หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ท่านพักจำพรรษาประจำที่และอยู่นานที่สุดที่ วัดป่าอาจารย์ตื้อ ตำบลสันมหาพน อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่บนเส้นทางเชียงใหม่-เชียงดาว อยู่ตรงมุมทางแยกขวาเข้าเขื่อนแม่งัด ทางไปวัดอรัญญวิเวกของ หลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป นั่นเอง
ครั้งสุดท้ายท่านกลับไปจำพรรษาที่บ้านเกิด ที่วัดป่าอรัญญวิเวก บ้านข่า ตำบลบ้านข่า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม และมรณภาพเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๑๗ เวลา ๑๙.๐๕ น. สิริรวมอายุได้ ๘๖ ปี
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม นามเดิมว่า ตื้อ นามสกุล ปาลิปัตต์ เกิดในครอบครัวชาวนา เมื่อวันจันทร์ที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๓๑ ตรงกับวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีชวด สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๕๐ ณ บ้านข่า ตำบลบ้านข่า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม บิดาของท่านชื่อ นายปา มารดาชื่อ นางปัตต์
หลวงปู่มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๗ คน เป็นชาย ๕ หญิง ๒ คนโตเป็นหญิงชื่อ นางคำมี คนที่สองเป็นชาย ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเล็ก คนที่สามชื่อ นายทอง คนที่สี่ชื่อ นายบัว ส่วนหลวงปู่เป็นบุตรคนที่ห้า คนที่หกชื่อ นายตั้ว และคนสุดท้ายเป็นหญิงชื่อ นางอั้ว ทีสุกะ พี่น้องทุกคนรวมทั้งหลวงปู่มรณภาพหมดแล้ว เป็นไปตามวัยและตามธรรมดาของสังขาร ที่ยังเหลืออยู่ก็มีแต่ความดี และความชั่ว ยังให้คนระลึกถึงพูดถึงไปอีกนาน
๓
ครอบครัวที่ใกล้ชิดกับวัด
ในบรรดาเครือญาติของหลวงปู่ตื้อ นับเป็นครอบครัวที่ใกล้ชิดกับวัด ใฝ่ใจต่อการศึกษาในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า บรรดาผู้ชายล้วนแต่ได้บวชเป็นพระภิกษุ และถ้าเป็นหญิงก็สละบ้านเรือนมาบวชชีจนตลอดชีวิตก็มีหลายคน
หลวงปู่จึงได้รับการปลูกฝังให้สนใจการบวชเรียน สนใจศาสนาโดยสายเลือดก็ว่าได้
ท่านเป็นศิษย์วัด รับใช้พระเณรตั้งแต่ยังเป็นเด็ก และเคยบวชเณรมาครั้งหนึ่ง ท่านจึงมีความคุ้นเคยกับวัด คุ้นเคยกับพระกับเจ้าเป็นอย่างดี และปรารถนาที่จะได้บวชเป็นพระภิกษุเมื่อถึงเวลาอันควร ท่านคิดเรื่องการบวชอยู่ตลอดเวลา
๔
ศุภนิมิตก่อนบวช
ก่อนที่หลวงปู่จะได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุนั้น ในคืนหนึ่ง ท่านฝันว่าได้มีชีปะขาว (ตาผ้าขาว) ๒ คนเข้ามาหาท่าน คนหนึ่งแบกครกหิน อีกคนถือสากหิน เอามาวางไว้ตรงหน้าท่าน
ตาผ้าขาวคนแรกพูดว่า “ไอ้หนู แกยกสากนี่ออกจากครกได้ไหม”
หลวงปู่ ตอบโดยไม่ต้องคิด ว่า “ขนาดเสาเรือนผมยังแบกคนเดียวได้ ประสาอะไรกับสากเพียงแค่นี้”
แล้วหลวงปู่ก็ลงมือยกทันที ยกสองครั้งสากก็ไม่เขยื้อน เมื่อพยายามครั้งที่สาม จึงยกสากหินนั้นขึ้นได้
หลวงปู่ มองเห็นมีข้าวเปลือกอยู่เต็มครก ท่านจึงลงมือตำจนข้าวเปลือกนั้นกลายเป็นข้าวสารไปหมด แล้วตาผ้าขาวทั้งสองก็หายไป
ทันใดนั้น ปรากฏว่าท่านเห็นภิกษุ ๒ รูป มีผิวพรรณผ่องใส กิริยาอาการน่าเคารพเลื่อมใส หลวงปู่มั่นใจว่าจะต้องเป็นพระผู้วิเศษจึงตรงเข้าไปกราบ
พระภิกษุองค์หนึ่งพูดกับหลวงปู่ว่า “หนูน้อย เจ้ามีกำลังแข็งแรงมาก ”
พูดเพียงแค่นั้น พระท่านก็หายไป แล้วหลวงปู่ก็ตื่น ท่านมั่นใจว่าเป็นฝันดี จะต้องมีเหตุการณ์ที่ดีเกิดขึ้นกับท่านอย่างแน่นอน หรือว่าท่านจะได้บวชตามที่ใจปรารถนา จะได้มีโอกาสประพฤติธรรมอย่างจริงจัง ต่อไป
๕
คุณปู่ขอร้องให้บวช
ในตอนเย็น เมื่อกลับจากท้องนา และต้อนวัวควายเข้าคอกเรียบร้อยแล้ว คุณพ่อของท่านก็บอกว่า
“ไอ้หนู เมื่อตอนกลางวัน ปู่จารย์สิม ท่านมาที่บ้านถามหาเจ้า เห็นว่ามีธุระสำคัญจะพูดด้วย กินข้าวอิ่มแล้วให้ไปบ้านปู่ ดูซิว่าท่านมีเรื่องอะไร”
(คำว่า อาจารย์ พ่อจารย์ ปู่จารย์ ทางอีสาน หมายถึง ผู้ใหญ่ที่เคยบวชพระหลายพรรษา หรือเคยเป็นเจ้าอาวาสแล้วสึกออกมาครองเรือน ถือว่าเป็นผู้มีความรู้ มีคุณธรรม เป็นครู-อาจารย์ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ)
เมื่อหลวงปู่ตื้อทานข้าวเสร็จแล้ว ก็รีบไปพบปู่จารย์สิมทันที ปู่จารย์สิมเรียกให้หลานชายเข้าไปข้างในเรือน เมื่อเปิดประตูเข้าไปเห็นมีผ้าไตรจีวร บาตร และบริขารสำหรับบวชพระ เตรียมไว้อย่างเรียบร้อย
ปู่จารย์สิม ได้มอบขันดอกไม้ที่เตรียมไว้ให้หลานชายแล้วพูดว่า
“ปู่เห็นมีหลานคนเดียวเท่านั้นที่ควรจะบวชให้ปู่ ปู่ได้เตรียมเครื่องบวชไว้ให้เรียบร้อยแล้ว ปู่อยากให้หลานบวชให้ปู่สัก ๑ พรรษา หรือบวชได้สัก ๗ วันก็ยังดี ก็ให้บวชให้ปู่ก็เป็นพอ จะนานเท่าไรก็ได้ ไม่เป็นไร
หลวงปู่ตื้อท่านปลื้มใจมาก ตอบรับปากปู่ของท่านในทันที แต่ต้องไปขออนุญาตและบอกลาพ่อแม่ก่อน
เมื่อคุณพ่อคุณแม่ของท่านทราบเรื่อง ก็รู้สึกดีใจกับลูกชาย ทั้งสองท่านอนุญาต และกล่าวคำอนุโมทนาสาธุการกับลูกชายของตน
๖
อุปสมบทเป็นพระภิกษุ
ต่อจากนั้น หลวงปู่ตื้อก็ได้เข้าไปอยู่เป็นศิษย์วัด ไปเรียนรู้ธรรมเนียมพระ และฝึกขานนาคเตรียมตัวที่จะบวช
ในบันทึกไม่ได้บอกถึงวันเวลาและสถานที่บวช ทราบแต่ว่า ท่านบวชในฝ่ายมหานิกาย บวชกับพระอุปัชฌาย์คาน ที่อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม
ตามประวัติบอกไว้ว่า หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เมื่ออายุ ๒๑ ปี บวชครั้งแรกในฝ่ายมหานิกาย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ บวชอยู่นานถึง ๑๙ พรรษา จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๑ จึงได้ญัตติเป็นฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ที่วัดเจดีย์หลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูพิศาลสารคุณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูนพีสีพิศาลคุณ (ทอง โฆสิโต) เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลวงปู่ตื้ออยู่ในฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ๔๖ พรรษาจวบจนท่านละสังขารเมื่ออายุ ๘๖ ปี รวมอายุพรรษาทั้งสองนิกาย ๖๕ พรรษา
หลังจากที่หลวงปู่เข้าพิธีอุปสมบทที่อำเภอท่าอุเทนแล้ว ท่านก็กลับไปจำพรรษาที่วัดบ้านเกิด เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยขั้นต้น และท่องบ่นบทสวดมนต์ต่างๆ ตามที่พระเณรใช้สวดกันเป็นประจำ
เมื่อหลวงปู่ตื้อบวชครบ ๗ วัน ปู่จารย์สิมของท่านได้มาที่วัด ถามพระหลานชายว่าต้องการจะสึกหรือยังไม่สึก ถ้าสึกจะได้กลับไปจัดเสื้อผ้ามาให้
หลวงปู่ตื้อ ท่านรู้สึกลังเลในตอนนั้น ใจหนึ่งก็อยากจะสึก ใจหนึ่งก็ไม่อยากสึก แต่มาคิดได้ว่าถ้าสึกในขณะนั้น ชาวบ้านจะพากันเรียกว่า “ไอ้ทิด ๗ วัน” ทำให้อับอาย จึงบอกปู่จารย์สิมว่า
“อาตมายังไม่อยากสึก ขออยู่ไปก่อน รอให้ออกพรรษาก่อนเถิด”
หลวงปู่ตื้อ ท่านก็บวชอยู่ได้จนครบพรรษาแรก ได้หัดท่องหัดสวดมนต์เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน จนจำได้ขึ้นใจ ออกไปสวดงานต่างๆ ในหมู่บ้านรวมกับพระอื่นๆ ได้
พอออกพรรษาแรกได้เดือนเศษ ปู่จารย์สิมก็มาถามอีกว่าอยากจะสึกแล้วยัง พระหลานชายก็ทำเฉยเสีย เพราะรู้สึกว่าใจคอรู้สึกสงบสบายดีอยู่ ท่านคิดในใจว่า ท่านบวชเรียนแค่พรรษาเดียว การเล่าเรียนพระธรรมยังไม่ได้อะไรเลย การอาราธนาศีล ๕ ศีล ๘ อาราธนาเทศน์ ก็ยังทำได้ไม่คล่อง จำได้ผิดๆ ถูกๆ เมื่อสึกออกไป ถ้าถูกไหว้วานให้นำอาราธนาต่างๆ ถ้าว่าไม่ได้คงจะอายเขาแน่
หลวงปู่ตื้อท่านบอกปู่จารย์สิม ว่าตอนนี้ท่านยังรู้สึกสบายดีอยู่จะขอบวชไปเรื่อยๆ ก่อน
๗
เข้าเรียนในหลักสูตรนักปราชญ์
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม มีอุปนิสัยใฝ่เรียนใฝ่รู้อยู่ในตัวท่าน ต้องการศึกษาธรรมะในพระพุทธศาสนาให้ลึกซึ้งกว้างขวางออกไป
การศึกษาธรรมะในทางพระพุทธศาสนาที่ถือว่าเป็นสุดยอดในสมัยนั้นเรียกกันว่า “เรียนสนธิ เรียนนาม มูลกัจจายน์” คือหัดอ่านเขียนภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในการเผยแพร่ และจารึกคำสอนในทางพระพุทธศาสนา ผู้ที่สนใจศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาให้ลึกซึ้งถึงแก่น จึงจำเป็นต้องรู้ภาษาบาลีอย่างแตกฉาน
“การเรียนสนธิ เรียนนาม มูลกัจจายน์” ซึ่งเป็นการเรียนที่ยากนั้น ผู้เขียนต้องมีความเฉลียวฉลาด ขยัน และอดทนอย่างแท้จริง ถ้าหากใครเรียนจบตามหลักสูตรดังกล่าวจัดว่าเป็น “นักปราชญ์” คือเป็นผู้มีความรู้แตกฉานในพระธรรมวินัยอย่างแท้จริง
หลังจากออกพรรษาแรกได้เดือนเศษ อยู่ในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ หลวงปู่ได้เดินทางไปศึกษาเล่าเรียนธรรมที่สำนักเรียนวัดโพธิชัย อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม
วัดโพธิชัย เป็นสำนักเรียนสนธิ เรียนนาม มูลกัจจายน์ที่มีชื่อเสียงมากในสมัยนั้น มีท่านพระอาจารย์คาน เป็นเจ้าสำนักเรียน
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ออกเดินทางจากวัดบ้านเกิด เดินทางด้วยเท้าไปเป็นระยะทางกว่า ๕๐ กิโลเมตร ต้องบุกป่าฝ่าดงไปด้วยความยากลำบาก
หลวงปู่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนอย่างเอาจริงเอาจัง ใช้เวลารวม ๔ ปี จึงจบตามหลักสูตร จัดว่าเป็น “นักปราชญ์” ที่มีความรู้แตกฉานในพระธรรมวินัยทางพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดีในสมัยนั้น
เมื่อเรียนความรู้จบตามที่ต้องการแล้ว หลวงปู่ก็กราบลาพระอาจารย์เจ้าสำนัก เดินทางกลับมาอยู่ที่สำนักเดิม คือ วัดบ้านข่า บ้านเกิดของท่านนั้นเอง
๘
ตั้งใจศึกษาต่อทางปริยัติธรรม
ดังกล่าวแล้วว่า หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม มีนิสัยใฝ่เรียนใฝ่รู้อยู่ในสายเลือด ท่านประสงค์จะศึกษาค้นคว้าหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาให้ลึกซึ้งต่อไป
หลังจากที่ท่านกลับมาอยู่วัดบ้านข่าได้เพียง ๓ วัน เท่านั้น ท่านก็ออกเดินทางโดยมุ่งไปเรียนพระปริยัติธรรมที่บางกอก หรือกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทย ซึ่งเป็นแหล่งการศึกษาที่เจริญที่สุดของประเทศ
หลวงปู่ออกเดินทางด้วยเท้า ร่วมกับพระภิกษุรุ่นราวคราวเดียวกันอีกรูปหนึ่ง ออกเดินธุดงค์ไปเรื่อยๆ ค่ำที่ไหนก็หยุดจำวัดและทำสมาธิภาวนาที่นั่น เดินทางหลายวัน แล้วไปหยุดพักที่จังหวัดอุดรธานีเป็นด่านแรก
เมื่อเดินทางถึงอุดรธานีแล้ว พระภิกษุที่ร่วมเดินทางเกิดคิดถึงบ้าน เปลี่ยนใจอยากกลับบ้านมากกว่าที่จะเดินทางไปกรุงเทพฯ ตามที่ตกลงกันไว้ แม้จะพูดชี้แจงอย่างไรท่านก็ไม่ยอม ต้องการเดินทางกลับบ้านอย่างเดียว
หลวงปู่จึงต้องจำใจเดินทางกลับไปส่งเพื่อนพระที่บ้านเดิม ท่านเดินทางไปส่งถึงอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เห็นว่าพระเพื่อนสามารถเดินทางกลับวัดบ้านข่าตามลำพังได้แล้ว จึงได้แยกทางกันหลวงปู่เดินทางกลับอุดรธานี ไปพักที่ วัดโพธิสมภรณ์ ซึ่งตั้งอยู่ในเมือง
วัดโพธิสมภรณ์ หรือแม้แต่ตัวจังหวัดอุดรธานีในสมัยนั้น ยังมีสภาพเป็นป่าอยู่ ยังไม่มีบ้านเรือนมากมายเหมือนสมัยปัจจุบัน
มีคนมาใส่บาตรท่าน ๕-๖ คน แสดงว่าหมู่บ้านแห่งนี้เคยมีพระธุดงค์มาโปรดสั่งสอนแล้ว แม้พูดกันไม่รู้เรื่อง พวกเขาก็ยังรู้จักใส่บาตรพระ
นับเป็นวันแรกที่หลวงปู่ได้ฉันอาหาร นับตั้งแต่เดินทางออกจากหลวงพระบางเมื่อ ๕ วันที่แล้ว
พวกชาวบ้านป่าเรียกตนเองว่า “พวกข้า” พวกเขาได้แสดงอาการขอให้หลวงปู่พักอยู่ด้วยนานๆ แต่ท่านก็แสดงอาการให้รู้ว่า ท่านขอบอกขอบใจ และไม่สามารถอยู่ด้วยได้ ท่านมีกิจต้องเดินธุดงค์ต่อไปเรื่อยๆ
เมื่อฉันภัตตาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่ก็ออกธุดงค์ต่อไป
๑๖
ธุดงค์เข้าไปในเขตพม่า
เมื่อหลวงปู่ตื้อฉันอาหารจากการบิณฑบาตในวันนั้นแล้ว ท่านก็เดินทางต่อไป ท่านเดินไปตามภูเขาและดงไม้เข้าถึงเมืองทั้งห้าทั้งหก แล้วเข้าสู่เขตพม่า ในบริเวณเมืองเชียงตุง
ในสมัยนั้น ประชาชนชาวพม่าเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก พระสงฆ์องค์เจ้าก็มีมากและได้รับการอุปถัมภ์เลี้ยงดูจากประชาชนเป็นอย่างดี หลวงปู่ออกธุดงค์ตามป่าเขา หลีกเร้นจากการเข้าพักบริเวณบ้านผู้คน นอกจากเข้าไปบิณฑบาตพอได้อาศัยเท่านั้น
หลวงปู่ได้พบปะกับพระพม่าอยู่บ่อยๆ พระเถระผู้เฒ่าก็มี สามเณรก็มี พวกท่านเหล่านั้นกางกลดบำเพ็ญเพียรอยู่ตามป่าเขาห่างไกลบ้านผู้คน
บางครั้งหลวงปู่ได้ปักกลดภาวนาด้วยกันกับพระพม่าก็มี ท่านเล่าว่าชนชาวพม่าก็สนใจในธรรมกรรมฐานมากพอสมควร พระสงฆ์และสามเณรชาวพม่าบางท่านได้ออกเดินธุดงค์กรรมฐาน ชนิดไม่กลับวัดเลย คือหายสาบสูญไปเลยก็มีมาก
หลวงปู่บอกว่า พระพม่านี้เก่งในทางคาถาอาคมมาก บางครั้งเมื่อพบกัน พระชาวพม่ามักสอนคาถาต่างๆ ให้ เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางในถิ่นทุรกันดาร
๑๗
เดินทางกลับประเทศไทย
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ได้เล่าให้ลูกศิษย์ลูกหาฟังว่า ช่วงเดินธุดงค์ในเขตพม่านั้นเป็นการเดินทางที่ยากลำบากที่สุด รวมทั้งไม่สะดวกหลายอย่างเกี่ยวกับการถือเคร่งตามพระวินัย
เส้นการเดินทางที่สบายๆ ไม่มีเลย ถ้าวันไหนได้เดินไปตามเชิงเขาแล้วก็รู้สึกสบายบ้าง แต่มักจะเป็นระยะสั้นๆ แค่ ๒-๓ กิโลเมตรเท่านั้น ส่วนมากมีแต่ขึ้นเขา เข้าป่ารก เฉลี่ยการเดินทางในวันหนึ่งๆ ได้เพียง ๗-๑๐ กิโลเมตรเท่านั้น ถ้าหากสุขภาพไม่แข็งแรงและจิตใจไม่เข้มแข็งจริงๆ แล้ว ก็คงต้องอาพาธป่วยไข้ ทำให้ลำบากและทุกข์ทรมานมากขึ้น
หลวงปู่บอกว่า การภาวนาตามป่าเขานั้น จิตสงบดีมาก แม้การเดินทางจะลำบาก แต่ก็สัปปายะดี สำหรับเรื่องสัตว์ร้าย ผีสางเทวดานั้นไม่มีปัญหาอันใดเลย กลับได้อารมณ์กรรมฐานดีเสียอีก ได้ประโยชน์ในการบำเพ็ญภาวนาเป็นอย่างมาก
อุปสรรคสำคัญในการเดินธุดงค์ในเขตพม่า ได้แก่ ความไม่สะดวกเกี่ยวกับเรื่องพระวินัยบางข้อ หลวงปู่จึงได้ธุดงค์มุ่งกลับมาเมืองไทย ท่านเข้ามาทางจังหวัดน่าน ลงไปเขตเมืองแพร่ แล้วเดินธุดงค์ไปบริเวณจังหวัดเลยตอนเหนือ ระยะการเดินทางนับร้อยๆ กิโลเมตร พบที่ใดเหมาะสมก็ปักกลดภาวนาที่นั่น บำเพ็ญเพียรอย่างไม่มีการลดละเลย เป็นช่วงที่บำเพ็ญเพียรได้ดีมาก สุขภาพก็แข็งแรงไม่เคยเจ็บไข้ได้ป่วยเลย
๑๘
พบหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม กับ หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ เป็นสหธรรมิกที่รักใคร่ชอบพอกันมาก ท่านทั้งสองเคยร่วมธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆ หลายต่อหลายแห่ง ในสมัยที่ยังเป็นพระหนุ่ม
พระธุดงค์หนุ่มทั้งสองรูปได้ไปพบกันครั้งแรกที่ป่าภูพาน ขณะนั้นหลวงปู่ตื้อจาริกธุดงค์มาจากพระบาทบัวบก จังหวัดอุดรธานี หลวงปู่ทั้งสององค์ได้สนทนาธรรมแลกเปลี่ยนความรู้กัน เป็นที่ชอบอัธยาศัยถูกใจกันยิ่งนัก
หลวงปู่ตื้อ และหลวงปู่แหวนในสมัยเป็นพระธุดงค์หนุ่ม ท่านมีปฏิปทาที่ตรงกัน แม้บุคลิกภายนอกจะแตกต่างกันอย่างมาก แต่ก็เข้ากันได้ดี ทั้งสองท่านเป็นพระหนุ่มฝ่ายมหานิกาย ที่ท่องธุดงค์แต่ลำพังอย่างโดดเดี่ยวกล้าหาญโดยไม่มีครูอาจารย์ฝ่ายกรรมฐานคอยกำกับชี้ทางเลย
หลวงปู่แหวน ท่านเคยเข้ากราบ ได้ถวายตัวเป็นศิษย์และได้รับคำชี้แนะจากหลวงปู่มั่นมาก่อนแล้ว ในครั้งที่หลวงปู่มั่นท่องธุดงค์อยู่แถวจังหวัดอุดรธานี ครั้งที่หลวงปู่แหวนยังเป็นสามเณรอยู่ แต่พอหลวงปู่มั่นท่านไปธุดงค์ทางภาคเหนือ หลวงปู่แหวนก็ไม่มีครูบาอาจารย์กรรมฐานคอยชี้แนะท่านอีก ต้องดั้นด้นฝึกฝนปฏิบัติอยู่ตามป่าเขาตามลำพัง ด้วยตัวของท่านเอง
ทางด้านหลวงปู่ตื้อ ก็ใฝ่ใจปรารถนาอยากจะพบพระอาจารย์มั่น
ภูริทตฺโต ให้ได้เหมือนกัน เพราะได้ยินกิตติศัพท์เลื่องลือเกี่ยวกับปฏิปทา จริยาวัตร ของพระอาจารย์มั่นมามาก แต่ก็ยังไม่ได้พบท่านสมใจหวังสักที
ทั้งหลวงปู่ตื้อ และหลวงปู่แหวน ต่างก็ปรารถนาที่จะได้พบและได้รับการชี้แนะจากหลวงปู่มั่น พระอาจารย์ใหญ่สายกรรมฐาน หลวงปู่ทั้งสองตกลงกันว่า หากวาสนายังมีคงจะได้พบกับพระอาจารย์ใหญ่สมใจหวัง “เราอย่าเร่งรัดตัวเองและกาลเวลาเลย ถ้าไม่ตายเสียก่อน จะต้องได้สดับธรรมจากพระอาจารย์มั่นเป็นแม่นมั่น ในระหว่างนี้เราควรจะจาริกธุดงค์ไปตามมรรคาของเราก่อน”
หลวงปู่ตื้อ และหลวงปู่แหวน เริ่มต้นเดินธุดงค์เข้าไปทางฝั่งลาว ทางด้านอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย พอข้ามแม่น้ำโขงไปแล้วก็พบแต่ป่าทึบ ต้องเดินมุดป่าไปเรื่อยๆ เป้าหมายอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง
ในการเดินทางเท้านั้น ตลอดทางหลวงปู่ทั้งสองได้พบสัตว์ป่าจำนวนมาก อาศัยเดินมุดป่าไปตามรอยช้างไปเรื่อยๆ เพราะสะดวกสบายกว่าบุกเข้าไปในป่าที่รกชัฏ
๑๙
หาเรือข้ามแม่น้ำโขง
ตอนที่หลวงปู่ตื้อกับหลวงปู่แหวนพบกัน และเริ่มออกธุดงค์ด้วยกันใหม่ๆ ทั้งสององค์ได้มุ่งหน้าข้ามแม่น้ำโขงไปทางสุวรรณเขต ในประเทศลาว
ตอนจะข้ามแม่น้ำโขง หลวงปู่ตื้อได้แสดงอะไรบางอย่างให้หลวงปู่แหวนดู
เรื่องมีอยู่ว่าทั้งสององค์หาเรือข้ามฟากไม่ได้ แม่น้ำโขงก็ไหลเชี่ยวจัด เพราะเป็นคุ้งน้ำไหลผ่านช่องเขาค่อนข้างแคบ หมู่บ้านใกล้สุดก็อยู่ห่างออกไปไม่น้อยกว่าหนึ่งกิโลเมตร มองไม่เห็นเรือนแพอยู่แถวนั้นเลย
หลวงปู่ตื้อบอกว่า “ท่านแหวนไม่ต้องวิตก เดี๋ยวก็มีเรือมารับเราข้ามฟากไป” แล้วท่านก็ยืนนิ่งหลับตา บริกรรมคาถา เพียงอึดใจใหญ่ๆ ก็ลืมตาขึ้น พูดยิ้มๆ ว่า “เดี๋ยวเรือจะมารับ”
อีกสักพักก็มีเรือหาปลาพายผ่านมา พอเห็นพระหนุ่มทั้งสองรูปยืนอยู่ที่ท่าน้ำ ก็พายเรือเข้ามารับพาข้ามฟาก
ชายคนนั้นบอกว่า ขณะที่เขาหาปลาอยู่ กลางแม่น้ำรู้สึกสังหรณ์ใจว่ามีพระกำลังรอเรือข้ามฟาก จึงได้พายเรือมาดู ก็พบพระคุณเจ้าทั้งสองจริง นับว่าน่าอัศจรรย์มาก
หลวงปู่ตื้อ พูดยิ้มๆ ว่า “โยมได้บุญกองใหญ่แล้วคราวนี้ ที่เอาเรือมารับเราข้ามฟาก ขอให้หมั่นทำความดีไว้ ถ้าจะเลิกจับปลาฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเลยได้ก็จะดีมาก”
คนหาปลาถามว่า “ถ้าไม่จับปลา แล้วจะให้ข้าน้อยทำมาหากินอะไร?”
หลวงปู่ตื้อ บอกว่า “ทำไร่ทำนาหากินโดยสุจริตก็ดีแล้ว ต่อไปชีวิตครอบครัวจะเจริญรุ่งเรืองอยู่ดีกินดี อาตมาขอให้พร”
คนหาปลามีความศรัทธาพระธุดงค์ทั้งสององค์เป็นอย่างมาก ต่อมาภายหลังทราบว่าเขาได้เลิกหาปลา แล้วหันมาทำนาทำไร่ เลิกการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ชีวิตครอบครัวเขามีความเจริญรุ่งเรืองทำมาค้าขายขึ้นจนมั่งมีเงินทอง สามารถสร้างวัดได้ ๒-๓ แห่ง
ทั้งนี้ คงเป็นด้วยอานิสงส์ผลบุญที่เขาเอาเรือมารับพระภิกษุผู้ครองศีลบริสุทธิ์ข้ามแม่น้ำ ตนเองเชื่อมั่นในพรที่พระท่านให้ และเลิกฆ่าสัตว์ตัดชีวิตโดยแท้จริง
๒๐
ชาวป่าถวายอาหารยามวิกาล
หลวงปู่ตื้อ กับ หลวงปู่แหวน ซึ่งเป็นพระหนุ่ม ร่วมเดินทางไปตลอดทั้งกลางวัน พอพลบค่ำก็เลือกอาศัยพักใกล้หมู่บ้านคน พอได้อาศัยโคจรบิณฑบาตในตอนเช้า
หลวงปู่ตื้อ ได้เล่าถึงชาวป่าเผ่าหนึ่ง ที่ท่านทั้งสองได้พบระหว่างทางในตอนใกล้พระอาทิตย์ตกดินในวันหนึ่ง ชาวป่าเหล่านั้นได้พากันเอากระติ๊บข้าวเหนียวมาถวาย เดินแถวเข้ามานับสิบ แสดงความประสงค์จะถวายอาหารด้วยความศรัทธา
ชาวป่าเหล่านั้นไม่ทราบว่าพระภิกษุรับอาหารยามวิกาล คือหลังเที่ยงวันไปแล้วไม่ได้ แต่พวกเขามีศรัทธา ร้องบอกท่านทั้งสองว่า “งอจ้าวเหนียว งอจ้าวเหนียว”
แม้ไม่รู้ภาษากันก็พอเดาความประสงค์นั้นได้ หลวงปู่ทั้งสองบอกด้วยอาการปฏิเสธว่า อาหารไม่ขอรับ ขอรับเพียงน้ำร้อนก็พอ ท่านพยายามสื่อความหมายด้วยท่าทางจนรู้เรื่องกันได้
พอรุ่งเช้า หลวงปู่ตื้อ และหลวงปู่แหวน ได้เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ต้องทำการบิณฑบาตด้วยวิธีโบราณ คือ ไปหยุดยืนอยู่หน้าบ้าน ทำเป็นกระแอมไอเพื่อส่งเสียงให้เขาออกมาดู พวกเขาไม่เข้าใจ ก็ทำนิ้วชี้ลงที่บาตรจึงพอได้ข้าวมาฉัน
พวกคนป่าเผ่านั้นคงไม่เคยรู้จักพระมาก่อน จึงไม่รู้ธรรมเนียมพระ และไม่รู้วิธีอุปถัมภ์พระ
๒๑
สามเณรเชือดไก่แล้วย่างมาถวาย
ทั้งหลวงปู่ตื้อ และหลวงปู่แหวนได้เดินทางไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งมีวัดประจำหมู่บ้าน แต่ไม่มีพระสงฆ์อยู่ มีเพียงสามเณรอยู่รูปเดียว
สามเณรดีใจมากที่เห็นพระอาคันตุกะสองรูปมาแวะเยี่ยม ได้จัดหาที่พักนอน และหาน้ำร้อนมาถวาย เสร็จแล้วสามเณรก็หลบออกไป
สักพักหลวงปู่ทั้งสองก็ได้ยินเสียงไก่ร้องกระโต๊กกระต๊ากแล้วก็เงียบเสียงลง สักครู่ใหญ่ๆ ก็มีกลิ่นไก่ย่างโชยมาตามลม หลังจากนั้นไก่ย่างร้อนๆ ก็ถูกนำมาวางตรงหน้าหลวงปู่ทั้งสอง
สามเณรเข้าประเคนถาดอาหารด้วยความนอบน้อม “นิมนต์ท่านครูบาฉันไก่ก่อน ข้าวเหนียวก็กำลังร้อนๆ นิมนต์ครับ”
หลวงปู่ทั้งสองรับประเคนอาหารจากเณร ให้ศีลให้พรตามธรรมเนียม แล้วท่านจะฝืนพระวินัยฉันไก่ย่างร้อนๆ นั้นได้อย่างไร? เพราะเป็นอุทิศมังสะ เป็นการจงใจฆ่าสัตว์เพื่อทำอาหารถวายท่านโดยตรง ถึงแม้ท่านทั้งสองจะไม่เห็น แต่ท่านก็รู้และก็ได้ยิน ท่านจึงละเว้นการฉันไก่ย่าง ฉันแต่ข้าวเหนียวเปล่าๆ เท่านั้น
๒๒
คู่อรรถคู่ธรรมที่ต่างอุปนิสัย
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม และหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ร่วมเดินทางธุดงค์ไปจนถึงเมืองหลวงพระบาง แต่ทั้งสององค์ไม่ได้ไปด้วยกันโดยตลอด บางช่วงท่านก็แยกกันไป และบางโอกาสก็มาพักปักกลดด้วยกัน รวมทั้งบางโอกาสก็จำพรรษาร่วมกัน
ทั้งสององค์จัดเป็นคู่อรรถคู่ธรรมที่แปลกมาก กล่าวคือทั้งสององค์ มีอุปนิสัยภายนอกที่แตกต่างกันอย่างมาก แต่ท่านก็ร่วมเป็นสหธรรมิกที่ไปด้วยกันได้เป็นอย่างดี
ทางด้านหลวงปู่ตื้อท่านเป็นพระที่ชอบพูด ชอบเทศน์ มีปฏิปทาผาดโผน พูดเสียงดัง ตรงไปตรงมาชนิดที่ไม่กลัวเกรงใคร
ทางด้านหลวงปู่แหวน กลับเป็นพระที่พูดน้อย เสียงเบา ชอบอยู่เงียบๆ ท่านไม่ชอบเทศน์ มีแต่ให้ข้อธรรมสั้นๆ มีปฏิปทาเรียบง่าย ไม่โลดโผน
แม้หลวงปู่ทั้งสององค์ท่านมีอุปนิสัยภายนอกที่แตกต่างกัน แต่ท่านก็ร่วมเดินทางและเกื้อกูลซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี จัดเป็นสหธรรมิกที่มีความใกล้ชิดกันที่สุด แม้ในภายหลัง เมื่อหลวงปู่มั่นได้เดินทางกลับไปภาคอีสานแล้ว หลวงปู่ทั้งสององค์ก็ยังพำนักอยู่ในภาคเหนือต่อไป จนเข้าสู่วัยชราภาพ สถานที่ที่องค์ท่านทั้งสองพำนักอยู่ก็ไม่ห่างไกลกัน พอไปมาหาสู่และถามไถ่ถึงกันได้ตลอด
๒๓
บันทึกการร่วมธุดงค์กับหลวงปู่แหวน
จากประวัติของหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ซึ่งเรียบเรียงโดย อตฺถวโรภิกขุ (พระอาจารย์นาค) แห่งวัดสัมพันธวงศ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้บันทึกการเดินธุดงค์ของหลวงปู่แหวน ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับหลวงปู่ตื้อ ดังต่อไปนี้
“เมื่อสมัยหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ยังหนุ่ม ท่านชอบเที่ยวธุดงค์จาริกไปตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในประเทศและนอกประเทศ เท่าที่จะสามารถเดินไปได้ สมัยก่อน การคมนาคมยังไม่สะดวก จะไปไหนไม่ต้องกังวลเรื่องรถเรื่องเรือ ทางสะดวกมีอยู่ทางเดียวคือ เดินไปแล้วก็เดินกลับ”
“ในเขตภาคอิสาน นอกจากอุบลราชธานีแล้ว หลวงปู่ (แหวน) พำนักอยู่ที่อุดรธานีเป็นส่วนใหญ่ เช่นเมื่อครั้งไปตามหาท่านอาจารย์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่บ้านค้อ ดงมะไฟ และเคยไปจำพรรษาที่นาหมี นายูง... ต่อมาหลวงปู่ ไปจำพรรษาที่พระบาทบัวบก และเมื่อออกพรรษาก็ไปพักที่พระบาทหอนาง หรือพระบาทนางอุษา ซึ่งอยู่คนละฟากเขากับพระบาทบัวบก ส่วนเขตแดนอิสานอื่นก็มีที่อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย เมื่อหลวงปู่กลับมาพักผ่อนหลังจากจาริกไปลาว ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ๑๔ วัน ตั้งใจจะเที่ยวตามเมืองต่างๆ จนถึงสิบสองปันนา สิบสองจุไท ทางเหนือ แต่ทหารฝรั่งเศสไม่ให้ไป จึงไปพักที่วัดใต้หลวงพระบางระยะหนึ่ง แล้วก็กลับพร้อมด้วยหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม”
“หลังจากพักหายเหนื่อย จึงปรึกษากับหลวงปู่ตื้อ มุ่งเดินทางไปทางภาคเหนือ...เดินไปค่ำไหนก็นอนที่นั่น และไม่มีลูกศิษย์เล็กให้เป็นห่วง หลวงปู่ทั้งสองท่านออกจากท่าลี่ จังหวัดเลย ไปออกด่านซ้าย ข้ามป่าเข้าไปอำเภอน้ำปาด ผ่านเขตอำเภอนครไทย ไปถึงอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ แล้วตัดไปอำเภอนาน้อย แพร่ ผ่านหมู่บ้านชาวเขาเผ่าเย้า แล้วลงมาพักกับหมู่บ้านคนเมืองตามคำนิมนต์ จากนั้นจึงเดินทางต่อไปสูงเม่น เด่นชัย เดินไปตามทางรถไฟจนถึงลำปาง
หลวงปู่ตื้อแยกตัวไปพักที่อำเภอเถิน หลวงปู่แหวนเดินทางต่อไปยังเชียงใหม่ เที่ยวดูภูมิประเทศโดยรอบ ทั้งบนดอยสุเทพและที่อื่นๆ แล้วจึงเดินทางกลับมาพบหลวงปู่ตื้อ ที่ลำปาง”
หลังจากนั้น ในปี พ.ศ ๒๔๖๔ หลวงปู่ทั้งสองก็แยกทางกัน หลวงปู่แหวน ลงไปกรุงเทพฯ เพื่อรับฟังธรรมอบรมจาก ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ที่วัดบรมนิวาส แล้วท่านก็จาริกไปพม่าและอินเดีย
ในตอนหลังทั้งหลวงปู่แหวน และหลวงปู่ตื้อได้ไปกราบหลวงปู่มั่น ที่เชียงใหม่ โดยหลวงปู่แหวนได้ญัตติเป็นธรรมยุตก่อน ต่อจากนั้นทั้งสององค์ก็ท่องเที่ยวธุดงค์ติดตามหลวงปู่มั่นไปยังที่ต่างๆ ในภาคเหนือติดต่อกันหลายปี
๒๔
ถวายตัวเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น
ท่านพระอาจารย์บูรฉัตร พรหฺมจาโร ผู้เป็นศิษย์ ได้บันทึกเรื่องราวตอนที่หลวงปู่ตื้อ เข้าถวายตัวเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น ดังนี้
“ในขณะนั้น ที่จังหวัดเชียงใหม่ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เพชรเม็ดเอกน้ำหนึ่งของพระพุทธศาสนา และ ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท) มาพำนักสอนกรรมฐานอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่
เมื่อได้ทราบข่าวเช่นนั้น (หลวงปู่ตื้อ) ก็ได้เดินธุดงค์กรรมฐานจากจังหวัดเลยขึ้นสู่จังหวัดเชียงใหม่ ไปทางหล่มสัก หลายคืนจึงถึงจังหวัดเชียงใหม่ ถ้าจะขึ้นรถยนต์รถไฟก็อัตคัดปัจจัย และปัจจัยก็หายากมาก แม้รถยนต์ก็มีน้อยมาก จนนับจำนวนได้ ในจังหวัดเชียงใหม่เวลานั้นมีรถยนต์ทั้งหมด ๒ คันเท่านั้น เป็นรถของหลวงอนุสารสุนทร และอีกคันหนึ่งเป็นของใครจำไม่ได้
“ท่านพระอาจารย์ตื้อ ได้เดินทางถึงจังหวัดเชียงใหม่ แล้วได้ไปกราบท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และได้พักอยู่กับท่านที่วัดเจดีย์หลวง ในเมืองเชียงใหม่ อยู่ไม่นานเท่าไรก็ได้ญัตติเป็นฝ่ายธรรมยุต โดยมีท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์, ท่านพระครูพิศาลสารคุณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และท่านพระครูนพีสีพิศาลคุณ (ทอง โฆสิโต) เป็นพระอนุสาวนาจารย์
“ขณะนั้น ท่าน (หลวงปู่ตื้อ) ได้เดินทางถึงจังหวัดเชียงใหม่แล้ว ได้ไปกราบท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และได้พักอยู่กับท่านที่วัดเจดีย์หลวง ในเมืองเชียงใหม่
ขณะนั้น ท่าน (หลวงปู่ตื้อ) อายุได้ ๓๗ ปี เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๘ ตรงกับวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖”
(จากประวัติการอุปสมบทในตอนต้น บันทึกไว้ว่าหลวงปู่ได้ญัตติเป็นฝ่ายธรรมยุติกนิกายในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ หลังจากบวชอยู่ในฝ่ายมหานิกายได้ถึง ๑๙ พรรษา - ผู้เขียน)
“เมื่อท่านได้บวชเป็นธรรมยุต และได้เป็นศิษย์ของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต แล้วก็ได้พำนักอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อคอยออกกรรมฐาน ติดตามท่านพระอาจารย์มั่นต่อไป
“ในระหว่างนี้ ท่านพระอาจารย์ตื้อ อจลธมฺโม ได้ตั้งหน้าตั้งตาอบรมกรรมฐานอยู่ที่วัดเจดีย์หลวงเป็นเวลาหลายเดือน และในที่สุดท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และสานุศิษย์ก็ออกเดินกรรมฐานไปตามถ้ำต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ และท่านพระอาจารย์ตื้อ อจลธมฺโม ได้ออกติดตามท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ไปในกองทัพธรรมครั้งนั้นด้วย
ท่านได้ติดตามไปกับท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต ไปตามถ้ำต่างๆ หลายแห่ง เป็นลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดและเป็นผู้ที่พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ไว้ใจในการออกธุดงค์ปฏิบัติธรรมกรรมฐานมาก ท่านพระอาจารย์มั่นมักจะถามและพูดด้วยเสมอ ดังนั้น ท่านพระอาจารย์ตื้อ อจลธมฺโม จึงเป็นลูกศิษย์เอกของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไปในเวลานั้น”
๒๕
สำรวจถ้ำพระปัจเจกพุทธเจ้า
หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้พาคณะศิษย์ออกธุดงค์ไปทางเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ ไปถึงเขตอำเภอเชียงดาว ได้พำนักปฏิบัติอยู่ที่ถ้ำเชียงดาวระยะหนึ่ง
วันหนึ่ง หลวงปู่มั่นได้นิมิตเห็นถ้ำพระปัจเจกพุทธเจ้า อยู่บนดอยเชียงดาวสูงขึ้นไป เป็นถ้ำที่สวยงาม กว้างขวาง สะอาด อากาศโปร่ง เหมาะที่จะเป็นที่พักบำเพ็ญเพียรภาวนามาก
ถ้ำนั้นอยู่บนดอยที่สูงมาก ยากที่ใครจะขึ้นไปถึงได้ ต้องใช้ความอดทนพยายามที่สูงมาก รวมทั้งมีพลังใจที่กล้าแข็งจริงๆ จึงจะขึ้นไปได้
หลวงปู่มั่นต้องการให้พระลูกศิษย์ขึ้นไปสำรวจถ้ำแห่งนั้น เมื่อพิจารณาดูแล้วเห็นว่า นอกจากหลวงปู่ตื้อแล้วยังไม่เห็นใครเหมาะสมที่จะขึ้นไปได้ จึงได้บอกให้หลวงปู่ตื้อเดินทางขึ้นไปสำรวจดูถ้ำแห่งนั้น
เช้าวันรุ่งขึ้น หลังจากฉันภัตตาหารแล้ว หลวงปู่ตื้อพร้อมกับพระอีก ๓ รูป ได้พากันออกเดินทางขึ้นสูยอดดอยเชียงดาว เพื่อสำรวจดูถ้ำตามภาระที่ได้รับมอบหมายจากพระอาจารย์ใหญ่
หนทางขึ้นสูยอดดอยสุดแสนจะลำบาก เพราะต้องปีนเขาสูง ไม่มีทางอื่นที่จะเดินลัดหรือเลาะเลี้ยวไปตามเชิงเขา ต้องปีนป่ายเหนี่ยวเกาะไปตามแง่หิน รั้งตัวขึ้นไป ซึ่งเสี่ยงอันตรายมาก
หลวงปู่ตื้อ เล่าให้สานุศิษย์ฟังว่า ยิ่งสายก็ยิ่งเหนื่อย บางแห่งทางแคบมากจริงๆ ต้องเดินเอี้ยวหลบเข้าไปได้ทีละคนเท่านั้น บางช่วงต้องปีนป่ายและห้อยโหนเพราะไม่มีทางเลี่ยงอื่น ต้องเสี่ยงชีวิตเอา
คณะของหลวงปู่ตื้อ ปีนป่ายถึงยอดเขาประมาณ ๕ โมงเย็น แต่ไม่มีวี่แววว่าจะพบถ้ำ และไม่ทราบว่าถ้ำอยู่ที่ไหน บริเวณรอบๆ ไม่ได้ส่อเค้าว่าจะเป็นถ้ำเลย
คณะต้องเดินอยู่บนเขาอีก ๔ ชั่วโมงกว่าๆ บนยอดเขามีลมพัดแรงมาก ตกกลางคืนยิ่งพัดแรงจนตัวแทบจะปลิวไปตามแรงลม จะหาถ้ำเล็กๆ พอจะหลบลมก็ไม่มี ในคืนนั้นไม่ได้หลับนอนกัน พระทุกองค์ต้องใช้เชือกตากผ้าที่เตรียมไป ผูกมัดตัวไว้กับต้นไม้ แล้วนั่งสมาธิภาวนากันทั้งคืน ยิ่งดึกลมยิ่งแรงดูผิดปกติธรรมชาติเป็นอย่างมาก
พอรุ่งเช้าได้อรุณแล้ว ปรากฏว่ามีญาติโยมจัดภัตตาหารมาถวาย คนพวกนั้นเป็นพวกชาวเขาแท้ อาศัยทำไร่อยู่บนยอดดอยอย่างถาวร เมื่อฉันเสร็จก็พากันเดินทางต่อไป แม้จะเดินบนหลังเขา หนทางก็ยากลำบากมาก เหมือนกับการปีนป่ายขึ้นมาในตอนแรก คณะหลวงปู่ตื้อเดินอยู่จนถึงเที่ยงวัน ก็ถึงบริเวณหนึ่งที่เข้าใจว่าน่าจะเป็นที่ๆ ถ้ำพระปัจเจกพุทธเจ้าตั้งอยู่
บริเวณข้างหน้าเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ ต้องใช้ขอนไม้เกาะเป็นแพจึงจะข้ามไปอีกฝั่งหนึ่งได้ พระที่ไปด้วยกันไม่มีใครกล้าข้ามไป หลวงปู่ตื้อจึงอาสาข้ามน้ำไปดูเพียงองค์เดียว
ก่อนจะข้ามน้ำไป หลวงปู่ได้นั่งสมาธิดูก่อน ปรากฏเป็นเสียงคนพูดเบาๆ พอเสียงนั้นเงียบหายไป ก็มีอีกเสียงหนึ่งพูดขึ้นว่า “งูใหญ่ๆ” พูดอยู่ ๒-๓ ครั้ง แล้วปรากฏเป็นผู้ชายรูปร่างบึกบึน สูงใหญ่ ผิวกายดำทมึนมายืนพูดกับหลวงปู่ว่า “ท่านจะเข้าไปในถ้ำไม่ได้หรอกนะ ที่นั่นมีงูตัวใหญ่มากเฝ้ารักษาอยู่”
หลวงปู่ตื้อได้พูดกับชายผู้นั้นว่า “ที่พวกอาตมาขึ้นมาที่นี่ ไม่ได้มาเบียดเบียนใคร ไม่ได้มุ่งจะมาเอาอะไร แต่ประสงค์จะขึ้นมาดูถ้ำตามที่ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ใช้ให้มาเท่านั้น”
พอหลวงปู่กล่าวจบลง ชายผู้นั้นก็หายไป ท่านพิจารณาดูต่อไปเมื่อเห็นว่าไม่มีอะไรอีกแล้วจึงออกจากสมาธิ แล้วท่านก็จัดแจงหาขอนไม้มาทำเป็นแพ เอาเทียนจุดไว้ที่หัวแพ แล้วเกาะแพลอยข้ามน้ำไปยังฝั่งตรงข้าม ท่านลองหยั่งดูเห็นว่าน้ำลึกมากไม่สามารถหยั่งรู้ถึงได้
เมื่อหลวงปู่เกาะแพไปถึงอีกฝั่งแล้ว จึงได้พบถ้ำพระปัจเจกพุทธเจ้า ตามที่หลวงปู่มั่นได้พบเห็นในนิมิต เป็นถ้ำที่ใหญ่โต กว้างขวางและสวยงามมาก อากาศโปร่งสบาย พื้นถ้ำสะอาดสะอ้านเหมือนกับมีคนดูแลปัดกวาดเป็นอย่างดี
หลวงปู่ตื้อได้เข้าไปสำรวจภายในถ้ำ ในถ้ำนั้นมีแสงสว่างอยู่ในตัว แม้เดินลึกเข้าไปก็ไม่มืด ถ้ำนี้มีลักษณะพิเศษกว่าถ้ำอื่นจริงๆ
ลักษณะของถ้ำกว้างและยาวลึกเข้าไปข้างในเขา ด้านหลังถ้ำออกไปมีแอ่งน้ำธรรมชาติ น้ำใสสะอาดน่าดื่มกิน ด้านนอกถ้ำออกไปข้างหลังมีป่าไม้ประเภทไม้ผลที่อุดมสมบูรณ์ ใบเขียวชอุ่มเหมือนได้รับการดูแลอย่างดี
ด้านนอกถ้ำที่อยู่สูงที่สุดเป็นหน้าผาที่สูงชันมาก คงไม่มีใครขึ้นไปได้ หรือว่าถ้าขึ้นไปได้แล้วก็คงไม่คิดลงมาอีก
หลวงปู่ตื้อได้นั่งสมาธิภาวนาอยู่นาน พบว่ามีพวกกายทิพย์เข้ามาหาท่าน และพบวิญญาณชีปะขาวน้อยรูปหนึ่ง เป็นผู้เฝ้าดูแลรักษาถ้ำแห่งนี้ ชีปะขาวน้อยบอกหลวงปู่ว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าท่านไม่ได้อยู่ที่ถ้ำนั้นแล้ว แล้วชีปะขาวน้อยก็หายไปทางหลังถ้ำ
๒๖
หลวงปู่มั่นบอกเรื่องบ่อน้ำทิพย์
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ได้พักบำเพ็ญภาวนาอยู่ภายในถ้ำพระปัจเจกพุทธเจ้า จนครบ ๕ วัน จึงได้พาหมู่คณะเดินทางกลับลงมาทางเดิม
หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้ถามคณะที่ไปสำรวจถ้ำว่าเป็นอย่างไร? น่าอยู่จริงไหม?
