28.11.12

ประวัติ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล

 


หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล

วัดเลียบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

เกิด วันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๒ ที่บ้านข่าโคม ตำบลหนองขอน อำเภอเมืองจังหวัดอุบลราชธานี ประวัติเกี่ยวกับนามเดิมและบิดามารดาไม่มีบันทึกไว้

อุปสมบท ที่วัดใต้ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสวัดใต้และได้ญัตติเป็นธรรมยุตที่วัดศรีทอง (ปัจจุบันคือวัดศรีอุบลรัตนาราม มีพระครูทา โชติปาโล เป็นพระอุปัชฌาย์ เจ้าอธิการสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ภายหลังได้มาอยู่ที่วัดเลียบ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

การศึกษา ได้ศึกษาอักษรธรรม อักษรขอม อักษรไทยน้อย และหนังสือไทย

ญัตติเป็นพระธรรมยุติกนิกาย หลวงปู่เสาร์เป็นพระภิกษุผู้มีความเพียรเป็นเลิศ มีความสงบเสงี่ยมกิริยามารยาทอ่อนน้อม สุขุมพูดน้อย มีอัธยาศัยน้อมไปทางวิปัสสนา ถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด ได้เดินธุดงค์เจริญสมณธรรมตามป่าเขา และจำพรรษาตามป่าเขาในถิ่นต่างๆทั่วภาคอีสานเป็นเวลาหลายพรรษา การที่หลวงปู่เสาร์เป็นผู้เจริญด้วยศีล สมาธิ ปัญญา และพรหมวิหารธรรม เมื่อกลับจากธุดงค์ท่านได้นำความรู้มาเผยแพร่สั่งสอนแก่ลูกศิษย์ทั้งหลาย และได้เปิดสำนักปฏิบัติธรรมขึ้น ณ วัดเลียบ ลูกศิษย์ของท่านที่มีชื่อเสียง เช่น หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ในเรื่องวงศ์ธรรมยุตในภาคอีสาน หลวงปู่เทสก์ได้กล่าวถึงหลวงปู่เสาร์ไว้ดังนี้ “ท่านอาจาร์เสาร์ แท้ที่จริงควรจะมีประวัติไว้อ่านกันสนุกบ้างก็จะดีแต่นี้ไม่ค่อยจะเห็นประวัติของท่าน หรือมีข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ ได้ยินแต่ท่านเล่าให้ฟังว่า เป็นสมภารอยู่วัดเลียบได้ ๑๐ กว่าพรรษา คิดเลื่อมใสในภาคคณะธรรมยุต จึงยอมสละญัตติเป็นธรรมยุต ฆ้อง กลอง สำหรับตีในงานประเพณีทำบุญอึกทึกครึกโครมในสมัยนั้น ซึ่งมีอยู่ประจำวัดของท่าน ท่านก็สละทิ้งหมด ญัตติเป็นธรรมยุต แล้วก็อยู่วัดนั้นต่อมา พวกที่เขาไม่ชอบ เขาก็โกรธ พวกที่ชอบเขาบอกว่า ของเหล่านั้นไม่จำเป็น เป็นสงฆ์ขอให้ปฏิบัติถูกต้องตามธรรมวินัยก็แล้วกัน ข้าพเจ้าก็ลืมถามไปว่า ภูมิลำเนาของท่านเกิดบ้านใด อำเภอใด มารดาบิดาพี่น้องของท่านมีกี่คน แต่เชื่อว่าท่านอยู่ใกล้เมืองอุบลฯ นี้แหละ เพราะท่านเคยพูดถึงเรื่องญาติของท่านบวชแล้วไปอยู่หลวงพระบางเพราะคนชาวหลวงพระบางชอบใจได้มานิมนต์ญาติของท่านไป ท่านนั้นก็ลืมชื่อไปอีกเหมือนกัน ไม่ทราบว่าชื่ออะไร จึงน่าเสียดายประวัติของท่านมาก ไม่มีใครบันทึกไว้ ส่วนข้าพเจ้าเองก็ไม่คิดจะบันทึกเสียด้วย ทั้งๆที่ท่านเล่าให้ฟังสอดๆอยู่นั่นเอง มันจะเป็นเพราะพระกรรมฐานในขณะนั้นไม่คิดจะบันทึกอะไรทั้งหมด คิดจะทำความเพียรภาวนาอย่างเดียว การบันทึกนั้นบันทึกนี้ เรื่องราวต่างๆเป็นเหตุให้ยุ่งสมองทำอารมณ์ให้ฟุ้งมาก”

