กฎแห่งกรรม คือ กฎแห่งการกระทำ
หมายถึงการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา
หรือความตั้งใจ จงใจ ที่เราทำไว้เอง
ทั้งในอดีตและปัจจุบัน แล้วเราก็รับผลแห่งกรรมนั้น
เรียกว่า "กฎแห่งกรรม"
เรื่องของกรรม เป็นเรื่องลึกลับซับซ้อนมาก
ลำพังปุถุชนคนธรรมดา ไม่อาจที่จะรู้ให้ตลอดสายได้
อย่าว่าแต่กรรมในอดีต ที่ข้ามภพข้ามชาติหลายชาติเลย
แม้กรรมในปัจจุบันเราก็ยังรู้ได้ยาก
เช่น บางคนทำแต่ความดีมาตลอด แต่ก็ได้รับความทุกข์
หรือความเดือดร้อนต่างๆ เป็นต้น
บางคนทำแต่ความชั่วแต่ก็ได้รับยกย่องมีเกียรติเป็นต้น
ในที่นี้ไม่มีความประสงค์จะเขียนเรื่องกรรม
เพราะมันยุ่งยากและเสียเวลามาก
แต่จากการที่ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรม มาเป็นเวลานาน
จนเกิดความมั่นใจว่า กฎแห่งกรรมนี้ยุติธรรมยิ่ง
อยากขอให้ท่านผู้อ่าน
เชื่อพระพุทธเจ้าเถิดว่า
"ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่วแน่"
การไม่เชื่อกรรม หรือกฎแห่งกรรม มีผลเสียมาก
ที่บางคนท้อใจไม่อยากทำดี
ก็เพราะไม่เข้าใจกฎแห่งกรรมอย่างถูกต้อง
เมื่อไม่เข้าใจก็ไม่อยากทำความดี
เมื่อไม่ทำความดี ชีวิตก็หมดความสุข
การเชื่อกฎแห่งกรรมเพียงประการเดียว
ทำให้คนเราตั้งหน้าตั้งตาทำแต่ความดี
ชีวิตก็ย่อมจะประสบความสุข ทั้งในชาตินี้และชาติต่อ ๆ ไป
บางคนอาจจะสงสัยว่า ก็เราไม่เคยทำความชั่ว
และได้ทำแต่ความดีมาโดยตลอด
แต่ทำไมจึงได้รับความเดือดร้อนต่างๆ อยู่เป็นประจำ ?
อย่าได้สงสัยให้เสียกำลังใจในการทำความดีเลย
นั่นเป็นผลของความชั่วที่เราได้ทำไว้ในอดีตกำลังให้ผลอยู่ จงยินดีรับและทำความดีเรื่อยไป
ในวันหนึ่งมันก็ย่อมหมด และกรรมดีก็ย่อมจะให้ผลเราบ้าง คราวนี้เราก็ย่อมจะได้รับผลของความดี
คือความสุขอื้อซ่าไปเลยเชียวละ
ก็คิดดูหรือเอาอะไรตรองดูเถอะ !
ขนาดในชาตินี้เราไม่ทำชั่ว เรายังเดือดร้อนถึงเพียงนี้
แล้วถ้าเราขืนไปทำชั่วต่อเข้าอีก
นอกจากในชาตินี้เราจะเดือดร้อนแล้ว
ในชาติต่อไปเราก็ยิ่งจะเดือดร้อนใหญ่
อย่าสงสัยเลย กรรมกับการให้ผลของกรรม
ย่อมลงตัวกันเสมอ เช่น เราทำบุญ เราก็ย่อมสบายใจ
เราทำบาป เช่น ฆ่าเขา เราก็ย่อมจะทุกข์ใจ
กลัวผลกรรมจะตามสนองก็เห็นกันอยู่เจ๋ง ๆ แล้ว
ยังจะสงสัยอะไรกันอีกเล่า ? เราไหว้เขา เขาก็ไหว้เรา
เราด่าเขา เขาก็ด่าตอบ
ก็เห็นเหตุและผลกันอยู่ทนโท่แล้วนี่นา จะมัวชักช้าอยู่ไย ?