หลวงปู่ตื้อได้กราบเรียนว่า “ในถ้ำสวยงามน่าอยู่จริงๆ แต่ไม่มีบ้านคนเลย พวกกระผมฉันใบไม้ตลอด ๕ วัน บ้านคนไม่มี ไม่รู้จะไปบิณฑบาตที่ไหน อีกประการหนึ่งที่เป็นปัญหาสำคัญ คือลมพัดแรงมาก พัดหูพัดตาอยู่ลำบาก ถ้าหากอยู่ในถ้ำก็สบายดีมากขอรับ”
หลวงปู่มั่น ได้พูดขึ้นว่า “ทำไม่พวกคุณถึงไม่เลยพากันขึ้นไปดูบ่อน้ำทิพย์ ที่อยู่ข้างหลังถ้ำนั้นด้วยละ บ่อน้ำทิพย์ศักดิ์สิทธิ์นั้น ถ้าหากใครได้อาบและดื่มเป็นการชุบตัวแล้ว จะมีอายุยืนถึงห้าพันปี สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ด้วย”
หลวงปู่ตื้อ กราบเรียนท่านพระอาจารย์ว่า “กระผมขึ้นไปเหมือนกันขอรับ แต่พอขึ้นไปบนหลังถ้ำนั้นปรากฏว่าเป็นหน้าผาที่สูงและชันมาก สูงราวๆ ๑๐-๑๕ วา ขึ้นไปมิได้ขอรับ เพราะหน้าผาชันจริงๆ ทางอื่นที่จะขึ้นไปก็ไม่มี กระผมเดินดูรอบๆ ตั้งสองสามรอบ ถ้าหากขึ้นไปได้ ก็คงลงมาไม่ได้”
ท่านพระอาจารย์ใหญ่ จึงตอบว่า “พวกเราคงไม่มีบุญวาสนาบารมีที่จะเหาะได้ละมั้ง จึงได้พากันเดินลงมาจนเท้าแตกหมด ถ้าหากว่าขึ้นไปได้ก็คงลงมาไม่ได้ แต่ขึ้นไปได้และลงมาได้อย่างนี้ก็สามารถมากแล้วละ”
๒๗
เจรจากับช้างป่า
เมื่อออกจากถ้ำเชียงดาวแล้ว หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้นำสานุศิษย์เดินธุดงค์ไปทางอำเภอพร้าว (ในบันทึกใช้คำว่า บ้านพร้าว ศิษย์ที่ร่วมเดินทางมีหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ และมีพระภิกษุ-สามเณรติดตามอีก ๒-๓ รูป
คณะของหลวงปู่มั่นเดินทางไปถึงที่แห่งหนึ่งซึ่งเป็นช่องแคบที่จะไต่ขึ้นเขา พอดีมีช้างเชือกหนึ่งกำลังกินใบไผ่ยืนขวางทางอยู่ตรงช่องแคบนั้น ทางคณะไม่มีทางอื่นจะเลี่ยงไปได้ ช้างกับพระอยู่ห่างกันประมาณ ๑๐ วา มีเสียงหนึ่งให้ความเห็นว่า “พวกเราน่าจะกลับถอยหลังไปก่อน แล้วจึงค่อยมาใหม่”
ท่านหลวงปู่มั่น หยุดพิจารณา แล้วพูดขึ้นว่า “ท่านตื้อ ลองพูดกับช้างดูบ้างซิ”
หลวงปู่ตื้อ จึงพูดกับช้างว่า “พี่ชาย เราขอพูดด้วย”
ฝ่ายช้างหยุดชะงักจากการกินใบไผ่ทันที
“พี่ชาย เราขอพูดด้วย” เป็นคำรบสอง
ช้างหันมาทางหมู่พระทันที หูทั้งสองข้างกางออก ยืนนิ่งไม่ไหวติง
หลวงปู่ตื้อจึงพูดต่อไปว่า “พวกเราขอทางเดินหน่อย พี่ชายมายืนกินใบไผ่อยู่ที่นี้ พวกเราจึงไม่มีทางเดิน เพราะพี่ชายยืนปิดทาง พวกเรากลัวพี่ชายมาก ขอให้หลีกทางให้พวกเราด้วย”
พอท่านพูดจบลง ช้างก็รีบหันหน้าเข้ากอไผ่ข้างทาง แสดงให้เห็นว่าได้หลีกทางให้แล้ว คณะพระธุดงค์ก็ออกเดิน โดยหลวงปู่ตื้อเดินออกหน้า หลวงปู่มั่น เดินเป็นอันดับสอง แล้วพระเณรองค์อื่น หลวงปู่แหวน อยู่รั้งท้าย
เมื่อผ่านช้างไปแล้ว ทุกท่านก็พากันเดินต่อไปเรื่อยๆ บังเอิญทางหลวงปู่แหวน พอผ่านช้างไปได้เพียงวาเศษ ตาขอกลดของท่านเกิดไปเกี่ยวกับกิ่งไผ่พอดี ท่านพยายามปลดอยู่นานก็ไม่หลุด จะดึงแรงก็กลัวช้างตกใจตื่น ช้างเชือกนั้นยังแสดงอาการสงบนิ่งในท่าเดิม แต่ด้วยเหตุอะไรก็ไม่ทราบ หลวงปู่แหวนไม่สามารถปลดตาขอกลดให้หลุดจากกิ่งไผ่ได้
หลวงปู่มั่น หันกลับไปเห็นเหตุการณ์ จึงเรียกให้หลวงปู่ตื้อหยุดและให้กลับไปช่วยหลวงปู่แหวนจนปลดตาขอกลดออกได้ แล้วคณะก็ออกเดินต่อไป
เมื่อถึงที่นั่งพักเหนื่อย หลวงปู่มั่นได้พูดกับบรรดาศิษย์ว่าช้างเผือกนั้นเป็นสัตว์ที่แสนรู้ น่ารัก น่าเอ็นดู ทั้งน่าสงสารด้วย
พร้อมกันนั้น หลวงปู่มั่นก็ชมหลวงปู่ตื้อ ผู้ศิษย์ว่า “ท่านตื้อก็เก่งมาก สามารถพูดให้ช้างตัวใหญ่เก็บอาวุธร้าย แล้วรีบหลีกทางให้ แล้วพวกเราไม่กำหนดดูใจของมันดูบ้าง ช้างตัวนั้น เวลาท่านตื้อพูดขอทางจากมันจบลง ทีแรกมันก็ตกใจ รีบหันหน้ามาทางเราโดยเร็ว มันคงคิดว่าเป็นศัตรูของมัน แต่พอมันเห็นถนัดเป็นผ้ากาสาวพัสตร์ครองอยู่ ก็รู้ทันทีว่า เป็นเพศที่สงบเย็น ไม่เบียดเบียนใคร และเชื่อใจได้ก็หลีกทางให้แต่โดยดี”
หมายเหตุ : ในประวัติหลวงปู่มั่น บอกว่าหลวงปู่ขาวกับท่านพระมหาทองสุกร่วมเดินทาง ก็ขอให้ผู้อ่านพิจารณาเองก็แล้วกัน
๒๘
หลวงปู่ถูกกับอากาศทางภาคเหนือ
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ได้ชื่อว่าเป็นศิษย์เอกของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายกรรมฐาน
ในช่วงที่พระอาจารย์ใหญ่พำนักอยู่ในภาคเหนือยาวนานถึง ๑๒ ปี ได้ออกท่องธุดงค์เพื่อบำเพ็ญเพียรและเผยแพร่พระธรรมกรรมฐานโปรดญาติโยมในถิ่นต่างๆ หลวงปู่ตื้อเป็นศิษย์ผู้หนึ่งที่ได้ติดตามไปแทบทุกหนทุกแห่ง ถือเป็นศิษย์ที่พระอาจารย์ใหญ่ ให้ความเชื่อถือมากที่สุดองค์หนึ่ง
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต ได้เดินทางกลับอิสาน ตามคำอาราธนาของ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี เพื่อให้กลับไปเผยแพร่อบรมกรรมฐานแก่สานุศิษย์และประชาชนชาวอิสาน ที่รอคอยพระอาจารย์ใหญ่มาเป็นเวลานาน
เมื่อหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และคณะศิษย์ กลับไปภาคอิสานแล้ว ทางหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม และหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ก็ยังพำนักอยู่ในภาคเหนือต่อไป
ทั้งหลวงปู่ตื้อ และหลวงปู่แหวน ท่านชอบอากาศทางภาคเหนือท่านว่าเย็นสบายดี ถูกอัธยาศัยและธาตุขันธ์ของท่าน ภูมิประเทศก็เป็นป่าเขา สงบสงัด เหมาะที่จะบำเพ็ญเพียรแสวงหาความสงบทางใจ
๒๙
สร้างวัดหลายแห่งในภาคเหนือ
หลังจากหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์ใหญ่ กลับไปภาคอิสานคืนแล้ว หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ยังคงพำนักปฏิบัติธรรมและโปรดญาติโยมอยู่ทางภาคเหนือต่อไป
หลวงปู่ตื้อ ได้สร้างวัดกรรมฐานขึ้นหลายแห่ง ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักดีก็ได้แก่ วัดป่าดาราภิรมย์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบัน หลวงพ่อพระพุทธพจนวราภรณ์ เป็นเจ้าอาวาส (ส่วนใหญ่ท่านอยู่ประจำที่วัดเจดีย์หลวง ในตัวเมืองเชียงใหม่)
หมายเหตุ : พระพุทธพจนวราภรณ์ (จันทร์ กุสโล) ได้มรณภาพลงอย่างสงบด้วยโรคถุงลมโป่งพอง และโรคปอด เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๑ เวลาประมาณ ๑๘.๓๕ นาฬิกา หลังจากรักษาอาการอาพาธมาเป็นเวลานาน สิริอายุรวม ๙๑ ปี พรรษา ๗๑ - สาวิกาน้อย
อีกวัดหนึ่งที่หลวงปู่ตื้อท่านพักจำพรรษาอยู่เป็นเวลานาน ชื่อแต่เดิมว่า วัดป่าสามัคคีธรรม สมัยนั้นเป็นเพียงสำนักสงฆ์ ยังมิได้มีชื่อเป็นทางการ ครูบาอาอาจารย์บางท่านเรียกว่า วัดธรรมสามัคคี
หลังจากหลวงปู่ตื้อ ท่านหยุดการเดินธุดงค์แล้ว ก็มาพักประจำที่วัดแห่งนี้ เพราะเป็นวัดที่สงบ มีความวิเวก
เมื่อหลวงปู่ตื้อท่านกลับไปอยู่บ้านเกิดที่จังหวัดนครพนมแล้วประชาชนทั่วไปก็เรียกวัดป่าสามัคคีธรรม เป็นวัดป่าหลวงตาตื้อ อจลธมฺโม เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่หลวงปู่ที่พำนักอยู่ภาคเหนือเป็นเวลานาน
ต่อมาภายหลังได้มีการขออนุญาตตั้งวัดถูกต้องและเปลี่ยนชื่อเป็นทางการว่า “วัดป่าอาจารย์ตื้อ” ตั้งอยู่ที่หมู่ ๗ ตำบลสันมหาพน อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี หลวงปู่สังข์ สงฺกิจฺโจ พระหลานชายของท่านเป็นเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน
ผู้เขียนได้พาคณะไปทอดผ้าป่า ถวายเทียนพรรษา และผ้าอาบน้ำฝน ในวันอาสาฬหบูชา วันเสาร์ที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๕ ได้มีความประทับใจ และมีแรงบันดาลใจในทางธรรมหลายอย่าง จึงได้เกิดหนังสือหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม เล่มนี้ขึ้นมา
๓๐
สำรวจภายในถ้ำเชียงดาว
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ท่านออกท่องธุดงค์กรรมฐานติดต่อกันยาวนานกว่า ๕๐ ปี เรื่องราวของท่านมีมาก แต่ขาดการรวบรวม และจดบันทึกอย่างเป็นหลักฐาน ลูกศิษย์ลูกหาของท่านได้เขียนไว้ในที่ต่างๆ รวมทั้งการเล่าสืบต่อกันมา ในส่วนที่ครูบาอาจารย์รุ่นหลังได้รู้ได้เห็น
ดังนั้น การนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินธุดงค์ของท่านในลำดับต่อนี้ไป จึงไม่ได้จัดเรียงตามลำดับก่อนหลัง รวมทั้งการระบุวันและสถานที่จึงไม่สามารถทำได้ชัดเจน คงนำเสนอได้เฉพาะเหตุการณ์และเรื่องราวที่เกิดขึ้นตามที่มีการบอกเล่าสืบต่อกันมาเท่านั้น
มีเหตุการณ์ครั้งหนึ่ง ที่หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ได้ออกธุดงค์เพื่อไปสำรวจภายในถ้ำเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อไปดูสถานที่ว่ามีความเหมาะสมในการปฏิบัติบำเพ็ญเพียรมากน้อยเพียงใด
มูลเหตุสำคัญอีกประการหนึ่ง เกิดจากการชักชวนของพระอาจารย์อินทวัง ที่ต้องการไปเสาะหาแท่นหลวงคำแดง ซึ่งเป็นที่กล่าวขานของคนในแถบถิ่นนั้นว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่อยู่ของชาวลับแล
ถ้ำเชียงดาวเป็นถ้ำที่มีความยาวมาก ภายในสลับซับซ้อน ยังไม่เคยมีใครสามารถเข้าไปตรวจดูภายในถ้ำโดยตลอดได้ เคยมีคนเข้าไปดูได้เพียง ๒-๓ กิโลเมตรเท่านั้น ถ้ำเชียงดาวจึงยังคงเป็นสถานที่ลึกลับอยู่แม้กระทั่งปัจจุบัน ถึงจะได้เปิดให้บริการแก่ผู้เข้าชม แต่ก็ทำไต้เพียงบางส่วนเท่านั้น ยังมีส่วนที่ยังเข้าไม่ถึงอีกมากมาย
หลวงปู่ตื้อ กับพระอาจารย์อินทวัง เข้าไปเพียงสององค์ มีการจัดเสบียงเดินทางจำพวกข้าวตู ข้าวแห้ง และเตรียมใบฉำฉาเพื่อโปรยเวลาเข้าถ้ำป้องกันการหลงทาง โดยเฉพาะขาออกจะได้ออกมาตามทางที่โปรยใบฉำฉาไว้ ท่านพระอาจารย์อินทวัง เป็นหมองู สามารถจับงู สะกดงู ป้องกันงูกัด และเป่าแก้พิษงูได้อย่างชำนาญ แต่ถ้าเป็นเรื่องผีสางนางไม้แล้ว หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม จะเป็นผู้รับมือทั้งหมด ซึ่งเป็นที่เลื่องลือทั่วไปว่า หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม นั้น บรรดาผีสางนางไม้กลัวท่านเป็นที่สุด
เมื่อทุกอย่างพร้อม พระอาจารย์ทั้งสองก็ออกเดินทาง ภายในถ้ำนั้นมืดมาก พอเข้าถ้ำก็เริ่มโรยใบฉำฉาไปทีละใบสองใบไปเรื่อยๆ ท่านต้องระวังเรื่องงูเป็นพิเศษ เพราะในถ้ำมีงูชนิดต่างๆ ทั้งเล็กและใหญ่อาศัยอยู่จำนวนมาก
หลวงปู่ตื้อ เล่าว่า พอเข้าไปก็พบงูทันที แสดงว่ามีงูมากทีเดียวที่อยู่อาศัยในถ้ำ ตัวใหญ่ๆ ขนาดต้นเสาก็มี พระอาจารย์อินทวังบอกว่าไม่ต้องกลัว เดินข้ามไปเลย อย่าไปถูกต้องตัวมัน
ในระหว่างเดินทางวันหนึ่ง ได้ไปพบลำน้ำไหลผ่านลัดเลาะไปตามถ้ำ ทางที่จะเดินต่อไปก็ต้องลุยน้ำไป เมื่อพิจารณาสภาพโดยรอบแล้วเห็นว่าน้ำไม่ลึก จึงพากันลุยข้ามไปอีกด้านหนึ่ง
เมื่อเดินต่อไปพบว่า มีอยู่ช่วงหนึ่ง ถ้าไม่สังเกตและจดจำให้ดีก็จะหลงทางได้ เพราะเดินไปตั้งนานแล้วก็วนกลับมาที่เดิม
ในการเดินทางต้องผ่านลำน้ำถึง ๗ แห่ง ทั้งสององค์เดินต่อไปจนถึงต้นโพธิ์ ในระหว่างนั้นใบฉำฉาก็หมด เสบียงก็หมด แต่ท่านก็เดินกันต่อไปอีก จนกระทั่งแน่ใจว่าไม่พบ แท่นหลวงคำแดง ตามที่เล่าลือกันก็พากันเดินกลับออกมาตามทางเดิม
รวมเวลาเดินทางทั้งไปและกลับ ๗ วัน ๗ คืน พอดี บางครั้งต้องเดินติดต่อกันไปเป็นเวลานาน โดยไม่รู้ว่าเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน
หลวงปู่ตื้อ บอกว่า ภายในถ้ำเชียงดาวนั้นมืดมาก ไม่เหมาะที่จะบำเพ็ญภาวนา ไม่เหมือนกับถ้ำพระปัจเจกพุทธเจ้าที่เคยไปสำรวจมาแล้ว
๓๑
เทพยดาผู้บำเพ็ญบารมี
ในครั้งที่หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ได้ธุดงค์วิเวกไปทางอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ท่านได้พักบำเพ็ญเพียรอยู่ในสถานที่สัปปายะแห่งหนึ่ง
มีอยู่คืนหนึ่ง ขณะที่หลวงปู่กำลังเดินจงกรมอันเป็นกิจวัตรปกติในการบำเพ็ญของท่าน ปรากฏร่างของเทพยดาตนหนึ่งมาในรูปของชีปะขาว เหาะลอยมาใกล้ทางเดินจงกรมของหลวงปู่
เทพยดาตนนั้นได้สำแดงตนลอยสูงขึ้นไป แล้วหยุดยืนนิ่งอยู่บนยอดไม้ เหนือทางเดินจงกรมขึ้นไป ลอยขึ้นไปยืนนิ่งอยู่เฉยๆ โดยไม่ได้ทำอะไร
หลวงปู่ยังคงเดินจงกรมอยู่ตามปกติ เทพยดาก็ยังคงสงบนิ่งอยู่ ณ ที่นั้น
หลวงปู่จึงได้กำหนดจิตถามขึ้นว่า “ท่านเทพยดาผู้มีศีลธรรมอันดีงาม ทำไมท่านจึงไปยืนอยู่บนที่สูง คืออยู่สูงมากกว่าอาตมาผู้เป็นศิษย์ของพระตถาคตเจ้า ผู้กำลังปฏิบัติธรรมอยู่เล่า ทำไม่ท่านไม่ลงมากราบไหว้แสดงความเคารพเล่า?”
เทพยดาตนนั้นยังยืนนิ่งเฉย ไม่แสดงกิริยาอาการอย่างใด หลวงปู่จึงกำหนดถามอีกว่า “ท่านเทพยดาผู้มีศีลาจารวัตรอันงาม ท่านเป็นฤๅษีหรือ หรือว่าเป็นอรหันต์”
เทพยดาตนนั้นแสดงอาการกางแขนออก ทำอาการบุ้ยใบ้มาทางท่าน หลวงปู่กำหนดจิตดูจึงรู้ว่าเทพยดาตนนี้ คงจะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า จึงได้กล่าวถามต่อไปว่า
“ท่านเทพยดาผู้เจริญ ท่านเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าหรืออย่างไรข้าพเจ้าขออาราธนาท่านมาสนทนาด้วย”
เทพยดาตนนั้นไม่ตอบ แต่ได้แสดงออกทางใจให้หลวงปู่รู้ได้แล้วเทพยดาก็แบมือออกให้หลวงปู่ได้เห็นรูปดอกบัวปรากฏอยู่ที่ฝ่ามือทั้งสองข้าง เทพยดาแสดงอาการเขินอายเล็กน้อย แล้วก็เหาะหนีไป
เมื่อมีโอกาส หลวงปู่ตื้อ ได้กราบเรียนถามเรื่องนี้กับพระอาจารย์ใหญ่ - หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
หลวงปู่มั่นได้ให้คำอธิบายว่า เทพยดาที่เห็นนั้นเป็นวิญญาณของผู้กำลังสร้างสมบารมี เพื่อความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าอยู่
นอกจากนี้ หลวงปู่มั่น ยังกล่าวถึงเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับผีสางเทวดา นางไม้ ที่หลวงปู่ตื้อได้พบเห็นในที่ต่างๆ อีก โดยหลวงปู่มั่นได้รับรองว่าเป็นเรื่องจริง และมีจริง
สำหรับเทพยดาตนที่มีรูปดอกบัวบนฝ่ามือนั้นเป็นผู้ที่กำลังสร้างบารมีเพื่อความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า และอีกไม่นานก็จะได้สำเร็จ
หลวงปู่มั่นบอกต่อไปว่า เรื่องเช่นนี้ นานๆ จึงจะได้พบสักครั้งหนึ่ง เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เทพยดาบางตนก็มีศีลธรรมอันดีงามเพราะเคยประพฤติปฏิบัติธรรมมาก่อนหลายชาติแล้ว เมื่อละจากร่างอันเน่าเหม็นของมนุษย์แล้วก็ยังประพฤติธรรมอยู่ เพราะมีสันดานที่เป็นศีลเป็นธรรมแล้ว เทพยดาตนที่มีดอกบัวบนฝ่ามือนี้ อีกไม่กี่ชาติก็จะได้สำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
๓๒
วิญญาณทำฤทธิ์กับหลวงปู่
เกี่ยวกับเรื่องเทพยดา วิญญาณ ภูตผีปีศาจต่างๆ นั้น หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ท่านได้ประสบมามากหลายรูปแบบ จนได้รับการกล่าวขานว่าหลวงปู่ตื้อท่านเป็นพระกรรมฐานที่ผจญกับสิ่งเร้นลับต่างๆ มามากที่สุดและสามารถเอาชนะได้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นอยู่ในพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ เป็นที่ยิ่ง ท่านอุทิศตนให้กับการปฏิบัติความเพียรอย่างแท้จริง
หลวงปู่ตื้อ เคยเดินธุดงค์ไปแถวจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งถือว่าเป็นจังหวัดที่อยู่ห่างไกล และเส้นทางติดต่อทุรกันดารมากที่สุด
หลวงปู่ได้เล่าให้สานุศิษย์ฟังว่า ท่านเดินธุดงค์ด้วยเท้าจากเชียงใหม่ ไปแม่ฮ่องสอนใช้เวลาหลายวันจึงถึง เมื่อเจอสถานที่เหมาะก็พักบำเพ็ญภาวนา ทำความเพียรไปเรื่อยๆ ได้ปักกลดภาวนาหลายคืน ที่นั่นอากาศดี สถานที่ก็ดี มีความสงบเงียบ ห่างไกลจากผู้คน การภาวนาเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดีมาก
มีวิญญาณพวกเทพยดา วิญญาณ โอปปาติกะ ทั้งหลายมาปรากฏตัว และทดสอบลองดีกับท่านอยู่บ่อยครั้งเหมือนกัน
ในช่วงที่ท่านไปพำนักปักกลดบริเวณถ้ำผาบ่อง ในคืนแรกได้มีวิญญาณมาลองดี ในคืนนั้นท่านกำลังนั่งสมาธิภาวนาอยู่ภายในมุ้งกลด ได้เกิดมีแสงเป็นสายรุ้งสีต่างๆ สว่างจ้ามาครอบมุ้งกลดของท่าน
หลวงปู่ บอกว่า ระยะนั้นรู้สึกกว่ากำลังของมันแผ่ปกคลุมบีบเข้าไปถึงจิตใจ มีทั้งหายใจฝืดและหายใจไม่ออก ลมมันตันไปหมด ร่างกายธาตุขันธ์อ่อนลงอย่างเห็นได้ชัด
จิตของหลวงปู่แนบแน่นอยู่กับการภาวนาอย่างไม่ลดละ จิตมั่นคงอยู่กับ พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ อยู่ไม่นานเท่าไร แสงประกายสายรุ้งนั้นก็ค่อยคลายความสว่างจ้าลง แล้วก็หายไป
สักครู่ต่อมา ก็ปรากฏเป็นนิ้วมือขนาดใหญ่มาก เทียบว่าเท่าลำตาลก็น่าจะได้ มาครอบลงบนกลดธุดงค์อีก ตอนนี้ท่านว่า ถึงกับรู้สึกว่าหัวใจสั่นหวิวๆ เกิดอาการกลัวขึ้นมาบ้าง เกือบจะหยุดทำความเพียรอยู่เหมือนกัน แล้วท่านก็ตั้งมั่นทำความเพียรต่อ ตั้งใจมั่นขอยอมตาย ใจมั่นอยู่กับคำบริกรรม พุทโธๆ จะตายขอให้ตายด้วยศีลด้วยธรรม แล้วใจค่อยสบายขึ้น หายใจได้คล่อง นิ้วมือยักษ์นั้นก็หายไป
อีกสักครู่ก็ปรากฏร่างเป็นคนตัวดำๆ สูงใหญ่ราว ๑๐ ศอกแต่งตัวเหมือนพระราชา เดินเข้ามาหยุดอยู่ใกล้กลดยืนนิ่งอยู่อย่างนั้น
หลวงปู่จึงถามว่า “ใครอยู่ที่นั่น?”
ไม่มีเสียงตอบ ร่างนั้นยืนนิ่งเฉยอยู่ ครู่เดียวก็หายไป สักพักก็กลับมาอีก คราวนี้เปลี่ยนเป็นชีปะขาวอายุราว ๒๗-๒๘ ปี ดูท่าทางยังหนุ่มอยู่มาก
คราวนี้เขามาด้วยอาการสงบเสงี่ยมเรียบร้อย เมื่อมาใกล้ก็คุกเข่าลง กราบด้วยความเคารพ ดูท่าทางเลื่อมใสหลวงปู่อย่างแท้จริง เมื่อกราบไหว้แล้วก็ลงนั่งพับเพียบเรียบร้อย
หลวงปู่ถามว่า “ท่านเป็นใคร? ท่านมาจากไหน?”
ชีปะขาวหนุ่มตอบว่า “มาหาท่านพระอาจารย์”
หลวงปู่ได้ถามต่อไปว่า “ใครเป็นผู้ทำสายรุ้งครอบมุ้งกลดของเรา? ใครเป็นผู้ทำนิ้วมือใหญ่ครอบมุ้งกลดของเรา? และใครแสดงตนเป็นพระราชา?
เขายอมรับว่า “ทั้งหมดนี้ เราเป็นผู้ทำ”
“ทำเพื่อประโยชน์อันใด” หลวงปู่ซักต่อ
“ทำเพื่อทดลองจิตใจของท่านเล่นเฉยๆ” เขาตอบด้วยสำเนียงชาวเหนือ
หลวงปู่จึงพูดสั่งสอนเขาว่า “การที่จะทดลองลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าให้มีความกลัวนั้น ไม่มีผลเสียแล้ว เพราะสมณะอย่างเราไม่กลัวอะไร จะตายก็ไม่เสียดายอะไร เพราะว่าเราได้นับถือและมอบกายถวายชีวิตให้พระพุทธเจ้า รู้จักการเสียสละ การทำบุญสร้างบารมี แม้จะตายก็ไม่หลงตาย จะอยู่หรือจะตายก็เป็นประโยชน์ทั้งนั้นจะไม่เป็นผู้หลงตายเลย
ไม่ว่าเทพยดา มนุษย์ สัตว์นรก ล้วนรักเคารพต่อพระพุทธเจ้าทั้งนั้น และล้วนแต่รักนับถือต่อบุคคลผู้ปฏิบัติธรรมทั้งนั้น นอกจากวิญญาณที่หลงตายเท่านั้นที่จะมาหลอกกันให้ยืดยาว เสียเวลาในการสร้างบุญบารมี”
ในที่สุด ดวงวิญญาณนั้นก็กราบขอขมาท่าน ขอรับศีลรับพรจากท่านด้วยอาการเคารพนอบน้อม
๓๓
อดีตพระราชาเมืองตองฮู้
วิญญาณที่มาในรูปชีปะขาวหนุ่มได้เล่าเรื่องราวในอดีตของตนถวายหลวงปู่ว่า
“แต่ก่อนข้าพเจ้าเป็นพระราชาอยู่เมืองตองฮู้ ระยะแรกได้เมินเฉยต่อพระธรรมคำสอน เพราะโลภมากในทรัพย์สมบัติ แต่ระยะหลังๆ ตอนบั้นปลายของชีวิตได้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า
พระพุทธองค์เคยเสด็จมาโปรด ข้าพเจ้าก็ได้รับศีลรับพรจากท่าน ได้กราบทูลขอให้พระพุทธองค์ได้ประทับรอยพระบาทไว้เพื่อเป็นที่สักการบูชาแก่ชาวเมือง
พระองค์ได้ทรงประทับรอยพระพุทธบาทไว้อยู่ห่างจากที่นี่ไม่ไกล อยู่กลางแม่น้ำที่พนังหินกลางแม่น้ำ แม่น้ำนี้ลึกท่วมหลังช้างเท่านั้น ไม่ลึกมากเท่าไรแม่น้ำนี้อยู่ใกล้เมืองประดู่ขาว
ปัจจุบันแม่น้ำนี้เรียกชื่อว่า แม่น้ำปอน และเมืองประดู่ขาวเปลี่ยนเป็น เมืองรัว”
วิญญาณนั้นบอกย้ำอีกว่า “รอยพระพุทธบาทนั้นอยู่กลางแม่น้ำนั้น นิมนต์ท่านไปดูและนมัสการด้วย ถ้าท่านนับถือพระพุทธเจ้าจริงๆ แล้วก็จะบอกหนทางเดินให้ แต่ท่านอย่าลืมว่าตรงปากทางเข้าไปจะถึงแม่น้ำนั้น จะมีถ้ำอยู่ถ้ำหนึ่ง เมื่อเข้าไปในถ้ำนั้นจะเห็นหินยาวรีมีลักษณะคล้ายงู แต่เป็นก้อนหินธรรมดา มนุษย์ทั่วไปเข้าใจว่าเป็นงูเพราะมีแต่ความกลัวเป็นใหญ่
ให้ท่านเดินข้ามไปหรือเหยียบไปเลยก็ได้ และภายใต้หินก้อนนั้นมีไหเงินและทองคำอยู่ ๔ ไห ถ้าหากท่านพระอาจารย์จะเอาไปเพื่อเป็นการเมตตาต่อข้าพเจ้าแล้วก็ขอน้อมถวายท่านเลย”
เมื่อพูดเพียงนี้แล้ว ชีปะขาวหนุ่มนั้นก็กราบลาแล้วก็หายไป
๓๔
เดินทางไปดูรอยพระพุทธบาท
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ได้พักภาวนาอยู่ที่นั่นเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ก็ออกเดินทางเพื่อไปดูรอยพระพุทธบาทตามที่วิญญาณอดีตพระราชาเมืองตองฮู้ ได้บอกไว้เมื่อคืนก่อน
หลวงปู่เล่าว่า ท่านใช้เวลาเดินทางตามที่วิญญาณบอก ๑ วันเต็มๆ ก็ไปถึงปากถ้ำทางเข้าไปเพื่อดูรอยพระพุทธบาทนั้น ท่านได้พบก้อนหินยาวเหมือนรูปงูจริงๆ ซึ่งมันก็เป็นก้อนหินธรรมดานั่นเอง
เดินต่อไปเรื่อยๆ จนถึงริมแม่น้ำ ก็มองเห็นหินก้อนใหญ่เหมือนภูเขาทั้งลูกตั้งอยู่กลางแม่น้ำเลย และก็ได้พบรอยพระพุทธบาทตามคำบอกเล่าจริงๆ
รอยพระพุทธบาทนี้ยาวประมาณ ๘ ศอก กว้าง ๖ ศอก สูง ๔ ศอก โดยประมาณเห็นจะได้
เมื่อพิจารณาแล้ว เห็นว่าเป็นรอยพระพุทธบาทที่พระพุทธองค์ประทับไว้จริงๆ หลวงปู่จึงได้กระทำการสักการะ แล้วก็จากสถานที่นั้นไป
ขณะที่หลวงปู่ตื้ออยู่ปฏิบัติภาวนาในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตามดอยตามป่าต่างๆ นั้น ท่านมักจะเจอกับพวกกายทิพย์ และมีเหตุการณ์แปลกๆ มารบกวนการบำเพ็ญภาวนาของท่านเสมอ
หลวงปู่ได้ใช้ความอดทนอดกลั้นเอาชนะด้วยการบำเพ็ญภาวนาไปทุกครั้ง
พวกวิญญาณหรือกายทิพย์ทั้งหลายเหล่านี้ ส่วนมากมักจะเป็นพวกที่อยู่เฝ้าสมบัติมีค่าต่างๆ เมื่อได้ทดสอบความมั่นคงทางจิตใจของหลวงปู่แล้ว วิญญาณเหล่านั้นก็จะบอกถวายสมบัติที่พวกเขารักษานั้นให้ แต่หลวงปู่ก็ไม่เคยสนใจ คงมุ่งหน้าแต่การปฏิบัติพระธรรมกรรมฐานเพียงอย่างเดียว
๓๕
พุทโธช่วยให้พ้นภัยอันตรายได้
ลูกศิษย์ลูกหาต่างก็เชื่อมั่นว่า นับตั้งแต่หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ท่านบวชมาในพระพุทธศาสนา ท่านก็ได้ดำเนินปฏิปทาในการปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด ไม่เคยรู้สึกท้อแท้ หลวงปู่ท่านบอกว่า “จงสละไปเถิดวัตถุธรรม เพื่อความดีคือพระธรรม อันเป็นความดีที่สุดของชีวิต”
จากเรื่องราวชีวิตของหลวงปู่ จะเห็นได้ว่า นับตั้งแต่ท่านได้ออกธุดงค์ครั้งแรกเป็นต้นมา ก็จะพบเจ้าที่เจ้าทางและวิญญาณทั้งหลายมาทดสอบความเข้มแข็งทางจิตใจ เพื่อจะเอาชนะท่านเสมอ แต่ด้วยวิสัยของลูกศิษย์พระตถาคตแล้ว ท่านไม่เคยท้อแท้ หรือลดละความพยายามในการปฏิบัติธรรมเลย
การท่องธุดงค์ของหลวงปู่ มักจะเป็นการผจญภัยใกล้ต่ออันตรายในชีวิตเสมอ นับเป็นปกติที่หลวงปู่ไม่ได้ฉันอาหารติดต่อกันตั้งแต่ ๗-๑๕ วัน เพราะต้องท่องเที่ยวอยู่ในป่าเขาที่ไม่พบผู้คนเลย ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าหลวงปู่ตื้อและพระธุดงค์ทั้งหลายท่านไม่มีความพึงพอใจในการกระทำเช่นนั้น ท่านเต็มใจทำไปเพื่อความเห็นแจ้งตามแนวทางธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริง
เมื่อเวลาท่องธุดงค์ในป่าเขาที่ห่างบ้านผู้คน ท่านจะต้องนึกเอา พุทโธ เป็นอารมณ์ทำให้เกิดกำลังใจ จิตใจแช่มชื่น ทนต่อความหิวและความกระวนกระวายลงได้
ท่านทั้งหลายยอมสละตาย มอบกายถวายชีวิตเพื่อค้นหาพระธรรม จึงไม่มีอะไรที่จะเป็นอุปสรรคต่อการบำเพ็ญเพียรของท่านเลย ท่านมีใจเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นต่อการค้นหาพระธรรมอย่างแท้จริง
นิสัยของหลวงปู่ตื้อที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ท่านชอบรู้สิ่งต่างๆ ที่เร้นลับ เช่น พวกกายทิพย์ ผีสางเทวดา เปรต และวิญญาณต่างๆ เป็นต้น
หลวงปู่เคยเล่าให้บรรดาศิษย์ฟังเสมอ เกี่ยวกับพวกกายทิพย์นี้ เรื่องที่ท่านบอกเล่าล้วนแต่น่าอัศจรรย์ เพราะเป็นเรื่องที่นอกเหนือที่มนุษย์ธรรมดาสามัญจะรู้ได้ แต่สำหรับผู้สนใจใฝ่รู้ในด้านการปฏิบัติตามแนวทางพระพุทธศาสนาแล้วก็เชื่อมั่นว่าเป็นความจริง
หลวงปู่ตื้อ ท่านยืนยันว่าเรื่องสิ่งเร้นลับต่างๆ เกี่ยวกับภพภูมิที่แตกต่างออกไป เช่น พวกกายทิพย์ เทวดา ผีสางนางไม้ สัตว์นรก และเปรตต่างๆ นั้นเป็นสิ่งที่มีจริง สามารถสัมผัสรู้เห็นได้ ถ้าเรามีการฝึกฝนด้านจิตใจจนมีความละเอียดเพียงพอ
๓๖
ถือเอาเสือเป็นอาจารย์กรรมฐาน
เกี่ยวกับการผจญกับสัตว์ร้ายต่างๆ เช่นเสือ เป็นต้น ซึ่งพระธุดงค์ที่เดินทางในป่าดงในสมัยก่อน มักจะต้องพบเห็นอยู่เสมอ หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ท่านถือว่า เสือเป็นอาจารย์ในการปฏิบัติกรรมฐาน คือมาช่วยสอน ช่วยเตือน ให้พระธุดงค์ไม่ประมาทในการบำเพ็ญเพียรของตน ต้องทำสมาธิภาวนาอย่างไม่ลดละ
หลวงปู่ท่านว่า เสือคือเทพเจ้าที่คอยรักษาเราให้ปลอดภัยจากการเดินธุดงค์ในป่าเขา ไม่ว่าเสือจริงๆ หรือเสือเทพเนรมิต เพราะเสือที่ท่านพบมักแสดงเหมือนกับรู้ภาษาคน
หลวงปู่เล่าว่า “เวลาที่เสือมาหาเราในป่า เราก็เร่งภาวนาให้จิตยึดใน พุทโธ เป็นอารมณ์ ไม่ฟุ้งซ่านรำคาญ ทำให้การปฏิบัติกรรมฐานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี
เช้าขึ้นก็ออกเที่ยวบิณฑบาตตามสมณวิสัย ฉันอาหารบิณฑบาตแล้วก็นั่งสมาธิภาวนา พิจารณาอาการ ๓๒ ของร่างกายที่เราหลงใหลว่าเป็นของสะอาดงดงาม เมื่อรู้สึกง่วงก็เดินจงกรมภาวนา เพื่อป้องกันนิวรณ์มาครอบงำ
สำหรับเวลากลางคืนนั้น บำเพ็ญความเพียรโดยตลอด เวลาพักผ่อนจำวัดมีน้อยมาก ทำกิจวัตรอย่างนี้ไม่เคยขาด ทำอยู่เสมอและทำด้วยความพอใจที่สุด ไม่ได้ห่วงหน้าห่วงหลัง ยึดพุทโธเป็นสรณะตลอด ไม่เคยประมาท”
หลวงปู่ท่านเน้นย้ำว่า “ตราบใดที่จิตของเรายังมีอารมณ์ยึดมั่นอยู่กับพุทโธ เสือนั้นจะไม่ทำอันตรายอะไรเรา ไม่ว่าจะเป็นเสือจริงหรือเสือเทพเนรมิตก็ตาม แต่ถ้าจิตเรามัวแต่รักตัวกลัวตาย จนลืมภาวนาพุทโธ และจิตห่างจากพุทโธคราวใด เสือนั้นก็จะจ้องคอยทำร้ายให้เป็นอันตรายแก่ชีวิตได้
ด้วยเหตุนี้ หลวงปู่ตื้อ ท่านจึงไม่กลัวเสือ ท่านถือว่าเสือเป็นอาจารย์สอนให้เราได้ภาวนา และรู้จักคุณของพุทโธ
หลวงปู่ท่านยังแนะอีกว่า ในเรื่องของภูตผีปีศาจก็ตาม ถ้าหากใครกลัวผี ก็ให้ไปอยู่ภาวนาในป่าช้า จิตจะได้ตื่นกลัว แล้วจะได้ตั้งใจภาวนาตลอดคืนจนจิตเกิดสมาธิและสงบลง ทำให้หายกลัวไปได้
เพราะอานุภาพของพุทโธ และจิตที่เป็นสมาธิ พวกภูตผีต่างๆ จึงไม่สามารถทำอันตรายใดๆ แก่เราได้ และเมื่อเราแผ่เมตตาให้ พวกนั้นก็ยินดีน้อมรับในส่วนบุญ กลายเป็นมิตรกับเราไปเสียอีก
เรื่องราวข้างต้นนี้ หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ได้เมตตาเล่าให้พระเณรฟัง เป็นเหตุการณ์เมื่อครั้งท่านจำพรรษาอยู่ที่พระบาทบัวบก จังหวัดอุดรธานี ก่อนที่จะเดินทางมาบำเพ็ญเพียรที่เชียงใหม่
๓๗
พบกับงูใหญ่ขณะเดินจงกรม
บันทึกเหตุการณ์ส่วนนี้เกิดขึ้นในสมัยที่ หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม บำเพ็ญเพียรอยู่ที่ พระพุทธบาทบัวบก จังหวัดอุดรธานี เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในตอนกลางคืน ขณะที่หลวงปู่กำลังเดินจงกรมอยู่ ปรากฏมีงูใหญ่ตัวหนึ่งเลื้อยออกมาหยุดข้างทางเดินจงกรมของท่าน พอหลวงปู่เดินมาใกล้ งูตัวนั้นก็ชูคอจ้องดูท่านเดินจงกรมไปมา
หลวงปู่เดินไป-กลับบนทางเดินอย่างปกติ แสดงว่าไม่ได้ให้ความสนใจมัน เจ้างูใหญ่ยังคงจ้องมองดูท่านอย่างไม่ลดละ คล้ายจะนึกสงสัยว่า “พระองค์นี้กำลังทำอะไรอยู่ เดินกลับไปกลับมาอยู่ได้ ไม่หันมามองดูเราเลย เราสู้อุตส่าห์มาเยี่ยมถึงที่ ท่านน่าจะต้อนรับพูดจาปราศรัยกับเราบ้าง”
เมื่อเจ้างูใหญ่เห็นหลวงปู่ไม่สนใจ จึงได้เลื่อนเข้ามาติดทางจงกรม แล้วก็ขดตัวซ้อนกันเป็นวง ชูคอจ้องมองมายังหลวงปู่ หลวงปู่ก็ยังเดินตามปกติ ไม่แสดงท่าว่าสนใจมัน แต่ความจริงแล้วท่านก็แอบสังเกตอยู่ในใจว่า เจ้างูใหญ่ตัวนั้นจะทำอะไรต่อไป
เจ้างูใหญ่เห็นหลวงปู่ไม่สนใจและไม่กลัวมัน มันเฝ้าดูอยู่ไม่นานก็คลายขนด แล้วเลื้อยหายเข้าป่า พ้นจากทางเดินจงกรมของท่านไป
๓๘
ผจญเปรตเจ้าที่
ในการเดินจงกรมครั้งเดียวกันที่พระพุทธบาทบัวบก
หลังจากงูใหญ่เลื้อยหายเข้าป่าไปแล้ว ทันใดนั้นเองก็ปรากฏเป็นคนร่างสูงใหญ่ กะว่าสูง ๑๐ วา มายืนกางขาที่ปลายทางจงกรมคล้ายกับจะคร่อมทางเดินไว้ แสดงท่าทางว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในถิ่นนั้น
หลวงปู่ตื้อ ท่านเดินจงกรมตามปกติ แสดงท่าว่าไม่สนใจกับมัน ท่านบอกว่ารู้สึกขนพองสยองเกล้าขึ้นบ้างเล็กน้อย ปรากฏว่าเริ่มมีกลิ่นสาบสางเหม็นขึ้นมา และก็เหม็นมากขึ้นทุกที จนรู้สึกว่าจะทนไม่ไหว ไม่สามารถดับเวทนาตัวนี้ได้
หลวงปู่ได้กำหนดจิตแผ่เมตตาให้มันก็ไม่เป็นผล ได้ออกปากไล่ให้มันหนีไป มันก็ยังทำเฉย แถมยังคงปล่อยกลิ่นสาบสางนั้นเช่นเดิม ท่านพยายามเดินจงกรมไปมา และกำหนดจิตไล่มันอยู่นานพอสมควร ก็ไม่ได้ผล ท่านยังยึดพุทโธอยู่ในอารมณ์ตลอดเวลา ตอนนี้จิตใจท่านไม่หวั่นไหวหรือเกรงกลัวมันเลย
ในที่สุดหลวงปู่ก็หยุดเดิน แล้วพูดขึ้นว่า
“ให้มึงรออยู่ตรงนี้ก่อน เดี๋ยวจะได้ลองดีกัน”
หลวงปู่เดินขึ้นไปบนเพิงที่พัก จุดเทียนไข เอาไปติดที่ปลายไม้เท้าแล้วเดินกลับมาที่ทางเดินจงกรม พูดดังๆ ออกไปว่า “ให้มึงหนีไปเด้อ ถ้าบ่หนีจะเอาไฟจุดดาก (ก้น) มึงเดี๋ยวนี้ละ”
ผีเปรตตนนั้นยังยืนนิ่งเฉย และส่งเสียงหัวเราะเยาะท่าน
หลวงปู่เดินเข้าไปใกล้ แล้วก็พุ่งเทียนเข้าใส่มัน
ได้ผล ผีเปรตตนนั้นกระโจนหายไป แล้วไปปรากฏที่ต้นไม้ใหญ่ซึ่งอยู่ห่างออกไป แต่กลิ่นเหม็นสาบกลับมากขึ้นกว่าเดิม จนหลวงปู่ไม่สามารถข่มใจเดินจงกรมต่อไปได้
หลวงปู่ใช้ไฟเทียนไล่มันต่อไปอีก มันจึงหนีไป ดูท่าว่ามันจะหายไปแล้ว หลวงปู่จึงเข้าทางเดินจงกรมต่อไป พอได้เวลาพอสมควรท่านจึงหยุดพักการเดินจงกรม แล้วนั่งสมาธิภาวนาต่อไป
๓๙
โดนเปรตแกล้ง
เมื่อหลวงปู่หลับตานั่งสมาธิได้ประมาณครึ่งชั่วโมงเท่านั้น ท่านรู้สึกว่ามีใครบางคนมาเป่าลมเข้าไปในหูขวา ท่านรู้สึกสะดุ้งเล็กน้อย แล้วมันก็กลับมาเป่าทางหูซ้าย ท่านพยายามข่มใจนั่งสมาธิต่อไปแผ่เมตตาให้ก็ไม่เป็นผล มันยังคงรบกวนอยู่นั่นเอง
หลวงปู่ลืมตาขึ้น เอ่ยปากขับไล่มัน มันก็หัวเราะชอบใจแล้วก็หนีไป
หลวงปู่นั่งสมาธิต่อ ไม่นานมันก็กลับมาอีก แกล้งเป่าลมเข้าหูท่าน ทำล้อเล่นเช่นเดิม พอเอ่ยปากไล่ มันก็หนีไป ไม่นานมันก็กลับมาอีก ทำอยู่เช่นนั้น
หลวงปู่คิดอุบายที่จะขับไล่ โดยจะเอาน้ำมาสาดมัน ท่านลุกจากที่จะไปหยิบขันเพื่อตักน้ำ ปรากฏว่าไม่มีขันในที่ ที่หลวงปู่วางไว้ คิดว่าผีมันคงเอาไปซ่อน มันหัวเราะเยาะแบบรู้ทัน
หลวงปู่คิดจะเอาไม้ขีดมาเผาหัวมัน แต่ก็คว้าหากลักไม้ขีดไม่เจอมันเอาไปซ่อนอีก ดูมันเล่นตลกกับท่าน ท่านคิดจะทำอะไรรู้สึกว่ามันจะรู้ทันไปหมด เจ้าผีเปรตยิ่งหัวเราะได้ใจใหญ่
หลวงปู่หมดหนทางจะจัดการกับผีเปรตตนนั้น ท่านจึงดึงมุ้งกลดลงกาง แล้วนั่งภาวนาในมุ้งกลดโดยไม่ยอมนอนเลยตลอดคืน ท่านทำสมาธิไปจนได้อรุณวันใหม่ เจ้าผีเปรตตนนั้นจึงหนีขึ้นไปบนเขา แล้วส่งเสียงร้องบอกท่านว่า “เรายอมแพ้ท่านแล้ว !”
