ภาพแห่งพระมหาเถระผู้เฒ่า พูดจาเสียงดังฟังชัด
ออกกิริยาท่าทางไร้มารยา นัยน์ตามีแววมุ่งมั่นรูปหนึ่ง
ซึ่งทุกคนเรียกติดปากว่า “หลวงปู่เจี๊ยะ”
นั่งสนทนาธรรมกับสานุศิษย์เพียงไม่กี่คน
ใต้กุฏิเพิงหญ้าหลังเล็กๆ มีจีวรเก่ากั้นเป็นฉากหลัง...
นี่คือ สมณานญฺจ ทสฺสนํ การเห็นสมณะผู้สงบสันโดษ เป็นมงคลอย่างสูงสุด
เสียงเทศนาธรรมของท่านกล่อมเกลาจิตใจสานุศิษย์...วันแล้ว...วันเล่า มิได้ขาด
ในกาลต่อมา ตำนานชีวิตของท่านเริ่มมีผู้เล่าขาน
เมื่อหลวงตามหาบัวได้กล่าวชมยกย่องสรรเสริญว่า
“เป็นผ้าขี้ริ้วห่อทอง เป็นเพชรน้ำหนึ่ง ที่หาได้โดยยากยิ่ง”
นามเดิม
เดิมจริงๆ ชื่อว่า โอวเจี๊ยะ แปลว่า หินดำ เพราะท่านมีปานดำที่แผ่นหลัง
ท่านเมตตาให้คติธรรมเรื่องชื่อของท่านว่า
“จริงๆ แล้ว คำว่า “โอวเจี้ยะ” มีความหมายในทางธรรมอีกอย่างหนึ่ง
คนที่มีปานประเภทนี้ จะต้องเป็นคนมีจิตใจแข็งแกร่งดุจศิลาแลง
ทนร้อน ทนหนาว ทนทุกข์ ทนสุข อดทนได้ รับได้
แก้ไขได้ทุกสภาวการณ์ เหมือนจะเป็นธรรมะเตือนเราว่า
จงทำจิตใจให้เข้มแข็งดุจแผ่นหิน
ใครจะนำเอาของสกปรกมาเทใส่แผ่นหินก็คงนิ่งอยู่อย่างนั้น
ใครจะนำเอาน้ำหอมมาเทใส่แผ่นหินนี้
ก็คงอยู่อย่างนั้นเหมือนเดิม ไม่หวั่นไหว ไม่โยกคลอน
หรือโอนเอนไปกับอารมณ์ตางๆ ที่มายั่วเย้า หลอกลวง”
ครอบครัวเดิมและภูมิลำเนา
หลวงปู่เจี๊ยะถือกำเนิดในตระกูลโพธิกิจ เมื่อวันอังคาร เดือน ๗ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีมะโรง
ตรงกับวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๙ ณ บ้านคลองน้ำเค็ม
ต.คลองน้ำเค็ม อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี เป็นบุตรคนที่ ๔ มีพี่น้อง ๗ คน
และพี่บุญธรรมที่พวกเราทุกคนรักอีก ๑ คน รวมเป็น ๘ คน มีลำดับดังนี้
๑. นางพิมพ์ โพธิกิจ (เสียชีวิต) พี่บุญธรรม
๒. นางฮุด แซ่ตัน (เสียชีวิต)
๓. นายสง่า โพธิกิจ (เสียชีวิต)
๔. นางสาวละออ โพธิกิจ (เสียชีวิต)
๕. ตัวท่านเอง (หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท)
๖. นางสาวละมุน โพธิกิจ เป็นข้าราชการครู (เสียชีวิต)
๗. นางลักขณา (บ๊วย) เกิดในมงคล
๘. นายสมบัติ โพธิกิจ
โยมบิดาชื่อ ซุ่นแช โยมมารดาชื่อ แฟ โพธิกิจ ครอบครัวมีอาชีพค้าขาย
อุปนิสัย
ท่านเล่าถึงอุปนิสัยของท่านสมัยวัยหนุ่มก่อนบวชว่า
ท่านเป็นคนแข็งแรง สู้ทุกรูปแบบ จริงจัง ยอมหักไม่ยอมงอ
ทำอะไรต้องทำให้ได้ดั่งใจและมีความเพียรเป็นเลิศในการประกอบการงาน
พูดจาโฮกฮาก ตรงไปตรงมา ไม่กลัวคน ท่านไม่ยอมแพ้ใครเรื่องการงาน
ไม่ว่าจะเป็นงานหนัก เช่น แจวเรือ แบกหามสิ่งของ
เรียกว่า มีความอดทนบึกบึนเป็นอันมาก
ดังที่ท่านว่า “ในวัยหนุ่มทำมาค้าขาย ขายเงาะ ขายทุเรียน ขายมังคุด
นิสัยออกจะติดทางนักเลง เป็นคนจริงจังในหน้าที่การงาน ไม่เกเร พูดจาโฮกฮาก
ไม่กลัวคน ต้นตระกูลเป็นคนตรงไปตรงมา ไม่ชอบโกหก
จึงเป็นมรดกทางอุปนิสัยติดต่อกันมาเรื่อยๆ จนถึงผู้เป็นลูกหลาน
เราเป็นคนทำอะไรต้องทำให้ได้ดั่งใจ
เวลาไปบรรทุกผลไม้ที่ท่าแฉลบ เรือลำไหนมันขึ้นฝั่งไม่ได้
เรือเขาขึ้นไม่ได้ทั้งหมด แต่สำหรับเรือเราต้องขึ้นได้ คือเอาขึ้นจนได้
เราเป็นคนแข็งแรง สู้ทุกรูปแบบ เป็นคนจริงจัง ยอมหักแต่ไม่ยอมงอ
เป็นคนซุกซน แต่ไม่เคยซุกซนเรื่องผู้หญิง
และไม่เคยยอมแพ้ใครในหน้าที่การงานทั้งปวง”
“สมัยยังหนุ่มแน่น เราไม่เคยคิดถึงเรื่องบาปบุญคุณโทษอะไร มุ่งแต่ทำงานอย่างเดียว
แม้แต่คำว่า นโม ตสฺส ยังว่าไม่จบ แม้บางครั้งไปวัดได้ยินพระท่านเทศน์ว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
อายตนะภายในภายนอก เช่น ตาเห็นรูปอย่างนี้เป็นต้น ฟังแล้วไม่เคยรู้เรื่องอะไรเลย
บางทียังคิดเลยว่า ท่านพูดเรื่องอะไร ไม่รู้เรื่อง ฟังแล้วไม่เห็นเข้าใจ
พอตอนหลังมาบวชจึงได้ทราบว่า อันนี้เป็นธรรมะที่บ่มอินทรีย์เป็นสำคัญ”
ความคิดที่จะออกบวช
ท่านว่า “การอุปสมบทในครั้งนี้ เราเป็นผู้มีจิตศรัทธาขึ้นมาเอง
การบวชไม่มีใครมาบังคับชักชวนแต่อย่างใด เพียงเพราะในใจคิดว่า
สมควรแก่เวลาและอายุที่จะทดแทนบุญคุณของท่านผู้มีคุณทั้งหลายได้แล้ว
อีกทั้งในขณะนั้น พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ซึ่งท่านเป็นลูกศิษย์สายท่านพระอาจารย์มั่น
ก็จาริกธุดงค์มาประกาศเทศนาธรรมให้คนทั้งหลายละชั่วสร้างความดีในจังหวัดจันทบุรี
และก็เดินทางมาที่บ้านหนองบัวซึ่งเป็นบ้านเกิดของเรา
ซึ่งในสมัยนั้นพระกรรมฐานแถบทางภาคตะวันออกยังไม่ค่อยมี ก็มีท่านพ่อลี ธมฺมธโร
และพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ นี่แหละเป็นผู้นำมาเผยแพร่
ชาวพุทธทางภาคตะวันออกถึงได้ทราบเรื่องราวของพระกรรมฐานและการภาวนา”
อย่ามองกันเพียงภายนอก
ตอนจะบวชใครๆ เขาก็พูดไว้ว่า
“ไอ้เจี๊ยะนี่...มันบวชไม่ได้หรอก ถึงบวชได้ก็คงไม่พ้นที่จะสึกกลางพรรษา”
อย่างนี้แหละ คนมันชอบมองแต่อย่างนี้แหละ
หลวงปู่เล่าถึงตอนนี้ท่านแสดงถึงความสนุกในวัยเด็กของท่าน
“ก็ใครเขาจะเชื่อ เรามันดื้อยังกะลิง เป็นตัวแสบประจำหมู่บ้าน”
ท่านพูดแล้วก็หัวเราะพร้อมกับงัดบุหรี่ออกมาสูบ
แบบมวนต่อมวน โดยไม่สนใจไยดีในสายตาที่จ้องมอง
“หมอเขาไม่ห้ามหรือปู่ หลวงปู่ก็ไม่ค่อยสบาย”
“หมอเขาก็ห้ามเหมือนกัน หมอมันห้ามเราได้เพราะหมอมันไม่สูบ
ส่วนหมอคนที่มันสูบมันก็ไม่ค่อยห้ามเรา คนที่ไม่สูบบุหรี่ตายก่อนเราก็มีเยอะ
นี่ ๘๐ กว่าแล้วยังไม่เห็นตาย เลิกตอนนี้เสียเชิงละสิ หมอเขาก็พูดถูก แต่เตือนช้าไปหน่อย
จะเข้าโลงแล้วค่อยมาเตือน” ท่านพูดพร้อมๆ ไปกับการหัวเราะอย่างขบขัน
“ก็สมัยก่อนเขานิยมกันว่าเป็นเรื่องดิบดี สูบไม่เป็นยังต้องหัดให้เป็น
แต่มาสมัยปัจจุบันนี้มันเป็นเรื่องเสียหาย ความนิยมมันขึ้นอยู่กับยุคสมัย และความนิยมชมชอบ
ถ้าเขานิยมสิ่งใดเขาก็ว่าสิ่งนั้นดี เหมือนสมัยปัจจุบันนี้เขานิยมแต่งตัวโป๊ๆ
หรือนิยมใช้สิ่งของสุรุ่ยสุร่ายเกินตัว คนเขาก็ไม่เห็นว่ามันเสียหาย
แม้แต่สามีภรรยายังชื่นชอบกัน ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องเสียหายหรืออันตราย”
“การแต่งตัวโป๊ๆ อันตรายหรืออาจจะตายง่ายกว่าการสูบบุหรี่เสียอีก
แต่ชาวโลกเขานิยมจึงเหมือนไม่มีพิษมีภัย การสูบบุหรี่ก็เช่นกันเราสูบมาตั้งแต่ ๖๐ ปีคืนหลัง
มันเป็นความเคยชินมากกว่าติด คนทุกวันนี้มันไม่ติดบุหรี่หรอก
เพราะมันมีอย่างอื่นให้ติด อันตรายมากกว่าเป็นไหนๆ”
ท่านกล่าวพร้อมกับหัวเราะในเรื่องโลกธรรม อันเป็นกริยาสอนเราได้อีกทางหนึ่งที่มักจะคิดมุมเดียว
ฉายาก่อนบวช “ไอ้ตัวแสบ”
พุทธศาสนา ศาสนธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดในโลก
ไม่มีสิ่งใดที่จะเปรียบเทียบในบรรดาศาสนาทั่วสกลโลกนี้แล้ว
จะเอามาเปรียบเทียบไม่ได้เลย ผิดกันไกลราวฟ้ากับดิน ทำไมถึงว่าเช่นนั้น
เรานี่...เป็นคนซนที่สุด แก่นดื้อ พ่อแม่พอมีอันจะกินฐานะดีอยู่ แต่ไม่ได้เคยสนใจในเรื่องธรรมะเลย
มัวแต่เที่ยวซุกซนตามประสาคนหนุ่ม คือว่าไม่มีวี่แววที่จะสนใจในเรื่องธรรมะเรื่องศาสนาเลยแม้แต่น้อย
แต่เราคงมีบุญเก่าอยู่บ้าง บุญนั้นแหละชักจูงนำพาเข้ามาทางพระศาสนา
ประกอบกับบิดามารดาเป็นผู้มีศรัทธา เชื่อเรื่องบาปกรรมอยู่เป็นพื้นเพนิสัยอยู่แล้ว
อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ชักจูงเราให้เข้ามาทางศาสนาได้ บทเวลาได้มาบวช ใครๆ เขาก็แปลกใจ
เพราะมันนิสัยขัดกับศาสนาที่อยู่ในกรอบอันดีงาม และมีระเบียบเรียบร้อย
แต่สำหรับศาสนาเป็นเครื่องหล่อหลอมอยู่แล้ว และสอนมุ่งเน้นลงที่ใจ เมื่อเราเป็นคนจริงอยู่แล้ว
จึงง่ายต่อการปฏิบัติ เพราะคนจริงย่อมถึงธรรมอันเป็นความจริง ไม่มากก็น้อย
ใครๆเขาก็แปลกอกแปลกใจที่เรายอมบวชแต่โดยดี ทั้งๆ ที่ชีวิตนี้ยังไม่เคยท่องคำว่า
“นโม ตสฺส ฯลฯ” แม้แต่ครั้งเดียว เราไม่เคยดูถูกบุญ
ดูถูกพระแต่ตอนนั้นมันห่วงสนุกซุกซนไปตามเรื่องไปตามวัย
คนทั้งหลายเขาเรียกว่า “ไอ้ตัวแสบ” ไม่ใช่นักเลง แต่ไม่เกรงกลัวใคร แม้แต่นักเลง...
เล่นอะไรก็ตาม ห้ามโกง เสียเท่าไหร่ไม่ว่า แต่อย่าโกง
เข้าสู่การเป็นนาค
การเตรียมตัวอุปสมบทต้องไปเป็นผ้าขาว รักษาศีลประพฤติธรรม
เรียนรู้วัตรปฏิบัติที่จะพึงกระทำต่อวัดและครูบาอาจารย์
จนท่านเห็นว่าสมควรก่อน ท่านถึงจะให้บวช
ถ้าปฏิบัติไม่ได้ ทำไม่ได้ ท่านก็ยังไม่ให้บวช
ธรรมเนียมพระป่ากรรมฐานท่านเคร่งครัดนักเรื่องเหล่านี้
ไม่ใช่สุ่มสี่สุ่มห้ามาจากไหนจะมาบวชได้ง่ายๆ
จิตรวมตั้งแต่เป็นนาค
ครั้งหนึ่งตอนที่มาเข้านาคได้ไม่นานนัก อยู่ระหว่างการฝึกขานนาค ท่องบทสวดต่างๆ
คืนหนึ่งฟังเทศน์ท่านอาจารย์กงมาฯ ท่านเทศน์ตามปกติทุกๆ วัน
ท่านก็แสดงธรรมของท่านไปเรื่อยๆ เราก็ฟังเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง ท่านสอนให้ภาวนาพุทโธ
เราก็ภาวนาพุทโธอยู่อย่างนั้น นั่งเข้าสมาธิฟังเทศน์อยู่อย่างนั้น อันนี้มันก็เป็นเหตุที่แปลกอยู่นะ
พอเรานั่งภาวนา ฟังไปๆ จิตอยู่กับคำบริกรรม หูก็ได้ยินเสียงเทศน์ไป
คือจิตก็ทำหน้าที่ของมัน หูก็ทำหน้าที่ของมัน มันเกิดเป็นสมาธิ
แต่ตอนนั้นเราไม่รู้ว่ามันเป็นสมาธิ มันรวมจนกระทั่งว่าไม่มีตัว ไม่มีตน ตัวตนหายหมด
แล้วก็ปรากฏภาพนิมิต ที่ตัวเองนี้มาปรากฏหมอบลงไปฟุบกับกองทราย
ที่เป็นทรายขาวอยู่ในบริเวณวัดนั้นอย่างชัดเจน
ตัวนี้อ่อนไปหมด ปรากฏว่าในขณะนั้นเราปรากฏว่าตัวเองไม่มีตัวตน
จนกระทั่งท่านแสดงธรรมจบลง เราถึงรู้สึกตัว
ตอนนั้นท่านแสดงธรรมนานมาก ทีหนึ่งเป็นชั่วโมงๆ ขึ้นไป
เมื่อจิตถอนออกมา ออกจากที่ภาวนาก็คลานเข้าไปถามท่านว่า
“ท่านอาจารย์ครับ เมื่อตะกี้ทำไมผมนั่งฟังเทศน์ท่านอาจารย์ ผมไม่มีตัว ตัวผมหายไปไหน
แต่สักประเดี๋ยวตัวผมนี่ ไป...ไปหมอบอยู่ที่...ที่กองทรายนั่นน่ะ ทำไมมันถึงเป็นอย่างนั้นครับ”
คำถามนี้เราถามท่าน เพราะก็อธิบายไม่ถูก และไม่รู้จะถามท่านอย่างไร
เพราะตั้งแต่เกิดมาไม่เคยเป็นเช่นนี้ ที่กล้าถามท่าน เพราะความตื่นเต้นตื่นตาตื่นใจ
ที่ชีวิตหนึ่งชีวิตนี้เราได้เห็นอย่างนั้น ท่านก็บอกว่า
“ไม่เป็นไร...เออ...ทำไป...ทำไป...ดีแล้วนะ”
ท่านว่าอย่างนั้น เราก็ภูมิใจว่าเราทำถูกต้อง
การมีครูบาอาจารย์ดี ท่านรู้จริงผ่านการปฏิบัติมา
สอนแบบมีหลักเกณฑ์ไม่สุ่มเดาจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
อาจารย์เป็นบัณฑิตท่านก็ย่อมสอนในแนวทางเจริญเพื่อความเป็นบัณฑิต
แต่ถ้าอาจารย์โง่เขลาสอนแบบสุ่มสี่สุ่มห้า
มันก็เหมือนคนตาบอดจูงคนตาบอด อาจารย์ก็ตาบอด
แล้วจะมาสอนลูกศิษย์ที่ตาบอดอยู่แล้วให้ตาดี อันนี้มันเป็นไปได้ยากยิ่งนัก
การอุปสมบท
หลวงปู่เจี๊ยะ บวชเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ เวลา ๑๖.๑๙ น.
ณ พัทธสีมาวัดจันทนาราม อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี
ได้ฉายาว่า “จุนฺโท” แปลว่า “ผู้หมดกิเลสเครื่องร้อยรัด”
ในขณะนั้นเรามีอายุได้ ๒๑ ปี ๑ เดือน กับ ๕ วัน
จึงเป็นพระรูปแรกที่ท่านพ่อลีเป็นคู่สวดบวชให้
เมื่อบวชที่วัดจันทนารามเสร็จแล้ว
ก็กลับมาจำพรรษาที่วัดทรายงามเป็นเวลา ๓ พรรษา
ท่านพ่อลีกับพระอาจารย์กงมาท่านเป็นอาจารย์องค์แรกของเรา
พรรษาที่ ๑ (พ.ศ. ๒๔๘๐)
ในพรรษาแรกที่บวชนี้มีพระร่วมจำพรรษา ๕ รูป สามเณร ๑ รูป คือ
๑. พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ท่านเป็นชาวจังหวัดสกลนคร
๒. พระสังข์ เตมิโย ท่านเป็นชาวจังหวัดเพชรบูรณ์
๓. พระทองปาน มหาอุตฺสาโห ท่านเป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานี
๔. พระเจี๊ยะ จุนฺโท (องค์หลวงปู่เอง) เป็นชาวจังหวัดจันทบุรี
๕. พระอ๊อด โอภาโส เป็นชาวจังหวัดจันทบุรี
๖. สามเณรวิริยังค์ บุญฑรีย์กุล เป็นชาวจังหวัดนครราชสีมา
อย่างที่ว่าพรรษาแรกๆ ก็ขี้เกียจ เอะอะก็จะหลบไปหลับนอน
พอมาถึงกลางๆ พรรษาหรือยังไงก็จำไม่ค่อยได้ ก็มานึกตำหนิตนเอง
เมื่อตำหนิกาย วาจา ใจ ของตนที่ไม่เอาไหนได้อย่างนั้น
มันก็มีความฮึดฮัดที่จะต่อสู้
นั่งภาวนาพุทโธ เอาจริงเอาจังให้รู้เช่นเห็นชาติตนว่า ก่อนบวชที่ว่าตัวเองแน่ๆ
ไม่ยอมถอยให้ใครๆ มาบัดนี้จะมาถอยให้กิเลสแบบง่ายๆ หมดทางต่อสู้
แบบนี้ถ้าจะเรียก ก็เรียกได้ว่านักเลงกระจอกงอกง่อย เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ
สมควรแล้วละหรือที่เราจะมาภูมิใจกับการเป็นคนจริงแบบปลอมๆ
ที่แท้ก็เก่งแต่การโอ้อวดเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงมิได้เป็นเช่นนั้นเลย
“เอาละวะ...” มันคิดขึ้นมาภายใน “เป็นไงเป็นกัน ตายเป็นตาย อยู่เป็นอยู่
พระพุทธเจ้าทำอย่างไร เราจะทำอย่างนั้น
พระสาวกท่านปฏิบัติเคร่งครัดอย่างไร เราจะเคร่งครัดอย่างนั้น”
นี่ ใจมันเริ่มสอนใจตนเองขึ้นมาแล้วทีนี้
นอกจากจะนั่งภาวนาอย่างเอาจริงเอาจัง ไม่ลดละความพากเพียรพยายามแล้ว
ยังมีเดินจงกรม พยายามเดินจงกรมอย่างที่ท่านอาจารย์กงมาท่านสอน
เดินเข้า เดินเข้า ทุกๆ วัน ทุกๆ คืน ใจมันก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ใจมันก็สงบลง
บางทีเดิน ๓-๔ ชั่งโมง ทางจงกรมแหลก แดดเปรี้ยงๆ ไม่มีถอย ไม่เลือกกาลเวลา
ทางจงกรมที่เราเดินยาวเส้นหนึ่ง (๒๐ วา) นี้แหละพรรษาที่หนึ่งทำอยู่อย่างนี้อยู่ตลอด
พรรษาที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๘๑)
ถือเนสัชชิคือการไม่นอน
ต่อมาพรรษาที่ ๒ แห่งการบวช
ถือธุดงค์ปฏิบัติว่าด้วยการไม่นอนในกาลเข้าพรรษา
ไม่นอนตลอดพรรษาเลยในเวลากลางคืน แต่ก่อนนั่งสมาธิต้องเดินจงกรมก่อน
แล้วค่อยมานั่งสมาธิ ทำอย่างนี้วันละ ๓ หน
เพื่อถวายพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์
และเพื่อเป็นอุบายในการภาวนา ด้วยการตั้งสัจจะว่า
“ข้าพเจ้าจะถือเนสัชชิตลอดทั้งพรรษา ในเวลาค่ำคืนไม่นอน
ด้วยพุทธานุภาพ ธัมมานุภาพ สังฆานุภาพ
ถ้าแม้นว่าข้าพเจ้าไม่ทำตามสัจจะอันนั้น
๑. ขอให้ฟ้าผ่าตาย
๒. ขอให้แผ่นดินสูบตาย
๓. ขอให้ไฟไหม้ตาย
๔. ขอให้น้ำท่วมตาย
พุทธานุภาพ ธัมมานุภาพ สังฆานุภาพ
ถ้าทำอย่างนั้นไม่ได้...เอ้า!...ให้สิ่งนั้นมันเกิดขึ้นมาเลย”
ตัวสัจจะนี้แหละ ถือเป็นตัวสำคัญเลยนะ ผ่านก็ผ่าน
ถ้าไม่ผ่านก็แสดงว่าวาสนาเรามีเพียงแค่นั้น
๗ วันแรกที่เราเริ่มปฏิบัติด้วยการไม่นอน มันก็แย่เหมือนกัน
เพราะตั้งแต่เกิดมานอนตลอดจนเป็นนิสัย แต่อยู่มาวันหนึ่งมาหยุดนอนเอาดื้อๆ ร่างกายก็แย่
ทำท่าหงุดหงิด จนถึงกับอุทานในใจว่า “ว้า! ไม่ไหว...ไม่ไหว...ไม่ไหวแล้วโว๊ย”
แต่ก็ยังดีที่ก่อนจะทำสมาธิก็ได้เข้าไปตั้งสัจจะบังคับเอาไว้ เพราะความเป็นผู้ที่รักษาสัจจะ
สัจจะนั้นจึงเป็นเหมือนโซ่ตรวนคอยรึงรัดกายจิตของเราเอาไว้
“ตายเป็นตาย แต่จะให้สัจจะที่ตั้งไว้ขาดไม่ได้ ไม่ยอม
ในร่างกายนี้อะไรจะเสียผุพังไปก็ตาม แต่จะให้สัจจะเสียไปไม่ได้
เพราะแม้สัจจะที่เราให้ไว้กับตัวเรา เรายังรักษามันไม่ได้
แล้วเราจะหวังพบธรรมะอันประเสริฐซึ่งอยู่เหนือสัจจะ
แล้วเราจะพบพานธรรมนั้นได้อย่างไรกัน”
เมื่อคิดอย่างนี้ ใจมันก็ท้าทายกิเลสและธรรมที่มีอยู่ในกายและใจนั้น
สัตยาธิษฐานนี้จึงเป็นทางเดินไปสู่มรรคผลแบบท้าทายได้อย่างดียิ่ง
ความมุ่งมั่นพากเพียรเป็นบาทสำคัญในการปฏิบัติ
หลวงปู่เจี๊ยะ หลังจากตั้งสัจจะวาจา ท่านก็เพียรสู้ไม่ถอย
โดยท่านพิจารณาชีวิตทางโลกและทางธรรม ท่านว่า
“...บางทีเราตอนเป็นหนุ่มๆ บวชใหม่ๆ ก็คิดอยากจะสึก
พวกบวชเป็นชีสาวๆ ก็อยากจะสึก หรือพวกแก่ๆ ก็อยากจะสึก เพราะกิเลสมันเป็นอย่างนั้น
สึกไปก็เหมือนเท่ากับลงไปในน้ำทะเล อันมหาสมุทรกว้างขวางใหญ่นัก
ชีวิตไม่มีความหมาย ตัวลงไปอยู่ในทะเล เป็นเหยื่อเต่าเหยื่อปลาเท่านั้นเอง
ตายไปอย่างนั้น ไม่ได้อันใดเลย เหมือนเราตกลงไปในทะเล ถ้าไม่มีเรือมารับแล้วก็ต้องตาย
ชีวิตจมอยู่กับลูกกับเมีย กับข้าวของเงินทอง เพื่อหามาเลี้ยงกันทั้งวันทั้งคืนอยู่อย่างนั้น
ไม่มีเวลาหยุดหย่อน ไม่มีเวลาได้พักผ่อนกำลังจิตใจของเราเลย นี่...แสนที่จะทุกข์ทน”
ความตั้งใจจริง มุ่งมั่นในการจะปฏิบัติเอาดีให้ได้จึงเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงเพศพรหมจรรย์
“เพราะฉะนั้นการทำใจ เมื่อมีความจริงที่ใด จะโง่เซ่อขนาดไหน
ขอให้ใจจริงๆ สู้จริงๆ แล้วนั่งให้จริง ยืน เดิน นั่ง นอน ๔
อิริยาบถนี่ทำได้อยู่ตลอดเวลา ต้องสำเร็จ
เมื่อเราพยายามมากเข้าๆ พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า
“พาวิโต พหุลีกโต” เพียรมากๆ ทำมากๆ ทำบ่อยๆ ทำอยู่อย่างนั้น
ก็เป็นไปเพื่อความดับสนิท เป็นไปเพื่อความรู้แจ้ง นี่ก็เป็นอย่างนั้น ไม่มีอย่างอื่นแล้ว
ถ้าลงว่าทำอย่างนั้นจนสุดความสามารถแล้วไม่สำเร็จ ก็ไม่รู้ว่าจะยังไง”
สอนตัวเอง “บวชมาทำไม”
ด้วยอุปนิสัยของหลวงปู่เจี๊ยะ ท่านเป็นคนห้าวหาญ เอาจริง ทำจริง
เวลาท่านสอน คำสอนของท่านจึงดุเด็ด ท่านสอนให้ผู้ที่มาบวชได้คอยตรวจตรองตัวเอง
เราบวชมาเพื่ออะไร เพื่อหวังลาภหรือ? เพื่อล่อลวงคนหรือ?
