30.8.12

ถ้า....


กรรมที่ทําให้มีสติปัญญา



      ถ้าสวยหล่อแล้วหลอกง่าย ถ้าขยันจนร่ำรวยแล้วใช้เงินแบบโง่ๆจนหมดตัว ชีวิตก็ไม่ต้องได้มีความสุขกัน ฉะนั้น ปัญญาจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของชีวิตดีๆ ปัญหาคือทุกวันนี้บรรดาผู้เชี่ยวชาญยังคงงงงวยกันไม่เลิกว่าสติปัญญามาจาก ไหนกันแน่ จะว่าเป็นเชื้อที่ถ่ายทอดมาจากพ่อแม่หรือปู่ย่าตายาย ก็คงพูดไม่ได้เต็มปากเต็มคำ เพราะบางคนฉลาดระดับอัจฉริยะในขณะที่พ่อแม่มีสติปัญญาปานกลางหรือค่อนข้าง ต่ำ ตรงข้าม บางคนพ่อแม่เป็นถึงอาจารย์มหาวิทยาลัยมีผลงานวิจัยดีเด่น แต่ลูกกลับหัวช้า สอบเข้าเรียนที่ไหนก็ไม่ติด เป็นต้น.....


พุทธพจน์

ให้ปฏิภาณย่อมได้ปฏิภาณ
(โภชนทานสูตร)

การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทานทั้งปวง
(คาถาพระธรรมบท)

        ปัญญามีศีลเป็นเครื่องชำระให้บริสุทธิ์ และในทางกลับกัน ศีลก็มีปัญญาเป็นเครื่องชำระให้บริสุทธิ์ด้วย ศีลมีในบุคคลใด ปัญญาก็มีในบุคคลนั้น ปัญญามีในบุคคลใด ศีลก็มีในบุคคลนั้น ปัญญาเป็นของบุคคลผู้มีศีล ศีลเป็นของบุคคลผู้มีปัญญา และนักปราชญ์ย่อมกล่าวศีลกับปัญญาว่าเป็นยอดในโลก เหมือนบุคคลล้างมือด้วยมือ หรือล้างเท้าด้วยเท้าฉะนั้น
(โสณทัณฑสูตร)

          คนในโลกนี้จะเป็นชายหรือหญิงก็ตาม ถ้าเข้าหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไรเมื่อทำแล้วเปล่าประโยชน์ ทำแล้วให้ผลเป็นทุกข์ตลอดไป อะไร เมื่อทำแล้วเกิดประโยชน์ ทำแล้วให้ผลเป็นสุขตลอดไป เมื่อเขาได้คำตอบแล้วรับเอาเป็นข้อปฏิบัติจนชั่วชีวิต เมื่อกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกในภายหลัง เขาจะเป็นคนมีปัญญามาก
(จูฬกัมมวิภังคสูตร)

          มีธรรมอยู่ข้อหนึ่ง ที่ใครก็ตามทำให้เจริญขึ้นในตนเป็นอันมากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ปัญญาเจริญ ปัญญาไพบูลย์ ปัญญาใหญ่ ปัญญามาก ปัญญาลึกซึ้ง ปัญญาแก่กล้า ปัญญากว้างขวาง ปัญญาว่องไว ปัญญาเร็ว ปัญญาร่าเริง ปัญญาแล่น ปัญญาคม ปัญญาชำแรกกิเลส ธรรมข้อนั้นคืออะไร? คือ กายคตาสติ คือการเอากายนี้เป็นที่ตั้งของการเจริญสติ
(ปสาทกรธัมมาทิบาลี)

มุมมองอันควรได้จากพุทธพจน์

          คุณจะเห็นว่าความฉลาดคืออะไร ก็ต่อเมื่อเจอใครสักคนที่แสดงความฉลาดอย่างน่าทึ่งออกมาให้เห็น เช่น เมื่อคนทั้งห้องแก้ปัญหาโจทย์เลขที่ยุ่งยากซับซ้อนไม่ได้ แล้วมีใครคนหนึ่งยืนขึ้นและบอกว่าแก้ได้

        แต่บุคคลอันเป็นสัญลักษณ์ของความฉลาด เช่น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ผู้เขย่าโลกด้วยทฤษฎีอันเป็นต้นกำเนิดระเบิดปรมาณู บอกเราว่าความฉลาดไม่ใช่แค่แก้ปัญหาเก่ง แต่ยังต้องเป็นสุดยอดนักตั้งคำถาม ถามแล้วเกิดมุมมองใหม่ หรือถามแล้วจุดชนวนให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น อยากศึกษาเข้าไปให้ถึงแก่นความจริง

        บุคคลอันเป็นสัญลักษณ์ของการเรียนรู้เร็ว เช่น วิลเลี่ยม เจมส์ ไซดิส (William James Sidis) ซึ่งทำความรู้จักภาษาละตินด้วยตนเองเมื่ออายุ ๒ ขวบ และโตขึ้นเป็นคนที่ใช้เวลาเรียนรู้ภาษาหนึ่งๆได้เพียงภายในวันเดียว กับทั้งสามารถแปลความจากภาษาหนึ่งไปสู่ภาษาอื่นใดก็ได้แบบฉับพลันทันที ชีวิตของเขาแสดงให้เราเห็นว่าถ้าใครสักคนจะรู้ทุกภาษาในโลก ก็ต้องมีไฟใฝ่รู้ตั้งแต่ขวบเดียวด้วยตนเอง ไม่ใช่รอให้ถูกกระตุ้นโดยพ่อแม่หรือสิ่งแวดล้อม และถ้าฉลาดขนาดพูดได้ทุกภาษา ก็ย่อมทะลุขีดจำกัดความฉลาดได้หมด ดังเช่นที่ไซดิสหลักแหลมขนาดพยายามศึกษาทฤษฎีของไอน์สไตน์เพื่อ "จับผิด" ตั้งแต่อายุแค่ ๑๐ ขวบ!

       ว่ากันว่าไอคิวของไอน์สไตน์อยู่ในช่วงประมาณ ๑๖๐ ถึง ๑๘๐ ส่วนของไซดิสจะเป็น ๒๕๐ ถึง ๓๐๐ ในขณะที่โลกนี้มีคนเพียงหนึ่งในร้อย ที่ไอคิวสูงกว่า ๑๓๕ นอกนั้นอยู่ในช่วงประมาณ ๘๕ ถึง ๑๑๕ กันเกือบหมด

        หลักการวัดไอคิวมักเน้นเรื่องปฏิภาณและการใช้จินตนาการแก้ปัญหาน่างงงวย อย่างไรก็ตาม ยังมีหลักวิธีวัดไอคิวบางชนิด ที่ถือเอาความปราดเปรื่องในการสร้างผลงานมาเป็นเกณฑ์ เช่น หากมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ก่อนอายุ ๑๗ ก็ถือว่าเป็นอัจฉริยะ รับประกันความมีไอคิวสูงกว่าคนปกติ เพราะคนปกติจะไม่มีผลงานเป็นที่ยอมรับก่อนอายุ ๑๗ เป็นต้น

         ผลงานของคนฉลาดก็อาจจุดประกายให้ฉุกคิดว่าคนเราควรมีความฉลาดสูงสุดเอาไว้ทำ อะไรกันแน่ เพื่อให้รู้ว่าเป็นอัจฉริยะเหนือคนอื่นก่อนอายุ ๑๗ หรือเพื่อให้รู้ว่ามนุษย์อาจเก่งได้ไม่จำกัด เช่นที่ไซดิสสำแดงความสามารถเอาไว้ หรือเพื่อเปิดโปงความลับอันยิ่งใหญ่ของจักรวาลด้วยคณิตศาสตร์ เช่นที่ไอน์สไตน์เพียรพยายามสุดฤทธิ์?

        ยิ่งศึกษาชีวิตของอัจฉริยะในประวัติศาสตร์มากขึ้นเท่าไร คุณจะยิ่งเห็นความจริงว่าชีวิตของอัจฉริยะแต่ละคนถูกออกแบบมา เพื่อสนองวัตถุประสงค์บางอย่าง บางทีก็เป็นประโยชน์กับโลก บางทีก็ไปมีส่วนในการทำลายโลก และบางทีก็เพียงเพื่อให้โลกรู้ว่าคนเราอาจเก่งกาจได้ขนาดไหน

        เจ้าชายสิทธัตถะก็รอบรู้และแตกฉานสารพัดศาสตร์ตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์ แม้ปฐมฌานอันเป็นสมาธิที่เข้าถึงได้ยากแสนยาก พระองค์ก็ฝึกสำเร็จเองตั้งแต่พระชันษาเพิ่ง ๗ ปี ที่สำคัญพระองค์เห็นชีวิตด้วยมุมมองที่แตกต่างจากคนอื่น สามารถตั้งคำถามที่สำคัญที่สุดในโลกได้เอง แถมตอบคำถามได้เองอีก และเหนือสิ่งอื่นใดคือสามารถประกาศคำตอบสำคัญสูงสุดนั้นออกไปทั่วโลก จึงทำให้พระองค์ถูกจดจำไว้ว่าเป็น "พระพุทธเจ้า" ซึ่งแปลว่า ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง และสามารถประกาศความรู้ด้วยการสถาปนาพุทธศาสนาขึ้นในโลก!