๔๐
เข้ากราบเรียนถามหลวงปู่มั่น
ถึงตอนเช้า หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ก็เดินไปหาหมู่คณะที่อยู่ห่างออกไป ซึ่งมีหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์ใหญ่เป็นประธานอยู่ ณ ที่นั้นด้วย
พอหลวงปู่ตื้อ เข้าไปถึง หลวงปู่มั่นก็กล่าวทักว่า “ท่านตื้อ เมื่อคืนนี้คุณทำอะไรอยู่?”
หลวงปู่ตื้อกราบเรียนว่า “กระผมรบกับผีขอรับ...กระผมทำอย่างไร เจ้าผีตนนั้นก็ไม่หนี จนได้อรุณ สว่างขึ้นเจ้าผีตนนั้นจึงขึ้นเขาไป”
หลวงปู่มั่นพูดขึ้นว่า “ดีแล้วท่านตื้อ ผีมันปลุกเราให้ภาวนา”
จากนั้นหลวงปู่มั่น หลวงปู่ตื้อ และพระเณรทุกองค์ก็แยกย้ายออกเที่ยวบิณฑบาตตามสมณกิจ เมื่อฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ต่างองค์ต่างก็แยกย้ายไปบำเพ็ญเพียรยังสถานที่ของตน
หลวงปู่ตื้อได้เล่าให้ลูกศิษย์ฟังในภายหลังว่า “ผีตนนั้นเป็นผีเจ้าที่ที่ยิ่งใหญ่จริงๆ เราชนะมันได้จึงไปรอด แต่ถ้าเราเอาชนะมันไม่ได้ ก็คงจะลำบาก ต่อจากนั้นเจ้าผีก็ไม่ปรากฏให้เห็นอีกเลย หากแพ้มันแล้ว มันคงจะมารบกวนทุกคืน
ในเหตุการณ์เช่นนั้น ต้องอาศัยความอดทน อดกลั้นเป็นที่สุด จะท้อถอยไม่ได้เลย หายใจเข้าออกก็ต้องมีพุทโธเป็นประจำ ขาดไม่ได้ คำว่าพุทโธนี้เอง ผีกลัวเกรงมากที่สุด”
๔๑
อาจารย์เสือที่บ้านภูดิน
ในสมัยที่หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ท่องธุดงค์อยู่ทางฝั่งประเทศลาว มีช่วงหนึ่งได้พักปักกลดอยู่ที่บ้านภูดิน เพียงคืนแรกที่หลวงปู่ไปถึง ได้ยินเสียงเสือใหญ่ลายพาดกลอนมาร้องอยู่ใกล้ๆ บริเวณที่ท่านปักกลด และทราบจากชาวบ้านว่า เสือตัวนั้นเพิ่งฆ่าคนตายมาไม่นาน จัดเป็นเสือที่ดุร้ายที่ชาวบ้านหวาดกลัว
ในคืนนั้น ทั้งชาวบ้าน รวมทั้งวัว ควาย ต่างพากันตระหนกกลัว ต่างเฝ้าคอยระวังตลอดคืน ไม่กล้าหลับนอน
ชาวบ้านได้มาบอกให้หลวงปู่ระมัดระวังตัว เพราะกลัวเสือจะมาทำร้ายท่าน ด้วยท่านปักกลดอยู่องค์เดียว ห่างไกลหมู่บ้านคน
หลวงปู่ไม่ได้แสดงอาการวิตกกังวลให้เห็น ท่านพูดกับโยมว่า “อาจารย์เสือมาช่วยสอนกรรมฐานให้หรือ?”
หลวงปู่ท่านบอกว่า ท่านเองก็ไม่ประมาท คอยระมัดระวังเช่นกัน แต่จะไปแสดงอาการกลัวหรือกังวลมากก็ไม่ได้ ท่านต้องหนักแน่นเพราะต้องเป็นที่พึ่งทางใจให้ชาวบ้านได้
เสียงเสือร้องรอบๆ บริเวณที่ท่านปักกลดตั้งแต่หัวค่ำ หลวงปู่นั่งสมาธิภาวนาอยู่ภายในตลอด ไม่ได้นึกหวั่นไหวเลย พอตกดึกเสียงเสือก็เงียบหายไป ไม่มีอะไรเกิดขึ้น จิตท่านสงบแนบแน่นอยู่ในสมาธิไปจนถึงเวลาไก่ขันต้น ก็คงประมาณตี ๓ หรือ ตี ๔ เกือบจะแจ้งแล้ว
๔๒
วิญญาณพระอาจารย์คำบ้อมาหา
ในคืนนั้น หลวงปู่นั่งสมาธิภาวนาอยู่ในกลดไปจนได้ยินเสียงไก่ขันครั้งแรก ประมาณตี ๓-๔ น่าจะได้ ได้มีวิญญาณของพระเข้าหาหลวงปู่ ในสมาธิบอกว่าชื่อ พระอาจารย์คำบ้อ มาบอกท่านว่า
“ท่านหลวงทหาร และหลวงชา เอาของมาฝากไว้ที่ใต้ต้นค้อเมื่อครั้งสมัยเมืองเวียงจันทน์แตก ท่านพระอาจารย์จะเอาไปก็ได้ แต่ก่อนจะเอาไป ให้สวดมงคลสูตรเสียก่อน และไม่ต้องมีเครื่องบูชาอะไรหรอก...”
วิญญาณพระอาจารย์คำบ้อ ได้บอกสถานที่ซ่อนทรัพย์ให้และแนะนำว่า
“เมื่อท่านเดินไปจากที่นี้ถึงต้นค้อแล้ว ให้ยกเอาหินที่วางซ้อนกัน ๓ ก้อนออก แล้วขุดลึกลงไปประมาณ ๓ ศอก เท่านั้นก็จะเจอ ในนั้นมีพระเงินและพระทองคำหลายองค์ เพราะในขณะนั้นท่านหลวงทหาร และหลวงชา ได้นำมาฝากไว้ แล้วไม่รู้ว่าท่านทั้งสองหายไปไหน และเจ้าปู่เอง (พระอาจารย์คำบ้อ) ก็จะไปที่อื่นแล้ว ต่อจากนี้จะไม่มีคนเฝ้ารักษาแล้ว”
หลวงปู่ตื้อท่านรับทราบเฉยๆ ไม่ได้โต้ตอบแต่อย่างใด สักครู่หนึ่งวิญญาณของพระอาจารย์คำบ้อก็หายไป
๔๓
วิญญาณชาวเผ่ากุยก่อมองกะเร
อีกครั้งหนึ่งที่หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม บำเพ็ญเพียรอยู่ที่บ้านภูดิน ในคืนหนึ่งได้ปรากฏนิมิตเป็นผู้ชายร่างสูงใหญ่และตัวดำมาก ท่านว่า ดำยิ่งกว่าถ่านไฟเสียอีก ได้มาปรากฏอยู่ข้างหน้าท่าน แล้วก็พูดว่าอย่างไรก็ฟังไม่ชัด
หลวงปู่ได้ถามกลับไปว่า “เจ้าเป็นชาติอะไร?”
เขาตอบสั้นๆ ว่า “เป็นเผ่ากุยก่อมองกะเร”
หลวงปู่ไม่เข้าใจ จึงถามไปอีกว่า “เป็นเทวดาหรือ?” เขาก็ตอกย้ำคำเดิม ฟังไม่ได้ความว่าเป็นชาติอะไรกันแน่ พูดจากันไม่รู้เรื่อง หลวงปู่จึงบอกให้นั่งลงและกราบพระ
ผีตนนั้นได้แต่ยิ้ม ไม่ยอมไหว้พระ
หลวงปู่จึงพูดว่า “ถ้าไม่ไหว้พระก็จงหนีไปเถิด”
เขาทำท่าจะนั่งลง แต่ไม่นั่ง แสดงอาการย่อตัวเล็กน้อย แล้วก็หลีกหนีไป
๔๔
เจ้าปู่ทีฆาวุโสมาบอกลา
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ได้ทำความเพียรอยู่ที่บ้านภูดินต่อไปเรื่อยๆ
คืนหนึ่งมีเทพองค์หนึ่ง นามว่า ฑีฆาวุโส ได้ประกาศตนว่าชาติก่อนเป็นเจ้านครเวียงจันทน์ ได้เข้ามาหาท่าน
ท่านฑีฆาวุโสได้พูดกับหลวงปู่ตื้อว่า “เจ้าหัวลูก มาจากไหน? เจ้าปู่ได้เฝ้าดูเห็นว่าท่านเคร่งครัดในการปฏิบัติธรรมมาก น่าเลื่อมใส
สมัยนครเวียงจันทน์ครั้งก่อนนั้น ชาวเมืองได้ตั้งใจบำเพ็ญกุศลกันดีมาก เจ้าเมืองก็ใส่บาตรทุกวันด้วย
เจ้าปู่เห็นท่านไปบิณฑบาตแล้ว ไม่ค่อยจะมีคนใส่บาตรเลย นับว่าท่านมีความอดทน น่ายกย่องสรรเสริญท่านมาก ที่ไม่ท้อถอยในการบำเพ็ญเพียร ไม่เห็นแก่ได้
บางวัน เจ้าหัวลูกไม่ได้ฉันอาหารบิณฑบาตเลย น่านับถือในความอดทนและความตั้งใจของท่านจริงๆ...”
ต่อจากนั้น ท่านเจ้าปู่ฑีฆาวุโส ก็กล่าวอำลาว่า “วันนี้เป็นวันที่เจ้าปู่จะไปจากที่นี้แล้ว”
กล่าวเพียงเท่านั้น เจ้าปู่เทพองค์นั้นก็หายวับไปทันที
๔๕
เจอเจ้าที่ลองดี
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม มาพำนักที่พระพุทธบาทบัวบก จังหวัดอุดรธานี เป็นครั้งที่สอง ในขณะที่หลวงปู่กำลังเดินจงกรม เกิดมีก้อนหินตกลงมาจากที่สูงหลายสิบก้อน แต่ตกห่างจากที่เดินจงกรม หลวงปู่ไม่ได้ให้ความสนใจ ยังคงเดินต่อไป
ไม่นานก็มีก้อนหินตกมาอีก คล้ายกับถูกปาลงมา คราวนี้ใกล้กับทางเดินจงกรมมากกว่าเดิม หลวงปู่จึงพูดขึ้นดังๆ ว่า “ใครเก่งก็ให้ออกมาต่อสู้กันเลย”
คราวนี้ได้ยินเสียงก้อนหินตกรอบตัวหลายสิบก้อน หลวงปู่จึงได้หยุดการเดินจงกรม แล้วเข้ามุ้งกลดนั่งสมาธิภาวนาต่อไป เสียงก้อนหินก็ยังตกลงมาเรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่าใครเป็นคนขว้างเข้ามา
ในคืนนั้น มีญาติโยมชาวบ้านมารักษาศีลอุโบสถด้วยกัน ๕ คน หลวงปู่ได้บอกให้พระอีกองค์หนึ่งที่ไปด้วยกันมาภาวนาอยู่ใกล้ๆ โยม
เสียงก้อนหินก็ยังตกมารอบๆ บริเวณนั้น ตกมาเป็นระยะๆ มองออกไปรอบบริเวณก็เห็นเป็นก้อนหินจริงๆ ถ้าโดนศีรษะใครก็จะต้องแตกอย่างแน่นอน
สักพักใหญ่ๆ ก็มีเสียงดังคล้ายกับมีคนออกแรงผลักก้อนหินขนาดใหญ่กลิ้งลงมาจากยอดเขา เสียงนั้นอยู่ห่างจากที่ๆ พระกับโยมพักพอสมควร
หลวงปู่ได้กำหนดจิตดู เห็นมีชายร่างใหญ่ผลักก้อนหินลงมาจากยอดเขาจริงๆ จะด้วยจุดประสงค์อันใดนั้นท่านไม่สามารถกำหนดรู้ได้
ในมุ้งกลดของพระอาจารย์ที่อยู่เป็นเพื่อนโยม ได้จุดเทียนขึ้นสว่างไสว ท่านเฝ้าคอยสังเกตการณ์อยู่ตลอดทั้งคืน ทั้งหลวงปู่ และญาติโยมต่างไม่ได้หลับนอนกันเลย
หลวงปู่ท่านบอกภายหลังว่า “พอนึกถึงคำพูดของท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นที่ว่า ผีมันปลุกให้ภาวนา แล้วก็มีกำลังแข็งแรงทั้งกายและจิตทุกครั้งไป”
พอสว่างหลวงปู่ก็เตรียมตัวออกไปบิณฑบาต วันนั้นได้ไปเที่ยวบิณฑบาตที่บ้านติ้ว อำเภอบ้านผือ พอฉันอาหารเสร็จ พระอาจารย์ที่เป็นเพื่อนอยู่ในคืนนั้นก็เก็บบริขาร เตรียมตัวจะย้ายไปอยู่ที่อื่น
หลวงปู่ถามพระองค์นั้นว่า “ท่านจะไปที่ไหน?” พระอาจารย์องค์นั้นตอบว่า “ผมอยู่ไม่ได้หรอก เพราะตลอดคืนมีแต่ก้อนหินตกลงมา จะภาวนาก็ไม่สะดวก”
หลวงปู่ตื้อจึงแก้ว่า “เมื่อสมัยพระพุทธเจ้าแสดงธรรมเรื่องเวสสันดรชาดก เมื่อพระองค์กล่าวคาถาขึ้นเท่านั้น ก็มีฝนเงินฝนทองตกลงมาเป็นพุทธบูชา
และเมื่อมีการแสดงธรรมเวสสันดรทุกวันนี้ พระท่านกล่าวคาถาพันเท่านั้น พุทธศาสนิกชนทั้งหลายก็โปรยข้าวตอกดอกไม้เป็นเครื่องบูชาเช่นกัน
ก็เมื่อคืนนี้ ลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าภาวนาพุทโธ เทวดาเขาก็อนุโมทนาโปรยดอกไม้ทิพย์เป็นเครื่องสักการบูชา”
ท่านพระอาจารย์องค์นั้นกล่าวสวนว่า “ดอกไม้ทิพย์อะไรกัน เห็นมีแต่ก้อนหินเท่านั้น ก็เรื่องข้าวตอกดอกไม้นั้น เป็นสิ่งที่เห็นด้วยตาและรู้สาเหตุที่มาด้วย แต่นี่ไม่เห็นอะไรเลย”
ทุกคนที่อยู่ที่นั้นต่างพากันหัวเราะขบขัน แล้วต่างแยกย้ายไปสู่ที่พักบำเพ็ญเพียรของตน แล้วพระอาจารย์องค์นั้นก็กราบลาย้ายไปที่อื่น
หลวงปู่ตื้อ ยังคงพักอยู่ที่เดิม ตั้งใจว่าจะอยู่ที่นี่ไปก่อน “เพราะเพิ่งมาถึงคืนแรกเท่านั้น ก็จะท้อถอยกลัวมันแล้ว เจ้าผีจะหัวเราะเยาะเอาว่าเรากลัวมัน
และเมื่อคืนนี้เราก็ไม่ได้เจ็บกายอะไรจากการกระทำของมันเลย เพียงแต่มันรบกวนให้เราได้รับความรำคาญเท่านั้นเอง
ถ้าหากเราไปอยู่ที่อื่นแล้ว เจอเจ้าที่ที่อื่นอีกก็ต้องถูกลองดีกันเรื่อยไป เราต้องทำความเข้าใจกันเป็นที่ๆ ไป”
หลวงปู่ตื้อก็พักบำเพ็ญภาวนาอยู่ ณ ที่นั้นต่อไป
๔๖
เจ้าที่ยังลองดีต่อไป
ในคืนต่อมาแค่เวลาเพียง ๓-๔ ทุ่ม เท่านั้นเอง หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม กำลังนั่งภาวนาอยู่ภายในกลดธุดงค์ ก็ได้ยินคล้ายเสียงฝีเท้าม้า เดินไปเดินมารอบๆ บริเวณที่ท่านนั่งอยู่ เสียงม้าเดินดังอยู่ที่ก้อนหินเป็นจังหวะ เสียงฝีเท้าม้าหนักเข้า เดินเข้ามาหามุ้งกลดของท่าน เสียงใกล้จนชิดมุ้ง
หลวงปู่เลิกมุ้งกลดขึ้นดู ก็เห็นม้าสีขาวมีขนาดใหญ่เดินเสียงห่างออกไป ท่านเอามุ้งกลดลงแล้วนั่งภาวนาต่อไป
เสียงม้ายังดังรบกวนแบบเดิมอยู่อีก หลวงปู่จึงออกจากมุ้ง แล้วมาเดินจงกรมแทน
อีกไม่นานก็ได้ยินเสียงม้าเดินอีก แต่อยู่ห่างออกไป เสียงเดินยังดังอยู่รอบๆ ห่างๆ มันคงไม่กล้าเข้ามาใกล้ท่าน
หลวงปู่คงเดินจงกรมเป็นปกติ ไม่นานนักเสียงฝีเท้าม้านั้นก็เงียบหายไป
หลังจากนั้นอีกสักครู่ ปรากฏว่า ที่ทางเดินจงกรมของท่าน มีงูเลื้อยยั้วเยี้ยอยู่หลายสิบตัว จนหลวงปู่เดินจงกรมไม่ได้ พิจารณาดูงูเหล่านั้นล้วนมีสีดำสนิท ถ้าหากท่านเดินไป จะต้องเหยียบพวกมันอย่างแน่นอน
หลวงปู่จึงหยุดเดิน และยืนดูเฉยๆ บนทางจงกรมนั้น หลับตาเพ่งดูพวกงูเหล่านั้นว่าจะพบอะไรบ้าง
หลวงปู่ยืนนิ่งอยู่ตรงนั้นค่อนข้างนาน ปรากฏว่ามีงูมามากขึ้นกว่าเดิม แต่พวกมันไม่ได้เลื้อยมาใกล้ท่านเลย อยู่ห่างท่านในช่วง ๑ วาเศษเท่านั้น
หลวงปู่ตั้งใจว่า จะต้องยืนอยู่ที่นั้นจนกว่าบรรดางูจะหนีไปหมด ท่านไม่ได้ให้ความสนใจกับพวกมันว่าจะมีมากหรือน้อยเพียงใด ยืนกำหนดจิตภาวนาอยู่อย่างนั้น
ปรากฏว่ามีบุรุษคนหนึ่งปรากฏตัวขึ้น มาบอกหลวงปู่ว่า ขอให้ท่านเดินจงกรมต่อไปเถิด กระผมจะจับงูเหล่านี้ไปให้หมด จะเอาไปให้เป็นอาหารพญาครุฑ
บุรุษนั้นเก็บเอางูทั้งหมดใส่ลงในถุงใบใหญ่ได้เกือบเต็มถุงแล้วก็เดินหายไป
หลวงปู่มองดูที่เดินจงกรม ก็ไม่มีงูเหลืออยู่แม้แต่ตัวเดียว ท่านจึงออกเดินจงกรมต่อไป ตั้งใจว่าคืนนี้จะไม่นั่งและไม่นอน จะเดินและยืนภาวนาอยู่ในที่เดินจงกรมนี้จนสว่าง
๔๗
เจ้าที่ยังไม่ยอมลดละ
หลังจากบรรดางูทั้งหลายหมดไปจากทางเดินจงกรมแล้ว หลวงปู่ก็เริ่มเดินจงกรมต่อไป เดินไปได้สักครู่ก็ได้ยินเสียงคนพูดคุยกันประมาณว่ามี ๔-๕ คน หลวงปู่ไม่ได้สนใจว่าเขาพูดอะไรกัน เพียงแต่สักว่าได้ยินเท่านั้น ท่านยังคงเดินจงกรมต่อไป
สักครู่เดียวก็เห็นคนเดินถือคบไฟลงมาจากก้อนหินใหญ่ด้านหน้าแล้วก็เลี้ยวขึ้นไปทางหลังเขา มีคนเดินตามหลังไปจำนวนหนึ่ง ท่านคิดว่าน่าจะเป็นกลุ่มคนที่คุยกันเมื่อสักครู่นี้เอง คนเหล่านั้นเดินหายไป
หลวงปู่เดินจงกรมต่อไปจนได้อรุณวันใหม่ จึงเตรียมตัวเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน แล้วกลับมาฉันที่โรงฉันตามปกติรวมกับพระองค์อื่นๆ
ชาวบ้านได้เล่าให้พระอาจารย์ที่เป็นประธาน ณ ที่นั้นฟังว่า
“เมื่อคืนนี้ วิญญาณเจ้าปู่ได้เข้าลงชาวบ้าน พูดชัดถ้อยชัดคำว่ามีเจ้าหัวธรรมมารบกวนที่อยู่ ลูกหลานทั้งหลายเดือดร้อนมาก ไม่ได้หลับนอนตลอดทั้งคืน ต้องการให้เจ้าหัวธรรมหนีไปเสียจากที่นี่
ถ้าไม่หนีจะทำให้มีฝนและมีฟ้าผ่าลงมาให้ได้รับความเดือดร้อนกันทุกคน วิญญาณเจ้าปู่บอกอีกว่า เจ้าหัวธรรมชุดนี้ เราพยายามขับไล่อย่างไรก็ไม่หนี ถ้าเขาไม่หนีก็จะต้องทำฝนให้ตกจนอยู่ไม่ได้”
พระอาจารย์ผู้เป็นหัวหน้าพูดขึ้นว่า “ถ้าฝนตกและมีฟ้าผ่าลงมาจริง อาตมาจะยอมกินขวานเจ้าปู่เลย”
แล้วท่านก็พูดต่อไปว่า “ผีมันโกหกเฉยๆ พูดไม่จริงหรอก ไม่มีอะไรจะจริงเหมือนพระพุทธเจ้าเลยในโลกนี้”
เมื่อพระอาจารย์พูดหนักแน่นเช่นนี้ ชาวบ้านก็นิมนต์ให้พระสงฆ์พำนักอยู่ที่นั่นต่อไปอีก เพื่อพิสูจน์ความจริง พระสงฆ์เหล่านั้นได้พักปฏิบัติธรรมอยู่ที่นั้นอีกหลายราตรี ไม่มีอะไรเกิดขึ้นตามคำขู่ของวิญญาณเจ้าปู่ ชาวบ้านเหล่านั้นจึงหันมานับถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึก เลิกการนับถือผี แล้วพากันสร้างเสนาสนะให้เป็นที่พักสงฆ์เป็นการถาวรต่อไป
๔๘
หลวงปู่พูดถึงการเชื่อถือเรื่องวิญญาณ
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ได้พูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการเผชิญภูตผีวิญญาณที่ผ่านมาว่า
“...หากวิญญาณเหล่านั้นได้รู้ความเป็นจริงแล้วก็จะไม่หลงวนเวียนอย่างนั้น กิเลส ทิฏฐิ มานะ นี่ร้ายกาจมาก มันสามารถดึงเอาคนตกเป็นทาสของมันให้วนเวียนอยู่ในวัฏสงสารได้อย่างง่ายดายมาก ในโลกนี้ คนที่ตกเป็นทาสของมันมีมาก เพราะขาดจากการเข้าถึงพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง การนับถือผีสางอันเป็นจำพวกวิญญาณที่หลงทางเดิน เมื่อตายแล้วนั้น เป็นการเชื่อแบบขอความอ้อนวอน จึงเป็นการเชื่อที่ไม่แน่นอน
พระพุทธองค์จึงทรงแนะนำไม่ให้พุทธศาสนิกชนหลงเชื่อในเรื่องเช่นนี้ พระองค์สอนให้เชื่อเรื่องกรรม คือ เชื่อการกระทำของตนเองดีกว่า”
ลูกศิษย์ลูกหาผู้ใกล้ชิดต่างยืนยันว่า หลวงปู่ตื้อท่านก็สอนศิษย์และประชาชนทั่วไปในทำนองนี้มาโดยตลอด
พระบูรฉัตร พรหฺมจาโร ศิษย์ผู้บันทึกเรื่องราวของหลวงปู่ ได้บันทึกไว้ว่า
“ตอนหนึ่งท่านหลวงตา (หลวงปู่ตื้อ) ได้เล่าให้ฟังว่า เรื่องของวิญญาณต่างๆ ในโลกนี้มีหลายจำพวกเหลือเกิน บางพวกเป็นวิญญาณที่มีความเป็นอยู่ดีมาก มีศีลธรรม แต่พวกเราชอบเรียกรวมไปหมดว่า ผี
ความจริงแล้ว ผีหรือวิญญาณต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรมเลย เพราะในโลกนี้มีทั้งน่ารัก น่าชัง ทั้งหัวเราะ ทั้งร้องไห้ ครบถ้วนอยู่แล้ว เหตุการณ์ทั้ง ๔ อย่างนี้ มีครบอยู่ในโลก และมีพร้อมๆ กันเลย มันก็น่าแปลก คนเราเวลาตาย เกิดอารมณ์ร้องไห้ ทำให้เศร้าใจ แต่เวลาเกิด กลับหัวเราะชอบใจ ทำให้ดีใจ
คนที่หัวเราะก็หลง คนที่ร้องไห้ก็หลง หลงในฐานะที่ไม่รู้อะไรเป็นเหตุเป็นผล ความจริงแล้วตายหรือเกิดก็อันเดียวกันนั่นเอง เป็นแต่ว่าเขาเปลี่ยนกันทำหน้าที่เท่านั้นเอง”
๔๙
เรื่องชาวลับแลที่เมืองหลวงพระบาง
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ได้เล่าเรื่องราวที่ท่านพบเห็นเมื่อครั้งไปธุดงค์ที่ฝั่งประเทศลาวให้ลูกศิษย์ฟัง ดังนี้
ในช่วงที่ท่านไปพักจำพรรษาอยู่ที่ วัดวิชนุธาตุแตงโม เมืองหลวงพระบาง ท่านบอกว่า นอกกำแพงวัดออกไปไม่เกิน ๑๐ วา ตรงนั้นมีเรื่องแปลกๆ เสมอ
พวกชาวบ้านชอบกราบเรียนถามหลวงปู่เสมอๆ ว่า “ท่านสาธุภาวนาอยู่ที่วัดนี้เป็นอย่างไร?”
หลวงปู่ไม่ได้สนใจกับคำถามดังกล่าว เมื่อถูกโยมถามบ่อยๆ ท่านจึงย้อนถามกลับไปว่า “ที่ตรงนั้นมีอะไรหรือ”
ชาวบ้านบอกท่านว่า มีผีเจ้าที่อยู่ตรงนั้น แต่เดี๋ยวนี้จะยังอยู่หรืออย่างไรก็ไม่ทราบได้
หลวงปู่ตื้อ ได้เรียนถาม ท่านพระครูสาธุสิงห์ ซึ่งเป็นสมภารวัดนั้นมานาน เกี่ยวกับเรื่องราวความเป็นมา
ท่านพระครูสาธุสิงห์ เล่าว่า “ข้าเจ้ามาเป็นสมภารอยู่วัดนี้นับได้ ๓๐ ปีแล้ว ทราบว่าผีพวกนี้เป็นวิญญาณเฝ้ารักษาเมือง โดยมากเป็นทหารเฝ้ารักษาประตูวังธาตุแตงโม วิญญาณพวกนี้ไม่ยอมไหว้พระเลย เรื่องนี้เป็นที่รู้กันทั่วไปในหมู่ของชาวเมืองหลวงพระบาง
ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า ตรงที่ป่าโน้นไม่มีบ้านคนเลย มีธารน้ำไหลลงมาจากภูเขาไม่ขาดสาย ทั้งฤดูแล้งและฤดูฝน
พอค่ำลงจะได้ยินเสียงคนพูดกัน มีทั้งชายและหญิงหลายๆ สิบเสียง ได้ยินเสียงตักน้ำ ได้ยินเสียงบั้งทิง (กระบอกไม้ไผ่ใส่น้ำ) กระทบกัน ชาวบ้านพยายามแอบดูหลายๆ ครั้ง ก็ไม่เห็นอะไรผิดสังเกตเลย แต่ได้ยินเสียง
ตอนกลางวันเงียบสงัด ไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย
ห่างจากที่ตรงนั้นออกไป มีเขาลูกหนึ่ง ชาวบ้านเล่าว่าเคยเห็นคนรูปร่างสูงใหญ่อยู่ในถ้ำในภูเขาลูกนั้น ๗ วันจะปรากฏตัวให้เห็นที่หนึ่ง
มีสมภารวัดหลายองค์พยายามเข้าไปในถ้ำนั้น แต่ไปไม่ได้โดยตลอด เพราะข้างในมืดและอากาศเย็นมาก เมื่อเดินลึกเข้าไปจะรู้สึกแสบหูมาก พยายามเข้าไปอย่างไรก็ไม่สำเร็จ
หลังจากนี้มาได้ ๗-๘ ปี ได้มีพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งเดินธุดงค์มาจากเมืองไทย เคร่งครัดต่อระเบียบวินัยของพระกรรมฐานมาก ท่านเป็นที่เคารพนับถือ และเลื่อมใสของชาวเมืองหลวงพระบางมาก
พระภิกษุหนุ่มรูปนั้นพยายามเข้าไปในถ้ำ และสามารถเข้าไปได้โดยตลอด เดินเข้าไปนานถึง ๗ วันถึงออกมา
มีเรื่องเล่าว่า ท่านเดินเข้าไปเรื่อยๆ ก็ไม่ปรากฏว่าเห็นมีอะไรผิดปกติ เดินเข้าไปจนถึงที่สุด พอมองขึ้นไปข้างบน เห็นเป็นทางขึ้นไป มีรอยขึ้นลงใหม่ๆ บนก้อนหิน ท่านขึ้นไปตามทางนั้นก็ไม่พบอะไร ฆ้องใหญ่ที่ชาวบ้านได้ยินทุก ๗ วันก็ไม่มี
พระภิกษุจึงเดินกลับออกมาตามทางเดิม แต่ท่านต้องแปลกใจมากที่ตอนขากลับออกมาพบว่า ทางที่ท่านเดินเข้าไปนั้นกลับมีบ้านคนเต็มไปหมด มีชายคนหนึ่งมานิมนต์ให้ท่านนั่งบนอาสนะที่เขาปูไว้
พระองค์นั้นแน่ใจว่าท่านไม่ได้เดินหลงทางเป็นแน่ เมื่อพิจารณาดูโดยละเอียดแล้ว ท่านจึงถามโยมว่า “พวกโยมมาอยู่ที่นี่นานแล้วหรือ?”
ชายผู้นั้นตอบรับด้วยการพยักหน้า พระจึงถามต่อไปว่า “เมื่ออาตมาเข้ามาก็เดินผ่านมาทางนี้ ทำไม่จึงไม่เห็นบ้านเมือง?”
ชายผู้นั้นไม่ตอบ กลับย้อนถามพระว่า “ท่านมาที่นี่ต้องการอะไร?”
