พูดถึงความรักแล้ว นับว่าข้าพเจ้ามีความรักมาก เช่น รักพ่อแม่ ลุงป้า น้าอา และผู้อื่นที่เกิดร่วมวงศ์ตระกูลเดียวกัน นอกจากนี้แล้ว ยังรักขยายออกไปถึงเพศตรงข้ามซึ่งอยู่ในวัยเดียวกันในทางชู้สาว และฝ่ายตรงข้ามก็รักข้าพเจ้าเช่นเดียวกัน โดยเข้าใจว่าเขาคงจะมองเห็นคุณธรรมอันมีอยู่ในใจของข้าพเจ้า คือ ความอดทนต่อความชั่วร้ายดังกล่าวมานั้นหนึ่ง และอดทนต่อหน้าที่การงานหนึ่ง เขาจึงได้มีความรักอย่างจริงใจต่อข้าพเจ้า
จิตมีธรรม ปรารถนาออกบวช
ในคราวนั้นข้าพเจ้าก็คิดว่าจะครองเรือนเช่นเดียวกับคนทั้งหลายที่เขาครองกันมาแล้วนั้น ครั้นเมื่ออายุย่างเข้า ๒๐ ปี เห็นจะเป็นด้วยบุญบารมีที่ข้าพเจ้าได้สร้างมาแต่ชาติก่อนมาดลจิตให้นึกถึงความทุกข์ในชีวิตอันเป็นปัจจุบัน โดยคิดเห็นว่าเกิดมาแล้วต้องทำการงาน และงานที่ทำนั้นก็ไม่รู้จักจบสิ้น เช่น ทำนา ทำปีนี้แล้วได้ข้าวใส่ยุ้งไว้รับประทานบ้าง ขายบ้าง ครั้นถึงปีใหม่มาข้าวในยุ้งก็จวนจะหมดแล้ว ต้องทำนาอีกต่อไปอย่างนี้ทุกปี จึงถามตัวเองว่าเมื่อไรจึงจะได้ยุติจากการทำนาทำสวนเล่า ตอบตนเองว่า ไม่มีทางยุติได้ถ้าไม่วางมือหนีไปบวชเสีย การทำนาทำสวนมีแต่ทุกข์ หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินและก็ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารสักอย่างเดียว ตายแล้วก็ไม่ได้อะไรติดตัวไป มีแต่ทิ้งไว้ในโลกนี้ทั้งหมด และก็ได้ตั้งปัญหาถามตนเองต่อไปอีกว่า แล้วทำไมคนทั้งหลายจึงชอบใจกับความเป็นอยู่เช่นนี้นัก ตอบว่า เพราะคนทั้งหลายไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผลในเรื่องนี้ให้รู้เห็นโดยแจ่มแจ้งตามความเป็นจริง จึงไม่เบื่อหน่าย อนึ่ง สิ่งทั้งปวงในโลกนี้มิใช่ว่าจะอำนวยแต่ความทุกข์ให้เท่านั้น บางทีมันก็อำนวยความสุขให้เหมือนกัน ดังนั้น คนจึงติดมัน แต่บรรดานักปราชญ์ผู้มีปัญญาทั้งหลาย ท่านพิจารณาเห็นว่า มันเป็นความสุขชั่วคราวไม่ยั่งยืน ถ้าพิจารณาโดยสรุปแล้วก็เป็นทุกข์นั้นแหละมากกว่าความสุข อันความสุขที่ว่านี้ มันเป็นเพียงเหยื่อล่อให้ติดอยู่ในทุกข์เท่านั้น ไม่ใช่เป็นความสุขยั่งยืนแต่อย่างใด เพราะคนเราเกิดมาแล้วที่สุดก็ต้องตาย ร่างกายนี้เมื่อจิตละไปแล้วก็ต้องแตกสลายออกจากกัน ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย
เมื่อพิจารณาถึงตอนนี้ปรากฏในใจว่า ร่างกายนี้แตกกระจายออกไปหมด เพ่งไปไหนก็เห็นแต่อากาศว่างไปหมดทั้งโลกอันนี้ปรากฏว่าไม่มีสัตว์ ไม่มีคนเลย ดังนั้นจึงเกิดความสังเวชสลดใจเป็นอย่างยิ่งว่า โอหนอโลกนี้ช่างไม่จิรังยั่งยืนจริงๆ ทำอย่างไรหนอเราจึงจะพ้นจากโลกนี้ไปได้ ตอบตนเองว่า มีแต่บวชเท่านั้นถึงจะพอมีหนทางพ้นได้
ต่อจากนั้นจึงเกิดศรัทธาอยากบวชขึ้นมาในใจอย่างรุนแรงจนถึงกับเบื่อหน่ายต่อการงานทุกอย่าง จึงได้ขอลามารดาบิดาออกบวช บิดาขอร้องไว้ให้ช่วยทำยุ้งใส่ข้าวเสียก่อนจึงค่อยบวช เพราะยุ้งเก่าใช้มานานมันชำรุดมาก ตอบท่านว่าเห็นจะช่วยทำไม่ได้ดอก มือไม้อะไรอ่อนหมด ไม่สามารถจะทำงานต่อไปได้อีก ท่านเห็นว่าข้าพเจ้าอยากบวชอย่างรุนแรงมาก จึงได้อนุญาตให้ไปบวชตามประสงค์
ออกบวช
ข้าพเจ้าดีใจมาก ได้กราบลาท่านทั้งสองเข้าวัด เรียนครองบวชอยู่สิบห้าวันก็ได้บวชที่อุโบสถวัดบ้านหงษ์ทองอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ในคราวนั้นเข้าบวชด้วยกันประมาณ ๘ รูป ซึ่งมี ท่านพระครูวาปีดิฐวัตร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์พรหม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เมื่อบวชแล้วก็ได้กลับมาอยู่วัดโพธิ์ชัย บ้านหม้อ บวชเมื่อเดินมกราคม พ.ศ. ๒๔๗๕ อาจารย์วัดโพธิ์สอนให้ภาวนาอนุสสติ ๑๐ ข้าพเจ้าก็ท่องเอา แล้วก็บริกรรมในใจว่า พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ ไปจนถึง อุปสมานุสสติ จบแล้วตั้งใหม่เรื่อยไป รู้สึกว่าจิตสงบเบิกบานดีพอสมควร ไม่เฉพาะแต่นั่งสมาธิเท่านั้นที่บริกรรม แม้แต่ยืนเดินนอนก็บริกรรมเป็นอารมณ์ติดต่อกันไป
พรรษาแรกจำพรรษา ณ วัดศรีสุมัง
ครั้นถึงเดือนพฤษภาคมปีนั้นเอง ก็ได้ไปจำพรรษาที่วัดศรีสุมัง อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย เพื่อเรียนนักธรรมต่อไป เมื่อจำพรรษาอยู่ที่วัดศรีสุมังนั้น ข้าพเจ้าได้เรียนถามเรื่องการภาวนากับท่านอาจารย์บุญจันทร์ รองเจ้าอาวาส และได้เรียนท่านว่า ผมภาวนาอนุสสติ ๑๐ อยู่ทุกวันนี้ไม่ทราบว่าถูกหรือไม่ ท่านตอบว่า ถ้าให้ถูกตามหลักจริงๆ ก็คงไม่ถูก เพราะว่าการเจริญบริกรรมภาวนา ท่านสอนให้เลือกเอากรรมฐานบทใดบทหนึ่งที่ถูกกับจริตของตน แล้วบริกรรมแต่เฉพาะบทเดียวเท่านั้น จิตจึงจะสงบเป็นหนึ่งได้เร็ว ท่านได้แนะให้บริกรรมพุทโธเป็นอารมณ์ ข้าพเจ้าจึงได้บริกรรมพุทโธ ตั้งแต่นั้นมา ในพรรษานั้นมีทั้งเรียนนักธรรม และทั้งภาวนาไปพร้อมกัน ตอนกลางวันเข้าเรียนนักธรรม ตอนกลางคืนตั้งแต่ย่ำค่ำไปทำวัตรสวดมนต์ เสร็จแล้วก็นั่งท่องหนังสืออยู่ตามลานวัดไปจนถึงเที่ยงคืนจึงหยุดการท่องบ่นสาธยาย ต่อจากนั้นก็เข้าที่ไหว้พระส่วนตัว เสร็จแล้วก็นั่งขัดสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย เอามือขวาวางทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า หลับตาแล้วอธิษฐานใจ นึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐ ด้วยความสัจนี้ขอให้จิตของข้าพเจ้าสงบลงเป็นหนึ่ง อย่าได้ฟุ้งซ่านไปทางอื่น ขอให้ข้าพเจ้ารู้แจ้งในธรรมที่ควรรู้ควรเห็น คือ อริยสัจสี่ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงไว้ดีแล้ว
ครั้นอธิษฐานเสร็จแล้วก็บริกรรมแต่ "พุทโธ" อย่างเดียว ครั้งแรกพุทโธไม่ได้อยู่กับตัวเลย มันวิ่งไปไกลแสนไกล แต่สติก็ตามรู้ไปเสมอ และพยายามนึกพุทโธให้ใกล้ตัวเข้ามาโดยลำดับ ในที่สุดพุทโธก็เข้ามาอยู่ที่กายแล้วน้อมเข้าไปที่ใจ เมื่อพุทโธเข้าไปถึงที่ใจแล้ว ใจก็ค่อยสงบลงโดยลำดับ เมื่อรู้ว่าจิตสงบลงแล้วจึงจำวัดถึงเวลาตีสี่หัวรุ่ง เสียงระฆังดังขึ้นที่กุฏิเจ้าอาวาส พระเณรก็พาไปรวมกันทำวัตรเช้า เสร็จแล้วก็เลิกกันไป ตอนเช้าออกบิณฑบาต ฉันเช้าแล้วก็ดูหนังสือนักธรรม พอเที่ยงครึ่งก็ไปเรียนนักธรรมที่วัดอื่นซึ่งอยู่ใกล้กัน ค่ำลงก็ไปรวมกันทำวัตรสวดมนต์ในอุโบสถ หมุนเวียนกันไปอย่างนี้จนตลอดพรรษา และถึงเดือนธันวาคม ก็สอบนักธรรม เสร็จแล้วได้ลาเจ้าอาวาสกลับวัดเดิม คือวัดโพธิ์ชัย
ในระหว่างนั้น โยมบิดาเอาหนังสือธรรมะมาถวายเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือเกี่ยวกับการเจริญสมถะและวิปัสสนาของ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นผู้เรียบเรียง เมื่อได้อ่านดูแล้วรู้สึกเกิดความสนใจขึ้น ในหนังสือเล่มนั้นท่านได้อธิบายเรื่อง สติปัฏฐานสี่ โดยเฉพาะเรื่อง กายานุปัสสนา
ท่านได้แนะนำให้พิจารณาร่างกาย โดยให้เพ่งดูร่างกายนี้ แล้วแยกออกเป็นส่วนๆ เช่น ผม กองหนึ่ง ขน กองหนึ่ง เล็บ กองหนึ่ง ฟัน กองหนึ่ง หนัง กองหนึ่ง เป็นต้น จนถึงอาการสามสิบสอง เสร็จแล้วให้ถามตัวเองดูว่า ไหนที่ว่าตัวตนของเรานั้นอยู่ไหน นั่นก็กองผม นั่นก็กองขน เป็นต้น ในที่สุดตัวเราไม่มี เมื่อไฟเผาแล้วก็จะยังเหลือแต่เถ้ากับกระดูกเท่านั้น กำหนดเอากระดูกใส่ครกบดให้ละเอียดแล้วเอาซัดตามลม ลมพัดหายไปหมด แล้วสติก็รู้ได้ว่า ร่างกายนี้ไม่มีอะไรเป็นของตนสักอย่างเดียว มีแต่เกิดแล้วดับไปดังปรากฏแล้วนั้น แล้วใครเป็นผู้รู้ว่าร่างกายเป็นอย่างนั้น ก็จิตนี้สิเป็นผู้รู้ เมื่อสติกลับมารู้จิต จิตก็จะรวมลงเป็นหนึ่ง แสดงว่าจิตปล่อยวางร่างกายได้ตามสภาพ จึงประคองจิตให้สงบอยู่ต่อไปนานเท่าที่จะอยู่นานได้ ในขณะนั้นจะมีความรู้สึกว่า กายก็เบาจิตก็เบา ไม่หนักหน่วงเลย เมื่อได้รับความรู้สึกเบากายเบาจิตเช่นนี้แล้ว ก็ควรจะไปอยู่ป่าจึงจะเหมาะสม