         ชาวพุทธที่เข้าถึงปัญญาแบบพุทธ จะรู้ว่าความฉลาดสูงสุดไม่ใช่เลขไอคิวสูงสุด แต่เป็นการรู้จักโจทย์สำคัญสูงสุด และได้คำตอบเป็นประโยชน์สูงสุด ตามรอยบาทพระศาสดา

กรรมในการให้ทาน

         การให้ทานจะทำให้เราหายโง่ในขั้นพื้นฐาน นั่นเพราะอะไร? เพราะปกติคนทั่วไปจะหลงเชื่อกิเลส นึกว่าหวงไว้ เอาเข้าตัวท่าเดียว นับว่าได้เปรียบ ได้เป็นสุข ความจริงก็คือยิ่งเอาเข้าตัวเท่าไร ยิ่งอึดอัดคัดแน่นในอกขึ้นเท่านั้น แต่ทั้งที่กระวนกระวายไม่เป็นสุขอยู่เห็นๆ คนเรายังกลับเข้าข้างกิเลส หลงเชื่อมันอยู่ปีแล้วปีเล่า

         เมื่อฝึกให้คุณจะพบจากประสบการณ์จริงว่าทานทำให้ฉลาดขึ้น แบ่งตามชนิดได้ คือ

๑) ทรัพยทาน

เมื่อรู้จักแบ่งปันทรัพย์ส่วนเกิน กระทั่งให้ได้ไม่เสียดาย ให้ได้ทุกครั้งที่มีโอกาส คุณจะเกิดความฉลาดทางจิต เห็นว่าอะไรที่พะรุงพะรัง อะไรที่ไม่จำเป็นต้องแบก จะทิ้งเสียก็ได้ หากปราศจากความฉลาดทางจิตแบบนี้แล้ว คุณจะพร้อมหวงไปทุกอย่าง อยากได้ไปทุกสิ่ง จนไม่มีที่ว่างให้สติปัญญาเกิดขึ้นเลย

ความโง่ทำให้เราเสียไม่เป็น ถ้าของหายหรือเสียของไป ใจจะทิ้งไม่ลง ทั้งที่รู้แก่ใจว่าอย่างไรก็ไม่ได้คืน ทางเดียวที่คุณจะรับมือกับเงินหาย ๕๐๐ บาท คือ ต้องเคยทำบุญ ๕๐๐ บาทมาก่อน ความฉลาดระดับ ๕๐๐ จึงจะเกิดขึ้นและปล่อยวางเงินที่หายไป ๕๐๐ เสียได้

๒) อภัยทาน

เมื่อรู้จักอภัยในความผิดพลาดของคนอื่น กระทั่งเป็นคนโกรธได้แต่หายเร็ว คุณจะเกิดความฉลาดทางจิต เห็นความเย็นดีกว่าความร้อน เห็นการนอนหลับสนิทหรือฝันดี ประเสริฐกว่าการนอนดิ้นไปกับฝันร้าย หากปราศจากความฉลาดทางจิตแบบนี้แล้ว คุณจะมัวคิดถึงแต่คำว่าตาต่อตา ฟันต่อฟัน ฆ่าได้หยามไม่ได้ ฝ่ายคุณเอาเปรียบได้แต่ไม่มีทางเสียเปรียบใคร ใจก็ผูกเวรอยู่ได้แม้ด้วยเรื่องเล็กๆน้อยๆตามถนนหนทาง หลายต่อหลายคนบาดเจ็บ พิการ หรือกระทั่งล้มตาย เพียงเพราะฉลาดไม่พอจะระงับอารมณ์โง่ชั่ววูบเท่านั้น

๓) ธรรมทาน

เมื่อรู้จักช่วยส่งเสริมให้ใครต่อใครได้คิด ได้เอาตัวออกจากความโง่ประการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของความตระหนี่ และในแง่ของความพยาบาท คุณเองย่อมฉลาดขึ้นไปอีก

แต่หากคุณคิดอยากใหญ่ สั่งสอนคนอื่นด้วยอาการยกตนข่มท่าน จาระไนเรื่องทานราวกับผู้มีทานบารมี ทั้งที่ยังตระหนี่เงินทอง หรือยังผูกพยาบาทอาฆาตเก่ง อย่างนี้นอกจากไม่ทำให้ฉลาดขึ้น ยังกดตัวเองให้โง่หนักเข้าไปอีก ค่าที่รู้แล้วไม่ทำ หนำซ้ำยังจะหลอกคนอื่นให้เข้าใจว่าตัวเองสูงส่งอีก

เมื่อให้ธรรมทานเป็น กระทั่งมีแก่ใจอยากให้ธรรมทานมากๆ คุณจะฉลาดทางความคิดและทางจิตไปพร้อมๆกัน เพราะการพูดโน้มน้าวให้คนอื่นได้ดีตามคุณนั้น ต้องฝึกกลั่นคำพูดออกมาจากใจที่เป็นกุศล จนเกิดศิลปะในการเลือกคำ ผูกคำ ด้วยศิลปะแห่งการตัดตรงเข้าสู่ตัวปัญหาทางใจ ตรงไหนเป็นปมทุกข์ ตรงไหนเป็นวิธีแก้ปมทุกข์

การเห็นวิธีแก้ทุกข์ให้คนอื่น แต่กลับไม่เห็นวิธีแก้ทุกข์ให้ตนเอง เป็นหลักฐานอย่างหนึ่งที่จะแสดงให้คุณเองรู้และฉลาดขึ้นได้ว่า ธรรมที่ให้คนอื่นเป็นทานนั้น ใช่ของที่มีในตนจริง หรือสักแต่ไปลักขโมยคำของผู้มีธรรมจริงมาพูดกันแน่

พระพุทธเจ้าตรัสว่าให้อะไรได้อย่างนั้น ไม่ใช่ให้จานได้จานคืน ให้ตู้เย็นเขาแล้วเราจะได้ตู้เย็นใหม่จากคนอื่น แต่เป็นภาวะที่เสมอกัน เช่น ให้สุขย่อมได้สุข ให้ความฉลาดย่อมได้ความฉลาด ให้ธรรมะย่อมเพิ่มพูนธรรมะ แต่ถ้าให้แต่ลมปาก ก็จะได้แค่ลมแล้งกลับคืนมานั่นเอง

ชาวพุทธส่วนใหญ่เข้าใจว่าธรรมทานคือการแจกหนังสือหรือสื่อธรรมะทั้งหลาย ความจริงก็คือถ้าคุณแจกมั่ว ผลดีผลร้ายก็กลับมามั่วเช่นกัน ทางที่ปลอดภัยคือต้องอ่านหรือฟังเองจนรู้ชัดว่าเป็นธรรมะดี ธรรมะที่ไม่พาหลงทาง ธรรมะที่ก่อให้เกิดศรัทธาในพระพุทธเจ้า ธรรมะที่ก่อให้เกิดความเชื่อในผลแห่งกรรมว่ามีจริง ธรรมะที่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจให้เพียรเพื่อพ้นทุกข์ แล้วจึงค่อยแจกจ่ายธรรมะนั้น ใจถึงจะอิ่มเอิบ เบิกบานกว้างขวางจริงๆ

กรรมในการรักษาศีล

บางคนรู้สึกอยู่ลึกๆว่าตัวเองก็ฉลาดไม่แพ้ใครอื่น แต่น่าเจ็บใจที่มีข้อติดขัดบางประการ หลายครั้งเมื่อจะต้องตัดสินใจครั้งสำคัญดันไม่มีสมาธิ จู่ๆก็หนักหัวขึ้นมาเฉยๆ หรือช่วงต้นวัย พอใกล้สอบไม่อยากอ่านหนังสือ ถึงเวลาสอบจริงยิ่งรู้สึกเหมือนคนไม่มีแรงว่ายน้ำไปให้ถึงฝั่ง ราวกับมีอะไรมาดึงแขนดึงขาไว้

