23.11.12

ความตายไม่ไกลตัว




นักเขียนชื่อดังชาวอเมริกันคนหนึ่งเคยกล่าวว่า “ตายน่ะไม่ยากหรอก หาที่จอดรถสิยากกว่า” นักเขียนผู้นี้คงตั้งใจพูดให้ขำ เพราะเขามุ่งหมายจะหยอกล้อชีวิตของคนสมัยใหม่ในเมืองใหญ่ที่ไม่มีอะไรน่าปวดหัวเท่ากับการหาที่จอดรถ

แต่มองให้ดีคำพูดดังกล่าวมีส่วนจริงไม่น้อย การตายเป็นเรื่องของแต่ละคน ไม่จำต้องมีคนอื่นมาเกี่ยวข้องด้วยก็ได้ แต่การหาที่จอดรถให้ได้นั้น ไม่ได้อยู่ที่เราคนเดียว แต่ขึ้นอยู่กับคนอื่นด้วย

ที่จริงยิ่งกว่านั้นก็คือ เราทุกคนต้องตาย ไม่มีใครหนีพ้น ความตายจึงเป็นเรื่องที่แน่นอนของทุกชีวิต แต่การจะหาที่จอดรถในเมืองใหญ่ให้ได้นั้น เป็นเรื่องที่ไม่มีใครรับประกันได้เลย

อย่างไรก็ตามทั้งหมดที่พูดมาคงไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้ผู้คนทุกวันนี้กังวลกับการหาที่จอดรถมากกว่าความตาย เหตุผลที่แท้จริงน่าจะเป็นเพราะในสายตาคนสมัยใหม่ การหาที่จอดรถให้ได้ในเมืองใหญ่เป็นปัญหาใกล้ตัวที่ต้องเจอะเจอทุกวัน ในขณะที่ความตายนั้นดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวเหลือเกิน

ปัญหาอะไรที่ใกล้ตัวหรือกำลังเจออยู่ต่อหน้า เรามักจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่เสมอ แต่อะไรก็ตามที่ยังอยู่ไกล เรามักมองเห็นเป็นเรื่องเล็ก

คนที่หงุดหงิดงุ่นง่านเพราะไม่ได้สูบบุหรี่หรือกินเหล้า ย่อมรู้สึกว่าการหาสิ่งเหล่านี้มาเสพให้ได้เป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ส่วนเรื่องโรคภัยไข้เจ็บที่จะตามมานั้น ถือเป็นเรื่องไม่สลักสำคัญเท่าใด ทำนองเดียวกับคนที่ทุกข์ใจเพราะอยากได้รถคันงามไว้ขับ มักมองว่านี้เป็นเรื่องใหญ่ จึงต้องดิ้นรนหารถมาครอบครองให้ได้แม้จะต้องกู้ยืมมาก็ตาม ส่วนจะมีปัญญาหาเงินมาผ่อนได้หรือไม่ ค่อยว่ากันทีหลัง

แต่จริงหรือที่ว่าความตายเป็นเรื่องไกลตัว มีใครบ้างที่แน่ใจว่าวันนี้ความตายไม่มีทางจะเกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนใกล้ตัว เราทุกคนไม่ว่าจะเยาว์วัยแค่ไหนมีสิทธิตายได้ทุกขณะ ถ้าไม่ใช่เพราะอุบัติเหตุ หัวใจวาย ก็อาจเป็นเพราะภัยธรรมชาติ มีภาษิตธิเบตกล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า “ระหว่างพรุ่งนี้กับชาติหน้า ไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่าอะไรจะมาก่อน”

อันที่จริงเราทุกคนล้วนรู้อยู่แก่ใจว่าสักวันหนึ่งเราก็ต้องตาย แต่ทันทีที่นึกถึงความตายของตนเอง คนส่วนใหญ่จะรู้สึกเสียววาบหรือถึงกับผวา เพราะในส่วนลึกยอมรับไม่ได้ที่ตัวเองจะต้องตาย ทำใจไม่ได้ที่จะต้องพลัดพรากจากลูกหลาน พ่อแม่ หรือคนรัก ดังนั้นจึงพยายามผลักเรื่องนี้ออกไปจากความคิด ถ้ามีใครมาพูดเรื่องความตายกับตัว ก็จะปฏิเสธ ไม่อยากคุยด้วย หาว่าเป็นอัปมงคลบ้าง เป็นเรื่องไกลตัวบ้าง