พอดำริที่จะออกไปอยู่ป่าเท่านั้น มาร คือ กิเลส มันก็แสดงอาการขัดขวางไม่ให้ออกไปอยู่ป่าได้ ต่อจากนั้นจึงเกิดความรู้สึกนึกคิดขึ้นเป็นสองทาง ทางหนึ่งอยากสึกออกไปครองเรือน อีกทางหนึ่งอยากออกปฏิบัติเจริญสมถวิปัสสนาตามที่ตั้งใจไว้ พอตั้งใจจะออกป่า กิเลสก็มาสกัดไว้ไม่ให้ออกเป็นอยู่อย่างนี้ วันแล้วก็วันเล่า ไม่สามารถตัดสินใจลงทางใดทางหนึ่งได้ จึงตัดสินใจไม่ฉันข้าวหนึ่งวัน พอตกตอนค่ำลงเวลาประมาณสามทุ่ม ก็ห่มผ้าพาดสังฆาฏิแล้วทำวัตร เสร็จแล้วอธิษฐานในใจว่า "บัดนี้ข้าพเจ้าจะนั่งสมาธิภาวนาเพื่อพิจารณาตัดสินใจลงทางใดทางหนึ่งให้จงได้คือจะสึก หรือจะออกปฏิบัติ ถ้าหากข้าพเจ้าตัดสินใจลงทางหนึ่งทางใดไม่ได้ก็จะไม่ลุกจากที่นั่งนี้เลย"
เมื่ออธิษฐานเสร็จก็นั่งขัดสมาธิ เพ่งจิตให้เข้าถึงความสงบ พอจิตสงบไปได้หน่อยเดียว นางตัณหาก็มากระซิบจิตนี้ให้สึกออกไปครองเรือนดีกว่าน่า ครั้นแล้วจิตก็ปรุงแต่งไปในเรื่องการครองเรือน คือต้องมีเมีย เมื่อมีเมียแล้วไม่นานก็ต้องมีลูก ก็ต้องแสวงหาข้าวของเงินทองมาเลี้ยงเมียเลี้ยงลูก ทีนี้การแสวงหาทรัพย์นั้น ไม่ใช่จะหาได้แต่โดยทางสุจริตเท่านั้นก็หาไม่ ต้องหาโดยทางทุจริตด้วย เช่น ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตบ้าง ฉ้อโกง หลอกลวงเอาทรัพย์ของคนอื่นมาเป็นของตนบ้าง เป็นต้น เหล่านี้ล้วนแต่เป็นบาปทั้งนั้น คนเราจะอยู่ในโลกนี้ไม่ถึงร้อยปีก็จะตาย ครั้นตายแล้วก็จะไปตกนรกอยู่นานแสนนานกว่าจะได้พ้น พอคิดมาถึงตรงนี้ จิตก็คลายความกระสันอยากสึกลง เพราะเชื่อว่านรกมีจริง ดังที่พระพุทธเจ้าได้แสดงไว้นั้น กลัวจะไปเสวยทุกข์อยู่ในนรกนานแสนนาน ครั้นสงบจิตไปได้หน่อยหนึ่ง มารก็มาเบียดเบียนอีกแล้ว จิตก็ฟุ้งซ่านไปตามอำนาจของมารนั้น กลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้ ไม่รู้ว่านานเท่าไร เพราะสมัยนั้นยังไม่มีนาฬิกาใช้ ความปวดเมื่อยแข้งขาก็เป็นไปอย่างแรง แต่เราเคารพต่อความสัจที่ตั้งเอาไว้ ถ้าตัดสินใจไม่ลงทางใดทางหนึ่งโดยเด็ดขาด ก็ไม่ลุกจากที่นั่งจริงๆ ตายเป็นตาย ในที่สุดก็ตัดสินใจลงทางไม่สึกแน่นอน ได้ถามตัวเองถึงสามครั้งก็ยืนยันอยู่อย่างนั้นทั้งสามครั้ง ต่อจากนั้นจึงคลายจากสมาธิ
พอรุ่งเช้า ญาติโยมมาจังหันก็ได้ร่ำลาญาติโยมออกไปอยู่ป่า แล้วนับแต่นั้นไปก็ได้เตรียมบริขาร เช่น กลด มุ้ง เป็นต้น เสร็จแล้ว พ.ศ. ๒๔๗๕ เดือนสาม แรมสองค่ำ ก็ได้จากวัดโพธิ์ชัยไปอยู่ป่าที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "ผาชัน" ริมแม่น้ำโขง ซึ่งใกล้กับวัดที่ตั้งอยู่เดี๋ยวนี้ ออกไปอยู่ด้วยกันสองรูป พระรูปนั้นอยู่ป่าได้ ๗ วันเท่านั้นก็กลับวัดเดิม ทั้งนี้เพราะเกิดความกลัวขึ้นอย่างแรง เพราะเกิดนิมิตร้ายที่น่ากลัวขึ้น เพื่อนเล่าให้ฟังว่า เมื่อคืนผมนั่งภาวนาอยู่ ทีแรกก็บริกรรมพุทโธเป็นอารมณ์ ครั้นไปๆ ก็เกิดความกลัวขึ้นมา จึงสาธยายเวทมนต์ที่เรียนมาแต่ก่อนนี้เพื่อป้องกันตัว ที่ไหนได้ ในขณะที่บริกรรมคาถาอยู่นั้น ก็ปรากฏเห็นเป็นกษัตริย์องค์หนึ่งถือดาบเล่มหนึ่งเดินเข้ามาหา แล้วถามว่ามาทำอะไรอยู่นี่ ผมก็ได้ตอบเขาว่า อาตมากำลังภาวนาอยู่ เขากล่าวว่า ภาวนาอะไรอย่างนี้ ทำให้ผู้อื่นเดือนร้อน ท่านไม่ต้องเจริญคาถาอันนั้นดอก ข้าพเจ้ารู้หมดแล้ว คาถาที่เจริญนั้นจงหนีไปเดี๋ยวนี้ ถ้าไม่หนีจะเอาดาบเล่มนี้ฟันให้ขาดเป็นสองท่อนไปเลย ผมได้คิดว่าการสาธยายคาถานี้เห็นท่าจะไม่ได้ผล จึงหวนนึกถึงเมตตาและเจริญเมตตาว่า สัพเพสัตตา สุขิตาโหนตุ สัพเพสัตตา อเวราโหนตุฯ สัพเพสัตตา สัพพทุกขาปมุญจันตุ พอเจริญเมตตาไปเรื่อยๆ กษัตริย์องค์นั้นได้พูดขึ้นว่า ภาวนาอย่างนี้ถูกทาง จะอยู่ก็อยู่ไปเถิดไม่เป็นไร แต่ถึงกระนั้นเมื่อออกจากสมาธิแล้วก็ยังไม่หายกลัว "ผมเห็นท่าจะอยู่ไม่ได้ดอก จะกลับวัดเดิมแล้ว" ข้าพเจ้าชี้แจงให้ฟังเท่าไรเพื่อนก็ไม่เชื่อ โดยพูดว่า "ที่แล้วมาท่านสาธยายคาถามันไปกระทบกับจิตของภูมิเทวดา ซึ่งอาศัยอยู่ในสถานที่นี้เข้าจึงเป็นเช่นนั้น ถ้าท่านงดสาธยายมนต์เสีย ก็คงไม่มีนิมิตเช่นนั้นเกิดขึ้นอีก ผมเองภาวนาแต่พุทโธอย่างเดียว โดยมอบกายถวายตัวบูชาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ หมดทุกส่วนในกายอันนี้ ใครจะเอาไปชุบไปยำกินที่ไหนก็แล้วแต่ ไม่เห็นมีนิมิตร้ายอะไรเกิดขึ้นเลย จิตก็สงบเยือกเย็นดี นับว่าได้ผลคุ้มค่าที่เราสละความสุขจากวัดที่เคยอยู่มาอยู่ป่าเช่นนี้ ได้ชื่อว่าปฏิบัติตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าดำเนินมาเป็นตัวอย่างของชาวโลกทั้งหลาย" ในที่สุดพูดอย่างไรท่านก็ไม่ยอมอยู่ป่าต่อไป ได้กลับไปอยู่วัดตามเดิม ส่วนข้าพเจ้าได้พูดกับเพื่อนว่า "ผมเองไม่กลับไปอยู่วัดเดิมแล้ว อายชาวบ้านเขาเพราะได้ร่ำลาเขามาแล้ว ถ้าอยู่ไม่ได้ก็จะสึกอยู่ในป่านี้แหละ ถ้าอยู่ได้ผู้เดียวก็จะอยู่" เพราะตอนนั้นกำลังเกิดปีติในธรรมปฏิบัติ จิตกล้าหาญเต็มที่ไม่ได้กลัวอะไรทั้งหมด กลัวแต่กิเลสมันจะครอบงำเอาเท่านั้น จึงได้เร่งทำความเพียรโดยไม่ย่อท้อ
เมื่อได้ความมั่นใจที่จะประพฤติพรหมจรรย์ต่อไปแล้ว จึงได้แสวงหาครูบาอาจารย์ผู้พอจะแนะนำได้ ครั้งแรกก็พบกับ พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินโน บ้านเดิมของท่านอยู่ที่อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ท่านเที่ยวธุดงค์ขึ้นไปทางจังหวัดหนองคาย และได้ไปพักอยู่ที่วัดซึ่งข้าพเจ้าอยู่เดี๋ยวนี้เอง แต่คราวนั้นยังไม่ได้ก่อสร้างถาวรวัตถุอะไร เป็นแต่ทำกุฏิอยู่ชั่วคราวเท่านั้น เมื่อได้พบท่านครั้งแรกก็มีความเลื่อมใสในปฏิปทาของท่าน จึงได้เรียนถามอุบายภาวนาสมาธิกับท่าน ท่านก็ได้อธิบายให้ฟังจนเข้าใจได้ดี แต่ก็ไม่ได้ติดตามท่านไปในที่อื่นเมื่อท่านย้ายไป เพราะมีอุปสรรคบางอย่าง
ญัตติเป็นธรรมยุต
ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ข้าพเจ้าได้พบกับ ท่านอาจารย์บุญมา ฐิตเปโต ซึ่งต่อมาท่านอยู่วัดสิริสาลวัน บ้านโนนทัน อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี เดี๋ยวนี้ท่านมรณภาพไปแล้วโดยอุบัติเหตุเครื่องบินตก ท่านอาจารย์องค์นี้แหละ ได้พาข้าพเจ้าไปบวชเป็นพระธรรมยุตที่วัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานี เมื่อบวชเป็นพระธรรมยุตแล้ว ท่านอาจารย์ถามว่า "คุณจะศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรม หรือว่าจะปฏิบัติวิปัสสนาธุระต่อไป" ตอบท่านว่า จะเอาทั้งสองอย่าง ส่วนการศึกษานั้นจะดูตามตำราเอา ท่านก็ยินดีด้วย
พรรษาแรก จำพรรษาวัดป่าสาระวารี (พ.ศ. ๒๔๗๖)
ในพรรษาแรก ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้จำพรรษาที่วัดป่าสาระวารี บ้านค้อ อำเภอผือ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งที่นั้นพระอาจารย์มั่นเคยไปจำพรรษา ได้ตั้งใจทำความเพียรอย่างเต็มที่ รู้สึกว่าได้ความสงบใจมาก แต่การเจริญวิปัสสนายังไม่แก่กล้า ส่วนมากได้แต่สมถะ เมื่อออกพรรษาแล้วได้เที่ยวธุดงค์ขึ้นไปจังหวัดเลย ได้ไปพักวิเวกอยู่ที่ถ้ำผาปู่ และถ้ำผาบิ้ง รู้สึกว่าได้รับความสงบสงัดมาก
พรรษาที่ ๒ จำพรรษาวัดอรัญญวาสี (พ.ศ. ๒๔๗๗)
พ.ศ. ๒๔๗๗ ได้จำพรรษาที่วัดอรัญญวาสี อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ซึ่งมี พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินโน เป็นหัวหน้า และ พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโต เป็นรองฯ ในพรรษานี้ข้าพเจ้าตั้งใจทำความเพียรจริงๆ และได้สมาทานฉันอาหารเพียงเล็กน้อยเท่านั้น คือเมื่อบิณฑบาตกลับมาแล้วเทข้าวและกับใส่กะละมังจนหมด แล้วก็หยิบเอาข้าวเจ้าใส่ฝ่ามือข้างขวา พอเต็มฝ่ามือแล้วเอาลงในบาตร แล้วก็ฉันและอิ่มก่อนเพื่อนทั้งหมด เพราะอาหารมีน้อยเดียว เสร็จแล้วนั่งคอยหมู่อยู่ไม่ได้ ลุกไปก่อน เพราะมีพระวินัยห้ามเอาไว้ เมื่อพระอาจารย์ฉันเสร็จแล้วก็รีบเอาบาตรของท่านไปล้าง ทำอย่างนั้นไปตลอดจนออกพรรษา แต่ก็ไม่ได้เจ็บป่วยไข้อะไรเลย เป็นแต่ร่างกายซูบผอมลงเท่านั้น เพราะอาหารน้อย แต่ก็ทำข้อวัตรปฏิบัติกับหมู่เพื่อนได้ตามปกติ ไม่มีบกพร่องแต่อย่างใด พูดถึงการทำความเพียรส่วนตัว ในพรรษานั้นได้ตั้งใจไว้ว่า ๑.จะไม่นอนกลางวัน ๒. เมื่อค่ำลงจะทำความเพียร คือเดินจงกรมบ้างนั่งสมาธิบ้าง ไปจนถึงสี่ทุ่มจึงจำวัด และก่อนเวลาจะจำวัดก็กำหนดในใจไว้ว่า เมื่อนอนหลับไปถึงตีสองแล้วจะตื่นลุกขึ้นทำความเพียรต่อไปจนสว่าง โดยทำนองนี้จนตลอดออกพรรษา เมื่อออกพรรษาแล้วก็เที่ยวธุดงค์ขึ้นไปทางจังหวัดเลยอีก คราวนี้ไปบำเพ็ญอยู่ที่ถ้ำผาบิ้งอีกเป็นครั้งที่สอง พอถึงเดือนหกก็เดินทางกลับมาเพื่อจำพรรษาที่วัดป่าบ้านค้อตามเดิม