พระตอบว่า “ไม่ต้องการอะไร แต่อยากจะเห็นฆ้องที่โยมตีอยู่ทุกเจ็ดวัน เพราะฆ้องใบนี้เสียงดังไกลเหลือเกิน”
โยมคนนั้นจึงเดินไปหยิบฆ้องมาให้ดู ใบก็ไม่ใหญ่เท่าไรพร้อมทั้งถวายให้พระอาจารย์ผู้นั้นเก็บไว้เป็นอนุสรณ์
จากนั้นโยมก็พาท่านเดินชมไปตามถ้ำ พบสิ่งแปลกตาหลายอย่าง โยมคนนั้นบอกท่านว่า “สมบัติเหล่านี้เป็นของกลาง และจะมีอยู่อย่างนี้ตลอดไปชั่วกาลนาน”
พระภิกษุนั้นได้อำลาโยมคนนั้น ได้นำฆ้องใบนั้นกลับออกมาด้วย ได้เก็บไว้เป็นอนุสรณ์ที่คนในถ้ำมอบให้ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าเคยมีผู้เข้าไปในถ้ำและได้ฆ้องใบนั้นมา
เดี๋ยวนี้ฆ้องใบนั้นยังเก็บไว้ที่ วัดวิชนุธาตุแตงโม ในเมืองหลวงพระบาง จนทุกวันนี้
ฆ้องใบที่ว่านั้นก็ไม่ใหญ่เท่าไร แต่มีเสียงดังกังวานกว่าฆ้องธรรมดาทั่วไปที่ขนาดใหญ่เท่ากันหรือใหญ่กว่า หรือที่มีน้ำหนักเท่าๆ กัน
มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า พระภิกษุนั้นหลังที่ได้ฆ้องมาแล้วท่านก็หายไป ไม่มีใครรู้ว่าท่านหายไปไหน มีความเชื่อกันว่าท่านหายเข้าไปอยู่จำพรรษาในเมืองลับแลแห่งนั้น
๕๐
หัวหน้าเทพเมืองลับแลมานิมนต์หลวงปู่
เกี่ยวกับเรื่องเมืองลับแลที่เมืองหลวงพระบางนี้ หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ท่านให้ความเห็นว่า
“วิญญาณพวกนี้เป็นพวกเทพที่มีอยู่เป็นทิพย์ พวกเขาจะไม่รบกวนมนุษย์เลย เขามีศีลธรรมดีมาก บางครั้งก็พบกันกับพวกเขา แต่เราไม่รู้ว่าเขาเป็นใครเท่านั้น”
หลวงปู่เล่าว่า ตกเย็นท่านได้นั่งสมาธิกำหนดดู ปรากฏว่าผู้เป็นหัวหน้าเทพเหล่านั้น ได้มากราบอาราธนาท่านให้ไปจำพรรษาอยู่ที่นั่น โดยกราบเรียนว่าที่ที่พวกเขาอยู่นั้นก็มีวัดพระพุทธศาสนาด้วย
หลวงปู่ไม่รับคำนิมนต์ โดยบอกเขาว่าท่านมีกิจธุระที่จะต้องประกาศพระพุทธศาสนาต่อไปยังเมืองเชียงใหม่ รับนิมนต์ไม่ได้เพราะขณะนี้ยังไม่อาจกำหนดที่อยู่ประจำได้ ยังต้องการแสวงหาพระธรรมต่อไปอยู่ แล้วหลวงปู่ได้แสดงธรรมให้เขาฟัง
มีผู้กราบเรียนถามหลวงปู่ว่า “ท่านหลวงตาแสดงธรรมอะไรโปรดพวกเทพเหล่านั้น”
หลวงปู่ตอบว่า “พวกเทพเหล่านี้เขามีกายทิพย์ จึงไม่ค่อยเห็นความทุกข์ทางกาย จึงไม่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หลวงตาก็พูดให้เขาฟังในแง่นี้ ให้เขามีความคิดว่าสภาพที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ไม่แน่นอน ถึงจะมีอายุยืนเท่าไรก็ตกอยู่ในสภาพที่ว่านี้เสมอไป”
๕๑
หลวงปู่หยุดธุดงค์และสร้างวัด
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ใช้เวลาท่องธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ เป็นเวลายาวนาน ถ้ารวมเวลาทั้งหมดทั้งที่ท่านตระเวนในภาคอิสานและฝั่งลาว ออกธุดงค์ในภาคเหนือ ติดตามหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ตลอด ๑๒ ปี และออกธุดงค์ในภาคเหนือ ภายหลังที่หลวงปู่มั่นกลับภาคอิสานแล้ว รวมเวลาที่ท่านท่องธุดงค์ทั้งหมดก็ยาวนานกว่า ๕๐ ปี นับเป็นเวลาที่ยาวนานมาก ประสบการณ์และเรื่องราวการเดินธุดงค์ของท่านมากมายเกินกว่าลูกศิษย์ลูกหาจะสามารถรับรู้ได้ทั้งหมด ที่นำมาถ่ายทอดต่อกันมาเป็นเพียงบางแง่บางมุมเท่านั้นเอง
พระลูกศิษย์ใกล้ชิดที่อุปัฏฐากหลวงปู่ ก็ยอมรับว่าการที่จะบันทึกเรื่องราวของหลวงปู่ ให้หมดทุกแง่มุมเป็นเรื่องเหลือวิสัย แม้แต่จะกราบเรียนถามท่านเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ก็ยังไม่กล้า ต้องคอยจดจำเมื่อเวลาท่านยกมาเล่าให้ฟังในโอกาสต่างๆ เท่านั้น
เมื่อหลวงปู่หยุดการเดินธุดงค์ ท่านได้สร้างวัดที่เชียงใหม่หลายแห่งด้วยกัน แต่วัดที่ท่านจำพรรษาอยู่นานที่สุดได้แก่ วัดป่าสามัคคีธรรม อำเภอแม่แตง (ปัจจุบันชื่อ วัดป่าอาจารย์ตื้อ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ท่าน)
หลวงปู่ปรารภให้ฟังว่า การสร้างวัดป่าสามัคคีธรรมแห่งนี้ “เพื่อจะได้อยู่เป็นที่เป็นทาง เพราะชราภาพมากแล้ว”
หลวงปู่ใช้วัดป่าสามัคคีธรรมแห่งนี้เป็นสถานที่ในการประกาศพระศาสนา ด้วยการแสดงธรรมแก่ผู้ที่สนใจใคร่ธรรม ส่วนผู้ที่สนใจในด้านวิปัสสนากรรมฐาน หลวงปู่ก็ให้การอบรมสั่งสอนอย่างไม่รู้จักเบื่อหน่าย ในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ จึงมีผู้สนใจใคร่ฟังธรรมและสนใจภาคปฏิบัติหลั่งไหลไปหาท่านไม่ขาดสาย
๕๒
วัดป่าดาราภิรมย์
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม พักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าดาราภิรมย์ติดต่อกันนานถึง ๙ ปี ก่อนที่จะย้ายไปจำพรรษาที่วัดป่าอาจารย์ตื้อ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
วัดป่าดาราภิรมย์ ในปัจจุบันตั้งอยู่ในตัวอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ห่างจากถนนสายแม่ริม-น้ำตกแม่สา ไปทางทิศใต้ประมาณ ๒๕๐ เมตร มีเนื้อที่ ๒๖ ไร่ ๑ งาน ๓ ตารางวา
แต่เดิมสถานที่ตั้งวัดที่อยู่ในเขตบ้านข่วงเปา ตำบลริมใต้ ซึ่งปัจจุบันเป็นสนามยิงปืนของตำรวจตระเวนชายแดน และโรงเรียนแม่ริมวิทยาคม
วัดตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๘๑ มีชื่อในครั้งนั้นว่า วัดป่าวิเวกจิตตาราม
เนื่องจากสถานที่ตั้งวัดแต่เดิมไม่สะดวกในการคมนาคม ห่างไกลหมู่บ้าน และกันดารน้ำ ประกอบกับระยะนั้นไม่มีพระพักอยู่ คณะศรัทธาผู้สร้างวัด ซึ่งนำโดยนายแก้ว รัตนนิคม และนายศรีนวล ปัณฑานนท์ จึงย้ายวัดมาตั้งแห่งใหม่ที่ป่าช้าต้นกอก อันเป็นป่าช้าร้าง เขตบ้านแพะติดกับตำหนักดาราภิรมย์ สวนเจ้าสบาย ของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๔๘๒ มีเนื้อที่ ๖ ไร่ และยังคงใช้ชื่อวัดว่า วัดป่าวิเวกจิตตาราม เหมือนเดิม
ต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๔ ทายาทในกองมรดกของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี อันมีเจ้าหญิงลดาคำ ณ เชียงใหม่ เป็นหัวหน้า ได้ถวายที่ดินให้แก่วัดอีก ๖ ไร่ เพื่อเป็นพระราชกุศลอุทิศถวายแด่พระราชชายาเจ้าดารารัศมี และเพื่อเป็นพระราชอนุสรณ์ จึงได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็น วัดป่าดาราภิรมย์ ตามนามตำหนักดาราภิรมย์ สวนเจ้าสบาย
ถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๑ คณะศรัทธาอันมี ตะก่า จองจิงนะ เป็นหัวหน้า ได้ถวายที่ดินให้วัดเพิ่มอีกประมาณ ๑๒ ไร่ ในสมัยที่หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม เป็นหัวหน้าสำนัก
ต่อมา เมื่อหลวงปู่ตื้อย้ายไปอยู่วัดป่าสามัคคีธรรม (วัดป่าอาจารย์ตื้อ ในปัจจุบัน) ที่แม่แตง แล้ว คณะศิษย์จึงได้อาราธนา พระอาจารย์กาวงศ์ โอทาวณฺโณ จากวัดเจดีย์หลวง ในเมืองเชียงใหม่ มาเป็นเจ้าสำนัก เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๕ ภายหลังท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสังฆรักษ์ - กาวงศ์
พระครูสังฆรักษ์ - กาวงศ์ ได้สร้างความเจริญให้แก่วัดเป็นอย่างมาก ได้ดำเนินการจดทะเบียนวัดเป็นวัดประเภทสำนักสงฆ์ มีฐานะเป็นนิติบุคคล ใน พ.ศ.๒๕๐๑
พ.ศ.๒๕๐๔ พระครูสังฆรักษ์ - กาวงศ์ ได้รับแต่งตั้งอย่างเป็นทางการให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าดาราภิรมย์ นับเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดนี้
ก่อนหน้านี้ได้มีหัวหน้าสำนักมาแล้ว ๔ ท่าน คือ
๑. พระอาจารย์อ่อนตา อคฺคธมฺโม ๑ ปี
๒. พระอาจารย์พุทธา ๑ ปี
๓. พระญาณดิลก (พิมพ์ ธมฺมธโร) ๑ ปี
ภายหลังเป็นที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพฯ
๔. หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ๙ ปี
พ.ศ.๒๕๐๙ กรมชลประทาน โครงการแม่แตง ได้ขุดคลองส่งน้ำผ่านวัดในส่วนที่เป็นที่ตั้งศาลาโรงธรรม และกุฏิพระ อันเป็นที่ดินที่เคยเป็นป่าช้าต้นกอก และที่ดินที่เจ้าหญิงลดาคำ ณ เชียงใหม่ ถวาย ทางวัดจึงย้ายศาลาโรงธรรมและกุฏิพระมาตั้งในเขตที่ดินที่ ตะก่า จองจิงนะ เป็นผู้ถวาย และยังได้ซื้อที่ดินเพิ่มเติมจากนายหน่อแก้ว สอนไว อีกส่วนหนึ่ง
พ.ศ.๒๕๑๐ ทางวัดได้จัดวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ โดยมี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี) วัดมกุฏกษัตริยาราม เสด็จมาเป็นองค์ประธาน และเนื่องจากต่อมา พระครูสังฆรักษ์ - กาวงศ์ ได้ล้มป่วยลง จึงยังไม่มีการก่อสร้าง จนกระทั่งท่านมรณภาพในปี ๒๕๑๖
พระราชวินยาภรณ์ (จันทร์ กุสโล) จากวัดเจดีย์หลวง เจ้าคณะอำเภอจังหวัดเชียงใหม่ (ธรรมยุต) ได้เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาส โดยมอบหมายให้พระมหาละม้าย สิริวณฺโณ เป็นผู้ดูแลวัดแทน
เนื่องจากวัดป่าดาราภิรมย์ กำเนิดมาจากพระธุดงค์กรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม เป็นเจ้าสำนักอยู่นานถึง ๙ ปี จึงพยายามหาพระกรรมฐานศิษย์หลวงปู่ตื้อ มาเป็นเจ้าอาวาส ทางวัดได้ไปขอพระอาจารย์ไท ฐานุตฺตโม ซึ่งเป็นศิษย์และหลานของหลวงปู่ตื้อ ซึ่งขณะนั้นจำพรรษาอยู่ที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน มาเป็นเจ้าอาวาส แต่เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร) ไม่อนุญาต
ประกอบกับทางวัดมีปัญหาเรื่องคนที่มาพักอาศัย ติดยาเสพติด ลักเล็กขโมยน้อย มีคนมาร้องเรียนประจำ พระราชวินยาภรณ์ จึงได้ย้ายองค์ท่านเองจากวัดเจดีย์หลวงมาจำพรรษาที่วัดป่าดาราภิรมย์ ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๒๑ เป็นต้นมา และได้พัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองมาจนปัจจุบัน
พระราชวินยาภรณ์ ได้เป็นเจ้าอาวาสปกครองทั้งวัดเจดีย์หลวงและวัดป่าดาราภิรมย์ไปด้วยกัน ต่อมาภายหลังท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่ พระเทพกวี พระธรรมดิลก และพระพุทธพจนวราภรณ์ ในปี พ.ศ.๒๕๔๔
สำหรับเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน คือ พระครูปลัดสุวัฒนคุณ
นอกจากวัดป่าดาราภิรมย์จะเป็นวัดที่ร่มรื่น สวยงามแล้ว ทางวัดยังมีพระพุทธบาทสี่รอย จำลองให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะด้วย
ผู้เขียนได้พาคณะมาทอดผ้าป่าที่วัดป่าดาราภิรมย์ ในวันสำคัญทางศาสนา ไม่น้อยกว่า ๓ ครั้ง นอกจากนี้จะแวะทุกครั้งที่ผ่านเพื่อซื้อสินค้าหัตกรรม งานฝีมือ ผ้าทอ และผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่างๆ ที่ศูนย์หัตกรรมเมตตานารี เป็นโครงการหนึ่งของมูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท ตั้งอยู่ในบริเวณวัด
๕๓
การแสดงธรรมของหลวงปู่
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม มีชื่อเสียงในการแสดงธรรมที่เป็นไปอย่างดุเดือด โลดโผน ใช้คำเทศน์ที่รุนแรงชนิดไม่เกรงกลัวใคร ผู้ที่รับไม่ได้ เห็นว่าท่านใช้คำหยาบคาย หรือเทศน์ไม่รู้เรื่องก็มี
ท่านพระภิกษุบูรฉัตร พรหมฺจาโร ผู้บันทึกเรื่องราวของหลวงปู่ ได้เขียนถึงเรื่องการแสดงธรรมของหลวงปู่ ดังนี้ (ในบันทึกใช้คำแทนท่านว่า หลวงตา ซึ่งผู้เขียนเปลี่ยนมาใช้คำว่าหลวงปู่เพื่อให้สอดคล้องกับการเรียกขานในหนังสือเล่มนี้ - ผู้เขียน)
“ส่วนการแสดงธรรมนั้นท่านชอบพูดตรงไปตรงมา พูดความจริงที่มีอยู่ ยกอุทาหรณ์ในปัจจุบันให้เห็นได้ง่ายๆ ผู้ที่ฟังธรรมจากท่านโดยตรง แล้วนำไปพิจารณา จะเห็นว่า ล้วนแต่เป็นสัจจะหรือความเป็นจริงเท่านั้น
วิธีการแสดงธรรมของท่าน ต้องการให้ความรู้จริงเข้าไปกระทบจิตของผู้ฟัง ท่านบอกว่าเพราะการรู้จริงแม้จะเพียงนิดเดียวก็มีประโยชน์ทั้งนั้น ดีกว่าการไม่รู้จริง แม้จะรู้มากๆ ก็ไม่สำเร็จประโยชน์อะไรได้
หลวงปู่ชอบพูดว่า ธัมมะธัมโมนั้นมีอยู่ดาษดื่น คนส่วนมากมองข้ามไปหมด
หลวงปู่ท่านแปลบาลีก็ไม่เหมือนพระเถระองค์อื่นๆ การฟังธรรมะจากท่านจึงต้องฟังอย่างละเอียด ต้องพิจารณาและนำไปปฏิบัติตามให้เข้าถึงธรรม จะได้ชื่อว่าเป็นนักธรรม นักกรรมฐานที่แท้จริง ไม่เหลวไหล ไม่เลอะเทอะ
หลวงปู่ชอบถามพระเณรที่ไปหาท่านเสมอว่า “ที่พวกคุณภาวนานี้ พวกคุณได้พุทโธ หรือยัง?
ผู้ที่ยังไม่แน่ใจก็จะตอบว่า ยังขอรับ ผู้ที่ค่อนข้างแน่ใจก็ตอบท่านว่า ได้แล้วขอรับ” แล้วหลวงปู่มักจะย้อนถามว่า ได้แน่จริงหรือ?
ถ้าหากว่าได้แล้ว ก็ให้ฟังและพิจารณาอย่างนี้ก่อน คือ ถ้าหากใครเขาด่าเราว่า ‘ไอ้หัวหงอก’ ให้เราลองนั่งชั่งดูใจของเราว่า เราโกรธเขาไหม
ถ้าเรายังโกรธอยู่ ก็หมายความว่า เรายังรับรู้การด่าของเขาอยู่ นั่นหมายถึง เราเอาจิตออกมารับคำด่า เรายังอดทนไม่ได้ เรายังโกรธ หมายถึง เรายังไม่ถึงหรือยังไม่ได้พุทโธอย่างแท้จริงนั่นเอง
ในการสอนกรรมฐานของหลวงปู่ สำหรับบางคนที่ไปขอฝึกกรรมฐานกับท่าน ท่านจะให้ท่องพุทโธจนขึ้นใจ ท่านว่า พุทโธยังไม่ซึ้งในใจของผู้นั้น เราจะต้องให้พุทโธมั่นในใจของเรา และมีความเชื่อมั่นจริงๆ มีบางคนเหมือนกัน ที่ไปฟังธรรมคำสอนของหลวงปู่แล้วจะซุบซิบกันว่า ท่านเอาอะไรมาสอน ไม่เห็นเป็นธรรม เป็นหนทางเลยสักหน่อย นี่แสดงให้รู้ว่า จิตของผู้พูดเช่นนั้นยังไม่เข้าถึงธรรมคือความจริงนั่นเอง เพราะหลวงปู่ท่านเทศน์แบบไม่เคยยกย่องใคร ไม่เคยเทศน์เพื่อเอาใจใคร เทศน์แต่เรื่องที่เป็นความจริงและเป็นปัจจุบันโดยแท้จริง"
๕๔
แสดงธรรมเป็นประจำที่วัดอโศการาม สมุทรปราการ
นอกจากหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม จะแสดงธรรมในจังหวัดเชียงใหม่แล้ว ช่วงออกพรรษา ท่านมักจะได้รับนิมนต์ไปแสดงธรรมที่อื่นด้วย สถานที่ที่ท่านไปแสดงธรรมเป็นประจำ ได้แก่ วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ ในสมัยนั้น ท่านพ่อลี ธมฺมธโร เป็นเจ้าอาวาส
หลวงปู่ตื้อไปแสดงธรรมและพักอยู่ที่วัดอโศการามเป็นเวลานานๆ เพราะมีญาติโยมนิมนต์ท่านไว้ให้อยู่โปรดนานๆ เนื่องจากท่านเป็นศิษย์อาวุโสของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต นับว่าเป็นศิษย์ใกล้ชิดและได้รับการถ่ายทอดธรรมปฏิบัติจากหลวงปู่มั่นโดยตรง
ศิษย์อาวุโสท่านหนึ่งของหลวงปู่ตื้อ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการแสดงธรรมของท่านดังนี้
“สำหรับการแสดงธรรมเผยแผ่พระพุทธศาสนาของท่านพระอาจารย์ตื้อนั้น เห็นว่าท่านแสดงธรรมโดยตรง ตรงที่เราสงสัย แสดงตามจริง ไม่มีการอ้อมค้อม ตรงไปตรงมา แต่ลักษณะท่าทางอาจจะไม่ไพเราะ ทั้งนี้ก็เพราะว่า พวกเรายังไม่ชินกับเหตุการณ์เช่นนั้น เนื่องจากพระอาจารย์ท่านเดินธุดงค์กรรมฐานผ่านไปในที่หลายแห่ง มีประสบการณ์และอารมณ์แปลกๆ บางครั้งต้องเจอะเจอและสนทนากับผีสางนางไม้ บางครั้งก็พบกับพวกเทพ พวกเทวดาอารักษ์ บางครั้งก็พบพวกวิญญาณเจ้าที่เจ้าทาง
ท่านต้องประสบกับเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ ในระหว่างนั้นอารมณ์ท่าทาง คำพูด จะออกมาในรูปไหนนั้นยากที่จะกำหนดได้ สำหรับผู้ที่เคารพนับถือในท่านแล้ว จะยิ่งมีความเคารพและเลื่อมใสในธรรมของท่านมากขึ้น”
๕๕
ได้ลูกศิษย์ที่มีอดีตเป็นขุนโจร
ช่วงที่หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม พำนักอยู่ทางภาคเหนือ ได้มีผู้มาฟังธรรมด้วยจำนวนมาก รวมทั้งที่มาฝากตัวเป็นศิษย์ขอแนวปฏิบัติกรรมฐานก็มีเยอะ
ในปีที่หลวงปู่จำพรรษาที่วัดป่าดาราภิรมย์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ในวันหนึ่งได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งเดินทางมาจากภาคใต้ ตั้งใจมาขอเป็นศิษย์เรียนกรรมฐานกับหลวงปู่
พระภิกษุรูปนั้นก็คือ พระอาจารย์ประยุทธ ธมฺมยุตฺโต แห่งสำนักวัดป่าผาลาด จังหวัดกาญจนบุรี ปัจจุบันท่านมรณภาพแล้ว เป็นพระป่าที่มีชื่อเสียงมากองค์หนึ่ง ท่านเป็นพระที่ปฏิบัติดีงามน่าเลื่อมใสมาก หลังจากการเผาศพของท่านแล้ว อัฐิท่านได้กลายเป็นพระธาตุ ท่านได้รับฉายาว่าพระอรหันต์ผู้มีอดีตเป็นขุนโจรอิสไมล์แอ
ในประวัติของพระอาจารย์ประยุทธ ท่านบันทึกไว้ว่า ท่านใช้เวลาเดินทางจากภาคใต้สู่ภาคเหนือ ๓ เดือนเต็ม ตอนนั้นหลวงปู่ตื้อท่านกำลังก่อสร้างสำนักสงฆ์แห่งใหม่ในเขตอำเภอแม่ริม ซึ่งปัจจุบันก็คือวัดป่าดาราภิรมย์
กุฏิสงฆ์เป็นเพียงกุฏิไม้ไผ่ หลังคามุงแฝก พอได้อาศัยหลบแดดฝนเพื่อปฏิบัติธรรมเท่านั้น พระเณรก็มีอยู่ไม่กี่รูป
พระอาจารย์ประยุทธยังเป็นพระใหม่ บวชได้พรรษาเดียว ท่านบุกบั่นไปหาหลวงปู่ตื้อด้วยความทรหดอดทน สมกับที่เป็นอดีตขุนโจรผู้นำสมุนจำนวนมาก
พระอาจารย์ประยุทธเดินเข้าไปในวัด เห็นพระนั่งอยู่ตามลำพังที่ศาลาโรงฉัน ดูจากท่าทางมั่นใจว่าเป็นหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม จึงเข้าไปกราบ และเรียนท่านว่าเดินทางมาจากภาคใต้ ใช้เวลา ๓ เดือน ตั้งใจฝากตัวขอเป็นศิษย์ปฏิบัติธรรมด้วย
เพราะหลวงปู่ตื้อท่านพูดจาโผงผาง ตรงไปตรงมา ไม่ชอบพูดยาวอ้อมค้อมหรือเกรงอกเกรงใจใคร หลวงปู่ได้ถามทันทีว่า “ก่อนบวชเคยทำอาชีพอะไรมา ให้บอกไปตามความจริง”
พระอาจารย์ประยุทธ ทำท่าอึกอัก ไม่รู้จะตอบท่านอย่างไรดี
หลวงปู่ก็ชี้หน้าว่า “ให้บอกมา ไม่เช่นนั้นจะไม่รับเป็นศิษย์”
พระอาจารย์ประยุทธ จึงพูดละล่ำละลักว่า “เป็นโจรครับ”
หลวงปู่พูดหนักแน่นว่า “การเป็นศิษย์ต้องมีข้อแม้ เมื่อท่านรับปากจะปฏิบัติตาม”
แล้วท่านก็ให้พระอาจารย์ประยุทธ ไปจุดธูปปักในกระถางหน้าพระประธานบนศาลาโรงฉัน แล้วให้พูดตามท่านว่า “ข้าพเจ้าจะบวชตลอดชีวิต ไม่ลาสิกขา”
พระอาจารย์ประยุทธ ธมฺมยุตฺโต ได้เป็นศิษย์ติดตามหลวงปู่ตื้ออยู่ ๓ ปี ไม่ว่าหลวงปู่จะออกธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพร ในท้องถิ่นใด ก็ได้ติดตามท่านไปด้วยเสมอ เว้นแต่เวลาบำเพ็ญเพียร ก็จะแยกไปปักกลดภาวนาในที่ไม่ห่างไกลนัก เมื่อมีปัญหาติดขัดในการปฏิบัติก็มากราบเรียนถามท่านได้
๕๖
รู้ล่วงหน้าว่าใครจะมาหา
พระอาจารย์ประยุทธ ธมฺมยุตฺโต มีความเคารพเลื่อมใสในองค์หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม พระอาจารย์ของท่านมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านฤทธิ์อภิญญา
จากบันทึกของพระอาจารย์ประยุทธ บอกว่า วันหนึ่งพระเณรเข้ากุฏิกันเกือบหมดแล้ว หลวงปู่สั่งให้เณรไปต้มน้ำกาใหญ่
เณรย้อนถามด้วยความสงสัยว่า “ไม่มีใครอยู่ฉันน้ำแล้วหลวงปู่จะให้ต้มน้ำกาใหญ่ไปทำไม”
หลวงปู่พูดด้วยน้ำเสียงดุว่า “บอกให้ต้มก็ต้มเถอะ ต้มน้ำชงชา” แล้วสั่งในเณรเอาถ้วยชามาเตรียมไว้ ๕๐ ถ้วย
พระอาจารย์ประยุทธ ก็รู้สึกงงๆ หลวงปู่พูดขึ้นว่า “เดี๋ยวจะมีญาติโยมมาจากกรุงเทพฯ”
สักครู่ใหญ่ๆ ก็มีรถบัสเข้ามาจอดในบริเวณวัด หลวงปู่ให้นำน้ำชาร้อนๆ มาเลี้ยงญาติโยม ปรากฏว่าถ้วยชา ๕๐ ถ้วยที่เตรียมไว้ครบจำนวนคนพอดี
๕๗
เตรียมรอรับการนิมนต์
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม จะเรียกพระอาจารย์ประยุทธ ธมฺมยุตฺโต ว่า ตุ๊ไทย
(ตุ๊ หรือ ตุ๊เจ้า เป็นภาษาเหนือ ใช้เรียกพระสงฆ์ ผู้เขียนเข้าใจว่าน่าจะมาจากคำว่า สาธุ ถ้าผิดก็ขออภัยด้วย)
คราวหนึ่ง ขณะที่นั่งกันอยู่ หลวงปู่ก็สั่งพระอาจารย์ประยุทธว่า “ตุ๊ไทย รีบไปสรงน้ำไวๆ”
สร้างความงุนงงสงสัยให้พระเณร ณ ที่นั้น แต่ไหนแต่ไรมาหลวงปู่ไม่เคยยุ่งกับการสรงน้ำท่าของใครเลย
พระอาจารย์ประยุทธได้เรียนถามว่า “หลวงปู่ให้กระผมไปสรงน้ำทำไม?”
หลวงปู่ตอบว่า “ให้ไปสรงก็ไปเถอะ” แล้วท่านก็พูดต่อไปว่า “เย็นนี้ ๖ โมงเย็น จะมีโยมผู้ชายมานิมนต์ไปปัดรังควานให้ลูกเขาที่ตกต้นลำไย แต่เด็กมันต้องตายแน่ๆ ไม่รอดดอก จะให้ตุ๊ไทยไปแทน”
พระอาจารย์ประยุทธจึงรีบไปสรงน้ำ สรงเพิ่งเสร็จ ยังไม่ทันครองผ้า โยมที่ว่าก็ขับรถกระบะเข้ามาจอดในวัด รีบเข้ามากราบหลวงปู่ ขอนิมนต์ไปปัดรังควานให้ลูกชายตามที่หลวงปู่บอกไว้ไม่มีผิด
๕๘
หลวงปู่แกล้งพญานาค
พระอาจารย์ประยุทธ ธมฺมยุตฺโต ได้ถ่ายทอดเรื่องที่หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม เคยเล่าให้ฟังในสมัยที่ท่านออกธุดงค์กับหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ว่า
หลวงปู่มั่น ท่านเคยเล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า ท่านเคยพบพญานาค หลวงปู่ตื้อคิดค้านในใจว่าไม่เชื่อ ใครๆ ก็พูดถึงพญานาคได้โดยไม่เคยเห็นตัวตน
หลวงปู่มั่น ท่านรู้วาระจิต จึงสั่งหลวงปู่บุญ ซึ่งจำมิได้ว่าฉายาอะไร ว่า “จงพาท่านตื้อ พระขี้ดื้อ ไปกรรมฐานบนเขา ให้อยู่กันคนละลูกเขานะ”
หลวงปู่บุญก็พาหลวงปู่ตื้อไป เมื่อถึงเขาที่จะนั่งกรรมฐานลูกแรก หลวงปู่ตื้อท่านพบรูดินใหญ่เข้ารูหนึ่ง คิดในใจว่าถ้าพญานาคมีจริงก็จะลองดู ท่านจึงแอบเอาก้อนหินใหญ่มาวางไว้ปากรู แล้วไปกับหลวงปู่บุญเพื่อไปดูที่ปักกลดยังเขาอีกลูกหนึ่ง
เมื่อส่งหลวงปู่บุญแล้ว หลวงปู่ตื้อก็กลับมายังที่เดิม ผลักก้อนหินให้กลิ้งลงไปในรู แล้วพูดว่า “ถ้าพญานาคมีจริง หินตกถูกก็ขอโทษด้วย”
แล้วท่านก็เอาผ้ารองนั่งปิดรู กางกลดลง ณ ที่ตรงนั้น
คืนนั้น ขณะที่หลวงปู่ตื้อนั่งทำสมาธิภาวนาภายในกลด ก็ได้ยินเสียงขู่ฟู่ๆ อย่างขัดเคือง เสียงฟู่ๆ นั้นดังมาจากงูใหญ่จำนวนมากมาแผ่พังพานอยู่รอบๆ กลดของท่าน หลวงปู่จึงหยิบก้อนหินมาปลุกเสก แล้วโยนออกไปนอกกลด ได้ยินเสียงงูเลื้อยหนีกันเกรียวกราวกระจัดกระจายกันออกไป
พอรุ่งเช้า หลวงปู่บุญท่านมาบ่นให้ฟังว่า “เมื่อคืนผ่านไปเล่นอะไรกับพวกงู พวกเขาจึงไปฟู่ๆ อยู่กับผม ไม่ต้องหลับนอนกันละ”
ครั้นถอนกลด กลับไปหาหลวงปู่มั่น ขณะก้มกราบ ก็ถูกหลวงปู่มั่นชี้หน้าบอกว่า “ท่านไปเล่นกับงูมาละซิ”
๕๙
น่าจะเป็นความอารมณ์ดีของท่าน
พระอาจารย์ประยุทธ ธมฺมยุตฺโต เล่าอีกตอนหนึ่งว่า มีอยู่ครั้งหนึ่ง หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ไปร่วมประชุมสงฆ์ในกรุงเทพฯ ท่านพระเถระนั่งกันอยู่พร้อมแล้ว ยังขาดแต่สมเด็จพระสังฆราช ที่จะเสด็จมาเป็นองค์ประธานของการประชุม
หลวงปู่ตื้อท่านไปถึงก่อน จึงเดินตรงจะไปนั่งตรงอาสนะที่เขาเตรียมไว้สำหรับสมเด็จฯ
เจ้าหน้าที่เข้ามาร้องห้ามว่า “ที่นี่เป็นที่ประทับของสมเด็จฯ ที่เสด็จมาเป็นประธาน หลวงตามาจากไหน นั่งไม่ได้นะ”
หลวงปู่ตื้อตอบว่า “ไม่เป็นไรน่า เป็นเพื่อนกัน” แล้วท่านก็นั่งลงไปบนที่นั่งนั้น ทำแบบไม่รู้ไม่ชี้ เจ้าหน้าที่ก็ไม่รู้จะขับไล่อย่างไร
พระเถระทั้งหลายก็นั่งดูเฉย บางรูปก็อมยิ้มกัน เพราะรู้จักอุปนิสัยของหลวงปู่ตื้อดี
พอสมเด็จฯ ท่านเสด็จมาถึง หลวงปู่ตื้อท่านก็ลุกถวายที่ให้ ทำการกราบไหว้แก่ยศฐานะ พอกราบเสร็จ สมเด็จฯ ท่านก็ลุกขึ้นกราบคืนในฐานะที่หลวงปู่ตื้ออาวุโสกว่า
อีกเรื่องหนึ่ง คราวไปประชุมสงฆ์ที่วัดอโศการาม สมัยที่ท่านพ่อลี ธมฺมธโร ยังอยู่
หลวงปู่ตื้อ ท่านถามพระสงฆ์ที่มาร่วมประชุมว่า “ในที่ประชุมนี้มีพระเถระรูปใดมีอายุพรรษาถึง ๕๐ พรรษาบ้าง”
ที่ประชุมเงียบ ไม่มีใครตอบ หลวงปู่ตื้อจึงว่า “งั้นผมก็ต้องเป็นประธานซิ”
แล้วท่านก็หัวเราะชอบใจ ที่ประชุมก็หัวเราะ
หมายเหตุ : สมเด็จพระสังฆราชที่กล่าวถึงในเรื่องนี้ เมื่อตรวจสอบดูตามประวัติแล้ว ผู้เขียนเข้าใจว่า น่าจะเป็น สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี) วัดมกุฎกษัตริยาราม
มีบันทึกตอนหนึ่งว่า มีคุณหญิงคุณนายที่ได้ฟังเทศน์จากหลวงปู่ในงานแห่งหนึ่ง พากันไปทูลฟ้องสมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี) วัดมกุฎกษัตริยาราม ซึ่งสมเด็จฯ ท่านก็คุ้นเคยกับหลวงปู่ตื้อเป็นอย่างดี
เมื่อหลวงปู่เข้าเฝ้า สมเด็จฯ จึงถามท่านว่า “ท่านผู้หญิงมาฟ้องว่าท่านเทศน์หยาบคาย จริงไหม?”
หลวงปู่ท่านตอบรับตรงๆ ว่า จริง เพราะสิ่งที่ท่านเทศน์นั้นล้วนแต่เป็นธรรมะของจริง ไม่รู้จะยกไปซ่อนเร้นปิดบังไว้ที่ไหน แล้วท่านก็ย้อนทูลถามสมเด็จฯ กลับไปว่า
“สมเด็จฯ จะฟังไหม เกล้าฯ จะเทศน์ให้ฟัง”
เหตุการณ์นี้นับว่าเป็นเรื่องฮือฮามากในครั้งนั้น
๖๐
เรื่องของพระอาจารย์ประยุทธ ธมฺมยุตฺโต
ผู้เขียนได้อ่านเรื่องของพระอาจารย์ประยุทธ จากนิตยสารโลกทิพย์ ฉบับที่ ๑๖๔ น่าสนใจมาก มีผู้เคยนำไปสร้างเป็นนิยาย ผู้เขียนจึงนำมาเสนอโดยย่อไว้ ณ ที่นี้
ในนิตยสารโลกทิพย์ ได้ขึ้นหัวเรื่องว่า “พระอาจารย์ประยุทธ ธมฺมยุตฺโต แห่งวัดป่าผาลาด อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี อดีตขุนโจรอิสไมล์แอ ผู้หันเหชีวิตเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ จนมรณภาพในสมาธิ และอัฐิกลายเป็นพระธาตุ”
เรื่องของพระอาจารย์ประยุทธ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง หนังสือพิมพ์เคยลงข่าวเกรียวกราวเกี่ยวกับ “ขุนโจรอิสไมล์แอ สลัดทะเลหลวงผู้โหดเหี้ยม เสรีไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ฆ่าคนมานับไม่ถ้วน บางคราวก็ฆ่าอย่างโหดร้ายทารุณ...”
เรื่องของพระอาจารย์ประยุทธจริงๆ แล้วไม่เป็นที่เปิดเผย เพิ่งจะมีผู้สืบเสาะนำประวัติมาเผยแพร่หลังจากท่านมรณภาพไปแล้วถึง ๑๐ ปี โดยสอบถามเอาจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เรื่องที่ได้จึงยังเลือนลางอยู่
ท่านอาจารย์ประยุทธ ธมฺมยุตฺโต นามสกุลเดิม สุวรรณศรี เกิดที่จังหวัดเพชรบุรี ในครอบครัวที่มีฐานะดีพอควร ทราบแต่ว่า ท่านเกิดวันเสาร์ เดือน ๕ ปีมะโรง พ.ศ.๒๔๗๑ มีพี่น้องรวมทั้งตัวท่านด้วย ๕ คน
ครอบครัวท่านอพยพไปอยู่ทางหัวหิน ท่านจึงเติบโตที่นั่น
พระอาจารย์เล่าว่า ชะตาของท่านต้องฆ่าคนเมื่ออายุ ๑๑ ปี โดยไม่เจตนา คือขว้างมีดเล่นๆ ไปถูกที่สำคัญทำให้ชายผู้หนึ่งตาย แต่ยังเป็นเด็กจึงยังไม่ถูกลงโทษฑัณฑ์
เมื่ออายุครบบวช โยมบิดาสิ้นชีวิตแล้ว โยมมารดาจึงจัดให้บวชตามประเพณีอยู่ ๑ พรรษา ท่านบอกว่าไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย เพราะบวชตามประเพณีจริงๆ
หลังจากลาสิกขาแล้ว ก็จากครอบครัวไปทำมาหากินทางภาคใต้ ประกอบอาชีพหลายอย่างในหลายจังหวัด เคยทำประมง เป็นกัปตันเรือหาปลา มีเพื่อนฝูงและลูกน้องมาก และเคยไปตั้งบาร์ไนท์คลับที่ประเทศมาเลเซีย
ระยะผกผันในชีวิต คือ มีพ่อค้าใหญ่ในกรุงเทพฯ ได้ว่าจ้างให้ขนฝิ่นไปส่งลูกค้าที่มาเลเซีย ในราคาเที่ยวละ ๒,๐๐๐ บาท ไปรับเงินที่ปลายทาง
ผู้มารับฝิ่นเป็นเจ้าหน้าที่ ๒ คนบอกว่าจ่ายเฉพาะค่าฝิ่น ๒,๐๐๐ บาทเท่านั้น ค่าขนเขาไม่เกี่ยว สรุปว่าโดนหักหลัง ทางเจ้าของฝิ่นทางกรุงเทพฯ คงไม่ไว้ใจท่านแน่ โทษฑัณฑ์ในวงการฝิ่นก็คือ การฆ่าลูกเดียว
แต่ที่สำคัญ เจ้าหน้าที่ ๒ คนนั้นขู่ว่า ถ้าไม่ตกลงตามราคาที่เสนอก็จะแจ้งตำรวจมาเลเซียจับ
เรียกว่าท่านไม่มีทางเลือก จึงตัดสินใจฆ่าเจ้าหน้าที่ ๒ คนนั้นแล้วโยนศพลงทะเลไป ปรากฏว่า ศพเกิดลอยน้ำมาติดอยู่ข้างเรือ ท่านจึงถูกจับฐานสงสัยว่าฆ่าคนตาย แต่ไม่มีเรื่องค้าฝิ่น
พระอาจารย์ประยุทธ ถูกขังในคุกมาเลเซียหลายเดือน ขึ้นศาลหลายครั้ง พอครั้งที่ ๖ มีผู้ชายบุคลิกดีอายุราว ๕๐-๖๐ พยายามขอเข้าเยี่ยม บอกว่า “ไม่เป็นไร ไม่ถึงตาย หรือติดคุกหรอกหลานชาย ลุงจะช่วย”
ลุงคนนั้นบอกคาถาสั้นๆ ให้ไว้บริกรรมเวลาขึ้นศาล ท่านไม่เชื่อแต่ก็ยอมทดลองดู ปรากฏว่าได้ผล “เพราะวันตัดสิน ศาลปล่อย แต่ห้ามเข้ามาเลเซียอีก รอดประหารไปได้อย่างปาฏิหาริย์”
พระอาจารย์ประยุทธ บอกให้ลูกศิษย์ฟังว่า ท่านมาทราบในภายหลังว่าคุณลุงคนนั้นเป็นเทพ มาช่วยปกปักรักษาท่าน เมื่อพ้นโทษจากมาเลเซีย พระอาจารย์ก็กลับเมืองไทย ยังวนเวียนอยู่ทางภาคใต้เช่นเดิม ในช่วงนั้นอยู่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลไทยต้องเข้าร่วมกับญี่ปุ่นด้วยความจำเป็นบังคับ
ขณะเดียวกัน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมกับคนไทยจำนวนหนึ่งจัดตั้งคณะเสรีไทย ทำงานใต้ดินเพื่อขัดขวางกองทัพญี่ปุ่นทุกวิถีทาง
พระอาจารย์ประยุทธ ได้เข้าร่วมกับคณะเสรีไทย อยู่ในกลุ่มที่คอยตัดกำลังญี่ปุ่น เรียกว่า กลุ่มไทยถีบ คือเมื่อญี่ปุ่นขนอาวุธยุทโธปกรณ์ เสบียงอาหาร ไปให้กองทัพของตนตามภาคต่างๆ ซึ่งส่งไปทางรถไฟ ก็จะถูกกลุ่มไทยถีบ ถีบของเหล่านี้ลง เพื่อไม่ให้ส่งไปถึงปลายทางได้
พระอาจารย์ประยุทธ ได้รวมสมัครพรรคพวก ได้ประมาณ ๒๐๐ คน ไปซ่องสุมอยู่เกาะตะรุเตา ส่วนหนึ่งเป็นโจรสลัดอยู่ในทะเล คอยปล้นเรือสินค้าและเสบียงทางเรือของกองทัพญี่ปุ่น แล้วนำไปแจกจ่ายให้ประชาชนที่กำลังอดอยากตามชายฝั่ง อีกส่วนหนึ่งกระจายกันอยู่บนฝั่งคอยเป็นหูเป็นตาให้
โจรสลัดทะเลหลวงกลุ่มขุนโจรอิสไมล์แอ โด่งดังมากในช่วงนั้น
เมื่อสงครามสงบลง การปล้นของโจรกลุ่มนี้ก็เปลี่ยนแผนใหม่ ในช่วงนั้นประชาชนทางภาคใต้มีข้าวไม่พอกิน ในตลาดก็ไม่มีขาย แต่มีเรือของผู้มีอิทธิพลขนข้าวไปขายทางมาเลเซีย ฮ่องกง สิงคโปร์ ซึ่งอยู่ในภาวะขาดแคลนเหมือนเมืองไทย แต่ขายสินค้าได้แพงกว่ามาก
ขุนโจรอิสไมล์แอ เห็นว่าไม่ถูกต้อง จึงคุมสมัครพรรคพวกเข้าปล้นเรือขนส่งสินค้าเหล่านั้นหลายหน แล้วนำสินค้าเหล่านั้นออกแจกประชาชนเช่นเคย
ผู้มีอิทธิพลเจ้าของสินค้าพยายามเจรจาต่อรอง แต่กลุ่มโจรไม่ยอม ถ้าไม่หยุดส่งสินค้าไปขายต่างประเทศ
พระอาจารย์ประยุทธ หรือ นายประยุทธ สุวรรณศรี คุมลูกน้องเป็นโจรสลัดในทะเลหลวงอยู่ ๕ ปี เป็นขุนโจรอิสไมล์แอที่โด่งดังที่ไม่มีใครปราบได้
เหตุการณ์พลิกผันในชีวิตอีกครั้งหนึ่ง เมื่อน้องสาวส่งข่าวว่าคุณแม่ตาย ก่อนตายคร่ำครวญหาแต่ “เล็กของแม่” จนกระทั่งสิ้นใจ
พระอาจารย์ประยุทธ มากราบรูปถ่ายของแม่ ระลึกย้อนถึงเหตุการณ์แต่ครั้งหลัง ถึงความรักความห่วงใยของแม่ พลัน...จิตของท่านก็สงบลง และวูบลงไป
ปรากฏเป็นชายร่างกำยำ ๔ คน ตรงมาจับส่งท่านกระชากลงไปในนรก จับใส่เครื่องขื่อคา แล้วบังคับให้ลงไปในกระทะทองแดง ท่านหวาดกลัวมาก พลันคิดถึงแม่ จึงร้องเรียก
“แม่ช่วยลูกด้วย”
ปกติโยมแม่เป็นคนใจบุญ ชอบทำบุญ และอยู่ในศีลในธรรมเสมอมา
พอท่านร้องว่า “แม่ช่วยด้วย” ก็มีใบบัวใหญ่เท่ากระด้งตากปลามาช้อนร่างท่านขึ้นไปบนที่สูง ได้ไปเห็นวิมานที่สวยงาม พบเหล่านางฟ้าเทพธิดาต่างๆ จำนวนมาก...
