อารมณ์จิตของการที่เป็นเทวดา อยู่ในสวรรค์นั้นมีความสุขเช่นใด และลองเทียบกับความสุขของมนุษย์ดู
16..จากนั้นให้พิจารณาข้อ และ 9) อีกครั้ง จึงตามเสด็จพระพุทธเจ้าไปพระนิพพาน คราวนี้ท่านทั้ง หลายก็จะได้รู้กันเสียทีว่า พระนิพพานนั้นสูญหรือไม่สูญ ตามที่พระพุทธเจ้าพระองค์ไม่เคยตรัสว่า นิพพานสูญ จะสูญไปก็แต่กิเลสเท่านั้น เสร็จแล้วขอพระบารมีเพื่อไปชมวิมานของเราที่พระนิพพาน หรือจะขอพระบารมีเพื่อไปที่ไหนก็ได้ตามใจเรา...........
17.. เมื่อฝึกได้แล้วควรรักษาอารมณ์ไว้ให้ดีเพื่อจะได้นำไป ตัดกิเลสตามลำดับต่อไป และก็เตรียมเรียน ท่องเที่ยวในไตรภูมิ และ ญาณ 8 ต่อได้เลย
จบขั้นตอนเบื้องต้นการฝึก “ ฤทธิ์ทางใจ “ แบบครึ่งกำลัง

 ขั้นตอนเบื้องต้นการฝึก ฤทธิ์ทางใจเต็มกำลัง
ลำดับขั้นตอน
1..นำผ้าแดง  หรือกระดาษแข็ง ตัดเป็นรูปสามเหลี่ยม กะขนาดให้สามารถนำมาผู้ปิดหน้าได้
2..เขียนคาถาบนหน้ากากว่า " นะ โม พุท ธา ยะ " หรือจะเป็นภาษาขอมก็ได้ถ้าเขียนเป็น
3..สมาทานพระกรรมฐาน
4..เสร็จแล้วให้ตั้งกำลังใจว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง  ถ้าจะต้องตายเพราะการฝึกนี้ก็ขอยอมตายเป็นอะไรให้รู้ไป ตายเพื่อความดีแบบนี้เรายอมตายได้
5..ให้ผ้าแดงปิดตา เขียน ยันต์พระพุทธเจ้า 5 พระองค์
6..ใช้คาถากำกับในการท่องภาวนาว่า "นะ โม พุท ธา ยะ "หรือ"สัมมาอรหันต์"หรือ"สัมปจิตฉามิ"หรือ "นะมะพะทะ"หรือ"โสตัตตะภิญญา"อย่างใดอย่างหนึ่ง ท่องคาถาอย่างต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ในขณะที่ว่าคาถานั้นก็ให้กำหนดรู้ลมหายใจด้วยเช่นกัน ไม่ต้องท่องออกมาก็ได้เหมือนกับที่อธิบายไปแล้วในการฝึกมโนมยิทธิครึ่งกำลัง เมื่อจิตทรงตัวในเขตของอุปจารสมาธิจะมีอาการของปิติ 5 อย่างเกิดขึ้นเหมือนพระกรรมฐานกองอื่นๆได้แก่
๑) ขนลุกชูชัน  
๒) ตัวไหวโยกโครง
๓) น้ำตาไหลริน
๔) เหมือนกายขยายไปรอบข้าง
๕)เหมือนกายขยายสูงขึ้น
หากมีอาการเช่นนี้เกิดขึ้น ผู้ฝึกไม่ต้องตกใจหรือกังวลใดๆ เพราะเมื่อชินแล้วจะหายไปเอง
7..พอภาวนาไประยะหนึ่งจิตจะเริ่มทรงตัวขึ้นเรื่อยๆ ลมหายใจจะค่อยๆ ละเอียดขึ้นและแผ่วเบาลง ซึ่งจะมีลักษณะไม่สอดคล้องกับคำภาวนา ก็ไม่ต้องสนใจภาวนาไปอย่างเดียวเต็มกำลังกับครึ่งกำลัง โดยที่คำภาวนาในตอนนี้จะมีลักษณะที่ถี่ขึ้น และอาจมีอาการปีติอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นมากขึ้น หรือ คำภาวนาอาจหายไปเลยก็ได้ อยู่ในฌานที่ 3