ที่แท้เรานั้นบวชเพื่อการขูดเกลาจิตใจ ลดทิฏฐิมานะ
เพื่อความสิ้นไปของกิเลส ดังนั้น จึงต้องปฏิบัติ และท่านสอนว่า
“การปฏิบัติ หัวใจก็ต้องมีความเข้มแข็ง ความอุตสาหะ ความพยายาม
ความพากเพียรอย่างนี้ เหมือนไฟที่มันไหม้ติดอยู่กับศีรษะของเราอย่างนี้
เพราะหัวใจอันนั้นไม่เห็นภัย ไม่เห็นสิ่งที่เป็นทุกข์เดือดร้อน
เหมือนอย่างที่ไฟที่ติดอยู่ในหัวเราอย่างนั้นเหมือนกัน
บางคนก็ทนอยู่อย่างนั้น ไม่รู้จักวิธีแก้ไขดับไฟ ปล่อยให้มันไหม้อยู่ในหัวเรา
ก็มีแต่วันที่จะตายจมลงไปอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้”
“ถ้าเรามาเห็นว่าการใส่ใจในการปฏิบัติเป็นสิ่งสำคัญ เราไม่หักไม่ฟาดมันลงไปแล้ว
มีแต่มันจะหมักหมม เผาหัวตัวเองอยู่ตลอดกาล จนกระทั่งตายเปล่า
แบบนี้ใครทนได้ก็ทนไป เราไม่ทน เราจะเผากิเลส ไม่ให้กิเลสมันมาเผาเรา”
แนวทางของท่าน “ให้ว่า พุทโธ เร็วๆ”
ท่านว่า ใจมันเร็วมาก ต้องอาศัยการใคร่ครวญ พินิจพิจารณา
การบริกรรม จะหลับหูหลับตาทำไปโดยขาดการใคร่ครวญนั้นไม่ได้
เมื่อตั้งจิตต้องการความสงบก็ใช้การบริกรรมมากำกับหัวใจ
ไม่ให้ใจของเราส่ายไปหาอารมณ์ ให้อยู่กับพุทโธ มีสติกำกับ
แต่ใจก็ยังแส่ออกไปข้างนอกตลอดเวลาเหมือนวัวควายที่ดื้อดึง
เมื่อเป็นอย่างนั้นต้องเน้นการบริกรรมให้เร็วขึ้น
ต้องคิดถึงอุบายเพื่อไม่ให้ใจส่ายไปอดีต อนาคต
“ฉะนั้นพวกเราอย่าไปเสียดายบริกรรมว่าจนให้มันเหนื่อยที่สุด ให้มันนานเท่าไรได้ยิ่งดี
สักประเดี๋ยวจิตมันก็สงบ มันโหยจากการไม่นึกคิดแล้ว
ถ้าเราไม่บริกรรมมันกำลังแข็งตัว มันก็ต้องออกไปสู้กับเราอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นต้องบริกรรม พุทโธๆ โธๆ ๆ ๆ ๆ ว่าให้เร็ว พอมันหมดลมก็เอาอีก โธๆ ๆ ๆ ๆ
แต่อย่าให้ดัง เดี๋ยวเขาว่าบ้า ให้เบาๆ ในใจ ว่าอยู่อย่างนั้นให้เร็วๆๆ โธๆ ๆ หยุด โธๆ ๆ หยุด ถ้าเรา โธเข้า โธออก ก็เสร็จฉิบ...หมดซิ หัวใจมันห่าง แล้วมันคิดหมด”
หันหลังให้ทางโลกอย่างเด็ดขาด
เมื่อภาวนาอยู่ไม่รู้จักคำว่า “หยุดถอย” อยู่มาวันหนึ่งในพรรษาที่ ๓
มานั่งภาวนาอยู่ที่ใต้ต้นกระบกที่วัดทรายงาม
จิตรวมใหญ่ด้วยการพิจารณากายอย่างละเอียดถึงที่สุด
การพิจารณากายครั้งนี้ ปรากฏประหนึ่งว่า “แผ่นดิน แผ่นฟ้าละลายหมด
กายกับใจนี้มันขาดออกจากกัน เหมือนว่าโลกนี้ขาดพรึบลงไป ไม่มีอะไรเหลือเลย
แม้แต่ร่างกายก็สูญหายไปหมด เหลือแต่ความบริสุทธิ์ของใจอันเที่ยงแท้ทีเดียว”
เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิแล้ว จิตนี้แปลกประหลาดอัศจรรย์และพิสดารอย่างลึกล้ำ
ถึงกับได้อุทานภายในใจว่า “นี่แหละชีวิตอันประเสริฐ เราได้พานพบแล้ว”
คืนนั้นจึงเป็นคืนที่น่าจดจำอย่างไม่มีวันลืมธรรมชาติของจิตนี้มันแปลกกว่าที่คาดอยู่มาก
มากขนาดว่าก่อนจิตรวมกับหลังจิตรวมนี้มันเหมือนคนละคน
ทั้งๆ ที่เป็นคนเดียวกัน อันนี้พูดในด้านธรรมะนะ ไม่ได้โอ้อวด
พอจิตนี้รวมถึงที่สุดแล้ว ถอนจิตออกจากสมาธิแล้ว
จิตนี้มันอาจหาญ ไม่กลัวใคร คำไม่กลัว ไม่ได้หมายว่าเราเป็นนักเลง
คือไม่กลัว ต่อความจริง อันไหนเป็นความจริงเราอาจหาญที่จะต่อสู้และพิจารณา
เรียกว่า “ธรรมทำให้กล้าหาญ”
เมื่อภาวนาจิตลงได้อย่างนั้นแล้ว สมบัติใดๆ ในโลกที่เขานิยมว่ามีค่ามาก
จะเอามากองให้เท่าภูเขาเลากา ไม่ได้มีความหมายเลย ธรรมสมบัติที่ปรากฏเมื่อคืนนี้
เป็นธรรมสมบัติเหนือรัตนะเงินทองโดยประการทั้งปวง
อัศจรรย์ในธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นที่ยิ่ง
จิตไม่เกี่ยวเกาะด้วยกามคุณเลย ทั้งๆ ที่เคยสัญญากับคนรักไว้ก่อนบวชว่า
“บวชเพียงหนึ่งพรรษา ก็จะสึกออกมาแต่งงานกัน”
เมื่อจิตมิได้เยื่อใยในโลกเช่นนั้นอยู่มาวันหนึ่งเดินออกบิณฑบาต เจอคนที่เราเคยรักมาใส่บาตร
เราจึงบอกสาวคนที่เรารักนั้นไปว่า “แป้งเอ๊ย...ต่อแต่นี้ไปเราจะไม่สึกแล้วนะ”
เมื่อเป็นสันทิฏฐิกธรรม คือรู้เองเห็นเองเฉพาะตนแล้ว
จึงไม่นำไปพูดกับใครและปิดไว้ไม่ให้ใครรู้
จึงนึกถึงแต่กิตติศัพท์และกิตติคุณของท่านพระอาจารย์มั่น
ฝากตัวเป็นศิษย์ของพระอาจารย์ใหญ่
หลังจากออกพรรษาประมาณเดือนธันวาคม ๒๔๘๒
จึงตัดสินใจเข้าไปกราบลา พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ
เพื่อเดินทางไปหาท่านพระอาจารย์มั่นที่เชียงใหม่
การจากบ้านเกิดไปหาพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ครั้งนี้
ท่านพระอาจารย์กงมาเป็นห่วงว่า
กิริยาตามแบบของท่านที่ในสายตาผู้อื่นจะเห็นว่าไม่ค่อยเรียบร้อยนั้น
จะทำให้อยู่กับพระอาจารย์มั่นไม่ได้ แต่หลวงปู่เจี๊ยะได้ตอบท่านอาจารย์กงมาไปว่า
“ครูอาจารย์ (กงมา) หลวงปู่มั่นเป็นคน ผมก็เป็นคน
ทำไมผมจะไปอยู่กับปู่มั่นไม่ได้ ถ้าท่านเป็นพระดี
ผมไปหาของดีมันจะผิดตรงไหน ก็คนไม่ดีนั่นแหละต้องให้คนดีๆ สอน
ถ้าคนอยู่กับคนไม่ได้แล้ว คนจะอยู่กับใคร”
เมื่อท่านพูดเด็ดๆ อย่างนั้น ท่านอาจารย์กงมา และท่านพ่อลี
ก็ได้แนะนำข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ในการอยู่ร่วมกับท่านพระอาจารย์มั่นให้
ท่านพ่อลีได้ให้โอวาทในครั้งนี้ว่า
“การไปหาครูบาอาจารย์ต้องปฏิบัติตัวให้ดี และเอาให้ถึงธรรมให้ได้
ท่านพระอาจารย์มั่นเป็นพระแท้ พระจริง เราต้องทำตัวเราให้ถึงความจริงทั้งที่ท่านสอน
ถ้าเราไม่จริง เราจะไปปลอมปนอยู่กับท่านไม่ได้ เพราะของจริงกับของปลอมมันแยกแยะออกได้
ของสะอาดกับของสกปรก เราจะเอามาปนกันไม่ได้
ความสะอาดก็คือความสะอาด ความสกปรกก็คือความสกปรก
เราไปหาท่าน เราต้องเป็นแบบท่าน และพยายามทำให้ถึงธรรมอย่างที่ท่านเห็น
แล้วเราก็จะกลมกลืนในสายทางแห่งธรรมอันเดียวกัน การอยู่กับท่านก็จะได้ผลที่สุดเป็นที่หมาย”
บทเวลาจะไป โยมพ่อโยมแม่ ญาติพี่น้องร้องห่มร้องไห้กันใหญ่ จะไม่ยอมให้เดินทาง
ไม่ยอมให้ขึ้นเรือ พูดอ้อนวอน เพื่อจะไม่ให้ไปด้วยอุบายต่างๆ นานา พี่สาวท่านพูดขึ้นว่า
“พระไม่มีเงิน ถือเงินจับเงินเองไม่ได้ หาเงินเองไม่ได้ หากินเองไม่ได้จะไปได้อย่างไรกัน?”
ท่านก็ตอบเธอไปอย่างเด็ดๆ ว่า
“พระทั่วประเทศเขาไปยังไง อยู่ยังไง กินยังไง กูก็จะไปยังงั้น อยู่ยังงั้น กินยังงั้น
พระพุทธเจ้าสละราชบัลลังก์ออกบวชไม่เห็นจะมีปัญหามากขนาดนี้... โว้ย...”
เมื่อท่านพูดอย่างนั้น พี่สาวจึงยึดกลดเอาไปซ่อนไว้เลย ไม่ยอมให้
แม้กระทั่งใกล้เวลาที่เรือจะออกแล้ว ก็ไม่ยอมให้กลด ท่านก็ไม่รู้จะทำยังไงจึงพูดขึ้นว่า
“ถ้ามึงไม่ให้ กูก็ต้องนอนตากยุง คนยังห้ามกูไม่ได้ กลดหรือมันจะมาห้ามกูได้?”
เมื่อพี่สาวเห็นความตั้งใจอันแน่วแน่ จากนั้นเธอก็คืนกลดให้
การเดินทางไปหาพระอาจารย์มั่นครั้งนี้
ท่านเดินทางไปกับ ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก ผู้เป็นสหธรรมิก
จากนั้นท่านเดินทางจากจันทบุรีโดยทางเรือ ไปขึ้นที่ท่าราชวงศ์
พักอยู่กรุงเทพฯ พอประมาณแล้วออกเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ เข้าพักที่วัดเจดีย์หลวง
จากนั้นได้สอบถามทราบว่า พระอาจารย์มั่นพักอยู่ที่วัดร้างป่าแดง จึงเร่งรุดเดินทางเพื่อไปพบพระอาจารย์มั่น อย่างไม่รอช้า
พบพระอาจารย์ครั้งแรก
การเดินทางไปยังวัดร้างป่าแดงนี้
หลวงปู่เจี๊ยะรำพึงรำพันในใจถึงท่านพระอาจารย์มั่นนับครั้งไม่ถ้วน
ทั้งเหน็ดเหนื่อย ทั้งไม่รู้หนทาง ยากลำบากมิใช่น้อย
แต่เมื่อไปถึง ท่านได้เห็นว่า มีพระรูปหนึ่งรูปร่างเล็กๆ ลักษณะองอาจ
เป็นเถระรูปร่างสันทัด ผิวดำแดง นั่งห่มจีวรเปิดไหล่
แสดงอาการให้เห็นว่ารอใครบางคนอย่างเห็นได้ชัด อยู่บนแคร่น้อยๆ ใช้ไม้ไผ่ขัดแตะ
เอาหญ้าคามุงกั้นฝาเป็นฟาก หันหน้ามาทางที่จะเดินเข้าไป
แสดงว่าสนใจในคนที่มา แต่ไม่แสดงออกทางคำพูด แต่เป็นกริยาที่รับกัน
ท่านน้อมนึกในใจทันทีว่า พระเถระที่เห็นนี้แหล่ะ...ต้องเป็นพระอาจารย์มั่นแน่นอน
จากนั้นท่านได้หมอบเข้าไปกราบ ท่านจึงถามขึ้นว่า “มาจากไหน”
“มาจากจันทบุรี อยู่กับท่านอาจารย์กงมา ท่านอาจารย์ลี” เรากราบเรียนท่าน
“ท่านลี ท่านกงมา อ้อ! นั่นลูกศิษย์เรา”
ท่านพูดแบบอุทานเหมือนว่า รู้และเข้าใจในวิถีความเป็นมาเป็นไปของเรา
จากนั้นเมื่อได้โอกาสอันควร จึงกราบเรียนเรื่องเล่าเรื่องที่ภาวนาที่จิตเป็นไปให้ท่านฟังสั้นๆ
เป็นใจความว่า...“ครูบาอาจารย์ กระผมพิจารณากาย จนใจนี้มันขาดไปเลย”
องค์ท่านนิ่งฟังเฉย นิ่งเงียบไม่คัดค้านในสิ่งที่เล่าถวายแม้แต่คำเดียว กราบเรียนท่านต่อไปอีกว่า
“ครูบาอาจารย์...จะให้ผมทำอย่างไรต่อ”
“ให้ทำอย่างเดิมนั่นแหละ ดีแล้ว” ท่านตอบสั้นๆ แต่เป็นที่พอใจตรงใจ
ติดตามพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
วัดที่ท่านพระอาจารย์มั่นพักจำพรรษาอยู่ขณะนั้น คือวัดร้างป่าแดง เป็นวัดอยู่กลางป่ากลางทุ่ง
มีชาวบ้านอยู่ ๖ หลังคาเรือน บ้านห่างจากวัดประมาณ ๕๐๐ เมตร
กุฏิครูบาจารย์ท่านมุงด้วยใบตองตึง พื้นเป็นฟากไม้ไผ่ รูปลักษณ์เป็นทรงพื้นเมืองทางเหนือ
เรื่องธรรมเรื่องวินัยครูบาอาจารย์มั่นท่านละเอียดเป็นที่สุด
แม้แต่ต้นไม้ประดับประดา ปลูกให้มีดอกออกผลสวยงาม ท่านไม่ให้ปลูกภายในวัด
ถ้าเป็นพระ ท่านว่าเป็นพระเจ้าชู้ พระขุนนาง ชอบสวยงาม ชอบสะดวกสบาย
แต่ภายในหัวใจไม่มีอรรถธรรมแม้แต่น้อย ต้นไม้งามเท่าไหร่
ใจมันก็เสื่อมจากทางจงกรม นั่งสมาธิเท่านั้น
ในขณะที่ท่านพระอาจารย์มั่นได้มาพักพำนักปฎิบัติธรรม ณ วัดร้างป่าแดงแห่งนี้
ได้มีลูกศิษย์ของท่านที่เป็นพระกรรมฐาน เดินทางตามมา
เพื่อรับการอบรมทางด้านจิตตภาวนาโดยสม่ำเสมอมิได้ขาด
เช่น พระอาจารย์เทสก์ เทสรํสี พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ
พระอาจารย์พรหม จิรปุญฺโญ พระอาจารย์แหวน สุจิณฺโณ
พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์สิม พุทฺธาจาโร ฯลฯ
หลังจากเดินทางมาขอฝากตัวเป็นศิษย์
ได้รับฟังโอวาทจากท่านพระอาจารย์มั่นเป็นที่ซาบซึ้งแล้ว
ทั้งหลวงปู่เจี๊ยะและท่านพ่อเฟื่องต่างก็เข้าสู่ที่พักด้วยใจที่แข็งแกร่ง
แต่ด้วยอากาศที่หนาวเหน็บเข้าไปภายในนั้น ทำให้เนื้อตัวสั่นเทา
มีแต่เพียงจีวรบางๆ เป็นที่ห่อหุ้มร่างกาย เมื่อตกดึกๆ นอนไม่หลับ
จึงเดินเข้าไปหาท่านเฟื่อง แล้วกระซิบท่านเบาๆ อันเป็นการหยั่งเชิงดูหมู่เพื่อน
ว่าจะเป็นไปอย่างไร คิดอย่างไร ว่า
“เฟื่องเว้ย... หนาวเว้ย...กลับบ้านดีกว่า...”
ท่านเฟื่องก็นิ่งเฉย ไม่ตอบแต่อย่างใด
ส่วนภายในใจของเรานั้น ก็ไม่ได้ถอยแต่อย่างใดเช่นเดียวกัน
พอรุ่งเช้าวันใหม่ มองเห็นลายมือพอรู้ มองดูชายหญิงพอออกว่าเป็นชายหรือหญิง
มองต้นไม้ออกว่าเป็นต้นไม้อะไร ก็ออกจากที่พักอันเป็นเพิงเล็กๆ มุงด้วยใบตอง
มีหลังคาพอกันน้ำค้าง ที่นอนก็เป็นนแคร่ไม้ไผ่โยกเยกๆ เดินมากระท่อมน้อยอันเป็นศาลาหอฉัน
พอท่านพระอาจารย์มั่นเห็นหน้าเท่านั้นแหละ เหมือนดั่งว่าสายฟ้าฟาดลงบนกระหม่อมทันที
“คนทะลงทะเลไม่มีความอดทน ไป...ไป ไม่มีใครอาราธนามาที่นี่”
ท่านพูดเสียงดุดัง นัยตาก็กราดกร้าวเหมือนพญาเสือโคร่งใหญ่
เป็นกิริยาที่หมู่แมวๆ อย่างพวกเราต้องหมอบคลาน ก้าวขาก็ไม่ออก
เรื่องวาระจิตนี่ ท่านรู้ทุกอย่าง จะพูดจะคิดอะไรอยู่กับท่านต้องระวัง
ประมาทไม่ได้เป็นบาปใหญ่ เพราะท่านเป็นพระอรหันต์
เมื่อตั้งสติไว้ กำหนดไว้ได้แล้วค่อยก้าวเท้าเดินต่อไปด้วยความนอบน้อม
คำพูดของท่านเพียงเท่านั้นล่ะ มันวนเวียนอยู่ในใจ จะคิดอะไร จะพูดอะไร
เหมือนถูกคนสะกดบังคับให้ต้องเป็นไปตามแบบของท่าน ก็ได้แต่เพียงเตือนตนไว้ในใจว่า
“เอาละนะ เจอของจริงแล้ว ระวังตัวให้ดี”
จากนั้นมาท่านก็เมตตาใช้ทำนั่นทำนี่ ดูแลอุปัฏฐากใกล้ชิดท่าน
จิตใจก็ค่อยคุ้นๆ กับท่าน สบายใจขึ้นบ้าง
การที่ได้อยู่กับพระที่สมบูรณ์ทั้งความรู้ภายใน และความประพฤติ
นับว่าเป็นโชคอย่างมหาศาล การอยู่การฉัน ก็นับว่าลำบากมากในสายตาของชาวโลก
แต่ถ้าเป็นนักธรรม ถือว่าสมบูรณ์พอดีๆ
จากนั้นไม่นาน ฟันของท่านพระอาจารย์มั่นจึงหลุดขณะที่ใช้ไม้สีฟัน
ท่านพระอาจารย์มั่นมอบไว้ให้หลวงปู่เจี๊ยะ ท่านได้เก็บรักษาไว้อย่างดี
ซึ่งภายหลังหลวงปู่ได้เป็นผู้นำในการสร้างเจดีย์
เพื่อบรรจุพระทันตธาตุของท่านพระอาจารย์มั่น ชื่อว่า ภูริทัตตเจดีย์
ตั้งอยู่ที่ วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม ต.คลองควาย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี
ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่เจี๊ยะอยู่พักจำพรรษาในบั้นปลายชีวิต
พระอาจารย์ตีวัวกระทบคราดเพื่อสอนพระเณรองค์อื่นๆ
การอยู่ปฏิบัติกับพระอาจารย์มั่นนั้น หลวงปู่เจี๊ยะท่านว่า
ท่านโดนเอ็ด โดนดุด่าเอาแรงๆ เพราะท่านพระอาจารย์ใช้เป็นอุบาย
สั่งสอนพระเณรองค์อื่นๆ ในอาวาสอยู่บ่อยๆ
เช่นดังที่ท่านเล่าว่า
วันนั้นที่แม่กอย วัดร้างป่าแดงนั้นแหละ โอ้โฮ้!... เราเข้าไปกวาดทางไปส้วม
กวาดจนดีหมดแล้ว จนไม่มีที่ให้กวาด ยังเหลือตรงที่บ่อมันลึกๆ ก็เอาไม้กวาดโกยไม่ขึ้น
ท่าน (ท่านพระอาจารย์มั่น) เดินไปดู ดูตรงนั้น ดูตรงนี้ คือหาดูจนหมดทุกที่
คงไม่มีที่ให้ท่านดุ ท่านหาดูเสร็จแล้ว เดินมาหาเรื่องใส่เรานะ
อันนี้เรารู้ว่าท่านตีวัวกระทบคราด เพราะตอนนั้นมีพระมาอยู่ใหม่ๆ
นั่งคุยกันทั้งคืนๆ ท่านเดินมาเห็นเราเข้า เดินดิ่งปราดเข้ามาหาเลย
ถามขึ้นอย่างดังว่า
“เจี๊ยะโว้ย!...นี่!...นี่ใครเอาเทียนตรงนี้ไปหมด
แล้วไอ้ที่ตรงคลองน้ำข้างทางไปส้วม ใครฮึ...ใครกวาด...ฮึ”
ท่านก็รู้แล้วว่ามีพระใหม่ๆ มากัน ๓-๔ องค์ เอาเทียนไปจุดนั่งคุยกันจนเกือบสว่าง
มาถึงคุยกันตลอดเกือบสว่าง ไม่ภาวนาแต่ขยันคุยกัน พระห่า...นั้นก็ดี
ทีนี้ด่าคนอื่นไม่ได้ ต้องด่าเรา เอาอีกแล้วนึกในใจ พอเรากราบเรียนบอก
“ในร่องผมกวาดหมดแล้วนะครูบาจารย์”
แหม! ทีนี้ก็ด่าเรา ด่าเอา ยังไม่ทันได้ตั้งตัวรับ
“ข้ามหัวท่านกงมา (พระอาจารย์กงมา) ข้ามหัวท่านลีมา (พระอาจารย์ลี)
มาแล้วก็ต้องทำให้ดี ถ้าทำไม่ดี ก็อย่าอยู่นะ ไป๊!... ไป๊!...”
เอาใหญ่เลย เสียงดัง พวกพระเหล่านั้นก็ตกอกตกใจ มองหน้ากันเลิกลั่กแตกหนีกันใหญ่
“โอ้!...ท่านเจี๊ยะโดนอีกแล้ว” ก็แตกฮือกันหนี
ที่แท้ท่านตีวัวกระทบคราด ให้พระเหล่านั้นสำนึก ยังไม่มีใครรู้อีก หยาบหนาเหลือเกิน
ยังมาโทษหัวเราะเราอีก ไม่เห็นโทษของตัวเองเห็นแต่โทษคนอื่น
ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านดุเราอย่างนี้บ่อยๆ เราก็เสียใจเหมือนกัน
บางทีก็คิดน้อยใจ “เอ๊ะ! ทำไมด่าเราอย่างนี้น้อ..”
