2.12.10

ทุกข์เพราะไปผูกพันกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลง...


“พระพุทธเจ้าทรงงดงาม ทรงประกาศชัดเจนว่าผู้หญิงมีความสามารถในการบรรลุธรรมได้เช่นกัน สามารถบรรลุโสดาบันขั้นพระอรหันต์ได้เช่นเดียวกับผู้ชาย

สังคมอินเดียมีการแบ่งวรรณะ พระพุทธเจ้าทรงล้มระบบวรรณะ โดยกล่าวว่า จัณฑาลไม่ได้เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นจัณฑาล แต่เกิดจากการกระทำ

การพูดเช่นนี้เป็นการท้าทายต่อคุณค่าทางสังคมของอินเดียสมัยนั้น

นอกเหนือจากการท้าทายระบบวรรณะแล้ว พระพุทธเจ้ายังท้าทายเรื่องศักยภาพของความเป็นมนุษย์ เปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามาปฏิบัติธรรมอย่างเป็นระบบ

ศาสนาพุทธงดงามมาก เปิดประตูให้ผู้หญิงได้รับอิสรภาพโดยสิ้นเชิง การหลุดพ้นของผู้หญิงไม่ได้ขึ้นกับสามี ไม่ได้ขึ้นกับลูกอีกต่อไป ผู้หญิงที่ไม่ได้แต่งงานก็สามารถบรรลุธรรมได้”

หลวงแม่เล่าว่า “ผู้หญิงอินเดียสมัยดั้งเดิมจะมีคุณค่าต่อเมื่อแต่งงานแล้ว และต้องมีลูกชายด้วย เพราะความเชื่อว่าหลังจากพ่อแม่ตาย ลูกชายจะป็นคนไหว้พระส่งวิญญาณพ่อแม่ไปสู่สรวงสวรรค์ ผู้หญิงที่แต่งงานจึงมีหน้าที่มีลูกผู้ชาย หากไม่มีไม่ว่าสาเหตุใด ผู้หญิงก็เป็นฝ่ายถูกตำหนิติเตียน ผู้หญิงอินเดียสมัยก่อนต้องแบกภาระทั้งลูกและสามี”

เฉกเช่นเดียวกัน สังคมไทยรับประเพณีค่านิยมเหล่านี้มาด้วย กระทั่งปัจจุบัน

“ผู้หญิงชอบสวยชอบงาม เนื่องจากติดค่านิยมดั้งเดิม-ลูกผู้หญิงโตขึ้นมาต้องแต่งงาน การปลูกฝังอบรมเลี้ยงดูทั้งหลายล้วนเป็นไปเพื่อให้ลูกผู้หญิงเป็น ‘กุลสตรี’ ทำการบ้านการเรือน เย็บปักถักร้อย และต้องมีความงามเพียบพร้อม เพื่อพร้อมออกเรือน”

‘ความงาม’ ที่หลวงแม่หมายถึง คือ งามทางกาย

“ทีนี้ผู้หญิงไม่ได้เกิดมามีความงามเพียบพร้อม แทนที่ผู้หญิงจะให้ความสำคัญกับงามทางจิตใจ กลับไปให้ความสำคัญแต่ความสวยทางกาย ค่านิยมปัจจุบันต้องจมูกโด่ง ต้องตาสองชั้น ต้องอย่างนั้นอย่างนี้ เราเอาค่านิยมตะวันตกเข้ามา นำพลาสติกมาทำให้สวยขึ้น

คำว่า ‘สวยขึ้น’ กลายเป็นคุณค่าที่ตั้งกันขึ้นมา

จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลพบว่า กลุ่มผู้หญิงที่นิยมทำศัลยกรรมกันมากที่สุด คือ พยาบาล ถ้าเป็นอาชีพดาราที่ต้องขายรูปร่างหน้า ยังเข้าใจได้ แต่นี่กลับเป็นอาชีพพยาบาล ส่วนหนึ่งเพราะพยาบาลใกล้ชิดหมอ รู้ว่าอาจารย์หมอคนไหนเก่ง และสามารถจ่ายค่าทำศัลยกรรมตกแต่งได้ในราคาถูก แต่ที่สำคัญ คือ เรื่องค่านิยม

หลวงแม่มองว่า เนื่องจากผู้หญิงถูกปลูกฝังมาทางด้านเดียวให้เป็นแม่ศรีเรือน ไม่ต้องมีความคิดเห็น มีแต่ความจงรักภักดี ทำทุกอย่างเพื่อเป้าหมายมีสามี ค่านิยมเบี่ยงเบนเช่นนี้เองทำให้ผู้หญิงหันไปสนใจความงามภายนอกกันมาก

ซึ่งนี่แหละเป็นรากความทุกข์ของผู้หญิง”

หลวงแม่อธิบายชี้ให้เห็นว่า

“ร่างกายประกอบขึ้นด้วยธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ธาตุเหล่านี้อาศัยกันและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เมื่อเราไปให้ความสำคัญกับร่างกายที่ประกอบด้วยธาตุ เราพยายามรักษามันให้สวยงาม ขณะที่ธรรมชาติของธาตุทั้งสี่นั้น คือ การเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