8..พอถึงลำดับฌานที่4 ทรงตัวพอสมควรกำลังฌานก็จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เช่น จาก อุปจารสมาธิแล้วเพิ่มขึ้นไปเป็น ฌาน 1->2->3->4 หรือ จาก ฌาน 4->3->2->1-> อุปจารสมาธิ จะเป็นแบบนี้สลับไปมาโดยอัตโนมัติ ซึ่งช่วงนี้เองสภาวะความเป็นทิพย์จะเกิดขึ้น ทำให้ท่านจะเห็นเป็น อาโลกสิณ เช่น ช่องแสง, แสงพุ่งเข้ามาหา, ประตู ,โพรงถ้ำ , พระพุทธเจ้าเสด็จมารับบ้าง ,หรือ อาจเป็นพระอริยเจ้ามารับบ้าง เป็นต้น
9.. เมื่อเห็นแล้วให้รวบรวม กำลังใจน้อมนำจิตพุ่งตามแสง ( พุทธรังสี หรือท่านอื่น ๆ ) ที่มารับนั้นไป บางครั้งจะเหมือนมีพลังมหาศาลมาดูด กายในของเราออกไปถ้ามีลักษณะดูดเช่นนี้ ก็ให้พุ่งกำลังใจออกตามไปเลยเช่นกัน                            
10..เมื่ออทิสมานกายหลุดออกไปจากกายเนื้อจริง ๆ (ผลของการที่จะหลุดได้ต้องเข้าถึง ฌาน 4 แต่สภาวะที่เหมาะสมที่จะให้กายทิพย์ออกไปได้คือ อุปจารสมาธิ ) ร่างกายของคุณตอนนี้อาจจะทรงตัวไม่อยู่   อาจจะต้องนอนราบไปเลยก็ได้ ในช่วงนี้จะมีความรู้สึกทางกายเพียง 2-10%เท่านั้นที่คอยจะควบคุมร่างกายไว้ หรืออทิสมานกายหลุดออก ๘๐%ขึ้นไป
11..ขอใหัสังเกตุว่า การฝึกเต็มกำลังในเบื้องต้น พระ หรือ เทวดา หรือ พรหม จะพาท่านไปเที่ยว โดยที่ท่านที่พาเราไปนั้นท่านอาจพาไปได้ 2 ที่คือ
11.1.ถ้าเป็นสุคติภูมิ แสงหรือลำแสง ที่ส่องเข้ามาหาผู้ฝึกนั้นจะส่องตั้งแต่ระดับสายตาขึ้นไป
11.2.ถ้าในโลกมนุษย์ แสงหรือลำแสง ที่ส่องเข้ามาหา ผู้ฝึกจะส่องตั้งแต่ระดับสายตา
11.3.ถ้าเป็นทุคติภูมิ แสงหรือลำแสง ที่ส่องเข้ามาหาผู้ฝึกนั้นจะส่องตั้งแต่ระดับสายตาลงมา
12.. เมื่อฝึกจนคล่องแล้ว ญาณ 8 ก็จะตามมาเอง
13.. นำกำลัง ฌาน ต่าง ๆ ที่ฝึกได้แล้ว มาตัดกิเลส ( สังโยชน์) อีกที
14.. และอธิฐานให้จิตมีความรักในพระนิพพาน
มีข้อสังเกต 2 ประการณ์
1. ขณะที่กำลังถอดอทิสมานกายแบบ เต็มกำลังนั้นทีสุดของการไปเราจะไม่มีความสามารถ ที่จะมีสติควบคุมสังขารเราไว้ได้ เล็กน้อย( ส่วนใหญ่ของผู้ฝึกได้ใหม่ๆ ) มักต้องล้มลงนอน ครึ่งหลับครึ่งตื่น ถ้ามีความชำนานแล้วจะอยู่ได้ทั้ง 4 อิริยาบท ในระยะต้นๆที่คุณเป็นอยู่ ควรหลับตา ถ้าลืมตาจะไปได้เพียง มโนฯครึ่งกำลัง