หลังจากท่องวิมานพอสมควร ก็มีนางฟ้าท่านหนึ่งพูดว่า “ไปเสียก่อนเถอะ ไปสร้างกุศลบารมีให้พอเสียก่อน จึงค่อยมาเจอกันใหม่”
แล้วท่านอาจารย์ประยุทธ ก็รู้สึกตัวอยู่ตรงหน้ารูปถ่ายของคุณแม่นั้น แต่ท่านก็งุนงงกับเหตุการณ์มาก ไม่รู้ว่าเป็นอะไร หลังจากนั้นท่านก็บอกกับพี่สาว น้องสาว ว่าจะขอออกจากบ้านไปอีกครั้งหนึ่ง ไม่ทราบว่าจะไปนานเท่าใด พี่สาวเอาเงินมาให้ ๕,๐๐๐ บาท ท่านหยิบเอาเพียง ๕๐๐ บาท เหลือนอกนั้นบอกให้เอาไปทำบุญให้แม่
ความจริงท่านมีเงินมาก แต่ไม่กล้าบอกให้พี่น้องรู้ รับไว้เพียง ๕๐๐ บาทพอเป็นพิธีเท่านั้น
พระอาจารย์ประยุทธ มุ่งลงใต้ เพราะลูกสมุนยังมีอยู่มากและคุ้นเคยกับภูมิภาคแถบนั้นดี ท่านอยู่ที่นั่นนานพอสมควร ก็ได้พบกับ “หลวงปู่” องค์หนึ่ง ท่านเกิดความเลื่อมใส จึงแจกจ่ายเงินทองทรัพย์สินทั้งหมดให้ลูกน้อง แล้วท่านก็บวชเป็นพระอย่างเงียบๆ ไม่มีพิธีรีตองอะไรให้ยุ่งยาก เรียกว่า “โกนหัวเข้าวัด”
พระอาจารย์ประยุทธ ได้อยู่ปฏิบัติธรรมกับ “หลวงปู่” ๑ ปี ได้ฝึกกรรมฐานและธุดงค์วัตรตามแบบพระป่า
วันหนึ่ง “หลวงปู่” ก็บอกว่า ท่านหมดความรู้ที่จะสอนแล้ว ต้องไปหาอาจารย์อีกองค์หนึ่ง ตอนนี้อยู่ทางภาคเหนือ พระองค์นั้นแหละที่จะเป็นครูอาจารย์ของท่าน
“หลวงปู่” บอกว่าได้คุยฝากฝังกับพระอาจารย์องค์นั้นในทางจิตและรู้เรื่องกันหมดแล้ว
“หลวงปู่” ได้บอกรูปร่างลักษณะและที่อยู่ของพระอาจารย์องค์นั้นอย่างละเอียด
และสั่งว่า “ข้อสาคัญ การไปหาท่านอาจารย์จะขึ้นรถลงเรือไม่ได้ ต้องเดินธุดงค์ด้วยเท้าจากใต้ไปถึงภาคเหนือ จะนานเท่าไรก็ตาม”
พระอาจารย์ประยุทธ ใช้เวลาเดินธุดงค์ ๓ เดือนเต็มจึงได้ไปเป็นศิษย์ของหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ที่วัดป่าดาราภิรมย์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ตามที่นำเสนอแล้วในตอนต้น
พระอาจารย์ประยุทธ อยู่ในสำนักหลวงปู่ตื้อ ๓ ปี ท่านจึงได้ธุดงค์ต่อไป ท่านได้ไปสร้างสำนักสงฆ์ที่ถ้าผาพุง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย และไปมรณภาพที่วัดป่าผาลาด ตำบลวังด้ง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒
๖๑
หลวงพ่อเปลี่ยนเข้าไปเป็นลูกศิษย์
หลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป วัดอรัญญวิเวก บ้านปง ตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ก็เป็นศิษย์สำคัญองค์หนึ่งของหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม
หลวงพ่อเปลี่ยนได้เล่าถึงหลวงปู่ตื้อ พระอาจารย์องค์หนึ่งของท่าน ดังนี้
ในระหว่างที่อาตมาพักอยู่ ณ วัดสันติธรรม (ในเมืองเชียงใหม่ ก็ได้ทราบข่าวว่า หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ในขณะนั้นพักอยู่ ณ วัดธรรมสามัคคี (วัดป่าสามัคคีธรรม ซึ่งต่อมาก็คือวัดป่าอาจารย์ตื้อ) อาตมาจึงเดินทางไปพบทันที
อาตมาดีใจมาก เพราะเดินทางมาภาคเหนือนี้ ได้ตั้งใจมากราบท่านโดยตรง เมื่อกราบนมัสการท่านเรียบร้อย และสอบถามความเป็นมาจนเข้าใจดีแล้ว เย็นวันนั้นอาตมาจึงได้เล่าสิ่งที่ภาวนาติดขัดอยู่ในจิตใจเป็นเวลานาน คือ เรื่องการตามจิตไม่ทัน คำอธิบายของท่านที่แนะนำก็แบบเดียวกับที่หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี และหลวงปู่ขาว อนาลโย เป็นผู้ชี้บอกให้นั่นเอง
หลวงปู่ตื้อท่านบอกว่า เรื่องนี้ไม่สำคัญหรอก เมื่อสติ สมาธิ ปัญญา มันพอดีกันเมื่อไร เมื่อนั้นจะเข้าใจเองนั่นแหละ ไม่นานหรอกให้ตั้งใจภาวนาไปเรื่อยๆ
อาตมาได้รับกำลังใจมาก และได้อยู่จำพรรษากับท่านในปีนั้น จึงได้ปฏิบัติภาวนากับท่าน เพื่อหาทางพิจารณาเกี่ยวกับความจริงแห่งจิตใจ
การที่อาตมาได้อยู่ปรนนิบัติใกล้ชิดกับหลวงปู่ตื้อ ทำให้ได้เห็นปฏิปทาการปฏิบัติของท่านอย่างใกล้ชิด เคารพศรัทธาท่านเป็นอย่างมาก หลวงปู่ท่านเป็นพระพูดจริง ทำจริง ปฏิบัติธรรมอย่างชนิดทุ่มเทกำลังทั้งหมด ยอมสละแม้กระทั่งชีวิต
อาตมามีความตั้งใจที่จะเรียนรู้ความเป็นผู้มีพลังจิตวิเศษของท่านให้มากเท่าที่จะมากได้ สมกับที่บุคคลทั่วไปกล่าวขวัญกันว่า ท่านสำเร็จปฏิสัมภิทาญาณ
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ท่านเป็นพระแท้ มีความสามารถในการสอนธรรมะอย่างยอดเยี่ยม อธิบายข้อสงสัยได้กระจ่าง อาตมาจึงปลื้มปิติมากที่ได้มาอยู่กับท่าน สมกับความเหน็ดเหนื่อยที่สู้อุตสาห์บุกป่าฝ่าดงมา เพื่อถวายตัวเป็นศิษย์ท่าน ไม่มีผิดหวังเลย
๖๒
การอุปัฏฐากครูบาอาจารย์
หลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป ได้อยู่จำพรรษากับหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม วัดธรรมสามัคคี สมกับความตั้งใจ ท่านเล่าให้ฟัง ดังนี้
ในระหว่างพรรษานั้น อาตมาก็ได้อยู่จำพรรษากับหลวงปู่ตื้อสมความปรารถนา ดังนั้น การปฏิบัติตนในฐานะศิษย์ และได้อยู่ปรนนิบัติพระอาจารย์ตามฐานะและกำลังกาย จึงนับได้ว่ายอดเยี่ยม เป็นการแสดงความกตัญญูมากทีเดียว
ข้อปฏิบัติต่อผู้เป็นพระอาจารย์ มีดังนี้ ๑. ต้มน้ำร้อน ถวายน้ำล้างหน้า ๒. ทำความสะอาดกุฏิ และเช็ดบาตร ๓. จะทำหน้าที่ต่างๆ ช่วยดูแลสอดส่องสิ่งของของครูอาจารย์ เช่น ซักจีวร ย้อมผ้าจีวร เป็นต้น ๔. ถวายการนวด กวาดลานวัด และทางเดินจงกรมถวายท่าน
เวลาพิเศษสำหรับพระเณรลูกวัดก็เห็นจะได้แก่เวลาค่ำ ในเวลาดังกล่าว ครูบาอาจารย์จะหยุดพักผ่อนดื่มน้ำชาน้ำร้อน พระภิกษุ สามเณรต่างมาพร้อมกันที่กุฏิของท่าน
สำหรับอาตมานั้นเป็นผู้อุปัฏฐาก จึงไม่เคยขาดการบีบนวดถวายท่าน ก็ในระหว่างนี้เองหลวงปู่ท่านจะเทศน์ให้ฟังบ้าง สอนธรรมะบ้าง สอนวิธีปฏิบัติที่ได้ผลมากๆ เช่น การละขันธ์ ๕ เพราะเป็นแนวทางแห่งความพ้นทุกข์จริงๆ
พระเณรที่มีปัญหาขัดข้องในการปฏิบัติธรรมประการใดๆ ก็นำมาถามมาตอบกันในช่วงนี้เอง จึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญและให้ประโยชน์มาก
ในส่วนของอาตมา หลังจากถวายการอุปัฏฐากแล้ว ก็ออกไปบำเพ็ญภาวนาด้วยตนเอง ได้แก่ เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา จะนอนหลับจริงๆ ก็เพียงคืนละ ๒ ชั่วโมงเท่านั้น
ความเคยชินของอาตมา จะนอนได้ไม่มากกว่านี้ คือ ๒ ชั่วโมง ถ้าพ้นจากนี้นอนไม่หลับ จะต้องตื่นลุกขึ้นมาทำความเพียรทันที
ในช่วงแรกๆ อาตมาทำความเพียรอย่างเคร่งครัดมาก ไม่มีเวลาจะมานั่งพูดคุยอย่างนี้หรอก
อาตมาสังเกตตัวเองว่า ในพรรษานั้นจิตใจก้าวหน้าไปไกลทีเดียว ทั้งนี้เพราะได้พระอาจารย์ที่มุ่งมั่นหาทางพ้นทุกข์ และหลวงปู่ก็สอนเราอย่างหนักหน่วงจริงจังมากด้วย
อาตมาเริ่มตามดูจิตใจที่ตกหายไปกลางทาง เริ่มเข้าเค้าความจริง จิตจะนิ่งดีมาก รู้ชัดเจน เมื่อรู้ทางดำเนินจิตก็ทำให้ปิติเป็นอันมาก มีกำลังใจปฏิบัติภาวนาให้หนักยิ่งขึ้น เช่น เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ แม้หลังเที่ยงคืนก็จะนั่งสมาธิไปจนเช้า เป็นต้น
๖๓
คิดอยากได้วิชาจากหลวงปู่
เกี่ยวกับปฏิปทาของหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม นั้น หลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป ได้เล่าไว้ ดังนี้
อาตมาเคยสังเกตความอัศจรรย์ทางจิตของหลวงปู่ตื้อเป็นอันมาก มีอยู่ครั้งหนึ่ง หลังจากฉันเสร็จ วันนั้นไม่มีญาติโยมคนใดนั่งอยู่เลย อาตมาเห็นว่าสมควรจะได้นิมนต์ให้ท่านไปพักผ่อนกลับขึ้นกุฏิ พอออกปากนิมนต์ หลวงปู่ก็พูดออกมาว่า
“เราเห็นญาติโยมกำลังมาหาอยู่แล้วขณะนี้ กำลังออกเดินทางจากเชียงใหม่”
เมื่อท่านว่าอย่างนั้น อาตมาก็มิได้ว่าอะไร ก็กลับขึ้นกุฏิ มองเห็นท่านยังนั่งเฉยอยู่ อาตมาได้นั่งสังเกตดูอยู่ครู่ใหญ่ๆ แล้วก็เห็นมีผู้คนเดินมายังที่ท่านนั่งอยู่ หลวงปู่รออยู่แล้วจึงเชิญนั่ง ต้อนรับกันอยู่ตรงนั้น จนบรรดาญาติโยมคณะนั้นกลับกันหมด ท่านก็ไม่พูดอะไร อาตมาเห็นท่านนั่งยิ้มน้อยๆ อยู่อย่างนั้น
อาตมาคิดอยากได้วิชาอย่างนี้บ้าง หลวงปู่ท่านรู้ใจของอาตมาและก็ได้พยายามอบรมบ่มนิสัย สอนสั่งอาตมาอยู่ตลอดเวลา เกี่ยวกับการที่จะหยั่งรู้วาระจิตต่างๆ ด้วยจิต
แรกๆ ความอยากรู้อยากได้ของอาตมามีมาก จึงทำให้เกิดล่าช้า แต่เมื่อหลวงปู่ท่านสอนไปเรื่อยๆ จิตใจก็สงบเย็นมากขึ้น และรู้ว่าบริสุทธิ์ขึ้นเรื่อยๆ
๖๔
แนะนำถึงความลี้ลับของจิต
ในคราวที่อยู่ปรนนิบัติหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ที่วัดธรรมสามัคคีนั้น หลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป ได้รับการสั่งสอนแนะนำถึงความลี้ลับของจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนั่งภาวนา เมื่อเกิดเห็นนิมิตบางอย่างขึ้น แม้จะออกจากสมาธิมาแล้ว ขณะเมื่อเดินบิณฑบาต ก็ยังมองเห็น “สิ่งประหลาดๆ” อยู่เนืองๆ
หลวงปู่ตื้อท่านสอนสั่งในเรื่องนิมิตที่เกิดขึ้น ว่านิมิตนั้นจำแนกไปหลายประการ จิตของนักปฏิบัติมีหลายขั้นตอนตามนิสัยบารมีของแต่ละคน
พูดถึงผู้มีสมาธิดี จิตใจบริสุทธิ์สะอาด ก็จะปรากฏนิมิตที่แจ่มใส เป็นไปด้วยอำนาจฌานและอำนาจแห่งญาณ
ตอนที่หลวงพ่อเปลี่ยนออกเดินบิณฑบาตตามหลังหลวงปู่ตื้อ และพระภิกษุสงฆ์องค์อื่นๆ ท่านมองเห็นผู้คนในลักษณะต่างๆ ที่ไม่เหมือนกับที่ตาเราเห็น ตอนแรกๆ ก็คิดว่าเราไปสร้างนิมิตเอาเอง พอนานๆ ไปก็เห็นว่าเราพบเรื่องจริงเข้าแล้ว จึงได้นำมากราบเรียนปรึกษากับหลวงปู่ตื้อ แล้วท่านให้ข้อคิด ดังนี้
๑. ถ้านิมิตเห็นบุคคลธรรมดานุ่งห่มผ้าสีเหลืองเดินเข้ามาหา แสดงว่าจิตของบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้มีศีล ๕ อยู่เป็นปกติ มีสมาธิ มีการปฏิบัติศีลอย่างสม่ำเสมอ ละเว้นจากการทำชั่ว มีใจเป็นพระ เป็นธรรม
๒. ถ้านิมิตเห็นบุคคลธรรมดานุ่งห่มด้วยผ้าขาว แสดงว่าจิตของบุคคลนั้นมีศีล ๕ เป็นปกติ และมีใจเป็นเทพเทวดา
๓. ถ้านิมิตเห็นบุคคลธรรมดานุ่งห่มเสื้อผ้าขาด ผิวคล้ำไม่มีสง่าราศี แสดงว่าจิตของบุคคลนั้นตกต่ำลงไปกว่าความเป็นคน คือ มีความคิดแต่จะทำความชั่ว
๔. ถ้านิมิตเห็นบุคคลที่ใส่เสื้อผ้าดำสนิท จิตของเขามีศีลที่ไม่บริสุทธิ์ ใจหยาบ
ที่ต่ำไปกว่านั้น คือ จะเห็นเป็นลักษณะของเดรัจฉาน เช่น ควาย ต่ำลงไปก็เป็นสุนัข ต่ำลงไปก็เป็นสัตว์ประเภทเลื้อยคลาน เช่น งู เป็นต้น
หลวงพ่อเปลี่ยนได้รับการบอกเล่าเช่นนี้จากหลวงปู่ตื้อ นับว่าเป็นประโยชน์ยิ่งนัก
๖๕
ใช้พลังจิตรักษาศิษย์ที่ป่วยไข้
ช่วงที่หลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป ไปอยู่ปฏิบัติภาวนากับหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม นั้น ท่านได้พยายามฝึกฝนจิตใจให้แก่กล้า ด้วยการดำเนินรอยตามพระผู้เป็นอาจารย์อย่างชนิดทุ่มเทจิตใจเลยทีเดียว ท่านว่าไว้อย่างนั้น
จากการที่ได้อยู่ปรนนิบัติรับใช้ใกล้ชิดหลวงปู่ตื้อ ทำให้หลวงพ่อเปลี่ยนได้เห็นความอัศจรรย์ในองค์หลวงปู่มากมาย หลวงพ่อเปลี่ยนจึงมีความตั้งใจว่า จะต้องเอาวิชาเช่นนี้จากท่านให้ได้
คุณลักษณะสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่หลวงพ่อเปลี่ยนได้รับการถ่ายทอดอย่างถอดแบบมา คือ ความเฉียบขาดในพลังอำนาจจิตของท่าน สิ่งนี้เป็นกิตติศัพท์ที่รู้กันทั่วในหมู่พระป่าผู้ปฏิบัติกรรมฐาน และผู้สนใจทั่วไป
ครั้งหนึ่ง พระเณรในวัดเกิดเจ็บป่วยเป็นไข้ป่า เพราะไปติดเชื้อมาเลเรียมาจากการไปภาวนาอยู่ในป่าดงพงไพร เมื่อหลวงปู่ตื้อท่านทราบ ก็จะทำการรักษาให้เป็นอย่างดี ท่านให้เหตุผลว่า อายุเขายังน้อย ควรที่จะฝึกฝนอบรมให้มีพลังต่อไป จะต้องรักษาให้หาย
แล้วหลวงปู่ตื้อก็นั่งเพ่งใช้พลังจิตเป็นอำนาจในการรักษา ท่านใช้เวลานั่งเพ่งนานพอสมควร แล้วท่านก็ทำภารกิจของท่านไปตามปกติ เช่น เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา พอได้เวลาสมควร ท่านก็จะมานั่งเพ่งจิตช่วยเหลือต่อ ท่านทำอย่างนี้เพียง ๒-๓ วันเท่านั้น อาการไข้ของพระเณรก็จะหายเป็นปกติ พระเณรบางรูปก็ไม่รู้ว่าหลวงปู่ท่านส่งพลังจิตไปช่วยเหลือ แต่ทุกรูปก็หายเจ็บไข้ในเวลาที่รวดเร็ว นับว่าหลวงปู่มีอำนาจจิตที่แก่กล้า มีพลังมหาศาลเลยทีเดียว
สำหรับองค์ของหลวงปู่ตื้อเอง ถ้าเกิดอาพาธเจ็บป่วยขึ้นมา ท่านก็เฉยเสีย เดินจงกรมก็เป็นไปตามปกติ นั่งภาวนาก็เป็นไปตามปกติ หลวงพ่อเปลี่ยนเข้าไปกราบเรียนขอให้ท่านเพ่งรักษาโรคภัยในร่างกายของท่านบ้าง ท่านก็ตอบว่า
“เราไม่เคยตามใจสังขาร มันเป็นได้ ก็ต้องปล่อยให้หายเอง ใครเอาอะไรมาให้ก็กิน ใครไม่เอาอะไรมาให้ ก็ไม่กิน การเจ็บป่วยมันเป็นเรื่องของสังขาร ใจเราเฉยๆ ก็จะสบายไปเองแหละ”
เมื่อหลวงพ่อเปลี่ยนกราบเรียนถามท่านว่า “หลวงปู่เจ็บมากไหม”
หลวงปู่จะตอบว่า “มากหรือไม่มาก หนักหรือไม่หนัก ก็ดูเอาเอง”
เมื่อเป็นดังนี้ หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม จึงต้องมีศิษย์ที่เคยรับใช้ใกล้ชิดกันมาก่อนและรู้ใจของท่านได้ดี ไว้คอยดูแล เมื่อเห็นว่าท่านมีอาการเจ็บป่วยขึ้นมา ซึ่งปกติท่านจะไม่บอกให้ใครรู้ เราต้องคอยสังเกตอาการของท่านจึงจะพอเข้าใจ ในการถวายการรักษาและการจัดยาก็ต้องจัดถวายท่าน โดยพระอุปัฏฐากต้องคาดคะเนเอาเอง
๖๖
เกี่ยวกับการขบฉันภัตตาหาร
การขบฉันภัตตาหารของพระป่ากรรมฐานกับพระบ้านโดยทั่วไปนั้น ไม่ค่อยจะเหมือนกัน พระบ้านโดยปกติจะนั่งฉันเป็นหมู่ เป็นวงร่วมกัน และฉันจากจานหรือภาชนะต่างๆ หลายใบ ส่วนพระธุดงค์หรือพระวัดป่าท่านจะฉันในบาตร คือจะพิจารณาแล้วจัดอาหารในส่วนที่ท่านต้องการใส่ลงในบาตร แล้วลงมือฉันเฉพาะในบาตร ต่างองค์ต่างฉันเงียบๆ ไม่พูดไม่คุยกัน ฉันเสร็จก็เก็บบาตร ลุกขึ้นไปไม่ต้องรอกัน
ผู้เขียนขออนุญาตออกนอกเรื่องหน่อย คือ เกี่ยวกับเรื่องการฉันอาหารของพระสงฆ์นี้ ท่านเจ้าคุณพระโพธินันทมุนี ลูกศิษย์ของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล แห่งวัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ท่านพูดกับผู้เขียนในลักษณะเปรียบเปรยขำขันว่า
หมายเหตุ : ต่อมาภายหลังท่านเจ้าคุณพระโพธินันทมุนี (สมศักดิ์ ปณฺฑิโต) แห่งวัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่ พระราชวรคุณ - สาวิกาน้อย
เวลาดูพระท่านฉันภัตตาหาร ก็คล้ายกับการเล่นดนตรี คนเก่งก็เล่นหลายชิ้น คนไม่เก่งก็เล่นดนตรีชิ้นเดียวเงียบๆ พระป่าเวลาฉันก็เหมือนตีกลองอยู่ตรงหน้าเพียงใบเดียว นักดนตรีที่เก่งหน่อยก็ตี ระนาด ขยายไปถึงตีฆ้องวง ส่วนนักดนตรีที่เก่งก็บรรเลงกันเป็นวง และขยายเป็นวงใหญ่ๆ มีผู้ร่วมบรรเลงหลายคน ญาติโยมซึ่งเป็นคนชม ก็สนุกสนานครื้นเครงไปด้วย - ถ้าไม่เกี่ยวกับเรื่องที่กำลังเขียน ก็กราบขออภัยด้วยครับ
สำหรับหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ท่านเป็นพระที่แปลกกว่าพระเถระองค์อื่นๆ ซึ่งหลวงพ่อเปลี่ยนเล่าให้ฟัง ดังนี้
มีอยู่วันหนึ่ง พระผู้ใหญ่รูปหนึ่งมาที่วัด พอถึงเวลาฉันพระอาจารย์ ท่านนั้นก็นั่งรอเฉยอยู่ หลวงพ่อเปลี่ยนก็กราบนิมนต์ให้ท่านฉัน ท่านก็บอกว่ารอหลวงปู่ตื้อก่อน หลวงปู่ยังไม่มา
เมื่อพระผู้ใหญ่ไม่ลงมือฉัน พระลูกวัดก็ต้องนั่งรอไปด้วย ใช้ผ้าปิดบาตรนั่งภาวนารอนานพอสมควร หลวงปู่ตื้อท่านก็เดินขึ้นมา พอเห็นว่ายังไม่ได้ฉันกันเลย ท่านก็พูดว่า “จะรอไปทำไม ขันธ์ ๕ ของใครก็ของใคร ท้องใครก็ท้องใคร นั่นปากใครก็ปากใครสิ ไม่ต้องรอ ฉันไปเถิด ฉันเสร็จแล้วก็ไปล้างบาตร ตากแห้งเลย แล้วไปภาวนา เราจะฉันเวลาไหน หรือไม่ฉันเลย ก็ขอให้เป็นเรื่องของเราเถิด”
หลวงปู่ตื้อจึงเป็นพระรูปเดียวในวัด เป็นพระผู้นั่งฉันเสร็จเป็นรูปสุดท้าย ส่วนอาตมา (หลวงพ่อเปลี่ยน) เป็นผู้นำบาตรของท่านไปล้างทำความสะอาด เช็ดจนแห้ง แล้วก็เทกระโถนของท่านด้วย ดูเวลาพอสมควรแล้วจึงนิมนต์ท่านขึ้นกุฏิ
๖๗
ท่านสอนไม่ให้ใครเอาอย่างท่าน
หลวงพ่อเปลี่ยนได้เล่าถึงปฏิปทาของหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ต่อไปดังนี้
การที่ท่านเป็นพระที่พูดจาโผงผางไม่อ้อมค้อมนี้ อจลธมฺโมภิกขุ จึงเป็นที่รู้จักในหมู่พระสายกรรมฐาน และในบรรดาประชาชนทั่วไปว่า
“ใครหน้าบาง ก็อย่าไปนิมนต์พระอาจารย์ตื้อ เพราะนอกจากท่านจะเทศน์ตรงแล้ว ยังพูดตรงอีกด้วย ถ้าใครหน้าบางเป็นนางอายละก็ฟังไม่ได้”
หลวงพ่อเปลี่ยนได้เล่าต่อไปว่า
หลวงปู่ตื้อท่านมีปฏิปทาที่ไม่เหมือนใคร และใครก็เอาอย่างท่านไม่ได้ เป็นลักษณะนิสัยเฉพาะองค์ท่าน หลวงปู่ไม่เคยสอนใครให้เอาอย่างท่าน แต่ท่านสอนให้ศิษย์ทุกรูปปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า สอนให้ทุกคนมีความกล้าหาญ เพราะความกล้าหาญเป็นมรดกในทางธรรมของพระพุทธเจ้า อันหมายถึงว่า ถ้าเราดีจริงๆ แล้วไม่ต้องหวั่นเกรงอันตราย ไม่มีใครจะมาทำร้ายเรา ขอให้ดีจริงๆ ก็แล้วกัน
ความดีมีศีลธรรม มีคำสัตย์ มีคำจริง ไม่มีนิสัยหลอกลวงโลก ชี้ทางพระนิพพานได้จริง นี่เป็นสมบัติของพระพุทธเจ้าที่ควรจะดำเนินจิตใจของเรา
๖๘
ตัวอย่างความกล้าและพูดตรงของหลวงปู่
หลวงพ่อเปลี่ยนได้ยกตัวอย่างเรื่องความกล้า และพูดตรงของหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ขึ้นมาตอนหนึ่งว่า
ความกล้าตอนหนึ่งที่อาตมาจำได้ดี วันนั้นจะมีญาติโยมมาหาท่าน ท่านพูดว่า
“เดี๋ยวจะมีผีมานั่งตรงนี้...” ท่านชี้ไปตรงที่ว่างๆ “ดูจะมีคนมานั่งที่นี่” ท่านชี้ไปอีกด้านหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้กัน
นั่งอยู่พักใหญ่ๆ ก็มีโยมเดินทางมาหาท่านจริงๆ มีผู้ชายมานั่งตรงที่ท่านบอกว่าผีจะมานั่ง พอนั่งแล้วก็ไม่กราบพระสงฆ์องคเจ้า นั่งเฉยอยู่อย่างนั้น
ส่วนตรงที่ท่านบอกว่าจะมีคนมานั่ง ก็มีผู้ชายกับผู้หญิงมานั่ง ทั้งหมดมาด้วยกัน มารถคันเดียวกัน แต่แยกลงนั่งที่ต่างๆ กัน สองคนหลังกราบหลวงปู่อย่างนอบน้อม พร้อมกับพูดคุยด้วยจิตใจศรัทธาและเบิกบาน
ครั้นคนกลุ่มนั้นขอให้ท่านแสดงธรรมะคือเทศน์ให้ฟัง ซึ่งหลวงปู่ท่านพร้อมเสมออยู่แล้วก็พูดขึ้นว่า
เอ้า...ฟังเทศน์นะ คนนี้เขาไม่เอาพุทโธ มาถึงพระพุทธรูปก็ไม่กล้าจะกราบ มาถึงก็นั่งยังกับว่าไม่มีสัมมาคารวะ นี่เป็นผีไม่ใช่คน...”
นี่แสดงถึงความกล้าของท่าน ตาในเห็นอย่างไร ท่านก็พูดอย่างนั้น ไม่เกรงว่าใครจะโกรธ ใครจะฟังหรือไม่ ชอบหรือไม่ชอบ ท่านไม่ใส่ใจ
หลวงปู่ตื้อมักจะพูดว่า “เราเทศน์เรื่องจริง เราไม่ได้เทศน์เพื่อเอาใจใคร เอาใจผู้อื่นก็เท่ากับเลี้ยงกิเลสให้อ้วนพี เรามีความจริงใจ เราไม่ได้เทศน์เอาบุหรี่เกล็ดทองของใคร”
หลวงปู่ตื้อท่านมีจิตใจหนักแน่นและเปิดเผย ท่านพูดตรง จนพระเถระผู้ใหญ่บางท่านได้ห้ามปราม แต่ท่านก็ยังคงยืนหยัดเชื่อมั่นในองค์ท่าน และเหตุผลของท่านก็เป็นจริงเช่นนั้นด้วย
๖๙
หลวงปู่ตื้อก็เคยใบ้หวย
ดูชื่อหัวเรื่องออกจะน่าเกลียดไปหน่อย เรื่องนี้ผู้เขียน (นายปฐม นิคมานนท์) เคยได้ยินจากพระผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง แต่นึกไม่ออกว่าที่ไหนและชื่อไร จำได้แต่เรื่องราว
เรื่องมีอยู่ว่า มีญาติโยมผู้นิยมหวยกลุ่มหนึ่งมีทั้งชายและหญิง เช่าเหมารถเพื่อไปกราบโดยหวังจะได้เลขเด็ดจากหลวงปู่ ทุกคนเต็มไปด้วยความหวัง
หลวงปู่ก็ให้การต้อนรับขับสู้ตามปกติทั่วไป พอได้จังหวะ สมาชิกที่เป็นหัวหน้ากลุ่ม ก็เจรจาเลียบเคียงขอเลขเด็ดจากท่าน
หลวงปู่พูดว่า “มันจะไปยากอะไร ก็อยู่ที่ตูดของพวกสูนั่นแหละ นั่งทับกันอยู่ก็ยังไม่รู้ กลับไปดูเอาเองก็แล้วกัน”
สมาชิกกลุ่มผู้นิยมหวยต่างนึกกระหยิ่มยิ้มย่อง แต่ละคนก็ไม่เคยดู “ตูด” ของตัวเอง ขากลับจากวัดก็พากันหาสถานที่เหมาะ จอดรถแล้วพากันลง ชายแยกไปเฉพาะชาย หญิงแยกไปเฉพาะหญิง ช่วยกันพินิจพิจารณาดูตูดของกันและกัน ดูอย่างละเอียดลออทั้งนอกผ้าและในผ้า (อันนี้ผู้เขียนจินตนาการเอาเอง)
ในเรื่องไม่ได้บอกว่า ตัวเลขเด็ดที่ทุกคนใฝ่หานั้นสถิตอยู่ที่ชิ้นส่วนของใคร? ผู้หญิงหรือผู้ชาย?
แต่ที่แน่ๆ... เลขที่ออก ก็คือ...เลขป้ายทะเบียนรถที่ทุกคนนั่งไปนั่นเอง
๗๐
เรื่องบอกเล่าจากหลวงปู่บุญเพ็ง กปฺปโก
ศิษย์อีกท่านหนึ่งที่มีโอกาสใกล้ชิดกับหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ก็คือ หลวงปู่บุญเพ็ง กปฺปโก แห่งสำนักวัดป่าวิเวกธรรมวิทยาราม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
หลวงปู่บุญเพ็ง ไปบำเพ็ญเพียรที่เชียงใหม่ และได้อยู่อุปัฏฐากใกล้ชิดกับหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม และหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๓-๒๕๐๗
หลวงปู่บุญเพ็ง พูดถึงหลวงปู่ตื้อ พระอาจารย์ของท่าน ดังนี้
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ท่านเป็นนักเทศน์โผงผาง ใครมีกิเลสมาก จะพากันรังเกียจท่าน ถ้าผู้มีปัญญาพ้นสนิมกิเลสบ้างไม่มากมาย เพียงน้อยนิด พอฟังเข้าใจได้ ก็จะศรัทธาชื่นชมกับความเปิดเผย ความจริงใจ และความเด็ดเดี่ยวของท่าน
อย่างเมื่อตอนที่หลวงปู่ตื้อ ท่านพักที่วัดป่าดาราภิรมย์ อำเภอแม่ริม นั่งสนทนากันอยู่หลายองค์ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ก็ได้ถามขึ้นว่า
“ท่านตื้อ ถ้าไม่รักษาศีล ไม่เจริญสมาธิ ไม่บำเพ็ญปัญญา จะไปนิพพานได้ไหม ตอบหน่อย”
พระดังอย่างหลวงปู่ตื้อ เรื่องมงคลหมาท่านก็เคยเทศน์มาแล้ว ตอบหลวงปู่อ่อนว่า
“มี ก็จะเป็นอะไรไป ถ้าไม่รักษาศีล ก็ให้รักษาซิ่น (ผ้าถุงที่สตรีนุ่ง) ไม่เจริญสมาธิ ก็ให้รักษาช่องเข้า ไม่เจริญไม่บำเพ็ญปัญญา ก็ให้รักษาช่องขี้เท่านั้นแหละ”
หลวงปู่อ่อน ท่านก็ว่า “โอ...ท่านตื้อนี้พูดหยาบคาย”
“ไม่หยาบหรอกหลวงพ่อ ผมจะอธิบายให้ฟัง คืออย่างนี้
๑. ก็ธรรมดา ร่างกายสังขารของเรานี้ ไม่ว่าผู้ชายหรือผู้หญิงก็ตาม เครื่องนุ่งเครื่องห่มก็ต้องรักษาให้สะอาด สังขารร่างกายก็เปรียบเหมือนผ้าเหมือนซิ่น ต้องรักษาให้สะอาดอย่าให้มัวหมอง
๒. ไม่บำเพ็ญสมาธิ ให้รักษาช่องเข้า ก็อะไรเล่า กิเลสมันเข้าทางไหน มันเข้า ช่องตา ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก ลิ้น กาย และใจ ใช่ไหม ? ช่องเข้าเหล่านี้เราต้องรักษาไว้ อย่าให้กิเลสมันเข้า มันจึงจะเกิดความสะอาดบริสุทธิ์ได้ จริงไหม
๓. ไม่บำเพ็ญปัญญา ให้รักษาช่องขี้ ก็ขี้ทุกข์ ขี้ยาก ขี้ลำบาก ขี้ยากจน ขี้คร้าน ขี้เกียจ ขี้คุก ขี้ตะราง ขี้อิจฉาริษยา ขี้โกรธ ขี้หึง ไล่มันออกไปให้หมด อย่าให้มันเข้ามารังควานซี เท่านี้ทำได้บ่...”
นั่นความจริงท่านไม่เจตนาพูดคำหยาบอะไรเลย ท่านพูดความจริง บางคนไม่เข้าใจธรรมะ ฟังพระสอนมากแล้วแต่ไม่เข้าใจ ก็เพราะยังไม่เคยฟังเรื่องจริงๆ ของนักเทศน์อย่างหลวงปู่ตื้อ
นี่แหละ ธรรมะมิใช่จะสอนให้คนโง่ ให้หลับฟุบคาพื้น ฟังแล้วอย่าให้ง่วง เราไม่ใช่พระอภัยมณีนี่นะ จึงเป่าปี่ให้หลับทั่วเมือง นี่ต้องอย่างนี้
๗๑
คนฟังน้อยหรือมากก็เทศน์ดุเดือดเหมือนกัน
หลวงปู่บุญเพ็ง กปฺปโก ได้พูดถึงหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม พระอาจารย์ของท่านต่อไปว่า
ในระหว่างการได้อยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ ครั้งนั้นอาตมาก็มีโอกาสได้กราบหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม อำเภอแม่แตง ปากทางเข้าไปทางแม่แฝก (ปัจจุบันคือปากทางเข้าเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล) เรียกว่า วัดป่าอาจารย์ตื้อ
พอออกพรรษา หน้าแล้ง อาตมาได้ไปฝึกฝนอบรมอยู่กับท่าน ตลอดวันตลอดคืนเลยทีเดียว ท่านเทศน์อย่างองอาจกล้าหาญ สังเกตว่า เมื่อท่านอยู่ในป่าดง มีคนฟังแค่คนสองคนท่านก็เทศน์ดุเดือดอย่างนั้น
เมื่อท่านไปเทศน์ตามสาธารณชน มีคนมากๆ ท่านก็เทศน์ดุเดือดอย่างนั้น
คนฟังไม่เป็นจะเข้าใจว่าท่านพูดหยาบคาย พระบ้าพระบออะไร จึงมาเทศน์อย่างนี้
ความจริงแล้ว ท่านเทศน์เรื่องจริง เป็นความดีทั้งหมด นอกจากว่า คนเราไม่ชอบฟัง ไม่ชอบคนพูดตรงๆ มันคอยปกปิดความชั่วของกันและกันอยู่ แล้วมันก็เที่ยวหวังความสุขความสงบกัน จะได้ยังไง
ธรรมะเป็นของจริง จะให้พูดแต่เรื่องเอาใจกัน พูดเรื่องไม่จริงกัน ก็หาของหาผลประโยชน์ใส่ตัวกันละนะ
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ท่านเป็นพระเปิดเผย พูดจริงแล้วได้ธรรมะจริงๆ ทำตัวท่านพ้นทุกข์ได้จริง ท่านไม่เทศน์ยกยอใคร กัณฑ์เทศน์ไม่เกี่ยว เทศน์ให้ได้สติรับรู้วาระจิตจริงๆ ก็เป็นอันว่าเอาตัวรอดได้
อาตมาก็ได้ทางดำเนินชีวิตจากท่านนี่แหละ ธรรมปฏิปทานั้นก็มีครูบาอาจารย์รูปแรก คือ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร และรูปที่สองก็หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม
ได้ปัญญาก็เพราะหลวงปู่ตื้อ ได้ความฉลาด และวิธีแก้ปัญหาของผู้คนทั้งหลายนะ วิชาการต่างๆ ก็ได้จากท่านนะ ท่านสอน ก่อนจะสอนกรรมฐานก็ต้องมีพิธีการของท่าน
เวลานั้น หลวงปู่แหวนท่านอยู่ที่บ้านปง (วัดอรัญญวิเวก อยู่ห่างจากวัดป่าอาจารย์ตื้อประมาณ ๓ กิโลเมตร) ทั้งสององค์ไปมาหาสู่กันเสมอๆ เคยได้ฟังธรรมะจับใจจริงๆ เมื่อฟังหลวงปู่สองท่านพูดคุยธรรมะกัน
หมายเหตุ : หลวงปู่บุญเพ็ง เคยไปโปรดที่บ้านผู้เขียน ๒-๓ ครั้ง ท่านได้รับการถ่ายทอดบุคลิก ปฏิปทา และลีลาการเทศน์มาจากหลวงปู่ตื้ออย่างมากทีเดียว โดยเฉพาะลีลาการเทศน์ที่ดุดัน พูดจริง พูดตรง ไม่เทศน์เพื่อเอาประโยชน์หรือเอาใจใคร เป็นพระวิปัสสนาที่ยอดเยี่ยมองค์หนึ่งในปัจจุบัน
๗๒
ปฏิปทาหลวงปู่ตื้อ หลวงปู่แหวน หลวงปู่สิม
ในระหว่างที่หลวงปู่บุญเพ็ง กปฺปโก ได้ไปอยู่ภาวนากับหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม นั้น ท่านได้เล่าถึงปฏิปทาครูบาอาจารย์ ดังนี้
ประสบการณ์ที่เคยได้อยู่กับครูบาอาจารย์น่ะ รูปอื่นๆ เช่น หลวงปู่สิม น่ะ ท่านก็เป็นพระเถระที่เงียบๆ ไม่ค่อยจะพูดอะไรนัก เมื่อสอนธรรมะเท่านั้นที่หลวงปู่จะพูดสอนนานๆ ส่วนเวลาที่นั่งดื่มน้ำชาร่วมกับพระอื่นๆ ท่านพูดน้อยมาก ไม่ถามไม่ตอบ
เมื่อได้อยู่กับหลวงปู่ตื้อ โอ...ท่านพูดเก่งมาก สอนธรรมะนี่ ทั้งวันทั้งคืนไม่จบสิ้น ฟังจนขึ้นใจ จำคำพูดของท่านได้หมด
ส่วนหลวงปู่แหวนนี่ ท่านเงียบเลย ไม่ถามไม่ตอบ ไม่ถามไม่พูดอะไรเลย
หลวงปู่ตื้อนั่นท่านพูดคุยเรื่องโน้นเรื่องนี้ พอค่ำมาก็นำทำวัตร สวดมนต์ ทำวัตรเสร็จท่านก็หันหน้ากลับมา ที่นี้ท่านจะเทศน์สอน การปฏิบัติทางจิตให้เกิดความสงบอย่างไร อะไรที่วุ่นวายท่านให้จับตัวนั้นให้ได้ มองดูภายใน พอได้เห็นชัดอย่างนั้น ก็สามารถกำหนดความดีเข้าสู่จิตใจได้แล้ว ท่านว่าอย่างนั้น
หลวงปู่ตื้อท่านเทศน์เท่าไรๆ อาตมานั่งฟังได้ตลอด จะเป็น ๒ ชั่วโมง หรือ ๓ ชั่วโมง ก็สุดแท้แต่ สามารถนั่งฟังได้ตลอดเวลา
๗๓
ต้องเทศน์สอนตัวเองด้วย
หลวงปู่บุญเพ็ง กปฺปโก เล่าต่อไปว่า
อยู่กับหลวงปู่สิม พุทฺธจาโร ที่วัดสันติธรรมในตัวเมืองเชียงใหม่ ๒ พรรษา (พ.ศ. ๒๕๐๓-๒๕๐๔) มีโอกาสได้ไปฟังเทศน์หลวงปู่ตื้อ เพื่อแลกเปลี่ยนคำสอนและสถานที่อยู่หลายครั้ง
อย่างกับในฤดูหนาวอีกปีหนึ่ง พอนั่งสมาธิได้ เอาผ้าคลุมศีรษะไว้ เพราะมันหนาวจริงๆ เย็นเฉียบเลย นั่งนิ่ง พอจิตมันรวมแล้ว อะไรก็ช่าง หนาวก็ไม่รู้จัก ร้อนก็ไม่วุ่นวาย ทำความเพียรตลอด
หลวงปู่ตื้อท่านก็เทศน์ ๒-๓ ชั่วโมงเลยเหมือนกัน ท่านเทศน์นะ ท่านสอนตัวของท่านเองด้วย ท่านอธิบายว่า
“ตนเองเทศน์เอาความดีให้คนอื่นๆ ได้ ตัวเองก็ควรฟังเทศน์ด้วย จึงจะถูก เราผิดเราแก้ไขได้ ถ้าเทศน์สอนคนอื่นได้ แต่ตัวเองยังมีทิฏฐิ เห็นผิดเป็นชอบอยู่ ทำอะไรก็เป็นปัญหา เอาอะไรก็ต้องดีต้องเด่น อย่างนี้นะ สอนคนอื่นไม่ได้หรอก ยังโกรธ ยังมีความลุ่มหลงอยู่เป็นธรรมะดำ”
ธรรมะของหลวงปู่ตื้อ คนที่ฟังได้ก็ไม่มีอะไรทำให้สะดุด แต่ถ้าหากว่าคนฟังไม่ได้ คิดว่าท่านพูดคำหยาบ พูดอะไรไม่ได้สาระ ท่านเทศน์แบบชนหักไปเลย ไม่มีการอ้อมค้อม
คนถูกชนด้วยคำพูดคำเทศน์ของท่านนะ ก็มีหลายคนแตก หลายคนร้าว ต่อมาภายหลัง เมื่อคนเหล่านั้นคิดได้ ก็มากราบมาทำบุญกับท่านอีก ทั้งนี้คงเข้าใจคำพูดของท่านนะ
ธรรมะของท่านหลวงปู่ตื้อ ก็มีอยู่ในคำเทศน์ของอาตมา อาจขวางทางกับเทศน์ของคนอื่นๆ บ้างก็ได้นะ
๗๔
ฟังเทศน์ของหลวงปู่ครั้งแรกไม่เข้าใจ
หลวงปู่บุญเพ็ง กปฺปโก เล่าให้ฟังต่อไปว่า
ตอนแรกที่ฟังเทศน์ของหลวงปู่ตื้อนะ อาตมาฟังแล้วไม่เข้าใจ คิดว่านี่ท่านพูดอะไรของท่าน
จำได้ว่าท่านมาเทศน์ในงานฉลองพัดของหลวงปู่สิม ที่วัดสันติธรรมนะ ท่านเทศน์นานตั้ง ๒ ชั่วโมง ฟังไม่เข้าใจเลย เลยลุกขึ้น กลับมานอนในกุฏิ จิตใจมันไม่ยอมรับเป็นเหมือนกันนะ อันนี้ญาติโยมต้องระวัง
การฟังธรรมะแล้วเราไม่เข้าใจ จงพยายามหลบหลีกไปพิจารณาเสียก่อน อย่าด่วนตำหนิติเตียนครูบาอาจารย์ แต่ถ้าหากท่านเทศน์เลอะเทอะจริงๆ คือนอกเหตุนอกผลตามแนวทางของพระพุทธองค์ การตำหนิก็ไม่มีบาป
แต่ถ้าท่านเทศน์ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เราตำหนิท่าน ต้องเป็นบาป
ธรรมะทั้งหลายเป็นของละเอียด ต้องอาศัยสมาธิจึงจะรู้เรื่องได้นะ
ถ้าหากเรายิ่งได้อยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ ก็ยิ่งวิเศษมาก ท่านจะได้เทศน์ให้เราฟังทุกวันๆ เช่นเดียวกับอาตมาได้อาศัยนั่งฟังเทศน์หลวงปู่สิมทุกวัน ทั้งเช้าทั้งเย็นตลอดพรรษา จิตเกิดความรู้ความฉลาดในทางธรรมขึ้นมา
ที่ฟังธรรมะของหลวงปู่ตื้อไม่รู้เรื่องน่ะ ก็เพราะเรายังไม่มีพื้นฐาน จึงยืนยันได้ว่า พื้นฐานในการปฏิบัติทางจิต เรื่องพระธรรมกรรมฐานที่เข้าใจได้ ก็เพราะว่าได้พื้นฐานจากหลวงปู่สิม พุทธาจาโร ตั้งแต่นั้นมาเลยเข้าใจคำสอนของท่านแจ่มแจ้งขึ้นอีกแยะเลย
นี่เป็นประสบการณ์ในทางธรรมะ ในทางบำเพ็ญภาวนา ด้วยจิตใจมีความเชื่อว่า กรรมฐานให้ผลมากคือความสงบสุข และก็ได้จริงๆ
๗๕
หลวงปู่ตื้อกับหลวงปู่แหวน
หลวงปู่บุญเพ็ง กปฺปโก ได้เมตตาเล่าย้อนความหลังครั้งที่ท่านปฏิบัติภาวนาอยู่กับหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม และหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ
ในระหว่างพรรษาที่จังหวัดเชียงใหม่นั้น อาตมาได้ภาวนา เดินจงกรม ฝึกฝนตนเองอยู่ ณ วัดสันติธรรม อยู่กับหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร
แต่เมื่อออกพรรษาเป็นหน้าแล้ง ก็ได้ไปอยู่บำเพ็ญภาวนา ออกเดินธุดงค์กับหลวงปู่ตื้อ และหลวงปู่แหวน
หลวงปู่ตื้อท่านพูดเก่งมาก ช่างพูดช่างคุย มีอะไรดีๆ ท่านก็นำมาบอกมาเล่าตลอด ไม่เคยปิดบัง และไม่เคยคิดรังเกียจที่จะสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาเลย
ส่วนหลวงปู่แหวนท่านไม่พูดอะไรเลยสักคำเดียว สมัยนั้นท่านไม่พูดกับคนหรอก
หลวงปู่ตื้อท่านเป็นพระที่พูดจริงทำจริง ท่านเอาชีวิตของท่านออกบำเพ็ญภาวนาเพื่อหาทางพ้นทุกข์อย่างแท้จริง ไม่ใช่ออกภาวนาเพื่อหาทางเอาใจญาติโยม ไม่เคยเข้าใจใคร ถ้าผิดท่านแย้งแบบฝ่ายค้าน หัวชนดังกึกเลย ไม่ยอมท้อ ไม่หวั่นเกรงอะไรเลย
แต่ถ้าผิดจากวินัย ท่านไม่เอาด้วย ท่านมีปัญญาพิจารณา ถ้าไม่ควร ท่านก็ไม่พูด ไม่ยุ่งเกี่ยว ท่านออกป่า เอาบาตรคล้องคอ มือซ้ายหิ้วกาน้ำ มือขวาคว้ากลด ออกแน่วเข้าป่าไปเลย
หลวงปู่แหวนก็เหมือนกันไม่ชอบยุ่งกับคน เข้าป่าเงียบ ใจท่านดุจพญาราชสีห์ เด็ดขาดมากทั้งสองรูป
รูปหนึ่งท่านพูดไม่หยุด คือหลวงปู่ตื้อ อีกรูปหนึ่งไม่ชอบพูด เงียบสนิท คือหลวงปู่แหวน แต่การปฏิบัติที่ล้ำลึกของครูอาจารย์ทั้งสองท่านนั้น ใครไม่อาจรู้ได้ นอกจากตัวของท่านเอง
หมายเหตุเพิ่มเติม : ได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากหลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป ว่า พวกภูตผีปีศาจกลัวหลวงปู่ตื้อ พวกงูและสัตว์เลื้อยคลานต่างๆ กลัวหลวงปู่แหวน ส่วนเรื่องอาหารการขบฉัน หลวงปู่ตื้อไม่ชอบฉันกล้วย แต่หลวงปู่แหวนท่านชอบฉันกล้วย หลวงปู่ทั้งสององค์ท่านจึงไปด้วยกันได้เป็นอย่างดี
๗๖
ตอบคำถามเกี่ยวกับนิมิตต่างๆ
คำเล่าของหลวงปู่บุญเพ็ง กปฺปโก ต่อไป มีดังนี้
อาตมาจะเล่าประสบการณ์เท่าที่หลวงปู่ตื้อท่านเล่าให้ฟัง ก็เพราะท่านตอบคำถามของอาตมาเกี่ยวกับนิมิต ความรู้ความเห็นตลอดถึงการนั่งสมาธิสู้กับผีต่างๆ
หลวงปู่ตื้อท่านว่า นิมิตมีหลายแบบ นิมิตนะดีก็มีมาก นิมิตหลงก็มีมาก แต่มันจะดีหรือมันจะหลอกนั้น ผู้ภาวนาเป็นมันจะรู้เองหรอก คนที่ถูกนิมิตหลอกก็เพราะภาวนาไม่เป็น มันหลงทางนะ
ก็ถ้านิมิตมันหลอกเอาคนไปกินจริง พระพุทธเจ้า พระสาวกเจ้า ครูอาจารย์ ก็คงเหลือแต่กระดูกเท่านั้นซี
คนฉลาด มีปัญญา นิมิตมาหลอกไม่ได้หรอก คนโง่ นั่งเซ่อไม่ลืมหูลืมตาต่างหาก ที่นิมิตพาไปบ้าบอเสียสตินะ ก็สติมันเสียแต่แรกแล้วนะ คนเช่นนั้นน่ะ
นี่หลวงปู่ตื้อ จึงพูดว่า คนเราเกิดมามีทุกอย่างในตัว มีธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม มีสติ มีความดี มีความโง่ มีปัญญา อยู่ในนั้นแหละ เว้นแต่ว่าเรายังไม่ได้ฝึก เราก็ยังไม่รู้
เมื่อได้ฝึกอบรม มีองค์พระพุทโธอยู่ในจิตใจแล้ว สมควรแล้ว ก็จะรู้สิ่งที่ไม่เคยรู้ เห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็น
ที่ว่ารู้ รู้อะไรน่ะ ก็รู้เท่าทันกิเลส คนมีปัญญาต้องรู้อย่างนี้นะ อย่าไปรู้เรื่องอื่นๆ ยิ่งไปกว่ารู้เท่าทันกิเลส
เห็นน่ะเห็นอะไร เห็นหนทางที่จะฆ่าจะดับกิเลส เปิดประตูเข้าพระนิพพานไป อย่าไปเห็นสิ่งที่เขาไม่อยากให้เห็นนะ อย่าไปเห็นว่าเป็นผัว อย่าไปเห็นว่าเป็นเมียเขามาก่อนในอดีตชาติ เป็นต้น
อย่างนี้หลวงปู่ตื้อ เคยเปรียบเทียบว่า “มันมองเห็นเลย ผ้าซิ่นของเขานี่ มันเป็นปัญหานี่ มันเป็นทุกข์นี่ มันไม่มีปัญญาหลบนี่ มันก็เข้าไหปลาร้าเก่าแหละเว้ย”
นี่แหละ พระพุทธเจ้ารู้ชัดว่า พระองค์จะขนหมู่มนุษย์ไปได้ไม่หมด เอาแต่คุณภาพ คือผู้มีปัญญาไปนิพพานได้เป็นส่วนน้อย เหมือนใบไม้ในป่า พระองค์เอาไปได้แต่กำมือเดียวเท่านั้นรู้ไหม ท่านว่าอย่างนี้
นิมิตที่เกิดจากจิตภายในนั้น เราจะต้องฝึกให้เกิดความเห็นที่ถาวร ทำอย่างไร?