มรณภาพ ในอิริยาบถนั่งที่วัดมหาอำมาตยาราม อำเภอวรรณไวทยากรณ์ นครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๔ สิริรวมอายุ ๘๒ ปี ๓ เดือน ๑ วัน และได้อัญเชิญศพกลับมาจัดงานฌาปนกิจที่วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เป็นกำลังสำคัญ



ธรรมวิสัชนาแนวปฏิบัติของท่านพระอาจารย์เสาร์ กนตฺสีโล

ถาม ขอท่านได้อธิบายเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม ดังที่ท่านอาจารย์เสาร์สอนมา

หลวงพ่อ โดยหลักการที่ท่านอาจารย์เสาร์ได้อบรมสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหามานั้น ยึดหลักการบริกรรมภาวนา พุทโธ และอานาปานสติ เป็นหลักปฏิบัติ
การบริกรรมภาวนา ให้จิตอยู่ ณ จุดเดียว คือ พุทโธ ซึ่ง พุทโธ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานเป็นกิริยาของจิต เมื่อจิตมาจดจ้องอยู่ที่คำว่า พุทโธ ให้พิจารณาตรงองค์ฌาน ๕ คือ
การนึกถึง พุทโธ เรียกว่า วิตก
จิตอยู่กับ พุทโธ ไม่พรากจากไป เรียกว่า วิจาร
หลังจากนี้ ปีติ และความ สุข ก็เกิดขึ้น

เมื่อปีติและความสุขเกิดขึ้นแล้ว จิตของผู้ภาวนาย่อมดำเนินสู่ความสงบ เข้าไปสู่ อุปจารสมาธิ และ อัปปนาสมาธิ
ลักษณะที่จิตเข้าสู่ อัปปนาสมาธิ ภาวะจิตเป็นภาวะสงบนิ่ง สว่าง ไม่มีกิริยาอาการแสดงความรู้ ในขั้นนี้เรียกว่า จิตอยู่ในสมถะ

ถ้าจะเรียกโดยจิตก็เรียกว่า อัปปนาจิต
ถ้าจะเรียกโดยสมาธิก็เรียกว่า อัปปนาสมาธิ
ถ้าเรียกโดยฌานก็เรียกว่า อัปปนาฌาน
บางท่านนำไปเทียบกับฌานขั้นที่ ๔
จิตในขั้นนี้เรียกว่า จิตอยู่ในอัปปนาจิต อัปปนาสมาธิ อัปปนาฌาน จิตย่อมไม่มีความรู้อะไรเกิดขึ้น นอกจากมีสภาวะรู้อยู่อย่างเดียวเท่านั้น

เมื่อนักปฏิบัติผู้ที่ยังไม่ได้ระดับจิต เมื่อจิตอยู่ในความสงบนิ่งเช่นนี้ จิตย่อมไม่ก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาได้

เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านอาจารย์เสาร์ผู้เป็นอาจารย์สอนกรรมฐานในสายนี้ จึงได้เดินอุบายสอนให้ลูกศิษย์พิจารณา กายคตาสติ เรียกว่า กายานุปัสสนาปฏิปทา โดยการพิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น โดยน้อมนึกไปในลักษณะความเป็นของปฏิกูลน่าเกลียด เป็นของโสโครก จนกระทั่งจิตมีความสงบลง รู้ยิ่งเห็นจริงตามที่ได้พิจารณา

เมื่อผู้ปฏิบัติได้พิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เห็นสิ่งปฏิกูล ในที่สุดได้เห็นจริงในสิ่งนั้นว่าเป็นของปฏิกูล โดยปราศจากเจตนาสัญญาแล้ว ก็เกิดนิมิตเห็นสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครกจริงๆ โดยปราศจากสัญญาเจตนาใดๆทั้งสิ้น จึงได้ชื่อว่า เป็นผู้พิจารณาเห็น อสุภกรรมฐาน

และเมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณาอสุภกรรมฐานจนชำนิชำนาญ จนรู้ยิ่งเห็นจริงในอสุภกรรมฐานนั้นแล้วในขั้นต่อไปท่านอาจารย์เสาร์ได้แนะนำให้พิจารณาร่างกายให้เห็นเป็น ธาตุ ๔ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ จนกระทั่งเห็นเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ

เมื่อจิตรู้ว่าเป็นแต่เพียงสักแต่ว่าธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ จิตก็เกิดความรู้ขึ้นมาว่า ตามที่พูดกันว่า สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ไม่มี มีแต่ความประชุมพร้อมของธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น

เมื่อเป็นเช่นนั้น จิตก็ย่อมรู้จักอำนาจของความคิดขึ้นมาได้ว่า ในตัวของเรานี้ไม่มีอะไรเป็น อัตตา ทั้งสิ้น มีแต่ ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น

ถ้าหากภูมิจิตของผู้ปฏิบัติจะมองเห็นแต่เพียงกายทั้งหมดนี้ เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ รู้แต่เพียงว่า ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ และภูมิจิตของท่านอยู่แค่นั้น ก็มีความรู้เพียงแค่ สมถกรรมฐาน

และในขณะเดียวกันนั้น ถ้าภูมิจิตของผู้ปฏิบัติ ปฏิบัติความรู้ไปสู่ พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตา ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง

ถ้าหากมี อนิจจสัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่าไม่เที่ยง ทุกขสัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นทุกข์ อนัตตสัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่าไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ภูมิแห่งวิปัสสนา

เมื่อผู้ปฏิบัติมาฝึกฝนอบรมจิตของตนเองให้มีความรู้ด้วยอุบายต่างๆ และมีความรู้แจ้งเห็นจริงในลักษณะของอสุกรรมฐานโดยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง จนมีความรู้แจ้งเห็นจริงในลักษณะที่ว่ากายเรานี้เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มีความเห็นว่า ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็เป็นแต่เพียงธาตุไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เรา เขา ด้วยอุบาย ดังกล่าวแล้ว ผู้ปฏิบัติยึดหลักอันนั้น ภาวนาบ่อยๆกระทำให้มากๆพิจารณาให้มากๆ พิจารณาย้อนกลับไปกลับมาจิตจะค่อยๆก้าวเข้าสู่ภูมิรู้ ภูมิธรรม เป็นลำดับๆไป



หลักการปฏิบัติของท่านอาจารย์เสาร์ก็มีดังนี้

ธรรมะท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถร

สำหรับท่านพระอาจารย์เสาร์ ท่านเป็นคนไม่ชอบพูด ไม่ชอบเทศน์ ไม่ชอบมีความรู้แปลกๆ ต่างๆกวนใจเหมือนท่านพระอาจารย์มั่น เวลาจำเป็นต้องเทศน์ ท่านก็เทศน์เพียงประโยคหนึ่งหรือสองเท่านั้น แล้วก็ลงธรรมาสน์ไปเสีย ประโยคธรรมที่ท่านเทศน์ซึ่งพอจับใจความได้ว่า

ให้พากันละบาปและบำเพ็ญบุญอย่าให้เสียชีวิตลมหายใจไปเปล่าที่ได้มีวาสนามาเกิดเป็นมนุษย์

 และ

เราเกิดเป็นมนุษย์ มีความสูงศักดิ์มาก แต่อย่านำเรื่องของสัตว์มาประพฤติ มนุษย์ของเราจะต่ำลงกว่าสัตว์ และจะเลวกว่าสัตว์อีกมาก เวลาตกนรกจะตกหลุมที่ร้อนกว่าสัตว์มากมาย อย่าพากันทำ

แล้วก็ลงธรรมาสน์ไปกุฏิ โดยไม่สนใจใครต่อไปอีก

( จากหนังสือ “ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร” ลิขิตธรรมโดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน )



- ท่านมีคติว่า “เขาสิเชื่อความดีที่เฮาเฮ็ดหลายกว่าคำเว้าที่เฮาสอน
(เขาจะเชื่อในสิ่งที่เราทำมากกว่าจะเชื่อในสิ่งที่เราพูด)