เหล่านั้นเป็นตัวอย่างของ "คลื่นรบกวนความฉลาด" ซึ่งมีอยู่หลายแบบ อาจจะเป็นการสั่งสมนิสัยทอดธุระ ผัดวันประกันพรุ่งจนเคยตัว หรือไม่ก็เป็นผลของบาปเก่าๆที่ตามมาเล่นงาน แกล้งบดบังไม่ให้ทำการอันเป็นไปเพื่อความก้าวหน้าได้ถนัดนัก แจกแจงได้เป็นข้อๆ ดังนี้

๑) เคยฆ่าสัตว์ตัดชีวิตไว้มาก

โดยเฉพาะพวกขุนศึกเก่งๆที่ฆ่าศัตรูได้ง่ายราวกับผักปลา หรือผู้มีอาชีพเกี่ยวข้องกับการสังหารทั้งหลาย วิบากคือทำให้รู้สึกหนักหัว มึนตลอด บางทีคล้ายใครเอาหมอนมาโปะไว้บนกระหม่อม อุดทางเข้าออกของปัญญา ยิ่งถ้าเคยคิดประทุษร้าย แบบแกล้งให้ใครสมองบอบช้ำ ก็ อาจต้องรับผลคือเป็นคนหัวช้า เลื่อนลอยจำอะไรไม่ค่อยได้ หรือถึงขั้นปัญญาอ่อนมาแต่กำเนิดเลยทีเดียว เป็นไปตามโทษานุโทษอันสมกันกับเหตุที่เคยก่อไว้

๒) เคยลักทรัพย์ทางปัญญาไว้มาก

ตัวอย่างที่จัดแจ้งสุดได้แก่พวกเผาโรงเรียน หรือยักยอกหนังสือที่เขาบริจาคเพื่อให้เด็กยากไร้มีโอกาสเรียนกัน วิบากคือทำให้ขาดสถานที่ศึกษา ขาดเครื่องมือ หรืออยู่ในถิ่นไกลปืนเที่ยงเสียจนไม่อาจหวังเอาวิชาความรู้ได้จากไหน หรือถ้ามีโอกาสเรียนก็เจอความมืดทางปัญญา ชนิดเรียนอย่างไรก็ไม่รู้ พยายามดูอย่างไรก็ไม่เห็น ราวกับผีเอากำแพงมาบังกระดานดำหน้าชั้นเรียน จำอะไรที่เป็นประโยชน์ไม่ได้ จำได้แต่ที่เป็นโทษ ที่ทำให้มองโลกในแง่ร้าย

๓) เคยลักลอบเป็นชู้ไว้มาก

คือมากจนหน้ามืดตามัว หมกมุ่นและเมากามอย่างหนัก วิบากคือทำให้อ่อนแอ ไม่อยากเรียน ไม่อยากคิดมาก เพราะ จิตใจบิดเบี้ยว คอยแต่มองอะไรในทางลามก คนเราพอจิตใจบิดเบี้ยว คอยแต่คิดออกนอกลู่นอกทางไปหาเรื่องต่ำๆเหม็นๆ ก็มีผลปัญญาทึบ หมกมุ่นคับแคบ คิดอะไรไม่ออก ไม่อยากเอาใจไปทางอื่นมากกว่าเรื่องใต้สะดือเป็นธรรมดา

๔) เคยพูดร้ายไว้มาก

ทั้ง ในแง่ของการโกหก การยุยงให้แตกกัน การพูดหยาบคายทิ่มตำใจ และการพูดเพ้อเจ้อตามอารมณ์ฟุ้งซ่านเลื่อนลอย วิบากคือทำให้มองไม่เห็นตามจริง รับรู้อยู่ในปัจจุบันให้ตรงจริงได้ยาก ส่วนใหญ่พอได้ความรู้อะไรนิดหนึ่ง ก็อาจทะเล้นคิดแบบไร้สาระ ไม่ยอมรับสาระ เห็นจริงเป็นเท็จ เห็นเท็จเป็นจริงตามอำเภอใจเอาง่ายๆ ต้องออกแรงอย่างมากกว่าจะรับรู้ตรงจริงกับคนอื่นได้สักครั้ง

๕) เคยเมาเหล้าขาดสติไว้มาก

นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นขี้เมาในชาติที่ก่อกรรมข้อนี้แล้ว วิบากในชาติถัดมาก็ยังเมาคลื่นรบกวนความฉลาดได้อีก คือ จะเป็นผู้ฟุ้งซ่านจัด ห้ามยาก หยุดยาก เรียกว่าบางทียิ่งเรียนเหมือนยิ่งใกล้บ้า ทั้งเบื่อ ทั้งหงุดหงิด ทั้งล่องลอยเลื่อนเปื้อน

เรื่องของวิบากจากการผิดศีลที่มีผลต่อสติปัญญานั้น ค่อนข้างเป็นเรื่องเชื่อได้ง่าย เพราะชาตินี้ตอนคุณฆ่าสัตว์ ยักยอกทรัพย์ เป็นชู้ โกหก กินเหล้า จะรู้สึกหนักๆทึบๆขึ้นมาในหัว เหมือนมีม่านหนักๆโรยลงมาบดบังปัญญา สิ่งสั่งสมมากยิ่งชัดมาก และนั่นก็คือตัวอย่างว่าจะต้องเจอแบบนั้นหรือหนักกว่านั้น กับทั้งยืดเยื้อกว่านั้นในชาติต่อไป

ตรงข้าม หากตั้งใจเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ว่าจะถือศีลให้สะอาด แถมทำในเรื่องตรงข้าม เช่น นอกจากงดเว้นการฆ่าสัตว์ ยังปล่อยชีวิตสัตว์ใหญ่ที่กำลังจะถูกฆ่า พอทำเรื่อยๆเป็นเดือนเป็นปี คุณจะรู้สึกปลอดโปร่งโล่งเบา ถ้าตอนต้องใช้ความคิดเคยหนักๆทึบๆแบบไม่มีเหตุผล ทุกอย่างก็จะบรรเทาเบาบางลงอย่างเห็นได้ชัด

กรรมด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

โทษสถานเบาที่สุดสำหรับคนปฏิเสธการหาความจริงเรื่องบุญบาป คือ มีสิทธิ์เดินบนเส้นทางอันมืดทึบของคนโง่ นั่นเพราะอะไร? เพราะบุญเป็นสิ่งปรุงแต่งจิตให้สว่าง โปร่งโล่ง สดใส พร้อมจะคิดอ่านได้อย่างฉลาดเฉลียว พอปฏิเสธเรื่องบุญบาป ก็พร้อมจะคิดฟุ้งซ่านไปตามอำเภอใจ และตัดสินใจทำชั่วประการต่างๆได้โดยไม่ต้องยับยั้ง

ตรงกันข้ามกับคนที่เข้าหาผู้รู้จริง เช่น พยายามศึกษาว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างไร กรรมใดทำแล้วเรียกว่าเป็นบุญกุศล กรรมใดทำแล้วเรียกว่าเป็นบาปอกุศล และตั้งใจถือเอาเฉพาะกรรมดี ละเว้นกรรมชั่วให้เด็ดขาด อย่างนี้จึงควรแก่การได้ชื่อว่าอยู่บนเส้นทางของคนฉลาด เพราะ บุญนี้คือจุดเริ่มต้นของการรู้จักตั้งคำถามเป็น ตั้งคำถามได้เข้าจุด ตั้งคำถามได้ถึงประโยชน์อันควร ไม่น่าประหลาดใจหากเกิดชาติหน้าเป็นคนมีปัญญามาก

ความอยากรู้อยากเห็น หรือความพยายามถามหาคำตอบเกี่ยวกับบุญบาป มีความสัมพันธ์โดยตรงกับความสามารถในการตั้งคำถาม กล่าวคือคุณจะมีวิธีคิดแบบเลือกเฟ้น จับประเด็นแม่น และเข้าหาเป้าหมายด้วยทางลัด หรือเล็งเห็นประโยชน์สูงสุดได้เร็วกว่าคนอื่นๆ

เมื่อใจอยู่ในอาการเฟ้นหาคำถามที่ดีที่สุด เกิดใหม่ก็ย่อมได้คุณลักษณะประการสำคัญของเด็กฉลาด นั่นคือช่างสงสัย ชอบไถ่ถาม ใจไม่แคบ ไม่ปิดกั้น และกลายเป็นคนชอบคิดค้น หาคำตอบใหม่ๆด้วยตนเอง จนกว่าจะรู้สึกว่าใช่ที่สุด น่าพอใจที่สุด ตรงประเด็นปัญหาทั้งต้นเหตุและทางออกที่ดีที่สุด

