หลวงปู่ดู่ท่านสอนเสมอว่า ไม่มีปาฏิหาริย์อันใดจะอัศจรรย์เท่ากับการฝึกหัดอบรมพัฒนาตนเองจากความเป็นปุถุชนไปสู่ความเป็นอริยชน ท่านสอนให้เราแต่ละคนต้องเพียรปฏิบัติเพื่อไปให้ถึง "หัวสะพาน" หรือทำให้ถึง "หนึ่งในสี่" คือความเป็นพระโสดาบันจึงจะปลอดภัยแน่นอน โดยจะไม่กลับไปสู่อบายภูมิ และเที่ยงแท้ว่าจะสามารถข้ามไปยังฝั่งแห่งพระนิพพาน อันเป็นที่สุดแห่งทุกข์ได้
หลวงปู่ดู่สอนว่า ผู้ปฏิบัติที่มุ่งละกิเลส ต้องหมั่นตรวจสอบตัวเองและจะรู้ได้ว่า ความรู้ที่อยู่กับตัวเรานั้นเป็นความรู้จำหรือ "สัญญา" เสียส่วนมาก จะได้ไม่หลงในความรู้จำว่าเป็น "ปัญญา" เพื่อจะได้เพียรสร้างปัญญาให้เกิดให้มีให้ยิ่งๆขึ้นไป ด้วยความไม่ประมาท
ผู้ปฏิบัติต้องเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตน การรู้เห็นภายในก็ให้เป็นเรื่องภายใน มิใช่สิ่งที่จะมาพูดอวดพูดคุย เพราะจะเป็นกับดักตัวโตสำหรับนักปฏิบัติ ที่อาจกลายเป็น "ดีแตก" หลักที่ต้องตระหนักไว้เสมอก็คือ เราปฏิบัติเพื่อความไม่ยึดมั่นถือมั่น ในสิ่งทั้งปวง
ท้ายที่สุด หลวงปู่ดู่มุ่งสอนให้ลูกศิษย์เป็นนักปฏิบัติ คือหมั่นปฏิบัติสมาธิภาวนาด้วยความไม่ประมาท ทั้งนี้ก็เพื่อจะพัฒนาความสามารถในการมีความสุข จากความสุขที่ต้องขึ้นกับวัตถุหรือสิ่งเสพภายนอก มาเป็นสุขภายใน ซึ่งเป็นสุขชนิดที่ไม่ขึ้นกับวัตถุหรือสิ่งเสพภายนอก คือสุขจากคุณธรรม ความดีงามในจิตใจ สุขจากจิตที่สงบเป็นสมาธิ และพร้อมที่จะพัฒนาไปสู่ความสุขที่ละเอียดประณีตยิ่งขึ้น นั่นก็คือความสุขจากการหมดสิ่งรบกวนเผารนจิตใจคือ ความโกรธ ความโลภ ความหลง ความสุขที่จะไม่กลับกลายเป็นความทุกข์อีกนั่นก็คือ...
''พระนิพพาน"