และฎีกาทั้งหลาย มีหัวข้อและความหมายโดยย่อดังนี้...
หมวดที่ ๑ ว่าโดยปากกาล....คือ จำแนกตามกาลเวลาที่ให้ผล
๑. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม....
กรรมให้ผลในปัจจุบันคือ ภพนี้ได้แก่กรรมดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ที่กระทำ
ในขณะแห่งชวนจิตดวงแรกในบรรดาชวนจิตทั้ง ๗ แห่งชวนวิถีหนึ่งๆ
พูดเป็นภาษาวิชาการว่า ได้แก่...ชวนจิตเจตนาที่หนึ่ง กรรมนี้ให้ผล
เฉพาะในชาตินี้เท่านั้น ถ้าไม่มีโอกาสให้ผลในชาตินี้ ก็กลายเป็นอโห-
สิกรรม ไม่มีผลต่อไป เหตุที่ให้ผลในชาตินี้เพราะเป็นเจตนาดวงแรก
ไม่ถูกกรรมอื่นครอบงำ เป็นการปรุงแต่งแต่เริ่มต้น จึงมีกำลังแรง แต่
ไม่ให้ผลต่อจากชาตินี้ไปอีก เพราะไม่ได้การเสพคุ้น จึงมีผลน้อย ท่าน
เปรียบว่าเหมือนพรานเห็นเนื้อ หยิบลูกศรยิงไปทันที ถ้าถูกเนื้อก็ล้มที่
นั่น แต่ถ้าพลาด เนื้อก็รอดไป
๒. อุปปัชชเวทนียกรรม...
กรรมให้ผลในภพที่จะไปเกิด คือในภพหน้า ได้แก่ กรรมดีก็ตาม ชั่วก็
ตาม ที่กระทำในขณะแห่งชวนจิตดวงสุดท้าย ในบรรดาชวนจิตทั้ง ๗
แห่งชวนวิถีหนึ่งๆ พูดเป็นภาษาวิชาการว่า ได้แก่ชวนจิตดวงที่ ๗ กรรมนี้ให้ผลเฉพาะในชาติถัดจากนี้ไปเท่านั้น ถ้าไม่มีโอกาสให้ผลในชาติหน้าก็กลายเป็นอโหสิกรรม ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเป็นเจตนาท้ายสุดของชวนวิถีเป็นตัวให้สำเร็จความประสงค์และได้ความเสพคุ้นจากขวนเจตนาก่อนๆมาแล้ว แต่ในเวลาเดียวกัน ก็มีกำลังจำกัด เพราะเป็นขณะจิตที่กำลังสิ้นสุดชวนวิถี
๓. อปราปริยเวทนียกรรม....
กรรมให้ผลในภพต่อๆไป ได้แก่ กรรมดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ที่ทำในขณะชวนจิตทั้ง ๕ ในระหว่างคือชวนจิตที่ ๒-๖ แห่งชวนวิถีหนึ่งๆ พูดเป็นภาษาวิชาการว่า ได้แก่ ชวนเจตนาที่สองถึงหก กรรมนี้ให้ผลได้เรื่อยไปในอนาคต เมื่อเลยจากภพหน้าไปแล้ว คือได้โอกาสเมื่อใดก็ให้ผลเมื่อนั้น ไม่เป็นอโห-สิกรรม ตราบเท่าที่ยังอยู่ในสังสารวัฏ ท่านเปรียบเหมือนสุนัขไล่เนื้อ ตามทันเมื่อใดก็กัดเมื่อนั้น
๔. อโหสิกรรม...
กรรมเลิกให้ผล ได้แก่ กรรมดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ซึ่งไม่ได้โอกาสที่จะให้ผลภายในเวลาที่จะออกผลได้ เมื่อผ่านล่วงเวลานั้นไปแล้ว ก็ไม่ให้ผลอีกต่อไป
(อโหสิกรรมนี้ ความจริงเป็นคำสามัญแปลว่า....'กรรมได้มีแล้ว' แต่ท่านนำไปใช้เป็นคำศัพท์เฉพาะในความหมายว่า...'มีแต่กรรมเท่านั้น วิบากไม่มี'แปลว่าเลิกให้ผล หรือให้ผลเสร็จแล้ว อย่างที่แปลแบบให้เข้าใจกันง่ายๆตามสำนวนที่เคยชิน)
หมวดที่ ๒ ว่าโดยกิจ...คือ จำแนกการให้ผลตามหน้าที่
๕. ชนกกรรม...
