12.1.13

คนที่ไม่รู้ระวังใจย่อมอยู่เป็นทุกข์





       ใจของเราได้เก็บเรื่องราวต่างๆ มากมายในเรื่องของบุคคล หรือสัตว์หรือสถานที่หรือสิ่งของอื่นๆอีกมาก ที่เราทั้งรักและเกลียดไว้ในจิตใต้สำนึก(คือสัญญาขันธ์) ที่เป็นเรื่องราวที่ประกอบไปด้วยอารมณ์หรือความรู้สึกยินดียินร้าย จึงเป็นเหตุให้เกิดอัตตาอคติ ต่อสิ่งรับรู้ใหม่ที่เข้ามากระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ได้แก่รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่างๆ(เป็นรูปขันธ์ในขันธ์๕) ของบุคคล หรือสัตว์หรือสถานที่หรือสิ่งของอื่นๆอีกมาก จึงเกิดความยึดถือในสิ่งรับรู้ใหม่ และเกิดอารมณ์หรือความรู้สึกยินดียินร้าย อันเป็นเหตุให้ไปกระตุ้นความจำในจิตใต้สำนึกของเรื่องราวที่อยู่ในใจ ให้เกิดการนึกและคิดปรุงแต่ง(คือสังขารขันธ์)ขึ้นมาในใจของตน จนเป็นเหตุให้จิตฟุ้งซ่านว้าวุ่นใจ, หรืออิจฉา, หรือโลภอยากได้, หรือโกรธอยากทำร้าย, หรือพยาบาทคิดปองร้ายอาฆาต, และอื่นๆอีกมากมายที่เป็นบาปอกุศลจิต ทำให้เกิดความทุกข์ใจตามมาให้ผล(คือตัวสมุทัย ที่มีใจเป็นเหตุ)

เราจึงต้องรู้ระวังใจของเราอย่าให้หลงเหตุที่จะทำให้เกิดความทุกข์ ด้วยการเจริญสติท่องธัมมะภาวนาว่า(อย่ายินดียินร้าย.อย่าว่าร้ายใคร.อย่าคิดร้ายใคร.) สอนใจตนเตือนใจของตนให้มีธรรมะ จนมีสติรู้ปล่อยวางเสีย ดังที่พระพุทธเจ้าได้เคยตรัสสอนบุคคลทั่วไปให้รู้ปล่อยวางไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นในรูปขันธ์ของขันธ์๕ เพราะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ การมีความเพียรในการท่องธัมมะภาวนาไว้ในใจอยู่เสมอๆตลอดวันและคืนได้ยิ่งดี จะไปสร้างความรู้ตัวให้กับใจ(คือมีสัมปชัญญะ) อันเป็นเหตุให้ใจเราเกิดสติ(การระลึกได้)ได้เร็วรู้สกัดกั้นไม่ให้เกิดบาปอกุศล คือการรู้ปล่อยวาง จนเกิดมีใจที่สงบนิ่ง ก็จะไม่ทำให้ใจของเราเกิดการนึกและคิดปรุงแต่งใจให้เกิดทุกข์ ดังนี้......

ที่มา--หลวงพ่ออุดม มหาปุญโญ วัดป่าหนองเลง/fb.com

อย่าเสียเวลา