หลวงปู่ตื้อท่านให้ข้อคิดแก่อาตมา ดังนี้
“เรื่องสมาธิ เรื่องนิมิต ถ้าหากได้ภาวนาอยู่เสมอๆ ไม่มีตัวอยากจนเกินไป อยากรู้อยากเห็นนะ เป็นตัวกิเลสใหญ่ทีเดียวแหละ”
๗๗
ยกนิมิตของหลวงปู่มั่นเป็นตัวอย่าง
หลวงปู่บุญเพ็ง กปฺปโก เล่าต่อไปว่า
ที่นี้ผู้ภาวนาเกิดเห็นสิ่งต่างๆ (นอกจากตาเห็น) ได้จริงหรือไม่นั้น หลวงปู่ตื้อได้กล่าวเอาไว้อย่างนี้นะ
สมัยที่หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ท่านอยู่ที่บ้านหนองผือนาใน (อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร) โน้น สมัยก่อนมันเป็นป่าดงพงไพรทั้งนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นทุ่งนาของญาติโยม ทุ่งนาก็ดี ป่าก็ดี เวลานั้นลำบากเรื่องน้ำใช้น้ำอาบมาก ทีนี้มันมีลำธารอยู่แห่งหนึ่ง ทุกวันหลวงปู่มั่นท่านจะลงไปตักน้ำสรงเสมอๆ พอท่านเดินไปถึงริมลำธารท่านจะถอดรองเท้า แล้วเดินอ้อมไปอีกทางหนึ่ง จึงวกกลับมาตักน้ำสรงตัวท่าน
พอได้สรงน้ำเสร็จ ท่านก็เดินอ้อมไปหยิบรองเท้าแล้วเดินกลับกุฏิไป
หลายๆ ครั้งเข้า พวกชาวบ้านเขาเห็นนี่นะว่าทำไมหลวงปู่มั่นไปถึงตรงนั้น แล้วถอดรองเท้าเดินอ้อมไปอีกทางก่อนจะวกมาอาบน้ำ สรงน้ำที่ริมธารนั้น
ความจริงท่านเดินตรงไปอีกนิดเดียวก็ถึงลำธารแล้ว ทำไมท่านจะต้องถอดรองเท้าไว้ แล้วเดินอ้อมที่ตรงนั้นไป
หลวงปู่มั่นท่านก็ไม่ได้บอก ไม่ได้เล่าเหตุผลของท่าน ท่านคงทำอยู่อย่างนั้นเป็นประจำอยู่หลายปี จนท่านอาพาธหนัก ต้องช่วยกันแบกหามแคร่ของท่านเดินทางไปวัดป่าสุทธาวาส ในตัวจังหวัดสกลนคร แล้วท่านก็ละสังขารไป
เอาแล้วซิครับ...เป็นปัญหาที่ผู้สนใจจะต้องหาคำตอบ ฝากเป็นการบ้านก็แล้วกันนะครับ ใครรู้คำเฉลยช่วยบอกผู้เขียนด้วยครับ กราบขอบพระคุณล่วงหน้าครับ
หมายเหตุเพิ่มเติม : เขียนไปค้นเจอในภายหลังว่า ชาวบ้านหนองผือสงสัยว่า ทำไมหลวงปู่มั่นจึงต้องถอดรองเท้าและเดินอ้อมที่ตรงนั้นทุกครั้ง หลังหลวงปู่มรณภาพแล้ว ได้พากันขุดดู ก็พบพระพุทธรูปฝังดินอยู่ ณ สถานที่นั้น จึงอัญเชิญขึ้นมาไว้สักการบูชาต่อไป
ข้อคำถามตามมาคือ เดี๋ยวนี้พระพุทธรูปองค์นั้นอยู่ที่ไหนครับ?
๗๘
หลวงปู่ครับ ผีมีจริงหรือเปล่า?
หลวงปู่บุญเพ็ง กปฺปโก ได้เล่าต่อไปว่า
อาตมาจะขอเล่าต่อไปนะ...
คนสงสัยมันสงสัยเรื่อยแหละ อาตมาถามหลวงปู่ตื้อว่า “หลวงปู่ครับ มีผีจริงหรือเปล่า?”
“อ้าว...มีซิ ถ้าสงสัยไปถามท่านแหวนดูก็ได้ ผีมีจริงนะ...”
แล้วหลวงปู่ตื้อก็เล่าเรื่องหลวงปู่แหวนว่า “เดือนที่ไปภาวนาใหม่ๆ เวลานั้น เราก็ดี ท่านแหวนก็ดี เพิ่งจะฝึกภาวนาใหม่ๆ เป็นพระมหานิกายอยู่ ยังไม่เคยได้พบกับพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต หรอก เวลานั้นยังเป็นมหานิกาย แต่ก็อยากเดินธุดงค์กรรมฐานแสวงหาความจริง”
ทีนี้หลวงปู่ตื้อท่านก็เล่าให้ฟังว่า ท่านไปธุดงค์กันสองรูปนั่นแหละ ไปทางพม่า แล้วกลับมาทางกอกะเรก เข้าทางอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก นะ
ที่นี้ก็พากันไปพักยังศาลาเก่าๆ หลังหนึ่งกลางป่านั่น สมัยก่อนไม่มีผู้คนหรอก
มาถึงฝั่งไทยก็เหน็ดเหนื่อยมาก จึงมาพักอยู่ที่ศาลาหลังนั้น แขวนกลดคนละมุมศาลา
“เรานอนอยู่มุมหนึ่ง ท่านแหวนก็นอนอยู่มุมหนึ่ง คืนแรกสบายดี จนรุ่งเช้าก็ออกบิณฑบาต ได้อาหารมาแล้วก็กลับมาฉันที่ศาลา
พอวางสิ่งของและบาตรเท่านั้นเอง ท่านแหวนนั่งลง เอามือยันไปข้างหน้ากับพื้นกระดานนะ ผีเล่นงานท่าน ขากรรไกรแข็งหมด ท้องแข็งหมด น้ำลายไหลไม่หยุด”
หลวงปู่ตื้อคิดว่าหลวงปู่แหวนท่านเป็นลมหรือไง
“เอ...ท่านแหวนๆ” เรียกอย่างนั้น “เออ...ก็ไปบิณฑบาตกลับมาดีๆ อยู่นี่นะ เอาแล้วซี”
เข้าที่ ทำจิตดูก็รู้ว่า “นี่มันผีนี่นะ” ว่าแล้วหลวงปู่ตื้อก็ทำท่าขู่ผี
ด่าเลย ! ด่าผี เวลานั้นการปฏิบัติยังอ่อนทั้งคู่ ไม่มีคาถานี่นะ เลยด่าเอา ผีก็ยังไม่กลัว ด่ามันก็ไม่กลัว ก็เลยหาอุบายใหม่ เอาใบไม้แห้งๆ นำมากองไว้ แล้วก็จุดไฟขู่เลย “เอาละ ถ้าหากไม่ไปนะ จะเอาดุ้นฟืนที่ติดไฟแดงๆ นี่เผาเสียเลย ผีมันไม่กลัวไฟให้มันรู้ไปซี”
ว่าแล้วก็เอาไม้ขีดจุดไฟ เอาดินแห้งๆ ก้อนโตๆ มาเผา เผาจนแดง แล้วก็เอาไม้มาคีบ ทำเป็นเหมือนคีมหนีบยื่นเข้ามา แล้วก็ขู่ว่า “เอาละ ถ้าไม่ออกจากร่างพระสงฆ์องคเจ้า ไม่เกรงกลัวบาปกรรมละก็เราจะเผาให้ตายจริงๆ”
หลวงปู่ตื้อท่านทำจริงนะ ด่าก็เก่ง ทำก็เก่ง เอาซีทีนี้ ท่านจะเผาผีด้วยดินจี่ (จี่ แปลว่า เผา เป็นภาษาอิสาน) ร้อนๆ ยื่นเข้าไปข้างหน้าของหลวงปู่แหวน
“เอาละนะ วันนี้ถ้าเจ้าไม่ออกไป ข้าจะเอาตายเลยวันนี้ว่ะ...มาเล่นกับตาตื้อหรือไง เอาละ...”
ว่าแล้วก็เอาดินจี่จี้ลงบนหัวของหลวงปู่แหวนจริงๆ เท่านั้น ผีออกเลยทีเดียว หลวงปู่แหวนกระดุกกระดิกตัวได้ก็พูดออกมาว่า “บ๊ะ มันจะเอาตายจริงๆ นะ ท่านตื้อ !”
วันนั้น พอฉันเสร็จ ล้างบาตรเสร็จ ก็เตรียมตัวออกเดินธุดงค์ต่อไป อยู่ไม่ได้ หลวงปู่แหวนเก็บกลดห่มผ้าแล้วออกเดินเลย
หลวงปู่ตื้อไม่ยอมไป บอกหลวงปู่แหวนว่า “ไปรอข้างหน้านะ ผมจะจัดการกับผีตัวนี้ให้ได้”
หลวงปู่แหวนท่านไม่ฟังเสียง ออกเดินธุดงค์ไปเลย ไม่อยู่แล้ว “ท่านตื้อจะอยู่ก็อยู่ไปเถิด ผมไปก่อน”
หลวงปู่ตื้อก็ว่า “เอาเถิดๆ ไปรอข้างหน้าก่อน ผมจะพิสูจน์กับผีสักหน่อย แล้วจะตามไป”
หมายเหตุเพิ่มเติม : ผู้เขียนเคยกราบเรียนถามครูบาอาจารย์ว่า ทำไมสมัยนี้ ผีไม่ดุเหมือนสมัยก่อนๆ ได้รับคำตอบว่า เพราะพระธุดงค์ได้ไปช่วยปลดปล่อยวิญญาณให้ได้ไปผุดไปเกิด และให้เลิกมิจฉาทิฏฐิต่างๆ รวมทั้งสอนประชาชนให้เลิกเรื่องการนับถือ การเส้นสรวงภูตผีวิญญาณต่างๆ ด้วย
ผู้เขียนกราบเรียนถามอีกว่า ที่ไหนผีดุที่สุด? องค์ที่เคยลงใต้ก็บอกว่า ที่ป่าช้าบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนหลวงปู่บุญเพ็ง กปฺปโก ท่านก็ว่า ที่ผานกเค้า จังหวัดเลย ก็แล้วแต่ประสบการณ์ของครูบาอาจารย์แต่ละท่าน
๗๙
ผีผู้หญิงจะเอาหลวงปู่แหวนไปทำผัว
ดูชื่อหัวเรื่องค่อนข้างอาจหาญมาก ผู้เขียนกราบขออภัยต่อหลวงปู่ด้วยครับ
หลวงปู่ตื้อนั่งอยู่บนศาลานั้น ตกกลางคืนท่านสวดมนต์ไหว้พระ ไม่มากหรอก ท่านให้เหตุผลว่า
“ไม่สวดมนต์มาก เอาพอเป็นพิธีนิดๆ หน่อย หรือพอสาบานน้ำไม่ให้ไหลได้เท่านั้น !”
(คำนี้เป็นปริศนาธรรม ลองพิจารณาดูก็พอจะคิดออก แต่ผู้หญิงคงเข้าใจลำบากหน่อย ผู้ชายมีโอกาสคิดได้มากกว่า - ผู้เขียน)
เออ...นั่นท่านสวดมนต์พอเป็นพิธี พอสาบานน้ำไม่ให้ไหลได้เท่านั้น...พิจารณาเอาเองนะ เสร็จแล้วท่านก็นั่งภาวนา จิตสงบดี สว่างทั่วบริเวณนั้น
ผีผู้หญิงก็มาปรากฏเข้ามาเลย ปรี่เข้ามาหา เสร็จแล้วท่านก็เพ่งจิตเข้าใส่ บอกว่า หยุด !
“เจ้าไม่รู้จักพระสงฆ์ผู้มีศีลมีธรรมเลยจริงๆ เจ้าจะเอาอะไร? เจ้ามาจากไหนวะ? เจ้าผีร้าย”
ผีก็ตอบว่า “ใช่แล้ว ฉันเป็นผีตายทั้งกลม ลูกตายในท้อง เขาเอามาฝังไว้ที่นี่”
“อ้าว ! เจ้าใช่ไหมที่ทำพระสงฆ์ท่าน?”
“ใช่ !”
“แล้วทำท่านทำไม บาปกรรมรู้ไหม?”
ดิฉันชอบพระรูปนั้น ท่านสวย ท่านหล่อดี ฉันชอบท่าน จะเอาพระรูปนั้นไปทำผัว”
หลวงปู่ตื้อได้ฟังก็พูดว่า
“โอ...ท่านแหวนนี่มีเสน่ห์หลายนะ ผีจะเอาทำผัวน่ะ เกือบมิล่ะ...เจ้ามันเป็นบ้านะเออ พระเจ้าท่านมาหาบำเพ็ญภาวนา หาศีลหาธรรม ละเว้นกิเลสตัณหา จะมาเอาท่านเป็นผัว เป็นบาปกรรมนะ เวลานี้เจ้าก็เป็นเปรตเป็นผีอยู่จะให้ตกนรกมากกว่านี้หรือ ตั้งแต่นี้ต่อไป เจ้าจงอย่าทำพระป่าพระธุดงค์นะ เห็นท่านก็อนุโมทนาสงเคราะห์ท่านซี จะได้ไปเกิด...เอาเจ้ารับศีลเดี๋ยวนี้...”
นั่น...หลวงปู่ตื้อ ท่านให้ผีรับศีลเลย สอนศีลห้าให้ จนผีตัวนั้นลดละทิฏฐิลง ยอมรับความดีงาม
แรกๆ มันไม่รู้ มันบอกไม่รู้ว่าเป็นพระเป็นเจ้า “หลวงปู่แหวนตอนเป็นพระรุ่นหนุ่ม ท่านผิวขาว งามหลายนะ มันก็จะเอาไปเป็นผัวละซี”
หลวงปู่ตื้อท่านเล่าว่า “เราอยู่ที่ศาลาหลังนี้เป็นเวลา ๑ เดือน อยู่สอนผีตนนั้นให้รู้จักทำดีบ้าง อย่างน้อยก็จะเป็นวิสัยตามส่ง เราก็แผ่เมตตาให้ ทำบุญให้บ้าง จนผีผู้หญิงนี้ค่อยๆ สุขสบายขึ้น”
แล้วหลวงปู่ตื้อจึงเดินทางมุ่งไปทางจังหวัดเชียงใหม่ ไปพบหลวงปู่มั่น พบหลวงปู่แหวน ที่วัดเจดีย์หลวง ในตัวเมืองเชียงใหม่ แล้วญัตติเป็นพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตเป็นศิษย์ติดตามหลวงปู่มั่นต่อไป
โอ ! ขนาดผี หลวงปู่ยังเมตตาถึงเพียงนี้ เสียสละเวลาให้ถึง ๑ เดือนเต็มๆ แล้วลูกศิษย์ที่เป็นคนละ? ท่านจะเมตตาและเสียสละให้สักเพียงไรหนอ? นี่แหละครูบาอาจารย์ที่แท้จริง...สาธุ...ขอกราบแทบเท้าหลวงปู่ด้วยเศียรเกล้า
๘๐
เมตตาธรรมของหลวงปู่
หลวงปู่บุญเพ็ง กปฺปโก ได้เล่าถึงคำสอนของหลวงปู่ต่อไปว่า
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ท่านสอนอาตมาว่า การเดินธุดงค์อยู่ป่าดงพงไพร ทำความสงบทางใจ ทำไปเพื่อความสิ้นทุกข์นั้น ต้องอาศัยอย่างมากเรื่องของภาวนาธรรมนะ
อีกประการหนึ่ง เราดำเนินไปเพื่อหนทางแห่งการสร้างบารมี ไม่ใช่ว่าจะนั่งเฉย ไม่มีเมตตาปราณี ไม่ทำจิต - กิจอันชอบด้วยธรรม มีเมตตากรุณา เป็นต้น
เหมือนอย่างที่เราได้เล่าให้ฟังมานั่นแหละ เป็นเรื่องของวิญญาณ เป็นเรื่องที่เราเห็น ก็ควรช่วยเหลือโปรดสัตว์ เมื่อมาปรากฏ วิญญาณเหล่านี้เขามีทุกข์อย่างมาก จึงต้องค่อยๆ โปรด ค่อยๆ สอนมันไป เพื่อให้วิญญาณเหล่านั้นได้เลื่อนภพภูมิของมันบ้าง
“ช่วยมัน” ท่านว่า ไม่งั้นจะเป็นเปรตเป็นผีอยู่อย่างนั้น ไม่มีที่สิ้นสุด ผุดเกิดก็ไม่ได้ บาปบุญคุณโทษก็ไม่รู้
นี่การเดินธุดงค์นะ เดินธุดงค์ไปก็สอนธรรมะให้ประชาชนบ้าง เขาจะได้มีหูตาสว่าง ดำเนินชีวิตได้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
นี่เป็นคำสอนของหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ใครจะเชื่อหรือไม่ ต้องพิจารณาเอาเอง
ผีเข้าหลวงปู่แหวน ก็เป็นคำบอกเล่าจากหลวงปู่ตื้อ แต่เป็นเมื่อครั้งที่ท่านทั้งสองจะเริ่มภาวนา
แต่...กาลต่อมา ผีจะกล้าเฉียดท่านหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ อย่าว่าแต่ผีเลย เสือสางช้างป่าท่านก็ไม่หวั่นไหว
แม้ความตาย ท่านก็ไม่เคยเกรงกลัวด้วยซ้ำไป
๘๑
เรื่องจากหลวงปู่ลิ้นทอง หาดใหญ่ สงขลา
ศิษย์ที่เคยมีโอกาสอยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม อีกท่านหนึ่งคือ หลวงปู่รินทร (ลิ้นทอง) กิตฺติสทฺโท แห่งวัดพุทธิการาม อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ท่านได้กรุณาถ่ายทอดประสบการณ์ลงในหนังสือโลกทิพย์ ดังต่อไปนี้
วันนั้นเป็นวันโกน หลวงปู่ตื้อท่านกำลังปลงผมอยู่ ญาติโยมทางเชียงใหม่กลุ่มหนึ่งมากราบท่านในเวลานั้นพอดี คุณนายท่านหนึ่งอยากได้เส้นผมของหลวงปู่ จึงบอกกับลูกศิษย์ของหลวงปู่ว่า
“ตุ๊เจ้าๆ ช่วยเก็บเกศาของหลวงปู่ไว้ให้ด้วยน่ะ”
หลวงปู่ตื้อท่านได้ยิน จึงบอกคุณนายท่านนั้นไปว่า “อย่าเลยนะคุณนาย เดี๋ยวอาตมาจะให้อะไรดีๆ”
คุณนายท่านนั้นแสนจะยินดี เมื่อหลวงปู่บอกจะให้อะไรดีๆ จึงไม่ติดใจที่จะเอาเส้นเกศาของท่าน
พอปลงผมเสร็จ หลวงปู่ท่านก็เอาน้ำราดให้เส้นเกศาที่โกนแล้วนั้น ไหลไปกับน้ำจนหมดสิ้น แล้วท่านก็ไปสรงน้ำ เรียบร้อยแล้วจึงออกมาสนทนากับญาติโยม
คณะชาวเชียงใหม่สนทนาธรรมอยู่กับหลวงปู่เป็นเวลานานพอสมควร เมื่อจะถึงเวลากลับ คุณนายท่านนั้นจึงได้ทวงถาม “อะไรดีๆ” จากหลวงปู่
“หลวงปู่เจ้าคะ ไหนหลวงปู่บอกว่าจะให้อะไรดีๆ แก่ดิฉันล่ะเจ้าคะ”
หลวงปู่ตื้อท่านยิ้มน้อยๆ แล้วพูดว่า
“พุทโธ ธัมโม สังโฆ”
แล้วท่านก็พูดต่อไปว่า
“พุทโธ ธัมโม สังโฆ นี่แหละเลิศประเสริฐแล้ว พระในประเทศทุกรูปจะต้องมี จะต้องถือพุทโธ ธัมโม สังโฆ ถ้าพระรูปใดไม่มีพุทโธ ธัมโม สังโฆ แล้ว รู้ได้เลยว่าพระรูปนั้นเป็นพระปลอม ขนาดขึ้นบ้านใหม่ยังต้องว่า พุทธัง สรนัง คัจฉามิ ธัมมัง สรนัง คัจฉามิ สังฆัง สรนัง คัจฉามิ เลย”
นี่แหละ อะไรดีๆ ที่หลวงปู่ตื้อ ท่านมอบให้คุณนายท่านนั้น
๘๒
ก็ไปถามหัวตอดูซิ
หลวงปู่ลิ้นทอง ได้เล่าเรื่องอำนาจพลังจิตของหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ดังนี้
กล่าวกันว่าอำนาจพลังจิตของหลวงปู่ตื้อนั้นยอดเยี่ยมมาก อย่าว่าแต่วัตถุสิ่งของที่ท่านปลุกเสกอธิษฐานจิตให้เลย แม้แต่ที่ที่ท่านปัสสาวะรดใส่ยังยิงไม่ออกเลย
เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องเอามาคุยโม้กันเล่นๆ เคยมีคนเอาปืนไปลองยิงมาแล้ว ปืนยิงไม่ออก กระสุนไม่ลั่น ลูกศิษย์ผู้ที่เอาปืนไปลองยิงนั้นถึงกับตกใจ ประหลาดใจ รีบวิ่งไปกราบเรียนถามหลวงปู่ แทบฟังไม่เป็นศัพท์เป็นภาษา “หลวงปู่ๆๆ ผมเอาปืนไปยิงหัวตอ ทำไมปืนยิงไม่ออกละครับ?”
หลวงปู่ตื้อ ท่านตอบสวนมาทันทีว่า
“ก็ไปถามหัวตอดูซิ จะมาถามอาตมาทำไม”
๘๓
ผมของกูไปลักควายพ่อมึงหรือ
หลวงปู่ลิ้นทอง ได้เล่าเกี่ยวกับเรื่องอำนาจพลังจิตและวาทะของหลวงปู่ ต่อไปอีกว่า มีบางคนคิดพิเรนเล่นแปลกๆ ยิ่งไปกว่านั้นอีก ถึงกับเอาเส้นเกศาของหลวงปู่ตื้อ ที่ท่านโกนทิ้งแล้วเอาไปลองยิงดู
ปรากฏว่า ยิงไม่ออก !
พอลงมือยิง ปืนไม่ลั่น ก็รีบมาบอกหลวงปู่ตื้ออีกเช่นกัน เพื่อหวังว่าจะให้หลวงปู่ชมที่ตนเองค้นพบความมหัศจรรย์ ถือว่าเป็นคุณความดีเกิดขึ้นกับตัว
“หลวงปู่...หลวงปู่ครับ ผมลองเอาปืนยิงเส้นเกศาของหลวงปู่ดู มันยิงไม่ออกนะครับหลวงปู่”
หลวงปู่ตื้อย้อนถามเสียงดังว่า “ผมของกูไปลักควายพ่อมึงหรือ ผมของกูไปนอนกับแม่มึงหรือ มึงเอาผมกูไปยิงทำไม ทำอย่างนี้แสดงว่าไม่เชื่อกันน่ะสิ”
แม้หลวงปู่ท่านจะกล่าวด้วยคำพูดที่ดุดัน แต่สีหน้าอาการสงบเงียบ แสดงชัดว่าการดุด่าของท่านมิได้เป็นไปด้วยอารมณ์ปุถุชน แต่เป็นการเตือนสติให้พิจารณาถึงสิ่งอันควรไม่ควร
เป็นไงละครับ คำพูดของท่านตรงดีไหม?
๘๔
เกี่ยวกับเครื่องรางของขลัง
คำบอกเล่าของหลวงปู่ลิ้นทอง อีกเช่นกัน
พวกเครื่องรางของขลังต่างๆ นี้หลวงปู่ตื้อ ท่านไม่ชอบเอามากๆ อันนี้เป็นปฏิปทาที่โดดเด่นในลูกศิษย์สายพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
พระป่าท่านไม่ติดยึดกับเรื่องเหล่านี้ การที่ท่านยอมให้ทำเหรียญ ทำพระต่างๆ หรือไปร่วมพิธีปลุกเสกต่างๆ นั้นถือเป็นการอนุโลม ทำด้วยจิตเมตตา ให้ใช้เป็นเครื่องระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย มั่นใจในความดี มิใช่เอาไว้ตีรันฟันแทงหรือเอาไปทำมาค้าขายเพื่อหาเงินกัน
มีครั้งหนึ่ง พวกทหารอากาศไปนมัสการท่าน แต่ในใจอาจจะนึกปรามาสท่านอยู่ และคงมีเหตุที่ไม่ชอบมาพากลบางอย่าง หลวงปู่ตื้อท่านผลุนผลันลุกขึ้นเดินไปปัสสาวะใส่ตอไม้ แล้วกล่าวเชิงท้าทายกับทหารกลุ่มนั้นว่า
“คนเราถ้ามันจะขลัง ต้องขลังกระทั่งเยี่ยวเอ้า...ยิงเลย”
ทหารกลุ่มนั้นยิงปืนใช่ตอไม้ กระสุนไม่ลั่นแม้แต่นัดเดียว
๘๕
เหตุการณ์บนรถโดยสาร-หลวงปู่ตื้อดังระเบิด
หลวงปู่ลิ้นทอง เล่าเหตุการณ์ดังนี้
เส้นทางเชียงใหม่-แม่แตง ในสมัยนั้นยังไม่เจริญเอามากๆ แต่ก็มีรถยนต์โดยสารวิ่งรับส่งผู้คนบนเส้นทางสายนี้แล้ว ในปีที่หลวงปู่ตื้อกำลังบุกเบิกสร้างวัดป่า ท่านจะต้องเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างอำเภอแม่แตงกับตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อทำธุระในการก่อสร้าง จึงจำเป็นต้องขึ้นรถโดยสารประจำทางไปมาอยู่บ่อยๆ
พวกรถโดยสารจะชินตากับ “หลวงตาพระป่าแก่ๆ กับศิษย์ชาวเขาผู้เฒ่าที่โกนหัว นุ่งขาวห่มขาว สะพายย่าม เดินตามต้อยๆ”
พวกรถโดยสารคงรำคาญ และหมั่นไส้หลวงตาพระป่ารูปนั้น เอาการอยู่ เพราะว่า “พอขึ้นไปนั่งบนรถปุ๊บ พระหลวงตาก็เอาเท้าขึ้นนั่งขัดสมาธิบนเบาะปั๊บ แล้วก็หลับตาปี๋ หลับเฉยโดยไม่สนใจใคร”
ช่างน่าเบื่อหน่าย และน่ารำคาญจริง ผู้โดยสารคนอื่นๆ นั่งห้อยขา เบาะเดียวนั่งได้ ๓-๔ คน แต่หลวงตาแก่รูปนั้นนั่งเอ้เตอยู่คนเดียว
เด็กหนุ่มกระเป๋ารถจึงพูดกึ่งขอร้อง กึ่งไม่พอใจ
“ป้อหลวง ตุ๊เจ้า ตื่น...ตื่นเอาตีนลงจากเบาะเน่อ”
“ลงบ่ได้” หลวงปู่ตอบทั้งๆ ที่ยังหลับตาอยู่
กระเป๋ารถเริ่มโมโห เลือดขึ้นหน้า ขณะนั้นรถกำลังตระเวนรับส่งผู้โดยสารตามรายทาง
กระเป๋าหนุ่มกล่าวสบถเสียงดัง “มันเป็นอะหยังหือ...จึงเอาตีนลงบ่ได้”
พร้อมกันนั้นก็เอามือกระชากขาของหลวงปู่เพื่อเอาลงจากเบาะ
ทันใด ครืด...ครืด...ครืด...ฉึก !
เครี่องยนต์ดับสนิท รถโดยสายหยุดกึกอย่างฉับพลัน ผู้โดยสารทั้งคันหัวคะมำไปตามๆ กัน
หลวงปู่พูดขึ้น “หลวงตาบอกแล้ว...ลงบ่ได้...ลงบ่ได้”
คนขับพยายามติดเครื่องรถอยู่หลายครั้ง แต่เครื่องยนต์ก็ไม่ติด ผู้โดยสารก็ส่งใจไปลุ้น แต่เครื่องก็ไม่ติดสักที
หลวงปู่พูดขึ้นว่า “ผู้ใด๋เอาตีนกูลง มาเอาขึ้นคืนเน่อ”
กระเป๋ารถจำเป็นต้องทำด้วยความจำยอม จากนั้นเครื่องยนต์ก็ติด รถโดยสารวิ่งสะดวกจนถึงตัวเมืองเชียงใหม่
เหตุการณ์เกิดขึ้นต่อหน้าผู้โดยสารหลายคน จากการเล่าขานปากต่อปาก นับจากนั้นมาหลวงตาพระป่าแก่ๆ อยู่ในอำเภอแม่แตงก็ดังระเบิด !
รถโดยสารทุกคันไม่เก็บเงินหลวงปู่ และต่างก็อยากให้หลวงปู่นั่งรถของตน แม้นั่งคนเดียวทั้งคันก็ยินดี
๘๖
เรื่องสามล้อเมืองเชียงใหม่
เรื่องนี้ก็ได้รับการถ่ายทอดจากหลวงปู่ลิ้นทองอีกเช่นกัน
เมื่อหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม เข้ามาในตัวเมืองเชียงใหม่ ท่านจะพักที่วัดเจดีย์หลวง แล้วบรรดาลูกศิษย์ลูกหาก็จะพากันไปทำบุญฟังธรรม และกราบคารวะท่านอย่างเนืองแน่น
ในช่วงเช้าตรู่ทุกวัน หลวงปู่จะออกบิณฑบาตเป็นกิจวัตร แล้วจะมีลูกศิษย์ลูกหามารอคอยใส่บาตรท่านตั้งแต่ประตูวัดเป็นแถวยาวเหยียดไปตามถนน และทุกเช้าเช่นกัน บรรดาสารถีในเมืองเชียงใหม่ ก็จะพากันจูงรถเดินตามหลวงปู่เป็นพรวน ตอนขากลับจากบิณฑบาตต่างก็มะรุมมะตุ้มยื้อแย่งหลวงปู่ นิมนต์ให้ท่านนั่งรถสามล้อของตนเพื่อความโชคดีมีชัย ว่ากันอย่างนั้น
ตอนแรกๆ ก็มีสารถีสามล้อคนอิสานไม่กี่คน มานิมนต์ให้ท่านขึ้นนั่ง ท่านก็เมตตาฉลองศรัทธาให้ทุกคัน ลงคันนี้ ขึ้นคันนั้น แบ่งเฉลี่ยคันละนิดละหน่อยได้ทั่วถึงกัน
นับวันสามล้อก็มีมากขึ้น เพิ่มจำนวนเป็นร้อยๆ คัน ทุกๆ เช้า ดังนั้น ตอนหลวงปู่บิณฑบาตสุดแถว แล้วเดินกลับวัด จึงมีเหตุการณ์เกือบจลาจลวุ่นวาย ต่างยื้อแย่งนิมนต์หลวงปู่ให้ขึ้นนั่งรถของตน
บรรดาสารถีต่างล้อมหน้าล้อมหลังท่าน ดูมะรุมมะตุ้มไปหมด เสียงนิมนต์ดังเซ็งแซ่
“หลวงปู่ ขึ้นรถผม...หลวงตา ขึ้นรถผม...”
คนนั้นก็หลวงปู่...คนนี้ก็หลวงปู่...คนโน้นก็หลวงปู่...หลวงปู่...หลวงปู่ๆๆๆ ดูสับสนวุ่นวาย จนกระทั่งเกินที่หลวงปู่จะรับฉลองศรัทธาได้ไหว ปัญหาจึงเกิดขึ้น
เช้าวันหนึ่ง เป็นเช้าที่หลวงปู่แก้ปัญหาในขั้นแตกหัก ไม่มีใครคาดคิดในเรื่องนี้
ตอนหลวงปู่เดินกลับวัด สามล้อเป็นร้อยก็มามะรุมมะตุ้มหลวงปู่เช่นเคย คันนี้ก็หลวงปู่ คนนั้นก็หลวงปู่ หลวงปู่ หลวงปู่...
หลวงปู่ ว่าคาถาคำเดียวว่า “ขึ้นบ่ได้”
ขึ้นบ่ได้...ขึ้นบ่ได้...ขึ้นบ่ได้...ไปตลอดทาง หลวงปู่เดินไปเรื่อยจวนจะถึงประตูวัดแล้ว สร้างความผิดหวังให้บรรดาสามล้อเป็นอย่างมาก
ทันใดนั้น มีสามล้อหนุ่มคนหนึ่ง แกคงบ้าบิ่นพอสมควร ตัดสินใจจู่โจมเข้าอุ้มหลวงปู่เอาไปนั่งบนสามล้อของเขาทันที
พลันเมื่อร่างหลวงปู่แตะเบาะนั่งเท่านั้น ทุกคนตกใจเสียง โป้ง...โป้ง...โป้ง ๓ ครั้งติดกัน
เสียงดังสนั่น...เส้นยางระเบิดทั้ง ๓ เส้น
ทุกคนที่อยู่ ณ ที่นั้นต่างตะลึงตาค้างไปตามๆ กัน !
๘๗
การรักษาศีลสิกขาของพระเณรไม่มียกเว้นโดยเด็ดขาด
ในวงสนทนาของบรรดาผู้ศรัทธาในสายพระป่าของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ถ้าหยิบยกเรื่องของหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม มาสนทนาคราใดก็ตาม จะต้องได้รสชาติในวงสนทนาเป็นอย่างดี รวมทั้งได้ฮากันตึงทีเดียว
ปฏิปทาของหลวงปู่ตื้อ นั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของท่าน ซึ่งไม่เหมือนของครูบาอาจารย์องค์ใดๆ เลย เรื่องการสั่งสอนศิษย์แบบทุบกิเลสตรงๆ นี้ หลวงปู่ท่านถนัดเป็นพิเศษ
เรื่องการรักษาความสะอาดของวัด ศาลา กุฏิที่พักอาศัย หลวงปู่ตื้อท่านเข้มงวดมาก เป็นกิจวัตรของพระเณรในสายของวัดป่าที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นอย่างดี
เรื่องการรักษาศีล รักษาวินัยของพระเณร หลวงปู่ก็เข้มงวดชนิดไม่มีย่อหย่อนให้เลย
หลวงปู่ท่านจะถามพระเณรในวัดทุกรูปว่า “ศีลทั้ง ๒๒๗ ข้อนั้น มีข้อใดเมื่อพากันปฏิบัติแล้วให้ถึงกับใจขาดตายบ้าง มีไหม?”
พระเณรกราบเรียนไปว่า “ไม่มีครับ”
หลวงปู่ก็ว่า “ถ้าเช่นนั้น ต้องพึงระมัดระวังอย่าล่วงในศีลนั้น ไม่ยกเว้นแม้แต่ศีลข้อเล็กๆ น้อยๆ”
หลวงปู่ตื้อท่านอบรมสั่งสอนศิษย์ของท่านว่า สิ่งเล็กๆ น้อยๆ นั่นแหละสำคัญยิ่งกว่าสิ่งใหญ่ๆ การเริ่มต้นในสรรพสิ่งทั้งปวง เริ่มแต่เล็กๆ มาก่อน แม้แต่จุดรอยรั่วรูเล็กๆ ให้น้ำหยดจากหลังคา ถ้าไม่รีบแก้ไข ในที่สุดก็เป็นรูขนาดใหญ่ได้ อันนิสัยมนุษย์จะเริ่มประพฤติชั่วจากครั้งแรกขโมยสตางค์แม่แค่สลึงเดียวก่อน ต่อไปก็ขโมยวัวควาย ฉกชิงวิ่งราว สุดท้ายก็เข้าไปอยู่ในคุกเพราะเป็นโจรปล้น
ศีลสิกขาของบรรดาพระเณร หลวงปู่ท่านจะกวดขันแม้ข้อเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ละเว้น เพราะเป็นอาบัติซึ่งมักจะถูกมองข้ามไป พระเณรบางรูปคิดว่าไม่สำคัญ หลวงปู่ท่านกล่าวเปรียบเทียบว่า ให้พิจารณาเวลาที่เศษผงเข้าตานั้นมีแต่ฝุ่นเล็กๆ เท่านั้น ก้อนหินเท่ากำปั้นนั้นไม่เคยปลิวเข้าตาพระเณรเลย
หลวงปู่ท่านถามพระเณรว่า เวลาสะดุดตอไม้เคยเดินไปสะดุดตอขนาด ๔-๕ คนโอบไหม? เห็นมีแต่ตอไม้ขนาดเท่านิ้วก้อย ที่พระเณรเดินสะดุดจนเป็นแผลอาบเลือด
อันภิกษุที่กล้าล่วงในศีลเล็กน้อย ก็เหมือนกับขโมยเงินสลึงเดียวของแม่เป็นการเริ่มต้น แน่นอนที่สุด ในเมื่ออาบัติปาจิตตีย์ยังกล้าล่วงเกินได้แล้ว ศีลในข้อสังฆาทิเสสก็ย่อมเป็นเรื่องเล็กน้อย แล้วนับประสาอะไรกับศีลในข้อปาราชิก
๘๘
อย่าคิดว่าศีล ๒๒๗ นั้นไม่มีใครประพฤติตามได้
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม กวดขันเรื่องศีล ๒๒๗ ข้อของพระภิกษุ
อย่าได้มองเห็นไปว่า ศีลทั้ง ๒๒๗ ข้อนั้น ในโลกนี้จะไม่มีผู้ที่ประพฤติตามได้ ผู้ที่กล่าวเช่นนั้นคือผู้ที่มีจิตไม่เอื้อเฟื้อต่อธรรมวินัย เป็นการตีความเข้าข้างตัวเอง ที่ตกอยู่ภายใต้จิตใจฝ่ายต่ำที่ครอบงำ จึงตีความเอาว่า ไม่มีภิกษุรูปใดจะทำตามพุทธบัญญัตินั้นได้ เห็นไปว่า การปฏิบัติตามศีล ๒๒๗ ข้อทั้งหมดนั้นตึงเกินไป ถึงกับสมณบางรูป บางสำนัก สอนกันว่า ศีลทั้งหมดรักษาไว้แต่ปาราชิก ๔ ข้อก็พอ
โถ ! น่าสงสาร ก็เลยไม่ต้องเป็นพระกันเลย
หลวงปู่ย้ำว่า การเป็นพระไม่เว้นในศีลข้อใดข้อหนึ่ง แม้แต่มุสาวาท เพราะมุสาวาทนี้ยังเป็นศีลของคฤหัสถ์ด้วย เป็นแค่เบญจศีล ที่ทำให้มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ถือเพียงแค่ศีลห้าของคฤหัสถ์เท่านั้น ก็ยังไม่ได้ จะเป็นศีล ๑๐ ของสามเณรก็ยังมิได้เสียแล้ว
ถ้าภิกษุกล่าวมุสาวาท โกหกตอแหล แค่เป็นมนุษย์สมบูรณ์ยังเป็นไม่ได้ ประสาอะไรที่จะเป็นพระ !
หลวงปู่สอนว่า ที่ให้พากันปฏิบัติตามพุทธบัญญัตินี้หาได้เป็นเรื่องเคร่ง เรื่องตึง ที่ตรงไหน เพราะเพียงแค่งดเว้นในสิ่งที่พระบรมศาสดาทรงห้ามไว้ และประพฤติปฏิบัติตามที่พระองค์สอนก็เท่านั้น
พระเณรในวัดทุกรูปจะอยู่ในสายตาของหลวงปู่ตื้อตลอดเวลา ถ้าประพฤติไม่สมควรสอนไม่ได้ ท่านจะบอก “ไม่พึงปรารถนา ให้พิจารณาตัวเองไปเสียให้พ้นวัด”
ตัวอย่างพระเณรที่หัวดื้อ เตือนแล้วเตือนอีก ก็เช่นมีพระภิกษุรูปหนึ่งที่วัด แอบเขียนจดหมายติดต่อกับฆราวาสกลางดึกดื่น ไม่เอาเวลานั้นมาภาวนา ปรากฏว่า เสียงไม้เท้าฟาดเข้าข้างกุฏิ หลวงปู่ตวาดเสียงเขียวไล่ภิกษุนั้นด้วยเสียงอันดังว่า “ไป...ไปซะ ไป๊ อยากไปนอนกอดขี้ก็ไป”
๘๙
แม้พระผู้ใหญ่หลวงปู่ก็ว่าเอาแรงๆ
อย่าว่าแต่ลูกศิษย์เลยที่หลวงปู่ตื้อท่านเตือนเมื่อเวลาหลงผิด หรือประพฤติไม่เหมาะสมกับความเป็นพระ
แม้แต่พระผู้ใหญ่หรือสหธรรมิกของท่าน หลวงปู่ก็ไม่เว้น ท่านจะบอกจะเตือนตรงๆ และบางทีก็แรงๆ ด้วย
มีตัวอย่างตอนหนึ่งในประวัติของ หลวงปู่บุญทัน ฐิตปญฺโญ แห่งวัดป่าประดู่ อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี เป็นลูกศิษย์รุ่นใหญ่ในสายกรรมฐานของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
หลวงปู่บุญทัน ท่านเล่าว่า ในระหว่างที่ท่านเร่งความเพียรอย่างหนัก ทำให้ท่านหลงสำคัญตนว่า ท่านสำเร็จหมดจากกิเลสแล้ว จึงได้ออกติดตามหาหลวงปู่มั่น เพื่อจะแจ้งความในใจให้พระอาจารย์ได้รับรู้
หลวงปู่บุญทันติดตามหลวงปู่มั่นจนไปพบที่เชียงใหม่ เข้าไปนมัสการพระอาจารย์ แล้วกราบเรียนอย่างถ่อมตัวว่า “สำคัญว่ากระผมเดินทางมาทางอากาศ”
หลวงปู่ตื้ออยู่ในที่นั้นด้วย ก็ออกไปยืนแหงนหน้าขึ้นไปบนท้องฟ้า ทำท่ารอดูหลวงปู่บุญทัน แล้วพูดเตือนท่านด้วยเสียงอันดังว่า
“โน่น พระอรหันต์ผีบ้า พระอรหันต์โลกีย์ พระอรหันต์เวียนตายเวียนเกิดมาแล้ว โน่นเหาะมาแล้ว”
๙๐
ดิฉันปล่อยวางหมดแล้ว
เรื่องนี้หลายคนบอกว่า สะใจ บางคนก็ว่าแรงไป
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ได้รับนิมนต์ขึ้นเทศน์ในการจัดอบรมกรรมฐานให้แก่พระและญาติโยม มีผู้สนใจใคร่ธรรมมาเข้าร่วมอย่างเนืองแน่น
ในวันนั้น หลวงปู่ท่านแสดงธรรมได้อย่างจับใจได้อรรถรส ในเบื้องต้น ท่ามกลาง และปริโยสาน อะไรเป็นธรรม เป็นวินัย เป็นตัวทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ตลอดจนวิธีดับทุกข์ อะไรที่ควรมั่น อะไรที่ควรปลง ควรปล่อยวาง ไม่ควรยึดมั่นว่าเป็นตัวกูของกู
ว่ากันว่า หลวงปู่ตื้อได้แสดงธรรมให้สาธุชนที่อยู่ ณ ที่นั้น ตรองตามแล้วเห็นจริงได้ เสมือนหงายสิ่งที่คว่ำ เสมือนจุดประทีปโคมไฟในที่มืด เสมือนชี้ทางให้กับผู้ที่หลงทาง...
อุบาสกอุบาสิกาที่ได้สดับเทศนาของหลวงปู่ตื้อในครั้งนั้นแล้ว ต่างก็รู้สึกปีติ อิ่มเอิบในบุญ รู้สึกปลอดโปร่ง เบากายเบาใจ ต่างก็รู้สึกว่าภายในจิตได้ปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว
พอหลวงปู่เทศน์จบลง ท่านว่า “เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้” แล้วญาติโยม “สาธุ” เสียงดังสนั่นน่าอนุโมทนายิ่ง
สุดจะเก็บความปิติไว้ได้ มีอุบาสิกาท่านหนึ่งแหวกผู้คนเข้ามาข้างหน้าสุด ใกล้กับหลวงปู่ที่สุด แล้วรายงานผลว่า
“หลวงปู่เจ้าคะ ดิฉันได้ฟังหลวงปู่เทศน์แล้วรู้สึกเบากายเบาใจ ดิฉันปล่อยวางได้หมดเลยเจ้าคะ”
หลวงปู่กล่าวด้วยเมตตา “อนุโมทนาด้วยคุณโยมที่ได้ดวงตาเห็นธรรม ”
“จริงๆ นะคะหลวงปู่...เดี๋ยวนี้ดิฉันไม่ยึดมั่นถือมั่นอีกต่อไปแล้ว ปล่อยวางได้หมดเลยเจ้าค่ะ...”
“...อีตอแหล...” ไม่ใครคาดคิดว่าหลวงปู่จะอนุโมทนาด้วยการหักมุมเช่นนั้น
“ว้าย ! ตายแล้ว ทำไมหลวงปู่จึงมาด่าอีฉัน !” แล้วรีบผลุนผลัน ลุกหนีด้วยความโกรธอย่างเป็นฟืนเป็นไฟ บ่งบอกลักษณะของคน “ปล่อยวาง” ได้อย่างประจักษ์ชัด
หลวงปู่ได้แต่หัวเราะหึ...หึ ในลำคอ ขณะเดียวกันบนศาลาการเปรียญก็เงียบกริบ ตามด้วยเสียงซุบซิบ และบางส่วนก็หัวเราะสะใจ !
อ้อ ! คนปล่อยวางมีลักษณะเช่นนี้เองหนอ ! !