ในระหว่างเดินทางกลับจากจังหวัดเลยมาถึงเขตจังหวัดอุดรธานี กับเพื่อนภิกษุรูปหนึ่ง ได้มาพักอยู่ที่สำนักสงฆ์บ้านนาหมี่ อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี ในขณะนั้นไม่มีพระอยู่ ก็พอดีกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา บรรดาญาติโยมชาวบ้านนาหมี่ได้พากันนำดอกไม้ธูปเทียนมารวมกันที่ศาลาการเปรียญ เพื่อทำพิธีเวียนเทียนตามประเพณีนิยม และเป็นการระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐในโลก เพราะพระองค์ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน สามสมัยกาลนี้ตรงกัน ซึ่งไม่มีมนุษย์ใดในโลกจะมีเช่นนี้ เหตุนั้นนักปราชญ์ท่านจึงกล่าวว่า เป็นอัจฉริยบุคคลที่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง
เมื่อได้เวลาแล้ว ข้าพเจ้าและเพื่อนก็ขึ้นไปบนศาลาการเปรียญ พอกราบพระเสร็จนั่งลงเท่านั้น ชำเลืองตาไปดูญาติโยมที่มาจนเต็มศาลาน้อยนั้น ทันใดนั้นเหตุการณ์ที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นมันก็เกิดขึ้น กล่าวคือ ข้าพเจ้าเหลือบตาไปเห็นหญิงสาวคนหนึ่ง นั่งอยู่ในท่ามกลางฝูงชนนั้น ทันทีก็เกิดความรักในหญิงสาวคนนั้นทันที อันความรักในครั้งนั้นนับว่ารุนแรงมาก ซึ่งไม่เคยมีมาแต่ก่อนเลยตั้งแต่บวชมา มันติดผิวหนังจนขนลุกซู่ซ่า แล้วตัดเนื้อเลยเข้าหัวใจ ใจเต้นไม่เป็นจังหวะ อันกรรมฐานที่เจริญเห็นแจ้งมาแต่ถ้ำผาบิ้งไม่ทราบว่ามันหายหน้าไปไหนหมด มีแต่รักอย่างเดียวอยู่ในหัวใจเต็มไปหมด เข้าใจว่าหญิงสาวคนนั้นสวยงามน่ารักทุกส่วนสัด ทั้งที่ไม่เคยได้พบเห็นกันมาแต่ก่อนเลย นี้แหละอันความรักนี้ เขาจึงกล่าวกันว่าไม่มีพรหมแดน เมื่อทำพิธีเวียนเทียนเสร็จแล้วได้แสดงธรรม ๑ กัณฑ์ แล้วสนทนาปราศรัยกับญาติโยมผู้เฒ่าผู้แก่พอสมควรแล้วก็เลิกกันไป ปรากฏว่าคืนนั้นทั้งคืนนอนไม่หลับเลย คิดอยากจะสึกไปแต่งงานกับหญิงสาวคนนั้นอย่างเดียว แต่ก็สึกไม่ลง เพราะบางคราวก็นึกถึงกรรมฐานได้อยู่บ้าง
พอรุ่งเช้าบิณฑบาตมาฉันแล้วก็ชวนเพื่อนองค์นั้นเดินทางมาสู่สำนักเดิม คือที่วัดอรัญญบรรพตนี้เอง และได้เล่าความในใจให้เพื่อนองค์นั้นฟังโดยตลอด และว่าถ้าขืนอยู่ในที่นั้นต่อไปอีก มีหวังได้สึกแน่ๆ ครั้นมาถึงที่พักเดิมแล้ว ต่อมาความรักและความรู้สึกนั้นก็หายไปหมด แต่แล้วก็มาก่อรักใหม่ขึ้นที่บ้านตัวเอง โดยคราวนี้เขานิมนต์ไปฉันภัตตาหารในบ้านที่บ้านหม้อ พอเหลือบไปเห็นหญิงสาวคนหนึ่งก็ได้เรื่องเลย คือเกิดความรักขึ้นเหมือนคราวก่อนนั้นอีก ทั้งที่ไม่คุ้นเคยกันมาแต่ก่อนเลย ได้แต่รู้จักกันเท่านั้นเพราะเป็นคนบ้านเดียวกัน คราวนี้เลยฉันได้น้อยเต็มที นอนก็น้อยมาก จนถึงกับตัดสินใจจะไปลาอุปัชฌาย์สึก และก็เดินทางไปจริงๆ โดยไปกับเพื่อนองค์เดิมนั้นแหละ สมัยนั้นมีแต่เดินไปอย่างเดียว เพราะไม่มีรถขี่เหมือนสมัยนี้ เดินจากที่พักนั้นไปกว่าจะถึงอำเภอท่าบ่อก็ค่ำพอดี การเดินไปในวันนั้นไปได้ช้า ทั้งนี้เพราะอ่อนเพลียมากเนื่องจากฉันไม่ได้ และนอนไม่หลับมาหลายวัน จึงเป็นเหตุให้อ่อนเพลียอย่างมาก
ในคืนนั้นเอง ได้พิจารณาเห็นความทุกข์ในโลกนี้อย่างมหันต์ทีเดียว จึงได้ปรารภกับตัวเองว่า เมื่อความทุกข์มันเป็นภัยใหญ่ของชีวิตดังนี้ ก็ไม่ทราบว่าจะสึกออกไปทำไม เมื่อบวชอยู่ก็ยังเป็นทุกข์ถึงขนาดนี้ ถ้าสึกออกไปมันจะไม่เป็นทุกข์ยิ่งไปกว่านี้หรือ เพราะความทุกข์ของผู้ครองเรือนนั้นมีร้อยแปดพันอย่าง พอปรารภกับตัวเองมาถึงตรงนี้ จิตก็คลายความกระสันอยากสึกลงทันที ในที่สุดก็ตัดสินใจว่าไม่สึกละทีนี้ และในขณะนั้นอุปัชฌาย์ได้เดินทางไปอยู่ที่จังหวัดอุดรฯ จึงได้กลับมาโดยไม่ได้ติดตามไปเพื่อขอลาสึก
พรรษาที่ ๓ จำพรรษาที่วัดป่าสาระวารี
ต่อจากนั้นได้เดินทางไปจำพรรษาที่วัดป่าสาระวารี บ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี อีกเป็นครั้งที่สอง เป็นพรรษาที่ ๓ ในพรรษานี้ระหว่างต้นพรรษาได้ตั้งใจทำความเพียรอย่างเต็มที่ โดยปรารภความตายเป็นอารมณ์ ทั้งนี้เพราะจำพรรษาอยู่ในป่าช้า ก็นับว่าได้รับความเย็นใจพอสมควร พอย่างเข้าเดือน ๑๐ ได้ป่วยด้วยโรคเหน็บชาอย่างแรงถึงกับเดินไม่ได้ ออกพรรษาแล้วโยมบิดากับญาติพี่น้องได้ทราบเข้าจึงเอาเรือถ่อไปรับกลับมารักษาอยู่ ณ ที่ซึ่งเป็นวัดอรัญญบรรพตปัจจุบันนี้เอง (แต่ก่อนนั้นเป็นเพียงที่พักสงฆ์เท่านั้น) โดยล่องเรือมาตามลำน้ำโมงออกสู่แม่น้ำโขง แล้วถ่อขึ้นไปยังที่พักสงฆ์ดังกล่าว
ขึ้นชื่อว่าโรคเหน็บชาแล้ว มันทนทุกข์ทรมานจริงๆ เพราะว่ามือเท้าเป็นง่อยหมดจนเดินไม่ได้ ขยับเขยื้อนไม่ได้เลย มือจะหยิบอาหารใส่ปากก็ไม่ได้ ต้องอาศัยผู้อื่นป้อนให้เหมือนเด็กแรกเกิด
การเจริญภาวนาในระยะที่ป่วยอยู่นี้ ได้กำหนดเอาทุกข์เป็นอารมณ์ เพราะว่าโรคชนิดนี้กำเริบวันละหนึ่งครั้ง กำเริบทีไรใกล้ต่อความตายทุกที แต่แล้วเมื่อยังไม่ถึงเวลาตายมันก็ฟื้นคืนมาอีก มีอยู่วันหนึ่งจำได้ว่าวันนั้นเป็นวันเพ็ญเดือน ๑๒ โรคได้กำเริบขึ้นเต็มที่ โดยลมพัดขึ้นเบื้องบนมาก พัดเอาเสลดขึ้นไปอุดช่องลมหายใจเข้าออกเสีย จิตถอนขึ้นมาอยู่ที่ต้นคอจวนจะตายอยู่เต็มทีแล้ว แต่ขณะนั้น มันเกิดความคิดขึ้นในใจว่า เออ วันนี้เป็นวันอุโบสถ ก่อนตายเราต้องสมาทานอุโบสถเสียก่อน ก็อธิษฐานว่า อชฺชเม อุโปสโถปัณณะระโส แปลว่า วันนี้เป็นวันอุโบสถที่ ๑๕ ค่ำของเรา เมื่ออธิษฐานอุโบสถแล้ว ใจมันวิตกไปถึงผ้าจีวรผืนหนึ่ง เขาถวายเมื่อวันออกพรรษา ตั้งใจว่าจะให้แก่สามเณรผู้อุปัฏฐากก็ยังไม่ได้ให้ ในขณะนั้นพูดไม่ได้แล้ว ขยับตัวก็ไม่ได้เลย แต่มันรู้ตัวขึ้นมาทันทีว่า เอ ทำไมจึงส่งจิตไปผูกพันกับสิ่งที่ไม่เป็นแก่นสารนั้นเล่า เมื่อเราตายแล้วเขาก็แจกกันเองแหละ ไม่ต้องห่วง จึงได้กำหนดวางอารมณ์อันนั้นเสีย และมานึกขึ้นได้ว่า ถึงอย่างไรก่อนตายเราต้องฉันยาเสียก่อนเป็นครั้งสุดท้ายแล้วจึงตาย
พอนึกขึ้นได้เท่านั้น บังเอิญแขนที่เป็นง่อยอยู่นั้นกลับมีกำลังแข็งแรงขึ้นกว่าเดิม สามารถยกขวดน้ำยาที่วางอยู่ใกล้ตัวรินใส่แก้วจนเต็ม แล้วยกแก้วน้ำยาขึ้นใส่ปากดื่มลงไปจนหมดแก้ว น่าอัศจรรย์ เพราะตามธรรมดาแขนทั้งสองยกไม่ขึ้นเลย วันนั้นกลับสามารถช่วยตัวเองได้ เมื่อฉันยาเสร็จแล้วก็ตั้งสติสำรวมจิตว่าจะตายแล้ว พอกำหนดจิตลงไป ปรากฏว่ามีแสงเหมือนหิ่งห้อยแล่นลงไปสู่หทัยวัตถุ พอแสงนั้นวิ่งลงไปถึงหัวใจแล้ว ทันใดนั้นก็อาเจียนเสลดออกได้ประมาณเกือบครึ่งกระโถนแล้วก็หายใจได้ เป็นอันว่ารอดตายมาได้ด้วยอาการอย่างนี้ ต่อจากนั้นก็อ่อนเพลียมาก แต่ได้อุตส่าห์กำหนดจิต เตือนสติญาติโยมที่นั่งร้องไห้เฝ้าดูอาการอยู่นั้นชั่วขณะหนึ่งแล้วก็ตั้งสติ กำหนดจิตเพ่งลมหายใจเข้าออกอยู่เฉยๆ ไม่ได้พูดอะไร ในขณะนั้นเวลาประมาณทุ่มเศษ มีคนมาหาปลาอยู่เลียบฝั่งโขงแถวนั้นรู้ข่าวเข้า กลับไปถึงบ้านบอกชาวบ้านว่าข้าพเจ้าตายแล้ว ญาติพี่น้องชาวบ้านได้ยินข่าวก็ตกอกตกใจพากันออกมาเยี่ยมเป็นจำนวนมาก เมื่อเห็นข้าพเจ้ายังไม่ตายก็ดีใจ ต่อจากนั้นโรคก็ค่อยบรรเทาไปโดยลำดับทีละน้อย
บัดนี้ย้อนหลังคืนไปดูว่าโรคนี้หายได้ด้วยอาการอย่างไร เมื่อเริ่มป่วยลงนั้นก็มีผู้เอายามาให้ฉันหลายขนาน มันก็ไม่หาย เพียงแต่บรรเทาเท่านั้น ครั้นเมื่อมาอยู่วัดอรัญญบรรพตนี้แล้ว ในคืนวันหนึ่งได้เกิดความคิดขึ้นว่า โรคที่เกิดขึ้นครั้งนี้จะเป็นด้วยผลกรรมที่ตนทำมาแต่ชาติก่อนตามมาสนองหรืออย่างไรหนอ ทำไมจึงทรมานยิ่งนัก จะตายก็ไม่ตาย จะหายก็ไม่หาย และก็ไม่สามารถรู้ได้ในขณะนั้น จึงดำริในใจว่า "ข้าพเจ้ามาบวชในพุทธศาสนานี้ มุ่งแสวงหาทางพ้นทุกข์โดยตรง ไม่ได้มุ่งหวังลาภสักการะใดๆทั้งสิ้น ด้วยความสัตย์นี้หากอายุของข้าพเจ้าจะหมดลงในครั้งนี้แล้วไซร้ ก็ขอให้แตกดับไปโดยเร็วเถิด เพราะว่าได้รับทุกข์ทรมานมานานแล้ว หากว่าไม่ใช่เวรกรรมแต่หนหลังตามมาสนองแล้ว ถ้าข้าพเจ้ายังจะมีอายุต่อไปอีก ก็ขอให้มีผู้มาบอกข่าวหมอผู้จะรักษาโรคนี้ให้หายได้ ภายใน ๓ วัน หรือ ๗ วันด้วย"