แต่เมื่อพินิจพิจารณาด้วยเหตุผล ก็ลงท่าน (ยอมท่าน) เพราะเรารักท่าน
ส่วนไอ้พวกพระที่มาใหม่ยังไม่รู้เรื่องอีก พากันขโมยเอาเทียนไปจุดกันทั้งคืน
ตี ๓ ถึงตี ๔ ยังไม่พอ ยังมาพากัน
“โอโฮ้! ๆ” ...ตำหนิแต่เรา ไม่รู้จักน้อมเข้ามาใส่ตน
นี่แหละท่านพระอาจารย์มั่น ท่านตีคนอื่นไม่ได้ ท่านก็ต้องตีลูกศิษย์
สอนลูกศิษย์อย่าให้เป็นอย่างนั้น อย่าทำตนอย่างพระพวกนั้น
พระพวกนั้นก็ดี อุตส่าห์มาหาท่าน ท่านสอนแล้วยังไม่รู้ว่าท่านสอน
ไม่รู้จักคิด ไม่รู้ว่ามาหาธรรมะแบบไหน อย่างนี้แหละ
ท่านตีคนอื่นไม่ได้ ก็ต้องตีลูกศิษย์คือตีเราแทน เราต้องคอยเอาหัวชิงรับศอกท่านเป็นประจำ
ติดตามอุปัฏฐากพระอาจารย์
จากเชียงใหม่ ท่านพระอาจารย์มั่นรับคำ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)
เข้าพักที่กรุงเทพฯ ณ วัดบรมนิวาสฯ ซึ่งขณะพำนักอยู่กรุงเทพฯ
มีผู้นิมนต์ให้รับภัตตาหารในบ้าน แต่ท่านพระอาจารย์มั่นจะไม่รับ
ท่านว่า ไม่สะดวกต่อการปฏิบัติสรีรกจหลังฉันเสร็จ
ท่านเดินทางจากกรุงเทพฯ ต่อไปยังนครราชสีมา ขอนแก่น และอุดรธานี
เข้าพักที่วัดโพธิสมภรณ์ตามคำนิมนต์ของ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์
อยู่ตามควรแล้วท่านก็ปรารภไปพักที่ป่าช้าตามวิสัยของท่าน
จึงได้เข้าพักที่ป่าช้าโนนนิเวศน์และจำพรรษาที่เสนาสนะป่าช้าโนนนิเวศน์
สมัยนั้นเป็นป่าช้าไม่ได้อยู่กลางเมืองอย่างนี้ เป็นที่ทิ้งศพโจรผู้ร้ายที่ถูกทางการฆ่าตาย
หลวงปู่เจี๊ยะอยู่จำพรรษาร่วมกับท่านพระอาจารย์มั่นที่เสนาสนะป่าโนนนิเวศน์เป็นพรรษาที่ ๒
รวมอยู่กับท่านมา ๒ ปี ๓ แล้ง ขณะนั้นท่านบวชได้ ๕ พรรษา
ทุกๆ วันมีประชาชนผู้เลื่อมใสเข้ามากราบไหว้ไม่ขาดสาย
ตอนเย็นท่านพระอาจารย์มั่นเมตตาแสดงธรรมภาคปฏิบัติให้แก่พระเณรฟัง
ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์เองท่านเดินทางมาฟังธรรมโดยสม่ำเสมอ
โดยจำพรรษาที่วัดโนนนิเวศน์ จังหวัดอุดรธานี เป็นเวลา ๒ พรรษา นับแต่จังหวัดเชียงใหม่มา
โดยการปฏิบัติของหลวงปู่เจี๊ยะในระยะนี้ได้บรรลุถึงผลอันน่าพึงใจ
ไม่เสียดายอาลัยทุกสิ่งในโลก คำสอนของพระศาสดาประจักษ์ใจ
หายสงสัย ลังเลเคลือบแคลงในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
ซาบซึ้งในพระคุณของท่านพระอาจารย์มั่นที่สั่งสอนอบรมมา
การที่ได้อยู่ปฏิบัติพระผู้ทรงคุณเช่นนี้ เป็นความโชคดีเหลือหลาย ได้รู้ในสิ่งที่เราไม่รู้
แต่ละวันจะมีผู้เข้ามาเกี่ยวข้องกับท่านพระอาจารย์ทั้งด้านภายนอกและภายในมาก
ตาต้องดูท่านตลอดอย่าให้คลาดเคลื่อน หูต้องฟังท่านตลอด
ไม่ว่าท่านจะพูดค่อยหรือแรง ใจต้องคิดตลอด ปัญญาอย่าอยู่นิ่งเฉย
เป็นพระอุปัฏฐากประจำพระอาจารย์มั่น
หลวงปู่เจี๊ยะ อยู่จำพรรษาร่วมกับพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
ที่วัดโนนนิเวศน์ จังหวัดอุดรธานี เป็นเวลา ๒ พรรษา นับแต่จังหวัดเชียงใหม่มา
พอออกพรรษาปีที่ ๒ แล้ว คณะศรัทธาทางจังหวัดสกลนคร
มี คุณแม่นุ่ม ชุวานนท์ เป็นต้น ซึ่งเคยเป็นลูกศิษย์เก่าแก่ของท่านพระอาจารย์
พร้อมกันมาอาราธนานิมนต์ท่านให้ไปโปรดทางจังหวัดสกลนครซึ่งท่านเคยอยู่มาก่อน
ท่านยินดีรับอาราธนา คณะศรัทธาทั้งหลายต่างมีความยินดี
พร้อมกันเอารถมารับท่านไปที่จังหวัดสกลนคร
ในปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๔ หลวงปู่เจี๊ยะจึงได้เดินทางติดตามท่านพระอาจารย์มั่น
ไปพักที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนครด้วย
ฉะนั้น ในระยะ ๓ ปีนี้ หลวงปู่เจี๊ยะท่านเป็นพระอุปัฏฐากประจำ
เมื่อเดินทางถึงสกลนครและพักอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาสได้ ๒-๓ วัน
พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ก็มีจดหมายมานิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่น
เนื่องจากพระอาจารย์เสาร์ป่วยหนัก
ท่านพระอาจารย์มั่นจึงมอบหมายให้เราเดินทางไปอุบลฯ แทน
เพื่อดูแลอุปัฏฐากในอาการป่วยของหลวงปู่เสาร์
และกราบเรียนตามที่ท่านพระอาจารย์มั่นสั่งมา
เราจึงออกเดินทางโดยรถยนต์ไปยังจังหวัดอุบลราชธานี
และเดินเท้าไปพบกับหลวงปู่เสาร์
ที่วัดดอนธาตุ ต.ทรายมูล อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี
อุปัฏฐากพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล
เนื่องจากได้เกิดเหตุการณ์ในตอนบ่ายวันหนึ่ง
พระอาจารย์เสาร์นั่งสมาธิอยู่ใต้โคนต้นยางใหญ่ พอดีขณะนั้น มีเหยี่ยวตัวหนึ่ง
ได้บินโฉบไปโฉบมาเพื่อหาเหยื่อ จะด้วยกรรมแต่ปางใดของท่านไม่อาจทราบได้
เหยี่ยวได้บินมาโฉบเอารังผึ้ง ซึ่งอยู่บนต้นไม้ที่หลวงปู่เสาร์นั่งอยู่พอดิบพอดี
รวงผึ้งนั้นได้ขาดตกลงมาด้านข้างๆ กับที่หลวงปู่เสาร์นั่งอยู่ ผึ้งได้รุมกันต่อยหลวงปู่หลายตัว
จนท่านถึงกับต้องเข้าไปในมุ้งกลด พวกมันจึงพากันหนีไป
จากเหตุการณ์ที่ผึ้งต่อยนั้นมา
ทำให้หลวงปู่เสาร์ป่วยกระออดกระแอดมาโดยตลอด
หลวงปู่เจี๊ยะหลังจากรับคำจากพระอาจารย์มั่นให้มาอุปัฏฐากพระอาจารย์เสาร์
ท่านก็ได้เดินทางมาหาพระอาจารย์เสาร์ที่วัดดอนธาตุ
เมื่อมาถึงวัดดอนธาตุได้ ๒-๓ วัน หลวงปู่เสาร์ท่านอาการหนักขึ้นโดยลำดับ
อยู่ปฏิบัติท่านจนกระทั่งหายเป็นปกติดีแล้ว
วัดดอนธาตุ บ้านทรายมูล ต.ทรายมูล อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี
เนื้อที่ราวๆ ๑๓๐ ไร่ มีแม่น้ำมูลล้อมรอบ เป็นเกาะอยู่กลางน้ำ
เป็นวัดที่ท่านหลวงปู่เสาร์มาสร้างเป็นองค์แรก แต่ก่อนบางส่วนในบริเวณที่วัดเป็นทุ่งนาชาวบ้าน
เมื่อหลวงปู่เสาร์ท่านมาภาวนา ญาติโยมเกิดความเลื่อมใสจึงถวายเป็นที่วัด
บริเวณเกาะกลางแม่น้ำมูลนี้จึงเป็นที่วัดทั้งหมด
หลวงปู่เจี๊ยะท่านเล่าว่า
ตอนที่เรา (หลวงปู่เจี๊ยะ) มาหาหลวงปู่เสาร์ ท่านอยู่ที่นี่ท่านไม่ค่อยเทศน์นักหรอก
มีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อเข้าหาท่าน ดูแลท่านเรื่องอาพาธ เมื่อท่านหายป่วยร่างกายมีเรี่ยวแรง
ญาติโยมขอฟังเทศน์ท่านว่า
“หลวงปู่เทศน์ให้ฟังหน่อยพวกขะน้อย (ฉัน) อยากฟังธรรม”
โยมที่มาถวายภัตตาหารเช้า เขานิมนต์ให้เทศน์ หลังจากท่านฉันเช้าเสร็จ
“ทำให้ดู มันยังไม่ดู ปฏิบัติให้ดูอยู่ทุกวัน มันยังไม่ปฏิบัติตาม เทศน์ให้ฟังมันจะฟังหรือ?
พวกเจ้าข้อยเฮ็ดให้เบิ่งยังบ่อเบิ่ง เทศน์ให้พวกหมู่เจ้าฟัง หมู่เจ้าสิฟังฤๅ”
เมื่อหลวงปู่เสาร์พูดเสร็จ ท่านก็สั่งให้ พระอาจารย์ดี ฉันโน
ผู้เป็นลูกศิษย์ที่นั่งเป็นลำดับต่อจากท่านไปเป็นองค์เทศน์
พระอาจารย์เสาร์ท่านมีปกติเป็นพระพูดน้อย ต่อยมาก
ส่วนมากท่านทำให้ดู เพราะท่านมีคติว่า
“เขาสิเชื่อความดีที่เฮาเฮ็ดหลายกว่าคำเว้าที่เฮาสอน”
(เขาจะเชื่อในสิ่งที่เราทำมากกว่าจะเชื่อในสิ่งที่เราพูด)
ธุดงค์ติดตามพระอาจารย์เสาร์ไปประเทศลาว
หลังจากหลวงปู่เสาร์ท่านหายจากอาพาธแล้ว ธาตุขันธ์กระปรี้กระเปร่า
ท่านจึงเดินทางไปทำบุญอุทิศให้ท่านแดดัง ผู้เป็นอุปัชฌาย์ของท่านซึ่งอยู่ที่หลี่ผี ประเทศลาว
(ตามปกติหลวงปู่เสาร์จะซอบออกธุดงค์ลงไปทางใต้นครจำปาศักดิ์ หลี่ผี ปากเซ
ฝั่งประเทศลาว แล้วก็ย้อนกลับมาจำพรรษาที่วัดดอนธาตุเป็นประจำทุกปี)
หลวงปู่เสาร์เดินทางล่วงหน้าไปประเทศลาวก่อน
หลวงปุ่เจี๊ยะจึงเดินธุดงค์ติดตามไปทีหลัง
ความจริงท่านตั้งใจว่าจะกลับสกลนครไปหาท่านพระอาจารย์มั่น
แต่เมื่อมานึกถึงคำสั่งของท่านพระอาจารย์มั่นก็ให้หวนรู้สึกประหวัดๆ อยู่ในใจว่า
“เจื้ยะเอ้ย...ดูแลหลวงปู่เสาร์แทนผมให้ดีนะ
ถึงการป่วยอาพาธของท่านจะหายก็อย่าได้ไว้วางใจเป็นอันขาด”
เมื่อเป็นดังนี้ท่านจึงจำเป็นต้องเดินธุดงค์ติดตามหลวงปู่เสาร์ไปประเทศลาว
เพราะมีความมั่นใจในความรู้พิเศษของท่านพระอาจารย์มั่นว่า
ท่านต้องทราบเหตุการณ์ล่วงหน้าในเรื่องอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่นอน
จึงกำชับให้ดูแลหลวงปู่เสาร์เป็นอย่างดี
ท่านเน้นว่า “อย่าได้ไว้วางใจ” เหมือนกับท่านบอกเป็นนัยๆ
แต่ท่านไม่พูดตรงๆ จะเป็นการทำนายครูบาอาจารย์
ท่านพระอาจารย์มั่นท่านเคารพรักหลวงปู่เสาร์มาก
หลวงปู่เจี๊ยะเดินทางไปยังนครจำปาศักดิ์เพื่อติดตามพระอาจารย์เสาร์โดยทางเรือ
เมื่อเรือเลียบฝั่ง ท่านได้พาพระเณรทั้งหมดไปพักยังวัดอำมาตย์ นครจำปาศักดิ์
มุ่งเพื่อจะไปให้ทันหลวงปู่เสาร์ แต่คลาดกัน หลวงปู่เสาร์ได้ธุดงค์ไปที่หลี่ผีก่อน
พักที่วัดอำมาตย์พอสมควรแล้ว ต่อจากนั้นได้ธุดงค์ต่อไปที่ห้วยสาหัว เขตนครจำปาศักดิ์
ห่างตัวเมืองราว ๑๐ กว่ากิโลเมตร พักอยู่ที่นี่ราว ๔ เดือน
สิ้นพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล
ต่อมาพระครูเม้าวัดอำมาตย์ ให้คนถือจดหมายมาบอกให้ทราบว่าหลวงปู่เสาร์ป่วยหนัก
และท่านกำลังจะเดินทางมาโดยทางเรือ มาถึงนครจำปาศักดิ์ ประมาณ ๕ โมงเย็น
ให้เรากับพระเพ็งผู้เป็นหลานของหลวงปู่เสาร์ มารอรับท่านหลวงปู่เสาร์
เรือของท่านหลวงปู่เสาร์จะมาถึงนครจำปาศักดิ์ ประมาณ ๕ โมงเย็น
เมื่อเรือของหลวงปู่เสาร์มาถึง เราพร้อมกับพระเพ็งก็ลงไปรับท่านในเรือ
พบว่าหลวงปู่เสาร์ท่านมีอาการหนักมาก จึงจัดเปลหามเข้าไปในวัดอำมาตย์
พาท่านเข้าไปในอุโบสถที่ทำด้วยไม้
ท่านก็ทำกิริยาให้ประคองท่านขึ้นกราบพระเราทั้งสองก็ประคองท่านขึ้นเพื่อกราบพระ
เมื่อกราบลงครั้งที่สาม สังเกตเห็นท่านกราบนานผิดปกติ
จึงจับชีพจรดูจึงรู้ว่าชีพจรไม่ทำงาน พระทั้งหลายที่อยู่ในพระอุโบสถก็ว่า
“หลวงปู่เสาร์มรณภาพแล้วๆ” เราจึงตะโกนพูดขึ้นว่า
“ปู่ยังไม่มรณภาพ ตอนนี้ปู่เข้าสมาธิอยู่ ใครไม่รู้เรื่องอย่าเข้ามายุ่ง”
จึงพยุงท่านจากอิริยาบถนั่งเป็นอิริยาบถนอน แต่ทำได้ยาก
เพราะท่านมีอาการจะดับขันธ์อยู่แล้วขณะที่พยุงให้ท่านนอนลงนั้น
สังเกตเห็นมีพระเณรนั่งร้องไห้อยู่หลายรูป เราจึงไล่พระเณรเหล่านั้นออกไป
เมื่อหลวงปู่เสาร์เข้าสู่อิริยาบถนอน ท่านก็หายใจยาวๆ ๓ ครั้งนี้
แล้วท่านก็ถึงแก่กาลกิริยาโดยสงบ เมื่อเวลา ๑๗.๓๐ น.
วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๕ (สิริอายุรวมได้ ๘๓ ปี)
หลวงปู่เจี๊ยะเล่าเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ดังนี้
“เราจึงได้จัดเรื่องงานศพทุกอย่างสุดความสามารถ
ให้สมกับหน้าที่ที่ท่านพระอาจารย์มั่นไว้ใจและมอบหมาย
จัดแจงทุกอย่างที่เห็นว่าเป็นสิ่งที่สมควรทำ
ส่งโทรเลขไปบอกคุณวิชิตที่จังหวัดอุบลราชธานี และหาครกใหญ่ๆ มารองตำถ่าน
เราถอดอังสะเหน็บเตี่ยว หาไม้ใหญ่ๆ มา ยกตำๆ ตัวนี่ดำหมด
ตำถ่านใส่โลงท่าน เราตำเองทั้งหมด
ถ่านนี้ใส่รองพื้นโลงเพื่อดูดน้ำเหลืองไม่ให้เหม็น วางถ่านรองพื้นโลงเสร็จ
แล้วเอาผ้าขาวปูทับอีกทีหนึ่ง ถ่านต้องเลือก อย่าเอาที่แตกๆ
เวลาปูลงที่พื้นโลงให้ถ่านสูงประมาณ ๑ คืบ ใช้ถ่านประมาณ ๒ กระสอบก็เพียงพอ
เมื่อตำถ่านเสร็จแล้วตัวดำหมดเลย เราลงโดดน้ำโขงตูม...ตูม...
เราเป็นคนแข็งแรง ทำอะไรคนอื่นทำไม่ทัน
เมื่อเอาถ่านรอง ผ้าขาวปู ก็เอาศพท่านวางให้เรียบร้อย แล้วขอขมา
ตั้งศพไว้ระยะหนึ่งให้ชาวจำปาศักดิ์มาสักการบูชา
เมื่อเห็นสมควรจึงนำศพท่านลงเรือกลับอุบลฯ ข้ามฝั่งโขงแล้ว
ต่อมาคุณวิชิต โกศัลวิตร ซึ่งเป็นลูกศิษย์ท่าน
กับพระเถระมีพระอาจารย์ทอง เป็นต้น และญาติโยมชาวจังหวัดอุบลฯ
จึงได้จัดขบวนรถยนต์ไปรับศพท่านกลับมายังจังหวัดอุบลราชธานี
ส่วนเราเมื่อนำศพหลวงปู่เสาร์ลงเรือกลับอุบลฯ แล้ว เราจึงเดินธุดงค์จากประเทศลาว
เข้าทางจังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ
มาพักที่วัด พระอาจารย์ทอง อโสโก ศิษย์ผู้ใหญ่ของหลวงปู่เสาร์
เดินต่อมาทางนครพนม สกลนคร เพื่อร่วมจำพรรษากับท่านพระอาจารย์มั่น
และกราบเรียนเรื่องการมรณภาพของหลวงปู่เสาร์ให้ท่านพระอาจารย์มั่นทราบ”
จิตปราดเปรียวขณะธุดงค์
กลับจากประเทศลาวไปพบพระอาจารย์มั่น
การเดินธุดงค์ในระยะนี้ จึงนับว่าเป็นโอกาสอันดี
ที่จะได้พิจารณาธรรมเต็มความสามารถ เพราะไม่มีสิ่งใดก่อกวน
พระพุทธองค์จึงตรัสธรรมะเกี่ยวกับการอยู่ป่าไว้มาก
เพราะพระองค์ ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานในป่า
ในอนุศาสน์ที่พระอุปัชฌาย์พร่ำสอนเมื่อเราบวช ก็สอนให้ไปอยู่ป่า อยู่ตามรุกขมูลร่มไม้
ย่างเข้าสู่เดือนมีนาคม ฤดูแล้งแล้วอากาศร้อนอบอ้าว หาพักตามร่มไม้ชายเขา ร่มยางใหญ่
มีทางลมพัดผ่าน ก็พอไล่อากาศร้อนอบอ้าวหนีไปได้บ้าง
การออกมาจากท่านพระอาจารย์ อาจจะว้าเหว่อยู่บ้าง
แต่การออกมาปฏิบัติภารกิจตามคำสั่งของท่าน ก็เป็นความอุ่นใจภายใต้ร่มบารมี
จะเดิน จะทำ จะพูด จะคิดอะไร มีเสียงเตือนของท่านแว่วมาทางโสตประสาทเสมอ
เหมือนเราเดินวนเวียนอยู่ใต้ร่มไม้ร่มใหญ่ใบดกหนา
อีกทั้งใต้พุ่มไม้นั้น ก็มีน้ำให้อาบดื่มกิน นำพาความรำพึงหวังให้สดชื่นแก่จิตใจได้ไม่น้อย
ชีวิตพระป่าถ้าทำให้มันพะรุงพะรังนัก มันหนักตนเอง
“มันถ่วงหัวทุบหาง” ท่านพระอาจารย์มั่นท่านว่าอย่างนี้
หนักปัจจัยสี่ ไปที่ไหนรกรุงรัง ท่านพระอาจารย์มั่นท่านสอนอย่างนี้เสมอ
ลาภสักการะย่อมฆ่าคนโง่ที่หลงงมงายได้
ว่าตัวได้ตัวดีกว่าคนอื่นเขา อันนี้เราจำเอาจนขึ้นใจ
ท่านสอนว่า “ถ่วงหัว ทุบหาง” เหมือนกับเวลาเขาดักสัตว์ในป่า
เขาเอาก้อนหินเทินกันไว้แบบหมิ่นเหม่เอาไม้ค้ำไว้ ใส่เหยื่อเข้าไปวางไว้
กระรอก กระแต ลิง ค่าง อะไรพวกนี้เห็นอาหารนั้นก็รีบวิ่งปรี่เข้าไปเอาเหยื่อด้วยความอยาก
เมื่อเข้าไปกินเหยื่อจะวิ่งชนไม้ที่ค้ำก้อนหินที่วางดักนั้นก้อนหินนั้นก็จะหล่นลงมาทุบหัวตาย
ในที่สุดสัตว์เหล่านั้นก็เป็นอาหารของมนุษย์ผู้ซึ่งฉลาดกว่า
ภาษาทางภาคอีสานเขาเรียกว่า “ดักอีทุบ”
สัตว์ตัวไหนหลงเข้าไปในกลลวงที่เขาหลอก ก็มีแต่ตายอย่างทรมานเท่านั้น
สมณะที่ออกเจริญสมณธรรมตามป่าตามเขาก็เช่นเดียวกัน
ไปเจอเสียงเยินยอสรรเสริญว่าขลังอย่างนั้น ดีอย่างนี้ มีลาภสักการะ
มีคนนับถือมากเข้าแล้วลืมตน ลืมพระธรรมคำสอนของครูบาอาจารย์
จิตใจไพล่ไปยินดีในปัจจัยสี่เหล่านั้น ก็จะถูกสิ่งเหล่านั้นทับหัวใจ
ทุบหัวใจ ให้กลายเป็นผู้ไร้ศีลธรรม ไร้ยางอาย พิจารณาอะไร
นั่งภาวนาอย่างไรก็ยกจิตไม่ขึ้น จิตนั้นถูกกดทับด้วยกิเลสอย่างหยาบ
เมื่อพิจารณาถึงคำสอนของท่านพระอาจารย์มั่นที่แว่วมาอยู่เรื่อยๆ จึงไม่เกี่ยวยุ่งด้วยผู้คน
นำธรรมะที่ท่านสอนมาพิจารณาตีให้แตกด้วยอริยสัจสี่ คลี่คลายไม่ลดละ
จิตตอนนั้นปราดเปรียวหมุนโดยอัตโนมัติ
สู่เสนาสนะป่าบ้านโคก
ภายหลังจากอยู่จำพรรษาในภาคเหนือเป็นเวลา ๑๒ ปีแล้ว
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระได้เดินทางมาจำพรรษาที่วัดป่าโนนนิเวศน์ จังหวัดอุดรธานี
ตามคำอาราธนาของท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เป็นเวลา ๓ พรรษา
แล้วจึงมาพำนักที่ เสนาสนะป่าบ้านโคก ตรงที่เป็นบริเวณวัดร้างชายป่า
ใกล้บ้านโคกในปี พ.ศ.๒๔๘๕ ในปัจจุบันคือที่ว่าการอำเภอโคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร
โดยพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ได้ทราบข่าวการจำพรรษาของท่านพระอาจารย์มั่น
จึงเดินทางจากจันทบุรีเข้ามานมัสการพระอาจารย์มั่น
ซึ่งบ้านโคกแห่งนี้คือบ้านเดิมของพระอาจารย์กงมาเอง
พระอาจารย์กงมาได้พยายามแนะนำชาวบ้านให้พากันเลื่อมใสในธรรม
จนบรรดาญาติมิตรเดิมของท่านก็ได้พากันเลื่อมใสปฏิบัติธรรมกันมากขึ้นเป็นลำดับ
เท่ากับท่านได้มาโปรดญาติโยมของท่านอีกด้วย
องค์ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่เสนาสนะป่าบ้านโคก
กับพระอาจารย์กงมา ๑ พรรษา และพระเณรรูปอื่นๆ
โดยพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ซึ่งได้มอบตัวเป็นศิษย์
และอยู่ฝึกหัดกัมมัฎฐานกับหลวงปู่มั่นเป็นครั้งแรก ณ เสนาสนะแห่งนี้
เมื่อมาอยู่ที่ใหม่นี้ชาวบ้านจึงถวายที่ตั้งวัด ได้สร้างศาลาและกุฏิถวายหลวงปู่มั่น
ตั้งชื่อสำนักสงฆ์นี้ว่า “วัดป่าวิสุทธิธรรม” เมื่อปลายปี พ.ศ.๒๔๘๕
เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่หลวงปู่มั่นได้มาจำพรรษา ณ บ้านโคก
อันเป็นบ้านเกิดของพระอาจารย์กงมา
ส่วนพระอาจารย์มั่นได้ไปจำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านนามน
ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ ๒ กิโลเมตร ในปี พ.ศ. ๒๔๘๖
และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ท่านจึงได้มาจำพรรษาที่วัดป่าวิสุทธิธรรม
ตามที่พระอาจารย์กงมาได้อาราธนานิมนต์
ครูบาอาจารย์โปรดเรียก “ผ้าขี้ริ้วห่อทอง”
ในระหว่างพรรษา ท่านพระอาจารย์มั่นชอบเรียกเราว่า “เฒ่าขาเป๋”
หรือบางทีท่านก็เรียกว่า “ผ้าขี้ริ้วห่อทอง” ตามแต่ท่านจะพูดและสอนเพื่อเป็นคติ
ตอนหลังท่านอาจารย์มหาบัวท่านก็เมตตาเรียกเหมือนกัน
อยู่มาวันหนึ่งท่านพระอาจารย์มั่นได้พูดถึงหลวงปู่ขาว อนาลโย ว่า
“หมู่เอ๊ย!...ให้รู้จักท่านขาวไว้นะ ท่านขาวนี่เธอได้พิจารณาถึงที่สุดแล้ว”
หลังจากท่านกล่าวชมหลวงปู่ขาวแล้ว ท่านก็หันมาพูดเรื่องเราว่า
“เออหมู่เอ๊ย!...มีหมู่มาเล่าเรื่องการภาวนาให้เราฟังที่เชียงใหม่เว้ย...
