23.6.13

สูตรแห่งการปฏิบัติเพื่อทิพพจักขุญาณและมโนมยิทธิ



บรรดาท่านพุทธบริษัทที่ปฏิบัติ มโนมยิทธิ ได้แล้ว ต้องทรงไว้ให้ได้ ถ้าทรงไม่ได้ ไม่ช้าไม่นานเท่าใดญาณที่ได้ก็จะสลายตัว เมื่อญาณสลายตัวเมื่อไร กรรมหนักมันจะเข้ามาถึง เพราะความประมาทคือ โรค อุปาทาน

ฉะนั้น การปฏิบัติเพื่อ ทิพพจักขุญาณ และ มโนมยิทธิ เพื่อจะให้ดี ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทปฏิบัติตามนี้ วิธีปฏิบัติตามลำดับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน อุทุมพริกสูตร ตรัสอย่างนี้ว่า

คนทุกคนที่ปฏิบัติกรรมฐานเพื่อ ทิพพจักขุญาณ หรือ เพื่อนิพพาน จะต้องปฏิบัติอย่างนี้คือ

อันดับแรก จงอย่าสนใจในจริยาของบุคคลอื่น เขาจะดี เขาจะเลวอย่างไร มันเป็นเรื่องของชาวบ้านชาวเมืองเขา อย่าใช้อารมณ์เข้าไปยุ่งไปเกี่ยว เรามีหน้าที่อย่างเดียวคือ
"อัตตนา โจทยัตตานัง"
จงกล่าวโทษโจทย์ความผิดตัวเองไว้เสมอ
นั่นก็หมายความว่า ดูความดีหรือความชั่วของตัวเอง ความดีไม่ต้องดู ดูแต่ความชั่ว ในเมื่อชั่วมันไม่มีมันก็เหลือแต่ดี ไม่เป็นไร คือระวังอย่าให้มันชั่วซ้าย ชั่วขวา ชั่วหน้า ชั่วหลัง ชั่วล่าง ชั่วบน อย่าให้มันชั่วแม้แต่นิดเดียว อย่าให้มันมี
คนอื่นเขาจะกินมาก เขาจะกินน้อย จะเลวมาก จะเลวน้อย เขาจะดีมาก เขาจะดีน้อย มีสมบัติมาก มีสมบัติน้อย มีจริยาวาจาไม่ดี นั่นเป็นเรื่องของเขาไม่ใช่เรื่องของเรา อย่าไปสนใจเด็ดขาด อันนี้ถ้าไปสนใจ พระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่าเป็น "อุปกิเลส" คือความชั่ว นี่เป็นข้อที่หนึ่งที่เราควรเว้น

และข้อที่สอง การเจริญกรรมฐาน อย่าทำเพื่ออวด ถ้าไม่มีความจำเป็นอย่าแสดงตนให้เขารู้ว่าเราเป็นนักเจริญพระกรรมฐาน เวลาที่ทำจิตสงบสงัด หาที่ลับเป็นเครื่องกำบังบุคคลไม่ให้เห็น ถ้าหากว่าเราเห็นว่ามันมิดชิดแล้ว นั่นเขามาเห็นเป็นเรื่องของเขา ถ้าทำให้ชาวบ้านเขาเห็น บางวาระจิตมันคิดจะอวด เป็น "มานะ" เป็นกิเลสหนักไม่สมควร ถ้าทำอย่างนี้ไร้ผลอีกเหมือนกัน

ต่อไปองค์สมเด็จพระภควันต์ก็ตรัสว่า นักเจริญพระกรรมฐานจงอย่าเป็นผู้มีกังวล คือในขณะที่ทรงจิตเพื่อสมาธิ อย่ามีความห่วงใยใดๆ ทั้งหมด กิจการงานที่จะพึงทำ ประตูหน้าต่างที่จะพึงปิดก็ปิดเสียให้เรียบร้อย อย่าเปิดไว้ จะได้ไม่มีการระแวงสงสัย ฟืนไฟที่มันจะไหม้ได้ ก็พยายามดับมันเสียให้หมด จะได้ไม่สงสัยในกิจการงาน จิตไม่ห่วงงาน จิตจะได้มีความสุข

หลังจากนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงให้รักษาศีล ๓ ชั้น คือ
(๑) เราจะไม่ทำลายศีลด้วยตนเอง และก็
(๒) เราไม่ยุยงบุคคลอื่นทำลายศีล
(๓) เราจะไม่ยินดี เมื่อบุคคลอื่นทำลายศีลแล้ว
อันนี้ต้องจำต้องปฏิบัติ

