5.1.11

ประโยชน์จากการรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง


พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสพระคาถานี้ว่า

บุคคลใด เป็นคนโง่ ย่อมสำคัญว่าตนเองเป็นคนโง่ บุคคลนั้นจะเป็นบัณฑิต เพราะเหตุนั้นได้บ้าง

ส่วนบุคคลใด เป็นคนโง่ มีความสำคัญว่าตนเองเป็นบัณฑิต บุคคลนั้นแล เราเรียกว่า คนโง่

ในอรรถกถาแก้ไว้ว่า

ก็เขารู้อยู่ว่า "เราเป็นคนโง่" แล้วเข้าไปหา เข้าไปนั่งใกล้คนอื่นซึ่งเป็นบัณฑิต อันบัณฑิตนั้นกล่าวสอนอยู่ พร่ำสอนอยู่ เพื่อประโยชน์แก่ความเป็นบัณฑิต (เขา)เรียนเอาโอวาทนั้นแล้ว ย่อมเป็นบัณฑิต หรือ เป็นบัณฑิตกว่าได้.

ส่วนบุคคลใดเป็นคนโง่อยู่ เป็นผู้มีความสำคัญว่าตนเป็นบัณฑิตถ่ายเดียวอย่างนี้ว่า "คนอื่นใครเล่า จะเป็นพหูสูต เป็นธรรมกถึก ทรงวินัย มีวาทะกล่าวคุณเครื่องขจัดกิเลสเช่นกับด้วยเรา มีอยู่" บุคคลนั้นไม่เข้าไปหา ไม่เข้าไปนั่งใกล้บุคคลอื่นซึ่งเป็นบัณฑิต ย่อมไม่เรียนปริยัติเลย, ย่อมไม่บำเพ็ญข้อปฏิบัติ, ย่อมถึงความเป็นคนโง่โดยส่วนเดียวแท้.

( พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)

เป็นความจริงที่ว่า การที่เรารู้ว่าตัวเองเป็นคนไม่ดี มีสิ่งที่ไม่ดีมากมายในชีวิตประจำวัน เต็มไปด้วยอกุศลประการต่าง ๆ มีความไม่รู้(อวิชชา) มาก เมื่อมีความเข้าใจอย่างนี้ กล่าวได้ว่ามีความเข้าใจถูกระดับหนึ่ง เมื่อรู้อย่างนี้แล้วจึงควรเห็นประโยชน์ว่า เมื่อเป็นคนไม่ดีแล้ว สิ่งที่จะทำให้ดีขึ้นนั้น คืออะไร นั่นก็คือการได้เข้าใจถูกในพระธรรมในแนวทางถูกต้อง ด้วยการเข้าไปหา เข้าไปนั่งใกล้บัณฑิตผู้ที่มีปัญญา เสพคุ้นกับความเห็นที่ถูกต้อง ย่อมจะเป็นเหตุปัจจัยทำให้ปัญญาเจริญขึ้น มีความเห็นถูกเพิ่มขึ้น เมื่อปัญญาเจริญขึ้น กุศลธรรมประการต่าง ๆ ก็จะเจริญขึ้นตามระดับของปัญญา ด้วยเช่นเดียวกัน

แต่โดยนัยตรงกันข้าม ปกติของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น มีอกุศลมากมายอยู่แล้ว ทั้งโลภะ โทสะ โมหะเป็นต้น ยิ่งถ้าหากเสพคุ้นกับความเห็นผิด หรือในแนวทางที่ไม่ถูกต้อง ก็ย่อมเป็นเหตุทำให้พอกพูนสิ่งที่ไม่ดี(อกุศล)เพิ่มขึ้น สิ่งที่ไม่ดี ก็จะมีมากขึ้น สะสมความไม่รู้มากขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีเลย

ดังนั้น จึงควรพิจาณาด้วยปัญญาว่าเมื่อเป็นคนไม่ดี มีความไม่รู้ เป็นอย่างมาก แล้ว ควรทำอย่างไร ดำเนินชีวิตอย่างไร จึงจะถูกต้องดีงาม นั่นก็คือ ต้องอาศัยการศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน และเป็นผู้ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ นั่นเอง

ที่มา--- Veera เหลืองชมพูเหนือหัวชาวไทย/fb.com

No comments:

Post a Comment

การให้อภัย