ที่เรียกกันว่า สัตว์ ๆ ดังนี้ เพราะอะไร ?
(สรรพสัตว์ ที่ว่าหมายถึงอย่างไร ?)
*************************
[๓๖๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่
ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
ใกล้พระนครสาวัตถี.
ครั้งนั้นแล ท่านพระราธะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า สัตว์ สัตว์ ดังนี้
ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไรหนอแล จึงเรียกว่า สัตว์?"
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ดูกรราธะ
เพราะเหตุที่มี ความพอใจ ความกำหนัดความเพลิดเพลิน ความทะยานอยากในรูปแล เป็นผู้ข้องในรูป
เป็นผู้เกี่ยวข้องในรูปนั้น
ฉะนั้นจึงเรียกว่า สัตว์.
เพราะเหตุที่มีความพอใจ ความกำหนัด
ความเพลิดเพลิน
ความทะยานอยากในเวทนา ... ฯลฯ
ในสัญญา ... ฯลฯ
ในสังขาร ... ฯลฯ
ในวิญญาณ
เป็นผู้ข้องในวิญญาณ เป็นผู้เกี่ยวข้อง
ในวิญญาณนั้น ฉะนั้น จึงเรียกว่า สัตว์.
ดูกรราธะ
เด็กชายหรือเด็กหญิงเล่นอยู่ตามเรือนฝุ่นทั้งหลาย
เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด
ไม่ปราศจากความพอใจ
ไม่ปราศจากความรัก
ไม่ปราศจากความกระหาย
ไม่ปราศจากความกระวนกระวาย
ไม่ปราศจากความทะยานอยากในเรือนฝุ่นเหล่านั้นอยู่เพียงใด
ย่อมอาลัย ย่อมอยากเล่น ย่อมหวงแหน
ย่อมยึดถือเรือนฝุ่นทั้งหลายอยู่เพียงนั้น.
ดูกรราธะ
แต่ว่าในกาลใด เด็กชายหรือเด็กหญิง
เป็นผู้ปราศจากความกำหนัด
ปราศจากความพอใจ
ปราศจากความรัก
ปราศจากความกระหาย
ปราศจากความกระวนกระวาย
ปราศจากความทะยานอยากในเรือนฝุ่นเหล่านั้นแล้ว
ในกาลนั้นแล เด็กชายหรือเด็กหญิงเหล่านั้น
ย่อมรื้อ ย่อมยื้อแย่ง ย่อมกำจัด ย่อมทำเรือนฝุ่นเหล่านั้น
ให้เล่นไม่ได้ด้วยมือและเท้า ฉันใด
ดูกรราธะ
แม้เธอทั้งหลายก็จงรื้อ จงยื้อแย่ง
จงกำจัด จงทำรูปให้เป็นของเล่นไม่ได้
จงปฏิบัติเพื่อความสิ้นไปแห่งตัณหา
จงรื้อ จงยื้อแย่ง
จงกำจัด จงทำเวทนาให้เป็นของเล่นไม่ได้
จงปฏิบัติเพื่อความสิ้นไปแห่งตัณหา
จงรื้อ จงยื้อแย่ง
จงกำจัด จงทำสัญญาให้เป็นของเล่นไม่ได้
จงปฏิบัติเพื่อความสิ้นไปแห่งตัณหา
จงรื้อ จงยื้อแย่ง
จงกำจัดจงทำสังขารให้เป็นของเล่นไม่ได้
จงปฏิบัติเพื่อความสิ้นไปแห่งตัณหา
จงรื้อ จงยื้อแย่ง
จงกำจัด จงทำวิญญาณให้เป็นของเล่นไม่ได้
จงปฏิบัติเพื่อความสิ้นไปแห่งตัณหา
ฉันนั้นนั่นเทียวแล.
ดูกรราธะ
เพราะว่าความสิ้นไปแห่งตัณหาเป็นนิพพาน.
จบ สูตรที่ ๒.
พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๗
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
หน้าที่ ๑๙๑/๓๑๐ ข้อที่ ๓๖๗
*********************
เพราะมีความพอใจ เพลิดเพลิน
ติดข้องอยู่ในขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
จึงเรียกว่าสัตว์ (สรรพสัตว์ผู้เวียนว่ายตายเกิด)
เหมือนเด็กที่ชอบอกชอบใจในบ้านอันเต็มไปด้วยฝุ่นของตน
เขาชอบเล่นสนุกซุกซนในบ้านฝุ่นหลังนั้น
ตราบใดที่เขายังติดข้อง พอใจ หลงใหลในบ้านฝุ่นนั้น
เขาย่อมอาลัย ย่อมอยากเล่น ย่อมหวงแหน
ย่อมยึดติดในบ้านฝุ่นอยู่ตราบนั้น
ที่มา -- Like & แชร์ ธรรมะแท้ๆจากพระพุทธองค์/fb.com