พอรุ่งเช้ามาเวลาประมาณเที่ยงวัน ก็มีญาติโยมผู้หญิงคนหนึ่งมาเยี่ยมและบอกข่าวให้ทราบว่า มีพระองค์หนึ่งเป็นหลวงพ่อ อยู่วัดบ้านใกล้กันนั้นเอง เป็นหมอยาสามารถรักษาโรคเหน็บชา รักษาให้คนผู้ป่วยด้วยโรคชนิดนี้หายมาแล้วหลายราย ควรจะไปนิมนต์ท่านมารักษาดูบ้าง พอได้ทราบเท่านั้น ก็นึกดีใจว่าโรคนี้จะหายได้แน่นอน ไม่ใช่โรคกรรมเวรอะไรตามมาสนอง ครั้นแล้วจึงบอกโยมบิดาเอาเรือล่องลงไปนิมนต์ท่านขึ้นมาตรวจรักษาดูบ้าง เมื่อท่านมาถึงตรวจดูอาการแล้วส่ายหัว บอกว่าโรคนี้หนักมากไม่สามารถจะรักษาได้ ข้าพเจ้าจึงพูดกับท่านว่า "ไม่เป็นไรดอกหลวงพ่อ นิมนต์รักษาไปเถิด ถ้าผมตายก็ขออโหสิกรรมให้หลวงพ่อ ไม่ต้องเป็นบาปกรรมอะไรทั้งสิ้น ขอให้คิดดู หากเห็นว่ายาขนานใดจะพอรักษาโรคนี้ให้หายได้ก็นิมนต์เถิดครับ" ต่อจากนั้นท่านจึงพิจารณาดูยาที่จะรักษาโรคนี้ ครั้นแล้วก็เรียกญาติโยมมาหาแล้วสั่งให้ไปเอายาสมุนไพรตามป่าและตามบ้านคน นำมาต้มเคี่ยวสามน้ำ เอาน้ำหนึ่งให้ลองฉันดู ญาติโยมก็รีบไปหายามาทันที และจัดการต้มเคี่ยวอยู่ทั้งคืนจนสว่างจึงเสร็จ แล้วเอามาให้ฉัน พอฉันลงไปแก้วหนึ่งเท่านั้นปรากฏว่ามีเสียงดังในท้องและพร้อมกับเบาหน้าอกทันที แต่ก่อนนี้แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวกเนื่องจากปอดบวม จึงได้รู้ว่ายาขนานนี้ถูกกับโรค ได้พยายามฉันยานั้นเรื่อยมาได้ประมาณเดือนหนึ่ง เกิดอาการคอแห้งไม่มีน้ำลาย เมื่อหมอมาเยี่ยมได้เล่าให้หมอฟังหมอจึงสั่งให้โยมไปเอาต้นอ่อนของไม้กะบกมาต้มให้ฉัน ที่ไหนได้พอฉันแล้วทำให้เสลดเหนียว ขากไม่ออกเลย เรื่องนี้แหละเป็นเหตุให้ลมตีเสลดขึ้นอุดช่องลมหายใจ เกือบจะตายไปดังกล่าวมาแล้ว ถ้าระลึกถึงยาไม่ได้ก็มีหวังตายแน่ตั้งแต่ครั้งนั้น คงไม่ได้มาเขียนชีวประวัติให้ท่านผู้สนใจได้อ่านกันอย่างนี้แล้ว
พรรษาที่ ๔-๕ จำพรรษาที่วัดอรัญญบรรพต
ในครั้งนั้นการภาวนาก็พอเป็นไปได้ แต่มีเรื่องที่แก้ไม่ตกอยู่เรื่องหนึ่ง คือเมื่อภาวนาทำจิตให้สงบลงไปแล้ว ก็พิจารณาขันธ์ห้าเป็นอารมณ์ จนเห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตามสภาพความเป็นจริง แล้วปล่อยวางไว้ตามสภาพ ในขณะนั้นรู้สึกว่าจิตสงบพร้อมกับความรู้เป็นอย่างดี คล้ายกับว่ากิเลสหมดไปแล้ว ครั้นอยู่ต่อไปเมื่อเวลามีเรื่องต่างๆมากระทบ เช่น ทางตา เป็นต้น ก็มีความรู้สึกผิดปกติไป จิตหวั่นไหวในอารมณ์นั้นๆอยู่บ้าง แต่ไม่รุนแรง อย่างไรก็ดี ถึงไม่รุนแรงแต่มันก็แสดงว่ากิเลสยังไม่หมดสิ้นไปโดยเด็ดขาด พยายามแก้อย่างไรก็ไม่ตก จึงนึกในใจว่าใครหนอจะช่วยแก้จิตให้ได้ ในขณะนั้นจึงนึกไปถึง พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ว่าจะสามารถแก้ข้อข้องใจต่างๆที่เกิดขึ้นนี้ได้ ทั้งที่ไม่เคยเห็นท่านมาก่อนเลย ได้ยินแต่กิตติศัพท์กิตติคุณของท่านเท่านั้น ว่าท่านเป็นผู้ปฏิบัติดี และเก่งทางอภิญญาด้วย จึงชวนกันกับเพื่อนภิกษุรูปหนึ่งที่อยู่ด้วยกัน เดินทางขึ้นไปหาท่านอาจารย์มั่น โดยลงเรือจากหลวงพระบางขึ้นไปอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย จากเชียงแสนเดินทางไปเรื่อยๆ ค่ำไหนนอนที่นั่น
นิมิตถึงท่านพระอาจารย์มั่น และได้พบท่าน
ในคืนวันหนึ่งเดินทางไปไม่ถึงหมู่บ้าน จึงนอนอยู่กลางป่าข้างทางเดิน ปรากฏว่าคืนนั้นเองได้นิมิตเห็นท่านอาจารย์มั่นปรากฏภาพท่านยืนอยู่ตรงหน้า ท่านยิ้มเฉยๆ ไม่ได้กล่าวพูดอะไรด้วย ข้าพเจ้ารู้สึกมีความปีติเป็นอย่างยิ่งที่ได้นิมิตเห็นท่านอาจารย์ผู้ทรงคุณประเสริฐ แม้จะเห็นภาพท่านเฉยๆ ไม่ได้พูดด้วยก็นับว่าเป็นมงคลอย่างยิ่ง รุ่งเช้าได้ปรารภขึ้นก็ปรากฏว่า เพื่อนภิกษุก็ได้นิมิตเห็นท่านอาจารย์เช่นเดียวกัน เมื่อซักถามถึงลักษณะที่ปรากฏ ก็ได้ความว่าเป็นอย่างเดียวกันจึงทำให้มั่นใจอย่างยิ่งว่า ท่านได้เมตตามาปรากฏให้เห็นและเราต้องได้พบท่านแน่นอน
พบท่านอาจารย์มั่น พ.ศ. ๒๔๘๑
ครั้นเมื่อเดินทางไปถึงจังหวัดเชียงใหม่ ได้ไปที่วัดเจดีย์หลวง หลวงตาเกต ซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของท่านอาจารย์มั่น ทราบว่าเราประสงค์จะไปพบท่านอาจารย์ ได้เมตตาพาไปพบท่านที่ป่าละเมาะใกล้ๆโรงเรียนแม่โจ้ อำเภอสันทราย ซึ่งเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก เพราะรูปร่างหน้าตาของท่านนั้นเหมือนกับที่ได้นิมิตเห็นทุกประการ เมื่อเข้าไปกราบไหว้ท่าน ท่านก็สนทนาปราศรัยด้วยเป็นอย่างดี เมื่อได้โอกาสจึงเรียนถามเรื่องภาวนาที่ทำมาแล้วนั้นว่าถูกหรือไม่ ท่านไม่ตอบว่าผิดหรือถูก ท่านกล่าวว่านักภาวนาทั้งหลายพากันติดความสุขที่เกิดจากสมาธิโดยส่วนเดียว เมื่อทำจิตให้สงบแล้วก็สำคัญว่าความสงบนั้นแหละเป็นความสุขอันยอดเยี่ยม จึงไม่ต้องการพิจารณาค้นคว้าหาความจริงของชีวิตแต่อย่างใด ท่านชักรูปเปรียบให้ฟังว่า ธรรมดาเขาทำนาทำสวน เขาไม่ได้ทำใส่บนอากาศเลย เขาทำใส่บนพื้นดินนี้แหละจึงได้รับผล ฉันใดโยคาวจรผู้บำเพ็ญเพียรทั้งหลาย ควรพิจารณาร่างกายนี้แหละเป็นอารมณ์ จนเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายในนามในรูปนี้ ด้วยอำนาจแห่งปัญญานั้นแหละ จึงจะเป็นทางหลุดพ้นได้ ไม่ควรติดอยู่ในความสงบโดยส่วนเดียว
เมื่อท่านอาจารย์ให้โอวาทแล้ว จึงพิจารณาดูตัวเองในภายหลัง จึงได้รู้ว่าตนเองเพียงแต่เจริญสมถะเท่านั้น ไม่ได้เจริญวิปัสสนาเพื่อความรู้แจ้งในธรรมที่ควรรู้ควรเห็น คืออริยสัจสี่ ถึงเจริญปัญญาบ้างก็เป็นไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่มากพอที่จะรู้แจ้งได้ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงได้เร่งทำความเพียรให้ยิ่งไปกว่าเดิม
ในคืนวันหนึ่งเมื่อเดินจงกรมตอนหัวค่ำแล้วก็เข้าที่ ทำวัตรสวดมนต์เสร็จแล้วก็อธิษฐานในใจว่า บัดนี้ข้าพเจ้าจะนั่งสมาธิภาวนาเพื่อทำใจให้สงบและเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ควรเห็นดังกล่าวนั้น ถ้าหากว่าข้าพเจ้าทำจิตให้รู้ยิ่งเห็นจริงไม่ได้กว่าเดิม จะไม่ลุกจากที่นั่งนี้เป็นเด็ดขาด เมื่ออธิษฐานเสร็จแล้ว ก็เริ่มดำเนินภาวนาต่อไปโดยลำดับ ในขณะนั้น ก็ปรากฏนิมิตเห็นท่านอาจารย์มั่นจูงม้าอาชาไนยตัวหนึ่งมายืนต่อหน้าแล้วพูดว่า "นี้แหละคือม้าอาชาไนยอันประเสริฐ ท่านจงทำตัวให้เหมือนม้าอาชาไนยตัวนี้ คือธรรมดาม้าอาชาไนยเป็นม้าที่ฝึกง่ายและเข้มแข็งไม่อ่อนแอ ท่านจงดูนะ" ว่าแล้วท่านก็ก้าวขึ้นขี่บนหลังม้าอาชาไนยตัวนั้น ครั้นแล้วมันก็พาท่านวิ่งไปอย่างรวดเร็วเหมือนกับลมพัดก็ปานกันหายวับไปจากสายตา ต่อจากนั้นก็ทวนกระแสจิตเข้ามาสู่ปัจจุบัน พิจารณาดูนิมิตนั้นได้ความรู้ความเข้าใจในธรรมได้อย่างปลอดโปร่งว่า ม้าอาชาไนยนั้นเปรียบเสมือนดวงปัญญา กิริยาที่วิ่งไปนั้นได้แก่ ปัญญา พิจารณาเห็นสังขารนามรูปนี้ว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตามสภาพความเป็นจริงอย่างรวดเร็ว ฉะนั้น ต่อจากนั้นก็พิจารณาดูธาตุสี่ขันธ์ห้าอย่างพิสดารกว้างขวาง จนเห็นแจ้งประจักษ์โดยประการทั้งปวง หมายความว่า ได้เห็นธาตุทั้งสี่ขันธ์ทั้งห้ายิ่งไปกว่าเดิม จึงได้ออกจากการนั่งสมาธินับว่านานพอได้
วันต่อมาก็ได้กราบเรียนเรื่องความเป็นไปของจิตให้ท่านทราบ ท่านก็ชมว่าเก่ง อย่างนี้แหละจึงเรียกว่าเป็นผู้เห็นทุกข์ภัยในวัฏสงสารมีความต้องการอยากพ้นทุกข์จริงๆ และท่านก็ได้แนะนำอุบายเรื่องการเจริญวิปัสสนาให้ยิ่งขึ้นไป นับว่าได้ผลเกินความคุ้มค่าที่ได้เดินทางมาด้วยความเหนื่อยยากเพื่อไปหาท่าน
พรรษาที่ ๖ จำพรรษาที่สวนผลไม้อำเภอพร้าว