2. การพุ่งออกของอทิสมานกาย แบบเต็มกำลังในระยะต้นๆ จะไปตามที่พระท่านให้ไป เมื่อชำนานแล้วกำหนดจิตไปได้ทุกที่ อารมณ์กลัวตาย ให้ลองคิดดูว่าชีวิตนี้เกิดหนเดียวตายหนเดียว แต่เราตายในชาตินี้หรือเดี๋ยวนี้ เราจะยอมตายเพื่อพระนิพพาน จะไม่ยอมตายเพราะทำชั่วเด็จขาด เพียงนี้ไม่ช้าก็ไปได้
3. การพุ่งออกไปในระยะต้นๆ ไม่แน่ว่าจะได้พบหลวงพ่อก่อน รวมความว่าพบท่านผู้ใดก็ขอบารมีท่านก็แล้วกัน เรื่องคาถากำกับ แล้วแต่ความคุ้นเคยมาแต่ปางก่อน ของแต่ละบุคคล ในวาระจิตที่กำลังเข้าฌาน ในลำดับต่างๆ ในการฝึก " ฤิทธิ์ทางใจ แบบเต็มกำลัง " นั้นมักมีนิวรณ์ 5 + อุปกิเลส   เข้ามากินใจแทรกระหว่างการประคับประคอง กำลังใจให้ทรงฌานถ้าได้ " ฤทธิ์ทางใจครึ่งกำลัง " มาก่อนจะมีอาการ ลักษณะเดียวกันนี้มาก คือ
1. เหมือนว่ามีกำลังจิตอีก ส่วนหนึ่งไปคอยเฝ้าดูว่า มีความเคลื่อนไหวต่างๆเช่นไร
2. กำลังจิตกำลังทรงอารมณ์ถึงระดับไหนแล้วอทิสมานกาย จะหลุดออกจากกายในลักษณะใด                
3. อทิสมานกาย จะหลุดออกจากกายในลักษณะใด เช่น ดิ่งขึ้นข้างบน หรือ ออกทาง ซ้าย -- ขวา หรือ หน้า -- หลัง จะเป็นประการใดกันแน่
4. ไม่เห็นเหมือนที่ได้รู้มาเลย นะ
5. อาการหายใจเริ่มถี่กระชั้นเหลือเกิน แทบจะกลั้นใจตายอยู่แล้ว หยุดดีกว่า
6. กลัวว่าไปแล้วจะไม่กลับ ทั้งๆที่ยังไม่ได้เคยไปเลย
     จากนั้นจึงฝึก''ญาณ 8'' ต่อไป ในประการทั้ง 6 อย่างนี้ มักเป็นอุปสรรค์ในการฝึกฤิทธิ์ แบบเต็มกำลัง " ขอแนะนำให้ท่านทำอารมณ์จิต อุเบกขา สักหน่อยผลการปฏิบัติก็จะก้าวหน้าขึ้น
************************************
      การศึกษาวัตถุประสงค์หลัก ในการฝึก ฤทธิ์ทางใจ เมื่อฝึกปฏิบัติ ได้ ฤทธิ์ทางใจ ได้แล้วพึงปฏิบัติตนให้ทรงกำลังใจ ดั่งนี้
๑. เพื่อปฏิบัติตน มีญาณทิพย์ เป็นเครื่องรู้ใน เพื่อใช้ควบคู่กับ"พระกรรมฐาน 40" หรือ "มหาสติปัฏฐาน 4" จะเกิดความแตกฉานได้รวดเร็วมาก
๒.เพื่อปฏิบัติตน สื่อความหมายข้อธรรม กับครูอาจารย์ ที่โลกแห่งความเป็นทิพย์ ที่เป็น พระพุทธเจ้าพระองค์ใดองค์หนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์ใดองค์หนึ่ง พระโพธิ์สัตว์ พรหม เทวดา ท่านจะมาสอนเราในทางสมาธิของความเป็นทิพย์