หลายคนสงสัยว่ากรรมที่ทำให้เป็นอัจฉริยะตั้งแต่เด็กคืออะไร กรรมใดเป็นเหตุให้เกิด "พรสวรรค์" ระดับโลก คำตอบคือนอกจากเป็นผู้ทำกรรมอันควรแก่การมีปัญญาสูงส่งแล้ว ยังต้องเป็นผู้เคยทำคุณให้กับวงการใดวงการหนึ่งไว้มากด้วย จึงเหนี่ยวนำให้เด็กเกิดความสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างยิ่งยวด และเป็นเหตุให้พากเพียรแบบ "ทุ่มสุดตัว" กับการเอาดีในเรื่องนั้นๆ

ขอยกตัวอย่างอัจฉริยะทางดนตรีที่ผู้คนยังจดจำและกล่าวขวัญถึงอยู่เสมอ แม้ว่าตัวเขาจะล่วงลับจากโลกนี้ไปกว่าสองศตวรรษแล้วก็ตาม คือ โวล์ฟกัง อมาเดอุส โมสาร์ท (Wolfgang Amadeus Mozart) กรรมเก่าที่เคยมีคุณูปการต่อแวดวงการดนตรีได้ส่งเขามาเกิดในบ้านที่จะได้รับ แรงบันดาลใจอย่างสูง ทั้งเห็นพ่อเล่นฮาร์พซิคอร์ด ทั้งเห็นพี่สาวเล่นคลาเวียร์ได้เก่ง และทั้งมีความสามารถจดจำเสียงดนตรีได้แม่นยำ เรียนรู้ได้เร็วเกินวัย องค์ประกอบทั้งหมดนี้รวมเรียกว่า "พรสวรรค์"

ส่วน "พรแสวง" เกิดขึ้นเมื่อเขาสมัครใจทุ่มเทเวลามาฝึกหัดจริงจัง ด้วยความวิริยะอุตสาหะผิดมนุษย์ ในที่สุดเขามีความสามารถเล่นดนตรีได้ตั้งแต่ ๔ ขวบ ประพันธ์เพลงได้ตอน ๕ ขวบ และเล่นไวโอลินให้สมาชิกวงดนตรีประจำสำนักของอาร์ชบิชอพตะลึงฟังตาค้างได้ ขณะที่อายุเพิ่ง ๖ ขวบเท่านั้น!

โมสาร์ทมีคุณูปการต่อโลกดนตรีเพียงใด ทุกคนเห็นชัด เขาสร้างดนตรีที่โลกไม่ลืม และนักประวัติศาสตร์ทางดนตรีหลายคนก็เชื่อว่าโมสาร์ทเป็นคนสอนวิธีประพันธ์ ดนตรีให้กับเบโธเฟน (Ludwig van Beethoven) ผู้เป็นคีตกวีชื่อก้องโลกอีกคนหนึ่ง นับว่าครบองค์ คือ ทุ่มเทให้วงการดนตรีด้วย และบอกสอนให้คนรุ่นหลังเป็นวิทยาทานด้วย

อันที่จริงการไล่ล่าคว้าคำตอบว่าเหตุใดเด็กจึงเป็นอัจฉริยะนั้นมีมานาน นักจิตวิทยาคนหนึ่งเอาตนเองและชีวิตลูกสาวสามคนเป็นเดิมพันการทดลอง กล่าวคือเขาประกาศตั้งแต่ก่อนลูกสาวคนแรกเกิด ว่าเขาจะมีลูกกี่คนก็ตาม ทุกคนต้องยิ่งใหญ่ในโลกหมากรุก และเขาก็ทำได้จริงๆ เริ่มจากการให้ลูกเรียนหนังสือที่บ้าน กระตุ้นให้เกิดความสนใจในเกมหมากรุก ผลคือลูกสาวทั้ง ๓ คนเล่นหมากรุกระดับโลกกันหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จูดิท โพลการ์ (Judit Polgar) ผู้เป็นน้องคนสุดท้องนั้น เล่นได้ถึงระดับแกรนด์มาสเตอร์ ตั้งแต่อายุเพียง ๑๕ ปีกับ ๕ เดือน ทำลายสถิติโลกเดิมที่ผู้ชายทำไว้ก่อนหน้าลงอย่างราบคาบ

คุณพ่อของเด็กเป็นนักจิตวิทยาที่ไม่ได้ฉลาดระดับอัจฉริยะ ภรรยาเขาก็เช่นกัน เขาจึงสรุปว่าอัจฉริยะถูกสร้างขึ้นได้ด้วยความจงใจ ไม่ใช่ด้วยพันธุกรรมหรือความบังเอิญ แต่ข้อเท็จจริงทางกรรมวิบากก็คือ ทันทีที่คุณพ่อตั้งใจว่าจะสร้างสภาพแวดล้อมขึ้นมากระตุ้นความสนใจของลูก เขาก็ทำตัวเป็นแดนเกิดอันเหมาะสม สำหรับเด็กที่มีบุญเก่าทางหมากรุกแล้ว

ที่ควรกล่าวเช่นนี้ ต้องย้อนกลับไปที่ความจริงอันเป็นปฐม นั่นคือมนุษย์ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ มนุษย์ไม่ใช่เพียงน้ำเชื้อจากพ่อแม่ผสมกัน แต่ต้องมีจิตวิญญาณมาเข้าท้องด้วย ดังนั้น จุดสรุปจึงเป็นว่าต้องมีทั้งบุญเก่าเป็นพรสวรรค์​ และได้แดนเกิดอันเอื้อให้สร้างพรแสวง อัจฉริยะจึงปรากฏ

ถ้าใครอยากฉลาดขึ้นผิดหูผิดตาภายในชาติเดียว พระพุทธเจ้าก็ทรงให้คำตอบไว้ นั่นคือต้องทำให้สติเจริญขึ้น โดยอาศัยกายเป็นที่ตั้งของสติ

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? มาดูข้อเท็จจริงขั้นพื้นฐานกันก่อน คุณสมบัติอันเป็นเครื่องหมายหนึ่งของคนฉลาด คือ มีสติอยู่กับเนื้อกับตัว การมีสติอยู่กับเนื้อกับตัวเป็นเหตุพื้นฐานให้มีการทรงตัวดี รู้สึกมั่นคง มีความรู้สึกไว รับรู้ได้เร็ว รับรู้ได้คมชัด จึงช่างสังเกตและสามารถคิดได้อย่างมีความสุข ไม่ใช่คิดวกวนจนเป็นทุกข์แบบคนโง่

ทีนี้ถามว่าทำอย่างไรจะเกิดคุณสมบัติอันเป็นเครื่องหมายของคนฉลาดเหล่านั้น? เรามีสิทธิ์พิสูจน์คำตรัสของพระพุทธเจ้าก็ตรงนี้ วิชาเจริญสติโดยอาศัยกายของท่านมีอยู่ คือ ให้สังเกตความจริงเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางกายที่มีให้รับรู้ได้ตลอดเวลา ไล่ตั้งแต่ง่ายไปหายาก นับแต่ดูความจริงเกี่ยวกับลมหายใจก่อน เห็นชัดแล้วจึงไล่ไปที่ความจริงของอาการอื่นทางกาย เช่น อิริยาบถใหญ่น้อย ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น

ถ้าทำได้ก็ย่อมเป็นเหตุให้คุณมีสติอยู่กับเนื้อกับตัว แล้วคุณสมบัติอันเป็นเครื่องหมายของคนฉลาดก็จะไหลตามมาไปเอง ถ้าทำเต็มที่ก็อาจพิสูจน์ว่าคนเราฉลาดแหลมคมขึ้นอย่างเอกอุในชาติเดียวได้ หรือไม่

ที่มา -- ดังตฤณ

กฏแห่งกรรม




กฏแห่งกรรม คือ กฏแห่งการกระทำ
หรือ กฏแห่งเหตุและผล ประกอบเหตุอย่างนี้
ต้องไปมีผลอย่างนั้น ประสบผลอย่างนี้
เพราะประกอบเหตุมาอย่างนั้น

กรรม คือ การกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ
จะดีหรือชั่ว เจตนาหรือไม่เจตนา จะน้อยหรือมาก
ล้วนมีผลทั้งสิ้น ที่ไม่มีผลไม่มีเลย
ผลบางอย่างปรากฏชัดในปัจจุบันทันตาเห็น
บางอย่างไม่เห็น  เพราะเราตายเสียก่อน
แต่ว่าผลนั้นจะส่งต่อ ๆ กันไปหลังจากตายแล้ว
รวมทั้งเกิดใหม่อีกกี่ครั้งก็ยังต้องเจออีก