ในพรรษาที่ ๖ คิดว่าจะขอจำพรรษากับท่านอาจารย์มั่น บังเอิญท่านได้รับนิมนต์จากเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง ให้จำพรรษาที่วัด ที่วัดเจดีย์หลวงที่อยู่ไม่เพียงพอ ประกอบกับญาติโยมทางอำเภอพร้าวมาขอนิมนต์พระจากท่านอาจารย์มั่นไปจำพรรษาที่อำเภอพร้าว ท่านอาจารย์จึงแต่งให้พระสามรูปไปฉลองศรัทธาของเขา คือ พระอาจารย์เนียม พระอ่อนศรี และข้าพเจ้า เมื่อออกพรรษาแล้ว ญาติโยมอำเภอพร้าวจึงแต่งคนไปนิมนต์ท่านอาจารย์มั่นมาร่วมในงานทอดกฐิน ครั้นเสร็จงานกฐินแล้วไม่นาน ท่านอาจารย์ได้พาไปวิเวกอยู่บนเขาชื่อว่า ดอยพระเจ้า ในเขตอำเภอพร้าวนั้นเอง อยู่กัน ๖ รูป มีท่านอาจารย์มั่น ท่านอาจารย์เนียม พระอ่อนศรี ท่านอาจารย์บุญธรรม เป็นต้น ข้าพเจ้าไปอยู่บนยอดเขาชื่อว่าธาตุแม่โกนกับท่านอาจารย์เนียม เช้าขึ้นเดินลงมาบิณฑบาตเป็นระยะทางประมาณ ๒ กิโลเมตร การปฏิบัติธรรมอยู่บนเขานี้นับว่าได้ผลมาก เกิดปีติอยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน
พรรษาที่ ๗-๘ จำพรรษวัดสันต้นเปา
พรรษาที่ ๗ จำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากญาติโยมนิมนต์จำพรรษาอยู่กับท่านอาจารย์กู่ ธมฺมทินโน ซึ่งเคยเป็นอาจารย์มาแต่ก่อนและอาจารย์สิมด้วย จำอยู่ที่นั่น ๔ พรรษาอยู่ที่วัดสันต้นเปา เขตอำเภอสันกำแพง ห่างจากอำเภอ ๘ กิโลเมตร จำอยู่ ๓ ปี
พรรษาที่ ๑๐ จำพรรษาสำนักสงฆ์แม่หนองหาร
จากนั้นแล้วก็ไปจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์แม่หนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ๑ พรรษา ร่วมกับหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ในพรรษานั้น หลวงปู่ชอบชวนไปเที่ยววิเวกที่ประเทศพม่า ท่านว่าท่านเคยไปมาแล้วครั้งหนึ่ง ที่นั่นมีถ้ำมีภูเขาเป็นที่เจริญสมณธรรมมาก ได้เรียนท่านว่า "กระผมขอพิจารณาดูก่อน ถ้าไม่ขัดข้องก็จะไป" ต่อจากนั้นก็เริ่มเข้าสมาธิ พิจารณาเรื่องที่จะไปพม่าดูว่าจะสะดวกหรือไม่ เมื่อพิจารณาดูไปทางพม่าปรากฏว่า "มืดมน" ไม่แจ่มใสในกระแสจิต เข้าสมาธิทีไรมีแต่มืดตื้อไม่ปลอดโปร่งเลย จึงรู้ได้ว่า ถ้าไปก็ไม่เป็นมงคล เห็นจะได้ไปประสบกับอุปสรรคอย่างร้ายแรง ครั้นวันต่อมาหลวงปู่ชอบถามว่า เป็นอย่างไรพิจารณาแล้วได้ความอย่างไรการไปวิเวกที่พม่า ข้าพเจ้าเรียนท่านว่า "ผมพิจารณาแล้วได้ความว่า การไปพม่าคราวนี้จะมีอุปสรรคไม่สะดวกแก่การบำเพ็ญสมณธรรม" ท่านพูดว่า "เมื่อผมพิจารณาปรากฏว่าสะดวกดี ไม่มีอะไรขัดข้อง" ข้าพเจ้าพูดว่า "ถ้าเช่นนั้นก็นิมนต์ท่านอาจารย์ไปเถิด สำหรับผมไม่ไปแล้ว" พอออกพรรษาแล้วท่านก็เดินทางไปพม่าจริงๆ โดยได้พระสองรูปกับพ่อขาวเฒ่าคนหนึ่งติดตามไป เมื่อไปถึงพม่าไม่นาน พระหนุ่มสองรูปกับพ่อขาวเฒ่าได้ลาท่านกลับเมืองไทย ตกลงว่าท่านต้องอยู่องค์เดียว และเมื่อออกพรรษาแล้วท่านก็กลับมาเมืองไทย มาจำพรรษาสำนักสงฆ์ บ้านห้วยน้ำริน อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ออกพรรษาแล้วข้าพเจ้าได้พบกับท่าน ได้เรียนถามถึงการไปอยู่พม่าคราวนั้นว่าเป็นอย่างไร ท่านได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ได้พบกับทหารจีนที่เขายกเข้ามาพม่าเพื่อต้านทานกับญี่ปุ่น เพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นล่วงล้ำเข้าไปในเขตจีน ในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ญี่ปุ่นได้ยกทัพเข้ามาเมืองไทยและส่งทหารเข้าไปในประเทศพม่า พวกจีนเขาถือว่าคนไทยเข้ากับญี่ปุ่น ดังนั้น เมื่อทหารจีนพบกับคนไทยอยู่ในพม่า เขาจะต้องจับเป็นเชลย ท่านอาจารย์เล่าว่าพวกไทยใหญ่ที่นับถือท่าน เขาพาท่านไปซ่อนอยู่ตามถ้ำ แล้วเขาไปถวายอาหารให้ท่านฉัน ไม่ให้ท่านไปบิณฑบาตกลัวทหารจะจับท่าน ท่านเล่าให้ฟังว่า ไปพักอยู่ที่ไหน ถ้าที่นั่นมีกองทหารจีนผ่านไป เวลานั่งภาวนาจะมีนิมิตปรากฏให้เห็น เมื่อปรากฏเช่นนั้นแล้วท่านก็ย้ายทันที แล้วปรากฏว่ามีกองทหารจีนผ่านมาทางนั้นจริงๆ เป็นเช่นนี้อยู่หลายครั้ง ต่อมาวันหนึ่งตอนเช้า ญาติโยมไทยใหญ่เขาพากันไปถวายอาหาร เขามีอาวุธติดตัวไปด้วย เวลานั้นท่านนั่งฉันอาหารอยู่หน้าถ้ำ พวกญาติโยมก็ยืนอารักขาอยู่โดยรอบ ปรากฏว่าเห็นทหารจีนหมู่หนึ่งเดินมาหาท่าน ห่างกันประมาณสามวา เขาก็หยุดยืนจ้องดูท่านอยู่เฉยๆ ไม่แสดงกิริยาอาการที่จะทำร้ายแต่อย่างใด ในขณะนั้นท่านก็นึกในใจว่า ชีวิตของเราเห็นจะมาจบลงในที่นี้แหละ ท่านก็สำรวมจิตอย่างมั่นคงแล้วก็ฉันข้าวไปเรื่อยๆ ทำเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย ทหารเหล่านั้นจ้องดูท่านอยู่ชั่วขณะหนึ่ง แล้วก็เดินผ่านไปเฉยๆ ไม่ได้ทำอะไรแก่ท่าน ท่านก็นึกว่า เราพ้นภัยแล้วบัดนี้ ที่ไหนได้สักครู่หนึ่ง ทหารจีนอีกพวกหนึ่งก็เดินทางมาทางเดียวกันกับพวกก่อนนั้นแหละ แล้วก็มายืนจ้องดูท่านอีก ไม่พูดอะไรเพราะพูดขึ้นก็ไม่มีใครเข้าใจ ท่านก็วิตกเหมือนเดิมอีก เขาจ้องดูอยู่ครู่หนึ่งแล้วก็เดินผ่านไป และก็ไม่มีทหารหมู่อื่นมาอีก ภายหลังท่านคิดว่าถ้าขืนอยู่พม่านี้ต่อไป อาจจะถูกจับเป็นเชลยแน่นอน เพราะเหตุนั้นท่านจึงเดินทางกลับมาประเทศไทย พร้อมกับคนลาวคนหนึ่งซึ่งเขาไปทำงานป่าไม้อยู่กับชาวอังกฤษ เมื่ออังกฤษยกพม่าให้เป็นเอกราชแล้วเขาก็ยังอยู่ในพม่า ดังนั้น ท่านอาจารย์ชอบจึงได้เพื่อนเดินทางกลับเมืองไทย ท่านได้จำพรรษาสำนักสงฆ์ห้วยน้ำริน จังหวัดเชียงใหม่ ในพรรษานั้นท่านเป็นไข้ตลอดพรรษา ทั้งนี้ เพราะได้รับความบอบช้ำจากการเดินทางจากพม่ามาประเทศไทยในปีนั้น การพิจารณาเรื่องการเดินทางไปพม่าของข้าพเจ้านับว่าถูกต้อง ไม่เช่นนั้นแล้วข้าพเจ้าคงได้รับความลำบากเช่นเดียวกับท่านอาจารย์ชอบนั้นแล
พรรษา ๑๑–๑๔ จำพรรษาสำนักสงฆ์ อำเภอสันกำแพง
เมื่อออกพรรษาแล้วได้ไปเที่ยววิเวกในเขตอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ บังเอิญได้พบกับ หลวงปู่ชอบ และ หลวงปู่ขาว ได้พากันไปวิเวกตามเขาและถ้ำซึ่งอยู่ใกล้กับหมู่บ้าน พอบิณฑบาตถึงได้ เขาลูกนั้นมีถ้ำอยู่สองถ้ำ แต่เป็นถ้ำที่อยู่สูงจากตีนเขาขึ้นไปประมาณ ๑๕ วา ประกอบกับขึ้นชันมาก เวลาขึ้นต้องเอามือเหนี่ยวต้นไม้ขึ้นไป ข้าพเจ้ากับพระองค์หนึ่งขึ้นไปอยู่บนถ้ำ หลวงปู่ชอบกับหลวงปู่ขาวอยู่หัวเขาข้างล่าง ไปอยู่ที่นั่นรู้สึกภาวนาดีพอสมควร เพราะอากาศก็ดีและสงัดด้วย ส่วนชาวบ้านที่ใกล้เขาลูกนั้น เมื่อได้ทราบข่าวว่ามีพระกรรมฐานมาพักอยู่ในถ้ำและเขานั้น ก็พากันชื่นชมยินดี ชักชวนกันมาทำที่พักอาศัยให้ ส่วนน้ำใช้น้ำฉันเขาเอาไม้ไผ่มาทำเป็นรางต่อกันมาแต่ข้างเขา เอาน้ำที่ออกข้างเขานั้นให้ไหลตามรางมาไว้ที่หัวเขา นับว่าสะดวก แต่น้ำนั้นผสมกับหินปูน ต้องต้มให้เดือดแล้วปล่อยให้เย็น เมื่อตกตะกอนแล้วจึงกรองเอามาฉัน
ครั้นอยู่ต่อมาพระที่อยู่ในบ้านเขาพากันสึกหมด คนในหมู่บ้านเจ็บป่วยลง กำนันตำบลนั้นเกิดความเห็นผิดขึ้นมาว่า พระกรรมฐานไปอยู่ในถ้ำนั้น ผีที่อยู่ในถ้ำนั้นกลัวพระกรรมฐานอยู่ไม่ได้จึงมารบกวนชาวบ้านให้เจ็บป่วย กำนันตำบลนั้นจึงเที่ยวประกาศห้ามไม่ให้ชาวบ้านที่หมู่บ้านซึ่งกำนันอยู่นั้นทำบุญตักบาตร วันหนึ่งเดินไปบิณฑบาตในหมู่บ้านนั้น ไม่มีใครใส่บาตรสักคนเดียว เมื่อไปบ้านอื่นซึ่งอยู่ใกล้กันจึงมีผู้ใส่บาตรให้ นี้แหละขึ้นชื่อว่าความเห็นผิด ความเชื่อผิด ทำให้คนเรากระทำแต่สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อโทษโดยส่วนเดียว วันต่อมารางน้ำที่ชาวบ้านผู้ที่เขาเลื่อมใสต่อมาให้ใช้ยังที่พักถูกฟันเสียหายเป็นบางตอน ญาติโยมรู้เข้าเขาก็พากันไปซ่อมแซมให้ใช้ได้ตามเดิม ต่อมาหลวงปู่ขาวชวนข้าพเจ้าขึ้นไปวิเวกบนดอยแม้ว ส่วนหลวงปู่ชอบกับหลวงพ่อวงศ์ยังอยู่ที่เดิม เมื่อเดินทางขึ้นไปถึงบ้านแม้วแล้วก็ไปหาผู้ใหญ่บ้าน แนะนำให้เขารู้ว่า เราเป็นนักบวช คือเป็นพระในพระพุทธศาสนา ทั้งนี้ เพราะเขาไม่เคยเห็นพระมาก่อนสักคนเลย สำหรับการพูดจากันนั้น ผู้ชายเท่านั้นพอพูดรู้เรื่องกันบ้าง ส่วนผู้หญิงพูดไม่รู้เรื่องกันเลย โดยพูดกับเขาว่า พวกเรามานี้ไม่ได้มาหาเงินทองอะไร เรามาพักภาวนาหาความสงบทางจิตใจเท่านั้น หวังว่าคงไม่ขัดข้อง ผู้ใหญ่บ้านตอบว่าไม่ขัดข้อง ยินดีให้ความช่วยเหลือทุกอย่างที่พวกท่านต้องการ ถ้าเช่นนั้นก็ขอให้พาไปหาสถานที่พักในป่าบ้าง ที่ไหนเป็นที่สงัดและมีน้ำพอได้อาบและฉัน ผู้ใหญ่ก็เรียกลูกบ้านมา ๔-๕ คน แล้วพาไปหาที่พัก ทำที่พักถวายแล้วก็กลับกัน รุ่งเช้าไปบิณฑบาตเขาไม่ได้ทำอาหาร มีแต่หุงข้าวไว้เท่านั้น เขาก็เอาเนื้อหมูที่ลวกน้ำเกลือกันเน่าที่เก็บไว้มาใส่บาตรให้ ได้ชี้ให้โยมที่ติดตามไปรับแทนไม่ให้ใส่ในบาตร เมื่อบิณฑบาตเสร็จแล้วก็ให้โยมผู้ติดตามขอยืมหม้อกะทะขนาดเล็กของเขาไปสู่ที่พัก แล้วโยมก็จัดการทำให้สุกแล้วฉันกัน ในวันต่อไปชาวบ้านที่ไปจากข้างล่างแนะนำเขาจึงทำอาหารสุกใส่บาตรให้