เมื่อให้ความสำคัญผิดจุดด้วยความไม่เข้าใจสภาพแห่งความเป็นจริง ย่อมเป็นทุกข์ เพราะทุกข์แปลว่าตั้งอยู่ไม่ได้ แต่ไปยึดมั่นให้มันตั้งอยู่ให้ได้ ทุกข์จึงเกิด

ผู้หญิงหลายคนกังวลเรื่องหน้าตา ทรงผม เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า ความกังวลของผุ้หญิงผูกพันกับสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น

เมื่อผู้หญิงเราเอาความกังวลความใส่ใจไปผูกพันกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ก็ย่อมทุกข์ตลอดเวลา

เมื่อสังคมไปจัดสรรว่าผู้หญิงจะมีคุณค่าต่อเมื่อผู้หญิงได้ออกเรือน มีสามี มีครอบครัว ผู้หญิงก็ต้องให้ความสำคัญกับการแต่งงาน

ผู้หญิงบางคนมีศักยภาพสูงมาก แต่เพียงเพราะแต่งงานไปแล้วสามีนอกใจ พลังงานทั้งหลายของผู้หญิงคนนี้ไปเวียนวนกับการจัดการกับผู้หญิงที่เข้ามา เป็นบุคคลที่ 3

แทนที่จะได้พัฒนาศักยภาพที่ตัวเองมีอยู่ให้ประสบความสำเร็จในชีวิตหน้าที่การงาน ต้องไปเสียพลังในเรื่องผู้หญิงของสามี

ตราบใดผู้หญิงตั้งหลักตัวเองไม่ได้ เอาความสำคัญของชีวิตไปทุ่มให้กับสามีและลูกหมด โดยไม่เข้าใจว่าตัวเราก็เป็นมนุษย์อีกคนหนึ่ง นั่นก็เป็นการตั้งฐานความเป็นจริงผิดพลาด”

หลวงแม่ยกตัวอย่างชัดๆ อีกกรณี

“สามีเติบโตในหน้าที่การงาน เขาย่อมใช้เวลากับการสรรค์สร้างหน้าที่การงาน และหวังว่าภรรยาจะเข้ามาแบ่งปันความรับผิดชอบของครอบครัว

ลูกที่แม่อยู่ดูแลตั้งแต่เล็กพอโตขึ้น ลูกก็มีความสนใจที่จะไปกับเพื่อน

ช่วงนี้เองผู้หญิงจะอยู่ในวัย 40 กว่าขึ้น 50 อาจเกิดภาวะ Middle Life Crisis ช่วงวัยกลางชีวิตที่เลยมาแล้วทันทีทันใดดูเหมือนว่าไม่มีความหมายอีกต่อไป

ตรงนี้เองที่ผู้หญิงเราต้องมาเผชิญหน้ากับความเป็นจริง เข้าใจว่าชีวิตของเรามีความหมายโดยตัวเราเอง ไม่ต้องพึ่งพาสามีและลูก”

หลวงแม่ย้ำว่าความหมายของความเป็น ‘ผู้หญิง’ ไม่ได้อยู่ที่การเป็น ‘แม่’ เท่านั้น

“ถ้าพูดว่าผู้หญิงจะมีความหมายในชีวิตได้ต่อเมื่อเธอเป็นแม่แล้วไซร้ ผู้หญิงจำนวนมากที่ไม่ได้แต่งงานก็กลายเป็นกลุ่มผู้หญิงที่ไม่มีความหมายกับ ชีวิตใช่มั้ย

ผู้หญิงเราเองต้องตระหนักคุณค่าของความเป็นมนุษย์ หลวงแม่คิดว่าคุณค่าในความเป็นมนุษย์ของหญิงชายเท่ากัน

การที่ผู้หญิงเราไม่ยอมออกจากกรอบความคิดของตัวเอง เพราะไม่มีความคิดเป็นระบบ ทำความเข้าใจว่าประเพณีคืออะไร หน้าที่บทบาทของเราเปลี่ยนไปแล้วมันต้องกระทบกับการเปลี่ยนแปลงของประเพณี อย่างไร ส่วนหนึ่งไม่ใช่เฉพาะนิสัยของผู้หญิง แต่เป็นของคนไทย

คนไทยเป็นชาติที่ไม่คิดมาก ไม่มีจิตวิพากษ์ ไม่ค่อยรู้จักการใช้เหตุผล บางทีเอาเหตุของอันนั้นมาประกบกับผลของอันนี้ บ่อยครั้งสังคมไทยทำอะไรผิดฝาผิดตัว

และปัญหาของผู้หญิงที่ติดอยู่กับรูปกับเงาก็จะเป็นปัญหาต่อไป เป็นทุกข์ต่อไป ตราบเท่าที่ผู้หญิงยังไม่ตระหนักว่าชีวิตตัวเองมีคุณค่า มีความหมาย และมีความสำคัญอย่างไร”

พูดง่ายๆ ผู้หญิงยึดมั่นในรูปโฉมมากเพียงใด ความทุกข์จะทวีคูณเป็นเงาตามตัว

No comments:

Post a Comment

การให้อภัย