- ทำให้ดู มันยังไม่ดู ปฏิบัติให้ดูอยู่ทุกวัน มันยังไม่ปฏิบัติตาม เทศน์ให้ฟัง มันจะฟังหรือพวกเจ้า ข้อยเฮ็ดให้เบิ่งยังบ่เบิ่ง เทศน์ให้พวกหมู่เจ้าฟัง หมู่เจ้าสิฟังฤๅ
( จากหนังสือ “หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ริ้วห่อทอง” รวบรวมและเรียบเรียงโดย พระมหาธีรนาถ อคฺคธีโร )



- ขอท่านได้อ่านและวิจารณ์ข้อความในหนังสือนี้ด้วยความพินิจอย่างแท้จริง แล้วปฏิบัติตามโดยตั้งใจจริงก็คงสำเร็จผลตามประสงค์ ถ้าท่านขุดบ่อไม่ลึกสักหน่อย ท่านจะได้ดื่มน้ำที่ใสสะอาดหรือ? อากาศแม้ว่างเปล่า นกก็ยังบินได้ด้วยกำลังปีก
( จากคำนำหนังสือ จตุรารักข์ )



- ให้ปฏิบัติทำความดี นั่งสมาธิ ปฏิบัติธรรม

- เขาพูดว่าเราดี เราก็ไม่ดีเหมือนคำเขาพูด
เขาพูดว่าเราชั่ว เราก็ไม่ชั่วเหมือนคำเขาพูด
ถ้าเราไม่ยึด...เราไม่มี...จะเอาอะไรไปดีไปชั่ว

- ดีกับชั่วมันมีอยู่ในโลกนี้ หนีจากโลกนี้ก็ไม่มีดี ไม่มีชั่ว

- ดีก็รู้อยู่แล้ว ชั่วก็รู้อยู่แล้ว ทำให้ดูมันยังไม่ดู จะเอาอะไรไปสอนมันอีก ทำไมมันไม่ดู
( จาก วัดดอนธาตุ )


การให้ทาน ใครๆก็ให้ทานมามากแล้ว มีผลานิสงค์มากเหมือนกัน แต่ยังสู้บวชเป็นขาวเป็นชีรักษาศีลอุโบสถไม่ได้ มีอานิสงส์มากกว่าให้ทานนั้นเสียอีก ถ้าใครอยากได้บุญอยากขึ้นสวรรค์ไปนิพพานพ้นทุกข์ ก็ควรบวชเป็นขาวเป็นชีรักษาศีลอุโบสถเสียในวันนี้
( จากหนังสือธรรม โดย พระครูสถิตบุญญารักษ์ )


- อาจารย์อ่อน ญาณสิริ ถ่ายทอดธรรมะของท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถร ซึ่งเป็นพระอาจารย์ใหญ่ของท่าน ให้ลูกศิษย์คือ พระอาจารย์บุญหนา ธมฺมทินฺโน วัดป่าโสตถิผล (บ้านหนองโดก) อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ว่า ท่านพระอาจารย์เสาร์ท่านไม่พูด ไม่เทศน์ ถ้าท่านเทศน์ ท่านเทศน์นิดเดียว เอา! ฟังเทศน์ พากันตั้งใจฟังเทศน์ กายสุจริต วาจาสุจริต มโนสุจริต พากันตั้งใจรักษากายให้บริสุทธิ์ รักษาวาจาให้บริสุทธิ์ รักษาใจให้บริสุทธิ์ เอวังฯ
( จาก พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม อำเภอหนองบังซอ จังหวัดอุดรธานี )


- พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ได้เล่าถึงเรื่องท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถร ให้ลูกศิษย์คือ พระอาจารย์อว้าน เขมโก วัดป่านาคนิมิตต์ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร ว่า “ในระหว่างที่ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถร เดินธุดงค์ไปทางอำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม นั้น ท่านพระอาจารย์เสาร์เป็นไข้มาลาเรียมาจากฝั่งลาว โยมได้ตามหมอฝรั่งมาฉีดยา ขณะบีบนวดท่านอยู่ เส้นของท่านแข็งมาก กดเท่าไรก็ไม่เจ็บ และศิษย์ที่ติดตามออกุดงค์กับท่านอาพาธ และได้มรณภาพลง ๒ องค์

