25.11.12
สิทธิที่จะตายอย่างสงบ
“เขมานันทะ” นักเขียนและศิลปินที่หลายคนนับถือเป็นครูทางจิตวิญญาณ ได้เล่าถึงเหตุการณ์หนึ่งซึ่งประทับใจมากในวัยเด็ก คือเมื่อทวดของท่านสิ้นลม ตอนที่ท่านจากไปนั้น “ท่านนั่งขัดสมาธิพิงเสาเรือน ใบหน้าอิ่มเอิบ ผิวงาม ผู้ใหญ่บอกให้ผมเข้าไปกราบใกล้ ๆ ผมไม่รู้สึกกลัวเลย”
เขมานันทะยังเล่าถึงป้าวัย ๙๓ เมื่อจะสิ้นลม ท่านรู้ตัวดี สั่งให้ไปตามพระเก้ารูปมาสวดชยันโต ท่านจากไปโดยพนมมืออยู่บนอกขณะที่พระกำลังสวดมนตร์
การตายอย่างสงบนั้นมิใช่สิ่งเหนือวิสัยของปุถุชน และไม่ได้จำกัดเฉพาะภิกษุผู้ทรงศีลเท่านั้น แม้คนทั่วไปก็สามารถเข้าถึงความสงบในวาระสุดท้ายได้ จะเรียกว่านี้เป็นสิทธิของทุกคนก็ว่าได้ แต่ไม่มีสิทธิอะไรที่ได้มาเปล่า ๆ ต่อเมื่อทำหน้าที่ครบถ้วน เราจึงจะได้สิทธิมา
การตายนั้นเป็นหน้าที่ของทุกชีวิต หากเราทำหน้าที่นี้ด้วยดี เราจึงจะได้สิทธิในการตายอย่างสงบ ปัญหาก็คือคนทุกวันนี้ไม่ยอมรับว่าตัวเองมีหน้าที่ดังกล่าว หรือถึงจะยอมรับ แต่ก็พยายามบ่ายเบี่ยงหลีกเลี่ยงหรือผัดผ่อนตลอดเวลา เพียงแค่ระลึกถึงความตายที่จะต้องเกิดขึ้นกับตน คนส่วนใหญ่ก็ไม่อยากทำแล้ว อ้างว่าเป็นเรื่องไกลตัวบ้าง เป็นอัปมงคลบ้าง ผลก็คือเมื่อวาระสุดท้ายมาถึง จึงตายอย่างกระสับกระส่าย ทุรนทุราย
การทำหน้าที่ต่อความตาย ประการแรกหมายถึงการยอมรับว่าสักวันหนึ่งเราจะต้องตาย ความตายเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่มีใครหนีพ้น (เขมานันทะเล่าถึงป้าผู้ชราว่า เมื่อครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ มีญาติวิ่งตื่นตกใจมาบอกว่า หลานผู้ใกล้ชิดคนหนึ่งเสียชีวิตแล้ว ท่านฟังจบก็พูดเบา ๆ ว่า “มึงเคยเห็นคนไม่ตายบ้างเหรอ”)
ประการต่อมาคือ การเตรียมตัวเตรียมใจพร้อมรับความตายอยู่เสมอ เพราะความตายนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกสถานที่
“เตรียมตัว” หมายถึงการทำสิ่งสำคัญในชีวิตให้แล้วเสร็จ ไม่ให้เป็นภาระค้างคาใจ เช่น ทำหน้าที่ต่อพ่อแม่ ลูกหลาน คนรัก อย่างครบถ้วน จนมั่นใจว่าเขาจะอยู่ได้โดยไม่มีเรา มีเรื่องราวอะไรที่ติดค้างใจก็สะสางให้จบ ภารกิจใดที่สำคัญก็ไม่ปล่อยให้คั่งค้างเป็นภาระแก่คนอื่น
เตรียมตัวยังรวมไปถึงการทำดี ละชั่ว หมั่นสร้างสมบุญกุศลอยู่เสมอ เพราะเมื่อวาระสุดท้ายมาถึง หากระลึกถึงความดีที่ได้ทำ ก็จะเกิดความอิ่มเอิบภาคภูมิใจที่ได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า รวมทั้งมั่นใจในภพหน้าว่าจะได้ไปสุคติ เพราะเมื่อละโลกนี้ไปแล้ว มีแต่บุญและบาปเท่านั้นที่จะติดตามไปด้วย ทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ อำนาจ หรือบริษัทบริวารนั้น เอาไปด้วยไม่ได้เลยแม้แต่อย่างเดียว
“เตรียมใจ” หมายถึงการระลึกอยู่เสมอถึงความตายที่จะต้องมาถึงไม่วันใดก็วันหนึ่ง (มรณสติ) ทั้งนี้เพื่อใจจะได้คุ้นชินกับความตาย ขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องกระตุ้นเตือนให้เร่งทำสิ่งสำคัญในชีวิตให้แล้วเสร็จ เพื่อจะได้ไม่ทุกข์ใจในภายหลัง
