29.8.12

หมั่นถอนวัชพืชในใจ

 


การปฏิบัติธรรมเปรียบเสมือนการทำสวนผักหรือปลูกแปลงดอกไม้ เรามักมีความขยันในการรดน้ำพรวนดินหมั่นใส่ปุ๋ยสวนผักเพื่อให้ธรรมะในใจเจริญงอกงาม สังเกตดูจะพบว่าผู้สนใจศึกษาเรื่องธรรมะ อ่านหนังสือธรรมะ ปฏิบัติธรรม มักเป็นผู้ที่มีความขยันขวนขวายให้ตัวเองได้มีความเจริญก้าวหน้าทางธรรม เพราะได้สัมผัสประจักษ์แจ้งแล้วว่า เมื่อใจมีความสงบระงับนับเป็นความสุขอันประณีต หามีสิ่งใดมาเสมอเหมือนไม่
แต่สิ่งหนึ่งที่ครูบาอาจารย์จะเตือนให้เราไม่หลงลืมคือ การหมั่นถอนวัชพืชไปพร้อมๆ กัน เพราะในขณะที่เราใส่ปุ๋ย รดน้ำต้นไม้ ก็ย่อมทำให้วัชพืชในดินเจริญงอกงามขึ้นมาพร้อมกันด้วย หากไม่หมั่นสังเกตสังกา ไม่มองหาและถอนวัชพืชบ่อยๆ เผลอแผล็บเดียวอาจสูงกว่าผักหรือดอกไม้ที่ปลูกไว้ อุปมาเหมือนผู้ใส่ใจในการปฏิบัติธรรม โดยส่วนใหญ่มักจะไม่รู้จักหักห้ามใจตนเอง หรือรู้ทันกิเลสที่มักจะเข้ามาในช่วงที่ไม่ได้ปฏิบัติ ด้วยเพราะอาจจะเผลอไป หรือไม่ก็มักจะชะล่าใจว่า นิดๆ หน่อยๆ คงไม่เป็นไร เพราะเราเป็นคนดี เป็นผู้ปฏิบัติธรรม หากจะตามใจตัวเองนิด ตามใจกิเลสหน่อยจะเป็นไรไป...
อาจนึกไปแม้กระทั่งว่า สมัครใจเป็นบ่าวไพร่ของกิเลสมาช้านานแล้ว จะเป็นข้าทาสบริวารกิเลสต่ออีกสักพัก สักประเดี๋ยวเดียวคงไม่เป็นไรมั้ง! ในวงเล็บ คงไม่เสียจุดยืนของเราหรอกน่ะ!
นี่แหล่ะครับความชะล่าใจของคนดี ของเหล่าบรรดานักศึกษาและปฏิบัติธรรม มักจะตั้งท่าเอาจริงเอาจังเฉพาะในชั่วโมงปฏิบัติเท่านั้น ในช่วงนอกเวลาการปฏิบัติก็มักจะเผลอใจ หลงตามใจตามกิเลส เพราะมั่นใจในความดีว่ามีมากพอ ซึ่งเป็นข้อเสียอย่างยิ่ง เพราะกิเลสมักย่องเข้ามาเวลาเราเผลอ ในชั่วโมงการปฏิบัติเข้ามายาก เพราะเราตั้งท่าเอาจริง ยืนถือไม้ตะบอง เตรียมชักดาบฟาดฟันมันอยู่แล้ว แต่นอกชั่วโมงการปฏิบัตินี่สิ เป็นสิ่งที่ควรระมัดระวัง....

ที่มา -- ดนัย จันทร์เจ้าฉาย



การให้อภัย