กฏหมายหรือกฏเกณฑ์ต่าง ๆ ในโลก ที่มนุษย์สมมติกันขึ้นมา ยังหลีกเลี่ยงได้ ยังเปลี่ยนแปลงได้ ปีนี้ใช้อย่างนี้ ปีหน้าเปลี่ยนใหม่ แต่กฏแห่งกรรมไม่เคยเปลี่ยนแปลง

   ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
   ทำอย่างไรได้อย่างนั้น
   ปลูกถั่วก็ต้องเป็นถั่ว
   ปลูกงาก็ต้องเป็นงา
   ปลูกถั่วจะเป็นงาไม่ได้

29.8.12

บุญเราไม่เคยสร้าง ใครที่ใหนจะมาช่วยเจ้า


"อาการ 32"

 


พระพุทธองค์ทรงแยกย่อย ในการพิจารณา
ในส่วนประกอบ ของกายคือ อาการ 32  ดังนี้

๑. เกสา หมายถึง ผม
๒. โลมา หมายถึง ขน
๓. นะขา หมายถึง เล็บ
๔. ทันตา หมายถึง ฟัน
๕. ตะโจ หมายถึง หนัง
๖. มังสัง หมายถึง เนื้อ
๗. นะหารู หมายถึง เอ็น
๘. อัฏฐิ หมายถึง กระดูก
๙. อัฏฐิมิญชัง หมายถึง เยื่อกระดูก
๑๐. วักกัง หมายถึง ม้าม
๑๑. หะทะยัง หมายถึง หัวใจ
๑๒. ยะกะนังหมายถึง ตับ
๑๓. กิโลมะกัง หมายถึง พังผืด
๑๔. ปิหะกัง หมายถึง ไต
๑๕. ปัปผาสัง หมายถึง ปอด
๑๖. อันตัง หมายถึง ไส้ใหญ่
๑๗. อันตะคุณัง หมายถึง ไส้น้อย
๑๘. อุทริยัง หมายถึง อาหารใหม่
๑๙. กะรีสัง หมายถึง อาหารเก่า
๒๐. ปิตตัง หมายถึง น้ำดี
๒๑. เสมหัง หมายถึง เสลด
๒๒. ปุพโพ หมายถึง น้ำหนอง
๒๓. โลหิตัง หมายถึง เลือด
๒๔. เสโท หมายถึง เหงื่อ
๒๕. เมโท หมายถึง น้ำมันข้น
๒๖. อัสสุ หมายถึง น้ำตา
๒๗. วะสา หมายถึง น้ำมันเหลว
๒๘. เขโฬ หมายถึง น้ำลาย
๒๙. สิงฆาณิกา หมายถึง น้ำมูก
๓๐. ละสิกา หมายถึง น้ำไขข้อ
๓๑. มุตตัง หมายถึง น้ำปัสสาวะ
๓๒. มัตถะเก มัตถะลุง หมายถึง มันสมองศรีษะ


คำว่า ครบสามสิบสอง พจนานุกรม ฉบับมติชน แปลความหมายว่า มีอวัยวะครบทุกส่วน ไม่มีส่วนใดขาดหรือเกิน 

ที่ ว่า "ครบ 32 ประการ" มาจากการฝึกจิต ในหัวข้อ กายคตาสติ คือให้ระลึกถึงส่วนต่างๆ ของร่างกายที่เรียกว่า โกฏฐาส 32 ประการ แบ่งเป็น 6 หมวด ได้แก่ ปฐวีธาตุ เป็นอาการ 20 และ อาโปธาตุ เป็นอาการ 12 

อาการ 20 มีดังนี้ เกสา-ผม, โลมา-ขน, นะขา-เล็บ, ทันตา-ฟัน, ตะโจ-หนัง, มังสัง-เนื้อ, นะหารู-เอ็น, อัฏฐิ-กระดูก, อัฏฐิมิญชัง-เยื่อในกระดูก, วักกัง-ม้าม, หะทะยัง-หัวใจ, ยะกะนัง-ตับ, กิโลมะกัง-พังผืด, ปิหะกัง-ไต, ปัปผาสัง-ปอด, อันตัง-ไส้ใหญ่, อันตะคุณัง-ไส้น้อย, อุทะริยัง-อาหารใหม่, กะรีสัง-อาหารเก่า (อุจจาระ), มัตถะลุงคัง-มันสมอง 

ส่วนอาการ 12 ได้แก่ ปิตตัง-น้ำดี, เสมหัง-เสมหะ, ปุพโพ-น้ำเหลือง, โลหิตัง-น้ำเลือด, เสโท- เหงื่อ, เมโท-มันข้น, อัสสุ-น้ำตา, วะตา-มันเหลว, เขโฬ-น้ำลาย, สิงคาณิกา-น้ำมูก, ละสิกา-น้ำไขข้อ, มุตตัง-มูตร (ปัสสาวะ) 

credit -- bluesmile

หมั่นถอนวัชพืชในใจ

 


การปฏิบัติธรรมเปรียบเสมือนการทำสวนผักหรือปลูกแปลงดอกไม้ เรามักมีความขยันในการรดน้ำพรวนดินหมั่นใส่ปุ๋ยสวนผักเพื่อให้ธรรมะในใจเจริญงอกงาม สังเกตดูจะพบว่าผู้สนใจศึกษาเรื่องธรรมะ อ่านหนังสือธรรมะ ปฏิบัติธรรม มักเป็นผู้ที่มีความขยันขวนขวายให้ตัวเองได้มีความเจริญก้าวหน้าทางธรรม เพราะได้สัมผัสประจักษ์แจ้งแล้วว่า เมื่อใจมีความสงบระงับนับเป็นความสุขอันประณีต หามีสิ่งใดมาเสมอเหมือนไม่
แต่สิ่งหนึ่งที่ครูบาอาจารย์จะเตือนให้เราไม่หลงลืมคือ การหมั่นถอนวัชพืชไปพร้อมๆ กัน เพราะในขณะที่เราใส่ปุ๋ย รดน้ำต้นไม้ ก็ย่อมทำให้วัชพืชในดินเจริญงอกงามขึ้นมาพร้อมกันด้วย หากไม่หมั่นสังเกตสังกา ไม่มองหาและถอนวัชพืชบ่อยๆ เผลอแผล็บเดียวอาจสูงกว่าผักหรือดอกไม้ที่ปลูกไว้ อุปมาเหมือนผู้ใส่ใจในการปฏิบัติธรรม โดยส่วนใหญ่มักจะไม่รู้จักหักห้ามใจตนเอง หรือรู้ทันกิเลสที่มักจะเข้ามาในช่วงที่ไม่ได้ปฏิบัติ ด้วยเพราะอาจจะเผลอไป หรือไม่ก็มักจะชะล่าใจว่า นิดๆ หน่อยๆ คงไม่เป็นไร เพราะเราเป็นคนดี เป็นผู้ปฏิบัติธรรม หากจะตามใจตัวเองนิด ตามใจกิเลสหน่อยจะเป็นไรไป...
อาจนึกไปแม้กระทั่งว่า สมัครใจเป็นบ่าวไพร่ของกิเลสมาช้านานแล้ว จะเป็นข้าทาสบริวารกิเลสต่ออีกสักพัก สักประเดี๋ยวเดียวคงไม่เป็นไรมั้ง! ในวงเล็บ คงไม่เสียจุดยืนของเราหรอกน่ะ!
นี่แหล่ะครับความชะล่าใจของคนดี ของเหล่าบรรดานักศึกษาและปฏิบัติธรรม มักจะตั้งท่าเอาจริงเอาจังเฉพาะในชั่วโมงปฏิบัติเท่านั้น ในช่วงนอกเวลาการปฏิบัติก็มักจะเผลอใจ หลงตามใจตามกิเลส เพราะมั่นใจในความดีว่ามีมากพอ ซึ่งเป็นข้อเสียอย่างยิ่ง เพราะกิเลสมักย่องเข้ามาเวลาเราเผลอ ในชั่วโมงการปฏิบัติเข้ามายาก เพราะเราตั้งท่าเอาจริง ยืนถือไม้ตะบอง เตรียมชักดาบฟาดฟันมันอยู่แล้ว แต่นอกชั่วโมงการปฏิบัตินี่สิ เป็นสิ่งที่ควรระมัดระวัง....

