คำว่าพ้นโลกนี้ คือหมายถึงว่า พ้นไปจากโลกอันนี้ โลกนี้มีอยู่ ๓ โลก
ที่ธรรมะเรียกว่าโลก คือ กามโลก ๑ รูปโลก ๑ อรูปโลก ๑ มีเท่านี้เรียกว่าโลก
ทีนี้คณะคนพ้นโลก คือพ้นจากโลกทั้ง ๓ นี้ คือ พ้นจากกามโลก รูปโลก อรูปโลก
และทางที่จะพ้นจากกามโลก รูปโลก อรูปโลก นั้นเป็นอย่างไร
ท่านก็แสดงในมัชฌิมาปฏิปทาทางสายกลาง
ย่อลงมาก็คือ ทาน ศีล ภาวนา นี้เอง ทาน ศีล ภาวนานี้
เป็นทางพ้นโลกทั้ง ๓ เหตุไฉนจึงเป็นทางพ้นโลกทั้งสาม
เราจะบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนาประเภทใดนี้
พระพุทธเจ้าได้ตรัสแก่พระอานนท์ ในศิริมานันทสูตรโดยย่อ ๆ ว่า
ดูก่อนอานนท์ ท่านที่จะพ้นโลกทั้ง ๓ คือ กามโลก รูปโลก อรูปโลก นี้
เมื่อบุคคลผู้มีศรัทธา ความเชื่อก็เลื่อมใส บำเพ็ญในทาน ศีล ภาวนา
ไม่ต้องพูดถึง ศีล สมาธิ ปัญญา
อันบุคคลผู้ที่บำเพ็ญ ทาน ศีล ภาวนาเป็นผู้แสวงบุญนั้น
เพื่อลาภสักการะ หรือเพื่อยศ เพื่อความสรรเสริญ
เพื่อความสุขในกามโลก รูปโลก อรูปโลกนี้ ยังไม่ได้จัดเข้าเป็นข้อปฏิบัติ
ที่ให้ถึงธรรมปฏิบัติโดยแท้ ยังไม่อาจพ้นไปจากโลกได้
เพราะธรรมเหล่านี้มีอยู่ในโลก ความมีลาภก็มีอยู่ในโลก ความมียศก็มีอยู่ในโลก
ความเสื่อมลาภก็มีอยู่ในโลก ความเสื่อมยศก็มีอยู่ในโลก
ความเสื่อมสรรเสริญก็มีอยู่ในโลก ความนินทาก็มีอยู่ในโลก
ความสุขก็มีอยู่ในโลก ความทุกข์ก็มีอยู่ในโลก
ทีนี้ผู้บำเพ็ญทาน ศีล ภาวนานี้ หวังลาภสักการะหรือหวังลาภหวังยศ
หวังความสรรเสริญ หวังความสุขนั้น ยังไม่จัดเป็นข้อปฏิบัติ
ให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ ยังไม่พ้นโลก
ผู้บำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา เมื่อเป็นผู้ทีมุ่งหวังที่จะทำลายกิเลสตัณหา
อันเป็นตัวเหตุตัวปัจจัยให้เกิดทุกข์อยู่ร่ำไป
ให้เกิดอยู่ในกามโลก รูปโลก อรูปโลก
นี้จึงเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์
ถ้าผู้บำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา คือผู้แสวงบุญ
มุ่งหวังที่จะต้องทำลายแต่กิเลส ตัณหา อันเป็นตัวเหตุตัวปัจจัย
เป็นตัวกรรมวัตร กิเลสวัตร คือเป็นตัวสมุทัย เป็นตัวให้เกิดทุกข์
นี้จึงจะพ้นไปเสียจากโลกทั้ง ๓ ได้
การที่จะพ้นไปเสียจากโลก ทั้ง ๓ คือ ทาน ศีล ภาวนานี้เท่านั้น
ฉะนั้น การบำเพ็ญท่าน ศีล ภาวนา ถ้าไม่มุ่งหวังที่จะทำลายกิเลสตัณหาแล้ว
มันก็ไม่พ้นไปเสียจากโลกได้ เมื่อไม่พ้นไปเสียจากโลกได้
ส่วนบุญที่เกิดจากการบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา นั้นมีอยู่หรือไม่
มีอยู่ ได้รับผลอยู่ ไม่ปฏิเสธว่าไม่ได้รับ ได้รับผลอยู่
แต่ได้ผลเพียงมนุษย์สุข สวรรค์สุขเท่านั้น ไม่พ้นไปจากทุกข์
เพราะเหตุไม่ได้เจตนาที่จะทำลายกิเลสตัณหานั้นให้สิ้นไปหมดไป จึงไม่พ้นทุกข์
สุขที่ได้รับจากการบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนามีอยู่
มีมนุษย์สุข สวรรค์สุขเท่านั้น แต่ไม่พ้นไปจากทุกข์
ส่วนการบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา
เพื่อมุ่งหวังที่จะทำลายกิเลสตัณหาอย่างเดียวให้หมดไป ให้สิ้นไป
ให้ดับไป ไม่มุ่งหวังอะไร สุขก็ได้ ทุกข์ก็พ้น
นี่แหละ พวกเราคณะพ้นโลก ให้สมชื่อ อย่าประกาศแต่ชื่อ ว่าคณะคนพ้นโลก
มันเสียชื่อเสียงของพวกเรา เมื่อเสียชื่อเสียเสียงของพวกเรา
เราไม่ปฏิบัติให้ตรงกับว่า ทำอะไรจึงจะเป็นเครื่องพ้นโลก
มันก็เสียชื่อพระพุทธศาสนาไปอีก ทั้งตลอดวงในการพระศาสนาของเรา