เธอปฏิบัติของเธอสามสี่ปีเหมือนเราลงที่นครนายก
‘มันลงเหมือนกันเลย’ ท่านย้ำว่าอย่างนั้น
ท่านองค์นี้ภาวนา ๓ ปี เท่ากับเราภาวนา ๒๒ ปี
อันนี้เกี่ยวเนื่องกับนิสัยวาสนาของคนมันต่างกัน”
การที่เรานำสิ่งที่ครูบาอาจารย์ชมมาเล่า ไม่ได้หมายยกตนเทียมท่าน
แต่การที่ฝึกปฏิบัติเร็วช้านี้ แล้วแต่บุญกรรมและความเพียรของใครของมัน
ที่พูดให้ฟังนี้ไม่ได้เทียบกับท่าน แต่นำสิ่งที่ท่านพูดมาพูดให้ฟัง
จะได้รู้ว่าเบื้องหลังเราปฏิบัติมายังไง
ออกวิเวกตามหาพระอาจารย์ขาว อนาลโย
ช่วงพรรษาที่ ๗-๑๐ (พ.ศ. ๒๔๘๖-พ.ศ. ๒๔๘๙)
หลังจากได้อยู่ร่วมกับท่านพระอาจารย์มั่นเป็นเวลา ๓ ปี ๔ แล้งแล้ว
ผ่านฤดูแล้งปี ๘๖ ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านปรารภจะไปจำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านนามน
หลวงปู่เจี๊ยะท่านเห็นว่า ท่านพระอาจารย์มีลูกศิษย์ลูกหามากขึ้นแล้ว
อาจารย์มหาบัวซึ่งมาฝากตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่นก็เป็นที่ตายใจ ท่านเก่งฉลาด
เป็นที่ตายใจในเรื่องเกี่ยวกับท่านพระอาจารย์ได้เป็นอย่างดีเยี่ยม
ในขณะนั้นพระเณรที่ติดตามและลูกศิษย์ของท่านพระอาจารย์มั่นมีมากขึ้นโดยลำดับ
ชื่อเสียงเรื่องคุณธรรมของท่านเป็นที่เลื่องลือขจรไปทั่วทุกทิศ
หลวงปู่เจี๊ยะจึงเข้าไปกราบลาท่านและปลีกตัวอยู่องค์เดียวเร่งความเพียร
โดยพยายามสืบเสาะหาว่า ท่านอาจารย์ขาว อนาลโย อยู่ที่ไหน
เพราะท่านเป็นพระที่ท่านพระอาจารย์มั่นรับรองว่า เป็นพระถึงที่สุดแห่งธรรมแล้ว
ได้ทำไว้ในใจว่า ถ้าทราบข่าวว่า
ท่านอาจารย์ขาวอยู่ที่ไหน ก็จะดั้นด้นเข้าไปกราบให้จงได้
เมื่อท่านออกจากท่านพระอาจารย์มั่นแล้วก็เพียรค้นหาพระอาจารย์ขาว อนาลโย จนเจอ
แล้วก็มาได้ศึกษาคุยสนทนาธรรมกับท่านในเรื่องการปฏิบัติได้ถามเรื่องต่างๆ นานา
เพราะพระอาจารย์ขาวท่านเป็นผู้เฒ่าผู้แก่มีความชำนิชำนาญ
หลวงปู่เจี๊ยะท่านว่า สมัยท่านยังเป็นเด็กอยู่ก็ต้องศึกษากับครูบาอาจารย์
สิ่งใดผิด สิ่งใดถูก แล้วก็ได้เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นการค้นคว้าจึงเป็นหลักสำคัญมาก
ค้นลงไป ค้นให้มาก ค้นเข้าไปพิจารณาไปเพื่อให้เห็นความจริง
ศึกษาธรรมกับพระอาจารย์ขาว อนาลโย
หลวงปู่เจี๊ยะท่านว่า
ทุกครั้งที่ได้พบพระอาจารย์ขาวกี่ครั้งๆ ท่านก็ถามว่า
“เจี๊ยะเป็นไงเอ๊ย ค้นบ่ ค้นบ่?” ท่านถามบ่อยๆ
“ค้นครับ” เราก็ตอบท่านอย่างนั้น
“เออ! เอาอย่างนั้นสิ” ท่านพูดให้กำลังใจว่าที่ทำนั้นถูกต้องไม่ผิด
ตอนหลังๆ เมื่อเจอะคุยกันกับท่าน ท่านก็ถามอย่างเดิม
หลวงปู่เจี๊ยะก็ตอบท่านอย่างเดิมว่า
“ค้นครับครูบาจารย์ ค้นครับ ค้นแยะ”
“เอ้อ!...อย่างนั้นสิ มันถึงจะดี” ท่านว่าอย่างนั้น
ออกจากแล้วก็เดินทางไปพักอยู่บริเวณป่าช้าบ้านนาสีนวล
จำพรรษาที่บ้านนาสีนวล วนเวียนอยู่ในรัศมีของท่านอาจารย์มั่น
บ้านนาสีนวล ห่างจากบ้านนามน (ที่ซึ่งพระอาจารย์มั่นจำพรรษาในระยะนั้น) ไม่มากนัก
เดินทางไปมาได้สะดวก วันอุโบสถก็เดินทางมาร่วมทำอุโบสถกับท่าน
รับโอวาทเทศนาธรรมที่ท่านแสดงไม่ว่าจะไปที่ไหน ประหนึ่งว่าท่านดูเราอยู่ตลอดเวลา
จำพรรษาเสนาสนะป่าบ้านนาสีนวล
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จำพรรษา ณ วัดป่านาคนิมิตต์ บ้านนามน
ภายหลังจากปวารณาออกพรรษาแล้ว องค์ท่านได้จาริกมาพำนัก
ณ บ้านนาสีนวล ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านนามน ประมาณ ๕ กิโลเมตร
“การมาอยู่บ้านนาสีนวลนี้ถือว่าเป็นการพักผ่อนของท่าน
ตามธรรมดาท่านก็พักผ่อนอยู่แล้วไม่ว่าอยู่ที่ไหน แต่การอยู่ในหมู่บ้านใหญ่
พระภิกษุสามเณรก็จะมาพักเพื่อศึกษามาก เป็นการกังวลในการดูแลแนะนำสั่งสอน
เมื่อมาอยู่บ้านนาสีนวล พระภิกษุสามเณรมาอยู่มากไม่ได้
เพราะเป็นบ้านเล็ก จึงถือว่าเป็นการพักผ่อน
ในกาลบางครั้งพระภิกษุสามเณรผู้อยู่โดยรอบไม่ไกลนัก
ก็ถือโอกาสเข้ามานมัสการเพื่อรับโอวาทจากท่านเป็นครั้งคราว
นอกจากหลวงปู่มั่นแล้วยังมีหลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท
ได้มาจำพรรษาระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๖-๒๔๘๙ อีกด้วย”
(จากบันทึก “ใต้สามัญสำนึก” โดย พระอาจารย์วิริยังค์ สิรินฺธโร
ได้บันทึกเกี่ยวกับการมาพำนักที่บ้านนาสีนวลของท่านพระอาจารย์มั่น)
คืนภูมิลำเนา...จังหวัดจันทบุรี
เนื่องจากหลวงปู่เจี๊ยะท่านจากบ้านเกิด คือจังหวัดจันทบุรี
มานานเป็นเวลา ๙ ปีแล้ว เฝ้ารำลึกถึงพระคุณของบิดามารดาอยู่ไม่ห่าง
อยากจะทดแทนคุณท่านด้วยอรรถด้วยธรรม
แทนข้าวน้ำปลาอาหารทรัพย์สินเงินทอง
อย่างที่ชาวโลกเขาตอบแทนกัน กอปรกับเวลานั้นทราบข่าวว่า โยมแม่ป่วย
จึงนับว่าเป็นเหตุสมควร ที่จะเดินทางกลับมาถิ่นฐานบ้านเดิม
อีกทั้งคิดถึงท่านพระอาจารย์ลี ธมฺมธโร
(วัดป่าคลองกุ้ง จ.จันทบุรี-วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ)
ผู้เป็นบุพพาจารย์สอนธรรมะมาก่อน
เมื่อคิดอย่างนี้ จึงธุดงค์จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาทางภาคตะวันออก
อันเป็นถิ่นฐานบ้านเดิม แวะพักตามชายป่าชายเขา รุกขมูลร่มไม้
การสัญจรไปมาในระยะนั้นถนนหนทางยังไม่สะดวก
ไปที่ไหนส่วนมากเดินไปด้วยเท้า ไม่ค่อยมีรถยนต์
หลวงปู่เจี๊ยะท่านว่า
“กรรมฐานทุกวันนี้จึงแตกต่างกับกรรมฐานสมัยก่อนมาก
เป็นกรรมฐานขุนนาง เนื้อตัวโดนแดดโดนลมไม่ได้ กลัวจะดำ
หรูหราฟุ่มเฟือยมากเหลือเกิน ธุดงค์ขึ้นรถไปเลยบางทีนั่งเรือบินไปธุดงค์
เพียงแค่ขณะจิตแรกนี้มันก็ไม่เป็นธรรมเสียแล้ว”
“สมัยอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นลำบากเหลือเกิน
อาหารการกินไม่บริบูรณ์เหมือนทุกวันนี้
กินพริกกินเกลือ เพียงแค่นี้ก็อยู่ปฏิบัติธรรมได้แล้ว
เดี๋ยวนี้อาหารมากมายกองทับหัวพระแล้ว จึงทำให้พากันนิสัยเสียไปหมด
อยู่กับท่านเรื่องกินจึงไม่กังวลภาวนาอย่างเดียว”
นี้แหละจึงบอกให้ทราบว่า กรรมฐานแบบท่านพระอาจารย์มั่นนั้น
ท่านสู้ตายเพื่ออรรถธรรมจริงๆ ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง
แต่กรรมฐานขุนนางนี่สิ ลาภเกิดก่อนธรรม
มันผูกมัดรัดจิตไว้หมดปฏิบัติภาวนาจึงไม่ไปไหนไหน
วนๆ ไปอยู่ขอบนรกนั่นแหละ คือวนๆ คลุกคลีอยู่กับพวกชาวบ้าน
แถวบ้านร้านตลาดนั่นแหละ ไม่กล้าที่จะไปไหนไกลๆ เพื่อธุดงค์หรอก”
ในระหว่างที่หลวงปู่เจี๊ยะธุดงค์กลับทางบ้านเกิดนั้น การพิจารณาด้วยปัญญามันรวดเร็วดั่งใจ
กำหนดนี่ ถึงไหนถึงนั้น ไม่พรั่นพรึง พิจารณากายถอยหน้าถอยหลัง เบื้องบนเบื้องล่าง
อนุโลมปฏิโลม พิจารณาซะจนจิตนี้ราบเป็นหน้ากลอง ถึงความเป็นสภาพหนึ่งเดียว
ประจักษ์ใจในพระธรรมที่ปรากฏสุดที่จะพรรณนา
สิ่งที่ท่านพระอาจารย์มั่นพร่ำสอนว่า
“คัมภีร์ธรรมนั้นอยู่ที่กายกับจิต พิจารณาเข้าไปเป็นของดี
ไม่ต้องไปหาที่อื่นไกล ก็มาปรากฏเป็นประจักษ์พยานอันเด่นดวง”
ไม่ว่าเราจะไปอยู่ที่ใด จะสุขหรือทุกข์
คำสอนของท่านพระอาจารย์มั่นจะมากระตุ้นเตือนอยู่เสมอว่า
“การปฏิบัติอย่าให้เนิ่นช้า อย่าให้เสียเวลาในชาติปัจจุบัน”
เมื่อนึกถึงคำสอนของท่านอย่างนี้ก็เร่งความเพียรโดยตลอด
เมื่อเดินทางเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ก็เข้าไปขอพักกับ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (ชื่น) ที่วัดบวรฯ
ทุกๆ ครั้งที่ผ่านทางกรุงเทพฯ จะเข้าไปพักกับท่านเสมอๆ
หวนคืนถิ่น “วัดทรายงาม” พบโยมบิดามารดา
เมื่อหลวงปู่เจี๊ยะออกจากจากกรุงเทพฯ มาจันทบุรี
ก็เข้าไปพักที่วัดป่าคลองกุ้ง แล้วเดินทางต่อไปที่วัดทรายงาม
โยมพ่อโยมแม่ทราบข่าวว่ามาเท่านั้นก็วิ่งออกมาจากบ้าน ร้องห่มร้องไห้กันใหญ่
โยมแม่บอกว่า
“ลูก ไปยังไง ทำไมไม่ส่งข่าวมาทางบ้านบ้าง อยู่หรือตาย
ไม่สบายหรือป่วย ให้แม่รู้ว่ามีชีวิตอยู่ก็ยังดี?”
โยมแม่พูดพร้อมร้องไห้
หลวงปู่ท่านว่า
“โยมแม่...ก่อนไปก็ร้องไห้ กลับมาก็ร้องไห้
นี่ถ้าอยู่บ้านปกติ ไม่ต้องไปไหน โยมแม่ก็คงจะร้องไห้เหมือนเดิม
หรืออาจจะเป็นเหตุให้โยมแม่ร้องไห้มากกว่าเดิมก็ได้
โยมแม่...สิ่งที่ล่วงมาก็ผ่านมาแล้ว
ตอนนี้ก็มาแล้ว เห็นโยมแม่อาตมาก็ดีใจเหมือนกัน”
โยมแม่จึงพูดว่า
“ลูกเอ๋ย...แม่ก็ป่วย ร่างกายก็ไม่ดี
เกิดตายไปก่อน ไม่ได้เห็นหน้าลูก แม่จะเสียใจมาก
เวลาป่วยไข้ไม่สบายมากก็นึกถึงแต่ลูกๆ ขาดใครคนใดคนหนึ่งไปก็อดห่วงใยไม่ได้
นี่ไปเป็น ๙ ปี ๑๐ ปี ไม่มีวี่แววว่าตายหรืออยู่ ก็ห่วงอยู่ไม่หาย
นี่ไปอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นมาได้อะไรมาบ้าง?”
ท่านได้ตอบไปว่า
“บุญที่บวชในชาตินี้ ทดแทนบุญคุณพ่อแม่ได้
อย่างไรโยมพ่อโยมแม่ก็ไม่ตกนรก”
ปี ๒๔๙๐-๒๔๙๑ หลวงปู่เจี๊ยะกลับมาจำพรรษาที่บ้านเกิดนั้น
มีพระจำพรรษาด้วยกัน ๑๑ รูป กลับมาที่บ้านเกิดวัดทรายงาม
พอดีมาพบกับ ท่านอาจารย์จันทร์ เขมปตฺโต
และ ท่านอาจารย์มหาทองสุก สุจิตฺโต
ซึ่งท่านก็มาพักจำพรรษาอยู่ที่วัดทรายงามนี้
เมื่อเจอท่านทั้งสองแล้ว ท่านจึงพูดกับเราว่า
“เจี้ยะเอ้ย!...ท่านไปอยู่กับครูอาจารย์มั่นตั้งหลายปี
พวกเรานี้ได้จากท่านพระอาจารย์มั่นมาตั้งนาน คิดถึงท่าน
อยากฟังธรรม อยากรับโอวาทอันเป็นอุบายอันแยบคาย อันนำมาซึ่งธรรมปีติ
พอดีแหละกับที่ท่านมา ท่านมานำหมู่เพื่อนที่นี้
พวกผมจะไปกราบท่านอาจารย์มั่น ท่านจงเฝ้าวัด”
เมื่อเหตุการณ์เป็นดังนั้นท่านก็ทำหน้าที่รักษาการณ์ดูแลเรื่องราวต่างๆ
อยู่ต่อมาเห็นหนังสือธรรมะเกี่ยวกับการปฏิบัติที่
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ท่านบรรยายไว้เกี่ยวกับเรื่องการพิจารณากาย
เมื่อนำมาอ่านดู เกิดความปีติน้ำตาไหล
เพราะสิ่งที่เราทำอยู่นั้นโดยไม่ได้ดูจากตำราแต่ตรงกับตำรา
นอกจากการปฏิบัติตรงกับตำรามีตำราวิสุทธิมรรคแล้ว
ทางด้านวินัย เมื่อนำมาอ่านทีหลัง
ที่ท่านพระอาจารย์มั่นพาดำเนินพาปฏิบัติถูกต้องตามหลักธรรมวินัย
ไม่มีผิดเพี้ยนเลยแม้แต่น้อย เกิดความปลื้มปีติว่า ครูบาอาจารย์เรานี้
สอนเพื่อมุ่งพระนิพพานอย่างประจักษ์ใจจริงๆ
เราก็ภูมิใจในสิ่งที่ได้ดำเนินมาพร้อมทั้งผลที่ได้ปฏิบัติ
ปลายปี ๒๔๙๑ หลังจากที่จำพรรษาอยู่ที่วัดทรายงามนี้แล้ว
ออกพรรษากรานกฐินเสร็จแล้วก็ได้ออกไปเที่ยวธุดงค์ตามที่ต่างๆ
หาที่สงัดวิเวกกายจิต ปลอดผู้คนที่จะมาเกี่ยวข้อง บางทีมันรำคาญคน
ต้องแกล้งไล่มันหนีไปไกลๆ จะได้ภาวนาสะดวก เทือกเขาสอยดาว
เขาตานก เขาสุกิม ฯลฯ ก็ไปเที่ยวภาวนามาหมดแล้ว
สมัยก่อนไม่มีวัด ไม่มีผู้คน มีแต่ช้าง เสือ สัตว์ป่าเยอะแยะ เข้าไปภาวนาสงบสงัดดี
คว่ำวัฏจักร วัฏจิต
ตอนย่างเข้าสู่ต้นปี ๒๔๙๒ ออกไปภาวนาตามป่าเขา จิตเกิดความอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง
เมื่อจิตเกิดความมหัศจรรย์อย่างนั้น จิตหมุนเพื่อการกำจัดไปโดยถ่ายเดียว
เหมือนหมอยาที่มีปัญญาเดินทางเข้าไปในป่า นำรากไม้กิ่งไม้มาเป็นยาได้ทุกชนิดฉะนั้น
โดยขณะที่ท่านเข้าป่าดงไปภาวนานั้น เกิดป่วยเป็นไข้มาลาเรียอยู่ในป่าโดยลำพัง
เข้าไปอยู่ในดงมาลาเรีย เชิงเขาบายศรี อำเภอท่าใหม่ บ้านยางระหง อันเป็นป่าทึบ
ภายหลังออกจากป่าก็ภาวนาสู้ไม่หยุดถอย
ในการพิจารณาระยะนี้...ท่านได้ตัดภพหักกงล้อแห่งวัฏสงสารจนสิ้น
ท่านเล่าถึง เพลงที่แม่หญิงเหนือเคยร้องว่า
“ทุกข์อยู่ในขันธ์ห้า รองลงมาขันธ์สี่ ทุกข์อยู่ในโลกนี้ ลงอยู่ข้อยผู้เดียวนั้น”
ที่เคยได้ยินขณะภาวนาอยู่จังหวัดเชียงใหม่ได้กลายมาเป็นสิ่งที่มีความหมายเสียแล้ว
คำว่า “ทุกข์อยู่ในขันธ์ห้ากลายเป็นสุขอยู่ในขันธ์ห้า”
ถึงแม้ขันธ์นี้จะเป็นของหนัก แต่ก็หนักตามหลักธรรมชาติ
ไม่เหมือนกิเลสหนักที่ระคนปนด้วยขันธ์
คำว่า “ทุกข์อยู่ในโลกนี้ ลงข้อยผู้เดียวนั้น
กลับกลายมาเป็นสุข อยู่ในโลกนี้ ลงข้อยอยู่ผู้เดียว”
ถึงกับอุทานภายในใจว่า อโห วต อจฺฉริยํ...โอ!...อัศจรรย์หนอๆ
เห็นแล้วที่นี่ ธรรมที่เราเสาะแสวงหา
เป็นอุทานธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนั้นอย่างถึงใจ
ประจักษ์ใจในคำว่า “พุทธสาวก”
เมื่อวัฏสงสารถูกตัดขาดลงเช่นนั้น
ท่านลุกขึ้นกราบพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ที่ถึงใจอยู่แล้วด้วยความถึงใจอีก
พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ
ตลอดจนข้อปฏิบัติอรรถธรรม เป็นความถึงใจอย่างที่สุด
บุญคุณข้าวน้ำ ที่บิดามารดา ตลอดจนสาธุชนทั้งหลายชุบเลี้ยงมา
เป็นความหมายแห่งมหาคุณโดยแท้จริง ธรรมปิติผุดขึ้นอิ่มเอิบสุดจะประมาณได้
ระลึกถึงบุญคุณคำสอนของท่านพระอาจารย์มั่น
ที่เป็นผู้เลี้ยงดูเรามาเป็นเวลานานด้วยอรรถ ด้วยธรรม
ถ้าไม่มีท่านพระอาจารย์มั่นเพียงองค์เดียว การปฏิบัติของเราคงไม่มีในวันนี้
ท่านเป็นผู้รู้จริงทุกสิ่งอย่าง บุญคุณของท่านนี้เทิดทูนตลอดอนันตกาล
คำว่า “พุทธสาวก” ประจักษ์จิตอย่างแท้จริง
เปรียบด้วย “เรือแห่งชีวิต”
หลวงปู่เจี๊ยะกล่าวให้แง่คิดในธรรมไว้ว่า
“เรือแห่งชีวิตที่เราเคยขี่มานาน
ด้วยอำนาจแห่งกิเลส กรรม วิบาก อันเป็นประดุจลูกคลื่นนั้น
เมื่อถึงชายฝั่งแล้ว เราก็ทิ้งเรือไม่แบกเรือขึ้นฝั่งไปด้วย”
เรือคืออะไร ก็คือศีล คือธรรมทั้งหลาย ที่ปฏิบัติมา เป็นประดุจลำเรือ
อาศัยปัญญาเป็นเครื่องนำทาง อาศัยพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องส่องทิศ
อาศัยครูบาอาจารย์เพื่อเดินสู่จุดหมาย มีพระธรรมวินัยเป็นแผนที่ มีพระสงฆ์เป็นลูกเรือ
เมื่อถึงฝั่งอย่างที่เราต้องการแล้ว ย่อมทิ้งเรือต่างๆ ไว้เบื้องหลัง เป็นเอกจิต เอกธรรมชั่วนิรันดร
จึงมานึกย้อนหลังเมื่อคราวที่สอนตน ด้วยการเอาหญิงลิเกมานึกเป็นครูสอน
เมื่อครั้งบวชเข้ามาใหม่ว่า
“หญิงลิเกเหล่านี้ เขาร้องรำทำเพลงทั้งคืนทั้งวันไม่เห็นเหน็ดเหนื่อยนั้น
บทธรรมที่เปรียบนั้น มาประจักษ์ใจในคืนวันนี้
ธรรมดาหญิงลิเกผู้เพิ่งจะเริ่มเรียนฟ้อนรำขับร้อง เมื่อขึ้นสู่เวทีย่อมประหวั่นพรั่นพรึง
เมื่อได้ยินเสียงดนตรีย่อมตกใจ มีกิริยางกเงิ่นขับร้องฟ้อนรำด้วยความยากลำบาก
แม้จะพยายามตั้งใจ ก็ยังมีลีลาอันผิดพลาดพลั้งพลาดอยู่เสมอๆ
แต่สำหรับหญิงนักลิเกผู้เชี่ยวชาญ ในศิลปะการร่ายรำขับร้องดีแล้ว
เมื่อก้าวขึ้นสู่เวที และได้ยินเสียงดนตรี ย่อมจะมีจิตใจฮึกเหิม ร่าเริงเบิกบาน
ประกอบลีลาการร่ายรำได้อย่างคล่องแคล่ว เข้ากับจังหวะดนตรี โดยไม่ต้องตั้งใจ ไม่งกเงิ่น
ประหนึ่งว่าแข้งขาตีนมือออกไปเองตามปกติวิสัยของมัน
นี่อย่างใด พระผู้ประพฤติตามพระศาสดาด้วยความเทิดทูนเพื่อก้าวลงสู่พระนิพพานก็อย่างนั้น”
แต่ก่อนเมื่อเรายังหนาแน่นไปด้วยกิเลส
ย่อมปฏิบัติตามพระธรรมวินัยด้วยความยากลำบาก
ต้องมีสติสัมปชัญญะคอยควบคุม ต้องมีปัญญาคอยชี้ขาด
แม้กระนั้นก็ยังผิดพลาด ย่อมงกเงิ่นในธรรมะสมาคม
แต่สำหรับผู้ฝึกจิตใจจนถึงที่สุดแล้ว ผ่านแล้ว บรรลุถึงจุดหมายแล้ว
การปฏิบัติตามพระธรรมวินัยกลายเป็นปกตินิสัย เป็นเครื่องอยู่อันสบายๆ
ปฏิบัติอย่างสบายโดยไม่ต้องตั้งใจ เพราะการปฏิบัติเรื่อง ศีลาจารวัตร ไม่ใช่เรื่องหนัก
แต่เป็นธรรมเครื่องอยู่อันแสนสบาย ความอดทน ความเพียร
ตลอดจนคุณธรรมข้ออื่นจึงเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
นี้คือผลแห่งการพากเพียรปฏิบัติ ด้วยการเอาชีวิตเข้าแลก
ธุดงค์สู่ภาคใต้
ด้วยหลวงปู่เจี๊ยะพิจารณาหลังจากอยู่จำพรรษาที่บ้านเกิดถึง ๒ ปี
ท่านเห็นว่านานพอสมควรแ้ล้ว
ก็ปรารภจะออกท่องเที่ยวตามท้องถ้ำ ป่าเขาตามอัธยาศัย
ท่านจึงพิจารณาออกธุดงค์ลงภาคใต้ พรรษาที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๔๙๒)
ท่านปรารภว่า “ภาคใต้เป็นภาคที่เรายังไม่เคยไปมาก่อน
ท่านพ่อลีท่านเคยไปประกาศศาสนธรรมอยู่ทางใต้
การที่เราลงทางใต้ก็เป็นการเดินตามรอยเก่าครูบาอาจารย์
ไปแสวงหาถ้ำเป็นที่สงบสงัดไร้ผู้คนที่รู้จัก
ประกอบกับจิตเวลานั้นเป็นอิสระเต็มที่แล้ว
การอยู่การไปที่ใดจึงไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด
เพราะไม่มีอะไรเป็นเครื่องฉุดลากให้เนิ่นช้าได้อีก
ถึงความอิ่มพอสมบูรณ์โดยประการทั้งปวง
พระพุทธเจ้า พระอรหันต์สาวก สมัยพุทธกาล
ท่านก็มีปกติหลีกเร้นอยู่สบายในถ้ำเงื้อมผา เป็นวิหารธรรมเสมอ”
การธุดงค์ลงภาคใต้ ได้เข้าจำพรรษาที่ วัดถ้ำขวัญเมือง อ.สวี จ.ชุมพร
ก็ได้เดินเที่ยวภาวนาไปเรื่อยไปพักที่ป่าแห่งหนึ่ง
อยู่ได้สักพักก็มีชาวบ้านมาบอกว่า มีถ้ำสวยงาม ป่าดี สัตว์ยังเยอะอยู่
เป็นวัดเก่าร้าง ไม่มีใครอยู่ นิมนต์ท่านไปอยู่บูรณะหน่อย
ด้วยเห็นว่าเป็นถ้ำ ท่านก็เดินทางไปตามคำนิมนต์
การมาอยู่ที่ถ้ำขวัญเมืองนี้ มี กำนันฮุ้น (อัมพร บุญญากาส)
เป็นโยมอุปัฏฐากหลวงปู่ อีกทั้งยังมี ครูเฮียง
สองคนนี้มีศรัทธามากคอยมาดูแลหลวงปู่อยู่เสมอ
หลวงปู่เจี๊ยะกล่าวถึงถ้ำขวัญเมืองไว้ว่า
“เรามาอยู่ที่ถ้ำแห่งนี้สัปปายะดีมาก ถ้ำไม่ใหญ่โตอะไรนัก พออาศัยได้
แต่ว่าข้างในยังแคบไปหน่อย เป็นภูเขาหินเล็กๆ มีต้นไม้ใหญ่ๆ มีเครือไม้เถาวัลย์พะรุงพะรัง
มองแทบไม่รู้ว่าเป็นถ้ำ ไม่มีใครกล้าเข้ามา ชาวบ้านกลัวเพราะมันเปลี่ยวมาก
มีศาลเจ้าพ่อ มีเศษของเก่าของโบราณเรี่ยราดอยู่ตามพื้น บางแห่งมีร่องรอยคนมาขุดหาสมบัติ
เวลานั้นก็จวนใกล้จะเข้าพรรษาแล้วจึงคิดว่า เออ...อย่างไรเสีย ปี (๒๔๙๒) นี้
เราคงต้องจำพรรษาที่นี่ จึงจัดแจงที่พักที่อยู่บนถ้ำ ภาวนาอยู่ที่นี่สบาย ปลอดโปร่งดี”
เมื่อท่านมาอยู่จำพรรษาที่ถ้ำนี้ ได้ตกแต่งถ้ำใหม่ สถานที่ไม่เสมอก็ปรับแต่งให้เสมอ
แต่งท้องถ้ำให้อยู่ได้ ได้เอาไฟเผาแล้วทุบบางส่วนให้ดูดีขึ้น
ทำลายศาลเจ้าพ่อทิ้ง ท่านว่า “เราเข้าไปอยู่เป็นเจ้าพ่อแทน”
ชาวบ้านกลัวกันใหญ่ กลัวว่าท่านจะเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ท่านว่าท่านไม่เห็นเป็นอะไร
โยมอุปัฏฐาก คือ กำนันฮุ้นเห็นหลวงปู่ขยันขันแข็ง ชอบอกชอบใจ
กำนันพร้อมด้วยชาวบ้านจึงมานิมนต์ให้เราอยู่เป็นเจ้าอาวาส สร้างวัดให้ถาวร
เมื่อเห็นเป็นดังนั้นก็เห็นท่าไม่ดี กลัวจะเป็นภาระผูกพัน
ออกพรรษาแล้วท่านก็ธุดงค์ต่อไปยังจังหวัดนครศรีธรรมราช
เข้าไปขอพักอยู่ที่วัดมเหยงค์พักอยู่ที่นี่ชั่วระยะกาลไม่นานนัก
จึงเดินทางธุดงค์ต่อไปยังจังหวัดสงขลา
นิมิตถึงพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
วัดควนมิตรที่หลวงปุ่เจ๊๊ยะได้ไปพำนักอยู่ระหว่างธุดงค์นี้
เป็นที่ที่ท่านพ่อลีเคยมาอยู่จำพรรษา ๒ พรรษา ชาวบ้านแถวนี้รู้จักท่านหมด
พักอยู่ที่บนเนินเขาควนมิตรเป็นเวลาแรมเดือน จึงอยากไปวิเวกบ้างตามประสาคนไม่อยู่สุข
จากนั้นได้เข้ามาพักอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่
ที่ห้วยยางบ้านพรุ (ปัจจุบันชื่อว่า วัดกอไม้พอก)
พักอยู่ได้ไม่นาน คืนวันพฤหัสบดี แรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๒
นิมิตเห็นท่านพระอาจารย์มั่น นอนตาย เปลือยกายอยู่
ในนิมิตนั้นท่านงดงาม ชัดเจนมาก เหมือนกับว่าท่านอยากจะมาแสดงอะไรบางอย่างให้เรารู้
ประหนึ่งจะเป็นเครื่องแสดงว่า ท่านจะลาโลกลาสงสารเข้าสูแดนวิมุตติ อันเป็นอนุปาทิเสสนิพพาน
คือการดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ เข้าสู่ทางสายเอก คือ วิสุทธิธรรม ล้วนๆ
ท่านพระอาจารย์มั่น เราเคารพรักท่านเป็นที่สุด
ชีวิตจิตใจนี้มอบให้ได้เลย ไม่เสียดายถ้าท่านต้องการ
เพราะท่านเป็นเจ้าบุญเจ้าคุณ (ธรรม) ล้นเกล้าล้นกระหม่อมจริงๆ
การที่พระสาวกมีพระอานนท์ เป็นต้น
กล้าพลีชีพแทนพระพุทธเจ้าในขณะที่ช้างนาฬาคีรีกระโจนตกมันมา
เพื่อจะทำลายพระพุทธองค์พระอานนท์เอาชีวิตของท่านเข้าขวางกั้นไว้
ก็เพราะความถึงใจด้วย สายใยแห่งธรรม อย่างนี้เอง
เราเคารพในท่านพระอาจารย์มั่น ก็ตั้งใจอย่างนั้นเหมือนกัน
หลวงปู่เจี๊ยะท่านว่า
“ถ้าเรื่องของท่าน ใครอย่ามาแตะ มาว่า เราไม่ยอม
ตอนอยู่กับท่าน หน้าที่อะไรก็ตาม ต้องทำให้ดีทั้งหมด
ให้สะอาดเรียบร้อยและทำให้ได้ดี
ถ้าไม่ดี ทำมันจนดีจนพอใจ ถึงจะยอมหยุด”
เมื่อเกิดนิมิตในตอนกลางคืน เราภาวนาก็ประหวัดๆ ภายในใจเสมอๆ
เหมือนจะมีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกี่ยวกับองค์ท่าน
ในตอนเช้าวันนั้นเองได้ออกจาริกเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาต ได้ถามลุงกายทันทีว่า
“ลุงกาย...มีข่าวหลวงปู่มั่นบ้างมั้ย?”
