19.3.13

การปล่อยวาง



การปล่อยวาง

ถ้าจะมีใครบอกว่า โยนทิ้งเถอะ แล้วจะดีอย่างนั้น เป็นประโยชน์อย่างนี้ เราก็ยังไม่ยอมโยนทิ้งอยู่นั่นแหละ เพราะกลัวแต่ว่าจะไม่มีอะไรเหลือ ก็เลยแบกก้อนหินหนักไว้ จนเหนื่อยอ่อนเพลียเต็มที จนแบกไม่ไหวแล้วก็เลยปล่อยมันตกลง ตอนที่ปล่อยให้มันตกลงนี้แหละก็จะเกิดความรู้เรื่องการปล่อยวางขึ้นมาเลย เราจะรู้สึกเบาสบาย แล้วก็รู้ได้ด้วยตนเองว่า การแบกก้อนหินนั้นมันหนักเพียงใด แต่ตอนที่เราแบกอยู่นั้นเราไม่รู้หรอก ว่าการปล่อยวางมีประโยชน์เพียงใด

ดังนั้นถ้ามีใครมาบอกให้ปล่อยวาง คนที่ยังมืดอยู่ก็ไม่รู้ไม่เข้าใจหรอก ก็จะหลับหูหลับตาแบกก้อนหินก้อนนั้นยังไม่ยอมปล่อย จนกระทั่งมันหนักจนเหลือที่จะทนนั่นแหละ ถึงจะยอมปล่อยแล้วก็จะรู้สึกได้ด้วยตนเอง ว่ามันเบามันสบายแค่ไหนที่ปล่อยมันไปได้ ต่อมาเราอาจจะไปแบกอะไรอีกก็ได้ แต่ตอนนี้เราพอรู้แล้วว่า ผลของการแบกนั้นเป็นอย่างไร เราก็ปล่อยมันได้โดยง่ายขึ้น ความเข้าใจในความไร้ประโยชน์ของการแบกหาม และความเบาสบายของการปล่อยวางนี่แหละ คือตัวอย่างที่แสดงถึงการรู้จักตัวเอง

ความยึดมั่นถือมั่นในตัวของเราก็เหมือนก้อนหินหนักก้อนนั้น พอคิดว่าจะปล่อย "ตัวเรา" ก็เกิดความกลัวว่าปล่อยไปแล้วก็จะไม่มีอะไรเหลือ เหมือนกับที่ไม่ยอมปล่อยก้อนหินนั้น แต่ในที่สุดเมื่อปล่อยมันไปได้ เราก็จะรู้สึกเองถึงความเบาสบายในการที่ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่น

การฝึกใจต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น

ในการฝึกใจนี้ เราต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น ทั้งสรรเสริญ ทั้งนินทา ความต้องการแต่สรรเสริญ และไม่ต้องการนินทางนั้น เป็นวิถีทางของโลก แต่แนวทางของพระพุทธเจ้าให้รับสรรเสริญตามเหตุตามปัจจัยของมัน และก็ให้รับนินทาตามเหตุตามปัจจัยของมันเหมือนกัน เหมือนอย่างกับการเลี้ยงเด็ก บางทีถ้าเราไม่ดุเด้กตลอดเวลา มันก็ดีเหมือนกัน ผู้ใหญ่บางคนดุมากเกินไป ผู้ใหญ่ที่ฉลาดย่อมรู้จักว่าเมื่อใดควรดุ เมื่อใดควรชม

ใจของเราก็เหมือนกัน ใช้ปัญญาเรียนรู้จักใจ ใช้ความฉลาดรักษาใจไว้ แล้วเราก็จะเป็นคนฉลาดที่รู้จักฝึกใจ เมื่อฝึกบ่อยๆมันก็จะสามารถกำจัดทุกข์ได้ ความทุกข์เกิดขึ้นที่ใจนี่เอง มันทำให้ใจสับสน มืดมัว มันเกิดขึ้นที่นี่ มันก็ตายที่นี่

ธรรมะ หลวงปุ่ชา สุภัทโท

การให้อภัย