๙๑
มงคลหมา
เรื่องที่หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ชอบพูดประกอบในเวลาที่ท่านสั่งสอนศิษย์ หรือบางครั้งในการแสดงพระธรรมเทศนา ท่านมักจะยกเรื่องความดีของสุนัข ซึ่งท่านเรียกว่า มงคลหมา
บางคนอาจเข้าใจว่าเป็นเรื่องชวนขำ แต่ว่านำไปพิจารณาแล้ว จะเห็นว่าหลวงปู่ได้พิจารณาเกี่ยวกับสัตว์ ซึ่งเป็นสายของสัตว์โลก มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เหมือนกันหมด การนำมาเปรียบเทียบกับชีวิตของคนก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องเสียหาย
หลวงปู่บอกว่าบางครั้งสัตว์ยังดีกว่าคนบางคนเลยอีก สัตว์ทุกจำพวกมันมีดีประจำอยู่ในตัวของมัน ตามภูมิของมัน การพิจารณาชีวิตของสัตว์อันเป็นเครือของวัฎฏสงสารเหมือนกันนี้ เป็นการหาอุปมาเครื่องเปรียบเทียบ ดังนั้น เวลามีโลกธรรมครอบงำ เราก็สามารถพิจารณาหาเหตุผลมายับยั้งชั่งใจได้ เช่นถ้าใครเขาด่าเปรียบเปรย ว่าเราเป็นหมา ก็ไม่น่าจะโกรธ เพราะหมาก็มีความดีหลายอย่าง
หลวงปู่ดื้อบอกว่า ลองพิจารณาดูให้ดี จะเห็นว่าหมาก็มีมงคลคือความดีประจำตัวอย่างน้อยก็ ๒๐ ประการ คือ
๑. หมาวิ่งได้เร็ว คนวิ่งตามไม่ทัน
๒. หมาเดินกลางคืนได้ ไม่ต้องจุดไฟ
๓. หมาเข้าป่าหนามไม่ปักตีน
๔.. หมามีจมูกเป็นทิพย์
๕. หมากินอาหารได้ไม่เลือก
๖. เวลาเยี่ยวมันยกขาไหว้ธรณี
๗. ก่อนนอนหมาเดินเวียนสามรอบ
๘. เวลาสืบพันธุ์ หมาไม่รู้จักอาย
๙. หมารู้จักเจ้าของดี
๑๐. ถ้ามีแขกแปลกหน้ามา หมามันเห่า
๑๑. หมาออกลูกไม่ต้องมีแม่หมอ
๑๒. หมากินอาหารก้างไม่ติดคอ
๑๓. หมาไม่เคยห่มผ้า
๑๔. เวลานอนหมาไม่หนุนหมอน
๑๕. หมาไม่ต้องปูที่นอน
๑๖. หมากินข้าวแล้วไม่ต้องกินน้ำ
๑๗. หมาไม่ต้องคิดบุญคิดบาป
๑๘. หมานอนตากแดดได้นานถึง ๓ ชั่วโมง
๑๙. ไม่ถึงฤดูกาลไม่มีการสืบพันธุ์
๒๐. หมาตกน้ำไม่ตาย ว่ายน้ำได้เร็วกว่าคน
หลวงปู่ท่านบอกว่า คนเราหากไม่มีดี ก็สู้สัตว์ไม่ได้ และจะถูกตราหน้าว่า เป็นคนประพฤติถอยหลัง ไม่สมกับที่เกิดมาเป็นมนุษย์
หมาบางตัวที่เขาเลี้ยงไว้ มียศถึงนายพันเอกมีเงินเดือนหลายพันบาท ใครจะว่าหมาไม่ดีก็ว่าไม่ได้ ลูกสาวคุณนายเลี้ยงมาแต่เล็กๆ หมดเงินเป็นแสน เวลาโตขึ้นมาทำให้พ่อแม่ต้องเสียใจ ต้องลำบาก เดือดร้อนเนรคุณก็มี เรื่องเช่นนี้ไม่มีในหมา
หลวงปู่ยกมงคลหมาขึ้นมาแสดง เพื่อให้เราเห็นเป็นเครื่องเปรียบเทียบว่า คนเราถ้าไม่มีศีลธรรมก็ไม่ต่างอะไรจากสัตว์เพราะมีการกิน การนอน การสืบพันธุ์ เหมือนกัน ก็เท่านั้น
๙๒
วัดป่าอาจารย์ตื้อ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
ในตอนนี้ เรามารู้จักวัดที่หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ท่านอยู่จำพรรษานานที่สุดในชีวิตของท่าน และเมื่อหลวงปู่ท่านหยุดการเดินธุดงค์แล้ว ท่านก็มาพำนักประจำอยู่ที่วัดป่าอาจารย์ตื้อแห่งนี้
วัดป่าอาจารย์ตื้อ ตั้งอยู่เลขที่ ๓๒๕ บ้านปากทาง ซอยศรีมหาพน หมู่ที่ ๗ ตำบลสันมหาพน อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ถ้าหากเดินทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ ไปตามเส้นทางเชียงใหม่-เชียงดาว ก็จะผ่านตัวอำเภอแม่ริม ผ่านตัวอำเภอแม่แตงไปไม่ไกล ก็จะถึงทางแยกเข้าเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ซึ่งอยู่ทางขวามือ ระยะทางจากเชียงใหม่มาถึงทางแยกเข้าเขื่อนนี้ก็ ๔๐ กิโลเมตรกับนิดหน่อย ก่อนถึงทางแยกเข้าเขื่อน อยู่ตรงมุมด้านขวามือจะเห็นป้ายวัดป่าอาจารย์ตื้อ ได้ชัดเจน อยู่ก่อนทางแยกไม่ถึง ๕๐ เมตร
และถ้าหากเลี้ยวขวาไปตามเส้นทางเขื่อนแม่งัดระยะทาง ๓ กิโลเมตร ก็จะถึงวัดอรัญญวิเวก ที่หลวงปู่แหวน สุจิณโณ เคยพำนักอยู่ถึง ๑๑ ปีก่อนไปอยู่ที่ดอยแม่ปั๋ง ปัจจุบันหลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป ท่านเป็นเจ้าอาวาส
เส้นทางเส้นนี้จะผ่านไปทางเขื่อนแม่งัดไปทะลุออกเส้นทางเชียงใหม่-พร้าว ได้อย่างสะดวกสบาย ระยะทางประมาณ ๒๐ กิโลเมตรกว่าๆ สามารถไป วัดดอยแม่ปั๋ง และ วัดป่าอาจารย์มั่น (ภูริทัตโต) ซึ่งอยู่ในอำเภอพร้าว ได้อย่างสะดวกสบาย ทิวทัศน์สวยงามมาก ผ่านวัดป่าสายหลวงปู่มั่นหลายแห่ง รวมทั้งแวะไปดู ถ้ำดอกคำ สถานที่ที่หลวงปู่มั่นท่านพิชิตกิเลสได้อย่างราบคาบ ก็สะดวกใช้ได้
ขออนุญาตพากลับมาที่วัดป่าอาจารย์ตื้อกันครับ วัดนี้สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุต มีเนื้อที่ ๒๒ ไร่ ๒ งาน ๒๑ ตารางวา หนังสือกรรมสิทธิ์ที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๑๑๓ และ ส.ค. ๑ เลขที่ ๗๐๗
ตอนนี้ต้องให้ตัวเลขที่ถูกต้อง อาจจะมีความหมายสำหรับคนชอบตัวเลขก็ได้
อาคารเสนาสนะก็มี พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ ศาลา หอฉัน หอระฆัง โรงครัว โรงต้มน้ำ ปูชนียวัตถุก็มี พระพุทธรูปเนื้อโลหะ และองค์พระเจดีย์
วัดป่าอาจารย์ตื้อ ชาวบ้านจะเรียกสั้นๆ ว่า วัดป่า เดิมที่เป็นที่ดินของนายหมื่น เกษม นางสา มะลิวัลย์ นายเลิศ ประทุม และนายปลั่ง จันทรวัชร
ก่อนนั้นชาวบ้านศรัทธาญาติโยมได้เคยนิมนต์พระธุดงค์มาพำนักเพื่อโปรดชาวบ้าน พระท่านไปๆ มาๆ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๖ คณะศรัทธาจึงได้นิมนต์หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม มาพำนักประจำที่นี่
ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ หลวงปู่ตื้อ ได้ก่อสร้างศาลาขึ้น ๑ หลัง และตั้งเป็น สำนักสงฆ์สามัคคีธรรม ขึ้น ได้มีพระธุดงค์ หรือพระป่าสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต แวะเวียนมาพำนักตลอดมา
จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๑ หลวงปู่ตื้อ ได้รับนิมนต์กลับไปจำพรรษาที่จังหวัดนครพนม บ้านเกิดของท่าน หลวงปู่สังข์ สงฺกิจฺโจ ซึ่งเป็นหลานของท่านได้รับมอบหมายให้ดูแลปกครองวัดนี้ตลอดมา
ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ คณะศรัทธาซึ่งมีนายเลิศ ประทุม เป็นหัวหน้า ได้ทำเรื่องขอยกสำนักสงฆ์แห่งนี้ขึ้นเป็นวัด
ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ (โอ้โฮ ! ใช้เวลาถึง ๑๐ ปี) ทางกรมการศาสนาจึงได้อนุมัติการเป็นวัดให้ตามที่ขอและได้ชื่อว่า วัดป่าอาจารย์ตื้อ ตามข้อเสนอแนะของท่านเจ้าคุณพระเทพกวี (ต่อมาเป็นพระธรรมดิลก และได้รับสถาปนาเป็นพระพุทธพจนวราภรณ์ ในปี ๒๕๔๔ ท่านเป็นเจ้าคณะภาค และเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงกับวัดป่าดาราภิรมย์)
ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ หลวงปู่สังข์ สงฺกิจฺโจ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสอย่างเป็นทางการ และกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศตั้งเป็นวัดเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ นี้เอง มีเขตวิสุงคามสีมาขนาดกว้าง ๑๗ เมตร ยาว ๓๐ เมตร การบริหารและการปกครองก็มีเจ้าอาวาสดังที่กล่าวมา
ความเป็นระเบียบ สงบ และสะอาดสะอ้าน ไม่ต้องพูดถึง เพราะหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ท่านเข้มงวดมาก และเป็นแบบฉบับของวัดป่าโดยทั่วไป
ผู้เขียน (รศ.ดร.ปฐม นิคมานนท์) ได้พาคณะศรัทธาไปทอดผ้าป่า ถวายเทียนพรรษา ผ้าอาบน้ำฝน ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๕ นี้เอง ซึ่งเป็นจุดเริ่มของการเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้น
นี่คือประวัติที่สังเขปที่สุด ส่วนบรรยากาศและพลังบารมีทางธรรมนั้นขอเรียนเชิญทุกท่านไปสัมผัสด้วยตัวของท่านเอง คงไม่สามารถบอกแทนกันได้ จริงไหมครับ?
๙๓
ถวายพระพุทธรูป ๖๘ องค์มอบให้ชาวนครพนม
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม อายุ ๘๑ ปี ได้รับนิมนต์ลงไปกรุงเทพมหานคร แล้วท่านไปพักที่วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ เหมือนเช่นเคย
คณะศรัทธาญาติโยมได้ถวายพระพุทธรูปบูชากับหลวงปู่ มีจำนวนถึง ๖๘ องค์ หลวงปู่จึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปทั้งหมดขึ้นไปถวายเพื่อประดิษฐานประจำวัดต่างๆ ในจังหวัดนครพนม ถิ่นมาตุภูมิของท่าน นับเป็นบุญของชาวนครพนมเป็นอย่างยิ่ง
แล้วหลวงปู่ก็ได้ไปพำนักที่วัดอรัญญวิเวก บ้านข่า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม บ้านเกิดของท่าน ลูกหลานและญาติโยมทั้งหลายจึงได้กราบอาราธนาให้ท่านได้อยู่จำพรรษา ณ วัดแห่งนั้น ด้วยเหตุผลที่ว่า “เพื่อสงเคราะห์ลูกหลานทางนี้บ้างเพราะหลวงปู่ได้จากบ้านเกิดไปมากกว่า ๕๐ ปีแล้ว”
หลวงปู่จึงรับนิมนต์ และจำพรรษาที่วัดอรัญญวิเวกแห่งนี้ ในปี พ ศ. ๒๕๑๒ นั้นเอง ท่านหลวงปู่ (ทางภาคอิสานเรียกว่า หลวงตา เพราะมีเพียงคำว่า ตา กับ ยาย เท่านั้นไม่มีคำว่า ปู่ กับ ย่า เหมือนภาคกลาง) ได้จัดสร้างพระเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขึ้นมา โดยนำเอาช่างจากเชียงใหม่มาดำเนินการก่อสร้าง
มีพุทธศาสนิกชนจากกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และจากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เดินทางมากราบขอพรท่านมิได้ขาด หลวงปู่ต้องรับแขก และแสดงธรรมโปรดพระเณรและญาติโยมทุกวันอย่างไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย จนคณะศิษย์อุปัฏฐากต้องกำหนดเวลาพักผ่อนสำหรับท่านไว้อย่างแน่นอน เพื่อถนอมหลวงปู่ไว้ให้พวกเราได้กราบไหว้ไว้นานๆ เพราะอายุสังขารของท่านชรามากแล้ว
หลวงปู่ท่านไม่เคยเบื่อหน่ายในการแสดงธรรมท่านบอกว่า “หลวงตาจะแสดงธรรม เพื่อให้ลูกหลานและลูกศิษย์ทั้งหลายได้เข้าถึงธรรมอย่างแท้จริง”
ขณะเดียวกัน ท่านก็อบรมกรามฐานแก่พระภิกษุสามเณร “เพื่อให้เป็นนักธรรม นักกรรมฐานอย่างแท้จริง” ด้วย
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ทุ่มเทการเผยแผ่ธรรมะอย่างไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย ผู้สนใจใคร่ธรรมก็หลั่งไหลมาฟังธรรม และรับการอบรมจากท่านชนิดไม่ขาดสายเลยทีเดียว
๙๔
นิมนต์กลับไปจำพรรษาที่เชียงใหม่
เมื่อหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ไม่อยู่ ลูกศิษย์ลูกหาทางเชียงใหม่คงต้องรู้สึกว้าเหว่และคิดถึงท่านอย่างแน่นอน จึงจ้องหาโอกาสที่จะนิมนต์หลวงปู่กลับเชียงใหม่คืนให้ได้ (อันนี้ผู้เขียนว่าเอง)
พอออกพรรษาในปีนั้นแล้ว ศรัทธาญาติโยมทางเชียงใหม่จึงได้เดินทางไปนิมนต์หลวงปู่ของพวกเขาให้กลับไปอยู่ที่เชียงใหม่คืน ด้วยเหตุผลที่ว่า “ท่านหลวงตาชราภาพมากแล้ว สุขภาพก็ไม่ค่อยแข็งแรง ต้องการให้ท่านได้พักผ่อน เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยจะได้พยาบาลรักษา และต้องการให้ท่านหลวงตาได้อยู่ใกล้โรงพยาบาล เพื่อจะได้ตอบแทนพระคุณด้วยการอุปัฏฐากรักษาท่านได้เต็มที่”
หลวงปู่ตอบญาติโยมชาวเชียงใหม่ว่า “อยู่ใกล้หมอยาถ้าหากเราไม่กินยาโรคก็ไม่หาย เราต้องอาศัยตัวของเราเอง” แล้วท่านก็หัวเราะอารมณ์ดีตามแบบฉบับของท่าน
เมื่อถอดรหัสคำพูดของท่าน ก็หมายความว่า ข้ออ้างที่ว่าเพื่อจะได้ใกล้หมอ ใกล้โรงพยาบาล จึงไม่จำเป็นสำหรับท่าน
ญาติโยม “จาวเจียงใหม่” ก็กราบนิมนต์ด้วยเหตุผลอื่นคือ “ที่วัด (วัดป่าอาจารย์ตื้อ) ได้สร้างเจดีย์ สร้างพระพุทธรูป และศาลาฟังธรรม เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็เลยจะจัดให้มีการฉลองและทำบุญด้วย และขอนิมนต์ให้ท่านหลวงตาได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปบรรจุด้วยองค์ของท่านเอง”
เมื่อโดนไม้นี้ ท่านหลวงตาตื้อของจาวเจียงใหม่ก็จำเป็นต้องรับนิมนต์ และแน่นอนปุถุชนคนใดเล่าที่จะยอมปล่อยผู้ที่ตนรักและเคารพบูชายิ่ง ให้หลุดมือไปอยู่กับคนอื่นได้
ผลก็คือ...หลวงปู่ตื้อท่านกลับไปจำพรรษาที่จังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔
และแน่นอน...ชาวนครพนมคงจ้องรอจังหวะไปทวงหลวงตาตื้อที่รักและเคารพของเขากลับนครพนมคืนให้จงได้
ว่าโดยส่วนตัวของหลวงปู่แล้ว ท่านถูกอัธยาศัยกับอากาศทางภาคเหนือมาก เพราะเย็นสบายและเหมาะอย่างยิ่งต่อการบำเพ็ญภาวนา คณะศรัทธาญาติโยมก็ให้การอุปัฏฐากหลวงปู่ดี และเป็นแดนแห่งคนใจบุญสุนทาน และที่สำคัญหลวงปู่ท่านอยู่ทางภาคเหนือมานาน ท่านบอกว่าท่านได้ “ธุดงค์ไปทุกหนทุกแห่งในภาคเหนือนี้ จนชินกับความหนาวเย็นของภาคเหนือ”
เป็นอันว่าตลอดพรรษาปี ๒๕๑๔ หลวงปู่พำนักอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่วัดป่าอาจารย์ตื้อนั่นเอง
ท่านผู้อ่านคงจะลุ้นระทึกเช่นเดียวกับผมว่า ชาวนครพนมจะไปทวงหลวงปู่ผู้เป็นที่เคารพรักยิ่งของพวกเขาคืนได้อย่างไร และในโอกาสใด ต้องติดตาม !
๙๕
หลวงปู่กลับนครพนม
หลังจากออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๕๑๔ แล้ว ลูกหลานและทายกทายิกาชาวนครพนมพร้อมใจกันเดินทางไปกราบนิมนต์หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ให้กลับไปจำพรรษาที่นครพนม ถิ่นกำเนิดของท่าน และกับขออาราธนานิมนต์ให้ท่านอยู่จำพรรษาที่นครพนมตลอดไป
ไม้ตายของชาวนครพนมอยู่ที่คำว่า “ตลอดไป” นี้เอง
เหตุผลคือ “หลวงปู่จากนครพนมไปนานจนแก่เฒ่าแล้ว ขอให้เมตตากลับไปโปรดลูกหลานที่บ้านเกิดด้วย”
หลวงปู่จึงรับนิมนต์ และไปจำพรรษาที่วัดอรัญญวิเวก บ้านข่า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ตั้งแต่ออกพรรษาปี ๒๕๑๔ ติดต่อกันไปตราบจนท่านละขันธ์ในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ คืออยู่ที่นครพนมได้ ๔ ปีเท่านั้นเอง
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เจดีย์ที่เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๒ ก็เสร็จสมบูรณ์ ได้จัดพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและจัดงานฉลองสมโภชน์องค์พระเจดีย์ มีการบวชชีพราหณ์จำนวน ๒๓๐ คน มีการแสดงธรรมและปฏิบัติภาวนาตลอดคืน ตลอดทั้งปีมีผู้มาฟังธรรมะ และมาเข้ารับการอบรมกรรมฐานกับหลวงปู่จำนวนมาก หลวงปู่ต้องเทศน์ ต้องแสดงธรรมโปรดญาติโยมแทบไม่ว่างเว้นในแต่ละวัน แม้หลวงปู่จะอยู่ในวัยชราภาพ อายุ ๘๕ ปี แล้วก็ตาม ท่านลงสวดมนต์ ทำวัตร และเทศน์ ที่ศาลาการเปรียญเป็นประจำและไม่เคยว่างเว้นการปฏิบัติกิจของสงฆ์เลย
ทางด้านสุขภาพของหลวงปู่ก็แข็งแรงดี ท่านไม่เคยเจ็บป่วย และไม่เคยบ่นว่าเหนื่อยหรือลำบากอะไรเลย
(จากการศึกษาประวัติชีวิตของหลวงปู่ ก็ไม่บอกว่าหลวงปู่เคยเจ็บป่วยถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อเลย จัดว่าหลวงปู่มีสุขภาพที่ดีเยี่ยมองค์หนึ่ง)
๙๖
บันทึกธรรมในช่วงที่หลวงปู่อยู่นครพนม
ท่านพระอาจารย์บูรฉัตร พรหมจาโร ศิษย์ผู้รวบรวมประวัติของหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม เล่มที่ผู้เขียนใช้เป็นหลักในการเขียนครั้งนี้ ได้บันทึกธรรมะที่หลวงปู่ได้แสดงช่วงที่ท่านอยู่ที่นครพนม ดังต่อไปนี้
เมื่อท่านมาพักจำพรรษาอยู่ที่วัดอรัญญวิเวก บ้านข่า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม นี้ ข้าพเจ้าได้ไปกราบคารวะท่าน (ข้าพเจ้าเรียกท่านว่า หลวงตา) เป็นประจำ ได้กราบเรียนถามถึงการที่ท่านได้ออกธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ และท่านก็ชอบเล่าให้ฟังเสมอ
เพราะท่านหลวงตาท่านเดินธุดงค์ตั้งแต่บวชมาจนถึงวัยชราภาพ ด้วยความมุ่งมั่นในพระธรรมอย่างเด็ดเดี่ยว มีชื่อเสียงเป็นที่รู้ๆ กันอยู่แล้ว
ท่านชอบเดินเข้าไปในดงเสือร้าย ชอบนั่งภาวนาในป่าช้า ชอบธุดงค์ไปพบผีเจ้าที่ ผีเจ้าป่า เป็นผู้มีวิชาที่ผีบอกให้ ท่านเคยบอกคาถาป้องกันไฟให้ และเคยใช้ได้ผลมาแล้ว
เมื่อข้าพเจ้าไปกราบท่านหลวงตา ท่านชอบเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ให้ฟังเสมอ และท่านหลวงตาชอบเทศน์ให้ฟังยาวๆ ถึง ๒-๓ ชั่วโมง ซึ่งก็เป็นความประสงค์ของผู้ฟังที่อยากให้เป็นเช่นนั้น
ครั้งหนึ่ง ท่านได้เล่าเหตุการณ์ที่ท่านเดินธุดงค์ไปตามภูเขา ตามป่า ดงพงไพร ให้ฟัง แบบการแสดงพระธรรมเทศนา ว่า
หลวงตาได้ออกเดินกรรมฐานมาหลายปีแล้ว จะเล่าให้ฟัง เมื่อครั้งไปจำพรรษาที่ภูลังกา อำเภอบ้านแพง นครพนม ได้เร่งทำความเพียรที่ภูลังกานั้นจนไม่ได้ฉันข้าวฉันน้ำ ตั้งใจแน่วแน่จะให้เห็นแจ้งต่อโลก พอจิตสงบบรรลุถึงโคตรภูญาณแล้ว รู้ไปถึงวิญญาณหลายพวกว่าเป็นอยู่อย่างไร
นี่แหละหลาน เราบรรพชาอุปสมบทมา ต้องเร่งทำให้รู้ และเร่งทำให้ได้ เมื่อได้แล้วจะหมดสงสัยในการบรรพชา และจะลืมโลก อันมีระบบการเดินทางอันยืดยาวนี้เลยเด็ดขาด โลกนี้เขามีเครื่องผูกอันเหนียวแน่น ยากที่จะตัดได้ด้วยอย่างอื่น นอกจากพระธรรมของพระพุทธเจ้า
มนุษย์เราเกิดมาก็ต้องทำบาปแล้ว เมื่อทำแล้วก็ต้องได้รับผลกรรมที่เราทำไว้ พ่อแม่เรานั้นทำกรรมมา เราเกิดมาก็ทำกรรมไป อะไรที่สุดของกรรม ไม่มีใครรู้ได้ ทำบาปแล้วมีตัวอย่างให้เห็นมากมาย
...ฯลฯ...
ท่านหลวงตาเล่าว่า สัตว์บางพวกในโลก หัวเป็นไก่ ท่อนตัวเป็นคน หัวเป็นควาย ท่อนตัวเป็นคน เป็นต้น ตามแต่บุญแต่กรรมที่ตนทำเอาไว้
วิญญาณเหล่านี้ ถ้าหากพ้นจากสภาพนี้แล้วคงมิได้กลับมาเกิดเป็นคน คงต่ำลงไปต่ำกว่าที่ตนอยู่
นักธรรม นักกรรมฐาน พระมหาเปรียญ ถ้าหากยังไม่บรรลุโคตรภูญาณแล้ว ก็คงไม่มีโอกาสได้รู้ได้เห็น ไม่ว่าจะเป็นท่านพระครู ท่านเจ้าคุณ หรือสังฆราชก็เช่นกัน เพราะจิตนั้นไม่มีพุทโธ ธัมโม สังโฆ และยังเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าไม่ได้
พระพุทธเจ้าประสูติ กับพวกเราเกิด ต่างกันที่ตรงไหน ก็ต่างกันตรงที่พระพุทธเจ้าไม่หลงโลก ไม่ติดอยู่ในโลกเหมือนพวกเราทั้งหมดในทุกวันนี้
พระพุทธเจ้าท่านรู้แจ้งรู้จริง คือรู้ที่เกิดที่ตายของพวกสัตว์ด้วยปัญญา ทั้งนี้ก็เพราะท่านรู้และตรัสรู้ของจริงตามความเป็นจริงนั่นเอง แต่เมื่อถึงเวลาแล้ว พระองค์ก็จากโลกนี้ไปเข้าสู่พระนิพพาน ไม่มีการเกิดอีก เหลือไว้แต่ความดีให้พวกเราได้คำนึงระลึกถึง เพื่อไม่ให้เป็นผู้หลงตาย อย่างนี้เราจึงเคารพเลื่อมใส กราบไหว้อย่างไม่จืดจาง ยอมมอบกายถวายชีวิต
พวกเราทั้งหมดก็เกิดมาด้วยบุญวาสนา จึงได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นเวไนยชนอันหาได้ยาก เป็นที่รู้ๆ กันอยู่แล้ว
พระพุทธเจ้าจึงสอนให้ไม่ประมาท ไม่ให้ลืมตัว ไม่ให้ลืมบุญวาสนาของตน คือไม่ให้ลืมตัวในการสร้างคุณงามความดี เพราะถ้าเราไม่สร้างคุณงามความดี ใจเราก็ไม่มีพุทโธ ธัมโม สังโฆ อันจะเป็นเหตุให้ต่อภพต่อชาติเป็นมนุษย์ต่อไป เมื่อบารมีไม่แก่กล้า หากเราไม่เชื่อมั่นในพระรัตนตรัย เราก็จะพากันไปสู่ภพที่ต่ำทรามก็ได้
หลายสิบครั้งที่ได้ฟังเทศน์ของท่านหลวงตา ปรากฏว่าไม่มีใครที่จะแสดงธรรมได้อย่างท่าน และท่านก็แสดงธรรมได้ไม่เหมือนใคร ท่านหลวงตากล้าพูด พูดในสิ่งที่เป็นความจริงมาก ตรงไปตรงมา
เมื่อท่านได้แสดงธรรมจบลงแล้ว ท่านชอบอธิบายซ้ำอีก เพื่อความแจ่มแจ้งในการปฏิบัติตามธรรมให้ชัดขึ้น ท่านหลวงตาเทศน์ได้ดี ตามทัศนะของนักฟังความจริง และท่านได้เล่าเรื่องแปลกๆ ให้ฟังเสมอ โดยเฉพาะท่านชอบสั่งสอนว่า “ธรรมะ คือคำสอนของพระพุทธเจ้า พวกเรามองข้ามไปเสียหมด อยู่ที่ตัวของเรานี้เอง มิใช่อื่น พุทธะ คือ ผู้รู้ ก็ตัวของเรานี้เองมิใช่ใครอื่น
เช่นเดียวกันกับไข่ ไข่อยู่ข้างในของเปลือกของไข่ ทำให้เปลือกไข่แตก เราก็ได้ไข่
พิจารณาร่างกายของเราให้แตก แล้วเราก็จะได้ธรรมะ”
“ธรรมะจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องการทำอะไรที่จริงจัง คือการตัดสินใจ อย่างแน่นอนลงไป แล้วเลือกเฟ้นธรรมะปฏิบัติอย่างแท้จริง ไม่นานหรอก เราก็จะได้พบสิ่งที่เราต้องการ
ความกลัวทุกอย่างจะหายไปหมด ถ้าเราตัดสินใจอย่างใดแล้ว คือเราต้องเป็นคนมีจุดมุ่งหมาย อย่างหลวงตานับตั้งแต่บวชมา ได้ ตัดสินใจปฏิบัติธรรมะอย่างจริงจังจนทุกวันนี้ ไม่เคยลดละและท้อถอยเลย
นักธรรม นักกรรมฐาน ต้องมีนิสัยอย่างเสือโคร่ง คือ (๑) น้ำจิต น้ำใจต้องแข็งแกร่ง กล้าหาญ ไม่กลัวต่ออันตรายใดๆ (๒) ต้องเที่ยวไปในเวลากลางคืนได้ (๓) ชอบอยู่ในที่สงัดจากคน (๔) ทำอะไรลงไปแล้วต้องมุ่งความสำเร็จเป็นจุดหมาย”
“สัตว์ดิรัจฉานมันดีกว่าคน ตรงที่มันไม่มีมายา ไม่หลอกลวงใคร มีครูอาจารย์ก็คือคน เป็นสัตว์นี้น่ารักน่าสงสาร คนเราซิโง่ เป็นพุทธะได้ แต่หลอกลวงตนเองว่าเป็นไปไม่ได้ ร่างกายก็ไม่ให้พิจารณาว่าเป็นของเน่า เป็นของเหม็น แต่เราพิจารณาว่าเป็นของหอมน่ารัก โง่ไหมคนเรา?”
ท่านบอกว่า ผู้ที่สงสัยในกรรม หรือไม่เชื่อว่าจะต้องส่งผล คือ คนที่ลืมตนลืมตาย กลายเป็นคนมืดคนบอด คนประเภทที่ว่านี้ย่อมช่วยอะไรเขาไม่ได้เลย แม้จะมีกำเนิดสูงส่งสักปานใด ได้รับการทนุถนอมเลี้ยงดูมาอย่างวิเศษเพียงไรก็ตาม หากเขาไม่มองเห็นคุณข้าวคุณน้ำ คุณบิดามารดาแล้วนั้น เขาเรียกว่าคนรกโลก และก็ไม่รู้ด้วยว่าตนเองเป็นคนรกโลก และก็ไม่สนใจจะรู้ด้วย
คิดเห็นแต่ว่า เพียงเขาเกิดมาและเจริญเติบโตมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ด้วยการดื่ม การกินอาหารบำรุงเลี้ยงร่างกายจนเติบใหญ่ เป็นเพราะมันจะต้องเป็นไปในทำนองนั้น
มิได้คิดไปว่า ตนเองนั้นได้เกิดขึ้นเป็นตัวเป็นตน เพราะคุณของบิดามารดาทั้งสองป้องกันรักษาให้ชีวิตและร่างกายแก่ตนมา การทำความดี แม้แต่รูปร่างกายเรานี้ โดยกระทำให้ถูกให้ควรว่าอะไรเป็นอะไร อะไรเป็นกุศล อกุศล สิ่งที่บันดาลให้ร่างกายเราเจริญเติบโตขึ้นมาได้ ถ้าไม่เรียกว่าเป็นผล เราสมควรจะเรียกว่าเป็นอะไร จึงจะถูกต้องตามความเป็นจริง
ความดี ความชั่ว สุข ทุกข์ ที่สัตว์โลกได้รับกันมาโดยตลอดสาย ถ้าปราศจากแรงหนุนเป็นต้นก็คงอยู่เฉยๆ
ฉะนั้น นักกรรมฐานขอจงได้พิจารณาธรรมะของพระพุทธเจ้า คือ พุทโธ ธัมโม สังโฆ เป็นที่อยู่อาศัยของจิตนั้นให้มั่นคงถาวร
และเมื่อเทศน์จบลง ท่านชอบถามผู้ฟังว่า ฟังเทศน์ดีไหม? คำถามเช่นนี้เคยกราบเรียนท่านว่า หมายถึงอะไร? ท่านบอกว่า หมายถึง การฟังธรรมครั้งนี้ ได้รับความสงบเป็นของจิตไหม และเกิดสังเวชในความชั่วไหม?
ท่านหลวงตาชอบตักเตือนเสมอว่า การปฏิบัติธรรมะนั้น อย่างที่ท่านบูรพาจารย์ทั้งหลายดำเนินมานั้น ท่านพยายามไม่ให้เกิดความเบื่อหน่ายในการปฏิบัติธรรม พยายามให้เกิดความสนใจในธรรมปฏิบัติอยู่เสมอ
การที่เราเกิดความเบื่อหน่ายในธรรมปฏิบัตินี้เป็นการที่เราจะดำเนินการไปไม่ได้นาน และจะเป็นอันตรายต่อการปฏิบัติธรรมเป็นอย่างมาก
แต่เกิดความสังเวชในธรรมบางอย่างนั้นเป็นการดี เพราะจะเป็นประโยชน์แก่เราผู้ปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริง แต่ถ้าเบื่อหน่ายในความชั่ว ไม่เป็นไร เพราะถ้าเบื่อหน่ายในความชั่วแล้ว ก็เร่งพยายามทำความดีต่อไป
๙๗
ภารกิจช่วงสุดท้ายด้านการพัฒนา
ในช่วง ๔ ปีระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๔-๒๕๑๗ ที่หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม พักจำพรรษาที่วัดอรัญญวิเวก บ้านข่า วัดบ้านเกิดของท่านนั้น หลวงปู่ได้แสดงธรรมโปรดลูกหลาน ศิษยานุศิษย์ ญาติโยมทั้งไกลทั้งใกล้ อย่างไม่ขาดเลย
แม้หลวงปู่จะชราภาพมากแล้วก็ตาม ถ้ามีญาติโยมไม่ว่าใกล้หรือไกลมากราบเยี่ยมท่าน ท่านจะต้อนรับขับสู้ด้วยการให้โอวาทธรรม และแสดงธรรมโปรดเสมอ
ในช่วง ๔ ปีสุดท้ายนี้ หลวงปู่ได้ก่อสร้างเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๑ องค์ ที่วัดอรัญญวิเวกแห่งนี้ เพื่อให้เป็นที่สักการบูชาของประชาชนทั่วไป สิ้นค่าก่อสร้างทั้งสิ้น ๔ หมื่นบาทเศษ ได้มีผู้ศรัทธาถวายปัจจัยร่วมการก่อสร้างจำนวนมาก ท่านได้นำปัจจัยที่เหลือจากการสร้างเจดีย์มาสร้างโบสถ์ต่อไป
หลวงปู่ได้ปรารภถึงวัดศรีวิชัย บ้านศรีเวินชัยของท่านพระครูอดุลธรรมภาณ ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ประจำอำเภอศรีสงคราม ว่าสมควรจะได้สร้างพระอุโบสถไว้บวชลูกหลานเพื่อสืบต่อพระพุทธศาสนา
ท่านพระครูอดุลธรรมภาณจึงได้ขออนุญาตหลวงปู่เพื่อจัดสร้างวัตถุมงคลขึ้น เพื่อหารายได้ในการสร้างโบสถ์ หลวงปู่ท่านก็อนุญาต
วัตถุมงคลที่จัดสร้าง มี ๓ ประเภท คือ (๑) พระกริ่งรูปเหมือนของท่าน มีเนื้อเงิน ๑๒ องค์ และเนื้อนวโลหะ ๕๐๐ องค์ (๒) พระผงรูปเหมือนของท่าน เนื้อว่านสี่เหลี่ยม ๒,๐๐๐ องค์ และชนิดกลม ๑,๒๐๐ องค์ (๓) เหรียญเนื้อทองแดง และชุบนิกเกิ้ล ๑๕,๐๐๐ เหรียญ เนื้อเงิน ๙๐ เหรียญ และเนื้อนวโลหะ ๒๐๐ เหรียญ
วัตถุมงคลชุดนี้สร้างเสร็จเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๑๖ แล้วนำถวายให้ท่านปลุกเสกเดี่ยวจนถึงวาระสุดท้ายในชีวิตของท่าน จึงเป็นวัตถุมงคลรุ่นสุดท้ายจริงๆ
ภายหลังจากหลวงปู่มรณภาพแล้ว ก็ได้จัดพิธีพุทธาภิเษก วัตถุมงคลชุดนี้อีกครั้งหนึ่งในวันทำบุญครบรอบมรณภาพ ๑๐๐ วันของท่าน
งานพิธีได้จัดขึ้นที่วัดอรัญญวิเวกนี้ ได้นิมนต์ครูบาอาจารย์สายกรรมฐานมาเข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกหลายองค์
ได้กล่าวแต่ต้นแล้วว่า รายได้จากการสร้างวัตถุมงคลชุดนี้ นำไปสร้างพระอุโบสถวัดศรีวิชัยของท่านพระครูอดุลธรรมภาณ และอีกส่วนหนึ่งนำไปก่อสร้างพระอุโบสถวัดอรัญญวิเวก ซึ่งขณะนั้นยังไม่เสร็จสมบูรณ์
ทั้งหมดนี้คือภารกิจด้านการพัฒนาในช่วงสุดท้ายในชีวิตของหลวงปู่ ซึ่งในชีวิตของหลวงปู่แล้วท่านทุ่มเทในการสร้างคนมากกว่าการสร้างวัตถุสิ่งของ ถาวรวัตถุในวัดของท่านจึงมีเท่าที่จำเป็นและต้องใช้ประโยชน์จริงๆ เท่านั้น
๙๘
ท่านหลวงตาพระมหาบัวพูดเรื่องเสือกับหลวงปู่ตื้อ
ในหนังสือพ่อแม่ครูอาจารย์ ซึ่งเป็นประวัติของ ท่านหลวงตาพระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี ได้พูดถึงหลวงปู่ตื้อ ภายใต้หัวข้อ “เสือกับหลวงปู่ตื้อ” ดังนี้
“หลวงปู่ตื้อ บ้านข่า สามผง เราเคยไปพักอยู่เหมือนกันแต่ก่อน ไปภาวนา เสือชุมมากแถวนั้น หลวงปู่ตื้อ ท่านมีคาถาเป็นครูเสือ ไปอยู่ไหนเสือมักมานอนเฝ้าอยู่รอบๆ ข้างๆ ที่พักท่าน
หลวงปู่ตื้อท่านไปอยู่แม่ฮ่องสอนไปอยู่ในบ้าน เสือก็มาอยู่ด้วย เสือโคร่งใหญ่นะมันมาแอบอยู่ด้วย
ผู้เฒ่า (หลวงปู่ตื้อ) ไม่ได้สนใจกลัวมันแหละ เพราะมันเป็นครู คนอื่นนั่นสิ พระไปอยู่ด้วย พอดีกลางคืนพระปวดเบา จะออกมาเบา ออกมาเสือมันหมอบอยู่ข้างๆ เสือฮ่าๆ ใส่ เสียงร้องจ้าก วิ่งมา
มันไม่มีอะไร มันจะเป็นอะไร มันไม่เป็นไรแหละ หลวงปู่ตื้อบอกไม่เป็นไร มันตื่น บางทีมันอาจทักทายเฉยๆ ก็ได้ ท่านว่าอย่างนั้น เสือมันโฮกๆ ใส่ พระก็โดดเข้ากุฏิ กุฏิพังกระมัง พระองค์นั้นมาอยู่ได้คืนเดียว วันหลังเผ่นเลย กลัว โอ๊ย ! อยู่ไม่ได้
ไม่เป็นไรแหละ อยู่จะเป็นไรไป มันก็อยู่กับคนดีแล้วนี่ หลวงปู่ตื้อท่านว่างั้นนะ
เสือมันอยู่แอบๆ อยู่นี่ไม่ออกมาหาคนแหละ บางทีก็เห็นมันอยู่ในป่า คนอยู่อย่างนี้ แต่ถ้ามีคนแปลกหน้ามา มันคำรามนะ ท่านว่าให้มันทำ มันไม่ทำแหละ เพราะมันเป็นหมาของพระ ว่างั้นเถอะ รักษาเจ้าของ ใครมาแปลกๆ หน้านี่ไม่ได้ มันขู่คำราม ว่างั้น
พอหลวงปู่ตื้อว่า อย่าไปขู่เขานะ มันก็เงียบเลย
เวลาหลวงปู่ตื้อไปไหนมาไหน เสือมักจะตามไปรักษาท่าน รักษาเงียบๆ นะ มันอยู่ในป่าแหละเสือ ท่านไปพักภาวนานี่ เสือมักจะมาอยู่ข้างๆ ถ้ามีคนแปลกหน้ามา เราถึงจะรู้ว่ามีเสือนะ
ถ้าไม่มีคนแปลกหน้ามาก็เหมือนไม่มีเสือ มันไม่แสดงตัว มันอยู่ รอบๆ ข้างๆ ถ้ามีคนแปลกหน้ามา มีพระแปลกหน้ามา มันคำรามใส่ บางทีขู่คำราม เฮ่อๆ ใส โอ๊ย !
ไม่เป็นไรแหละ มันรักษาพระ มันอยู่นี้เป็นประจำไม่เป็นไร ไม่ต้องกลัวมัน
นี่หลวงปู่ตื้อท่านเป็นอย่างนั้นนะ”
๙๙
เสือขับไล่เจ้าคณะอำเภอ
ท่านหลวงตาพระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ได้กล่าวถึงเรื่องเสือกับหลวงปู่ตื้อ ต่อไปนี้ว่า
ท่านว่า ข้ามไปเที่ยวตั้ง ๕ อำเภอ มันยังตามไปนะเสือตัวนี้
อันนี้เรายังไม่เล่าให้ฟังถึงเรื่องเจ้าคณะอำเภอจะมาขับไล่ท่าน อันนี้ขบขันดีนะ
ตอนกลางคืนแต่ก่อนไม่มีไฟฟ้า มีแต่ตะเกียงเจ้าพายุ เจ้าคณะอำเภอเห็นท่านไปอยู่ในป่า จะมาขับไล่ท่าน จุดตะเกียงเจ้าพายุหิ้วมากลางคืน จะมาขับไล่ท่าน
พอมาถึงวัด เสือตัวนั้นออกมาคำรามใหญ่เลย เฮ่อๆ ทางนี้ เปิดเลย ตะเกียงเจ้าพายุจะตกฟากแม่น้ำโขง (กระมัง) ไปใหญ่เลย
ตกลงเสือขับเสียก่อน พระนั้นยังไม่ได้มาขับหลวงปู่ตื้อแหละ ถูกเสือขับเสียก่อนแล้ว เผ่นใหญ่เลย ไปใหญ่เลย แตกทั้งญาติทั้งโยม ทั้งพระ แตกไปด้วยกัน ฮือๆ เลย
เสือมันคำรามใส่ มันยังไม่ทำไมแหละ มันก็เหมือนกับหมามี เจ้าของ ก็คาถาท่านครอบไว้นี่ มันกลัว ใจมันลง มันไม่ถือเป็นข้าศึก ถือเป็นเหมือนเจ้าของ
๑๐๐
หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท พูดถึงหลวงปู่ตื้อ
หลวงปู่เจี้ยะ จุนโท แห่งสำนักวัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี เป็นศิษย์อาวุโสที่สำคัญอีกองค์หนึ่ง ท่านรับใช้ใกล้ชิด และหลวงปู่มั่นเอ็นดูเหมือนลูกเหมือนหลานท่านจริงๆ
ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๙-๒๕๑๘ หลวงปู่เจี้ยะพำนักจำพรรษาที่วัดเขาแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี บ้านเกิดของท่าน ท่านได้ปฏิบัติพัฒนาวัดแห่งนี้จนเจริญรุ่งเรือง สร้างเสนาสนะบริบูรณ์ทุกอย่าง
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ หลวงปู่เจี้ยะได้จัดงานทำบุญฉลองอุโบสถวัดเขาแก้ว โดยนิมนต์ หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม มาเป็นประธาน และพระกรรมฐานทั้งหลายได้มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก พระผู้ใหญ่ก็เช่น หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร, หลวงปู่ชอบ ฐานสโม, พระอาจารย์วัน อุตฺตโม, พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ, พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร และพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย เป็นต้น
เมื่อหลวงปู่ตื้อ มาพักที่วัดเขาแก้ว ท่านจะสนทนาธรรมกับหลวงปู่เจี้ยะ เป็นเวลานานๆ หลวงปู่เจี้ยะจะแสดงกิริยานอบน้อมน่ารักยิ่งนัก พูดจาวา “ครับ...ครับ...ครูอาจารย์” ในเวลาพูดก็พนมมือโดยตลอด
ขณะหลวงปู่ตื้อพักที่วัดเขาแก้วนั้น มีคนมาถามปัญหาท่าน บางปัญหาก็น่าขำ เช่น มีโยมคนหนึ่งกราบเรียนถามท่านว่า “หลวงปู่ครับ มุตโตทัย มันเกิดที่ไหน? หลวงปู่รู้ไหม?”
“เฮ้ย ! รู้ๆๆ จากโคราชลงมาทางกรุงเทพฯ นี่มุตโตไทย จากโคราชขึ้นไปทางอุดรฯ ขอนแก่นโน่น เป็นมุตโตลาว !” ญาติโยมหัวเราะกันครืน
แล้วหลวงปู่ตื้อท่านก็พูดว่า “มีปัญหาอะไรถามมาเลย กูนี่ตอบ ได้หมด ยิ่งปัญหาเป็นพันๆ ปี ก็ยิ่งตอบได้ถนัด”
“โอ ! ขนาดนั้นเลยหรือหลวงปู่” โยมคนนั้นกล่าว โยมคนอื่นๆ มองหลวงปู่ตื้อ นัยน์ตาสลอนเหมือนตุ๊กตา
“เออซีวะ...กูตอบได้หมดปัญหาในโลกนี้ ยิ่งนานเป็นพันปี ยิ่งตอบ ได้เต็มปากเต็มคำ”
“ทำไมเป็นอย่างงั้นล่ะปู่” โยมผู้หญิงคนหนึ่งถาม
“มันนานาแล้ว ไม่มีคนไปรู้กับกูหรอก ไม่มีคนไปค้นได้ ไอ้คนที่ถามกู มันก็ไม่รู้เรื่องหรอกนะ”
หลวงปู่ตื้อท่านว่าอย่างนั้น คนก็ยิ่งหัวเราะกันครื้นเครง
มีโยมคนหนึ่งนั่งใกล้ๆ กับหลวงปู่เจี้ยะ พูดกระซิบถามท่านว่า “ถ้าหลวงปู่ตื้ออยู่ ท่านหลวงตามหาบัว จะกล้าหยอกเล่นไหมครับ?”