ฉะนั้นที่คณะพวกเราเที่ยวแสวงหาบุญกุศลเพื่อบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา
ในที่ต่าง ๆ นั้น ให้พากันมุ่งหน้ามุ่งตาที่จะทำลายกิเลสตัณหา
ให้ออกไปจากจิตใจของเราเท่านั้น ให้หมดไปสิ้นไป
จึงจะพ้นไปเสียจากโลก เพราะธรรมที่จะพ้นไปเสียจากโลก
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเบื้องต้นประวัติของท่าน พวกเราก็เข้าใจกันดี
ท่านแสดงในอริยมรรคปฏิปทา ประกอบไปด้วยองค์ ๘ ประการนี่เอง
ดังจะนำมาแสดงโดยย่อ ๆ เพียงข้อต้น คือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
สัมมาสังกับโป ความดำริชอบ เพียงแค่นี้
ความเห็นชอบ เห็นสิ่งที่เป็นเหตุให้พ้นไปเสียจากโลกนี้
ท่านเห็นอย่างไร ดำริชอบ ดำริจิต เป็นเหตุให้พ้นไปเสียจากโลก ดำริอย่างไร
ความเห็นชอบนั้น คือเห็นว่า นี้ทุกข์ นี้เป็นเหตุเกิดทุกข์
นี่ธรรมเป็นที่ดับทุกข์ นี่เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมเป็นที่ดับทุกข์
นี้ทุกข์ คือเห็นว่า ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นทุกข์
เห็นเหตุให้เกิดทุกข์ คือเห็นตัณหา ความอยาก อันทุกข์ทั้งหลาย
ทุกข์ในกามโลก รูปโลก อรูปโลก ที่จะปรากฏขึ้น
ก็เพราะเหตุแห่งตัณหา คือความอยาก ฉะนั้นธรรมเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
ท่านจึงเจาะจงบ่งชื่อตัณหาว่า ยายงฺตณฺหา
ตัณหาคือความอยากนี้ เป็นเหตุให้เกิดกามภพ รูปภพ อรูปภพ ไม่มี มีแต่ตัณหาเท่านี้
ความยินดี ความกำหนัด ความเพลิดเพลินลุ่มหลง
ฮึกเหิมตามความกำหนัด ความยินดี คือความใคร่ ความรัก
ความปรารถนาในกามารมณ์ ความทะเยอทะยานอยากเป็นโน่นเป็นนี่ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ความไม่อยากมี ไม่อยากเป็นในสิ่งที่ตนไม่ชอบ ไม่พอใจ
ตัณหาคือความอยากเหล่านี้ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่พ้นไปจากโลกได้
หรือไม่พ้นไปจากกามโลก รูปโลก อรูปโลกได้
เพราะเหตุแห่งตัณหา มีปัญญา สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ รู้ชอบ ในธรรมเป็นที่ดับทุกข์
ความทุกข์ทั้งหลายมี่จะดับไป ความเห็นว่าต้องทำตัณหานี่แหละให้สิ้นไป
ดังที่ท่านตรัสว่า ธรรมอันทีดับทุกข์นั้น คือทำตัณหาความอยากนี่แหละให้สิ้นไป
ดับตัณหาความอยากนี่แหละ โดยไม่เหลือนั้น ๆ เสียให้สิ้นไปจากใจของตน
พึงละ พึงสาง พึงสร้าง พึงปลดปล่อย ตัดขาดจากตัณหา
คือความอยากนี้นี่แหละให้สิ้นไป ทุกข์จึงจะดับ เพราะเหตุแห่งตัณหา เป็นเหตุให้เกิดทุกข์
ถ้าผู้ต้องการจะพ้นไปจากทุกข์ พ้นไปจากโลก กามทุกข์ รูปทุกข์ อรูปทุกข์
ก็ต้องดับเสียซึ่งตัณหาให้หมดให้สิ้นไป เราจึงจะพ้นไปจากโลกได้
นี้ปัญญาสัมมาทิฏฐิ ปัญญาสังกับโป ท่านรู้ธรรมอันที่ดับทุกข์ ด้วยประการอย่างนี้
ปัญญาสัมมาทิฏฐิ ความรู้ชอบ เห็นชอบในข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์
ย่นลงก็คือ ทาน ศีล ภาวนา หรือ ศีล สมาธิ ปัญญานี้
การบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ถ้าไม่มุ่งหวังที่จะทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไป
ให้สิ้นไปแล้ว ก็ไม่มีทางพ้นไปจากทุกข์ พ้นไปจากโลกนี้ได้
ถ้าเราบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา มุ่งหวังที่จะทำลายกิเลสตัณหาอย่างเดียวให้หมดให้สิ้นไป
คือที่ว่าพ้นไปจากโลก เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันที่ดับทุกข์โดยแท้
ไม่ต้องมีความสงสัยเลยดังนี้
ธรรมะหลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ
ที่มา...ประตูสู่ธรรม