ที่มา -- ดนัย จันทร์เจ้าฉาย



24.8.12

การบำรุงรักษาสิ่งใดๆในโลก


อยู่เพื่อพัฒนากรรม ไม่ใช่อยู่เพื่อใช้กรรม




เท่ากับบอกให้รู้ว่า
เราจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องต่อกรรม
ที่แยกเป็น ๓ ส่วน คือ กรรมเก่า-กรรมใหม่-กรรมข้างหน้า

ขอสรุปวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องต่อกรรมทั้ง ๓ ส่วนว่า


 กรรมเก่า (ในอดีต)
เป็นอันผ่านไปแล้ว เราทำไม่ได้
แต่เราควรรู้ เพื่อเอาความรู้จักมันนั้นมาใช้ประโยชน์
ในการแก้ไขปรับปรุงกรรมใหม่ให้ดียิ่งขึ้น


 กรรมใหม่ (ในปัจจุบัน)
คือกรรมที่เราทำได้
และจะต้องตั้งใจทำให้ดีที่สุด ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ



 กรรมข้างหน้า (ในอนาคต)
เรายังทำไม่ได้ แต่เราสามารถเตรียมหรือ
วางแผนเพื่อจะไปทำกรรมที่ดีที่สุด
ด้วยการทำกรรมปัจจุบันที่จะพัฒนา
เราให้ดีงามและงอกงามยิ่งขึ้น
จนกระทั่งเมื่อถึงเวลานั้น
เราก็จะสามารถทำกรรมที่ดีสูงขึ้นไปตามลำดับ
จนถึงขั้นเป็นกุศลอย่างเยี่ยมยอด


นี่แหละคือคำอธิบายที่จะทำให้มองเห็นได้ว่า
ทำไมจึงว่า คนที่วางใจว่า
จะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่กรรม (เก่า) นั้นแล
กำลังทำกรรมใหม่ (ปัจจุบัน) ที่ผิด เป็นบาป
คือ ความประมาท ได้แก่ การปล่อยปละละเลย
อันเกิดจากโมหะ และมองเห็นเหตุผลด้วยว่า
ทำไมพุทธศาสนาจึงสอนให้หวังผลจากการกระทำ


ขอย้ำอีกครั้งว่า กรรมใหม่สำหรับทำ กรรมเก่าสำหรับรู้
อย่ามัวรอ กรรมเก่าที่เราทำอะไรมันไม่ได้แล้ว
แต่หาความรู้จากกรรมเก่านั้น
เพื่อเอามาปรับปรุงการทำกรรมปัจจุบัน
จะได้พัฒนาตัวเรา
ให้สามารถทำกรรมอย่างเลิศประเสริฐได้ในอนาคต


มีคำเก่าได้ยินมานานแล้วประโยคหนึ่ง คือที่พูดว่า
“คนเราเกิดมาเพื่อใช้กรรมเก่า” ความเชื่ออย่างนั้นไม่ใช่ พุทธศาสนา และต้องระวังจะเป็นลัทธินิครนถ์


ที่พูดกันมาอย่างนั้น ความจริงก็คงประสงค์ดี
คือมุ่งว่าถ้าเจอเรื่องร้าย ก็อย่าไปซัดทอดคนอื่น
และอย่าไปทำอะไรที่ชั่วร้ายให้เพิ่มมากขึ้น
ด้วยความโกรธแค้นเป็นต้น แต่ยังไม่ถูกหลัก
พระพุทธศาสนา และจะมีผลเสียมาก


ลัทธินิครนถ์ ซึ่งก็มีผู้นับถือในสมัยพุทธกาล
จนกระทั่งในอินเดียทุกวันนี้ เป็นลัทธิกรรมเก่าโดยตรง
เขาสอนว่า คนเราจะได้สุขได้ทุกข์อย่างไร
ก็เป็นเพราะกรรมที่ทำไว้ในชาติปางก่อน
และสอนต่อไปว่า ไม่ให้ทำกรรมใหม่
แต่ต้องทำกรรมเก่าให้หมดสิ้นไปด้วยการบำเพ็ญตบะ
จึงจะสิ้นกรรมสิ้นทุกข์
นักบวชลัทธินี้จึงบำเพ็ญตบะทรมานร่างกายด้วยวิธีต่างๆ


คนที่พูดว่า เราอยู่ไปเพื่อใช้กรรมเก่านั้น ก็คล้ายกับพวกนิครนถ์
นี่แหละ คิดว่าเมื่อไม่ทำกรรมใหม่
อยู่ไปๆ กรรมเก่าก็คงจะหมด
ต่างแต่ว่า พวกนิครนถ์ไม่รอให้กรรมเก่าหมดไปเอง
แต่เขาบำเพ็ญตบะเพื่อทำกรรมเก่าให้หมดไป
ด้วยความเพียรพยายามของเขาด้วย


มีคำถามที่น่าสังเกตว่า
“ถ้าไม่ทำกรรมใหม่ อยู่ไปๆ กรรมเก่าจะหมดไปเองไหม?”


เมื่อไม่ทำกรรมใหม่อยู่ไป กรรมเก่าก็น่าจะหมดไปเอง
แต่ไม่หมดหรอก ไม่ต้องอยู่เฉยๆ
แม้แต่จะชดใช้กรรมเก่าไปเท่าไรๆ ก็ไม่มีทางหมดไปได้


เหตุผลง่ายๆ คือ


๑. คนเรายังมีชีวิต ก็คือเป็นอยู่ ต้องกินอยู่
เคลื่อนไหวอิริยาบถ
ทำโน่นทำนี่เมื่อยังไม่ตาย ก็ไม่ได้อยู่นิ่งๆ


๒. คนเหล่านี้เป็นมนุษย์ปุถุชน ก็มีโลภ โกรธ หลง
โดยเฉพาะความ
หลงหรือโมหะนี้มีอยู่ประจำในใจตลอดเวลา
เพราะยังไม่ได้รู้เข้าใจความจริงถึงสัจธรรม


เมื่อรวมทั้งสองข้อนี้ก็คือ คนที่อยู่เพื่อใช้กรรมนั้น
เขาก็ทำกรรมใหม่อยู่ตลอดเวลา
แม้แต่โดยไม่รู้ตัวแม้จะไม่เป็นบาปกรรมที่ร้ายแรง
แต่ก็เป็นการกระทำที่ประกอบด้วยโมหะ
เช่นกรรมในรูปต่างๆ ของความประมาท
ปล่อยชีวิตเรื่อยเปื่อย


ถ้ามองลึกเข้าไปในใจ โลภะ โทสะ โมหะ ก็ผุดโผล่ขึ้นมาในใจ
ของเขาอยู่เรื่อยๆ ในลักษณะต่างๆ เช่น เศร้า ขุ่นมัว กังวล
อยากโน่นอยากนี่ หงุดหงิด เหงา เบื่อหน่าย กังวล คับข้อง ฯลฯ
นี่ก็คือทำกรรมอยู่ตลอดเวลา แถมเป็นอกุศลกรรมเสียด้วย
เพราะฉะนั้นอย่างนี้จึงไม่มีทางสิ้นกรรม
ชดใช้ไปเท่าไรก็ไม่รู้จักสิ้นสุด มีแต่เพิ่มกรรม


แล้วทำอย่างไรจะหมดกรรม ?”
การที่จะหมดกรรม
ก็คือไม่ทำกรรมชั่ว ทำกรรมดี และทำกรรมที่ดียิ่งขึ้น
คือแม้แต่กรรมดีก็เปลี่ยนให้ดีขึ้น
จากระดับหนึ่งขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง


พูดเป็นภาษาพระว่า เปลี่ยนจากทำอกุศลกรรม
เป็นทำกุศลกรรม และทำกุศลระดับสูงขึ้นไป
จนถึงขั้นเป็นโลกุตตรกุศล


ถ้าใช้ภาษาสมัยใหม่ก็พูดว่า พัฒนากรรมให้ดียิ่งขึ้น
เราก็จะมีศีล มีจิตใจ มีปัญญาดีขึ้นๆ ในที่สุดก็จะพ้นกรรม


พูดสั้นๆว่า กรรมไม่หมดไปด้วยการชดใช้กรรม
แต่หมดกรรมด้วยการพัฒนากรรม
คือ ปรับปรุงตัวให้ทำกรรมที่ดียิ่งขึ้นๆ
จนพ้นขั้นของกรรมไป ถึงขั้นทำ แต่ไม่เป็นกรรม
คือทำด้วยปัญญาที่บริสุทธิ์
ไม่ถูกครอบงำหรือชักจูง
ด้วยโลภะ โทสะ โมหะ จึงจะเรียกว่า พ้นกรรม


ที่มา...หนังสือพุทธธรรม ฉบับขยายความ
โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

22.8.12

ผู้มีธรรมะประจำใจ....