ลุงกายบอกว่า “ไม่มีครูบา...”
“เราก็เอ๊ะ!... อยู่ภายในใจลึกๆ”
กลับจากบิณฑบาตนั่งฉันอยู่สักประเดี๋ยว
ท่านพระครูรัตนโสภณ เจ้าคณะอำเภอให้โยมเดินทางมาบอกว่า
“ข่าววิทยุออก บอกว่าหลวงปู่มั่นมรณภาพแล้ว ตั้งแต่เมื่อคืนนี้”
ท่านเล่าความตอนนี้ว่า
“พอว่าท่านพระอาจารย์มั่นมรณภาพเท่านั้นแหละ เราลุกขึ้นจากที่ฉันข้าวทันที
เดินดิ่งหลบไปทางด้านหลัง ปลงธรรมสังเวชสุดที่จะอธิบายได้
จิตก็หวนรำลึกคำพูดของท่านว่า “อายุ ๘๐ ปี ท่านจะตาย”
“ดับแล้วท่านผู้ทรงคุณอันประเสริฐ
พ่อแม่แห่งวงศ์พระกรรมฐานนับจากกึ่งพุทธกาลนี้อีกต่อไป
ท่านผู้ทรงคุณเช่นท่านพระอาจารย์มั่นนี้ จะไม่มีประดับโลกอีกแล้ว
ท่านผู้มีบุญอย่างท่านพระอาจารย์มั่นนี้ เป็นบุตรของใคร เป็นเพื่อนของใคร
เป็นพี่เป็นน้องของใคร เป็นศิษย์ของใคร
เป็นอาจารย์ของใคร เกิดในประเทศใดหรือจะอยู่ที่แห่งหนตำบลใด
สถานที่นั้นหรือบุคคลนั้นที่เกี่ยวข้องต้องเย็นใจ สบายใจ สุขใจและเพลินใจ”
เมื่อทราบข่าวดังนั้น หลวงปู่เจี๊ยะก็รีบขึ้นรถไฟกลับทันที
ในระหว่างที่เดินทางกลับมานั้นตั้งใจไว้ว่า
ก็จะต้องเข้าไปหาท่านพ่อลีที่วัดป่าคลองกุ้งก่อน
เพื่อว่าท่านจะสั่งให้ทำอะไรเป็นพิเศษ
หลวงปู่เจี๊ยะไปถึงก็ค่ำแล้ว ทราบว่าท่านพ่อลีท่านนั่งรออยู่ ยังไม่ยอมลงปาฏิโมกข์
ทั้งๆ ที่ไม่ได้กราบเรียนล่วงหน้าว่าจะมาหาท่าน
หลังจากนั้นท่านพ่อลีก็สั่งให้ หลวงปู่เจี๊ยะ ท่านเฟื่อง โชติโก และ ท่านเจือ สุภโร
เดินทางไปร่วมงานศพท่านพระอาจารย์มั่นก่อน แล้วท่านจะเดินทางตามไปทีหลัง
มรณา-สังฆานุสติ
เมื่อไปถึงงานศพท่านพระอาจารย์มั่น ก็เข้าไปกราบคารวะศพท่านทันที
ระลึกถึงบุญคุณที่ท่านอบรมสั่งสอนมา สุดที่จะอดกลั้นทานน้ำตาไว้ได้
“กรรมใดอันที่เกล้าฯ ล่วงเกิน ขอครูบาอาจารย์จงโปรดอโหสิกรรม”
จักร คือ ธรรมอันประเสริฐที่ท่านพระอาจารย์มั่นได้หมุนเพื่อสานุศิษย์
บัดนี้เป็นวาระสุดท้ายแห่งขันธ์ที่กำลังจะมอดไหม้
ยนต์ คือ สรีระ อันมีจักร ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน
มีทวาร ๙ คือ ตา ๒, หู ๒, จมูก ๒, ปาก ๑, ทวารหนัก ๑, ทวารเบา ๑
หยุดการแล่นแล้ว เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน อันเป็นแดนเกษม
ปุญญาภิสังขารที่เหลือไว้นี้เป็นเพียง มรณา-สังฆานุสติ เป็นที่ระลึกกราบไหว้บูชา
พระศาสดาและพระสาวกอรหันต์ทั้งหลายก็ล่วงไปแล้ว
ล่วงไปสู่แดนอมตธรรม ไม่ต่ำไม่สูง ไม่ใกล้ไม่ไกล หากดวงใจที่บริสุทธิ์ครอง
พระบรมศาสดาตรัสแล้วไว้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราเตือนท่านทั้งหลายไว้ว่า
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา
ท่านทั้งหลายจงถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมวินัยใดที่เราแสดงและบัญญัติไว้แล้ว
ธรรมและวินัยนั้น จะเป็นศาสดาของเธอเมื่อเราล่วงไป”
ท่านพระอาจารย์มั่นท่านเป็นพุทธสาวก
ไม่กลับมาหลงโลกที่เคยเกิดตายอีกต่อไป
ไตรโลกธาตุทั้งหมดนี้ประมวลลงในไตรลักษณ์
ที่หมุนไปด้วย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ใครมีปัญญาเรียนถึงอย่างที่ท่านสอน ก็ไม่ต้องกลับมานอนทอดถอนใจ
เดินตามหลังท่านไปสู่พระนิพพาน
ในงานศพท่านพระอาจารย์มั่น น้ำขาดแคลนมาก
คนที่ ท่านอาจารย์ฝั้น อาจาโร ให้ไปขุดบ่อ ขุดไม่เจอน้ำ
ท่านอาจารย์ฝั้นจึงมอบหมายให้หลวงปู่เจี๊ยะซึ่งขณะนั้นยังเป็นพระหนุ่มรับหน้าที่ขุดบ่อ
ซึ่งท่านก็ทำสำเร็จด้วยดี ทำให้มีน้ำใช้ตลอดงานอย่างเพียงพอ
หลวงปู่เจี๊ยะยังได้รับหน้าที่ให้คอยไล่ต้อนพระเณรที่ไปดูหนัง (การแสดง)
ที่นำมาฉายในงานด้วย ท่านได้รับมอบหมายงานเยอะ ทำงานยุ่ง
ภาพถ่ายหมู่รวมศิษย์พระอาจารย์มั่นในงานศพนี้จึงไม่มีรูปหลวงปู่เจี๊ยะ
ธุดงค์กลับมาทางจังหวัดจันทบุรีอีกครั้ง
เสร็จจากงานศพท่านพระอาจารย์มั่น
หลวงปู่เจี๊ยะธุดงค์ย้อนกลับจังหวัดจันทบุรีกับท่านเฟื่อง โชติโก
เข้ามาพักที่วัดป่าคลองกุ้ง ทราบข่าวว่าโยมแม่ไม่สบาย ป่วยหนัก
จึงเดินทางมายังวัดทรายงาม บ้านหนองบัว ช่วยโยมพ่อดูแลโยมแม่
เป็นพระทำอะไรไม่ได้มากนัก ส่วนมากก็ไปเป็นกำลังใจ ไปพูดธรรมะให้ฟังบ้าง
แต่ส่วนมากโยมแม่ไม่คอยฟัง..เพราะเห็นเราเอะอะเสียงดัง
ก็คนนั้นทำอย่างนั้นไม่ถูก ทำอย่างนี้ไม่ถูก เราก็ดุเอาสิ
โยมแม่เป็นคนเรียบร้อย พูดจาไพเราะ ชอบพระเรียบร้อย
ส่วนเราก็เรียบร้อย แต่เรียบร้อยตามนิสัยวาสนาอาภัพ
อาการป่วยของโยมแม่รักษาเป็นปีอาการก็ไม่ดีขึ้น
เพื่อเยียวยารักษาโยมแม่ให้หาย เงินทองมีเท่าไหร่ทุ่มลงหมดไม่มีคำว่าเสียดาย
ขอแต่เพียงโยมแม่หายเท่านั้นเป็นที่พอใจของลูกๆ ทุกคน
ยานั้นต้องเดินทางมาซื้อถึงกรุงเทพฯ ต้องไปซื้อมากินเป็นประจำ
เมื่ออาการของโยมแม่ดีขึ้นบ้าง ก็เข้าไปหาท่านพ่อลีที่วัดป่าคลองกุ้ง
กราบเรียนท่านที่จะไปภาวนาตามป่าตามเขาดังที่เคยไปเสมอมา
ท่านพ่อจึงสั่งว่า
“ท่านเจี๊ยะให้ท่านไปอยู่ที่เนินเขาแก้วนะ ที่นั่นวิเวกดี สัปปายะเหมาะ”
เมื่อท่านพ่อสั่งอย่างนั้น จึงต้องไปอยู่ที่เนินเขาแก้วตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
และโยมแม่ก็ได้เสียชีวิตเมื่ออายุได้ ๙๓ ปี วันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๗
ส่วนโยมพ่อเสียชีวิตอายุ ๙๙ ปี วันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๐
ผู้มีคุณูปการใหญ่ของวัดเขาแก้ว จ.จันทบุรี
สถานที่ตรงวัดเขาแก้วนี้ เดิมทีท่านพ่อลีเคยมาปักกลด
มีคนมาศรัทธาจึงมาช่วยกันสร้างเป็นวัดขึ้น
เริ่มแรกสมัยท่านพ่อลีมาอาศัยอยู่นั้น มุงจากเสาไม้ป่า
ชาวบ้านช่วยกันตัดไม้ป่ามาสร้าง ตัดไม้ไผ่ หลังคามุงจาก
เริ่มจะเป็นวัดทีแรก เพราะว่า ตาสอนและยายทัต สองคนผัวเมียบริจาคที่ตรงนี้ให้
หลังจากนั้นมา พ.ศ. ๒๔๙๓ ท่านพ่อลีก็มอบให้ท่านพระอาจารย์เจี๊ยะมาอยู่แทน
ท่านอาจารย์เจี๊ยะ จึงเป็นผู้ที่มีคุณูปการอย่างมากของวัดเขาแก้ว
เพราะท่านเป็นผู้บูรณะให้วัดมีสภาพดี แข็งแรง มั่นคง
“โบสถ์นั่น ท่านพระอาจารย์เจี๊ยะก็เป็นคนตีหิน ทุบหิน ทำเองไม่มีหยุดหรอก
สำคัญมากในเรื่องทำงาน หินนี่ขนมาก้อนใหญ่ๆ ขน ตี ทำ ก่อสร้าง
ท่านแข็งแรง ท่านได้ ผู้ใหญ่จ่าง รักศักดิ์
เป็นผู้อุปัฏฐากช่วยสร้างเพราะเขาเป็นคนมีเงิน
เข้ามาช่วยท่านสร้างวัด เรื่องการก่อสร้างท่านละเก่งที่สุด
ไม้แผ่นใหญ่ๆ ไปหามาจากในดงลึกๆ โน่นแหละ
ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้แดง ขนมา ท่านเก่งทางนี้”
“ท่านก่อสร้างเสร็จ ท่านเป็นคนบ๊งเบ๊งๆ เป็นคนจีน ลูกคนจีน
นิสัยท่านก็ไม่ค่อยจะสบอารมณ์กันกับผู้คน นิสัยพะลึงพะลังอย่างนั้นแหละ
มาครั้งแรก สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ท่านจะมาเอาที่ตรงนั้นทำวัง
พระอาจารย์เจี๊ยะมาเริ่มสร้างใหม่ๆ เริ่มสร้างวัดเขาแก้วเป็นรูปร่าง
ท่านพระอาจารย์เจี๊ยะอยู่เป็นขรัว พอเป็นขรัว
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีก็เอาต้นโพธิ์มาปลูกไว้นั่นแหละ
สมเด็จพระนางเจ้าฯ ก็เริ่มจะเป็นเจ้าภาพวัด
ภายในพระทัยก็คงคิดที่จะเป็นผู้อุปการะวัดเขาแก้ว
ท่านเริ่มเข้าวัดและตั้งใจจะบูรณะวัดให้เจริญด้วย”
กิริยาภายนอกจะอย่างไร
...แต่กิริยาภายในสว่างไสวสุดพรรณา
อยู่มาวันหนึ่งเป็นวันเกิดท่านผู้หญิงผ่อง ผู้เป็นน้องสาว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
ท่านหญิงคิดปรารถนาจะเข้ามาทำบุญถวายพระ เข้ามากราบพระอาจารย์เจี๊ยะที่ศาลา
และพระทั้งหลายก็ลงมาพร้อมเพรียงกัน
เมื่อพระอาจารย์เจี๊ยะเข้ามานั่ง ก็ “ขาก...ถุยๆ” ทำอยู่อย่างนี้
ท่านผู้หญิงผ่องท่านก็ประทับอยู่ที่นั่น ก็มองๆ นึกตำหนิอยู่ภายในใจ
เมื่อท่านผู้หญิงเสด็จกลับจึงเรียกผู้ใหญ่พา ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านในสมัยนั้นเข้าไปถามว่า
“ผู้ใหญ่พา...ขรัววัดเขาแก้วทำไมท่านถึงเป็นอย่างงั้น
กริยาท่าทางไม่เรียบร้อยเลย”
ผู้ใหญ่พาก็ตอบว่า
“ท่านเป็นลูกคนจีนนะครับ ไม่ใช่จะเสียหายอะไร การเสียหายไม่มีเลย
กิริยาของท่านนี้ไม่รู้จะทำยังไง การขาก...ถุยๆ
ท่านนั่งนิ่งๆ ไม่ได้ ต้องขยับไหล่ งึกงักๆ ๆ อันนี้เป็นนิสัยประจำ
ท่านเป็นยังไงก็อยู่อย่างนั้น ท่านไม่มีมายากับใครหรอกครับ
เรื่องการก่อสร้างการบริหารวัดนี่ โอ๊ย!...ท่านเก่งมากขยันเหลือเกิน
ขยันตัวเป็นเกลียว ทำเอง ถกเขมร ทำคล่อง
เสียอย่างเดียวกิริยาตรงนี้ แต่ใจท่านดีมากครับ”
ผู้ใหญ่พาก็กราบทูลต่อว่า
“ท่านเป็นคนใจสำคัญนะครับ เป็นลูกคนจีน บ้านเดิมอยู่ที่หนองบัว
ในการทำงานที่กระผมเห็นมา ไม่มีใครแข็งเท่าท่าน ความเพียรพยายาม
โอ้!...ท่านตั้งใจทำเหลือเกิน ท่านเก่งเหลือเกิน
ไม่ใช่คนจนอนาถา ก่อนมาบวชท่านเป็นคนนักเลงอยู่
แล้วก็มาบวชเป็นลูกศิษย์ท่านพ่อลี ท่านพ่อลีไม่ใช่พระธรรมดา
ท่านพ่อลีต้องมองลึกแล้วว่า อาจารย์เจี๊ยะนี้ดีจึงมอบที่ตรงนี้ให้
ตั้งแต่ผมเห็นพระมา ขรัววัดเขาแก้วนี้นี่บริหารวัดดีไม่มีใครเกิน
ท่านสู้สุดตัว หินก้อนใหญ่ๆ ทุบเองแหลกหมด
ท่านไม่ต้องไปง้อใคร ทำเองทั้งนั้น
บางทีไปค้างวันค้างคืน หาคนไปช่วยเอาไม้อยู่ในป่าโน่น!...โป่งน้ำร้อนโน่น
ไกลเท่าไรก็ไปเอามาจนได้
ตอนหลังนี่ท่านไปเรียกใคร เขาก็ไม่ไป สู้ท่านไม่ไหว ทำทั้งวันทั้งคืน
ท่านจะเอาอะไร เอาให้ได้ ถ้าไม่ได้ท่านไม่หยุด เก่งเหลือเกิน
ถึงท่านกิริยาภายนอกเป็นอย่างนั้น เรื่องเสียหายไม่มีหรอกครับ
เรื่องวาจาท่านก็เป็นคนพูดตรงไปตรงมา
จะให้ท่านพุดหวานๆ อย่างนั้นอย่างนี้ท่านพูดไม่เป็นหรอก
ถ้าวันไหนเห็นท่านพูดหวานๆ ชาวบ้านคงช็อกตาย
สถานที่ที่ท่านควรจะพูดค่อยๆ ท่านก็พูดไม่ค่อย
สถานที่ที่ควรจะพูดแรงๆ ท่านกลับพูดค่อยๆ
เวลาใช้ญาติโยมทำงาน
“พวกมึงมาทำไอ้นี่ให้หน่อย...โว้ย มาช่วยกันบ้างซีที่วัด” ท่านมักจะพูดอย่างนี้
ผมก็เคยขอโอกาสพูดกับท่าน (อาจารย์เจี๊ยะ) บ่อยเหมือนกัน
เคยสะกิดท่านบ่อยๆ ว่า
“ท่านอาจารย์พูดทำไมเอะอะนัก ค่อยๆ พูดซะหน่อยจะเป็นไร
ญาติโยมเขามานั่งกันเต็มอยู่นั่น ทำไมเอะอะเสียงดังอะไรอย่างนี้”
ท่านก็ตอบว่า
“เราก็เป็นของเราอย่างนี้อยู่ทุกวัน มันจะแปลกตรงไหน
ภายในใจเราไม่มีอะไรกับใครหรอก
เคยพูดดังๆ มานั่งเงียบมันโหวงเหวง มันพิลึกชอบกล”
ลองคิดดูซิครับว่าจะมีพระที่ไหน ที่จะเป็นอย่างนี้ได้บ้าง
ท่านมาบิณฑบาตบ้านผม (ผู้ใหญ่พา) ท่านเดินเข้ามาในบ้านเลย
“เฮ้ย!...ตำน้ำพริกกุ้งแห้งเกลือให้กูหน่อย”
พริกเกลือกุ้งแห้งท่านชอบ ท่านไม่เคยเสียหายอะไร
มีแต่กิริยาวาจานี่แหละ ที่ทำให้คนเขาแปลก ทำให้คนเขาแตก ไม่กล้าเข้าใกล้
บางทีท่านไปบิณฑบาตก็นั่งรถไปเพราะขาเจ็บ ไปถึงที่ก็บอก
“เอ้า!...เอาข้าวมาให้กูกิน”
ตั้งบาตรเลย หนังสือพิมพ์เล่มหนึ่ง บุหรี่มวนหนึ่ง แล้วก็นั่งกระดิกเข่า
ใครเขาเห็นเขาจะเอาด้วยล่ะ ภาพมันก็ลบไปเลย
ครูบาอาจารย์เขาไม่สอนอย่างนั้นใช่ไหมล่ะ
ท่านก็บอก “ขากูเจ็บนี่หว่า” ก็ไปอย่างนั้นทุกวัน
กราบนิมนต์ท่านว่า
“ท่านอาจารย์ไม่ต้องมาบิณฑบาตเลย นอนอยู่เฉยๆ เลย จะจัดไปถวายที่วัดเอง”
ท่านบอกว่า “ไม่ได้เดี๋ยวเขาจะด่า หาว่าขี้เกียจบิณฑบาต
นั่นล่ะเขาจะด่าหนักล่ะไปอย่างนั้น”
พวกเราไม่คุ้นเคย ไปเห็นพระผู้ใหญ่เป็นอย่างนั้นก็สะดุ้ง
“เอ๊ะ!...อะไรมาผิดวัดหรือเปล่า...อะไรเนี่ย”
ในกลางพรรษาท่านออกไปบิณฑบาตช้าอยู่ครั้งหนึ่ง
พระลูกศิษย์ที่ไปบิณฑบาตอายกันหมดเลย แต่ท่านไม่อาย
เคารพพระอาจารย์บัว ญาณสัมปันโน อย่างยิ่งอีกองค์
หลังจากท่านกลับมาจำพรรษาที่จังหวัดจันทบุรี
ได้บูรณะวัดเขาแก้วจนเป็นรมณียสถานและอยู่เป็นเวลานานพอควร
ช่วง พ.ศ. ๒๕๐๔-๒๕๐๖ หลวงปู่เจี๊ยะท่านก็ได้เดินทางไปจำพรรษา
ร่วมกับ พระอาจารย์บัว ญาณสัมปันโน ที่วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
เรื่องราวชีวิตของหลวงปู่เจี๊ยะท่านในช่วงนี้
พระอาจารย์บัว ญาณสัมปันโน ได้เมตตาเล่าให้ญาติโยมฟังไว้
เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๓๕ ที่สวนแสงธรรม ความดังนี้
ท่านเป็นพระดีนะอาจารย์เจี๊ยะ
พูดเรื่องภายในเป็นผ้าขี้ริ้วห่อทอง
คือ...กิริยาภายนอกท่านไม่น่าดูนะ กิริยาท่านข้างนอก บ๊งเบ๊งๆ
อะไรรู้สึกว่ามันไปอีกแบบหนึ่ง ยิ่งกว่าหลวงตาบัวเข้าไปอีก (หัวเราะ)
แม้แต่หลวงปู่มั่นก็ยังเถียงกันตาดำตาแดง
ตอนปี ๒๕๐๕ ท่าน (พระอาจารย์เจี๊ยะ) ไปจำพรรษากับเราที่ วัดป่าบ้านตาด
นั่นล่ะ เราจะเริ่มปลูกกุฏิหลังนั้นล่ะนะ
พวกโยมเขาก็ไปขุดดิน เกลี่ยดินที่จะปลูกฐาน
ทีนี้ท่านก็ไปทำอะไร เขาเรียก “คราด” อะไรสำหรับกวาดดินนั่นแหละ
ทีนี้ท่านทำไม่รู้จักเวลาล่ะสิ กำลังจะมืดแล้วนี่นา
เราเดินจงกรมอยู่ ก็เงียบ เป็นเวลาที่พระท่านเดินจงกรม
เสียงปังๆ ขึ้นเลยกลางวัดนี่
เอ๊ะ! มันเสียงใครมาทำอย่างนี้นะ
เราก็เดินไปเลยแหละ เดินไปท่านอาจารย์เจี๊ยะ
ท่านทำคราดนั้นนะ สำหรับกวาดดินกุฏิเรา ท่านไปทำเอาเวลาไม่ควรล่ะสิ
เสียงดังเปรี้ยงๆ ขึ้น ท่ามกลางวัดเงียบๆ นะ
เราก็เดินจากทางจงกรมแล้วไปเลย ไปก็ไปเห็นท่านกำลังทำอยู่
เราก็ยืนเลย เอากันทีเดียว
“ท่านอาจารย์เจี๊ยะ” ว่าอย่างนี้เลยนะ
“ถ้าหากว่าท่านอาจารย์ไม่เคยอยู่กับพ่อแม่ครูอาจารย์มาแล้ว
ผมก็จะว่าให้ท่านนะ นี่ท่านเคยอยู่กับพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นมาแล้ว
ท่านสอนยังไง กิริยายังไร ทำไมท่านถึงมาทำอย่างนี้”
พอว่าแล้วก็เดินกลับเลย
พอตื่นเช้าขึ้นมาท่านอาจารย์เจี๊ยะไปรออยู่ที่บนศาลา
ท่านไปนั่งรอตรงที่เรานั่ง พอเรานั่งกราบไหว้พระเสร็จแล้ว
เราก็มานั่งพัก ท่านปั๊บเข้ามาเลย มาจับขาเราดึงออกไปนะ
เราก็พูดว่า “ดึงออกไปทำไมขาวะ”
อาจารย์เจี๊ยะท่านก็ว่า “โอ๊ย! ผมขอกราบซักหน่อยเถอะ”
พอกราบแล้วน้ำตาร่วงต่อหน้าเรานะ
“แหม! ท่านอาจารย์พูดทำไมถึงถูกต้อง
ศัพท์เสียงอะไร ลักษณะเหมือนกับท่านอาจารย์มั่น” ขึ้นถึงศัพท์ถึงเสียงเลยนะ
“ทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกันหมดเลย อู้ย! ผมกราบไหว้เลย
เมื่อคืนนี้ผม (ท่านอาจารย์เจี๊ยะ) สลดสังเวช ผมนี้ผิดจริงๆ”
นั่นเห็นมั้ย ท่านว่าอย่างนั้นนะ เพราะเราก็อ้างว่า
“ถ้าท่านไม่อยู่กับท่านอาจารย์มั่นมา ผมก็จะว่าจะสอนท่าน
นี่ท่านอยู่มาแล้วนี่ จะให้ผมสอนท่านว่ายังไง” นี่ล่ะท่านทิ้งปั๊วะเลยนะ
เพราะฉะนั้นตอนเช้าถึงมารอกราบ
แล้วลากเท้าเราไปเลยนะ ไปกราบกับฝ่าเท้าเลย
“ผมขอกราบท่านสนิทใจเลยๆ” ทั้งกราบทั้งน้ำตาร่วงเลย
ท่านว่า “ผมยอมท่านอาจารย์ ดูลักษณะท่าทางไม่ผิดท่านอาจารย์มั่น
ผมจับได้หมดเลย ผมเคารพสุดยอด”
ฉะนั้นจึงกราบแล้วก็น้ำตาร่วง
ท่านถึงได้บอกว่า “พระนี่ผมกลัวอยู่สององค์เท่านั้น
ท่านอาจารย์ใหญ่กับท่านอาจารย์มั่น นอกนั้นผมไม่กลัวใคร”
ว่าอย่างนี้วะ พูดตรงๆ อย่างนี้
ท่านมีนิสัยทำอะไรละเอียดลออมาก
เราถึงได้บอกว่า “ผ้าขี้ริ้วห่อทอง”