เตรียมใจยังรวมถึงการฝึกใจให้พร้อมปล่อยวางทุกสิ่งเมื่อวาระสุดท้ายมาถึง ไม่หวงแหนอาลัยในชีวิต หรือห่วงกังวลคนรัก รวมไปถึงการพร้อมรับมือกับทุกขเวทนาที่จะเกิดขึ้นกับร่างกาย โดยใจไม่ทุกข์ทรมานไปด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือการบ่มเพาะสติ สมาธิ และปัญญา จนใจไม่หวั่นไหวต่อความพลัดพรากหรือความทุกข์ใด ๆ ที่เกิดขึ้น
เมื่อเตรียมตัวเตรียมใจไว้ดีแล้ว หากวาระสุดท้ายมาถึง ก็สามารถตายได้อย่างดีที่สุด กล่าวคือยอมรับความตายได้ ไม่ดิ้นรนขัดขืน พร้อมละจากโลกนี้ไป เพื่อเปิดทางให้คนอื่นหรือชีวิตอื่นได้มาอาศัยและใช้ประโยชน์จากโลกนี้บ้าง ถึงตอนนั้นจึงมีสิทธิที่จะตายอย่างสงบ แต่หากละเลยการเตรียมตัวเตรียมใจดังกล่าวแล้ว ความสงบก็อาจอยู่ไกลเกินไขว่คว้าเมื่อจวนสิ้นลม
คุณพ่อวัยเจ็ดสิบผู้หนึ่งล้มป่วยเพราะไตวาย หลังจากล้างไตมานานนับสิบปีก็ตระหนักว่าความตายจะมาถึงเมื่อไรก็ได้ วันหนึ่งจึงบอกลูกว่า อยากทำพินัยกรรม แต่ลูกๆไม่ยอม เห็นว่าเป็นลางร้าย และคิดว่าพ่อยังแข็งแรงดีอยู่ แต่แล้ววันหนึ่งขณะที่ล้างไต ความดันของพ่อขึ้นสูง จนเส้นเลือดในสมองแตก พ่อยังพอมีความรู้สึกตัวอยู่ จึงขอกลับไปตายที่บ้าน แต่ลูกๆไม่ยอม ยืนกรานให้รักษาที่โรงพยาบาล แม้หมอจะพยายามช่วยชีวิตเต็มที่แต่ก็ไร้ผล สองวันต่อมาพ่อก็เสียชีวิต สิ่งที่ลูก ๆ เห็นก็คือพ่อตายตาไม่หลับ หน้านิ่วคิ้วขมวด เหมือนกับมีเรื่องค้างคาใจอยู่
อีกกรณีหนึ่งเป็นผู้หญิงป่วยด้วยโรคมะเร็ง ตอนที่เสียชีวิตเธอเปิดตาค้าง พยาบาลพยายามปิดเปลือกตาแต่ก็ไม่สำเร็จ ตั้งแต่ ๓ ทุ่มจนเช้า ตาก็ยังเปิดอยู่ ญาติที่มารับศพรู้สึกแปลกใจ มีคนหนึ่งฉุกคิดขึ้นมาว่าผู้ตายคงเป็นห่วงลูกคนสุดท้อง เพราะลูกชาย ๒ คนแรกติดยาจนถูกจับเข้าคุก ตอนมีชีวิตอยู่เธอเคยบ่นว่ากลัวลูกชายวัย ๑๐ ขวบจะลงเอยเหมือนพี่ ญาติผู้นั้นจึงจุดธูปแล้วบอกผู้ตายว่าจะดูแลหลานคนนี้ให้ ไม่ต้องห่วง พูดจบพยาบาลก็ปิดเปลือกตาผู้ตาย คราวนี้ได้ผล ตาทั้งคู่ปิดสนิท
ทุกวินาทีที่เรายังมีลมหายใจอยู่ ขอให้ระลึกว่าคือโอกาสสำหรับการเตรียมตัวเตรียมใจเพื่อสิทธิที่จะตายอย่างสงบ อย่าปล่อยให้โอกาสดังกล่าวหลุดลอยไป เพราะเราไม่มีวันรู้เลยว่าความตายจะจู่โจมถึงตัวเมื่อใด
-
พระท่านว่า ''สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฎฐานา เวระมณีสิกขาปะทังสะมาทิยามิ'' แปลว่า ข้าพเจ้าของดเว้นจากการดื่มสุราเมร...
-
๑. อันธพาลปุถุชน - ผู้ที่ทำ พูด คิด ตามสัญชาตญาณอย่างสัตว์ ไม่รู้จักควบคุมตัวเอง - การกระทำการต่าง ๆ ไปตามอำนาจของ โลภ โกรธ หลง ๒. พาลปุถุ...
-
วิธีการลาพุทธภูมิ ..........การลาพุทธภูมิเป็นวิธีการสำหรับท่านผู้ที่เคยปรารถนาพุทธภูมิในแบบต่างๆ เช่น ปัญญาธิกะ ศรัทธาธิกะ วิริยะธิกะ...
-
เกิด แก่ เจ็บ ตาย เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นโทษไม่รู้จบ การ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตทุกชนิดต้องตกอยู่ในวงจรนี้อย่ า...
-
กรรมปวดหลัง อาจเป็นกรรมที่เกิดจากเคยตีหลังหมา หรือ ตีตะขาบกลางหลัง เป็นต้น วิธีแก้กรรม ก่อนใส่บาตรให้จุดธูป ๓ ดอก ขอขมากร...
-
ภาพแห่งพระมหาเถระผู้เฒ่า พูดจาเสียงดังฟังชัด ออกกิริยาท่าทางไร้มารยา นัยน์ตามีแววมุ่งมั่นรูปหนึ่ง ซึ่งทุกคนเรียกติดปากว่า “...