แก้กรรมให้ตนเองได้ผลดีเร็วขึ้น

 

วิบากกรรมของแต่ละคนล้วนแตกต่างกันไป บางคนป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ บางคนตกงานบ่อย บางคนลำบากมาก หากินไม่คล่อง บางคนลูกเกเร วิบากกรรมนี้ ตามมาหลายภพหลายชาติ ซึ่งมีส่วนทำให้เราเกิดมาแตกต่างกัน แต่ อย่าเพิ่งสิ้นหวัง หนทางในการบรรเทาวิบากกรรมนั้นมี ซึ่งอาจทำได้หลายวิธี ดังนี้

เวลาที่เราทำบุญ หรือทำความดีทุกครั้ง นอกจากบุญที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น การใส่บาตร การถือศึล ฯลฯ แล้ว การพูดคุยที่ช่วยให้ผู้อื่น สบายใจ การสนทนาธรรม การให้ธรรมทาน การร่วมบริจาคหนังสือธรรมะ ชี้แนะแนวทาง แก้ไขปัญหาชีวิต ให้กับผู้สิ้นหวัง การทำความสะอาดห้องพระ การถวายน้ำเปล่าเพียง 1 แก้ว ให้กับหิ้งพระพุทธ ฯ การร่วมอนุโมทนา การทำความดีของผู้อื่น โดยการใช้จิตน้อมไปทางบุญกุศล การกวาดใบไม้ ทำสวน ทำความสะอาด ห้องน้ำ หรือของส่วนรวม การดูแลคนแก่ เด็ก การที่เรามีจิตใจดี หรือตั้งใจดี ฯลฯ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ล้วนเป็นกุศล และเป็นบุญทั้งสิ้น ให้ ตั้ง นะโม 3 จบ

"ข้าพเจ้า (บอกชื่อตัว)....นามสกุล...เกิดวันที่...วันนี้ ข้าพเจ้าขอตั้งจิต ถึงบารมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วสากลโลก รวมถึง องค์เทพ องค์พรหม ที่ปกปักรักษากายสังขารวิญญาณลูกอยู่ วันนี้ลูกตั้งจิตถวาย...(บุญที่ทำ เช่นใส่บาตร ถือศีล สวดมนต์ ให้ทาน ฯลฯ) ลูกขอถวายบุญกุศลนี้ แด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุก ๆ พระองค์ นำส่งบุญให้ลูกเจริญขึ้น ทั้งการงาน การเงิน และความรัก ให้ลูกมีเดช ปัญญาโภคะ (ความสมบูรณ์) ทุกภพทุกชาติ และขอ อุทิศบุญกุศลนี้ ให้กับเจ้ากรรมนายเวร ทุกภพทุกชาติ รวมถึงวิญญาณที่ตามมา ทุกผู้ทุกคน ศัตรู หมู่มาร หรือหมู่พาล คือมนุษย์ เช่น บริวาร ญาติมิตร คนรับใช้ สามี บุตร ธิดา ทุกภพทุกชาติ ขอให้ได้รับมหากุศลนี้ รับแล้วขอให้อโหสิกรรม ซึ่งกันและกัน ให้ขาดจากกัน ณ.เดี๋ยวนี้บัดนี้ ขอให้ข้าพเจ้า มีบุญบารมีสูงขึ้น ๆ เต็มขึ้น เพื่อช่วยสังคมให้สูงขึ้น และสร้างคนให้เป็นพระ ต่อไป และให้เกิดปัญญาทางธรรม สมบูรณ์พูนผลทุกอย่างด้วยบุญที่ทำนี้เทอญ สาธุ..."

หมายเหตุ:
1. การตั้ง นะโม 3 จบ เพื่อขอให้พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระประธาน เพราะพระบารมีของพระพุทธองค์ สามารถเปิด 3 ภพ (โลก) สวรรค์ มนุษย์ และนรก ไม่ว่าเจ้ากรรมนายเวรจะอยู่ภพภูมิใด แม้แต่นรกขุมสุดท้าย (ขุมที่ 18 ) ก็จะสามารถ เปิดทางไปถึงได้ เจ้ากรรมนายเวรจะได้รับอย่างรวดเร็ว และอโหสิกรรมให้เราหมด และควรกรวดน้ำลงดินด้วยทุกครั้ง แม่พระธรณี แม่พระคงคา จะได้เป็นทิพย์พยาน เพราะท่านได้สำเร็จพระอรหันต์แล้ว

2.ปัญญาทางโลกทุกคนมีอยู่แล้ว ได้จากพันธุกรรมพ่อแม่ แต่อย่าให้ขาดปัญญาทางธรรม ซึ่งก็คือ จิตสัมผัสรู้ดีชั่ว และการหยั่งรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า ถ้าได้ปัญญาทางธรรม จะประสบแต่ความสำเร็จ ความสมบูรณ์พูนสุขทุกอย่าง เพราะ บุญคือขุมทรัพย์ ลาภยศจะมาเอง และยังช่วยครอบครัวและผู้อื่นได้อีกด้วย

3.กรรมเวร แก้ไขได้โดย การขอขมากรรม และส่งวิญญาณด้วยพระสะดุ้งมารขนาด 3 นิ้ว 5 นิ้ว เป็นการต่อชะตา ชีวิต ถ้ากรรมใดได้รับอโหสิกรรม กรรมนั้นจะเบาบาง และชีวิตจะดีขึ้น โดยสังเกตจากตัวเราว่ามีสิ่งที่ดีเข้ามามากขึ้น หรือไม่ ที่ป่วยก็จะหาย ที่จนก็จะเริ่มมี แสดงว่าเราเริ่มจะมีบุญมาช่วยแล้ว หากกรรมยังมากก็จะยังลำบากอยู่


การปล่อยสัตว์แก้เคล็ดปรับดวง

 


ความหมายของการปล่อยสัตว์

    เวลาที่เราทำบุญโดยการปล่อยสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์น้ำประเภทปลา ซึ่งมีอยู่หลายชนิดนั้นซึ่งแต่ละชนิดมีความหมายในการทำบุญแตกต่างกันไป การซื้อสัตว์ปล่อยควรไปซื้อนกหรือซื้อปลาจากตลาดสด โดยเลือกปลาที่ชะตากำลังจะหมดเพราะจะถูกคนซื้อไปฆ่าทำเป็นอาหาร และควรนำไปปล่อยที่แม่น้ำใหญ่จะดีกว่าลำคลองเล็กๆควรปล่อยให้ลงท้ายด้วยเลข9 หรือตามกำลังทรัพย์ที่สะดวก ถ้ามีเคราะห์หนักอยากปล่อยปลาเท่าอายุ เช่นอายุ 40 ก็สามารถทยอยปล่อย ให้ครบจำนวน 40 ใน 1 เดือน ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไปปล่อยที่วัด แต่เป็นที่ที่เราสะดวกก็ได้


1. ปล่อยปลาทั่วไป จุดประสงค์เพื่อสะเดาะเคราะห์ปรับดวงที่หม่นมัวให้สดใสรุ่งเรือง

2. ปล่อยปลาช่อน จุดประสงค์เพื่อสะเดาะเคราะห์ปรับดวงให้หมดเคราะห์หมดภัย

3. ปล่อยปลาไหล จุดประสงค์เพื่อสะเดาะเคราะห์เพื่อให้ทุกอย่างราบรื่น ลื่นไหล พ้นจากอุปสรรค

4. ปล่อยเต่า จุดประสงค์เพื่อสะเดาะเคราะห์ ขอให้คนที่เจ็บป่วยหายวันหายคืน และมีอายุยืนยาวต่อไป

5. ปล่อยหอยขม จุดประสงค์เพื่อสะเดาะเคราะห์ ขอให้หมดทุกข์หมดโศก ขอให้เรื่องขมขื่นชอกช้ำใจบรรเทา และ ลบเลือนสิ้นไปในเร็ว ๆ วัน

6. ปล่อยนก จุดประสงค์เพื่อสะเดาะเคราะห์ ขอให้มีความสุขความเจริญทำสิ่งใดให้โชคดี และพ้นจากทุกข์ภัยต่างๆ

7. ปล่อยปลาสวาย จุดประสงค์เพื่อเสริมดวง เสริมบารมี ขอความสำเร็จ ขอโชค ขอลาภ






วิธีแก้กรรมดวงวิญญาณ




ให้จุดธูปขอขมากรรม กลางแจ้งก่อนใส่บาตร
การทำบุญอุทิศให้วิญญาณ ควรมีของดังนี้
- สังฆทาน 1 ถัง
- อาหารคาว หวาน 1 ชุด
- น้ำ
- ผลไม้
- พระพุทธรูปหน้าตักกว้าง 5 นิ้ว
- ผ้าจีวร 1 ชุด