ที่คนส่วนมาก มักจะเข้าใจการให้ผลของกรรมผิด
ก็โดยการเอาการให้ผลกรรมฝ่ายรูปหรือวัตถุ
ไปรวมกับการให้ผลกรรมฝ่ายนามหรือจิตใจไปเสีย
คือเข้าใจเพี้ยนไปว่าคนทำบุญให้ทาน
จะต้องร่ำรวยทันตาเห็น
เพราะทางพระสอนว่า คนให้ทาน
เกิดชาติใดจะร่ำรวยมีเงินทองมากมาย
เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี เป็นต้น
แต่แล้วเหตุไฉนคนยิ่งทำบุญมาก ก็ยิ่งยากจนลง ?
และคนเข้าวัดส่วนมากก็ล้วนแต่เป็นคนจนเล่า ?
หรือว่าพระท่านจะหลอกให้คนทำบุญ
ท่านจะได้ร่ำรวย กินดีอยู่สบาย ?
ขอชี้แจงเรื่องผลของบุญ หรือผลของกรรมประเภทรูปและนามดังนี้
ผลบุญหรือกรรมประเภทรูป (วัตถุ) นี้
ค่อนข้างจะพิสูจน์ยาก
เพราะรู้สึกว่า ผลของกรรมหรือบุญฝ่ายนี้ค่อนข้างจะเดินทางช้า ไม่ค่อยจะทันใจคนที่คิดมากเลย
แต่ก็ขอให้มั่นใจเถอะว่า
เรื่องของการให้ผลของกรรมไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบุญหรือบาปก็ตาม
ย่อมจะลงตัวกันเสมอ จะมีตัวแปรให้เสียคิวไปบ้าง
ก็ย่อมจะไม่พ้นวงจรของกรรมอีกเช่นกัน
ที่เราเห็นว่า คนรวยเข้าวัดทำบุญน้อย
ก็เกิดจากเหตุ ๒ ประการ คือ หาเวลาว่างยาก
กับประมาทมัวเมาในความมีทรัพย์
ตรงข้ามกับคนจน ซึ่งมีเวลาว่างมาก ( ลูกจึงมาก )
และมักจะเห็นโทษของความจน
จึงตั้งหน้าแต่ทำบุญ หวังว่าชาติหน้าจะได้ร่ำรวยกับเขาบ้าง
ส่วนผลบุญหรือกรรมประเภทนาม ( จิตใจ ) นี้
เราสามารถเห็นได้ทันทีทันใดทั้งที่นี่และเดี๋ยวนี้เลยว่า
คนทำบุญหรือทำความดี จิตใจย่อมจะสดชื่นและแจ่มใสในทันที
หรือแม้เพียงแต่คิดเท่านั้น บุญก็เกิดแล้ว
ยกเว้นแต่คนที่ "มือถือสาก ปากถือศีล"
หรือ "ปากปราศรัย น้ำใจเชือดคอ"
หรือ "ทำบุญเอาหน้า ภาวนาตอแหล" เท่านั้นแหละ
ที่การกระทำมักจะสวนทางกับความคิดอยู่ตลอดเวลา
การเชื่อกฎแห่งกรรมอย่างถูกต้อง
จะช่วยตัดหรือปัดความผิดไปให้คนอื่นจนหมดสิ้น
ทำให้เรายอมรับความจริงอันเกิดขึ้นจากผลกรรมว่า
เป็นการกระทำของเราเอง เราทำไว้ด้วยตัวเราเอง
ความทุกข์อันเกิดจากความคั่งแค้น
ว่าคนอื่นมาทำให้เรานั้น ก็เป็นอันว่าหมดไป
เพราะว่าโดยแท้จริงแล้ว เราทำของเราเอาไว้เองทั้งนั้น
แล้วเราจะไปตีโพยตีพายเอากับใคร ?