แต่ปฏิเสธอย่างเดียวย่อมไม่พอ เพราะถ้าว่างเมื่อไรใจก็อาจหวนคิดเรื่องนี้ โดยเฉพาะเมื่อได้ยินข่าวการตายของคนที่รู้จัก ดังนั้นจึงต้องพยายามทำตัวให้วุ่นเข้าไว้ จะได้ไม่ต้องคิดถึงเรื่องนี้ ผลก็คือคนสมัยใหม่ถ้าไม่วุ่นกับการงาน ก็มักวุ่นกับการเสพการบริโภค เช่น เที่ยวห้าง ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม ท่องเน็ต เป็นต้น ทั้งวันทั้งคืนจึงมีเรื่องนานาสารพัดให้ครุ่นคิดและหันเหจิตใจออกไปจากสิ่งที่เป็นสาระสำคัญของชีวิต จะแต่งชุดอะไร จะไปเที่ยวที่ไหน จะซื้อโทรศัพท์ยี่ห้ออะไรดี (รวมทั้งจะจอดรถที่ไหนดี) กลายเป็นเรื่องที่ต้องขบคิดทุกวี่วันจนไม่มีเวลาเหลือสำหรับการใคร่ครวญอย่างจริงจังถึงชีวิตและจุดหมายปลายทางของชีวิต

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่คนทุกวันนี้ใช้ชีวิตเหมือนคนลืมตาย มีชีวิตราวกับว่าตัวเองจะไม่ตาย แต่ในที่สุดก็หนีความจริงไม่พ้น ครั้นความตายมาอยู่ต่อหน้า ก็ตื่นตระหนกและทุรนทุราย เพราะไม่ได้เตรียมใจรับความตายเลย ชีวิตช่วงสุดท้ายจึงเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน

อันที่จริงแม้ความตายยังอยู่อีกไกล แต่เมื่อรู้ว่าตนเป็นโรคร้ายที่อันตรายถึงตาย หลายคนก็ตกใจ เสียศูนย์ คุมสติไม่ได้ มีชีวิตเหมือนคนตาย คืออยู่อย่างไร้ชีวิตชีวา จ่อมจมอยู่กับความวิตกกังวล จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ เรียกได้ว่า กว่าจะหมดลม ก็ตายไปแล้วหลายครั้ง ชนิดที่ไม่มีใครช่วยเหลือได้เลย

อะไรก็ตามที่เราหนีไม่พ้น สิ่งที่พึงทำย่อมมิใช่การพยายามหนีให้ไกล หากควรเตรียมตัวให้พร้อมที่จะรับมือกับสิ่งนั้น ในเมื่อความตายเป็นสิ่งที่เราต้องเจอทุกคน แทนที่จะผลักไสมันออกไปจากจิตใจ จะไม่ดีกว่าหรือหากเราเตรียมใจให้พร้อมเผชิญความตายอยู่เสมอ

การเตรียมใจให้พร้อมเผชิญความตาย ต้องเริ่มต้นจากการยอมรับให้ได้ว่าความตายเป็นธรรมดาของชีวิตที่จะต้องเกิดขึ้นกับเรา และในเมื่อมันเป็นธรรมดา จึงไม่กลัวที่จะคิดถึงมัน กล้าที่จะนึกถึงวันที่เราหมดลมและละจากโลกนี้ไป แต่จะถึงตรงนั้นได้ต้องกล้าที่จะฟังคำว่า “ความตาย”โดยไม่รู้สึกแสลงหูหรือมองว่าเป็นอัปมงคล

ใช่หรือไม่ว่าทุกวันนี้คำว่า “ความตาย” กำลังจะกลายเป็นคำอุจาดไปแล้ว หลายคนไม่กล้าพูดคำนี้หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวของกับคนใกล้ตัวหรือตนเอง แต่เลี่ยงไปใช้คำว่า “หมดลม”บ้าง “จากไป” บ้าง

ตราบใดที่ไม่สามารถฟังคำนี้ได้ด้วยใจปกติ ก็ยากที่จะต้อนรับความตายได้เมื่อมันมาอยู่ต่อหน้า

ที่มา -- visalo.org

การให้อภัย