ภายนอกท่านกิริยาโผงผางๆ แต่ภายในท่านละเอียดลออ
ทุกสิ่งทุกอย่างละเอียดหมดนะ
หลักธรรม หลักวินัยไม่เคลื่อนคลาดเลย เนี่ย ที่เราชมท่านนะ
หลักธรรมหลักวินัยไม่เคลื่อนคลาดสะอาดมากทีเดียว อยู่กันมานาน
จำพรรษาวัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู
ที่ วัดถ้ำกลองเพล นี้ มีถ้ำเรียกว่า “ถ้ำกลองเพล”
ซึ่งเป็นที่มาของชื่อวัดมีตำนานเล่ากันว่า
ในถ้ำนั้นมีกลองเพลใหญ่ประจำถ้ำหนึ่งลูก มีขนาดใหญ่โตมาก
ส่วนจะมีมาแต่สมัยใดนั้น ไม่มีใครทราบ คงจะมีมานานนับร้อยปีขึ้นไป
จนกลองเพลนั้นมีความคร่ำคร่า ผุพัง แตกกระจัดกระจายเป็นชิ้นใหญ่ ชิ้นน้อย
โดยไม่มีผู้ใดทำลาย พวกนายพรานเที่ยวล่าเนื้อเวลามาพักนอนในถ้ำ
ยังได้อาศัยเศษไม้ที่แตกกระจัดกระจายจากกลองเพลมาหุงต้มรับประทานกัน
ชาวบ้านใกล้เคียงบริเวณนั้นจึงได้พากันให้ชื่อนามถ้ำนั้นว่า ถ้ำกลองเพล
ครั้นต่อมามีพระธุดงค์กรรมฐานไปเที่ยวบำเพ็ญธรรมและพักในถ้ำนั้นบ่อย ๆ
จนถ้ำนั้นกลายเป็นวัดคือที่อยู่ของพระขึ้นมา
จึงพากันให้นามว่า “วัดถ้ำกลองเพล” จวบจนทุกวันนี้
บริเวณถ้ำกลองเพลในปัจจุบันนี้ ประกอบด้วยป่าไม้ที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์
เพิงหิน เพิงผา ที่รูปร่างประหลาดและสวยงามมีอาณาเขตกว้างขวางนับร้อยไร่
ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน จึงมีทัศนียภาพที่งดงามมาก
ในอดีตจังหวัดหนองบัวลำภู เคยเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดอุดรธานี
ในเอกสารเก่าจึงอ้างอิงว่า เป็นจังหวัดอุดรธานี
แต่ในปัจจุบันได้ยกฐานะเป็นจังหวัดหนองบัวลำภู แล้ว
เป็นหนึ่งในสามจังหวัดที่แยกตัวออกมาจาก จ.อุดรธานี
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ พร้อมกับจังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดสระแก้ว
หลวงปู่เจี๊ยะท่านเคารพรักองค์ พระอาจารย์ขาว อนาลโย อย่างสูงยิ่งอีกองค์
เนื่องจากพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เคยกล่าวชมพระอาจารย์ขาวไว้ว่า
“เออ!...หมู่เอ๊ย! ให้รู้จักท่านขาวไว้ด้วยเน้อ
เธอได้พิจารณาของเธอแล้วมาเล่าให้เราฟัง
ท่านขาวเป็นพระสำคัญให้จับตาดูให้ดี”
ดังนั้น ท่านหลวงปู่เจี๊ยะจึงเชื่อแน่ว่า พระอาจารย์ขาวเป็นองค์สำคัญอีกองค์
อีกทั้งพระอาจารย์มั่นได้ฝากฝังท่านไว้กับพระอาจารย์ขาว
เพราะกลัวว่ากิริยาแบบหลวงปู่เจี๊ยะไปอยู่กับใคร ใครจะไม่เข้าใจท่าน
พระอาจารย์มั่นจึงฝากท่านให้หลวงปู่ขาว
ในขณะที่ท่านได้จำพรรษากับหลวงปู่ขาวที่ถ้ำกลองเพล
มีอยู่ครั้งหนึ่งตอนนั้นได้ไปอาสาหลวงปู่ขาวทำอ่างเก็บน้ำ
คนอื่นทำงานกลางวันงานไม่เสร็จ
หลวงปู่เจี๊ยะจึงลงมาทำในตอนกลางคืนซึ่งเป็นเวลาภาวนาของพระ
ส่งเสียงรบกวนไปทั่ววัด
ท่านใช้ฆ้อนปอนด์สะกัดหิน ทุบหิน เสียงดัง เพ้ง...เพ้ง...เพ้ง...
หลวงปู่ขาวท่านได้ยินก็ถามพระว่า
“นั่นเสียงใครทำอะไร เสียงดังลั่น”
“เสียงท่านอาจารย์เจี๊ยะสกัดหิน” พระท่านกราบเรียน
“ไปเรียกมาซิ ทำงานอะไรไม่รู้จักเวล่ำเวลา” องค์หลวงปู่ท่านบ่นๆ
เมื่อหลวงปู่เจี๊ยะเข้ามาถึงหลวงปู่ขาวท่านจึงพูดขึ้นว่า
“ท่านเจี้ยะ ถ้าท่านอาจารย์ใหญ่มั่นไม่ฝากท่านไว้กับผม ผมไล่ท่านหนีแล้วนะ”
ด้วยคำพูดเพียงเท่านี้ ก็ทำให้เราตื้นตันใจถึงท่านพระอาจารย์มั่นยิ่งนัก
สาเหตุที่ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำทั้งกลางวันทั้งกลางคืนนั้น
เพราะต้องการให้งานเสร็จโดยเร็ว
เพราะว่ายิ่งยืดเยื้อยิ่งจะก่อความรำคาญแก่พระเณรไปนาน
รีบๆ ทำรีบเสร็จน่าจะดีกว่าปล่อยให้คาราคาซัง
แต่เมื่อหลวงปู่ขาวท่านเตือนอย่างนั้น
หลวงปู่เจี๊ยะท่านก็นั่งนิ่งรับโทษ ไม่ได้โต้ตอบแต่ประการใด
ยืนยันในคุณธรรม “ไม่หวนคืนโลกสาม”
ช่วงที่จำพรรษาที่วัดถ้ำกลองเพล
พระอาจารย์จันทา ถาวโร ได้สนทนาซักถามหลวงปู่เจี๊ยะว่า
“หลวงปู่...กิริยาภายนอกของหลวงปู่เป็นอย่างนี้ จะไม่กลัวคนตาหน้าเอาบ้างหรือ?”
พระอาจารย์เจี๊ยะจึงตอบว่า
“อันว่ากิริยาภายนอกนั้นจะเป็นอย่างใดก็ตามเถอะ
แต่ถ้าหากเรามุ่งมั่นปั้นใจจนเที่ยงดี ก็ยังดีกว่าคนที่กิริยางามแต่ใจไม่เที่ยง
เพราะนิสัยวาสนาคนเรามันไม่เหมือนกัน
เขายังมีคำพูดอยู่มิใช่หรือว่า แข่งอะไรก็แข่งได้
แต่แข่งวาสนาแข่งกันไม่ได้ เราจึงไม่ไปแข่งวาสนากับใคร
เราเป็นอย่างนี้จึงพอใจอย่างนี้ เพราะนิสัยวาสนาเป็นมาอย่างนี้”
“เป็นยังไงหลวงปู่จิตใจ ในเรื่องการภาวนาจะพ้นทุกข์ได้ไหม”
ท่านพระอาจารย์จันทาถามอีก
พระอาจารย์เจี๊ยะตอบว่า
“ผมก็รู้ว่าผมนี่รอดพ้นได้แล้วนะ รอดมันแล้วไม่คืนมาอีกแล้ว
เรามาอยู่มาพบพระอาจารย์มั่น ก็ได้ศึกษาเล่าเรียนเขียนอ่านกับท่าน
ศึกษาอะไรนึกว่าท่านจะไม่รู้ แหม!...รู้หมดทุกอย่างไม่เหลือวิสัย
นึกคิดทางใจท่านก็รู้ ถูกผิดท่านก็รู้
เพราะฉะนั้น ผมเองก็ไม่มีสิ่งใดที่จะเอาผิดท่านได้
เอาแค่รู้ถูกทั้งนั้น ดูกิริยามารยาทเรียบร้อยคือพระอาจารย์มั่น
เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ของใครก็ไม่มีชื่อเสียงเรียงนามในทางไม่ดีดอก
เข้าสู่สังคมก็เรียบร้อยน่าชม น่าเอาเป็นครูเป็นอาจารย์ดี
ดูกิริยามารยาททุกอย่างถูกต้องตามพระวินัยดีถูกต้องทุกอย่างดีเลิศประเสริฐ
ไม่มีสิ่งใดผิดพลาด มีแต่เอาถูกทั้งนั้นไปตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ
เพราะภาวนาในสมัยนั้น ไปอยู่ร่วมกับหลวงปู่มั่น
ที่เชียงใหม่ อุดรฯ โนนนิเวศน์ หนองน้ำเค็ม สกลนคร
แล้วก็ย้อนกลับไปที่บ้านเกิดจันทบุรี
ที่จันทบุรีจึงเป็นที่สำคัญของผม ตั้งแต่ต้นจนสุดท้าย”
สำหรับหลวงปู่เจี้ยะ
คนไม่เข้าใจในการประพฤติในการปฏิบัติทุกอย่างอาจเข้าใจได้ว่า “เป็นผีบ้า”
เพราะไม่รู้เบื้องหลัง ทั้งๆ ที่ท่านได้อยู่และผ่านการปฏิบัติกับครูบาจารย์ที่สำคัญที่สุด
คือ ท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งเป็นพระที่ใหญ่ที่สุดและดีเยี่ยมที่สุด
เวลาหลวงปู่เจี๊ยะท่านทำงานเสร็จแล้ว เลิกงานสรงน้ำ
แล้วนุ่งสบงครองจีวรพาดผ้าสังฆาฏิเรียบร้อย
ดูท่านรูปสวย เดิน ยืน นั่ง
กิริยามารยาทอะไรก็เรียบร้อยน่าชมเมื่อครองสบงสังฆาจีวรเรียบร้อยแล้ว
ยามท่านแสดงออกในเคารพต่อพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์นั้น
ท่านปฏิบัติได้งามมากทีเดียว
จำพรรษาที่วัดญาณสังวราราม
ช่วงพรรษาที่ ๔๐ หลวงปู่เจี๊ยะท่านได้ละทิ้งภาระอื่นๆ สิ้นในทันที
เมื่อได้ทราบข่าวว่า พระอาจารย์ขาว อนาลโย ป่วยหนัก
เพราะท่านเคารพองค์ท่านอย่างยิ่ง จึงได้เร่งเดินทางกลับไปจำพรรษา
ที่วัดถ้ำกลองเพล เพื่อปฏิบัติองค์หลวงปู่ขาวโดยเฉพาะ
เมื่อปวารณาออกพรรษาที่วัดถ้ำกลองเพลแล้ว
อาการอาพาธของหลวงปู่ขาว อนาลโย ก็ดีขึ้นบ้าง
หลวงปู่เจี๊ยะจึงเดินทางกลับมาที่วัดอโศการาม
ท่านอยู่อบรมสั่งสอนภิกษุสามเณร
อุบาสกอุบาสิกาผู้ใส่ใจในธรรมที่วัดอโศการามนั้นเอง
เมื่อพระอาจารย์เจี๊ยะพักอยู่ที่วัดอโศการามได้ระยะหนึ่ง
ประมาณเดือนธันวาคม ๒๕๑๙
สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวัฑฒโน) วัดบวรฯ
ตอนนั้นท่านยังไม่ได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช
ได้มานิมนต์ให้ท่านไปอยู่เป็นเจ้าอาวาสที่วัดญาณสังวราราม
เพราะสมเด็จฯ ท่านต้องการให้มีพระกรรมฐาน
สมเด็จฯ ท่านปรารภว่า
“วัดอโศฯ กับ วัดบวรฯ มีพระหนาแน่นมาก
ต้องมีสถานที่วิเวกให้พระปฏิบัติกันบ้าง
เราควรแสวงหาที่สัปปายะเพื่อพระที่เป็นกุลบุตร
สุดท้ายภายหลังจะได้มีที่ปฏิบัติธรรม
ในที่ที่ไม่ห่างจากเมืองหลวงมากนัก”
เมื่อสมเด็จฯ ท่านปรารภดังนี้ ก็แสวงหาที่อันเหมาะสม
ในที่สุดก็ไปได้ที่ ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
โดย นายแพทย์ขจรและคุณหญิงนิธิวดี อ้นตระการ
ถวายที่จำนวน ๓๐๐ ไร่เศษ
และคณะกรรมการจัดสร้างวัดซื้อที่ข้างเคียงอีก ๕๙ ไร่ ๙๙ ตารางวา
รวมเป็น ๓๖๖ ไร่ ๒ งาน ๑๑ ตารางวา
ประกอบกับเนื้อที่โครงการพระราชดำริอีก ๒,๕๐๐ ไร่เศษ
ด้วยศรัทธาปณิธานของผู้ถวายที่แด่สมเด็จพระญาณสังวรฯ
จึงตั้งชื่อวัดว่า “วัดญาณสังวราราม”
อบรมกัมมัฏฐานเข้มข้นตามรอยครูบาอาจารย์
เมื่อรับนิมนต์ให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดญาณสังวรารามแล้ว
หลวงปู่เจี๊ยะได้เดินทางมาพร้อมพระอีกจำนวนหนึ่งเพื่อมาจำพรรษาที่วัดนี้
วัตรปฏิบัติในขณะนั้น...หลังจากฉันน้ำร้อนน้ำชา
ประมาณหนึ่งทุ่มถึงสองทุ่ม ท่านจะนำทำความเพียรทางจิตภาวนาจนถึงเที่ยงคืน
พอถึงเที่ยงคืนท่านสั่งหยุดเลยให้เข้านอน
พอถึงตอนตี ๓ พระอาจารย์เจี๊ยะจะทำเสียงสัญญาณด้วยการไอค๊อกแค๊กๆ
ถ้ากุฏิที่ท่านเดินผ่านแล้วพระรูปที่อยู่ข้างในนั้น
ไม่ส่งเสียงไอตอบหรือจุดตะเกียงออกมาล้างหน้าล่ะ
เสียงเคาะปี๊ป! จะดังตามมาทันที
ถ้ายังไม่ตื่นทำความเพียร ครั้งที่ ๒ ก็โน่น ทุบฝากุฏิพังเลยล่ะ
หรือใช้ค้อนขว้างเลย แล้วท่านก็จะสอนพระองค์นั้นๆ เลยว่า
“ตอนที่ผมอยู่กับหลวงปู่มั่นไม่เป็นอย่างนี้
ถ้าท่านกระแอมก็ต้องแอ้มตอบ
แล้วต้องทำความเพียรต่อเลย เราจะต้องมีชาครธรรมต้องตื่นอยู่เสมอ
อย่าให้นิวรณ์ครอบงำเราได้”
เหล่าพระและแม่ชีที่อยู่วัดญาณฯ ตอนนั้น ตี ๓ ง่วงขนาดไหนก็ต้องออกมา
เดินจงกรมหัวทิ่มหัวตำ ชนตอ ชนต้นไม้
เดินจงกรมออกนอกทางเพราะไม่เคยทำอย่างนั้น
ใครก็ตามที่ไปอยู่กับท่าน ต้องปรับสภาพร่างกายให้รับได้ทนได้
ต้องเป็นเดือนๆ ถึงจะชินวิธีปฏิบัติแบบท่าน
พระทั้งหลายเดินจงกรม เซไปเซมาเป็นเดือนกว่าจะเข้าที่ ไม่ให้หยุดเลย
และการดำรงชีวิตตามอย่างสมณะที่วัดญาณสังวรารามกับท่านหลวงปู่เจี๊ยะนี้
ท่านกำชับมาก ท่านเน้นว่า
“ความถูกต้อง ตามธรรมวินัยให้พากันทำ ไม่ต้องอาย
แต่อันไหนผิดธรรมวินัยให้รู้จักละอาย”
พระอาจารย์เจี๊ยะท่านอยู่ที่วัดญาณสังวรารามนี้
นอกจากจะนำพระปฏิบัติทางด้านจิต ภาวนาแล้ว
ยังเป็นผู้นำในการก่อสร้างพระอุโบสถ, พระบรมธาตุเจดีย์มหาจักรีพิพัฒน์
และเสนาสนะอื่นๆ ตามพระบัญชาของเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวรฯ
แต่ด้วยเหตุไม่สะดวกอะไรบางอย่าง ตามนิสัยวาสนาของท่าน
ท่านจึงเดินทางกลับมา วัดอโศการาม ซึ่งเหมือนร่มโพธิร่มไทรใหญ่
เนื่องด้วย ท่านพ่อลี ธัมมธโร เป็นบุพพาจารย์ของท่าน
เมื่อไปที่ไหนมีเหตุขัดข้องก็จะกลับมาที่นี่
การกลับมาครั้งนี้ แม้ท่านพ่อลีจะล่วงไปแล้วถึง ๑๘ ปี
แต่สายใยแห่งธรรมก็ยังค้ำจุนในจิตใจอยู่เสมอ
หลวงปู่เจี๊ยะมาจำพรรษาที่วัดอโศการาม
ได้พระอาจารย์บัว ญาณสัมปันโน
นิมนต์ให้อยู่อบรมพระเณรต่ออย่าเพิ่งด่วนไปที่อื่น
แต่ด้วยความไม่สะดวกตามนิสัยวาสนาของท่านหลวงปู่เจี๊ยะ
มาอยู่ที่วัดอโศการามนี้ ก็ได้อบรมสั่งสอนพระเณรเต็มความสามารถ
แต่คงเป็นเพราะบุญวาสนาอาภัพ
การอบรมสั่งสอนของท่านจึงไม่เป็นที่ถูกจริตนิสัยของพระเณรนัก
คงไม่เคยร่วมทำบุญ ร่วมเป็นศิษย์อาจารย์กันมาก่อน ไปสอนเขาอย่างไรเขาก็ไม่เชื่อ
ท่านเปรียบตัวท่านเองกับท่านพ่อลีว่า
“เราก็เหมือนขี้ไก่ ท่านพ่อนั้นเป็นประดุจทองคำ”
หลวงปู่เจี๊ยะท่านจึงว่า
“ใครเป็นลูกศิษย์ใคร อาจารย์ใครก็เลือกเอาเอง
ถ้าอาจารย์ไม่เป็นบัณฑิต ก็ให้รีบตีตัวออกห่าง
เพราะถ้าคบอาจารย์ที่เป็นคนลามก เป็นคนเลว ท่านเปรียบไว้ว่าเหมือนคบกับงูพิษ
ท่านเปรียบไว้เหมือนงู ที่ตกลงไปจมอยู่ในหลุมคูถ
กัดไม่ได้ก็จริง แต่มันอาจทำคนที่เข้าไปช่วยยกมันขึ้นจากหลุมคูถ
ให้เปื้อนด้วยคูถได้ด้วยการดิ้นของมัน
ยิ่งเป็นงูตัวใหญ่ๆ ยิ่งสกปรกเยอะ
ฉะนั้น จึงให้แสวงหาอาจารย์ที่เป็นบัณฑิต เป็นกัลยาณมิตร
เช่นอย่างเรานี้ ก็ได้ท่านพ่อลี ท่านอาจารย์กงมา
และท่านพระอาจารย์มั่น เป็นกัลยาณมิตร
จึงก้าวเข้าถึงกัลยาณมิตรใหญ่
คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ภายในใจ”
ธรรมกิริยา
หลวงปู่เจี๊ยะท่านเป็นคนทำอะไร
ถ้าตามประสาโลกก็คงจะหาว่าท่านไม่ใคร่เรียบร้อยนัก
พูดจาโผงผาง ตรงเผงจนคนรับไม่ได้
การสอนของท่านก็ตรงทะลุ ซ้ำยังสอนไปดุไปแรงๆ ซ้ำด้วย
ยกตัวอย่างในการสอนให้พิจารณาของหลวงปู่เจี๊ยะ
(๑) เมื่อพระเณรลูกศิษย์ท่านพิจารณามากๆ เข้า
ท่านก็แสดงอาการพอใจที่ได้อบรมสั่งสอนมา
ท่านถามให้พระตอบท่าน ท่านอยากฟังเรื่องราวที่พระรูปใดปฏิบัติ
ก็ต้องเล่าถวาย ท่านจึงจะชี้แจงข้อถูกผิด
ท่านบอกว่า ไม่พอ การพิจารณาเท่านี้ยังไม่พอ
การพิจารณาอะไรเป็นอสุภะ คือความไม่งามได้
ทีนี้มาลองพิจารณาให้เป็นสุภะ คือความสวยงามหน่อยซิ
ท่านก็เล่าการพิจารณาขั้นสุดท้าย สำหรับการพิจารณาให้ฟังว่า
“อะไรๆ ทั้งหมดรวมลงมาอยู่ที่การพิจารณากาม
สุดยอดกรรมฐานคือกาม ผู้ชายเราสงสัยข้องใจอะไรมากก็เป็นเพศของผู้หญิง
เมื่อพิจารณา หน้า ตา เนื้อ หนัง อะไรๆ อื่น ก็เหมือนกันหมด
มันเหมือนกันหมดทั้งชายและหญิงตลอดจนสัตว์อื่น
แต่เมื่อพิจารณาอย่างนี้พิจารณาได้ยาก แต่จะแก้กาม ต้องพิจารณาแก้ที่ตรงนี้”
ท่านสอนเด็ดขาดและแปลกกว่าใครๆ ที่เคยสอนกันมา
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ใครๆ ก็หลงอย่างนี้ทั้งนั้น บางคนถึงกับนั่งฟังไม่ได้
ท่านสอนผู้หญิงให้กำหนดตัดอวัยวะเพศชาย
สอนพระผู้ชายให้กำหนดตัดอวัยวะเพศหญิง
ท่านสอนพูดออกมาเป็นคำที่โลกรังเกียจ แต่พากันหวงแหนนั่นแหละ
ท่านบอกว่าการพิจารณาอย่างนี้เอาให้หนัก
ของอย่างนี้สำหรับผู้ต้องการแก้กิเลสเอามันไว้ไม่ได้
พระอาจารย์เจี๊ยะบอกว่า “เมื่อพิจารณาอวัยวะเพศของหญิง
จิตยังสะดุ้งสะเทือนแสดงว่ายังใช้การไม่ได้
อ่านตำรายังไม่จบ ให้ไปเรียนคัมภีร์มาใหม่”
พระทั้งหลายที่ได้ยินได้ฟังเช่นนั้นก็กลัว
ไม่กล้าพิจารณาบางองค์สั่นทั้งตัว ไม่กล้าทำ ทำไม่ได้ ท่านก็ดุเอาสิว่า
“ไอ้ฉิบหาย!! กลัวอะไร ประสา...เอาเลย...พิจารณาเลย”
(๒) และครั้งหนึ่งหลวงปู่เจี๊ยะท่านสนทนา
กับ ท่านอาจารย์เฟื่อง โชติโก ผู้เป็นสหธรรมิก
อาจารย์เฟื่อง :
“เจี๊ยะ! ไปสอนเขาแบบนี้ เขาก็หนีหมดซิ
ผู้หญิงฯ สอนให้พิจารณาแต่ของเน่าของเหม็น”
อาจารย์เจี๊ยะ :
“ไอ้ฉิบหาย! กูไม่เชื่อเลย ไอ้พวกนั่งจับลมๆ แม่งมึงก็หลับซิ
พระพุทธเจ้าไปอยู่กับอาฬารดาบส และอุททกดาบส
จนสำเร็จฌานแปด รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ ถึงมาเจริญอานาปานสติในตอนหลัง
นี่ยังไม่ได้อะไรเลย จะมาจับลม เข้าพุท โธออก ไม่ทันหรอก
อยู่กับหลวงปู่มั่น ๓ ปี ๔ แล้ง ไม่เคยสอนซักที
จับลมนี่ มีแต่ให้พุทโธเร็วๆ บริกรรมพุทโธเร็วๆ เฟื่อง! สอนอย่างไรวะ”
อาจารย์เฟื่อง :
“ไอ้ฉิบหาย! สอนเขาอย่างนี้ให้เหม็นเน่า
ตัดคอตัดแขน ตัดขา แลบลิ้นออกมาตัด คอขาด แขนขาด
เน่าเฟะ เรี่ยราดอยู่กลางศาลา แค่ฟังเขาก็กลัวแล้ว
แล้วใครเขาจะมาฟังเทศน์เล่า
ใครเขาจะเข้ามาใกล้ มีเพลงเดียว กัณฑ์เดียว ๑๐ ปี ก็เอาอย่างเก่า
ปรับปรุงสำนวนให้มันนุ่มนวลหน่อยไม่ได้หรือ?
