4.1.13

อำนาจกรรม




กรรมดี กรรมชั่ว จะคอยติดตามบุคคลผู้กระทำนั้นอยู่ เสมือนเงาตามตัว

การที่มองไม่เห็นกรรมนั้น ก็เพราะมัวดำเนินชีวิตอยู่ในทางที่ชั่วหรือจะเรียกว่า ในที่มืด บุคคลทั้งหลายจึงไม่เห็นเงาของตัวเอง

แต่ถ้าเมื่อใดถูกแสงสว่าง เขาก็จะมองเห็นเงาของตนทุกครั้งไป

ตามความเป็นจริงแล้ว กรรมจะให้ผลติดเมื่อสุกงอมเต็มที่ มีระยะฟักตัวตามสมควร จึงเห็นได้ยาก ชีวิตมนุษย์มีเวลาน้อยนิดไม่พอแก่การพิสูจน์กรรมให้ตลอดได้
หากบุคคลทำกรรมได้ผลทันทีทันใด ใครเล่าจะกล้าทำชั่ว

อย่างไรก็ตามกรรมนั้นจะคอยเวลาและโอกาสอยู่ เหมือนบุรุษและสตรีผู้ร่วมอยู่กินฉันสามีภรรยาแล้ว ต่อมา 3 – 4 เดือน มารดาบิดาของหมู่ญาติแม้กระทั่งสามี จึงจะเห็นว่าสตรีนั้นมีครรภ์ ไม่ใช่ว่าสตรีนั้นมีครรภ์ ( ปฏิสนธิ ) ในเวลากลางคืน พอรุ่งเช้าครรภ์จะปรากฏแก่คนทั้งหลายได้ หรือเมื่อตั้งครรภ์ในคืนนั้น รุ่งขึ้นจะคลอดก็หาไม่ ต้องถึงเวลาอันสมควร

การให้ผลของกรรมนั้นบางอย่างต้องใช้เวลาเป็นพัน ๆ ปี ถึงแม้จะนานมากแค่ไหน กรรมก็สามารถหาตัวบุคคลผู้ทำได้ถูกต้องเสมอเหมือนฝูงโคที่อยู่รวมกันมาก แม่โคก็สามารถหาลูกโคของมันได้พบ


การกระทำดี เป็นหน้าที่ของผู้รักดี
แต่การให้ผลดี เป็นหน้าที่ของกรรม

บุคคลไม่สามารถเร่งเร้าได้เลย เสมือนการไถคราดและหว่าน เป็นหน้าที่ของชาวนา
ส่วนการออกรวงเป็นหน้าที่ของต้นข้าว

ถ้าจะถามว่ากรรมดีลบล้างกันได้ไหม? คำถามนั้นยากไปที่จะอธิบาย แต่ขอใช้คำว่า “ละลาย” ง่ายกว่า เช่น เกลือ เป็นต้น การละลายนั้นเราเรียกว่า อัพโพหาริก

ถ้าจะถามว่าบาปบุญที่ทำแล้ว เมื่อยังไม่ให้ผล บาปบุญนั้นไปอยู่เสียที่ไหน บาปบุญนั้นคอยติดตามผู้ทำอยู่ เช่น มะม่วงนอกฤดูกาลลูกมะม่วงมีผลไหม? คือไม่มี พอถึงปีหน้ามันก็จะมีผลมาอีก ถามว่าเวลานี้ซึ่งผลมันจะมีในปีหน้านั้นตอนนี้มันเก็บอยู่ที่ไหน?
มะม่วงกับผลมะม่วงเป็นอย่างฉันใด เรื่องผู้ทำกรรมกับกรรมก็เป็นฉันนั้น

กรรมดีกับกรรมชั่วไม่ได้ให้ผลเพียงครั้งเดียวจะส่งผลอยู่เสมอๆจนกว่าหมดฤทธิ์หมดแรงไป เสมือนต้นมะม่วงที่แก่ในที่สุดก็ล้มตายไป แล้วเมื่อไหร่ กรรมจะหยุดการให้ผล?


กรรมจะหยุดการให้ผล ด้วยเหตุ ๓ ประการ

๑. เมื่อหมดแรง คือ ให้ผลจนสมควรแล้วแก่เหตุ จึงหยุดให้ผลเหมือนนักโทษที่ถูกจำคุกตามความหนักเบาเช่น จำคุก ๒ ปี เมื่อพ้น ๒ ปี ก็พ้นโทษ บางคนโทษหนักจำคุกตลอดชีวิต แต่ระหว่างอยู่ในคุกก็พยายามทำความดี ได้ลดหย่อนผ่อนโทษ อาจลดเหลือ ๒๐ ปี แล้วแต่กรณี เรื่องของกรรมก็ทำนองนี้

๒. เมื่อสิ้นอาสวะ กล่าวคือบุคคลได้ทำกรรมมาแล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์สิ้นอาสวะทั้งปวง ไม่เกิดอีกมีชีวิตอยู่เป็นชาติสุดท้าย กรรมย่อมหมดโอกาสให้ผลต่อไปในชาติหน้า

จิตของพระอรหันต์ย่อมหมดเชื้อ เสมือนเมล็ดสิ้นยางเหนียวหรือเมล็ดลีบปลูกไม่ขึ้นอีกต่อไป

กรรมจะให้ผลได้เฉพาะเวลามีชีพอยู่เท่านั้น ในชาติสุดท้ายพระอรหันต์ขีณาสพทั้งหลายเป็นผู้ได้กระทำดีถึงที่สุด เหมือนเมล็ดพืชที่ดีที่สุดนั่นเอง

ทำไมเมล็ดพืชที่ดีที่สุดจึงหยุดการให้ผลหรือหยุดการสืบพันธุ์
ผลมะม่วงที่ดีนั้นมีเนื้อมากเมล็ดเล็ก คือถึงขีดแห่งความเจริญเต็มที่ เนื้อมากที่สุดแต่เมล็ดลีบใช่ไหม เมล็ดลีบจะเอาไปปลูกอีกก็ไม่ขึ้น

คนก็ทำนองเดียวกันเมื่อเจริญคุณธรรมอย่างเต็มที่ถึงขีดสุดก็พรั่งพร้อมไปด้วยความดีอย่างเต็มที่ ปราศจากกิเลสและสิ่งชั่วต่าง ๆ เหมือนมะม่วงที่อุดมไปด้วยเนื้อ เมล็ดจะลีบเพราะปลูกไม่ได้ เช่นเดียวกัน กรรมก็ไม่อาจให้ผลได้เช่นกัน

๓. เมื่อมีกรรมอื่นมาแทรก กรรมจะหยุดให้ผล เมื่อมีกรรมอื่นแทรกซ้อนเข้ามาเป็นครั้งคราว

เช่น เมื่อบุคคลนั้นกำลังทำกรรมชั่วแรง ๆ เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้กรรมชั่วให้ผลก่อน กรรมดีที่กำลังจะส่งก็หยุดส่งผลในช่วงนั้น

ในทางตรงข้าม เมื่อบุคคลนั้นกำลังทำกรรมดีแรง ๆ ก็เปิดโอกาสให้กรรมดีส่งผลก่อน กรรมชั่วที่กำลังจะส่งผลในขณะนั้นก็หยุดส่งผลเช่นกัน

credit -- เด็กหน้าวัด

การให้อภัย