การบำเพ็ญภาวนารู้สึกว่าเป็นไปได้ดี อากาศก็เย็นสบายไม่ร้อนมาก ลมพัดอยู่เสมอ บำเพ็ญอยู่ได้ ๑๐ วัน หลวงปู่ขาวไม่ค่อยสบายผิดอากาศต้องกลับมาพักอยู่หัวเขาตามเดิม อยู่ต่อมาหลวงปู่ชอบชวนขึ้นไปอีก คราวนี้ไม่มีญาติโยมไปด้วย ต้องจ้างคนสองคนหาบบริขารขึ้นไปช่วย และประสงค์ให้เขาไปทำที่พักให้บนเขาสูงลูกหนึ่ง ซึ่งอยู่ข้างล่างมองเห็นอยู่คิดว่าจะวิเวกดี เดินทางไปวันยังค่ำถึงตีนเขาลูกนั้น ที่ตีนเขานั้นมีบ้านน้อยหลังหนึ่ง ได้สนทนากับเจ้าของบ้านและบอกความประสงค์ให้เขาทราบว่า เราต้องการจะไปพักภาวนาอยู่หลังเขาลูกนี้จะขัดข้องประการใด เขาตอบว่าอย่าไปเลยท่าน ผีดุมากที่เขาลูกนี้ ถามเขาว่า รู้ได้อย่างไรว่าผีดุ เขาบอกว่าพวกผู้ชายแม้วสามคนมาเที่ยวเขาลูกนี้เมื่อไม่กี่วันมานี้ ผีมันทำเอาตายไปสองคน อีกคนหนึ่งมาหาผมขอให้ผมไปพูดกับผี ให้ผมไปเจรจากับผีให้จึงไม่ตาย ข้าพเจ้าพูดว่าคนเหล่านั้นไปทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้เขาไม่พอใจกระมัง เขาพูดว่า แม้วเหล่านั้นเขางัดก้อนหินได้ตกลงในเหวลึกซึ่งอยู่ข้างหัวเขานั้นเอง ทำเอาเสียงดังสนั่นหวั่นไหวในบริเวณนั้นเอง แล้วก็พากันร้องเอิกเกริกแสดงความสนุกสนานเต็มที่ ข้าพเจ้าจึงว่า ก็เพราะเหตุนั้นจึงเกิดความวิบัติกัน เนื่องจากภูติผีปิศาจที่อาศัยอยู่ตามที่นั้นเขาชอบสงบ เมื่อใครไปทำวุ่นวายเขาไม่ชอบ และเขาถือว่าไปล่วงเกินเขาโดยไม่ยำเกรงจึงทำร้ายเอา สำหรับพวกอาตมาไปอยู่อย่างสงบคงไม่เป็นไรหรอก ขอให้โยมพาไปบ้างเถิด จะได้เป็นบุญกุศลของพวกโยมด้วย เขาตอบว่าถ้าพวกท่านไม่กลัวผมก็จะพาไป เขาก็พากันขึ้นไป พอถึงหลังเขาก็เกือบค่ำ วันรุ่งขึ้นก็ไปบิณฑบาตบ้านเดิมที่มาอยู่คราวก่อนนั้นแหละ แต่ระยะทางไกลมากประมาณสี่กิโลเมตรเห็นจะได้ คราวนี้ไม่ลำบากเพราะเขาเคยใส่บาตรแล้ว พอเป็นวันใหม่ก็ไป เมื่อกลับมาถึงที่พักก็ประมาณสามโมงเช้า โยมสองคนที่หาบของไปส่งนั้น เขาก็ช่วยทำกระท่อมให้รูปละหลัง ทำกันอยู่สามวันเสร็จแล้วก็กลับไปบ้าน ต่อจากนั้นก็ตั้งใจประกอบความเพียรกันเต็มที่ คืนวันหนึ่งนั่งสมาธิอยู่เกิดความรู้ขึ้นในจิตว่า "ระวังอย่าประมาท คืนนี้เสือใหญ่มา" เอนี่อะไรกัน ความคิดหลอกตัวเองหรืออย่างไร เชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง แต่ก็นึกปลงสังขารลงว่า เอาเถิดเสือ จะกินก็กินเถิด เราถวายชีวิตบูชาพระรัตนตรัยแล้วจึงมาสู่สถานที่เช่นนี้ ถ้ากรรมเวรหากมีก็จะขอรับกรรมไปไม่ขัดข้อง ถ้าหากกรรมเวรไม่มีก็ขอให้ปลอดภัย คิดเท่านี้แล้วก็สงบจิตคอยฟังอยู่ว่าเสือมันจะมาทำอย่างไร นั่งสมาธิอยู่นานเท่านานก็เงียบ ไม่มีเสียงอะไรดังขึ้นเลย เหนื่อยมากก็จำวัดลงไป โดยคิดว่ามันจะเอาไปกินในเวลานอนหลับก็แล้วแต่มัน ต่อจากนั้นก็หลับไป พอตื่นขึ้นก็ลุกนั่งสมาธิฟังอยู่ก็ไม่ปรากฏว่ามีปฏิกริยาอะไรเกิดขึ้น พอสว่างก็ไปปฏิบัติท่านอาจารย์ชอบ และเรียนถามท่านว่า "ขอโอกาส เมื่อคืนนี้ท่านอาจารย์ได้เห็นอะไรบ้าง" ท่านตอบว่า "ได้สิ" พอภาวนาเสร็จแล้วก็จำวัด พอเคลิ้มไปเท่านั้นแหละก็ปรากฏว่ามีอุบาสกนุ่งขาวคนหนึ่งมาบอกว่า "คืนนี้เสือใหญ่มานะ ท่านอย่าประมาทนะ" พอทราบอย่างนั้นก็รีบลุกขึ้นนั่งสมาธิคอยฟังอยู่ว่ามันจะมาอย่างไรกัน นั่งอยู่ตั้งนานก็ไม่เห็นเสือมาสักทีก็จำวัดต่อไป ตื่นขึ้นนั่งสมาธิฟังอยู่ก็ไม่เห็นมันมาเลยไม่ทราบว่านิมิตมันจะหลอกเล่นหรืออย่างไร ข้าพเจ้าจึงเรียนท่านว่า "ผมก็ปรากฏเหมือนกัน แต่ก็ไม่เห็นมันไปหาเลย" เพื่อพิสูจน์ความจริงข้าพเจ้าก็เข้าไปในป่าหญ้าแฝกซึ่งล้อมรอบที่พักอยู่ ทันใดนั้นก็เห็นรอยเสือคุ้ยดินเป็นขุมๆ เป็นระยะไปในป่าหญ้าแฝกนั้นเอง จึงได้เรียนให้ท่านอาจารย์ทราบ ท่านเข้าไปดูท่านจึงว่า "แหมมันมานั่งเฝ้าพวกเราอยู่ตลอดคืนกระมัง แต่มันไม่สามารถจะทำอะไรกับเราได้" ครั้นแล้วก็พากันห่มผ้าไปบิณฑบาต พอเดินตามทางไปเห็นรอยของเสือใหญ่ปรากฏไปเรื่อยๆ พอลงเขาไปถึงลำธารปรากฏว่าน้ำในลำธารตรงข้ามยังขุ่นๆอยู่ จึงพูดว่ามันเพิ่งข้ามน้ำไปไม่นานนี่ บางทีอาจจะพบกันระหว่างทางนี้ก็ได้ ต่อจากนั้นก็ตั้งสติสำรวมจิตอย่างเต็มที่และก็ไม่ลืมเมตตา เจริญเมตตาไปเรื่อยๆ เจริญอย่างไร "คือนึกในใจว่า ขอให้สัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรต่อกันและกันเลย จงมีความสุขรักษาตนให้พ้นจากภัยอันตรายเถิด" ดังนี้ พอเดินไปถึงป่าเหล่าแก่แห่งหนึ่ง เห็นรอยมันแวะเข้าไปในป่านั้น จึงพูดว่าแกจงไปเป็นสุขเถิด อย่ากลับไปหาเราอีกเน้อ ตั้งแต่วันนั้นมามันก็ไม่ไปหาเลย
อยู่มาวันหนึ่ง ท่านอาจารย์ชอบเล่านิมิตให้ฟังว่า ภาวนาไปจิตสงบลงเกิดแสงสว่างพุ่งไปสู่ทางจงกรม ขณะนั้นปรากฏเห็นพญานาคตัวหนึ่งโผล่ขึ้นมาที่หัวทางจงกรมนั้น ท่านถามพญานาคว่ามาจากไหน พญานาคตอบว่า "มาจากเชิงเขาลูกนี้ ข้าพเจ้าอยู่เชิงเขาลูกนี้แหละ ในเขาลูกนี้มีลำธารผ่านเชิงเขาออกมาแล้วไหลสู่ท้องนาของชาวบ้าน พวกท่านเดินทางมาก็คงได้ข้ามลำธารนี้มาหลายครั้งไม่ใช่หรือ" ท่านอาจารย์ถามว่า "ท่านชื่อว่าอย่างไร" พญานาคตอบว่า "ข้าพเจ้าชื่อเทพนาคา" ท่านอาจารย์เล่าว่าพญานาคเมื่อโผล่หัวขึ้นที่ทางจงกรมแล้วก็เอาหางพาดเขาอีกลูกหนึ่งให้ท่านดู รู้สึกว่าตัวยาวมาก ข้าพเจ้าถามว่า ลักษณะสีของพญานาคเป็นอย่างไร ท่านบอกว่าพญานาคนั้นมีหงอนสีแดงและมีแผงเหมือนกับของม้าเช่นนั้น และลำตัวเป็นเกล็ดสีดำเลื่อม แสดงตัวให้ดูอยู่ครู่หนึ่งก็จมลงไปที่เดิมนั้นเอง เรื่องพญานาคก็เป็นอันจบลงเท่านี้
ต่อมาอีกสองวัน ข้าพเจ้านั่งสมาธิในคืนวันนั้นรู้สึกว่าปลอดโปร่งดีพอสมควร เมื่อออกจากสมาธิแล้วก็นอนตะแคงลงข้างขวาลงเป็นการเปลี่ยนอิริยาบถ และมีสติสัมปชัญญะให้ตั้งมั่นอยู่ภายในตามเดิม ในขณะนั้นกระแสจิตก็ผ่องใสดี ครั้นแล้วก็ปรากฏเหมือนมีเงามืดไหลเข้าสู่กระแสจิตที่ผ่องใสอยู่นั้นให้มืดเข้าทีละน้อย เหมือนก้อนเมฆไหลเข้าสู่ดวงจันทร์ฉะนั้น จึงดำริในใจว่า "เรื่องนี้เป็นเรื่องอะไรหนอ" ก็ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องอะไรในขณะนั้น จึงเกิดความรู้ขึ้นมาว่า ทุกสิ่งทุกอย่างคงไม่พ้นไปจากนามรูป จึงบริกรรมขึ้นในจิตว่า "นามรูปังอนิจจัง นามรูปังทุกขัง นามรูปังอนัตตา" พอบริกรรมเท่านั้นก็ปรากฏว่า กระแสจิตที่มืดอยู่นั้นค่อยสว่างออกทีละน้อยๆ เหมือนก้อนเมฆไหลออกจากพระจันทร์ฉะนั้น ต่อจากนั้นจึงเคลื่อนไหวร่างกายได้ ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่เคยมีมาแต่ก่อนเลย เพิ่งปรากฏเป็นครั้งแรก จึงเลยไปนึกถึงเรื่องพญานาคที่ท่านอาจารย์ชอบนิมิตเห็น ชะรอยว่าพญานาคจะมาเยี่ยมหรืออย่างไรก็เป็นเรื่องที่รู้อยู่ไม่ได้นั้นเอง แต่ว่าถ้าโดยธรรมาธิษฐาน คือยกเอาธรรมเป็นที่ตั้งแล้วก็คงได้ความว่า เรื่องของอวิชชาตัณหาแล้วมันมีลักษณะมืดมน เมื่อมันครอบงำจิตจึงทำให้จิตมัวหมองไม่ผ่องใส แต่เมื่อเจริญวิปัสสนาให้
เกิดขึ้นแล้ว ความมืดก็จะหายไป
การบำเพ็ญสมณธรรมอยู่บนเขาลูกนั้นรู้สึกว่าได้ผลดีมาก ต่อจากนั้นมาก็ไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นอีก จนวันเวลาผ่านไปได้ ๒๒ วัน ท่านอาจารย์ชอบเกิดไม่สบาย คือเจ็บเสียดมีลมในท้อง ไม่สามารถเดินบิณฑบาตได้เพราะมันไกลท่านจึงชวนกลับวัด ปีนั้นจำพรรษาที่สำนักสงฆ์อำเภอสันกำแพง การจำพรรษาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่รวมแล้วได้ ๑๐ ปี