(พระพุทธรูปจะทำให้รัศมีกายสว่างมาก เพราะเทวดาหรือพรหม เขาถือความสว่างของร่างกาย ถ้ามีผ้าจีวรด้วยยิ่งดี และถ้ามีอาหารด้วย ความเป็นทิพย์ของร่างกาย จะมีมากกว่าเก่า)

หลังทำบุญต้องกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศลให้กับวิญญาณที่สิงอยู่ แล้วพูดต่อว่า

"บุญใดที่ฉันบำเพ็ญมาแล้วตั้งแต่ต้น ในอดีต ถึงปัจจุบันชาติ ผลของบุญนี้ จะมีประโยชน์ความสุขแก่ฉันเพียงใด ขอเธอ จงอนุโมทนาผลบุญนั้น และรับผลบุญเช่นเดียวกับฉัน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และขอให้วิญญาณ ตัดขาด จากกัน บัดนี้เป็นต้นไปเทอญ"

หมายเหตุ :
การจุดธูปขอขมากรรมกลางแจ้งใช้กับผู้ตาย ถ้ายังมีชีวิตอยู่ต้องจุดธูปขอขมากรรมหน้าพระพุทธรูป และถวายของ ทั้งหมด ก่อนใส่บาตร

จิต.....




จิตชำแรก..แทรกลม..ผสมห้วง
สร้างผลพวง..สืบกรรม..นำเส้นสาย
หายใจเข้า..หายใจออก..ฟอกร่างกาย
ที่เวียนว่าย..สังสาร..มานานเนา
อกุศล..ก่อผล..ทุคติ
เพราะดำริ..กอปรกิจ..ด้วยจิตเขลา
ทั้งโลภโม..โทสัน..ปัญญาเบา
ผลร้อนเร่า..ตามมา..คร่าชีวี
ส่วนกุศล..ก่อผล..สุคติ
เพราะดำริ..กอปรบุญ..หนุนราศี
ละโลภโม..โทสัน..ในฤดี
ผลจึงมี..แต่งาม..ติดตามกาย
ลมหายใจ..แสนสั้น..ต้องหมั่นคิด
รู้ผิดชอบ..กอปรกิจ..ก่อนจะสาย
หากกุศล..พ้นร่าง..เมื่อวางวาย
ปิดปูมอบาย..เกิดภพใหม่..จะได้ดี.....
มนุษย์เป็นชีวิตที่ฝึกได้สามารถกระทำความดีได้อย่างมากมาย  แต่..การที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีนั้นต้องอาศัยการฝึกฝน ด้วยการนำธรรมะมาปฏิบัติขัดเกลาจิตใจ โดยเฉพาะการมีปัญญาที่รู้ เข้าใจว่าทุกอย่างต้องอาศัยเหตุปัจจัยทั้งนั้น ต้องศึกษาหาความและนำมาฝึกเสมอ ไม่ว่าจะเป็นทาน ศีล หรือภาวนา.  เพราะ..ไม่เช่นนั้นแล้ว ชีวิตที่มีอยู่นั้นจะขาดทุน และต่างก็พากันใช้ทุนเก่าจนหมดไป เมื่อถึงเวลาที่จะต้องจากไปจากชาตินี้ ทุนดีก็จะหมดไปพร้อมๆกับลมหายใจอย่างแน่นอน ถ้าเราไม่สังวรระวัง...

credit -- ขิปฺปสิทฺโธภิกฺขุ เชียงใหม่/fb.com

21.8.12

คนเราไม่รู้....


บนพี้นโลก....




โทสะแล่น..แซงปัญญา..มาฉับไว
ไม่ตรองใน..ถ้อยความ..ยามฟังคน
นี่เป็นเพียง..ส่วนหนึ่ง..บนโลกนี้
ใช้ชีวี..เคียงข้าง..เราบางหน
มีบกพร่อง..ไปบ้าง..อย่างปุถุชน
ยอมรับแล้ว..เตือนตน..ให้อภัย
และเราไซร้..ใช่ดี..มีงามทั่ว
ข้อบกพร่อง..ที่ตัว..ต้องแก้ไข
หันกลับมา..ฝึกตน..ให้พ้นภัย
อย่าปล่อยปละ..เหลวไหล..เหมือนบางคน

.........................................................
บ่อยครั้งที่เราถูกผู้อื่นตัดสินภาพลักษณ์ด้วยความยึดมันถือมั่น...... และคงบ่อยครั้งเช่นกันที่เราตัดสินคนอื่นด้วยความรู้สึกนึกคิดของเรา...... ปัญหาก็เกิดขึ้นตามมาจากการวิพากษ์วิจารณ์ หรือตำหนิติติง ถ้าหากเราละวางความยึดมั่นและอคติลงได้บ้างชีวิตคงเบาสบายไม่น้อยเลย หลายคนที่บ่นว่าผิดหวังก็คงจะคลายความผิดหวังกันได้บ้าง  การหันกลับมาดูตนเอง แก้ไขตนเอง น่าจะเป็นวิธีการอยู่ร่วมกับคนอื่นที่ปลอดภัย ด้วยเพราะเราต่างคนต่างยังวนอยู่ในความเป็นปุถุชนที่ยังมีกิเลสหนาและปัญญาน้อยอยู่ จึงต้องรีบปลีกทางออกมาเพื่อใฝ่หาคุณธรรม และนำตนเองออกจากกิเลสให้ได้ในที่สุด.....

credit -- ท่านขิปฺปสิทฺโธภิกฺขุ เชียงใหม่/fb.com

12.8.12

ธรรมารมณ์



       การอยู่อย่างมีธรรมารมณ์ คือ การอยู่เหนือความรู้สึกทั้งปวง อยู่อย่างรู้หน้าที่ความเป็นคน และรู้หน้าที่การงาน คือรู้ว่าสิ่งที่เราทำนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องทำ ไม่ใช่ทำเพื่อหวังผลตอบแทน เพราะถ้าเราทำงานเพื่อหวังผลตอบแทนต่างๆแล้ว ถ้าสิ่งต่างๆไม่สัมฤทธิ์ผลตามความหวังนั้น เราย่อมเกิดความโทมนัส เสียใจ น้อยใจ เป็นทุึกข์ได้.....

11.8.12

อยู่ให้สบาย....




        ในภาวะแห่งการอยู่สบายนั้น เราต้องอยู่กันอย่างไม่ยึด อยู่กันอย่างไม่ยินดี ยินร้าย อยู่กันอย่างพยายามให้จิตวิญญานของนามธรรมนั้นเหนืออารมณ์ เหนือคำสรรเสริญ เหนือนินทา เหนือความผิดหวัง เหนือความสำเร็จ เหนือรัก เหนือชัง....

10.8.12

ยึดจึงเดือดร้อน

 


       ทุกวันนี้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน ก็เพราะมนุษย์โน่น ยึดนี่ ยึดพวกยึดพ้อง ยึดหมู่คณะ ยึดประเทศเป็นสรณะ โดยไม่คำนึงถึง ''ธรรม'' อันเป็นสาวกของจักรวาล ในโลกมนุษย์ทุกคนมี ''กรรม'' จึงเกิดมาเป็นสัตว์โลก สัตว์โลกต้องใช้กรรมไปตามวาระ ถ้าทุกคนยึดถือเป็นอารมณ์ ก็จะเกิดการเข่นฆ่ากัน เพราะอารมณ์ แห่งการยึดถือ อายตนะ ฉะนั้น ต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ว่า สิ่งใดทำแล้วสัตว์โลกมีความสุึข สิ่งนั้่ืนควรทำ นี่คือหลักความจริงของ ''ธรรมะ''

''คำสอนของหลวงปู่ทวด''

9.8.12

ชีวิตทุกข์

 



      การเกิดมาเป็นมนุษย์ นัยหนึ่งจะว่าประเสริฐก็ประเสริฐ จะว่าไม่ประเสริฐก็ไม่ประเสริฐ เช้าตื่นขึ้นมาก็มีความทุกข์เข้าครอบงำ ต้องล้างหน้่า ล้างปาก ล้างฟัน ล้างมือ เสร็จแล้วก็ต้องกิน ต้องถ่าย นี่คือ ความทุกข์แห่งกายเนื้อ เมื่อเราจะออกจากบ้านก็ต้องพบกับความทุึกข์ในหมู่คณะ ในหน้าที่การงาน ในสัมมาอาชีวะ การเลี้ยงตนชอบ นี่คือความทุกข์ในการแสวงหาปัจจัย...

การให้อภัย