ท่านพระอาจารย์เสาร์เคยมาพักที่เสนาสนะป่าบ้านนามน อำเภอโคกศรีสุพรรณ ก่อนเดินรุกขมูล ต่อไปนมัสการพระธาตุพนม อำเภอธาตุพนม ต่อมาท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร ก็เดินรุกขมูลต่อไปนมัสการพระธาตุพนม อำเภอธาตุพนม ต่อมาท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร ก็เดินตามรอยท่านพระอาจารย์เสาร์มาพักที่บ้านนามนเช่นกัน

ท่านพระอาจารย์เสาร์มีลูกศิษย์ของท่านมากมาย ท่านนำหมู่คณะเดินธุดงค์เพื่อทรมานกิเลส ฝึกความเพียร ลูกศิษย์พระกัมมัฏฐานจึงมาก สามเณรที่อยู่กับท่านจะบวชเป็นพระภิกษุต่อท่องปาฏิโมกข์ให้ได้เสียก่อน ถ้าท่องไม่ได้ท่านจะไม่อนุญาตให้บวช ท่านพูดคำไหนคำนั้น มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ พูดคำสัตย์จริง ท่านพูดน้อย กับลูกศิษย์ลูกหาท่านไม่พูดมาก ท่านจะมาตรวจดูข้อวัตรว่า น้ำในโอ่งมีไหม? ฟืนมีไหม? แล้วท่านก็เข้าทางจงกรม ทำความเพียรปฏิบัติให้ลูกศิษย์ดู คำสอนของท่านนั้นคือความเพียร ธรรมของท่านพระอาจารย์เสาร์สอน “พุทโธ” คำเดียว แต่ความเพียรของท่านเป็นการพ้นทุกข์ ความเพียรของท่านเป็นธรรมเทศนา

ความเพียรของท่านพระอาจารย์เสาร์เป็นยอด เมื่อท่านฉันเสร็จ ท่านเดินไปที่กุฏิเอากาน้ำ สะพายย่ามไปทางจงกรม เดินจงกรมจนค่ำ จนถึงเวลาทำข้อวัตร ท่านพระอาจารย์เสาร์นั้นท่านจะไม่นั่งในที่นอนท่านจะไม่นอนในที่นั่งสมาธิ
( จาก พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี )


- พระบูรพาจารย์ของเรา เราถือว่าพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล เป็นพระอาจารย์องค์แรกและเป็นผู้นำหมู่คณะลูกศิษย์ลูกหาออกเดินธุดงค์กัมมัฏฐาน ชอบพักพิงอยู่ตามป่าตามที่วิเวก อาศัยอยู่ตามถ้ำบ้าง ตามโคนต้นไม้บ้าง

หลวงปู่เสาร์ซึ่งเป็นอาจารย์ของหลวงปู่มั่น ออกเดินธุดงค์กัมมัฏฐาน ปักกลดอยู่ในป่าในดง ในถ้ำ ในเขา องค์แรกของอีสานคือ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล นัยว่าท่านออกบวชในพระศาสนาท่านสนใจเรื่องการปฏิบัติสมถกัมมัฏฐาน วิปัสสนากัมมัฏฐาน โดยถ่ายเดียว ซึ่งสหธรรมิกคู่หูของท่านก็คือพระปัญญาพิศาลเถร (หนู) เป็นคนเกิดในเมืองอุบลฯ ท่านออกเดินธุดงค์ร่วมกัน หลวงปู่เสาร์ตามปกติท่านเป็นพระที่เทศน์ไม่เป็น แต่ปฏิบัติให้ลูกศิษย์ดูเป็นตัวอย่าง

ท่านอาจารย์หลวงปู่เสาร์นี้ท่านเป็นสาวกแบบชนิดที่ว่าเป็นพระประเสริฐ ท่านสอนธรรมนี้ท่านไม่พูดมาก ท่านชี้บอกว่าให้ทำอย่างนั้น อย่างนี้ แต่การปฏิบัติของท่านนี้ ท่านเอาการปฏิบัติแทนการสอนด้วยปาก ผู้ที่ไปอยู่ในสำนักท่าน ก่อนอื่นท่านจะสอนให้ทำวัตร นอน ๔ ทุ่ม ตื่นตี ๓ นี้ข้อแรกต้องทำให้ได้ก่อน บางทีก็ลองเรียนถามท่าน หลวงปู่ทำไมสอนอย่างนี้ การนอนเป็นเวลา ตื่นเป็นเวลา ฉันเป็นเวลา อาบน้ำเข้าห้องน้ำเป็นเวลา มันเป็นอุบายสร้างพลังจิต แล้วทำให้เรามีความจริงใจ