บางทีคนเหล่านี้เขาเข้ามาฟังพอสบายใจ
ก็กลับบ้านไปอยู่กับลูกกับเมียเขา
ธรรมะรุนแรงเอาไปทำเองเอามาออกสังคมไม่ได้”
อาจารย์เจี๊ยะ :
“ที่เทศน์ที่แสดงอยู่นี่ เพราะพริ้งที่สุดในโลกแล้ว
หาฟังที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว มันไม่น่าฟังก็ชั่งแม่งมัน
ก็ธรรมะเป็นอกาลิโกไม่จำกัดกาล เทศน์ที่ไหนก็ซัดมันซะจนเต็มเหนี่ยว”
(๓) พระอาจารย์เจี๊ยะ กิริยาของท่านทำอะไรไม่ติดข้องทางโลกเลย
เช่น ปวดท้องฉี่ ท่านจะฉี่ตรงนั้นเลย คนเยอะไม่ต้องอาย ฉี่ตรงนั้นเลย
ทีนี้ท่านก็ถูกตำหนิว่าเป็นพระผู้ใหญ่ทำไมถึงไม่ละอาย
แต่เมื่อเรามาพินิจพิเคราะห์ด้วยดี การกระทำแบบท่านนี้ทำยากนะ
อย่างเช่นท่านนั่งเกากลางศาลาคนเยอะๆ นี่ คนธรรมดาทำได้เมื่อไร
ชนทั้งหลายเขาก็ว่าพระองค์นี้ ไม่มีระเบียบเรียบร้อยเลย
นึกไปนึกมาท่านก็รู้ๆ อยู่ แต่ท่านแกล้งทำเพราะรำคาญคน
อยากให้มันหนีไปๆ จะได้อยู่สงบสงัด
ท่านชอบอยู่เงียบๆ ทำอะไรๆ ของท่านไป
ไม่มีใครรู้เรื่องท่านหรอก
ศิษย์พระอาจารย์มหาบัวที่เป็นฆราวาส ที่มียศถาบรรดาศักดิ์สูงๆ
พระอาจารย์มหาบัวก็แนะนำให้มากราบอาจารย์เจี๊ยะนะ
นี่แหละ “ผ้าขี้ริ้วห่อทอง”
(๔) พระอาจารย์เจี๊ยะไม่ว่าจะอยู่ที่ใดท่านละเอียดมาก
ผ้าสบงเย็บชุนเป็นระเบียบมาก การใช้จ่ายรัดกุมมาก
ใครก็ตามที่ไม่เคยฝึกมาก็จะคิดว่า “ทำไมท่านทำอย่างนี้นะ”
ถ้ามองเผินๆ ก็อาจจะดูหยาบ
ถ้าเข้าไปใกล้ๆ จะเห็นประโยชน์ทุกอย่างที่ท่านทำ
เช่นอย่างเดินไปนี่ เห็นตะปู ท่านจะให้ถอนออก
แล้วเคาะๆ ๆ เก็บไว้มีประโยชน์ไม่ต้องซื้อหา
เวลาเดินไปเจอถังพลาสติกแตกๆ
ท่านก็เอามาเคาะๆ เอามาป่นใช้แทนครั่ง ทำด้ามสิ่วด้ามขวาน
เจอหมอนแตกท่านให้พระที่ติดตามลงไปงมมาจากในน้ำ
ชาวบ้านมองกันหมด เมื่อได้หมอนมา เอามาตากแดดให้แห้ง แล้วก็นำมาเย็บให้ดี
บางทีพระรูปที่ติดตามต้องสะพายบาตรเดินตามหลังอยู่แล้ว
ยังต้องมาสะพายหมอนขาดอีก ใครๆ เขาเห็นเขาก็ว่า “บ้า”
แม้แต่ผู้ที่ติดตามยังคิดว่า “ทำยังงี้เหมือนบ้า”
แล้วคนอื่นที่มองมันจะคิดมากขนาดไหน ดูๆ แล้วเหมือนผีบ้าเดินตามกัน
คนจะมองเหมือนคนบ้ากับคนบ้าอยู่ด้วยกัน
ท่านห้าวหาญมากไม่กลัวใคร
แม้พระที่นับถือท่านหรือไม่นับถือท่านก็ไม่กลัวเลย
ยกตัวอย่างเช่น พระเดินตามกัน ๒ รูปไม่ได้เลย
ถ้าท่านรูปใดทำ เป็นได้เรื่อง ท่านจะด่าเลย
ท่านจะให้เร่งความเพียร การเดินตามก้นกันเหมือนฆราวาส ท่านไม่ให้ทำ
พระบางรูปข้อวัตรปฏิบัติดีเยี่ยม เป็นเพียงกิริยา
แต่พอเสร็จจากการทำตามตาราง ก็คุยกันจุกๆ จิกๆ
ท่านพูดเมื่อเห็นพระกระทำเช่นนั้นว่า
“กูไปนั่งเยี่ยวอยู่นี่ เท่ากับพวกท่านพิจารณากันทั้งคืนมั้ง”
พระอาจารย์เจี๊ยะดุพระเณรมาก
จนบางครั้งพระอาจารย์เฟื่องต้องเตือนพระเณรว่า
“อาจารย์เจี๊ยะท่านเป็นอย่างนี้แหละ
อยู่กับหลวงปู่มั่น แหย่หลวงปู่มั่นให้ดุได้ทุกวัน
พวกท่านอยู่กับท่านอาจารย์เจี๊ยะอย่าถือสาท่านนะ”
(๕) เวลาอบรมลูกศิษย์ท่านจะดุมาก
เพราะนิสัยท่านชอบฟังธรรมะที่เผ็ดร้อน
เวลาอบรมพระเหมือนว่าท่านจะปั้นหน้า หันหน้าเข้าฝา
ทั้งๆที่คุยกันอยู่ ทั้งๆที่ยิ้มๆกันอยู่ดีๆ
พอท่านหันหน้ากลับออกมาพูดเรื่องธรรมะนี่ หน้าท่านดุเลย
วันไหนถ้าท่านได้ยินเสียงพระคุยกัน ไม่ประกอบความเพียร
ท่านลงทุนทุบร่ม กระแป๋ง ขว้างลงมาโครมครามๆ ท่าจะพูดบ่นๆ ว่า
“โน่น!...มันพากันหนีไปทางโน่นแล้ว พวกนี้ต้องสอนแบบนี้ ไม่งั้นไม่กลัว”
พูดเสร็จแล้วท่านก็หัวเราะ...เสียงดัง ฮ่า ฮ่า...
เมื่อใดใครก็ตามได้เข้าไปสัมผัสจริง
จะรู้ว่าพระอาจารย์เจี๊ยะ เป็นที่อบอุ่นมีเมตตาอารี
ท่านมีนิสัยล่อหลอกทดสอบคนใกล้ชิดท่านอยู่เสมอ ไม่ให้ตายใจ
เหมือนว่าเวลาเราจะเดินหน้า ท่านจะถอยหลัง
เราถอยหลัง ท่านเดินหน้า เราไป ท่านจะเหยียบเบรค
เราต้องจับเอาธรรมะท่านไม่ซ้ำซาก พูดตรงๆ
แต่เฉพาะการพิจารณากายนี้ ๑๐๐ ครั้ง ก็พูดอย่างเก่า
เทศน์อย่างเก่าไม่เปลี่ยนแปลง เฉพาะการพิจารณากายอย่างเดียว
อย่างอื่นอาจมีแหลมคมตามแง่เหตุผล
สำหรับการสอนพระ สอนให้ “พุทโธ”
ถ้าพุทโธไม่อยู่ ให้กลั้นหายใจพุทโธไป ๒๐ ครั้ง
แล้วออกอีก ๒๐ ครั้งในลมหายใจเดียว
ให้รัวเหมือนเอ็ม ๑๖ ท่านว่าอย่างนั้น
“พุทโธๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ” ให้อย่างนั้นเลย มันถึงจะอยู่ ต้องไว
ท่านสอนต่อไปว่า
“ถ้าพิจารณากายไม่ไหวนี่ เอาระเบิดใส่ในตัวเรา เอ็ม ๑๖ จ่อขมองเลย
ถ้าตัดลิ้นตัดคอยังเสียวอยู่ เอาระเบิดให้แม่มันคอขาดไป”
พระอาจารย์เจี๊ยะท่านออกเที่ยวแสวงหาถิ่น
ที่วิเวกทางกายและจิตพอสมควรแก่กาลแล้ว
ท่านก็จะเดินทางกลับมาจำพรรษาที่วัดอโศการามในฤดูฝน
เพื่ออบรมสั่งสอนพระเณรเท่าที่ความสามารถที่พึงจะกระทำได้
แต่เมื่อท่านกลับเข้ามาอยู่วัดอโศการาม เป็นพระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่ง
พระเณรก็ไม่ค่อยจะเชื่อฟังท่านมากนัก
มักมองท่านด้วยสายตาว่าเป็นพระแก่เลอะเลือนไม่มีความหมาย
พระบางรูปถึงขนาดดูหมิ่นว่า “ท่านเป็นพระบ้า”
พระอาจารย์เจี๊ยะท่านกล่าวว่า
“พระทุกวันนี้มักติดรูปแบบในการปฏิบัติ
มากกว่าวิธีปฏิบัติจริงเพื่อถึงความพ้นทุกข์
ดังคำที่ว่า “โลกชอบ แต่ธรรมชัง หรือธรรมชอบ แต่โลกชัง”
สาเหตุเพราะว่าทุกๆ คนชอบมองแต่กิริยาภายนอกอันเป็นไปแบบสบายๆ
เมื่อพระอาจารย์เจี๊ยะเห็นเหตุการณ์อย่างนั้น ท่านจึงสลดใจ
วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม บ้านคลองสระ
ตำบลคลองควาย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี
ภายในขอบเขตแห่งขัณฑสีมา อารามแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔
โดยคณะศรัทธาได้ถวายที่ดินแก่ พระอาจารย์บัว ญาณสัมปันโน
พระอาจารย์บัวได้นิมนต์พระอาจารย์เจี๊ยะมาอยู่เป็นเจ้าอาวาส
จากท้องทุ่งป่าสนใบดกหนาสี่เหลี่ยมผืนผ้านี้
รายรอบด้วยทุ่งนาเขียวขจี ได้กลายเป็นอารามป่ากรรมฐานใกล้เมืองกรุงฯ
ที่ร่มรื่นอบอวลไปด้วยกลิ่นศีลธรรมของสมณศิษย์กรรมฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น
และกลิ่นแมกไม้นานาพันธุ์น้อยใหญ่ที่ปลูกขึ้นรายรอบ
ทั่วบริเวณเนื้อที่ ๑๔๖ ไร่ ๓ งาน ๘๘ ตารางวา
วัดป่าภูริทัตตปฏิปทารามแห่งนี้ คือ สถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง
ซึ่งเป็นประดุจมรดกที่พระอาจารย์เจี๊ยะทิ้งไว้ให้แก่ศาสนิกชนคนรุ่นหลัง
ณ สถานที่แห่งนี้ พระอาจารย์เจี๊ยะได้สร้างอนุสรณ์สถาน
ถวายเป็นอาจาริยบูชาแด่พระอาจารย์ใหญ่แห่งวงศ์กรรมฐาน
คือ “ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต”
ผู้ซึ่งมีบุญคุณล้นเกล้าและเป็นที่เคารพรักอย่างยอดยิ่ง
ด้วยการสร้างภูริตตเจดีย์ บรรจุพระทันตธาตุของท่านพระอาจารย์มั่น
ที่ศาลาวัดป่าภูริทัตตปฏิปทารามนั้นเป็นที่ประดิษฐานพระประธาน
ภาพบูชาของพระบูรพาจารย์ ได้แก่ ท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ตื้อ อจลธัมโม
พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์ขาว อนาลโย ท่านพ่อลี ธัมมธโร
ด้านข้างศาลามีโรงไฟ สำหรับซักย้อมจีวร ฉันน้ำปานะ ฯลฯ
ถัดจากนั้นไปทางด้านทิศใต้เป็นที่อยู่ของพระภิกษุ
ทางด้านทิศตะวันออกเป็นโรงครัวและเขตอุบาสิกาที่เข้ามาพักปฏิบัติธรรม
ด้านหน้าศาลาเป็นที่ตั้งของภูริทัตตเจดีย์ เป็นเจดีย์แปดเหลี่ยมสร้างด้วยหินอ่อน
ภายในปูด้วยหินแกรนิต ยอดทำด้วยทองคำ
อันงามสง่าควรค่าแก่การบูชาของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย
บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระทันตธาตุของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
มีหินแกะสลักรูปพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
และของพระอาจารย์เจี๊ยะ จุนฺโท ที่ลูกศิษย์สร้างถวาย
ตามเอกสารที่ใช้อ้างอิง ในขณะนั้นมีพระสงฆ์มาจำพรรษาอยู่กว่า ๓๐ รูป
ต่างผลัดเวรกันมาดูแลทำความสะอาด
พระรูปใดที่ไม่มีหน้าที่ หลังจากฉันเช้าเสร็จแล้วจะไปปฏิบัติธรรม
อยู่ในกุฏิที่ปลูกอย่างเรียบง่ายในป่า ห่างกันพอประมาณ
กุฏิสงฆ์ภายในวัดแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท
๑. กุฏิแบบถาวร
เพื่อต้อนรับพระเถระที่ชราภาพ และสำหรับพักฟื้นพระอาพาธ
ที่เดินทางจากต่างจังหวัดมารับการรักษาที่กรุงเทพฯ
๒. กุฏิแบบเรียบงาย
พอแกการบังแดด ลม ฝน
ขนาดกว้างยาวเพียงพอแก่การอยู่เพียงรูปเดียว
ฝาผนังใช้ผ้าจีวรเก่ากางกั้น น่าศรัทธาเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง
ทุกกุฏิจะมีทางจงกรม อย่างน้อย ๑ เส้น ยาวประมาณ ๒๕ ก้าว
อยู่ใต้ร่มไม้สนดูร่มเย็นเป็นลานทางปราบกิเลสตัวขี้เกียจขี้คร้าน
อานิสงส์ของการเดินจงกรม คือ
(๑) ทนต่อการเดินทางไกล
(๒) ทนต่อการบำเพ็ญเพียร
(๓) มีอาพาธน้อย
(๔) ย่อยอาหารได้ดี
(๕) ทำสมาธิได้นาน
กุฏิแต่ละหลังห่างกันพอประมาณ มีคูน้ำกางกั้น
เพื่อให้สัปปายะเหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรม...เพื่อพบอริยธรรม
กิจวัตรประจำวันของพระสงฆ์ที่นี่ คือ
ยามเช้าก่อนออกบิณฑบาต พระภิกษุสามเณรขัดถูปัดกวาดศาลาและบริเวณรอบๆ
ส่วนพระคิลานุปัฏฐากประมาณ ๘ รูป
ก็ผลัดเปลี่ยนกันดูแลพระอาจารย์เจี๊ยะในยามอาพาธ มิให้ขาดตกบกพร่อง
ในเวลาบ่ายโมง พระเณรทั้งหมดมารวมฉันน้ำปานะ
บ่ายสามโมงเย็น ทำข้อวัตรปัดกวาดเสนาสนะ ขัดถูกุฏิศาลา บริเวณวัด หน้าวัด
ทำความสะอาดห้องน้ำห้องส้วมอย่างพร้อมเพรียงกัน
และกิจวัตรประจำวันที่สำคัญยิ่ง คือการนั่งสมาธิภาวนา เดินจงกรม
สร้างสติปัญญามีความเพียรกล้า
หาทางแผดเผากิเลสด้วยวิธีการต่างๆ ตามที่พระอาจารย์เจี๊ยะสั่งสอน
เพื่อดับไฟคือความรุ่มร้อนกระวนกระวายภายในจิตใจให้เหือดแห้งไป
พระอาจารย์เจี๊ยะท่านจะสอนพระเณรอยู่เสมอว่า
“...พระหัวโล้นๆ ถ้าสั่งสมจีวรสังฆาฏิ ข้าว น้ำ อาหาร ฯลฯ ไว้มากๆ
เท่ากับพยายามสั่งสมข้าศึกให้กับตัวเอง
ชีวิตพระควรอยู่อย่างบางเบา ไม่ควรมีอะไรเป็นเครื่องกังวล
การภาวนาฆ่ากิเลสให้ตายไปจากใจสำคัญที่สุด”
เมื่อพระอาจารย์เจี๊ยะ หรือพระครูสุทธิธรรมรังษี
ได้ปฏิบัติพัฒนาวัดจนเป็นที่เจริญรุ่งเรือง
ท่านจึงได้รับเลื่อนเป็นพระครูชั้นเอก เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๕
ท่านอยู่จำพรรษาที่นี่ตั้งแต่พรรษาที่ ๔๘-๖๘ พ.ศ. ๒๕๒๗-๒๕๔๗ จวบจนมรณภาพ
พระอาจารย์บัว ญาณสัมปันโน ชมเชยคุณธรรม
พระอาจารย์บัวได้เล่าเรื่องสร้างวัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม
และชมเชยในคุณธรรมพระอาจารย์เจี๊ยะไว้ว่า...
เริ่มแรกทีเดียว พี่ชายของท่านนพดล (พระอาจารย์นพดล นันทโน)
ได้ถวายที่ให้เราสร้างวัด
มองหาใครที่จะมารับภาระให้เป็นที่แนใจตายใจ
ก็มองเห็นแต่ท่านอาจารย์เจี๊ยะเท่านั้น จึงไปนิมนต์ท่าน
พูดเหตุผลให้ท่านอาจารย์เจี๊ยะฟังว่า
“เพราะวัดนี้ต่อไปจะเป็นวัดที่แน่นหนามั่นคง
จึงควรมีครูบาอาจารย์ที่เป็นหลักเป็นเกณฑ์มาอยู่
ก็มองเห็นแต่ท่านอาจารย์เท่านั้นล่ะ จะพอสงเคราะห์กันได้มั้ย?
ญาติโยมแถวนี้ ย่านนี้ เป็นย่านที่พอเหมาะพอดี”
เมื่อเรานิมนต์ ท่านก็รับด้วยดีนะ
ท่านอาจารย์เจี๊ยะทางด้านจิตใจท่านดี ดีมาตั้งแต่บวชทีแรก
พูดถึงธรรมภายในท่าน ท่านดีไม่ใช่ธรรมดา
แต่กิริยาภายนอกท่านก็อย่างนั้นแหละ
เราจึงบอกเฉพาะในวงศ์ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิด ที่ไว้ใจได้
เพราะภายนอกกับภายในไม่เหมือนกัน จริตนิสัยของคนเราไม่เหมือนกัน
แล้วพระอาจารย์บัวจึงได้กล่าวเตือนบรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายว่า
อย่าไปมองท่านผิดนะ เพราะเรากับท่านอยู่ด้วยกันมานาน
รู้กันทุกสิ่งทุกอย่างกับอาจารย์เจี๊ยะ
แต่กิริยาภายนอกท่านก็เป็นของท่านอย่างนั้น
อย่าดูท่านแบบผิวเผิน อย่าคิดตำหนิ
ว่าทำไมพระถึงเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวเป็นอกุศลกับตัวเองนะ
อาจารย์เจี๊ยะ สิ่งภายนอกนี้ทำให้คนรู้สึกไปในทางลบได้
กิริยาท่านภายนอก ท่านว่าอะไรตรงไปตรงมา
ก็ท่านเป็นคนจีน เข้าใจมั้ย?...(หัวเราะ) บ๊งเบ๊งๆ อย่างนั้นนะ
แต่เวลาเอาภายใน ไม่มีใครเอาละเอียดเท่าท่านนะ
เรื่องความละเอียดภายในไม่มีใครสู้ท่าน
ผู้รักษาบริขารพระอาจารย์มั่นได้อย่างเยี่ยมยอด
พระอาจารย์บัว ญาณสัมปันโน ได้เมตตาเล่า
เรื่องการดูแลรักษาบริขารของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
ซึ่งพระอาจารย์เจี๊ยะนี่เองเป็นผู้รับผิดชอบดูแล
ท่านเล่าว่า บริขารของพ่อแม่ครูบาอาจารย์มั่นเรียบร้อย
ใครไปแตะไม่ได้นะ ใครไปแตะท่านรู้ทันที ผิดนิดหนึ่งท่านรู้
“ใครๆ มาทำนี้วะ” ขึ้นเลย คือไปผิดของท่าน
ท่านทำไว้เรียบร้อยทุกอย่างนะ
เราเองยังไม่กล้าเข้าไปแตะอะไรที่ท่านอาจารย์เจี๊ยะไปทำไว้แล้ว
เราไม่เข้าไปแตะเลยนะ เพราะเราสู้ท่านไม่ได้ว่างั้นเถอะ
ไม่เห็นพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นได้ตำหนิตรงไหน
เพราะฉะนั้นอาจารย์เจี๊ยะจึงเป็นลูกศิษย์พ่อแม่ครูอาจารย์
พูดให้ตรงๆ ไปเลยว่า เป็น ลูกศิษย์ก้นกุฏิหลวงปู่มั่นก็คืออาจารย์เจี๊ยะนี่องค์หนึ่ง
โอ...ท่านเมตตามากนะ เวลาท่านปฏิบัติต่อท่านอาจารย์เจี๊ยะนี่ก็แบบเดียวกัน
กับอาจารย์เจี๊ยะนี่ท่านจะไม่พูดธรรมดาละ บ๊งเบ๊งใส่กันเลยแต่เมตตามากนะ
จากนั้นอาจารย์เจี๊ยะก็มาจำพรรษากับเราในฐานะเป็นเพื่อน
ไม่ใช่ฐานะครูฐานะอาจารย์ด้วยกัน ที่วัดป่าบ้านตาด ฐานะเป็นเพื่อนฝูง
จำพรรษาด้วยกันที่วัดป่าบ้านตาด เพราะฉะนั้นจึงรู้นิสัยท่านได้ดีทุกอย่าง
นิสัยท่านภายนอกไม่น่าดู แต่ภายในละเอียดลออมากนะ
เพราะนิสัยวาสนาไม่มีใครละได้ นอกจากพระพุทธเจ้าเท่านั้น
พระองค์ทรงละขาด ไม่นำกิริยาของโลกมาใช้เลย
ส่วนนอกนั้นใครจริตนิสัยเป็นอย่างไร จริตนิสัยนี้จะไม่เปลี่ยนแปลง
จะเปลี่ยนแปลงได้เฉพาะภายในจิตใจเท่านั้น
คือ มีกิเลสอยู่ภายในเท่าใดก็ชำระสะสางกันไป
จนถึงขั้นบริสุทธิ์ บริสุทธิ์แล้วกิริยานี้ก็เหมือนเดิม
ปฏิปทาเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร
แรกเริ่มทีเดียวมีกระต๊อบหลังเล็กๆ มุงด้วยหญ้าคา
มีจีวรผืนเก่ากั้นเป็นห้อง เป็นที่หลบแดด หลบฝน เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลาน
มีเตียงทำด้วยไม้ไผ่ทำเป็นที่ฉันและที่นอนใต้ร่มไม้สน
ด้านหลังมีคลองน้ำเป็นเขตแดน
ท่านอาจารย์เจี๊ยะอยู่แต่เพียงเดียวดายไม่ค่อยมีลูกศิษย์
แม้แต่คนถิ่นแถวนั้นก็ไม่ค่อยรู้จักท่าน
การก่อสร้างวัดของท่าน เมื่อเห็นสิ่งของ
เช่น เศษไม้ เศษสังกะสีเก่าๆ เป็นต้น ที่คนเขาทิ้ง
ท่านก็จะขอบิณฑบาตมาสร้างกุฏิที่พัก
ท่านมัธยัสถ์มากเห็นคุณค่าแห่งของทุกสิ่ง เก็บหอมรอมริบสม่ำเสมอ
ทำงานทั้งวัน ตีเหล็กตีขวาน ทุบหิน
จนบางครั้งพระลูกศิษย์บางรูปไม่เข้าใจต้องเข้ามากราบเรียนถามท่านว่า
“หลวงปู่ ผมไม่เข้าใจหลวงปู่เลย
ทำไมหลวงปู่ต้องทำอย่างนี้ ต้องทำขนาดนี้ ต้องเป็นอย่างนี้”
“เฮ้ย!..มันเข้าใจง่ายๆ ซะที่ไหน
ผมอยู่กับปู่มั่น บางทีผมก็ยังไม่เข้าใจเลย
ต้องพยายามเข้าใจ เดี๋ยวจะเข้าใจเอง”
ท่านตอบห้วนๆ แล้วจึงตีขวานต่อเสียงดังเพ้ง! เพ้ง! เพ้ง!...