พรรษา ๑๕ พรรษา ๑๗–๑๘ จำพรรษาอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ข้าพเจ้าได้ธุดงค์มาทางจังหวัดลำปาง และจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์อำเภอเถินสองพรรษา ในพรรษาแรกถูกเจ้าของถิ่นเขาขับไล่ให้หนีไปไม่ให้จำพรรษา แต่ญาติโยมผู้ที่นับถือเลื่อมใสเขาไม่ยอมให้หนี เพราะเขาได้นิมนต์ให้อยู่จำพรรษาที่นั้นแล้ว และเขาก็จัดเสนาสนะถวายอยู่ ข้าพเจ้ากับหมู่คณะได้รับนิมนต์เขาแล้ว ดังนั้นจึงไม่ควรหนีไปที่อื่น ในที่สุดก็ได้จำพรรษาที่สำนักสงฆ์แห่งนั้น ซึ่งผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ถวายที่ดินสวนให้อยู่จำพรรษา ข้าพเจ้าจำพรรษาอยู่ที่สำนักนั้น ก็ได้แนะนำสั่งสอนญาติโยมชาวอำเภอเถินให้มีความเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ตลอดจนรู้จักแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้าพอสมควร ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ ได้พาโยมบิดาไปบวชเป็นพระภิกษุที่วัดเชตวัน อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง และอุปการะท่านมาโดยลำดับ ต่อมาเมื่อออกพรรษาแล้วในเดือนมกราคม ได้นำนาคไปบวชที่วัดเชตวัน และ ณ ที่วัดนี้เอง ได้พบกับ พระมหาถวัลย์ ฐิตังกูร ซึ่งเดินทางมาจากวัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อฝึกหัดเจริญสมถะและวิปัสสนา จึงได้ชวนกันไปเที่ยววิเวกที่จังหวัดเชียงรายโดยไปด้วยกันสามรูป ได้ไปพักภาวนาอยู่ตามโบราณสถานต่างๆที่อำเภอเชียงแสน ซึ่งแต่ก่อนเป็นเพียงตำบลเท่านั้น นับว่าได้ความสงบกายสงบใจพอสมควร
พรรษาที่ ๑๖ จำพรรษาในจังหวัดเชียงใหม่
ในพรรษานี้ได้จำพรรษาอยู่ที่บ้านว่างของคนอังกฤษที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งญาติโยมได้นิมนต์ไปจำพรรษาอยู่ เพื่อได้อบรมสั่งสอนแนวทางปฏิบัติธรรม ได้แนะนำสั่งสอนแก่ญาติโยมและบำเพ็ญสมณธรรม ณ ที่นั้นอยู่จนตลอดพรรษาได้ผลดี และมีความเจริญในธรรมอย่างดี
ธุดงค์ประเทศลาว
ครั้งอยู่ในที่นั้นพอสมควรแล้ว พระมหาถวัลย์ ฐิตังกูร ก็ขอร้องให้พาไปจังหวัดหลวงพระบาง ประเทศลาว เพราะไม่เคยเห็นมาแต่ก่อน จึงตกลงพาเพื่อนไปจังหวัดหลวงพระบาง การไปประเทศลาวครั้งนั้นนับว่าลำบากมาก เพราะประชาชนลาวกำลังรวมตัวกันขอเอกราชจากฝรั่งเศส เมื่อฝรั่งเศสไม่ยอมให้เอกราชจึงเกิดรบกันขึ้นทั่วไปในประเทศลาว โดยเฉพาะเลียบปากแม่น้ำโขง เขาตั้งด่านตรวจเรือขึ้นล่องตามลำน้ำโขงเป็นแห่งๆ บรรดาเรือที่ขึ้นก็ดี ล่องก็ดี ระหว่างเวียงจันทน์กับหลวงพระบาง เมื่อถึงด่านไหนก็ต้องจอดเรือที่ด่านนั้น บรรดาผู้โดยสารเรือต้องขึ้นไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่เขา และถ้าเป็นคนไทยต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสจากที่ต้นทางเสียก่อน เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้วจึงจะไปได้ ดังนั้นพวกเราจึงข้ามเรือไปขอใบอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศส แล้วจึงติดต่อขอโดยสารไปกับเรือพ่อค้า เขาก็ไม่ขัดข้อง โดยเสียค่าโดยสารให้เขาตามที่เขาเรียกเอา และได้มีเรือทหาร 2 ลำล่องติดตามให้อารักขาไปด้วย พวกเราพยายามนั่งสมาธิภาวนาอธิษฐานขออย่าให้มีเหตุร้ายอะไรเกิดขึ้นเลยในระหว่างทาง และก็ปลอดภัยจริงๆจนถึงนครเวียงจันทน์
นิมิตเกี่ยวกับอนาคตของประเทศลาว
เมื่อถึงนครเวียงจันทน์แล้ว ได้ไปพักอยู่วัดป่าแห่งหนึ่งในเขตนครเวียงจันทน์นั้นเอง ณ ที่นั้นได้พบกับ พระอาจารย์ผุย ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดนั้น ท่านอาจารย์ผุยรูปนี้ก็เป็นพระผู้ปฏิบัติสมถะและวิปัสสนาเหมือนกัน ครั้นอยู่ต่อมาท่านได้ชวนขึ้นไปวิเวกบนเขาซึ่งอยู่ด้านตะวันตกของนครเวียงจันทน์ ห่างจากนครเวียงจันทน์ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร เขาเรียกว่า ด่านน้ำเกลี้ยง หลังเขาเป็นที่ราบและเป็นลานหินล้วนๆสะอาดดี ณ ที่นั้นแหละ ข้าพเจ้าภาวนาอธิษฐานในใจว่า ต่อไปในอนาคตนครเวียงจันทน์ประเทศลาว จะมีความสงบสุขหรือจะมีความไม่สงบอย่างไรก็ขอให้เกิดธรรมนิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งด้วย เมื่อภาวนาแล้วก็นอนหลับไป ปรากฏเห็นดวงพระจันทร์ตกลงมาแต่ท้องฟ้า ตกลงมากลางนครเวียงจันทน์ เสียงดังเปรี้ยงเหมือนฟ้าผ่า ในขณะนั้นนึกในใจว่า อะไรหนอเกิดขึ้น ความรู้สึกในใจขณะนั้นว่า ฟ้าผ่าเมืองเวียงจันทน์แล้วเห็นจะย่อยยับไปแล้วกระมัง
ทันใดนั้นปรากฏเห็นรถไฟขบวนหนึ่งวิ่งผ่านหน้าแล้วหยุดต่อหน้า ครั้นแล้วก็มีคนทั้งหญิงทั้งชายลงจากรถกรูกันมาหาข้าพเจ้าเป็นจำนวนมาก และแสดงการอาการเกรงกลัวกันระส่ำระสาย แล้วพากันนั่งลงกราบ ข้าพเจ้าจึงถามว่า พวกญาติโยมเป็นอย่างไรจึงกระสับกระส่ายกันอย่างนี้ เขาก็ตอบว่า ฟ้าผ่าเมืองเวียงจันทน์พังทลายหมดแล้ว พวกกระผมรอดตายมาได้นับว่าเป็นบุญอย่างมาก พวกกระผมจะมาขอพึ่งบารมีของท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าจึงตอบเขาว่า ถ้าเช่นนั้นก็ขอให้ญาติโยมตั้งใจสมาทานเอาซึ่งพระไตรสรณาคมน์ และศีล ๕ ประการเสีย ข้าพเจ้าจึงได้ประกาศพระไตรสรณาคมน์และศีล ๕ ให้แก่คนเหล่านั้น จบแล้วก็ได้ชี้แจงให้เขาฟังว่า พระไตรสรณาคมน์และศีล ๕ ประการนี้เป็นที่พึ่งอันประเสริฐของสัตว์โลกทั้งหลายขอให้ท่านทั้งหลายจงรักษาไว้ให้ดี อย่าประมาท และต่อไปนี้ให้พากันนั่งสมาธิเอาขาขวาทับขาซ้าย เอามือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง หลับตาแล้วตั้งสติสำรวมจิตเข้าไปไว้ภายในแล้วบริกรรม "พุทโธ" ไปเรื่อยๆจนกว่าใจจะสงบ คนเหล่านั้นก็พากันนั่งสมาธิอยู่ได้ครู่หนึ่งจึงออกจากสมาธิแล้วพากันกราบลาขึ้นรถไฟเดินทางต่อไป
พิจารณานิมิต
ครั้นรู้สึกตื่นขึ้นก็พิจารณาดูนิมิตที่ปรากฏเห็นนั้น ได้ความว่า ต่อไปเบื้องหน้านี้ประเทศลาวจะหาความสงบได้ยาก ประชาชนจะระส่ำระสาย มีแต่ความหวาดกลัวภัยต่างๆอยู่เสมอ เมื่อกลับจากภูเขาลงมาพักที่วัดในเมืองเวียงจันทน์อีก ญาติโยมผู้มีความเลื่อมใสศรัทธาได้นิมนต์ให้อยู่จำพรรษาที่นครเวียงจันทน์นั้น ถ้าชอบอยู่ที่ไหนเขาก็จะสร้างถวายให้อยู่ที่นั้น ข้าพเจ้าไม่รับนิมนต์เขา เพราะพิจารณาเห็นแล้วว่าไม่เป็นมงคล จึงได้ข้ามแม่น้ำโขงมาสู่ประเทศไทยที่อำเภอท่าบ่อ
ได้พบพระอาจารย์เทสก์ ที่อำเภอท่าบ่อ
สาเหตุที่จะพบกับท่านอาจารย์เทสก์ เพราะท่านกลับจากจังหวัดพังงามาพักอยู่ที่นั้น ท่านได้เล่าให้ฟังว่า ท่านได้ไปจำพรรษาอยู่ที่พักสงบ ตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา รู้สึกว่าประชาชนสนใจในทางธรรมปฏิบัติมากพอสมควร ถ้าหากมีพระผู้ใหญ่หลายองค์ไปช่วยกันเผยแพร่แนวทางปฏิบัติดังที่พวกเราทำมากันทางภาคอีสานนี้ก็จะเป็นประโยชน์แก่คนเหล่านั้นมาก เมื่อได้ฟังท่านอาจารย์ชี้แจงเหตุผลของการไปอยู่ภาคใต้ให้ฟังเช่นนั้น พิจารณาเห็นว่าจะเป็นประโยชน์จริง จึงตัดสินใจเดินทางลงไปภาคใต้โดยทางรถไฟบ้าง รถยนต์บ้าง และเรือยนต์บ้าง จนถึงภูเก็ต การเดินทางนี้ทั้งพระทั้งเณรรวมแล้ว ๘ รูปด้วยกัน
เจอกับมรสุม
เวลา ๒๒.๐๐ น. ( สี่ทุ่ม) เรือออกจากท่าอำเภอกันตัง วิ่งไปถึงปากอ่าวก็สว่างพอดี พอถึงปากอ่าวแล้วก็เจอกับมรสุมคือ คลื่นลมแรงกระทบกับเรืออย่างแรงจนเรือเอียงไปเอียงมาเหมือนมันจะคว่ำลงไปแต่มันก็ไม่คว่ำ ถึงเวลาฉันภัตตาหาร เขาก็เอาอาหารมาถวาย ในขณะฉันอยู่นั้น เรือถูกคลื่นกระทบเอาโคลงไปมาอย่างแรง ทำเอาถ้วยแกงคว่ำเหลือเพียงครึ่งถ้วย นับว่าขบขันมาก เมื่อฉันแล้วสักประมาณ ๒ ชม. พระเณรพากันเมาคลื่นอาเจียนกันออกหมด เหลือแต่ข้าพเจ้า และอาจารย์คำพองเท่านั้นที่ไม่เมาคลื่นและไม่อาเจียน เรือต้องต่อสู้กับมรสุมทั้งวันจนค่ำจึงค่อยสงบลง
ธรรมะเกิดในขณะเรือฝ่าคลื่น
ในขณะที่เรือวิ่งฝ่าคลื่นลมแรงอยู่นั้น ได้มองเห็นลูกคลื่นวิ่งมากระทบกับหัวเรือเข้าแล้วก็แตกกระจายไป แล้วไม่นานลูกอื่นก็กลิ้งมากระทบหัวเรืออีก แล้วก็แตกกระจายไปอีกอยู่เช่นนี้ตลอดทั้งวัน จึงเกิดความคิดเป็นธรรมขึ้นมา
"เรือที่นายช่างต่อดีแล้วอย่างแข็งแรง เมื่อถูกคลื่นกระทบแล้วไม่เสียหายฉันใด จิตของบุคคลใดเมื่อฝึกฝนให้ดีแล้ว คลื่นของกิเลสกระทบเข้าย่อมไม่หวั่นไหวก็ฉันนั้น"