“อู้ย ! ไม่กล้าหรอก”
หลวงปู่เจี้ยะ ตอบแบบเน้น ป้องปากแบบซุบซิบๆ
๑๐๑
ได้พระผู้มีบุญญฤทธิ์มาช่วยสร้างโบสถ์
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ขณะที่หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม พำนักจำพรรษาที่วัดอรัญญวิเวก (วัดป่าบ้านข่า) บ้านข่า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ท่านปรารภที่จะสร้างโบสถ์ที่วัดแห่งนี้ขึ้น
หลวงปู่ท่านได้นิมิตเห็นเทวดาสวมชุดขาว สวมชฎาเหมือมงกุฎกษัตริย์ อุ้มท่านเหาะขึ้นไปบนยอดเขาสูง ซึ่งมีปราสาทสวยงามมาก ก่อนเข้าในปราสาท หลวงปู่ขอล้างเท้าก่อน พอน้ำที่ใสและเย็นถูกหลังเท้าของท่าน จิตท่านเลยถอนออกจากนิมิต
หลวงปู่ได้เพ่งพิจารณานิมิตนั้น ก็ได้ความว่าจะมีพระที่มีบุญญฤทธิ์ ชื่อคล้ายๆ กับสิงห์ หรือสิม นี้แหละ อยู่จังหวัดอุดรธานี จะมาช่วยสร้างโบสถ์ให้สำเร็จ
หลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน หลวงปู่ได้นิมิตอีกครั้งหนึ่งว่า ท่านเห็นเครื่องบินผ่านวัด (ช่วงนั้นอยู่ระหว่างสงครามเวียดนาม เครื่องบินของสหรัฐอเมริกาบรรทุกระเบิดไปทิ้งในเวียดนาม และบินผ่านวัดเป็นประจำ) ท่านจึงหยิบปืนที่อยู่ข้างๆ เล็งขึ้นไป ปรากฏว่าท่านเห็นมีพระปัจเจกโพธิ์อยู่ในเครื่องบินลำนั้น ท่านจึงวางปืนลง และรำพึงว่า “เราเกือบยิงพระปัจเจกโพธิ์แล้ว”
วันรุ่งขึ้นได้มีคณะผ้าป่ามาจากจังหวัดอุดรธานี นำโดยโยมกุ้ยกิ่ม ในคณะได้มี ท่านพระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม) ร่วมเดินทางมาด้วย
ท่านพระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ พำนักอยู่ที่วัดทิพย์รัฐนิมิตร (วัดป่าบ้านจิก) อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ชื่อของท่านคือ หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม ท่านมีฝีมือในการสร้างโบสถ์ได้อย่างงดงาม ทั้งๆ ที่ไม่เคยไปฝึกหัด หรือร่ำเรียนจากที่ใดมาก่อน ชื่อของท่านคือ “ถิร” อ่านว่า “ถิน” เสียงคล้ายๆ กับ สิงห์ หรือ สิม ในนิมิตของหลวงปู่ตื้อ
ช่วงนั้นหลวงปู่ถิรได้ช่วย หลวงปู่ชอบ ฐานสโม สร้างโบสถ์กลางน้ำที่วัดป่าสัมมานุสรณ์ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ซึ่งใกล้จะเสร็จแล้ว
หลวงปู่ตื้อยังไม่รู้จักหลวงปู่ถิร แต่หลวงปู่ถิรรู้จักหลวงปู่ตื้อมาก่อน ในฐานะที่หลวงปู่ตื้อเป็นลูกศิษย์รุ่นใหญ่ในสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
เมื่อหลวงปู่ตื้อปรารภเรื่องการสร้างโบสถ์ หลวงปู่ถิรได้กล่าวว่า “ถ้าเรามีบุญบารมีร่วมกันมาก่อน ก็คงจะร่วมกันสร้างโบสถ์ได้สำเร็จ”
แล้วหลวงปู่ถิรก็รับปากจะช่วย โดยขอข้อแม้ ๒ ประการ หนึ่ง ต้องไม่มีการสร้างเหรียญหรือวัตถุมงคลออกจำหน่ายหาเงินเข้าวัด และ สอง ต้องไม่มีการจัดมหรสพเพื่อหาเงินเข้าวัด วัตถุประสงค์ของหลวงปู่ทั้งสองตรงกัน และก็เป็นประเพณีปฏิบัติในวัดป่าสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่ถือปฏิบัติอยู่แล้ว การก่อสร้างโบสถ์ที่วัดอรัญญวิเวก (วัดป่าบ้านข่า) จึงเริ่มดำเนินไปตั้งแต่บัดนั้น และการก่อสร้างก็ก้าวหน้าไปด้วยดี
ในหนังสือธรรมประวัติของ พระครูสถิตธรรมวิสุทธ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม) ได้กล่าวถึงว่า ทุกครั้งที่หลวงปู่ถิรเข้าพบหลวงปู่ตื้อ หลวงปู่ตื้อจะได้นิมิตทราบเหตุการณ์ต่างๆ ล่วงหน้าเสมอ ท่านที่สนใจกับนิมิตเหล่านั้น โปรดติดตามหาอ่านจากหนังสือดังกล่าวได้
เมื่อการสร้างโบสถ์ดำเนินไปได้ระยะหนึ่ง หลวงปู่ตื้อได้บอกหลวงปู่ถิรว่า
“ช่วยสร้างโบสถ์ให้เสร็จเร็วๆ ด้วย เพราะขณะนี้เหล่าเทวดามานิมนต์แล้ว ๔๐๐ องค์ ฝ่ายมนุษย์มานิมนต์เพียง ๒๐๐ คน คงต้องมรณภาพในเวลาอันใกล้นี้”
หลวงปู่ถิรได้เร่งก่อสร้างโบสถ์ แต่ต้องใช้เวลา ดังนั้น โบสถ์วัดอรัญญวิเวก (วัดป่าบ้านข่า) บ้านข่า จังหวัดนครพนม จึงเสร็จภายหลังจากที่หลวงปู่ตื้อได้มรณภาพไปแล้ว
๑๐๒
วาระสุดท้ายก่อนละขันธ์
ในปี พ ศ. ๒๕๑๗ เป็นปีที่ ๔ ที่หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม มาพักจำพรรษาที่วัดอรัญญวิเวก บ้านข่า จังหวัดนครพนม บ้านเกิดของท่านนั้น ไม่มีใครคาดคิดเลยว่าหลวงปู่จะรีบละวางขันธ์จากพวกเราไปในปีนี้
ก่อนเข้าพรรษาในพรรษาสุดท้าย หลวงปู่จะพูดเสมอว่า “ใครต้องการอะไร ก็ให้เร่งรีบสร้างเอา คุณงามความดีทั้งหมดอยู่ที่ตัวของเราแล้ว ขันธ์ ๕ นี้เมื่อมันยังไม่แตกดับ ก็อาศัยมันประกอบความดีได้ แต่ถ้ามันแตกดับแล้วก็อาศัยมันไม่ได้เลย ขันธ์ ๕ ของหลวงตาก็จะดับแล้วเหมือนกัน..”
หลวงปู่ย้ำบ่อยครั้งที่สุดว่า “ธาตุลมของหลวงตาได้วิบัติแล้ว บางครั้งมันเข้าไปแล้วก็ไม่ออกมา นานที่สุดจึงออกมา และเมื่อมันออกมาแล้ว ก็ไม่อยากจะเข้าไป”
หลวงปู่ท่านพูดอยู่เช่นนี้ แต่ดูเหมือนไม่ค่อยมีใครใส่ใจถึงเรื่องการจะมรณภาพวางขันธ์ของท่าน เพราะสุขภาพของท่านก็แข็งแรงดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บอะไรที่จะต้องกังวล ท่านก็ไม่ได้อาพาธอะไรเลย เดินเหินไปไหนมาไหนได้แคล่วคล่องตามปกติ เพียงแต่ลูกศิษย์คอยช่วยประคับประคองบ้าง เนื่องจากเป็นห่วงเพราะท่านชราภาพมากแล้วเท่านั้น
ก่อนเข้าพรรษา จะมีคณะสงฆ์ที่เคารพศรัทธาในองค์หลวงปู่ท่าน มาทำวัตร เพื่อกราบสักการะและถวายดอกไม้ธูปเทียนต่อหลวงปู่ ซึ่งปฏิบัติเป็นประเพณีทุกปี แล้วหลวงปู่ก็ให้โอวาทธรรม และสนทนาธรรม ต้อนรับขับสู้ไปตามระเบียบที่เคยปฏิบัติ
ในพรรษา หลวงปู่แสดงธรรมโปรดญาติโยมลูกศิษย์ลูกหา ทั้งฝ่ายฆราวาสและฝ่ายบรรพชิตทุกวันไม่เคยขาด แต่มีที่แปลกกว่าพรรษาก่อนๆ กล่าวคือ เมื่อท่านแสดงธรรมจบแล้ว ท่านจะพูดเสมอว่า
“ลมไม่ค่อยดี ลมไม่ค่อยเดินสะดวก ลมของหลวงตาวิบัติแล้ว ลูกหลานเอ้ย”
แล้วท่านก็ยิ้มและหัวเราะอย่างสบายใจตามปกติวิสัยของท่าน มิหนำซ้ำท่านไม่เคยบ่นว่าเหนื่อยหรือแสดงอาการลุกนั่งลำบากให้เห็นเลย จึงไม่มีใครใส่ใจและกังวลเรื่องธาตุขันธ์ของท่านเท่าที่ควร
การแสดงธรรมของท่าน ยังคงรูปแบบเอกลักษณ์ของท่าน ไม่ว่าจะเป็นสำนวนโวหาร ทัศนะ ลีลา ทุกอย่างเป็นปกติ โปรดญาติโยมและคณะสงฆ์อย่างสม่ำเสมอ
ในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นเวลาประชุมพระภิกษุสามเณร และญาติโยมชาวบ้าน หลวงปู่จะต้องลงมาจากกุฏิเพื่อแสดงธรรม ไม่เคยงดเว้นแม้แต่วันเดียว จะไม่มีคำว่าหลวงตาอาพาธแสดงธรรมไม่ได้ ลูกศิษย์ลูกหาพูดอยู่เสมอว่า “หลวงตาถึงจะมีอายุ แต่ก็ยังแข็งแรงดี” ใครๆ ก็ว่าอย่างนั้น
หลังการแสดงธรรม เมื่อหลวงปู่พูดว่า “ขันธ์ ๕ จะดับแล้ว ธาตุลมวิบัติแล้ว” ก็มีผู้กราบเรียนถามท่านว่า “ท่านหลวงตาไม่เหนื่อยหรือ?”
หลวงปู่ท่านบอกว่า
“ขันธ์ ๕ จะให้หยุดการแสดงธรรมเหมือนกัน แต่จิตไม่หยุด มันก็หยุดไม่ได้ การแสดงธรรมเป็นหน้าที่ของเรา เกิดมาเพื่อทำประโยชน์ทั้งนั้น
ให้ความดี แล้วก็ทำความดี ต้องทำความดีเพื่อความดีอีก
คนเกิดมารู้จักพุทโธ ธัมโม สังโฆ จึงจะเป็นคนไม่ใช่สัตว์ เราต้องรู้จักพระธรรมให้ดีที่สุด จึงจะเรียกได้ว่าพระมหาเปรียญ พระนักธรรม พระกรรมฐาน”
๑๐๓
สามวันก่อนหลวงปู่มรณภาพ
หลังจากเข้าพรรษาไปได้ ๑๑ วัน คือ วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๑๗ เวลาประมาณเที่ยงวัน หลวงปู่แว่น ธนปาโล ได้นำคณะสงฆ์จาก วัดป่าอุดมสมพร อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร มาทำวัตร และขอโอวาทธรรมจากหลวงปู่ตามประเพณีปฏิบัติ
หลวงปู่แสดงพระธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์ จบแล้วสังเกตเห็นว่า ท่านเหนื่อยมาก อาการเช่นนี้แสดงให้เห็นตั้งแต่วันที่ ๑๕ กรกฎาคม คือ ๒ วันที่แล้ว
หลวงปู่ไม่เคยปริปากบอกว่าท่านเหนื่อย แต่ท่านพูดว่า “เทศน์วันนี้มีหัวใจธรรม”
แล้วท่านก็เอนหลังลงพักผ่อน ดูอาการภายนอกแล้วเห็นว่า ท่านเหนื่อยจริงๆ ตัวท่านร้อน มีไข้ ลูกศิษย์ได้ถวายยาแก้ไข้ ท่านรับมาฉันแล้วพูดว่า
“ยานี้รักษาใจไม่ได้ แต่รักษาขันธ์ ๕ ได้ แต่ขันธ์ ๕ ของหลวงตาจะดับแล้วล่ะ”
วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๑๗ ท่านพระอาจารย์อุ่น อุตฺตโม จาก วัดอุดมรัตนาราม อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร มากราบเยี่ยมทำวัตรหลวงปู่แล้วท่านแสดงพระธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์ เรื่องอายตะภายใน อายตนะภายนอก ท่านสอนให้รู้อายตนะภายในและอายตนะภายนอก ให้รู้อาการเป็นไปของอายตนะทั้งสอง สุดท้ายท่านแสดงว่าอายตนะของหลวงตาจะแตกดับแล้วละ
ท่านพระอาจารย์อุ่นกราบลา เดินทางกลับเวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น.
เย็นวันนั้นสังเกตเห็นว่าหลวงปู่ท่านเหนื่อย พูดเบา บางครั้งก็พักหายใจยาวๆ แล้วจึงพูดสอนลูกศิษย์ต่อ
ลูกหลานและลูกศิษย์กราบเรียนให้ท่านพักผ่อน ท่านเอนหลังลง แล้วก็เทศน์สั่งสอนลูกศิษย์ไปเรื่อยๆ ไม่หยุด
ลูกศิษย์ได้ถวายยาท่าน ท่านบอกว่า
“ยามีประโยชน์แก่ร่างกาย ก็ต่อเมื่อร่างกายต้องการเท่านั้น”
เช้าวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๑๗ หลวงปู่ฉันภัตตาหารเช้าตามปกติ แต่ฉันได้น้อย สังเกตดูอาการภายนอกเห็นว่าท่านเหนื่อยและอ่อนเพลียมากทีเดียว
ฉันเสร็จท่านเข้าไปพักผ่อนเพียงเล็กน้อย แล้วแสดงธรรมโปรดศิษย์และญาติโยมตลอด แต่เสียงเบามาก พอดีมีพระภิกษุสามเณรจากวัดอื่นมากราบท่าน ท่านจึงบอกให้ลูกศิษย์พยุงท่านลุกขึ้นนั่ง แล้วท่านพูดว่า
“สังขารไม่เที่ยง หลวงตาเกิดมาก่อน ก็ต้องไปก่อนตามธรรมดา”
ท่านแสดงธรรมโปรดคณะสงฆ์ชุดนั้นประมาณ ๑๕ นาที คณะพระสงฆ์และสามเณรได้กราบลาเมื่อเวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น. หลวงปู่แสดงอาการเหนื่อยมาก พูดเบามาก ท่านบอกว่า
“ลมวิปริตแล้ว ไม่มีแล้ว”
ท่านให้พรลูกศิษย์ที่อยู่ ณ ที่นั้นเป็นภาษาบาลีว่า
“พุทโธ สุโข ธมโม สุโข สงฺโฆ สุโข
จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ”
แล้วหลวงปู่ก็หัวเราะ ยิ้มให้ลูกศิษย์ตามนิสัยปรกติของท่าน ท่านมีอารมณ์ดีไม่สะทกสะท้านต่อความตายที่ประชิดเข้ามา ไม่หลง ไม่กังวลใดๆ ยังสงบเย็นเป็นปกติ
คณะศิษย์ที่อยู่ ณ ที่นั้น ก็มีท่านพระอาจารย์อุ่น พระอาจารย์บาน และพระภิกษุสามเณรอีกหลายสิบรูป เฝ้าดูอาการท่าน และรับคำสอนจากท่านจนวินาทีสุดท้าย
หลวงปู่พูดธรรมะสอนศิษย์ไปเรื่อยๆ แม้เสียงจะเบาแต่ก็ยังพอรู้เรื่อง จนประโยคสุดท้ายท่านพูดว่า
“ธาตุลมในหลวงตาวิปริตแล้ว”
จากนั้นท่านไม่พูดอะไรอีก สังเกตดูอาการเคลื่อนไหวทุกอย่างหยุดสนิท ทุกคนจึงแน่ใจว่า หลวงปู่ได้ละขันธ์แล้ว เมื่อเวลา ๑๙.๐๕ น.
แทบไม่ต้องนัดแนะกัน ศิษย์ทุกท่าน ณ ที่นั้นก้มลงกราบแทบเท้าของท่านด้วยความรัก ความศรัทธา และความเคารพในองค์ท่านอย่างสุดจิตสุดใจ
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ลูกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ลูกศิษย์เอกของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้ทำหน้าที่ของท่านอย่างสมบูรณ์ที่สุด เท่าที่สมณะในพระพุทธศาสนาจะพึงทำ ได้ละวางขันธ์ถึงแก่มรณภาพด้วยความองอาจ และสง่างามครบถ้วนบริบูรณ์ที่สุด เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราซ ๒๕๑๗ เวลา ๑๙.๐๕ นาฟิกา สิริรวมอายุได้ ๘๖ ปี ๕ เดือน ๑๖ วัน อายุพรรษาเฉพาะธรรมยุติกนิกาย ๔๖ พรรษา รวมอายุพรรษาทั้งสองนิกายได้ ๖๕ พรรษา
๑๐๔
หลวงปู่เคยกลับไปเชียงใหม่อีกไหม?
ตอนแรกคิดว่าจะจบประวัติและเรื่องราวของหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ในตอนที่ ๑๐๓ เมื่อท่านละสังขารแล้ว เผอิญมีผู้ถามมาว่า ภายหลังที่หลวงปู่กลับไปอยู่ที่นครพนมแล้ว ท่านได้กลับไปโปรดลูกศิษย์ลูกหาที่เชียงใหม่อีกหรือเปล่า? อัฐิของท่านเป็นพระธาตุหรือไม่? เป็นต้น เผอิญข้อมูลต่างๆ เหล่านี้มีอยู่บริบูรณ์แล้วในหนังสือทิพย์ : พระอรหันต์ยุคปัจจุบัน ผมเพียงแต่ยกมาตกแต่งเพียงเล็กน้อยเท่านั้นก็ใช้ได้
ในหนังสือทิพย์ ได้กล่าวถึงการกลับไปโปรดลูกศิษย์ลูกหา ที่เชียงใหม่ ดังนี้
“ก่อนหน้าที่หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม จะมรณภาพ ช่วงบั้นปลายชีวิตของท่าน ท่านมักจะได้รับนิมนต์ไปเชียงใหม่บ่อยมาก...”
ก็ขออนุโมทนาสาธุกับพี่น้องชาวเชียงใหม่ทุกท่าน หลวงปู่ท่านต้องไม่ลืมชาวเชียงใหม่แน่เพราะท่านได้บรรลุธรรมสูงสุดก็ที่เชียงใหม่นั้นเอง และชาวเชียงใหม่ก็ได้ดูแลอุปัฏฐากถวายอาหารบิณฑบาต ซึ่งก็คือให้ชีวิต ให้เลือด ให้เนื้อในร่างกายของท่าน ทำให้ท่านมีกำลังวังชาที่จะบำเพ็ญเพียรและเผยแผ่ธรรมะต่อไป แล้วท่านจะลืมพวกท่านได้อย่างไร?
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ หลวงปู่ตื้อ ได้ไปเยี่ยม หลวงปู่สิม พุทธาจาโร ที่สันกำแพง (คาดว่าน่าจะเป็น วัดโรงธรรมสามัคคี ซึ่ง ท่านหลวงปู่ทองบัว ตนฺติกโร เป็นเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน และคุณทักษิณ ชินวัตร ก็เคยบวชอยู่ที่วัดนี้ โดยมีท่านหลวงปู่ทองบัว หรือพระวิมลธรรมญาณเถร เป็นพระอุปัชฌาย์)
หลวงปู่ตื้อท่านได้กล่าวกับหลวงปู่สิมว่า
“ผมจะขอลาท่านกลับไปบ้านเกิด จะเอาสังขารไปทิ้งที่นั่น คงจะมิได้กลับมาเชียงใหม่อีก”
แล้วท่านก็กล่าวต่อไปว่า
“ผมมีความลับจะบอกท่านอยู่เรื่องหนึ่ง ผมรักษาเอาไว้ ๓๔ ปีนี่แล้ว เมื่อครั้งที่หลวงปู่มั่นยังอยู่ที่เชียงใหม่ ก่อนท่านจะกลับไปอุดรธานี ท่านได้พยากรณ์ไว้ว่า ศิษย์รุ่นต่อไปที่จะมีชื่อเสียงโด่งดังคือ ท่านสิม กับ ท่านมหาบัว (ท่านหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน) นี่แหละ”
แล้วในปีต่อมา คือ พ.ศ. ๒๕๑๗ หลวงปู่ตื้อเอาสังขารของท่านไปทิ้งที่นครพนม บ้านเกิดของท่านจริงๆ
ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลจากหนังสือทิพย์ ตามที่ได้กราบเรียนตั้งแต่ต้น
๑๐๕
พระมหาเถระคนละนิกายท่านคุยกัน
ก็ในหนังสือทิพย์เล่มเดียวกันนั่นแหละ ได้ถ่ายทอดการสนทนาถึงเรื่องหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ระหว่างพระมหาเถระต่างนิกาย คือ ท่านพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ) แห่งสำนักวัดจันทาราม (วัดท่าซุง) อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย กับ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร แห่งสำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย
ผมขอคัดลอกบันทึกการสนทนาจากหนังสือทิพย์มาเสนอ ดังนี้
เป็นที่เชื่อกันว่า หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ท่านได้สำเร็จภูมิธรรมขั้นสูงเพราะอัฐิของท่านได้กลายเป็นพระธาตุ และแม้แต่ท่านจะเข้าสู่แดนนิพพานไปแล้วก็ตาม แต่ในบางครั้งท่านก็ยังเมตตามาโปรดเยี่ยมเพื่อนสหธรรมิกที่เป็นศิษย์ในสายเดียวกัน ดังเช่น หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร (มรณภาพเมื่อ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๓๕) แห่งสำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งหลวงปู่สิมท่านมีความเคารพนับถือหลวงปู่ตื้อเป็นอย่างมาก
ในการสนทนาครั้งหนึ่ง ที่หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ (มรณภาพเมื่อ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๓๕) แห่งวัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี ได้ไปเยี่ยมหลวงปู่สิม ที่ถ้ำผาปล่องในครั้งนั้น
เมื่อเจอกัน หลวงปู่สิมได้นิมนต์ให้หลวงพ่อฤๅษีฯ ขึ้นนั่งบนอาสนะที่วางอยู่บนยกพื้นสูงขึ้นไป ส่วนหลวงปู่สิมคงนั่งอยู่บนอาสนะที่พื้นล่าง แต่หลวงพ่อฤๅษีฯ ได้ปฏิเสธ ขอนั่งบนพื้นล่างเสมอกับหลวงปู่สิม
ในคำสนทนาตอนหนึ่ง หลวงพ่อฤๅษีท่านได้ปรารภว่า “หลวงปู่ตื้อไปเสียแล้ว เสียดายจริงครับ”
หลวงปู่สิม ท่านพึงพอใจที่กล่าวถึงครูบาอาจารย์ของท่าน ที่ท่านเคารพ จึงได้ถามว่า “ท่านเคยไปเยี่ยมหลวงปู่หรือ?”
“เจอกันครับ ทะเลาะกัน” หลวงพ่อฤๅษีตอบยิ้มๆ ท่านหมายความว่าได้โต้ตอบโอวาทธรรมกันไม่ใช่ทะเลาะกัน
“หลวงปู่ตื้อปฏิภาณโวหารมาก” หลวงปู่สิมพูดยิ้มๆ
“หลวงปู่ตื้อดีมากครับ ปฏิภาณเก่งจริงๆ ยอดจริงๆ นี่ได้ตัวยอดปัญญาจริงๆ หายาก เสียดาย” หลวงพ่อฤๅษีฯ กล่าวต่อ
หลวงปู่สิม ท่านก็กล่าวเสริมขึ้นว่า “เคยถามหลวงปู่ตื้อสมัยท่านมีชีวิตว่า เอ...พระที่มีปฏิภาณโวหารนี้มีอยู่หรือในประเทศไทย หลวงปู่ตื้อตอบว่าไม่มี แต่ไอ้ปฏิภาณโวหารมันมี แต่ว่าเพื่อนมักจะขัดคอ”
“ธรรมดาหลวงปู่เก่งจริงๆ ตอบปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างคาดไม่ถึง...เสียดายหลวงปู่ตื้อ ถึงหลวงปู่ตื้อไม่มีรูป แต่ยังมีพิษนะครับ ฤทธิ์เดชมีมาก” หลวงพ่อฤๅษีฯ กล่าวต่อ
“บางทีหลวงปู่ตื้อจะมาอยู่ที่นี่ก็ไม่รู้” หลวงปู่สิมพูดยิ้มๆ
หลวงพ่อฤๅษีฯ โพล่งออกมาทันทีว่า “ฮึ หลวงปู่ตื้อมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งจะมา ท่านมานานแล้ว ไม่จะหรอกครับ ท่านเป็นพระที่น่ารักมาก”
“ครับ” หลวงปู่สิมตอบยิ้มละมัย
“ชอบในปฏิปทาของหลวงปู่ตื้อ คือไม่อั้นใครทั้งนั้น เรื่องตอบเลี่ยงคนไม่มี ตรงไปตรงมา หายาก” หลวงพ่อฤๅษีฯ กล่าวต่อไป
“ครับ” หลวงปู่สิมตอบรับ
“นี่ธรรมแท้ ถ้าทำขึ้น ทำละพังเลย ขืนตั้งกำแพงเมื่อไร ชนพังเมื่อนั้น ดีจริง หายาก หาไม่ได้ แต่ก็ยังมีอยู่ที่นี่ก็ยังมีรูปหนึ่ง” หลวงพ่อฤๅษีฯ ว่า
“ใครครับหลวงพ่อ” ลูกศิษย์ท่านหนึ่งเรียนถาม
“นี่...อยู่ตามถ้ำนี้แล้ว ไม่ช้าหรอก ไม่ช้าก็เป็นหลวงปู่ตื้อรูปที่สอง”
ที่หลวงพ่อฤๅษีฯ ตอบอย่างนั้น ท่านหมายถึงหลวงปู่สิม จะเป็นพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณเหมือนหลวงปู่ตื้อ
หลวงปู่สิมหัวเราะน้อยๆ ไม่กล่าวอะไร
ต่อมาหลวงพ่อฤๅษีฯ ได้เล่าให้ลูกศิษย์ทั้งหลายฟังถึงเรื่องนี้ในภายหลังว่า หลวงปู่ตื้อมาถ้ำผาปล่องนานแล้ว ท่านนั่งอยู่บนอาสนะที่ยกพื้นนั้น
ฉะนั้น ตอนที่หลวงปู่สิมนิมนต์ให้หลวงพ่อฤๅษีฯ นั่งบนยกพื้น ท่านจึงไม่ยอมนั่ง เพราะจะเป็นการขึ้นไปนั่งเทียบเสมอหลวงปู่ตื้อ ซึ่งไม่บังควรเป็นอย่างยิ่ง หลวงพ่อฤๅษีฯ จึงขอนั่งเสมอหลวงปู่สิม
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ท่านเป็นพระอรหันต์ทรงคุณธรรมพิเศษยอดยิ่ง ได้ปฏิสัมภิทาญาณ คือ มีความรู้พร้อมในหัวข้อธรรมวินัยอย่างยอดเยี่ยมเป็นเลิศ อันเป็นคุณวิเศษที่เรียกว่า เหนืออัจฉริยะ ซึ่งหาได้ยากยิ่งในปัจจุบัน
๑๐๖
อัจฉริยภาพด้านภาษาและการสื่อสาร
จากการศึกษาประวัติและเรื่องราวของหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม จากตอนต่างๆ ที่ผ่านมา จะเห็นว่าหลวงปู่ท่านสามารถติดต่อสื่อสารกับบรรดาเทพทั้งหลาย รวมถึงภูตผีปีศาจและวิญญาณในระดับต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
หลวงปู่สามารถเข้าใจภาษาสัตว์ชนิดต่างๆ นับตั้งแต่ลิง นก ไปถึงสัตว์ที่ดุร้าย เช่น เสือ และสัตว์ใหญ่ เช่น ช้าง ได้อย่างไม่ต้องสงสัย
ผู้เขียนได้รับการบอกเล่าจากหลวงพ่อเปลี่ยน ปัญฺญาปทีโป วัดอรัญญวิเวก อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ว่าหลวงปู่ตื้อ กับหลวงปู่แหวน ท่านเดินธุดงค์ไปถึงพม่า อินเดีย เนปาล จนถึงทิเบต และลงเรือสำเภาไปเกาะศรีลังกา จึงแน่ใจว่าท่านสามารถสื่อสารกับประชาชนในประเทศเหล่านั้น อย่างน้อยก็สามารถเอาตัวรอดได้
เรื่องภาษาบาลี หลวงปู่ท่านรู้แน่นอน เพราะท่านเคยเรียนมูลกัจจายน์ หรือหลักสูตรนักปราชญ์มาแล้ว
ภาษาที่หลวงปู่ใช้อยู่ประจำ คือ ภาษาไทยภาคกลาง ไทยภาคอิสาน ไทยภาคเหนือ ภาษาลาว ท่านใช้ได้คล่องแคล่วอยู่แล้ว ไม่ต้องสงสัย
หลวงพ่อเปลี่ยนท่านบอกว่า หลวงปู่ตื้อท่านพูดฝรั่งเศสได้ตั้งแต่ครั้งธุดงค์ไปทางฝั่งลาว และก็เคยได้ยินหลวงปู่ท่านพูดภาษาเขมรกับพระที่มาจากจังหวัดสุรินทร์ได้อย่างคล่องแคล่ว ซึ่งไม่ทราบว่าท่านไปเรียนมาตั้งแต่เมื่อใด
นอกจากนี้ภาษาชาวเขา และชาวป่าเผ่าต่างๆ หลวงปู่ตื้อท่านก็สามารถสื่อสารได้เป็นอย่างดี
เท่าที่ศึกษาประวัติของท่านโดยละเอียด ผู้เขียนเห็นว่า หลวงปู่ตื้อ ท่านเป็นพระอรหันต์ที่ครบเครื่องอย่างแท้จริง ท่านแตกฉานด้านพระธรรมวินัย เทศน์เก่ง สอนเก่ง ด้านพลังจิต อิทธิฤทธิ์ของท่านก็มีอย่างเพียบพร้อมบริบูรณ์ (คือได้ทั้ง “บุ๋น” และ “บู๊” อย่างครบเครื่องจริง)
ดังนั้น ผู้เขียนจึงไม่มีความเคลือบแคลงแม้แต่น้อยนิดกับคำกล่าวของพระราชพรหมยาน หรือหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ แห่งวัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี ที่ว่า
“หลวงปู่ตื้อ ท่านเป็นพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณ”
๑๐๗
หลวงปู่คล้องลูกประคำอยู่เสมอหรือ?
รูปของหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ปรากฏแพร่หลายในปัจจุบัน จะเห็นท่านสวมลูกประคำไว้ที่คอเหมือนกับเกจิอาจารย์ และพระครูบาทางภาคเหนือ
เท่าที่ปรากฏ ครูบาอาจารย์สายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ไม่เห็นมีพระองค์ใดที่สวมลูกประคำ ก็เห็นมีแต่หลวงปู่ตื้อองค์นี้แหละที่ต่างไปจากพระวิปัสสนาจารย์องค์อื่นๆ
หลายๆ ท่านคงมีความสงสัยในเรื่องนี้ ว่าปกติหลวงปู่ตื้อท่านคล้องหรือไม่คล้องลูกประคำไว้ที่คอ?
ผู้เขียนสงสัยเรื่องนี้มานาน ได้มีโอกาสกราบเรียนถามครูบาอาจารย์อาวุโส ๓ องค์
องค์แรก ผู้เขียนได้กราบเรียนถาม พระครูภาวนาภิรัต (หลวงปู่สังข์ สงฺกิจฺโจ) หลานของหลวงปู่ตื้อ และเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าอาจารย์ตื้อสืบต่อมาจากหลวงปู่
หลวงปู่สังข์ สงฺกิจฺโจ ท่านบอกว่า ท่านก็ไม่ค่อยชอบใจที่เห็นรูปหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม แขวนสร้อยประคำไว้ที่คอ จนทำให้ใครต่อใครเข้าใจผิด โดยคิดว่าหลวงปู่ท่านแขวนเป็นประจำ ซึ่งโดยปกติทั่วไปท่านไม่ได้แขวน แต่ท่านมีลูกประคำไว้ในย่ามเป็นประจำ ท่านแขวนบ้างตอนทำพิธีหรือปลุกเสกบางอย่าง เสร็จแล้วท่านก็เก็บ ไม่ได้แขวนเป็นประจำเหมือนที่เห็นในภาพถ่าย
หลวงปู่สังข์บอกว่า ก็เป็นปฏิปทาที่แปลก เวลามีคนขอถ่ายรูป ท่านจะหยิบสร้อยประคำที่อยู่ในย่ามมาคล้องคอ แล้วจึงอนุญาตให้ถ่ายได้ เป็นดังนี้เสมอ ดังนั้นรูปหลวงปู่ตื้อที่เผยแพร่ออกมา จึงแขวนสร้อยประคำแทบทุกรูป จนคนรุ่นหลังจำติดตา คิดว่าท่านสวมสร้อยประคำเป็นประจำ นอกจากนี้เวลามีคนขอลูกประคำจากท่าน ท่านจะแกะให้ทีละลูก หรือบางคนขอไปทั้งสาย ท่านก็ถอดให้เขาเรียกว่า ลูกประคำบุญญฤทธิ์
องค์ที่สอง ที่ผู้เขียนได้มีโอกาสกราบเรียนถาม คือ พระเดชพระคุณพระพุทธพจนวราภรณ์ (หลวงปู่จันทร์ กุสโล) วัดเจดีย์หลวง ในเมืองเชียงใหม่
เมื่อหลวงปู่ตื้อเข้ามาในตัวเมืองเชียงใหม่ ท่านมักจะมาพำนักที่วัดเจดีย์หลวงแห่งนี้
หลวงพ่อวัดเจดีย์หลวง ท่านบอกกับผู้เขียนว่า ท่านไม่ค่อยแน่ใจนัก ท่านก็ยืนยันว่าเคยเห็นหลวงปู่ตื้อท่านสวมสร้อยลูกประคำ แต่ว่าสวมเป็นประจำหรือไม่นั้นหลวงพ่อไม่ยืนยัน ให้ถือตามหลวงปู่สังข์ที่วัดป่าอาจารย์ตื้อก็แล้วกัน เพราะหลวงปู่สังข์ท่านใกล้ชิดกับหลวงปู่ตื้อมากกว่า
องค์ที่สาม ได้แก่ หลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป วัดอรัญญวิเวก บ้านปง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นวัดที่ผู้เขียนไปเป็นประจำ หลวงพ่อเปลี่ยนท่านได้อุปัฏฐากหลวงปู่ตื้อกับหลวงปู่แหวนอยู่หลายปี
หลวงพ่อเปลี่ยน ท่านบอกว่า “อาตมาอยู่ปรนนิบัติหลวงปู่ตื้อ ติดต่อกัน ๕ แล้ง (ห้าปี) ก็ไม่เห็นท่านแขวนลูกประคำเลย โดยปกติท่านไม่แขวน ยืนยันได้”
๑๐๘
พระธาตุของหลวงปู่ตื้อ
ข้อความในตอนนี้ ขออนุญาตคัดลอกออกมาจากหนังสือปิยารำลึก ของคุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๔ วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๔๓ ในหน้า ๒๘๑-๒๘๒ ดังต่อไปนี้
หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม เป็นศิษย์อาวุโสที่สำคัญที่สุดองค์หนึ่งของ ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทัตตมหาเถระ รุ่นใกล้เคียงกับ หลวงปู่ขาว อนาลโย และหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ชาติภูมิของท่านเป็นคนอำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ท่านกำเนิดในปี ๒๔๓๑ มีนิสัยรักความสงบ ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในสายมหานิกาย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ เมื่ออายุ ๒๑ ปี ได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย และท่องบ่นสวดมนต์เจ็ดตำนาน สิบสองตำนานจนขึ้นใจ แต่ระยะหลังท่านคิดว่า การเล่าเรียนแบบนี้มิใช่ทางตรงต่อการบรรลุธรรม ท่านกลับมาสนใจการปฏิบัติกรรมฐานแทน และได้ออกธุดงค์ไปทั่วภาคอิสาน แล้วข้ามแม่น้ำโขงไปสู่ฝั่งประเทศลาว ไปเวียงจันทน์ หลวงพระบาง เมืองแมด เมืองกาสี และภูเขาควาย ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นดินแดนที่ฤๅษี หลวงปู่ ครูบาอาจารย์มักจะขึ้นไปบำเพ็ญความเพียรกันอย่างอุกฤษฎ์ จากลาวท่านข้ามกลับมาฝั่งไทยทางด้านจังหวัดน่าน ธุดงค์ต่อไปแพร่ เลย และมาหยุดที่เชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่ซึ่งท่านได้พบท่านพระอาจารย์มั่น
ความเลื่อมใสศรัทธาในองค์ท่านพระอาจารย์มั่น ทำให้หลวงปู่ตื้อซึ่งขณะนั้นมีพรรษาถึง ๑๖ แล้ว คิดขอแปรญัตติเป็นธรรมยุต ท่านได้แปรญัตติเป็นธรรมยุต โดยท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ในเดือน ๖ ปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ซึ่งท่านมีอายุถึง ๓๘ พรรษาแล้ว
“เราต้องมานับหนึ่งใหม่” ท่านว่า
แม้จะมีอายุแก่กว่ามาก แต่ตามพรรษาทางธรรมยุตท่านมีพรรษาอ่อนกว่า หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี หลวงปู่ชอบ ฐานสโม หลวงปู่หลุย จันทสาโร และหลวงปู่ขาว อนาลโย
ข้าพเจ้า (คุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต) ไม่มีบุญพอ ไม่มีโอกาสได้กราบองค์ท่าน เพราะท่านมรณภาพไปแต่ พ.ศ. ๒๕๑๗ ซึ่งขณะนั้นข้าพเจ้า ผู้เขลา ผู้หลง ยังคงเปรียบเสมือน “วุ้น” ในธรรมพิภพ ต่อมาภายหลังจึงได้ยินกิตติศัพท์เลื่องลือถึงบารมีธรรมของท่าน ที่ท่านเป็นที่รักของทวยเทพเทวดา รวมทั้ง ด้านอิทธิฤทธิ์นานาประการด้วย
พระธาตุของท่านนี้ ได้มาจากเส้นเกศา ซึ่งท่านอาจารย์องค์หนึ่งเมตตาแบ่งให้ ท่านเล่าว่าได้มาจากคาคบไม้ใหญ่ เข้าใจว่าเทวดาคงรักษาไว้ให้ เพราะเวลาผ่านมานับยี่สิบปี ห่อเส้นเกศานั้นก็ไม่สูญสลาย ข้าพเจ้า (คุณหญิงฯ) รับเส้นเกศามาบูชาด้วยความเคารพอย่างสูงสุด
และสุดท้าย ภายในตลับเส้นเกศานั้น ก็ปรากฏพระธาตุดังที่ถ่ายภาพมา
หมายเหตุ : รูปถ่ายพระธาตุหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ตามข้อความในตอนนี้ ได้แสดงไว้ในตอนต้นของหนังสือ ก็กราบและขอบพระคุณท่านคุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย - ปฐม นิคมานนท์
๑๐๙
เรื่องพระธาตุของหลวงปู่
ผู้เขียน (รศ.ดร.ปฐม นิคมานนท์) ขอสารภาพว่ายังไม่มีโอกาสได้เห็น ได้สักการะพระธาตุของหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม เมื่อตอนที่พาคณะไปทอดผ้าป่าที่วัดป่าอาจารย์ตื้อ ในวันอาสาฬหบูชา ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๕ นั้น ก็ค่อนข้างเร่งรีบ จึงไม่ได้ถามไถ่เรื่องพระธาตุของท่าน
การที่กระดูกหรืออัฐิของบุคคลใดแปรเปลี่ยนเป็นพระธาตุนั้น เป็นหลักฐานทางวัตถุที่ยืนยันว่าบุคคลผู้นั้นได้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ตามคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนจิตเป็นอริยะ บรรลุถึงมรรคผลนิพพาน ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในการปฏิบัติตามแนวทางในพระพุทธศาสนา
องค์หลวงปู่ตื้อเองท่านก็เคยกล่าวถึงการที่กระดูกคนเรากลายเป็นพระธาตุว่า
“อำนาจตบะที่พระอริยบุคคลได้ตั้งหน้าบำเพ็ญเพียรเพื่อขัดเกลากิเลสนั้น มิได้แผดเผาแต่เฉพาะกิเลสเท่านั้น หากแต่ได้แผดเผากระดูกในร่างกายให้กลายเป็นพระธาตุไปด้วยในขณะเดียวกัน”
ดังนั้น พระธาตุจึงเป็นวัตถุที่ยืนยันถึงความบริสุทธิ์ หมดกิเลสของเจ้าของกระดูก หรืออัฐิธาตุนั้นเอง
ถ้าเป็นของพระพุทธเจ้า เราเรียกว่า พระบรมสารีริกธาตุ หรือเรียกย่อๆ ว่า พระบรมธาตุ แต่ถ้าเป็นของพระอรหันตสาวก เราเรียกว่า พระธาตุ เฉยๆ
หลังจากถวายเพลิงศพของหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ที่วัดอรัญญวิเวก นครพนม เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๑๘ แล้ว หลังจากนั้นไม่นาน อัฐิของท่านก็ได้แปรเปลี่ยนเป็นพระธาตุที่งดงาม ปรากฏให้เห็นในหลายที่หลายแห่ง
ในการแสดงพระธรรมเทศนาของหลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป เรื่องอภิญญาหลวงปู่แหวน ท่านได้กล่าวในตอนหนึ่งว่า “อัฐิหลวงปู่ตื้อเป็นพระธาตุ สีดั่งทับทิม สวย” และท่านก็บอกลูกศิษย์ลูกหาว่า “อัฐิของหลวงปู่ตื้อกลายเป็นพระธาตุ ในเวลาประมาณ ๒๗ วันภายหลังการถวายเพลิงศพท่าน”
บุคคลที่กล่าวถึงในหนังสือ “ทิพย์” ว่า เป็นผู้ที่ได้ประสบกับปาฏิหาริย์ของพระธาตุหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม คือ คุณภาสกร ศิวโสภา (ในข้อมูลไม่ได้บอกว่าเป็นใครและอยู่ที่ไหน)
คุณภาสกรบอกว่าเคยได้ไปชมพระธาตุหลวงปู่ตื้อที่บ้านลูกศิษย์ของท่านคนหนึ่ง ที่จังหวัดนครพนม เล่าให้ฟังว่า “ท่านได้เปิดตลับพระธาตุให้ดู เห็นมีพระธาตุประมาณ ๑๐ กว่าองค์ องค์ใหญ่ ๔ องค์ องค์เล็ก ๑ องค์ เป็นหินปูน ๒ องค์ เป็นสีเทา ๑ องค์ เป็นหินมันเลื่อม ๔ องค์มีขนาดเล็กมาก มีลักษณะเป็นแก้ว ๑ องค์ อีกองค์หนึ่งยังเป็นอัฐิธรรมดา และที่เหลือองค์เล็กๆ มีลักษณะเป็นหินปูน คล้ายพระธาตุของหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ”
ท่านเจ้าของพระธาตุหลวงปู่ตื้อ ที่คุณภาสกรไปชมนี้บอกว่า “ท่านได้รับมาจากชาวท่าอุเทนที่เคยรู้จักกัน ได้ไปร่วมงานถวายเพลิงหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม และได้นำอัฐิส่วนหนึ่งมามอบให้ เป็นอัฐิธรรมดา ๒ ชิ้น ปรากฏว่าต่อมาได้ย่อยละเอียดลงกลายเป็นส่วนย่อยดังกล่าว ตอนแรกเข้าใจว่าคงแตกแล้วกระจายออกเป็นเม็ดเล็กๆ แต่พอมาศึกษาเรื่องพระธาตุ จึงได้รู้ว่าพระธาตุสามารถเพิ่มจำนวนขึ้นได้”
คุณภาสกรได้ไปขอชมพระธาตุหลวงปู่ตื้อ กับท่านเจ้าของข้างต้นนั้น อีกครั้งเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๓๖ แล้วเล่ามาว่า “ปรากฏว่า พอเปิดตลับถึงกับตะลึง เพราะพระธาตุจำนวนเกือบสิบองค์ได้รวมตัวเหลือเพียงสององค์ องค์หนึ่งมีลักษณะเป็นสีงาช้าง ตรงปลายเป็นผลึกวาวสีดำ อีกองค์ก็ยังคงเป็นอัฐิธรรมดาอยู่”
นอกจากนี้คุณภาสกร ยังได้กล่าวถึงพระธาตุหลวงปู่ตื้อที่ท่านได้รับแบ่งปันมาว่า “สำหรับพระธาตุที่ข้าพเจ้ามีไว้บูชา ก็มีขนาดใหญ่ขึ้นเกือบทุกองค์...”
ยังมีเรื่องราวปาฏิหาริย์พระธาตุหลวงปู่ตื้อที่หลายท่านได้ประสบ แต่ผมจะขอเล่าเพียงแค่นี้ก็น่าจะพอ ท่านที่สนใจมากกว่านี้โปรดติดตามหาอ่านหาศึกษากันต่อไป และอย่าลืมไปกราบพระธาตุของท่านที่ วัดป่าอาจารย์ตื้อ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ กับที่ พิพิธภัณฑ์หลวงปู่ตื้อ วัดอรัญญวิเวก บ้านข่า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ด้วยก็แล้วกัน ประสบเรื่องราวอะไรดีๆ อย่าลืมมาเล่าแบ่งปันความรู้กันด้วยนะครับ
Cr. dhammajak.net