บางทีไปอยู่ในป่าเขาที่ไกล ตื่นเช้าเดินจากที่พักลงมาสู่หมู่บ้านเพื่อบิณฑบาต เมื่อบิณฑบาตเสร็จแล้วกลับไปถึงที่พักเป็นเวลา ๑๑.๐๐ น. หรือ ๕ โมงก็มี อันนี้คือหลักการปฏิบัติของพระธุดงค์กัมมัฏฐานในสายพระอาจารย์มั่น พระอาจารย์เสาร์

หลักการสอน ท่านก็สอนในหลักของสมถวิปัสสนา ดังที่เราเคยได้ยินได้ฟังกันมาแล้วนั้น แต่ท่านจะเน้นหนักในการสอนให้เจริญพุทธคุณเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเจริญพุทธคุณจนคล่องตัวจนชำนิชำนาญแล้ว ก็สอนให้พิจารณากายคตาสติ เมื่อสอนให้พิจารณากายคตาสติ พิจารณาอสุภกัมมัฏฐาน จนคล่องตัวจนชำนิชำนาญแล้ว ก็สอนให้พิจารณาธาตุกัมมัฏฐาน ให้พิจารณากายแยกออกเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ แล้วก็พยายามพิจารณาว่าในร่างกายของเรานี้ไม่มีอะไร มีแต่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมกันอยู่เท่านั้น หาสัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขาไม่มี ในเมื่อฝึกฝนอบรมให้พิจารณาจนคล่องตัว จิตก็จะมองเห็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน คือเห็นว่าร่างกายนี้ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เป็นอนัตตาทั้งนั้น จะว่ามีตัวมีตน ในเมื่อแยกออกไปแล้ว มันก็มีแต่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มีปฏิสนธิจิตปฏิสนธิวิญญาณมายึดครองอยู่ในร่างกายอันนี้ เราจึงสมมติบัญญัติว่าสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา

อันนี้เป็นแนวการสอนของพระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่น และพระอาจารย์สิงห์ การพิจารณาเพียงแค่ว่าพิจารณากายคตาสติก็ดี พิจารณาธาตุกัมมัฏฐานก็ดี ตามหลักวิชาการท่านว่าเป็นอารมณ์ของสมถกัมมัฏฐาน แต่ท่านก็ย้ำให้พิจารณาอยู่ในกายคตาสติกัมมัฏฐานกับธาตุกัมมัฏฐานนี้เป็นส่วนใหญ่ ที่ท่านย้ำๆให้พิจารณาอย่างนั้น ก็เพราะว่าทำให้ภูมิจิตภูมิใจของนักปฏิบัติก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาได้เร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณากายคตาสติ แยกผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น ออกเป็นส่วนๆ เราจะมองเห็นว่า ในร่างกยของเรานี้ก็ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันเป็นแต่เพียงผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกเท่านั้น ถ้าว่ากายนี้เป็นตัวเป็นตน ทำไมจึงจะเรียกว่าผม ทำไมจึงจะเรียกว่าขน ทำไมจึงจะเรียกว่าเล็บ ว่าฟัน ว่าเนื้อ ว่าเอ็น ว่ากระดูก ในเมื่อแยกออกไปเรียกอย่างนั้นแล้ว มันก็ไม่มีสัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา นอกจากนั้นก็จะมองเห็นอสุภกัมมัฏฐาน เห็นว่าร่างกายนี้เต็มไปด้วยของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครกน่าเบื่อหน่าย ไม่น่ายึดมั่นถือมั่นว่าเป็นอัตตาตัวตน แล้วพิจารณาบ่อยๆ พิจารณาเนืองๆ จนกระทั่งจิตเกิดความสงบ สงบแล้วจิตจะปฏิวัติตัวไปสู่การพิจารณาโดยอัตโนมัติ ผู้ภาวนาก็จะเริ่มรู้แจ้งเห็นจริงในความเป็นจริงของร่างกายอันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณาธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ พิจารณากายแยกออกเป็นส่วนๆ ส่วนนี้เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ สัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่มีก็ทำให้จิตของเรามองเห็นอนัตตาได้เร็วขึ้น เพราะฉะนั้น การเจริญกายคตาสติก็ดี การเจริญธาตุกัมมัฏฐานก็ดี จึงเป็นแนวทางให้จิตดำเนินก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาได้