ยิ่งเอะอะมะเทิ่งมากไปก็จะยิ่งขายหน้าท่านผู้รู้เขาเปล่า ๆ เสียภูมิของบัณฑิตหมด
"ก็เขามาทำให้ฉัน ฉันไม่ได้ทำอะไรให้เขานี่นา"
บางคนอาจจะยังปากแข็งไม่ยอมเชื่อ ใช่ ! นั่นแหละ ?
เราได้ไปทำกะเขาเอาไว้ก่อน ชาติก่อน ๆ โน้น !
ชาติไหนก็ไม่รู้ แต่ว่าเราต้องไปทำเขาไว้ก่อนแน่
อย่าได้ไปโต้ตอบเขาเลย มันจะได้หายหรือเจ๊ากันไป
ขืนไปตอบโต้เขาก็จะทำให้ผลกรรมใหม่นี้
มันก็จะติดตามไปชาติหน้าอีกไม่รู้จักหมดกรรมหมดเวรกันสักที
ก็เหมือนเรื่องสมเด็จ (โต) ท่านตัดสินคำฟ้องที่ว่า
มีพระสองรูปไปบิณฑบาติทางเรือ องค์หนึ่งพายหัว
องค์หนึ่งพายท้าย แต่แล้วเหตุใดไม่ทราบ
องค์พายท้ายเกิดเอาพายไปไปตีหัวองค์พายหัวเรือเข้า
ท่านก็ไปฟ้องสมเด็จฯ สมเด็จฯ ท่านก็ตัดสินว่า
"ก็คุณไปตีเขาก่อนนี่ เขาจึงตีเอา"
พระรูปพายหัวเรือก็แย้งว่า
"กระผมไม่ได้ตีเขา เขาตีผมข้างเดียว"
สมเด็จฯ ท่านก็ยังยืนยันอย่างนั้น
จนต้องไปฟ้องพระผู้ใหญ่ที่ปกครองเหนือกว่าสมเด็จ (โต)
ท่านก็จึงได้เฉลยว่า
"ถ้าพระองค์นี้ไม่ไปตีเขาไว้ในชาติก่อนแล้ว
เหตุใดเขาจึงได้มาถูกตีในชาตินี้เล่า ?"
เรื่องนี้ก็ยุติกันไป เพราะสมเด็จฯ
ท่านเล่นยกไปให้กรรมเก่าในชาติก่อนมันก็เอวังกันเท่านั้นเอง
เอาเป็นว่า การที่เราได้รับความทุกข์ ความเดือดร้อน
ความยากจน ความไม่สบายกาย
ความไม่สบายใจทั้งหมดเหล่านั้น
ล้วนเป็นผลมาจากกรรมชั่วของเราในอดีตโน้นกำลังให้ผลอยู่
(อย่าถามว่าชาติไหนนะ ? ผู้เขียนก็ไม่รู้เหมือนกัน
เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าท่านน่ะ)
ส่วนว่าเราได้รับความสุข ความสบาย ความร่ำรวย....
นั่นก็เป็นผลของกรรมฝ่ายดี
ทั้งในอดีตและในปัจจุบันกำลังให้ผลอยู่
ผสมผสานกันจนแยกไม่ออก
แต่ก็เห็นได้ง่ายๆว่า แม้ว่าคนนั้นจะมีบุญมากปานใด ?
ก็จะส่งให้มาเกิดในตระกูลที่ร่ำรวยเท่านั้น
แต่ถ้าโง่และขี้เกียจในชาตินี้ มันก็ไม่พ้นความยากจนไปได้
เป็นอันว่า การเชื่อกฎแห่งกรรมนั้น มีแต่ผลดี
คือช่วยเป็นกำลังใจ ให้ทำความดียิ่งๆ ขึ้นไป
และความดีนั้นย่อมมีผลเป็นความสุข
ผู้ทำความดีก็ย่อมจะมีความสุขในปัจจุบัน
และแม้สิ้นชีพไปแล้ว
ก็ย่อมจะไปเกิดในสุคติอย่างไม่ต้องสงสัยเลย
ที่มา -- ธรรมรักษา