ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษจับสัตว์หกชนิด
อันมีที่อยู่อาศัยต่างกัน มีที่เที่ยวหากินต่างกัน มาผูกรวมกันด้วยเชือกอันมั่นคง คือ
เขาจับงูมาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่ง, จับจระเข้, จับนก, จับสุนัขบ้าน,
จับสุนัขจิ้งจอกและจับลิง, มาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่งๆ
ครั้นแล้ว นำไปผูกไว้กับเสาเขื่อนหรือเสาหลักอีกต่อหนึ่ง
ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น สัตว์ทั้งหกชนิดเหล่านั้น มีที่อาศัยและที่เที่ยวต่างๆ กัน
ก็ยื้อแย่งฉุดดึงกัน เพื่อจะไปสู่ที่อาศัยที่เที่ยวของตนๆ
งูจะเข้าจอมปลวก, จระเข้จะลงน้ำ, นกจะบินขึ้นไปในอากาศ,
สุนัขจะเข้าบ้าน, สุนัขจิ้งจอกจะไปป่าช้า, ลิงก็จะไปป่า
ภิกษุทั้งหลาย ในกาลใดแล ความเป็นไปภายในของสัตว์ทั้งหกชนิดเหล่านั้น
มีแต่ความเมื่อยล้าแล้ว ; ในกาลนั้น
มันทั้งหลายก็จะพึงเข้าไปยืนเจ่า นั่งเจ่า นอนเจ่า อยู่ข้างเสาเขื่อนหรือเสาหลักนั้นเอง ข้อนี้ฉันใด ;
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดได้อบรมทำให้มากในกายคตาสติแล้ว
ตา ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารูปที่น่าพอใจ, รูปที่ไม่น่าพอใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ;
หู ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาเสียงที่น่าฟัง, เสียงที่ไม่น่าฟัง ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ;
จมูก ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหากลิ่นที่น่าสูดดม, กลิ่นที่ไม่น่าสูดดม ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ;
ลิ้น ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารสที่ชอบใจ, รสที่ไม่ชอบใจ ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ;
กาย ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาสัมผัสที่ยั่วยวนใจ, สัมผัสที่ไม่ยั่วยวนใจ ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ;
และใจ ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาธรรมารมณ์ที่ถูกใจ, ธรรมารมณ์ที่ไม่ถูกใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ;
ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ภิกษุทั้งหลาย คำว่า “เสาเขื่อน หรือ เสาหลัก” นี้เป็นคำเรียกแทนชื่อ แห่ง กายคตาสติ
ที่มา--หลวงพ่ออุดม มหาปุญโญ/fb.com