และอีกอันหนึ่ง อานาปานสติ ท่านก็ยึดเป็นหลักการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกัมมัฏฐานอานาปานสติการกำหนดพิจารณากำหนดลมหายใจนั้น จะไปแทรกอยู่ทุกกัมมัฏฐาน จะบริกรรมภาวนาก็ดี จะพิจารณาก็ดี ในเมื่อจิตสงบลงไป ปล่อยวางอารมณ์ที่พิจารณาแล้ว ส่วนใหญ่จิตจะไปรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก ในเมื่อจิตตามรู้ลมหายใจเข้าออก กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกอยู่เป็นปกติ จิตเอาลมหายใจเป็นสิ่งรู้ สติเอาลมหายใจเป็นสิ่งระลึก ลมหายใจเข้าออกเป็นไปตามปกติของร่างกาย เมื่อสติไปจับอยู่ที่ลมหายใจ ลมหายใจก็เป็นฐานที่ตั้งของสติ ลมหายใจเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องด้วยกาย สติไปกำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก จดจ่ออยู่ที่ตรงนั้น วิตกถึงลมหายใจ มีสติรู้พร้อมอยู่ในขณะนั้น จิตก็มีวิตกวิจารอยู่กับลมหายใจ เมื่อจิตสงบลงไป ลมหายใจก็ค่อยละเอียดๆลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งในที่สุดลมหายใจก็หายขาดไป เมื่อลมหายใจหายขาดไปจากความรู้สึก ร่างกายที่ปรากฏว่ามีอยู่ก็พลอยหายไปด้วย ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้าหากว่าลมหายใจยังไม่หายขาดไป กายก็ยังปรากฏอยู่ เมื่อจิตตามลมหายใจเข้าไปข้างใน จิตจะไปสงบนิ่งอยู่ในท่ามกลางของกาย แล้วก็แผ่รัศมีออกมารู้ทั่วทั้งกาย จิตสามารถที่จะมองเห็นอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายได้หมดทั้งตัว เพราะลมย่อมวิ่งเข้าไปที่ส่วนต่างๆของร่างกาย ลมวิ่งไปถึงไหนจิตก็รู้ไปถึงนั่น ตั้งแต่หัวจรดเท้า ตั้งแต่เท้าจรดหัว ตั้งแต่แขนซ้ายแขนขวา ขาขวาขาซ้าย เมื่อจิตตามลมหายใจเข้าไปแล้ว จิตจะรู้ทั่วกายหมด ในขณะใดกายยังปรากฏอยู่ จิตสงบอยู่ สงบนิ่ง รู้สว่างอยู่ในกาย วิตก วิจาร คือจิตรู้อยู่ภายในกาย สติก็รู้พร้อมอยู่ในกาย ในอันดับนั้นปีติและความสุขย่อมบังเกิดขึ้น เมื่อปีติและความสุขบังเกิดขึ้น จิตก็เป็นหนึ่ง นิวรณ์ ๕ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ก็หายไป จิตกลายเป็นสมถะ มีพลังพอที่จะปราบนิวรณ์ ๕ ให้สงบระงับไป ผู้ภาวนาก็จะมองเห็นผลประโยชน์ในการเจริญสมถกัมมัฏฐาน
( จากหนังสือ ฐานิยตฺเถรวตฺถุ เรียบเรียงโดย อคฺคธีโรภิกขุ )


- ให้ตั้งใจให้ดี ตั้งสติให้ดี

- พิจารณาความตายให้มากๆ ไม่ว่าคน ว่าสัตว์ เกิดมาแล้วก็ต้องตาย เพราะเกิดกับตายเป็นของคู่กัน

- ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เอวังมีด้วยประการฉะนี้

( จากหนังสือ “กมโล ผู้งามดั่งดอกบัว” พระครูศาสนูปกรณ์ (พระอาจารย์บุญจันทร์ กมโล)วัดป่าสันติกาวาส อำเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานี)

การให้อภัย