...และสอนลูกศิษย์ต่อว่า
“ในสมัยที่ผมอยู่กับหลวงปู่มั่น ผมต้องอดทนมาก
ผมเป็นคนกินยาก แสลงเรื่องอาหาร
ผมอยู่กับท่านสามปี สี่แล้ง กินแต่ข้าวเหนียวกับกล้วย
อาหารอย่างอื่นมี แต่ผมกินไม่ได้
ถ้าไม่มีกล้วยผมต้องกินแต่ข้าวเปล่าๆ ทำให้ท้องอืด ไม่ถ่าย
อากาศก็หนาวเหน็บถึงกระดูก ตามแขนตามขาผิวแห้งไปหมด
ไปขอยากับหลวงปู่มั่นก็ไม่มี เมื่อไม่มียาท้องอืดจะตาย
ผมใช้นิ้วล้วงลงไปในลำคอลึก ๆ เพื่อให้อาเจียนออกมา จะได้สบายท้อง
นิ้วมือนี้แหละเป็นยา ผมยังไม่เคยบ่น
เรื่องนี้มีแต่ท่านอาจารย์มหาบัวรู้ คนอื่นไม่รู้ ผมยังไม่เห็นตายเลย”
พระลูกศิษย์ที่ติดตามท่านมานานๆ
บางองค์ก็น้อยใจในวาสนาอาจารย์ของตนว่า
“อาจารย์ของเรานี่ เป็นลูกศิษย์ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น
แต่เวลาเดินทางไปไหนก็ไปสิบล้อ โบกสิบล้อไป
หลวงปู่สิม หลวงปู่ชอบ หลวงปู่สาม หรือพระกรรมฐานรุ่นหลังๆ
ไปไหนมีรถเก๋งมารับ ถูกนิมนต์ให้ไปเจิมแอร์สยาม รถเบนซ์ รถไฟ ฯลฯ
มีคุณหญิงคุณนายนับหน้าถือตา
อาจารย์ของเราช่างด้อยวาสนาเสียจริงๆ โบกขึ้นแต่รถสิบล้อ
อาจารย์องค์อื่นถูกนิมนต์ไปฉันบ้านนายพล บ้านคุณนาย
อาจารย์ของเราพาฉันแต่น้ำพริกกุ้งแห้ง แถมยังยกเว้นกะปิอีก
(ท่านแพ้กะปิ) น้ำพริกปลาทูก็ไม่ให้ใส่กะปิ
บางทีเพื่อนพระที่เป็นลูกศิษย์อาจารย์อื่นๆ เขาก็ล้อว่า
‘พวกท่านมีอาจารย์กับเขาทั้งที มักไม่เหมือนคนอื่นเขาน้อ!’
ก็ได้แต่ทำไว้ในใจว่า
‘เอาละวะ ถึงท่านจะเป็นอย่างไรก็ตาม เรา (ลูกศิษย์) ก็มั่นใจในคุณธรรมของท่าน
แม้หลวงตาบัวยังชมท่านไม่ขาดปากว่า เป็นผ้าขี้ริ้วท่อทอง’ ”
หลวงปู่เจี๊ยะเมื่อเห็นศิษย์คิดอย่างนั้น
ท่านก็สอนเป็นธรรมะไพเราะเคาะสนิมใจให้ศิษย์รื่นเริงในธรรมบ้างว่า
“ท่าน...ธรรมดาว่าชาวนาไม่มีข้าวกิน ย่อมไม่มี...
คนดีย่อมไม่มีสิ่งชั่ว...
คนใบ้ ย่อมไม่ไปทะเลาะกับคนอื่น...
คนตื่น ย่อมไม่มีภัย...
คนที่ใจฝึกมาดีย่อมไม่มีไหวหวั่น อยู่ได้ทุกที่ ขี้ได้ทุกทาง”
เกร็ดธรรม
แต่ก่อนมีค่าเป็นร้อยเป็นชั่ง
ในปัจฉิมวัย ไม่ว่าในคราใดท่านประสบอาพาธหนัก
นอนเป็นอัมพาตอยู่บนเตียง
ท่านไม่แสดงความหวั่นไหว บ่งบอกความแข็งแกร่งนิสัยอาชาไนย
อีกทั้งยังแสดงธรรมสอนลูกศิษย์ที่ไปเยี่ยม
ด้วยการเอาร่างกายของท่านเป็นเครื่องเปรียบเสมอว่า
“ตอนเป็นหนุ่มเป็นสาว มีค่าเป็นร้อยเป็นชั่ง
พอเดี๋ยวนี้ ๕๐ สตางค์ก็ไม่มีใครเอา”
กรรมที่เคยฆ่าหมา
ท่านเล่าถึงสาเหตุที่ต้องได้ทำการผ่าตัด
หมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท
นอนแกร่วเป็นอัมพาตนี้ว่า
“ตอนเป็นหนุ่ม เราเลี้ยงหมูไว้แยะ ต้มข้าวเอาไปวางให้หมู
หมามันมากินหมด โมโหจัดจึงเอาไม้คานเจ็กตีหมาโป้งเดียวจอดสลบ
ด้วยความที่โกรธจัด แม้หมาตัวนั้นจะนอนแน่นิ่งเหมือนตายแล้ว
ก็คงเอาไม้คานตีกระหน่ำอยู่อย่างนั้น
ตีจนกระทั่งมันฟื้นขึ้นมาอีก ฟื้นขึ้นมาอีกตีซ้ำลงอีกแบบทารุณไร้เมตตาธรรม
คราวนี้หมามันชักตาย...เสร็จเลย
กรรมอันนี้แหละ เป็นกรรมในปัจจุบันชาติที่เราต้องชดใช้”
กรรมรีดลูกปลา
“และที่เรามีอาการชาและแบบที่ผิวหนังรอบทวารหนัก
ไม่สามารถนั่งตัวตรงเป็นเวลานานๆ ได้นั้น
ก็เป็นกรรมในปัจจุบันซาติเช่นเดียวกัน
คือ ตอนหนุ่มๆ เราชอบเลี้ยงปลาเข็ม ปลาหัวเงิน
ตามประสาเด็กรุ่นๆ ทำสนุกสนาน
เวลาปลาหัวเงินปลาเข็มมันท้องแก่
แต่ยังไม่ถึงเวลาคลอดลูก เราชอบรีดท้อง
รีดเอาลูกมันออกมาก่อนเวลา เอามาเลี้ยง มันทันใจดี
เมื่อรีดเอาลูกมันออก แม่มันก็ตาย
ด้วยผลกรรมคือรีดลูกจากท้องปลาที่เผ็ดร้อนทารุณนี้
จึงเป็นกรรมที่ทำให้เราก้นชาและแสบทวารอยู่ไม่หาย”
ไม่เป็นไร ตายแล้วต่างคนต่างไป
ในบางวันมีผู้คนมากราบมากจนอลหม่าน
อย่างเช่นวันคล้ายวันเกิด จะมีทั้งพระและฆราวาสมาจากทุกสารทิศ
ผู้อุปัฏฐากใกล้ชิดจำเป็นต้องห้ามต้องกันผู้คน
ทั้งที่คุ้นเคยและไม่คุ้นเคยไม่ให้เข้ากราบ ปิดประตูห้อง
บางคนก็บ่นหาว่ากีดกันไปต่างๆ นานา
ผู้ที่เฝ้าอย่างใกล้ชิดก็รู้สึกกดดัน เครียดอยู่ไม่น้อย
เมื่อกราบเรียนถามท่าน ท่านก็ตอบสั้นว่า
“ไม่เป็นไร ตายแล้วต่างคนต่างไป”
คาถาหลวงปู่เจี๊ยะ
วันไหนท่านปวดที่ขา ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัวหรือเจ็บปวดในที่อื่นใดก็ตาม
ท่านก็จะให้ผู้ที่ดูแลท่องคาถาเป่าให้ท่าน
ท่านบอกว่าเป็นคาถาดี โดยให้ท่องว่า
“นโม วิมุตฺตานํ นโม วิมุตฺติยา”
“ขอความนอบน้อมจงมีแก่ท่านผู้หลุดพ้นทั้งหลาย
ความนอบน้อมจงมีแก่ธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นทั้งทลาย”
หัวล้านจริงๆ
บางวันท่านพูดตลกขำขันจนผู้คนที่มาเข้ากราบเฮตึงๆ
วันนั้นร่างกายท่านสดใสแข็งแรงขึ้นบ้างตามสภาพ
มีคนขอให้ท่านจับหัวให้เป็นศิริมงคล
คนแรกผู้ชายผมยาวๆ ท่านก็เคาะๆ
คนที่สองผมเกรียนๆ ท่านก็เคาะๆ
คนที่สามเป็นคนหัวล้าน หัวล้านเอามากๆ
ท่านเคาะๆ แล้วลูบๆ คลำๆ ที่ศีรษะ
แล้วพูดขึ้นด้วยเสียงดังๆ ทั้งๆ ที่ป่วยนอนอยู่บนเตียง
ให้พรโยมหัวล้านคนนั้นว่า
“หัวล้านหัวเหลือง หัวละเฟื้องสองไพ หัวล้านจริงๆ ผู้หญิงชอบใจ”
คนที่นั่งอยู่เต็มบริเวณหัวเราะกันเฮๆ
ด้วยว่าในวันนั้นอากาศมันร้อนอบอ้าว
คนที่มากราบ เหงื่อไหลไคลย้อยไปตามๆ กัน
ภายในจิตในใจของแต่ละคนคงบ่นๆ ถึงดินฟ้าอากาศ
ท่านจึงพูดขึ้นอีกว่า
“มนุษย์ขี้เหม็น เคี่ยวเข็ญเทวดา ฝนตกก็แช่ง ฝนแล้งก็ด่า”
พูดตรงๆ
หลวงปู่ท่านเป็นพระที่พูดตรงๆ ตรงจนบางครั้งตลกขำกลิ้งไปเลยก็มี
อย่างเช่นเวลาเข้าห้องน้ำปวดท้องอึ ท่านจะอึออกยากมาก
ต้องเบ่งเป็นเวลานานๆ เวลาท่านอึที่ห้องน้ำ พระจะช่วยให้ท่านขับถ่ายง่ายขึ้น
พระจะพยามยามพูดว่า
“เบ่ง อืดดดดๆ ๆ ๆ ออกๆ” ตามจังหวะกลั้นลมหายใจยาวๆ
เมื่อพระพูดมากเข้า ท่านจึงพูดสวนขึ้นทันที
“มึงเบ่งทำไมวะ มึงไม่ได้ขี้ กูเป็นคนขี้
เดี๋ยวกูเบ่งเอง กูขี้เอง มึงเบ่งแล้วกูจะขี้ออกหรือ?”
พระทั้งหลายที่อยู่ในห้องน้ำสุดที่จะกลั้นหัวเราะไว้ได้
รักสัตว์
หลวงปู่เจี๊ยะชอบเลี้ยงหมาไทยหลังอาน
สมัยก่อนที่ท่านจะอาพาธ ทานชอบเลี้ยงแมวกับหมา
ท่านพูดกับแมวกับหมาเหมือนพูดกับคน
บางทีท่านฉันข้าวไปด้วยป้อนข้าวแมวไปด้วย
ท่านมีเมตตาเป็นสาธารณะจริงๆ
“มึงไปเที่ยวสาวไกลๆ ระวังเถอะจะตาย”
ท่านพูดกับหมาหลังอานของท่าน
แล้วท่านก็พูดสั่งสอนตักเตือนต่างๆ เหมือนพูดกับคน
วันหนึ่งท่านสั่งให้พระจับหมาขังกรงไว้
ไม่ปล่อยให้มันไปเที่ยวไหนๆ พระสงสารเห็นหมามันร้องเอ๋งๆ ก็ปล่อยออกไป
พอปล่อยออกไปมันก็ไปเที่ยวหาตัวเมีย เขาก็เอามีดฟันคอมันตาย
พวกพระจึงถึงบางอ้อว่า ที่ท่านขังไว้ไม่ปล่อยไป
เพราะท่านรู้ว่าถ้าปล่อยไป เขาจะฆ่ามันตาย
ย้ำให้ว่าพุทโธเร็วๆ
แม้ในขณะที่นอนป่วยอยู่บนเตียง
เมื่อมีคนมาถามเรื่องภาวนาท่านจะเมตตาตอบเพียงสั้นๆ ว่า
“ให้พุทโธ เร็วๆ ๆ เหมือนรั้วบ้านเราถี่ๆ อะไรล่ะจะเข้ามาได้”
แล้วท่านก็พูดเรื่อง กิเลส กรรม วิบาก ว่า
พวกเราทุกคนอยู่กับร่างกายนี้มาหลายภพชาติแล้ว
แต่อวิชชามันปิดบังจึงจำไม่ได้
ให้พากันปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา นะ
เพราะว่า ศีลเป็นเหตุ สมาธิเป็นผล
สมาธิเป็นเหตุ ปัญญาเป็นผล ปัญญาเป็นเหตุ วิมุตติเป็นผล ฯ
ก่อนละสังขารและปัจฉิมทัศนาการ
...การเห็นกันครั้งสุดท้าย
ในบั้นปลายชีวิตของท่านอาจารย์เจี๊ยะ จุนฺโท นั้น
ท่านมีร่างกายที่งอมระงมด้วยอาพาธ
จวบจนเมื่อใกล้ถึงระยะสุดท้ายที่ท่านจะลาสังสารนี้ไป
วันที่หลวงปู่เจี๊ยะจะเข้าโรงพยาบาลศิริราชเป็นครั้งสุดท้ายนั้น
หลวงตามหาบัวท่านได้เดินทางไปเยี่ยมดูอาการป่วยของท่าน
ที่วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม ในวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
ท่านได้เข้าไปดูภายในภูริทัตตเจดีย์
ได้เทศนาถึงความรักความเมตตาที่ท่านพระอาจารย์มั่นมีต่อหลวงปู่เจี๊ยะ
และกล่าวชมสรรเสริญภูมิจิตภูมิธรรมของหลวงปู่เจี๊ยะเป็นอเนกปริยาย
หลังจากท่านเข้าชมภูริทัตตเจดีย์แล้ว
ท่านจึงเดินทางมาที่กุฏิที่หลวงปู่เจี๊ยะพักอาพาธอยู่
ได้ทักทายพร้อมกับลูบที่มือกล่าวว่า
“หลวงตาบัวมาเยี่ยม”
“เราไม่พูดอะไรมากแหละ เพราะจะเป็นการรบกวนท่าน”
แล้วท่านอาจารย์บัวจึงนั่งลงบนเก้าอี้ข้างเตียงและได้เทศนาธรรม
ให้ประชาชนญาติโยมที่ติดตามมาเป็นจำนวนมาก
ในหัวข้อเรื่องว่า “พระอรหันต์ละสังขาร”
ประหนึ่งจะเป็นเครื่องหมายเตือนสานุศิษย์ให้ได้ทราบล่วงหน้าว่า
คราวนี้เป็นคราวสุดท้ายของหลวงปู่เจี๊ยะแล้ว
สังขารที่แบกหามมานานถึงกาลที่จะต้องทิ้งกันไปแล้ว
เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหลวงตาจะมา
หลวงปู่เจี๊ยะท่านจะมีอาการไอไม่หยุด
เมื่อหลวงตามาถึงเท่านั้นแหละอาการไอที่โหมกระหน่ำอย่างรุนแรงนั้น
ประหนึ่งว่าไม่เคยไอเลย หลวงปู่ท่านนอนนิ่งแสดงคารวะธรรมที่หลวงตามาเยี่ยม
เป็นกิริยาแสดงความเคารพยิ่งแม้ในขณะที่ป่วย
แม้หลวงตาจะเทศน์นานเท่าใด ท่านก็ไม่ไอเลยแม้แต่ครั้งเดียว
ธรรมเทศนาที่พระอาจารย์บัวแสดง มีเรื่องพระสารีบุตรปรินิพพาน
และท่านสรุปด้วยเรื่องพระอรหันต์ละสังขาร ใจความโดยย่อว่า
พระอรหันต์ท่านหมดกิเลสทุกอย่างแล้ว
ก็มีแต่ความรับผิดชอบในธาตุขันธ์
ไม่ได้เป็นในหัวใจท่านผู้สิ้นกิเลสแล้ว
เรียกว่าท่านรับผิดชอบตั้งแต่ท่านบรรลุธรรมตรัสรู้ธรรมแล้ว
จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของลมหายใจขาด ท่านก็ปล่อยเลย
พระอรหันต์กับธาตุขันธ์มีความรับผิดชอบเสมอกันกับโลกทั่วๆ ไป
เป็นแต่เพียงท่านไม่ยึด
เช่นเดินไปกำลังจะเหยียบรากไม้แต่คิดว่านั่นเป็นงู
ท่านก็ต้องมีการกระโดดข้ามหรือหลบเป็นธรรมดา
หรือท่านจะลื่นหกล้ม ท่านก็พยายามช่วยตัวเองไม่ให้ล้ม
ต่างกันกับคนทั่วๆ ไปตรงที่ว่า คนทั่วไปจิตใจร้อนวูบๆ เพราะอุปาทานยึดมั่น
ส่วนจิตพระอรหันต์ท่านเพียงแต่แย็บเท่านั้น ต่างกันตรงนั้น
เมื่อท่านอาจารย์บัวเทศนาธรรมจบเวลา ๑๔.๐๐ น.
ท่านจึงลุกขึ้นมองหลวงปูเจี๊ยะอย่างเพ่งพินิจสุขุม
กล่าวคำบอกลาว่า “ผมกลับก่อนนะ”
คำนี้เป็นคำสั่งลากันครั้งสุดท้ายของพระมหาเถระทั้งสอง
หลังจากหลวงตากลับไป ๒ ชั่วโมง
อาการป่วยของหลวงปู่เจี๊ยะก็กำเริบทรุดหนัก มีไข้สูง หอบเหนื่อย
พระคิลานุปัฏฐากได้ติดต่อพระอาจารย์เขียวเพื่อคิดต่อรถพยาบาลโดยด่วน
เวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น. แพทย์ผู้ดูแล
ได้แก่ รองศาสตราจารย์นายแพทย์ชัชวิน ระงับภัย
และรองศาสตราจารย์แพทย์หญิงพิมพ์ประไพ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา
ได้จัดรถพยาบาลรับท่านไปที่โรงพยาบาลศิริราช
ระหว่างทางท่านมีอาการเขียว ออกซิเจนในเลือดต่ำ
จึงได้นำท่านไปยังโรงพยาบาลกรุงสยามเซนต์คาร์ลอส
เพื่อรักษาเบื้องต้นจนปลอดภัย และเดินทางไปยังโรงพยาบาลศิริราชต่อไป
รองศาสตราจารย์นายแพทย์สุชาย สุนทราภา
และรองศาสตราจารย์นายแพทย์สถาพร มานัสสถิตย์
ได้ช่วยกันดำเนินการรับหลวงปู่ไว้ในหอผู้ป่วยวิกฤต
ผลเอ็กซ์เรย์ปอดพบมีสารน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดข้างขวา
แพทย์ที่หอผู้ป่วยวิกฤตระบบทางเดินหายใจ
ได้ทำการใส่ท่อช่วยระบายเลือดออกจากช่องเยื่อหุ้มปอดข้างขวา
ได้น้ำปนเลือดประมาณ ๑,๔๐๐ ซีซี
และได้ตรวจพบเซลล์มะเร็งในน้ำปนเลือดจากช่องเยื่อหุ้มปอด
คณะแพทย์ผู้รักษาได้ตัดสินใจไม่ถวายยาต้านมะเร็งเนื่องจากประเมินแล้วว่า
สภาพร่างกายของท่านคงรับกับภาวะแทรกซ้อนของยาไม่ได้
จึงถวายการรักษาตามอาการเพื่อให้ท่านมีทุกขเวทนาทางกายน้อยที่สุด
ในอดีตแม้พระพุทธเจ้าก็ทรงเข้าสู่มหาปรินิพพาน
สังขารอันเหมือนเกวียนเก่าชำรุดที่ต้องใช้ไม้กระหนาบค้ำไว้
เพื่อให้ทรงตัวอยู่ได้นั้น บัดนี้ถึงวาระต้องปล่อยไป
ทุกอย่างมีเกิดขึ้นย่อมมีสิ้นสุดลง
พระอาจารย์บัว ญาณสัมปันโน ได้มาเยี่ยมพระอาจารย์เจี๊ยะ จุนฺโท
เป็นการพบกันครั้งสุดท้ายในร่างสมมติของดอกบัวคู่งามแห่งวงศ์กรรมฐาน
ลาสังสาร
วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ก่อนมรณภาพเพียง ๓ วัน
เกิดเหตุอัศจรรย์ที่ควรนำมาพิจารณาเป็นอย่างมาก
หลวงปู่เจี๊ยะ มีฉวีวรรณผ่องใส แสดงท่าทางอาจหาญ
พูดจาเสียงดังฟังชัดเป็นประหนึ่งว่า ไม่เคยป่วยเป็นเวลามานานปี
วันนั้นท่านเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิต
ตั้งแต่เริ่มต้นจนวาระสุดท้าย แม้เรื่องเบ็ดเตล็ดเล็กน้อย
เช่น เรื่องแฟนสาวที่เคยรักสมัยเป็นหนุ่ม เรื่องญาติพี่น้อง บิดามารดา ฯลฯ
สรุปท้ายสุด ท่านพูดสั้นๆ แต่ตะโกนด้วยเสียงดังลั่นว่า
“พระเจี๊ยะตายแล้วๆ ๆ”
ตายจากสมมุติบัญญัติ เป็นประหนึ่งวาจาศักดิ์สิทธิ์
ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายกล่าวลาโลก
ซึ่งระงมปนเปื้อนเต็มไปด้วยความทุกข์เดือดร้อนนานาประการ
พูดอย่างเป็นภาษาธรรมะก็คือ ปลงอายุสังขาร ที่แบกหามทุกข์ทรมานมานานปี
บัดนี้ อีก ๓ วันข้างหน้า ภาระทั้งปวงจะต้องถูกทอดทิ้งแล้ว
เหลือแต่ธรรมะที่เลิศเลอภายในใจเพียงเท่านั้น
วันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
หลวงปู่เจี๊ยะเริ่มมีอาการเหนื่อยมากและออกซิเจนในเลือดลดลง
ได้ทำการเอ็กซ์เรย์ปอดพบว่า มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดจำนวนมากทั้งสองข้าง
แพทย์ได้ทำการเจาะช่องเยื่อหุ้มปอด
และดูดน้ำปนเลือดออกมาข้างละประมาณ ๘๐๐ ซีซี
หลังจากนั้นอาการเหนื่อยของท่านลดลง
ต่อมาเวลาประมาณ ๒๒.๕๕ น.
หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท ก็ได้ละขันธ์
เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานด้วยความสงบและอาจหาญในธรรม
สิริอายุรวมได้ ๘๘ ปี ๒ เดือน ๑๗ วัน ๖๘ พรรษา
เหลือไว้แต่ธรรม
ท่านอาจารย์เจี๊ยะมัธยัสถ์ นิยมแต่ผ้าเก่าๆ จีวร สบง อังสะ ปะๆ ชุนๆ
บาตรใบเดียว กลดหลังเดียว ผ้ากลดผืนเดียว กล่องเข็มกล่องเดียว
ใช้ตั้งแต่วันบวชจนกระทั่งวันตาย ยินดีเพียงบริขารที่มี ไม่เสาะแสวงหา
ผู้เป็นตำนานผ้าขี้ริ้วห่อทอง สาวกของพระศาสดา
ศิษย์ก้นกุฏิท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อันเตวาสิกท่านพ่อลี ธัมมธโร
พระสหายของสมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวัฑฒโน)
สหธรรมิกหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
ผลงานที่ท่านภูมิใจเป็นที่สุด คือ ภูริทัตตเจดีย์
สำหรับบรรจุทันตธาตุของท่านพระอาจารย์มั่น ผู้เป็นบูรพาจารย์
เพราะนั่นคือ “อาจาริยบูชา”
ประวัติ ปฏิปทา คติธรรม ของหลวงปู่เจี๊ยะ
อาจจะแตกต่างจากพระกรรมฐานรูปอื่นในแง่ปลีกย่อย
แต่หลักใหญ่แล้วเป็นเอกเทศ
ท่านไม่กว้างขวางเรื่องปริยัติธรรมภายนอก
รอบรู้เฉพาะเรื่องจิตตภาวนา อันเป็นธรรมภายใน
คำสอนของท่านก็เป็นประเภทปัจเจกะเฉพาะตน
เพราะท่านมุ่งเน้นทางด้านจิตใจเป็นส่วนใหญ่
ประกอบกับท่านมีบารมีธรรมที่บ่มบำเพ็ญมาแต่ชาติปางก่อน
เป็นสิ่งที่ช่วยเกื้อหนุนอยู่อย่างลึกลับ
การปฏิบัติของท่านจึงนับว่า รู้เร็วในยุคปัจจุบันสมัย
ที่มนุษย์มีกิเลสหนาขึ้นโดยลำดับ
ท่านจึงเป็นแบบอย่างทางสงบแก่โลก
ท่านสอนให้พวกเรามองอะไร ไม่ควรมองแต่ด้านเดียว
การมองอะไรไม่เพียงใช้สายตาเป็นเครื่องตัดสินเท่านั้น
แต่ต้องใช้แววตา คือ ปัญญาเป็นเครื่องประกอบการตัดสินใจ
ในการมองโลกและธรรม
เพราะผู้ปฏิบัติธรรมไม่ควรมองข้ามปมคำสอนเพียงเพราะสายตาเท่านั้น
ควรพิจารณาให้ถ้วนถี่เปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ที่ส่องแสงสว่างแก่โลก
ย่อมไม่ละเลยทั้งกอไผ่และภูเขา
เพราะไม่มีใครเลย ที่จะมีความดีความชั่วเพียงอย่างเดียว
แม้ดอกบัวที่มีกลีบงามละมุนก็ยังมีก้านที่ขรุขระ
ดุจแผ่นดิน ไม่มีใครอาจทำให้เรียบเสมอกันได้หมดฉันใด
มนุษย์ทั้งหลายจะทำให้เหมือนกันหมดทุกคนก็ไม่ได้ ฉันนั้น
ปฏิปทาของท่านอาจารย์เจี๊ยะ เป็นสิ่งที่ไม่พึงใช้การตัดสินด้วยทางโลกได้
ตามธรรมดาของโลกนั้นคนหมู่มากย่อมนิยมสิ่งที่ถูกกับจริตของตน
ตัดสินเอาจากภายนอก ซึ่งอาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป
แต่ในทางธรรมเอาความถูกต้องภายในเป็นหลัก
ดังพระพุทธวจนะที่ว่า
ทุทฺทนํ ททมานานํทุกฺกรํ กมฺมกุพฺพตํ
อสนฺโต นานุกุพฺพนฺติสตํ ธมฺโม ทุรนฺวโย.
สัตบุรุษให้ในสิ่งที่บุคคลอื่นให้ได้ยาก
กระทำในสิ่งที่บุคคลอื่นกระทำตามได้ยาก
คนที่ไม่ดีจริง ไม่แกร่งจริง ย่อมทำตามท่านไม่ได้
เพราะกรรมของสัตบรุษ ยากที่คนไม่ดีจะประพฤติตามได้
สนฺตกาโย สนฺตวาโจสนฺตมโน สุสฺมาหิโต
วนฺตโลกามิโส ภิกฺขุอุปสนฺโตติ วุจฺจตีติ ฯ
ภิกษุผู้มีกาย วาจาสงบ ยังไม่นับว่าเป็นผู้สงบแท้
แต่ผู้ที่มีกาย วาจา และใจสงบนั้นแล
เราตถาคตจึงเรียกภิกษุนั้นว่า เป็นผู้สงบอย่างแท้จริง
และเป็นผู้คลายจากความลุ่มหลงในโลกทั้งปวง ฯ
credit -- dhammajak.net