๓. เพื่อปฏิบัติตน ให้รู้ตัวทั่วพร้อมในการทำความดี ในระดับต่าง ตั้งแต่ มนุษย์ คุณธรรมของ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี   พระอนาคามี พระอรหันต์ หรือแบบโพธิ์ญาน เป็นต้น
๔.เพื่อปฏิบัติตน ในทรงอารมณ์ นิพพิทาญาณ ที่มั่นคงจนตลอดชีวิต
๕.เพื่อปฏิบัติตนให้ก้าว เข้าสู่พระนิพพาน ในปัจจุบันชาติ เป็นที่สุด ( ก่อนตายเล็กน้อย )
       ผลจากการฝึก " ฤทธิ์ทางใจ " มี 8 ประการเป็นความรู้ที่พิเศษแด่นักปฏิบัติ มีดังนี้
๑. มีทิพย์จักขุญาณ มีความรู้สึกคล้ายตาเห็น เป็นเบื้องต้น
๒. ปุพเพนิวาสนุสสตญาณ รู้ระลึกชาติตนเอง และคนอื่นไดได้ นับชาติไม่ถ้วน
๓. อตีตังสญาณ รู้ประวัติความเป็นมาของสถานที่ต่างๆ รู้เรื่องในอดีต ของคน สิ่งของ ไม่จำกัดกาลเวลา
๔. เจโตปริยญาณ รู้อารมณ์จิตต์ ของตนเอง และ จิตต์ของบุคคลอื่นๆ ว่าปรุงแต่งดีหรือไม่ดี อย่างไร
๕. จุตูปปาตญาณ . รู้จุติ ของตนเอง คนและ ต่างๆ ไม่จำกัด
๖. ปัจจุปปันนังสญาณ รู้ในปัจจุบัน ของตนเอง และคนอื่น ในสถานที่ต่างๆ ในระยะเวลาเดียวกัน
๗. อนาคตังสญาณ รู้ในอนาคต ของตนเอง และคนอื่น
๘. ยถากัมมุตาญาณ รู้ผลของกรรมดี และกรรมไม่ดี ของคนและ ทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน
อาสวคยญาน                                
 วิธีพิจารณาเพื่อมาเป็น " อาสวคยญาน " โดยนำญาณรู้ทั้ง ๘ อย่าง ที่กล่าวมาในข้อที่ ๒.๓ มาร่วมพิจารณา กับ วิปัสสนาญาณ ๙

วิปัสสนาญาณ ๙
ได้แก่
๑. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ พิจารณาให้เห็นความเกิด และความดับในทุกสิ่ง
๒.ภังคานุปัสสนาญาณ พิจารณาให้เห็นแต่ความดับในทุกสิ่ง
๓.ภยตูปัฏฐานญาณ พิจารณาเห็นสังขารเป็นของน่ากลัว ที่จะมาเกิดใหม่อีกครั้ง
๔. อาทีนวานุปัสสนาญาณ พิจารณาเห็นโทษของสังขาร
๕.นิพพทานุปัสนาญาณ พิจารณาสังขารเห็นเป็นของน่าเบื่อหน่าย มีจิตต์รักใน พระนิพพาน
๖.มุญจิตุกามยตาญาณ พิจารณาเพื่อใคร่จะให้พ้นจากสังขารไปเสีย
๗.ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ พิจารณาหาทางที่จะให้พ้นจากสังขาร
๘.สังขารุเปกขาญาณ พิจารณาเห็นว่าควรวางเฉยในสังขาร
๙.สัจจานุโลมิกญาณ พิจารณาโดย อนุโลม ปฏิโลม เพื่อเข้าใจใน"อริยสัจ 4 "ก้าวเข้าสู่พระนิพพาน

ที่มา -- คนเมืองบัว/dhammajak.net



การให้อภัย