กรรมแต่งให้เกิด หรือกรรมที่เป็นตัวนำไปเกิด ได้แก่ กรรมคือเจตนาดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ที่เป็นตัวทำให้เกิดขันธ์ที่เป็นวิบาก ทั้งในขณะที่ปฏิสนธิและในเวลาที่ชีวิตเป็นไป(ปวัตติกาล)
๖. อุปัตถัมภกกรรม...
กรรมสนับสนุน ได้แก่กรรมพวกเดียวกับชนกกรรม ซึ่งไม่สามารถให้เกิดวิบากเอง แต่เข้าช่วยสนับสนุน หรือซ้ำเติมต่อจากชนกกรรม ทำให้สุขหรือ
ทุกข์ที่เกิดขึ้นในขันธ์ ซึ่งเป็นวิบากนั้นเป็นไปนาน
๗. อุปปีฬกกรรม....
กรรมบีบคั้น ได้แก่ กรรมฝ่ายตรงข้ามกับชนกกรรม ซึ่งให้ผลบีบคั้นผลแห่งชนกกรรม และอุปัตถัมภกกรรม ทำให้สุขหรือทุกข์ที่เกิดขึ้นในขันธ์ ซึ่งเป็นวิบากนั้น ไม่เป็นไปนาน
๘. อุปฆาตกกรรม...
กรรมตัดรอน ได้แก่ กรรมฝ่ายตรงข้ามที่มีกำลังแรง เข้าตัดรอนความ
สามารถของกรรมอื่น ที่มีกำลังน้อยกว่าเสีย ห้ามวิบากของกรรมนั้นขาดไปเสียทีเดียว แล้วเปิดช่องแก่วิบากของตน เช่น ปิตุฆาตกรรมของพระเจ้าอชาตศัตรู ที่ตัดรอนกุศลกรรมของพระองค์เสีย เป็นต้น
หมวดที่ ๓ ว่าโดยปากทานปริยาย..คือ จำแนกตามแง่ที่ยักเยื้องกัน คือ ลำดับความแรงในการให้ผล
๙. ครุกรรม กรรมหนัก...
ได้แก่ กรรมที่มีผลแรงมาก ในฝ่ายดีได้แก่สมาบัติ ๘ ในฝ่ายชั่วได้แก่...อนันตริยกรรม มีมาตุฆาต เป็นต้น ย่อมให้ผลก่อน และครอบงำกรรมอื่นๆเสีย เปรียบเหมือนห้วงน้ำใหญ่ไหลบ่ามาท่วมทับน้ำน้อยไป
๑๐. พหุลกรรม หรือ อาจิณณกรรม....
กรรมทำมาก หรือ กรรมชิน ได้แก่ กรรมดีหรือกรรมชั่ว ที่ประพฤติมาก
หรือทำบ่อยๆสั่งสมเคยชินเป็นนิสัย เช่น คนมีศีลดี หรือเป็นคนทุศีล เป็นต้น กรรมไหนทำบ่อยทำมากเคยชิน มีกำลังกว่าก็ให้ผลได้ก่อน เหมือนนักมวยปล้ำลงสู้กัน คนไหนแข็งแรงกว่าก็ชนะไป กรรมนี้ต่อเมื่อไม่มีครุกรรมจึงจะให้ผล
๑๑. อาสันนกรรม...
กรรมจวนเจียน หรือกรรมใกล้ตาย ได้แก่ กรรมที่กระทำ หรือระลึกขึ้นมาในเวลาใกล้จะตาย จับใจอยู่ใหม่ๆ ถ้าไม่มีกรรม ๒ ข้อก่อน ก็จะให้ผลก่อนกรรมอื่นๆ (แต่คัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินี ว่า อาสันนกรรมให้ผลก่อนอาจิณณกรรม) เปรียบเหมือนโคแออัดอยู่ในคอก พอนายโคกบาลเปิดประตูออก โคใดอยู่ริมประตูออก แม้เป็นโคแก่อ่อนแอ ก็ออกไปได้ก่อน
๑๒. กตัตตากรรม หรือ กตัตตาวาปนกรรม...
กรรมสักว่าทำ ได้แก่ กรรมที่ทำด้วยเจตนาอันอ่อน หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้นๆโดยตรง เป็นกรรมที่เบา เปรียบเหมือนลูกศรที่คนบ้ายิงไป ต่อเมื่อไม่มีกรรมสามข้อก่อน กรรมนี้จึงจะให้ผล...ฯ
~จากพุทธธรรม~
credit...พระธรรมปิฎก...(ป.อ. ปยุตฺโต)