และประการต่อไปองค์สมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคย์ ให้เอาจิตระงับนิวรณ์ ๕ ประการ อย่าให้เกิดกับจิต นิวรณ์ ๕ ประการนี้มีความสำคัญมาก ถึงแม้ว่ามีศีลบริสุทธิ์ก็ปฏิบัติอย่างอื่นได้ดี ถ้านิวรณ์ ๕ ประการสิงใจความดีจะไม่ปรากฏ ความดีที่มีอยู่จะสลายไป กำลังที่เราจะเจริญสมาธิจงรักษากำลังใจ โดยยกเว้นความชั่ว ๕ ประการ คือ

ประการที่ ๑ ความพอใจในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ คำว่า "รูป" จะเป็นรูปคน รูปสัตว์ รูปวัตถุ ก็เหมือนกัน เราไม่สนใจเห็นว่ามันพังหมด และก็

ประการที่ ๒ ระมัดระวังความโกรธ ความพยาบาทที่มันขังใจอยู่ อย่าให้ปรากฏในเวลานั้น ชั่วเวลาชั่วโมงครึ่งชั่วโมง เราระงับมันให้ได้

ประการที่ ๓ ระมัดระวังอย่าให้ความง่วงเข้ามาสิงใจ

ประการที่ ๔ ขณะที่เราภาวนาหรือพิจารณาอยู่ ให้จิตรู้เฉพาะคำภาวนาหรือพิจารณา อย่าปล่อยอารมณ์ให้มันฟุ้งซ่านไปสู่อารมณ์อื่น

ประการที่ ๕ จงอย่าสงสัยผลในการปฏิบัติ ถ้าอะไรมันเกิดขึ้นในเวลานั้น จิตมันอยู่ในวงการสมาธิ ถือว่าถูกต้องทุกอย่าง ต้องตัดสินใจไปตามนั้นนะ

ถ้าหากว่าสามารถระงับนิวรณ์ ๕ ประการนี้ได้ จิตจะเป็นปฐมฌานทันที และหลังจากนั้นก็จะเป็นฌานสูงขึ้นไป

นี่หลักการในการปฏิบัติพระกรรมฐานในด้านมโนมยิทธิ หรือ ทิพพจักขุญาณ ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทต้องปฏิบัติตามนี้ กฎนี้องค์สมเด็จพระชินสีห์ตรัสกับ นิโครธปริพาชก เมื่อตรัสอย่างนี้แล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วตรัสว่า เมื่อทรงอารมณ์ได้อย่างนี้แล้ว ผลที่จะพึงเกิดขึ้นกับจิตก็คือ
(๑) ทิพพจักขุญาณ
(๒) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เป็นอย่างน้อย
ก็รวมความว่า มโนมยิทธิ ที่บรรดาท่านพุทธบริษัทได้ จะปรากฏชัดเจนแจ่มใส จะมีภาพทรงตัว

นี่พูดถึงวิธีการปฏิบัติเป็นหลักใหญ่ และการปฏิบัติเป็นข้อปลีกย่อย คือ ทิพพจักขุญาณ จะดีได้ต้องอาศัยกสิณ ๓ ประการ ที่องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ตรัสว่าต้องใช้ เตโชกสิณ หรือ โอทาตกสิณ หรือ อาโลกกสิณ

เตโชกสิณ ก็ได้แก่ แสงไฟ เป็นเครื่องยังความสว่างให้เกิดขึ้นกับจิตหรือลูกตา

โอทาตกสิณ อาศัยสีขาวหรือแสงขาวเป็นพื้นฐาน

อาโลกกสิณ เอาแสงสว่างเป็นพื้นฐาน
อันนี้มีความสำคัญมาก บรรดาท่านพุทธบริษัทที่เจริญ ทิพพจักขุญาณ ถ้าขาดสิ่ง ๓ ประการนี่อย่างใดอย่างหนึ่งเสียแล้วละก็ จะเอาผลดีได้ยาก

สิ่งที่ให้ไว้แก่บรรดาท่านพุทธบริษัทส่วนใหญ่ก็คือ แก้ว แก้วที่ปลุกเสกแล้วด้วยอำนาจของ พุทธานุภาพ ธัมมานุภาพ สังฆานุภาพ ย่อมมีอานิสงส์อื่นตามไปด้วย แต่ว่าจะมีไว้เพื่อเป็นการช่วยบรรดาท่านพุทธบริษัทในการเจริญพระกรรมฐานด้วยเพราะเป็นผลของ ทิพพจักขุญาณ