อธิบายว่า เมื่อบุคคลใดฝึกจิตนี้ให้มั่นอยู่ในศีล อยู่ในสมาธิ อยู่ในปัญญาเต็มที่แล้ว ย่อมไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรมแปดประการฉันนั้น คือ เมื่อมีลาภ มียศ มีสรรเสริญ และมีความสุขกายสบายใจ ก็ไม่เพลิดเพลินมัวเมาในลาภ เป็นต้น และเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา ถูกทุกข์ครอบงำกาย และจิตก็ไม่หวั่นไหว คือไม่เศร้าโศกเสียใจ ทั้งนี้เพราะมีปัญญาเห็นแจ้งตามเป็นจริงว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอนอะไรเลย มีเกิดขึ้นแล้ว แปรปรวนแตกดับไปเป็นธรรมดา เหมือนกับเรือที่นายช่างต่อดีแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหวต่อคลื่นฉันนั้น
พรรษาที่ ๑๙–๒๐ จำพรรษาสำนักสงฆ์อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา
เมื่อขึ้นจากเรือไปถึงที่พักแล้ว ก็ได้พบกับท่านมหาปิ่น ชลิโต (พระครูวิโรจน์ธรรมาจารย์) ซึ่งท่านคอยต้อนรับอยู่แล้ว คือท่านเป็นผู้เดินธุดงค์ไปก่อนคณะของอาจารย์เทสก์ เทสรังสี แต่ในปีเดียวกันนั้นเอง ท่านองค์นี้กำเนิดอยู่ที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม พอไปถึงที่พักท่านก็นิมนต์ให้แสดงธรรมให้ญาติโยมซึ่งคอยต้อนรับอยู่ฟังทันที และก็ได้ยกเอาเรื่องคลื่นกระทบกันแสดงให้ญาติโยมฟังดังกล่าวแล้วนั้น ต่อจากนั้นก็ได้เดินทางไปสมทบกับท่านอาจารย์เทสก์ยังที่พักสงฆ์ ตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นสถานที่ท่านจำพรรษาปีแรก พรรษาที่สองท่านอาจารย์เทสก์ไปจำพรรษาที่พักสงฆ์หลังศาลาจังหวัดภูเก็ต ซึ่งปัจจุบันนี้ได้ขออนุญาตสร้างเป็นวัดเรียบร้อยแล้ว โดยตั้งชื่อว่า วัดเจริญสมณกิจ และท่านมหาปิ่นก็ไปจำพรรษาร่วมกับท่านอาจารย์ด้วย ส่วนข้าพเจ้านั้น ท่านอาจารย์ให้ไปจำพรรษาที่พักสงฆ์ อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นสถานที่ท่านมหาปิ่น จำพรรษามาก่อนแล้ว ข้าพเจ้าจำพรรษาอยู่ที่นั้น ๒ พรรษา เมื่อออกพรรษาแล้วก็ได้ไปเจริญสมณธรรม ตามถ้ำตามภูเขาในเขตอำเภอเมืองพังงา เพราะว่าตัวเมืองพังงานั้นมีภูเขาล้อมรอบจึงมีถ้ำอยู่หลายแห่ง ญาติโยมก็ไปฟังเทศน์และฝึกหัดนั่งสมาธิภาวนากันมากพอสมควร
เกี่ยวกับพระเจ้าหลักเมือง
เมื่อใกล้จะเข้าพรรษา ญาติโยมผู้มีความเลื่อมใสได้นิมนต์ให้จำพรรษาอยู่ในเมืองพังงา ในขณะที่ข้าพเจ้ากำลังพักบำเพ็ญอยู่ที่ถ้ำหลักเมืองนั้น ที่หน้าถ้ำหลักเมืองมีศาลเจ้าอยู่ ชาวเมืองเขาเรียกว่า เจ้าพ่อหลักเมือง ทั้งชาวไทยและชาวจีนนับถือมากพากันไปไหว้บ่อยๆ ยิ่งกว่านั้นยังได้พาคนทรงไปทำพิธีเข้าทรงกันแล้วก็ขอบัตรขอเบอร์กัน ตลอดถึงฆ่าสัตว์ไปสังเวยเป็นประจำทุกปี เมื่อข้าพเจ้าเดินไปดูถ้ำนั้นวันแรก ก่อนจะเข้าถึงถ้ำ ต้องไปถึงศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเสียก่อน เข้าไปในศาลนั้นเห็นมีหินสองก้อนฝังดินอยู่ แต่พ้นดินอยู่ส่วนหนึ่ง ข้าพเจ้าสวมรองเท้าขึ้นไปเหยียบหิน ๒ ก้อนนั้นแล้วกล่าวว่า ได้ยินว่าเจ้าพ่อหลักเมืองมาอาศัยอยู่ที่นี่หรือ ท่านมาอยู่ที่นี่จริง ขอให้เจ้าพ่อคอยฟังธรรมะนะ อาตมาจะแสดงธรรมให้ญาติโยมฟังอยู่หน้าถ้ำนี่แหละ ครั้นแล้วก็เดินเข้าไปสำรวจดูในถ้ำ เห็นว่าพออยู่ได้ จึงให้ญาติโยมยกร้านคร่อมธารน้ำไหลในถ้ำนั้น เพราะในถ้ำนั้นมีธารน้ำไหลจากฟากเขาทางโน้นมาทะลุออกทางหน้าถ้ำทางนี้ แล้วไหลลงสู่คลองลงทะเลไป ข้าพเจ้าได้อาศัยบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในถ้ำนั้นอยู่ ๒ เดือน ญาติโยมได้ยกศาลาน้อยหลังหนึ่งชั่วคราว พอได้นั่งฉันภัตตาหารและแสดงธรรม สำหรับญาติโยมนั้นเอาเสื่อปูลงบนพื้นดินแล้วนั่งกัน ต่อจากนั้นญาติโยมก็ติดต่อซื้อเอาสวนของคนหนึ่งซึ่งอยู่หลังโรงเรียนช่างไม้จัดทำเสนาสนะให้อยู่จำพรรษา มีพระจำพรรษาด้วยกัน ๕ รูป ในระหว่างพรรษามีญาติโยมไปฟังธรรมและนั่งสมาธิทุกคืนอย่างมากไม่เกิน ๓๐ คน
ในวันอุโบสถวันหนึ่ง มีโยมผู้ชายคนหนึ่งซึ่งมาจำศีลอุโบสถอยู่ในวัด ได้ไปดูเขาทำพิธีเข้าทรงขอหวยกัน ทันทีที่เจ้าพ่อเข้าทรงคนแล้ว เขาก็ขอเบอร์กัน ทีนี้เจ้าพ่อในร่างคนทรงก็บอกว่า ต่อไปนี้ท่านทั้งหลายอย่ามาขอเบอร์จากเจ้าพ่ออีก เจ้าพ่อไม่ให้แล้วเพราะมันเป็นบาป และการฆ่าสัตว์มาสังเวยก็เป็นบาปเช่นเดียวกัน
มีคนถามว่า แต่ก่อนเจ้าพ่อยังบอกลูกหลานอยู่ มาบัดนี้ทำไมจึงว่ามันเป็นบาป
เจ้าพ่อตอบว่า แต่ก่อนเจ้าพ่อไม่รู้ว่ามันเป็นบาปอะไรเพราะไม่ได้ฟังธรรม เมื่อเจ้าพ่อได้ฟังธรรมจากพระกรรมฐานรูปหนึ่งที่มาแสดงอยู่หน้าถ้ำนี้ จึงได้รู้ว่ามันเป็นบาป และถ้าลูกหลานจะบวงสรวงเจ้าพ่อ ก็ให้เอาขนมบ้างผลไม้บ้างมาบวงสรวงเจ้าพ่อก็พอแล้ว ทุกวันนี้เจ้าพ่อจำศีลภาวนาอยู่เสมอ ตั้งแต่นั้นมาคนทั้งหลายก็ไม่ฆ่าสัตว์ไปบวงสรวง และไม่นำคนไปเข้าทรงขอเบอร์อีกต่อไป นับว่าได้ผลมากพอสมควรในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในครั้งนั้น
พรรษาที่ ๒๑–๒๖ จำพรรษาวัดประชาสันติ
ข้าพเจ้าบำเพ็ญศาสนกิจอยู่ในสำนักสงฆ์แห่งนั้นโดยลำดับมาจนขออนุญาตสร้างวัดได้สำเร็จ และตั้งชื่อว่า วัดประชาสันติ และอยู่วัดนั้นได้ ๖ ปี อยู่วัดสันติวราราม ๒ ปี รวมเป็น ๘ ปี ข้าพเจ้าได้จากวัดประชาสันติ จังหวัดพังงา ไปอยู่วัดอรัญญบรรพต ปัจจุบันนี้ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๒
มูลเหตุของการมาอยู่วัดอรัญญบรรพต
หลวงพ่อผา ปภากโร ซึ่งเป็นบิดาของข้าพเจ้า ได้ไปบวชอยู่กับข้าพเจ้า ในขณะนั้นท่านอายุได้ ๘๖ ปี พรรษาได้ ๑๗ พรรษา ตาของท่านมัวมากแทบจะมองอะไรไม่เห็น ท่านปรารภกับข้าพเจ้าว่า อยากจะให้พาไปเยี่ยมบ้าน ข้าพเจ้าหน่วงเหนี่ยวไว้ไม่อยากพาท่านไปบ้าน เพราะหนีจากบ้านมาแล้วจะห่วงบ้านทำไม เป็นนักบวชไม่ควรห่วงบ้าน ไม่ดี ท่านก็อ้อนวอนอยู่บ่อยๆอดสงสารท่านไม่ได้ก็เลยพาท่านกลับไปเยี่ยมบ้านและพาท่านมาพักอยู่วัดอรัญญบรรพตปัจจุบันนี้เอง ได้พาท่านมาลอกตาที่จังหวัดอุดรธานี พอมองเห็นอะไรได้บ้าง และได้อุปการะท่านมาโดยลำดับ จนถึง พ.ศ. ๒๕๑๙ ท่านจึงมรณภาพจากไปเมื่ออายุได้ ๙๓ ปี พรรษาได้ ๒๓ พรรษา
นี้เป็นมูลเหตุหนึ่งที่ทำให้ได้มาอยู่วัดอรัญญบรรพต
แต่ก่อนที่จะมาอยู่วัดอรัญญบรรพตนี้ ได้พาท่านจากเมืองเหนือไปอยู่ทางปักษ์ใต้ คือจังหวัดพังงา ที่วัดประชาสันติ อำเภอเมืองพังงาอยู่ที่นั้นได้ ๘ ปี จึงได้พาท่านมาอยู่วัดอรัญญบรรพต จนอวสานแห่งชีวิตของท่าน
ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติต่อบิดาตามมงคลสูตร หมวด ๓ ที่ว่า "มาตาปิตุอุปัฏฐานัง" ท่านกล่าวว่าเป็นมงคลอันสูง ส่วนมารดานั้นไม่ได้อุปัฏฐาก เพราะท่านได้ล่วงลับไปตั้งแต่ข้าพเจ้ามีอายุได้ ๑๐ ปีเท่านั้น จึงน่าเสียดายมาก
อีกมูลเหตุหนึ่ง ก็เพราะวัดนี้เป็นสถานสงบห่างไกลจากหมู่บ้านประมาณ ๒ กิโลเมตร เหมาะสำหรับบำเพ็ญสมถวิปัสสนา ทั้งอากาศก็ดี ทั้งมีโบราณสถานก็คือ เจดีย์เล็กองค์หนึ่งเป็นเครื่องหมายว่า สถานที่นี้เป็นสถานที่มีผู้มาบำเพ็ญเพียรทางจิตใจมาแล้วแต่อดีต หากไม่ทราบว่าแต่เมื่อไร เพราะไม่พบคำจารึกเป็นตัวหนังสือไว้เลย มีแต่เจดีย์เล็กๆองค์หนึ่งซึ่งชำรุดมากแล้วเป็นเครื่องหมายพอให้รู้เท่านั้น และบริเวณเจดีย์นั้นเวลานี้ได้รื้อออกแล้ว ได้สร้างศาลาการเปรียญแทนไว้ นับว่าเหมาะสำหรับผู้ที่แสวงหาความสงบทางจิตจะพึงไปพักผ่อนได้ตามประสงค์ เพราะเวลานี้ทางวัดได้จัดสร้างศาลาการเปรียญขึ้นหลังหนึ่ง ซึ่งกว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๔๘ เมตร เพื่อต้อนรับพุทธศาสนิกชนผู้ใฝ่สันติดังกล่าวนั้น โดยสร้างที่บนหลังเขา ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของอุโบสถนั้นมีห้องน้ำตลอดจนน้ำไฟพร้อมบริบูรณ์ทุกอย่างไม่ขัดข้องแต่ประการใด
เวลานี้อายุของข้าพเจ้าได้ ๗๘ ปี (๒๕๓๓) พรรษาได้ ๕๘ พรรษา ดังนั้นจึงขอจบอัตตโนประวัติไว้แต่เพียงเท่านี้
พระอาจารย์เหรียญ วรลาโภ
(พระครูญาณปรีชา)
วัดอรัญญบรรพต ตำบลบ้านหม้อ
อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
ที่มา -- จากคุณ : พีทีคุง