การเจริญสติเป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิตของปุถุชนเป็นอย่างยิ่ง เพราะปุถุชนคนเราต้องอยู่กับสื่อรับรู้ที่มีสิ่งเล้าใจที่มาใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่ชวนให้รัก,ชักให้ใคร่,พาใจให้ไหลหลง, ตลอดเวลา อันเป็นเหตุให้จิตเกิดความรู้สึกยินดียินร้าย,ความพอใจหรือความไม่พอใจ, โดยไม่รู้ตัวความยินดียินร้ายนี้ก็คือกิเลสตัณหาคือความอยาก คืออัตตาและอคติคือความลำเอียง และยังเป็นเหตุให้เกิด โลภะจิต โทสะจิต โมหะจิต ครอบงำจิตให้เกิดการขุ่นมัวเศร้าหมองคิดจับผิดผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นเหตุให้คนเรามีการกระทำ การพูด การคิด อะไรๆโดยอารมณ์บาปและอกุศลเป็นส่วนมาก จึงเป็นเหตุให้ประพฤติแต่ทุจริตธรรม ๓ ประการ จนบางครั้งก็เกิดความบาดหมางใจในหมู่เพื่อนในวงศาคณาญาติ เพราะเหตุแห่งอารมณ์คือความรู้สึกยินดียินร้าย ที่เป็นบาปอกุศล และยังเป็นเหตุให้เกิดความมีอัตตาอคติต่อกันอีกด้วย จนเป็นเหตุให้มองคนในแง่ร้าย เกิดความทุกข์ใจตามมา เป็นเหตุให้ขาดคุณธรรมและจริยธรรมอันดีงามได้น่าติเตียน
ฉะนั้นการเจริญสติจะช่วยให้เรามีจิตใจอ่อนโยน เป็นกุศลจิต กุศลธรรมมีเมตตากรุณาต่อกัน ไม่เกิดอัตตาอคติกับใครไม่คิดว่าร้ายและเบียดเบียนใคร และมีความพร้อมที่จะร่วมกิจการงานใดๆกับใครๆก็ได้ด้วยเมตตาธรรม จึงควรมีการท่องธัมมะภาวนาไว้เพื่อเป็นการเจริญสติ ให้จิตเกิดมีความระลึกรู้อยู่ในกุศลธรรมในกุศลจิต ยิ่งมีการท่องธัมมะภาวนาไว้ได้มากในชีวิตประจำวัน ยิ่งจะทำให้เกิดสติ ยิ่งมีสติรู้สกัดกั้นบาปอกุศลไม่ให้เกิดขึ้นในจิตของตน รู้ละความยินดียินร้ายได้มากเป็นผู้รู้ปล่อยวาง จัดเป็นผู้มีอธิศีล คือมีสติในการกระทำ การพูด การคิด อยู่ในกรอบของสุจริตธรรม มีอธิจิต คือมีความสงบนิ่งจนจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ และอธิปัญญา คือมีปัญญารู้เห็นคิดเห็นในสภาวธรรมต่างๆได้ ก็ยิ่งจะทำให้เรามีการกระทำ การพูด การคิด อยู่ในหลักแห่งศีล ๕ หรือสุจริตธรรม ๓ ประการ จัดได้ว่าเป็นผู้มีคุณธรรมและจริยธรรมอันงดงามควรแก่การยกย่องในสังคมนี้ ดังนี้.
คาถาไว้ท่องธัมมะภาวนาคือ ”อย่ายินดียินร้าย.อย่าว่าร้ายใคร.อย่าคิดร้ายใคร” นี่คือธัมมานุสสติ
ธรรมะโอวาท--หลวงพ่ออุดม มหาปุญโญ วัดป่าหนองเลง
credit -- หลวงพ่ออุดม มหาปุญโญ/fb/com