ถ้าเรามีแก้วนี้แขวนอยู่ที่คอ พยายามจำภาพแก้วให้ดี นั่งอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี ยืนหรือเดินก็ตามที ถ้ามีเวลาว่างเอาจิตนึกถึงภาพลูกแก้วอยู่เป็นปกติ ถ้าเห็นแก้วใสสะอาดดีเท่าใด เราสามารถที่จะเห็นภาพผี เทวดา ในขณะนั้นได้ทันทีทันใด ให้จิตมันชิน

หรือมิฉะนั้น ถ้าเรานั่งอยู่ต่อหน้าพระพุทธรูป เวลาบูชาพระควรจะมีแสงไฟปรากฏหรือมีแสงสว่าง ถ้าเวลาที่ก่อนจะเจริญพระกรรมฐานให้ลืมตาดูภาพพระ หรือแสงสว่างก่อนแล้วก็หลับตาภาวนา ไม่ใช่เพ่งจนแสบตา ถ้าความสว่างมันเลือนลางหายไปเราก็ลืมตาดูใหม่ จิตจะชิน

ถ้าทำอยู่อย่างนี้เป็นปกติ เราจะนั่งอยู่หน้าพระก็ดี ที่ไหนก็ตามที หรือเดินไปกลางทุ่งกลางท่า ในป่าในดงก็ตามที จิตเรานึกถึงภาพพระ หรือแสงสว่าง หรือแก้ว นึกถึงเมื่อไรเห็นได้ทันทีตามใจนึก ตามใจปรารถนา มันเห็นทางจิต อย่างนี้ถือว่าเป็นนิมิตแห่ง อาโลกกสิณ หรือว่ากสิณที่ปรากฏ หรือ "พุทธานุสสติ" จะปรากฏประจำใจ จิตเป็นฌาน

รวมความว่า ภาพแก้วก็ดี ภาพพระพุทธรูปก็ดี ที่เราต้องการ เราเห็นอยู่เป็นปกติ เราเห็นชัดเจนแจ่มใส เมื่อต้องการจะรู้อะไรก็จะเห็นชัดเจนแจ่มใส นี่เป็นเครื่องวัด
นี่จุดหนึ่งที่บรรดาท่านพุทธบริษัทที่เจริญ ทิพพจักขุญาณ จะต้องทำแล้วก็ทำเป็นปกติ เมื่อทำเป็นปกติจริงๆ แล้ว สิ่งที่เราต้องการจะรู้ตามคำปฏิญาณ หรืออธิษฐานในเวลาสมาทานมีอยู่ในตอนท้ายว่า
"สิ่งใดที่มีเหตุสืบเนื่องกับเรา ขอให้ทราบสิ่งนั้นโดยไม่ต้องกำหนดจิต"

ข้อนี้เป็นคำอธิษฐานที่องค์สมเด็จพระธรรมสามิสรทรงกล่าวไว้ แล้วก็เป็นผลจริง คนที่ทำได้ถ้าอะไรมันจะเกิดกับเรา โดยที่เราไม่ต้องใช้ ทิพพจักขุญาณ มันจะปรากฏสัมผัสกับจิตทันที ถ้านั่งอยู่ดีๆ เราไม่ได้คิดไว้ก่อน สิ่งใดจะปรากฏเราเชื่อสิ่งนั้นทันที

ก็รวมความว่า ทิพพจักขุญาณ นี้มีอารมณ์กระทบจิตในวาระแรก อารมณ์แรกที่เกิดกับจิต ให้รู้ทันทีว่าอารมณ์นั้นเป็นของถูกต้อง อย่าสงสัย ถ้าสงสัยเป็นกิเลส เป็นนิวรณ์ จะผิด

คำว่า "ทิพพจักขุญาณ" เขาแปลว่า มีความรู้ทางใจคล้ายตาทิพย์ ไม่ใช่ลูกตาเป็นทิพย์ ความรู้สึกอันดับแรกที่กระทบจิตถือว่าเป็น ทิพพจักขุญาณ ถูกต้อง
ถ้ากำลังใจตํ่า จะมีความรู้สึกทางใจถูกต้อง แต่ไม่เห็นภาพ
ถ้ากำลังใจเป็น ฌานโลกีย์ จะเห็นภาพเหมือนกัน แต่ไม่ชัดเจนแจ่มใส
ถ้ากำลังใจของบรรดาท่านพุทธบริษัทเป็น พระอริยเจ้า จะมีความแจ่มใสตามลำดับคือ
ถ้าเป็นกำลังใจของ พระโสดาบัน หรือ พระสกิทาคามี ก็จะมีสภาพเหมือนกับเห็นภาพในเวลาเดือนหงายจัด
ถ้าเป็นกำลังใจของ พระอนาคามี หรือ พระอรหันต์ ก็จะเห็นภาพเหมือนกับเห็นภาพในเวลากลางวัน

ฉะนั้น กำลังใจของบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านที่ทรงตัวตามปกติ ควรจะเป็นกำลังใจของพระโสดาบัน เพราะว่า ถ้าบุคคลใดเป็นพระโสดาบันไม่ได้ ถือว่าเสียชาติเกิด ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะพระโสดาบันนี่ ถ้าหากว่ายังไปนิพพานไม่ได้ การจะตายจากเทวดาหรือพรหม การมาเกิดอย่างตํ่าก็แค่มนุษย์ ไม่ลงอบายภูมิ

คนเราที่จะมาเกิดมานั่งอยู่ได้ในเวลานี้ เพราะอาศัยความดี ๓ ประการ คือ
(๑) การที่จะมีร่างกายเป็นคน มีร่างกายครบ ๓๒ ประการ เพราะมีศีล ๕ บริสุทธิ์มาในชาติก่อน
(๒) การที่จะมีผ้าผ่อนท่อนสไบ มีอาหารการกิน เพราะการบริจาคทานมาในชาติก่อน
(๓) การที่จะมีปัญญามานั่งฟังเทศน์ ฟังธรรม เพราะอาศัยการศึกษาธรรม

รวมความว่าเราดีมาแล้วในอดีต แล้วจะมาปล่อยให้ความดีสลายตัวไป ตายแล้วลงนรก ก็ถือว่าเลวเกินไป ควรทำกำลังใจให้บริสุทธิ์ก้าวเข้าไปหานิพพาน

ฉะนั้น ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน ยามปกติควรกำหนดใจไว้ในขั้น พระโสดาบัน คือ
(๑) มีความเคารพในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์จริง แล้วก็
(๒) ทรงศีล ๕ บริสุทธิ์จริง ศีล ๕ นี่ต้องทรงจริงด้วยนะ คือไม่ทำลายศีลด้วยตนเอง ไม่ยุชาวบ้านให้เขาทำลายศีล และไม่ยินดีเมื่อบุคคลอื่นทำลายศีลแล้ว
และประการที่ ๓ ต้องการนิพพานจุดเดียวเป็นที่ไป คือที่ไหนเราจะไม่ยอมไป เราต้องการไปพระนิพพาน นี่เป็นยามปกติ

เวลาสมาทานพระกรรมฐาน ตัดสินใจให้มันสูงไปกว่านั้น ตัดสินใจทันทีว่ารูปกายประเภทนี้มันเลวที่สุด ร่างกายเราก็เลว ร่างกายบุคคลอื่นก็เลว ร่างกายของสัตว์ก็เลว วัตถุธาตุก็เลว เพราะมันมีสภาพไม่เที่ยง มันสกปรก มันเป็นทุกข์ และก็มีการสลายตัวในที่สุด ไม่ช้ามันก็ตาย

เรามีกายไว้มีแต่โทษ มีแต่ทุกข์ มีแต่ความหิว มีแต่ความกระหาย ป่วยไข้ไม่สบาย แก่ลงไปทุกวัน มีกิจการต่างๆ กวนใจอยู่เสมอ ไม่มีความสุข ร่างกายนี้มีเท่าไรมันก็มีความทุกข์เท่านั้น ขึ้นชื่อว่าร่างกายเลวๆ อย่างนี้จะมีกับเราชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย เมื่อสิ้นลมปราณเมื่อไร ร่างกายเลวๆ อย่างนี้จะไม่มีกับเราอีก

เราต้องการอย่างเดียวคือพระนิพพาน

ถ้าตัดสินใจอย่างนี้กำลังใจจะสะอาดสะอ้านมาก และก็หลับตาดูลูกแก้ว หรือลืมตาดูพระพุทธรูปหรือแสงสว่าง หลับตาฝึกดูพระพุทธรูปหรือแสงสว่าง อย่างนี้จิตจะแจ่มใส เมื่อกำลังใจดี พุ่งกำลังใจไปจับพระรูปพระโฉมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเห็นอะไรชัดเจนแจ่มใส

หลังจากนั้นถ้าต้องการรู้อะไรเห็นอะไร ก็อาราธนาบารมีองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาให้ทรงช่วย เพราะว่าสมาธิของเรามีวงแคบ จะเห็นอะไรชัดเจนทุกอย่าง

เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน ตามที่ได้แนะนำมาในข้อปฏิบัติเพื่อ ทิพพจักขุญาณ และ มโนมยิทธิ ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ สวัสดี

ที่มา -- Pukteekawin Isulyodphasuthee/fb.com

อย่าเสียเวลา